ผญา คติสอนใจประจำวันที่ 26 เมษายน 2568:: อ่านผญา 
ฟังความส้มสิเสียเกลือมื้อห้าห่อ ฟังความสับส่อเว้าสิเสียเจ้าผู้ฮักแพง แปลว่า เชื่อว่ามีของเปรี้ยวๆ จะเสียเกลือวันละห้าห่อ เชื่อคำพูดส่อเสียด จะเสียคนที่เรารัก หมายถึง ไม่ควรเป็นคนหูเบา พึงไตร่ตรองและหาความจริงด้วยตัวเอง

การฟ้อนรำพื้นบ้านอีสาน  

ฟ้อนร้อยเอ็ดเพชรงาม (ฟ้อนรำพื้นบ้านอีสาน---อีสานจุฬาฯ)
การฟ้อนรำ..จังหวัดร้อยเอ็ด

  หน้าก่อน หน้าถัดไป
ฟ้อนร้อยเอ็ดเพชรงาม

ฟ้อนร้อยเอ็ดเพชรงาม

“ร้อยเอ็ดเพชรอีสาน พลาญชัยบึงงาม เรืองนามพระสูงใหญ่ ผ้าไหมชั้นดี สตรีโสภา ทุ่งกุลาสดใส งานใหญ่บุญผะเหวด”

เป็นคำขวัญประจำจังหวัดร้อยเอ็ดเดิม ที่อธิบายลักษณะแหล่งท่องเที่ยว สภาพแวดล้อม รวมถึงศิลปวัฒนธรรมประเพณีภายในจังหวัดร้อยเอ็ด
ปัจจุบัน คำขวัญจังหวัดร้อยเอ็ดได้มีการประกวดคำขวัญและได้นำคำขวัญที่ชนะเลิศมาใช้ในใหม่ ในความว่า

“สิบเอ็ดประตูเมืองงาม เรืองนามพระสูงใหญ่ ผ้าไหมสาเกต บุญผะเหวดประเพณี มหาเจดีย์ชัยมงคล งามน่ายลบึงพลาญชัย เขตกว้างไกลทุ่งกุลา โลกลือชาข้าวหอมมะลิ”

ฟ้อนร้อยเอ็ดเพชรงาม ได้ประดิษฐ์คิดค้นการแสดงโดย คณาจารย์จากวิทยาลัยนาฏศิลปร้อยเอ็ด ประพันธ์เนื้อร้องโดย อ.สมชิต สุนาคราช  เป็นการฟ้อนประกอบท่วงทำนองดนตรีที่มีความจังหวะสนุกสนานเร้าใจ การฟ้อนแสดงถึง การอธิบายคำขวัญของจังหวัดร้อยเอ็ดออกมาเป็นท่วงท่าที่สวยงาม โดยมีเนื้อหาเชิญชวนให้ไปท่องเที่ยวในจังหวัดร้อยเอ็ด และการแต่งกายของนักแสดงด้วยผ้าไหมลายประจำจังหวัด ก็แสดงให้เห็นถึงความเป็นเอกลักษณ์ประจำท้องถิ่นอีกด้วย


การแต่งกาย

หญิง สวมเสื้อผ้าไหมแขนสั้น ห่มทับด้วยสไบไหม นุ่งผ้าซิ่นไหมมัดหมี่ร้อยเอ็ด ยาวกรอมเท้า ผมเกล้ามวยประดับมวยผมด้วยดอกไม้ และสวมเครื่องประดับเงิน


เพลงร้อยเอ็ดเพชรงาม

มาเถิดอ้ายมา มาเถิดหนามาเที่ยวเมืองร้อยเอ็ด  เมืองนี้งามดังเพชร ๆ  โอ้เมืองร้อยเอ็ดงามซึ้งตรึงใจ

เสียงแคนดังต่อยแล่นแตร ดอกคูนงามแท้ชูช่อไสว บึงโอ้บึงพลาญชัย ๆ หมู่ปลาแหวกว่ายอยู่ในธารา

โอ โอ้ โอ ถ้าอยากสุขโขมาร้อยเอ็ดเถิดหนา มีพระใหญ่สูงเยี่ยมเทียมฟ้า ๆ ผ้าไหมงามตา สาวโสภาถูกใจ

เสียงพิณดังแว่วแผ่วมา กว้างไกลสุดตาทุ่งกุลาสดใส ชาวร้อยเอ็ดเป็นผู้มีน้ำใจ ๆ จะมองแห่งไหนร้อยเอ็ดงามจริงเอย




ขอขอบคุณอ้ายโอ๊ต (อดิศักดิ์ สาศิริ) เอื้อเฟื้อข้อมูลและภาพ
  หน้าก่อน หน้าถัดไป
 
Creative Commons License

ชมรมอีสานจุฬาฯ... การฟ้อนรำพื้นบ้านอีสาน