ผญา คติสอนใจประจำวันที่ 20 พฤษภาคม 2567:: อ่านผญา 
ให้เจ้าค่อยเพียรสร้าง เสมอแตนแปงซ่อ ให้สร้างก่อสืบไว้ เสมอเผิ้งสืบฮัง แปลว่า ให้พากเพียรสร้างทำ ประหนึ่งแตนทำรัง ประหนึ่งผึ้งสร้างรัง หมายถึง ขอให้ขยันหมั่นเพียร รู้จักเก็บ รู้จักออม

ชมรมศิลปวัฒนธรรมอีสาน  

ประวัติชมรมศิลปวัฒนธรรมอีสานจุฬาฯ --- isanchula history


ชมรมศิลปวัฒนธรรมอีสาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ประวัติความเป็นมา

ชมรมศิลปวัฒนธรรมอีสาน ถือว่า เป็นชมรมหนึ่งที่อยู่คู่จุฬาฯมาช้านาน (พ.ศ. 2510) สมัยก่อนเรียกว่า ชุมนุมนิสิตจุฬาฯอีสาน โดยมีวัตถุประสงค์แรก เริ่มเพื่อเป็นศูนย์รวมของนิสิตจุฬาฯอีสาน เพื่อเป็นศูนย์รวมของนิสิตจุฬาฯที่มีภูมิลำเนาอยู่ในภาคอีสาน เพื่อมาพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และร่วมกันบำเพ็ญประโยชน์ให้แก่ชุมชนของตน เป็นการช่วยเหลือและพัฒนาสังคม โดยประสานงานกับกลุ่มอื่นซึ่งมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน เพื่อให้บรรลุผลสำเร็จตามจุดมุ่งหมายที่ตั้งไว้ (จากหนังสือจุฬาฯอีสาน ปี 2519)

กิจกรรมในช่วงนั้นส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับการเมืองและการต่อสู้เพื่อสังคม ทำให้ปี พ.ศ. 2516 มีคำสั่งห้ามมีการจัดกิจกรรมของนิสิตนักศึกษา จนกระทั่งปี พ.ศ. 2521 ได้อนุญาตให้มีการจัดกิจกรรมนิสิตนักศึกษาขึ้นอีกครั้ง จึงได้ร่างระเบียบชมรมขึ้นมา และให้เปลี่ยนเป็นชื่อใหม่ด้วย จึงใช้ชื่อว่า ชมรมศิลปวัฒนธรรมอีสานโดยสังกัดฝ่ายศิลปะและวัฒนธรรม องค์การบริหารสโมสรนิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อศึกษา รวบรวม อนุรักษ์ สืบทอดและเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมอีสาน ไม่ว่าจะเป็นภาษา ขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงาม ภูมิปัญญาชาวบ้าน ความมีน้ำใจ วิถีชีวิตและดนตรีนาฏศิลป์พื้นบ้านอีสาน นอกจากนี้ ยังเป็นศูนย์รวมของนิสิตจุฬาฯที่มีภูมิลำเนาในภาคอีสานและภาคอื่นๆ ของประเทศไทยตลอดจนชาวต่างชาติที่สนใจอีกด้วย

กิจกรรมในอดีตช่วงปี พ.ศ. 2521-2525 ยังไม่ค่อยมีกิจกรรมอะไรมาก ในปี พ.ศ. 2526 เริ่มมีการก่อตั้งวงดนตรีขึ้นมา และเริ่มมีการออกค่ายพัฒนาสังคมและบำเพ็ญประโยชน์ มีการฝึกสอนและแสดงดนตรีเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมอีสาน ส่วนนาฎศิลป์ใช้นางรำจากชมรมนาฎศิลป์และการละครไทยและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2535 จึงใช้นางรำของชมรมเอง ในปี พ.ศ. 2539 มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบกิจกรรมจากค่ายพัฒนาสังคมและบำเพ็ญประโยชน์ เป็นค่ายศึกษาและค่ายเยาวชนแทน แต่ก็ยังคงมีลักษณะของการพัฒนาสังคมและบำเพ็ญประโยชน์อยู่ด้วย เพื่อให้นิสิตหรือผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมได้รับประสบการณ์ในการทำค่ายหลายรูปแบบ และคุ้มค่าที่สุด

ปัจจุบันนี้ชมรมศิลปวัฒนธรรมอีสาน เป็นชมรมที่มีสมาชิกจำนวนมาก มีกิจกรรมและผลงานต่อเนื่องตลอดทั้งปี ทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะทางด้านดนตรี(วงโปงลางจุฬาฯ)และนาฎศิลป์พื้นบ้านภาคอีสาน พิธีบายศรีสู่ขวัญและการทำพานบายศรีสู่ขวัญ การศึกษา ถ่ายทอด และเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมอีสาน การพัฒนาสังคมและบำเพ็ญประโยชน์ และกิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์

ถึงแม้ว่าสมาชิกชมรมจะมาจากหลากหลายที่ หลากหลายภาษาและวัฒนธรรม แต่ทุกคนก็สามารถทำงานและอยู่ร่วมกันในชมรมได้ เนื่องด้วยอุดมการณ์และใจรักที่จะร่วมกันบำเพ็ญประโยชน์แก่สังคม และร่วมกันสืบสานศิลปวัฒนธรรมอีสาน ซึ่งเป็นศิลปวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าแขนงหนึ่งของไทยให้คงอยู่สืบไป

ลักษณะความสัมพันธ์แบบน้องพี่ในชมรมศิลปวัฒนธรรมอีสาน ทำให้ชมรมยืนหยัดสร้างสรรค์ผลงานคุณภาพมาได้ ตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน โดยใช้ "น้ำใจ" อันเป็นลักษณะของชาวอีสานเป็นตัวหล่อหลอมให้รักใคร่ปรองดองกัน

ชมรมศิลปวัฒนธรรมอีสานไม่ใช่ชมรมของคนอีสาน แต่เป็นชมรมของชาวจุฬาฯทุกคน ผู้ที่สนใจในศิลปวัฒนธรรมอีสาน หรือการทำกิจกรรม เชิญแวะมาได้ที่ชมรมศิลปวัฒนธรรมอีสาน ใต้อัฒจันทร์สนามกีฬาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปทุมวัน กรุงเทพฯ เรามีพี่ ๆ น้อง ๆ คอยต้อนรับตลอดเวลา













 
Creative Commons License

ชมรมอีสานจุฬาฯ... ชมรมศิลปวัฒนธรรมอีสาน