ความเป็นมา :
บุญบั้งไฟ เป็นประเพณีที่เกิดจากความเชื่อเกี่ยวกับแถน เมื่อถึงเดือนหกเริ่มต้นการทำนา ชาวบ้านจะจุดบั้งไฟเป็นการบูชาขอให้พญาแถนบันดาลฝนให้ตกลงมา ประเพณีบุญบั้งไฟเป็นกิจกรรมร่วมกันของชุมชนอีสานหลายๆ หมู่บ้าน หมู่บ้านเจ้าภาพจะปลูกโรงเรือน เรียกว่า ผามบุญ ไว้ต้อนรับชาวบ้านจากหมู่บ้านอื่น และดูแลจัดหาอาหารสำหรับทุก ๆ คน เช้าของวันงานชาวบ้านจะร่วมกันทำบุญ ประกวดประชัน แห่ และจุดบั้งไฟที่ตกแต่งอย่างงดงาม บั้งไฟของหมู่บ้านใดจุดไม่ขึ้นชาวบ้านหมู่บ้านนั้นจะถูกโยนลงโคลนเป็นการทำโทษ และจะมีการเซิ้ง ฟ้อน กันอย่างสนุกสนาน และในสมัยหลังๆ จะมีการเซิ้งปลัดขิกร่วมอยู่ในขบวนด้วย โดยมีความเชื่อว่าเป็นการไล่ผีให้พ้นออกไปจากหมู่บ้านและเร่งให้แถนส่งฝนลงมาเร็ว ๆ
มูลเหตุของพิธีกรรม
จากตำนานพื้นบ้านอีสานเรื่องพญาคันคาก การจุดบั้งไฟ เป็นสัญญาณแจ้งให้พญาแถนรู้ว่าถึงฤดูทำนาแล้วให้พญาแถนบันดาลให้ฝนตก เพื่อจะได้มีน้ำปริมาณเพียงพอแก่การปลูกพืชพันธุ์ธัญญาหาร จากตำนานเรื่องพญาคันคาก มีเนื้อหาตอนหนึ่งว่า
อ่านเรื่องพญาคันคาก
เมื่อถึงเดือนหก ชาวบ้านชาวเมือง จึงทำบั้งไฟ จุดบั้งไฟขึ้นฟ้า เป็นประเพณีสืบมาจนทุกวันนี้
(หมายเหตุ : การทำและเล่นบั้งไฟ คงมีมาก่อนหน้านั้น ซึ่งเป็นลักษณะการละเล่นอย่างหนึ่ง ไม่จำกัดฤดูกาล ยังไม่ใช่ประเพณี)
|