ผญา คติสอนใจประจำวันที่ 26 เมษายน 2568:: อ่านผญา 
บ้านใกล้ป่าได้อยู่เฮือนเพ บ้านใกล้เซบ่ได้กินปลาแดก แปลว่า บ้านใกล้ป่าไม้ แต่เรือนผุพัง บ้านใกล้แม่น้ำ แต่ไม่มีปลาร้ากิน หมายถึง มีของดีมีค่า แต่ไม่รู้คุณค่า ไม่นำมาใช้ประโยชน์

การฟ้อนรำพื้นบ้านอีสาน  

ฟ้อนแขบลาน(แถบลาน) (ฟ้อนรำพื้นบ้านอีสาน---อีสานจุฬาฯ)
การฟ้อนรำ..จังหวัดเพชรบูรณ์

  หน้าก่อน หน้าถัดไป
ฟ้อนแขบลาน (แถบลาน)

ฟ้อนแถบลาน

ฟ้อนแขบลาน ( แถบลาน )

 ฟ้อนแขบลาน หรือฟ้อนแถบลาน คือการฟ้อนรำที่สืบทอดกันมาตั้งแต่โบราณกาลจนถึงปัจจุบัน โดยชาวบ้านเผ่าไทลาวในเขตอำเภอหล่มสัก  จังหวัดเพชรบูรณ์  เป็นการฟ้อนรำประกอบการขับกาพย์เซิ้งเพื่อประกอบในพิธีการทำบุญหลวงหรือบุญบั้งไฟ   เพื่อขอให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล    ในพิธีกรรมนี้จะมีการจุดบั้งไฟถวายเจ้าพ่อผาแดง   ซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สถิตอยู่ที่ผาแดง   เพื่อให้เจ้าพ่อดลบันดาลให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล  พิธีกรรมขอฝนด้วยการจุดบั้งไฟนี้   จะกำหนดเวลาในช่วงระยะเดือนห้า หรือเดือนหก ของทุกๆปี            

สาเหตุที่เรียกการแสดงชุดนี้ว่าฟ้อนแถบลานเพราะตัวเสื้อของผู้แสดง   จะนำใบลานย้อมสีเหลืองมาตัดและเย็บติดตามตัวเสื้อเป็นลวดลายที่สวยงาม และเอกลักษณ์เฉพาะของชาวบ้านหล่มสัก ฉะนั้น คำว่า “แขบลาน”จึงมาจากคำว่า “แถบลาน” ของตัวเสื้อของผู้ฟ้อน ลักษณะวิธีการฟ้อนแขบลานคล้ายกับการแสดงเซิ้งบั้งไฟทางภาคอีสาน แต่จะมีเอกลักษณ์ที่แปลกตาออกไป            


วิธีการฟ้อน
ผู้ฟ้อนแขบลานนี้ จะฟ้อนเป็นคู่ ๆ ทั้งชายและหญิง ไม่จำกัดจำนวนและอายุ จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่ กับศรัทธาของผู้ที่จะฟ้อนแขบลาน การฟ้อนก็จะฟ้อนไปตามจังหวะดนตรีซึ่งมี กลองปั้ง ฆ้องและฉาบ ซึ่งนักดนตรีนี้จะหามนำขบวนฟ้อนแขบลาน พร้อมกับร้องเพลงเป็นภาษาถิ่น(ไทลาว)ของชาวหล่มสักเรียกว่า การเซิ้งกาพย์


การแสดงฟ้อนแถบลานนี้ได้มีผู้รวบรวมข้อมูลแล้วนำไปประดิษฐ์ท่าฟ้อนให้มีความสวยงามเพื่อใช้แสดงในวงโปงลางที่พบเห็นเป็นหลักฐานในปัจจุบันได้แก่  วิทยาลัยครูเพชรบูรณ์(มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์) ประดิษฐ์ท่าฟ้อนโดยการนำของนายชลอ  นุเทศ ,นางปิลันธนา  สงวนบุญยพงษ์ อาจารย์ภาควิชานาฏศิลป์ นางสาวบุษบา  มีเดช และนางสาวมณฑา  วงษา  นักศึกษาวิชาเอกนาฏศิลป์ รุ่นที่ 2 
และประดิษฐ์ทำนองเพลง โดยนายช่วงวิทย์  เทียนศรี อาจารย์ภาควิชาดนตรี วิทยาลัยครูเพชรบูรณ์
จากนั้นวิทยาลัยนาฏศิลปกาฬสินธุ์  จึงได้นำมาออกแสดงในวงโปงลาง โดยจะบรรเลงลายศรีทันดร ประกอบการฟ้อน แทนการบรรเลงแบบดั้งเดิมที่ใช้เพียงกลองปั้ง ฆ้องและฉาบ

ฟ้อนแถบลาน



การแต่งกาย


ฟ้อนแถบลาน

การแต่งกายแบบดั้งเดิมของผู้ฟ้อนรำ ได้แก่ ผู้ฟ้อนจะสวมเสื้อแขบลาน คือ เสื้อแขนยาวสีกรมท่า คอกลม และนำใบลานแห้งมาเย็บติดกับตัวเสื้อทำเป็นลวดลายต่าง ๆ ใช้ผ้าสีแดงโพกศีรษะ

ผู้หญิงจะนุ่งซิ่นมุกยาวแค่เข่า ส่วนผู้ชายก็จะใส่กางเกงขนาดครึ่งน่องหรือกางเกงขาก๊วย สวม เสื้อม่อฮ่อม ทั้งชายและหญิงจะใส่แว่นตาดำ แต่หากเป็นการแสดงในรูปแบบวงโปงลางจะไม่สวมแว่นดำ

ในการฟ้อนแบบดั้งเดิมผู้ฟ้อนทุกคนจะสวมส่วยมือทั้ง10 นิ้ว ที่ทำด้วยไม้ไผ่สาน พันด้วยด้ายสีแดง ที่ปลายส่วยมือมีพู่ด้ายสีแดงหรือเหลือง แต่หากเป็นการแสดงในวงโปงลางของวิทยาลัยนาฏศิลปกาฬสินธุ์จะทำจากกระดาษแข็งคล้ายกับเล็บฟ้อนภูไทสกลนคร และสวมเพียง 8 นิ้ว

........................................................................................  


อ้างอิง:    www.phetchabun.com/.../phetchabun04-04-03.html

             www.gotoknow.org/.../118736?class=yuimenuitemlabel




ขอขอบคุณอ้ายโอ๊ต (อดิศักดิ์ สาศิริ) เอื้อเฟื้อข้อมูลและภาพ
  หน้าก่อน หน้าถัดไป
 
Creative Commons License

ชมรมอีสานจุฬาฯ... การฟ้อนรำพื้นบ้านอีสาน