กลอนอ่าน เป็นบทประพันธ์ที่แต่งขึ้นเพื่อบอกเล่าเรื่องราว นิทานต่างๆ ในหนังสือผูกที่ใช้อ่านหรือเทศน์
(ไม่มีเป้าหมายเพื่อใช้ลำ แต่อาจใช้เป็นบทลำก็ได้) มีวรรณกรรมจำนวนมากแต่งด้วยคำประพันธ์ประเภทกลอน เช่น
จำปาสี่ต้น นางผมหอม ท้าวคำสอน พระยาคำกอง สังข์สินชัยเป็นต้น โดยเฉพาะเรื่องสังข์สินชัย ซึ่งแต่งโดยท้าวปางคำ
กวีชาวล้านช้างนั้น ถือว่าเป็นบทกลอนที่ไพเราะที่สุดในบรรดาบทกวีแห่งอีสาน (มหาศีลา วีระวงศ์. ๒๕๓๙ : ๑๘)
กลอนอ่านมี ๔ แบบ คือ
๑.
กลอนอ่านวชิรปันตี
๒.
กลอนอ่านวิชชุมาลี
๓.
กลอนอ่านอักษรสังวาส
๔.กลอนอ่านสัพสอดหรือเทียมแอก (ทบแอก)
๑. กลอนอ่านวชิรปันตี
กลอนแบบนี้ใช้เฉพาะคำก่ายนอกให้ต่อเนื่องกันไปทุกๆ บาทเหมือนกาพย์ เป็นกลอนที่แต่งง่าย แต่เนื้อกลอนไม่ซาบซึ้งนัก
เช่น เรื่องสุริยวงศ์ แตงอ่อน เป็นต้น มีข้อกำหนด ดังนี้
- คณะ กำหนดบทหนึ่งมี ๔ วรรค วรรคละ ๗ คำ อาจมีสร้อยหน้าวรรคไม่เกิน ๔ คำ หลังวรรคสุดท้าย ๒ คำ
- สัมผัส คำสุดท้ายของวรรคสัมผัสกับคำที่ ๑ ๒ หรือ ๓ หรือสร้อยหน้าก็ได้ ของวรรคต่อไป

ตัวอย่าง กลอนอ่านวชิรปันตี
โลกบ่ ห่อนแต่งตั้ง หญิงพาบสองผัว
เฮียมนี้ กลัวปาปัง บาปเวรภายหน้า
ท่านอย่า มาชวนเข้า อะเวจีหม้อใหญ่
ท่านอย่า มานั่งไกล้ เฮียมนี้ซิบ่ดี แท้แล้ว
๒. กลอนอ่านวิชชุมาลี
กลอนอ่านแบบนี้มีลักษณะคล้ายกับกลอนอ่านวชิรปันตีที่กล่าวมาแล้ว ต่างกันที่คำก่ายเท่านั้น มีข้อกำหนดดังนี้
- คณะ กำหนดบทหนึ่งมี ๔ วรรค วรรคละ ๗ คำ มีสร้อยหน้าวรรคไม่เกิน ๔ คำ หลังวรรค
๒ คำ เช่นเดียวกับกลอนวชิรปันตี ต่างกันที่สัมผัสที่ซับซ้อนกว่า
- สัมผัส
คำที่ ๗ ของวรรคที่ ๑ สัมผัสกับคำที่ ๑ ๒ ๔ หรือ ๕ ของวรรคที่ ๓ (คำสุภาพเหมือนกัน)
คำที่ ๗ ของวรรคที่ ๒ สัมผัสกับคำที่ ๓ หรือ ๕ ของวรรคที่ ๔ (คำโทเหมือนกัน)
คำที่ ๗ ของวรรคที่ ๓ สัมผัสกับคำที่ ๒ หรือ ๕ ของวรรคที่ ๑ ในบทถัดไป (คำเอก)
คำที่ ๗ ของวรรคที่ ๔ สัมผัสกับคำสุภาพที่ ๑ ๒ ๓ หรือ ๕ ของวรรคที่ ๒ ในบทถัดไป

ตัวอย่าง กลอนอ่านวิชชุมาลี
๑) เฮาจัก แหนเงื่อนไว้ ให้สว่าง กระสันวอน
คำเสนหา แห่งใด ดวงซ้อย
คอนคอนค้ำ คอนคอน คึดใคร่
มัดแม่งถ้อย ใจน้อย แม่งหาย ฯ
๒) ใจใหญ่น้อย น้อยใหญ่ สนเท
คำสงสาร หมื่นหมาย หมายหมั้น
เสนหาห้อย เสนโห หายาก
อันหนึ่งนั้น อันน้อย เนื่องใน ฯ
๓) จักปากโอ้ โอ้อ่าว แถมถนัด
คำใดเด ดั่งใด ดอมดั้ง
เมื่อนั้น กษัตรีเจ้า เจืองลุน ฮับพาก
ตูก็ เมี้ยนเครื่องตั้ง ใจถ้า จอดจง
๓. กลอนอ่านอักษรสังวาส
เป็นคำประพันธ์ที่พบมากที่สุดในวรรณกรรมไทยอีสาน มีลักษณะคล้ายกับกลอนอ่านอื่นๆ ต่างกันที่กลอนอักษรสังวาสนี้ ไม่นิยมก่ายนอก แต่เน้น ก่ายใน เช่น เทียมคู่ เทียมรถ ทบคู่ เทียบคู่ แทรกคู่ แทรกรถ ตามความเหมาะสมและ
ความสามารถของกวี วรรณกรรมที่มีการ เล่นคำได้หลากหลายเกือบทุกวรรค ได้แก่เรื่องสังข์สินชัย ซึ่งถือว่าเป็นบทกลอนที่ไพเราะที่สุด
- คณะ กำหนดบทหนึ่งมี ๔ วรรค วรรคละ ๗ คำ มีสร้อยหน้าวรรคไม่เกิน ๔ คำ หลังวรรค
๒ คำ
- สัมผัส ใช้การก่ายในอย่างเดียว

ตัวอย่าง กลอนอ่านอักษรสังวาส
คันว่า กายด่านด้าว เดินฮอดกุมภัณฑ์ เมื่อใด
มันนั้น ลางลือเขา ข่าวเซ็งเซิงกล้า
ให้ลูก สามกษัตริย์เจ้า เจียมใจจงถี่
แม่ตื่มถ้อย แถมต้านแต่ประมาณ ฯ
อันหนึ่ง ลอนจวบพ้อ อาเอกองค์กษัตริย์ ก็ดี
อย่าได้ จงใจดอม ดั่งโดยแฮงฮู้
ชาติที่ ใจหญิงนี้ ตลบแปปิ้นง่าย จริงแล้ว
ฮู้ว่า ยักษ์บ่แพ้ เขาได้ค่องเคย ฯ
แม่นว่า เดียรสานเซื้อ ภาษาสัตว์ต่าง ก็ดี
คันว่า ได้เกือกกั้ว กันนั้นหากหอม แม่แล้ว
อันว่า สีหราชท้าว เจ้าอ่อนสังข์ทอง ก็ดี
อย่าได้ ไลบาคาน ให้ค่อยทวนคำเกื้อ กันเนอ ฯ
๔. กลอนอ่านสัพสอดหรือเทียมแอก
กลอนแบบนี้มีลักษณะคล้ายกลอนอื่นๆ ต่างกันที่คำก่าย จะใช้การก่ายในแบบเทียมแอก
(ทบแอก) เท่านั้น
เป็นกลอนที่ไพเราะและแต่งยาก เนื่องจากจะหาคำโทนคู่ที่มีความหมาย ถูกตำแหน่งบังคับเอกโท
และต้องใช้สัมผัสแบบนี้ทั้งบท (๔ วรรค) จึงจะถือว่าสมบูรณ์
-
คณะ เหมือนกับกลอนอ่านอักษรสังวาส
-
สัมผัส ใช้คำก่ายในเป็นแบบ "เทียมแอก" คือคำที่ ๕ ก่ายเสียง "โทนคู่" กับคำที่ ๗
(เสียงโทนคู่ คือคำที่มีพยัญชนะต้นเดียวกันหรือเป็นอักษรคู่ มีสระและตัวสะกดเดียวกัน ต่างกันเพียงเสียงวรรณยุกต์เท่านั้น
เช่น ไกล-ใกล้ งอน-ง่อน ห่อม-ฮอม เป็นต้น)

ตัวอย่าง กลอนอ่านสัพสอดหรือเทียมแอก
หลิงเห็น ไม้ล่าวล้ม เลียบฮ่อมเขาฮอม พุ้นเยอ
ภูธรเลาะ เลียบพะนองนำน้อง
เห็นผากว้าง เขาคำค้อยค่ำ
ดอยนั้น อินทร์แต่งตั้ง เขาเฮื้องฮุ่งเฮือง ฯ
เล็งภาคพื้น เป็นฮ่มเฮืองฮม
พะลานเพียงงาม ดั่งลานเลียนล้าน
ทุกประดาก้อน สุวินทีทุกที่
ภูวนารถเจ้า ใจสะล้างฮุ่งหลัง ฯ
เยื้อนยากท้าว ทั้งแฮ่งโฮยแฮง
เดินดอยหลวง กว่าไกลฤๅใกล้
เลยเขียวขึ้น เขางอนมีง่อน
คิดเถิง คุณแม่ป้า ปุนไห้ฮ่ำไฮ ฯ
หลิงดอกไม้ ก้านก่องอินทร์กอง
บาก็ ยินดีผาย ล่วงซอนซมซ้อน
ภูธรท้าว เดินเดียวดั้นเดี่ยว
ข้ามขอบด้าว ไปหน้าหน่วงหนา ฯ
ฟังยิน สกุณาเค้า งอยคอนฮ้องค่อน พุ้นเยอ
บางผ่อง ฮักฮ่วมซู้ ซมก้อยเกี่ยวกอย
กอยกมเกี้ยว มือไลซ้อนไหล่
คือดั่ง สองก่อมซู้ ซมเหง้าส่วงเหงา ฯ
น้อยดุ่งเท้า เถิงเหล่าดอนเลา
ไพรสณฑ์แสน ด่านกวางดูกว้าง
บาก็ ผายตนดั้น ดงยางเยื้อนย่าง
คิดเถิง แม่และป้า โหยหิ้วหอดหิว ฯ
ฟังยิน กดกล่าวท้วง ลางเหล่าดอนเลา พุ้นเญอ
ชะนีนงคราญ ส่งเสียงสูนเสี้ยง
แม้งหนึ่ง วันสูรย์ด้าว ดอยหลวงลมล่วง
พัดเมฆคล้าย คือม้าล่วงมา ฯ
อ้างอิง : บทความ E-Book pdf ไม่ทราบชื่อผู้เรียบเรียง