ผญา คติสอนใจประจำวันที่ 26 เมษายน 2568:: อ่านผญา 
เป็นวังขอให้เป็นวังแท้ อย่าได้มีขอนขว้าง ขวางวังตันฮ่อง แปลว่า เป็นวังน้ำ ขอให้เป็นวังน้ำจริงๆ อย่าได้มีขอนไม้มาขวาง หมายถึง จะเป็นอะไร ขอให้เป็นให้สมบูรณ์ เป็นให้ดีที่สุด


  ค้นหาสาธุการ ปลาร้านอกไห  

หน้า: 1 2 3 4 5 6 7 8 9 10 11 12 13 14 15 16 17 18 19 20 21 22 23 24 25 26 27 28 29 30 31 32 33  
  โพสต์โดย   98) สารานุกรม แมงไม้ ใน อีสาน  
  ปิ่นลม    คห.ที่19) แมงทับ      [ไปที่ความเห็นนี้ ในกระทู้นี้]  
  เซียน

ภูมิลำเนา : สกลนคร
เข้าร่วม : 16 มี.ค. 2553
รวมโพสต์ : 2213
ให้สาธุการ : 180
รับสาธุการ : 5440860
รวม: 5441040 สาธุการ

 

ชื่อ        แมงทับ , แมงคับ  , แมงพลับ ( อัญมณีแห่งทุ่ง)
ชื่อสามัญ Metalic Wood Boring Beetle
วงศ์       Buprestidae
อันดับ    COELOPTERA


ว่ากันว่า สีสันอันงดงามของปีกแมงคับ หรือ แมงทับมันนั้นอยู่ยั้งยืนยงคง ทนอยู่กว่า 50 ปีจึง
จะสลายไป

ในบ้านเรามี แมลงทับอยู่ 2 ชนิดคือแมลงทับขาเขียวกับแมลงทับขาแดง โดยพบมากที่สุดอยู่ในภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

แมลงทับขาแดง

มักอยู่รวมเป็นกลุ่มใหญ่ พบกินใบพันซาด มะค่าแต้ พะยอมเต็ง ตะแบกแดง และกางขี้มอด ในบริเวณป่าเต็งรังและรอยต่อระหว่างป่าเต็งรังกับป่าเบญจพรรณที่มีไผ่เพ็กหรือไผ่โจดขึ้นเป็นไม้พื้นล่าง พบมากทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

แมลงทับขาเขียว

พบอยู่รวมเป็นกลุ่มขนาดเล็ก แต่มีขอบเขตแพร่กระจายกว้างทั้งประเทศชอบกินใบคางมะขามเทศ และต้นถ่อน ที่ขึ้นตามที่รกร้าง ป่าละเมาะ และริมข้างทาง


ข้อมูลทั่วไป


แมลงทับทั้งสองชนิดนี้มีสีเขียวมรกตมันวาว บางตัวอาจมีสีเขียวเหลือบทองน้ำเงิน
หรือทองแดง ปกติพบแมลงทับเพียงปีละครั้งในช่วงฤดูเข้าพรรษา ระหว่างเดือน
กรกฎาคม ถึง ตุลาคม แมลงทับทั้งสองชนิดพบแพร่กระจายทั่วทุกภาคของประเทศ


จากผลของงานวิจัยพบว่า...แมลงทับจะปรากฏให้เห็นเพียงปีละครั้งเดียว ทั้งนี้
ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่างที่เข้ามากระทบต่อวงจรชีวิต เช่น สภาพแวดล้อม
ก่อนเข้าหน้าฝน ถ้าหากสภาพอากาศแห้งแล้ง หนอนวัยสุดท้ายจะฟักตัวนิ่งข้ามปีได้
เพื่อรอจนกว่าจะถึงรอบปีตามปกติ.. มันจึงจะลอกคราบจากดักแด้กลายเป็นแมลงทับตัวเต็มวัย

ถิ่นอาศัย

แมลงทับอยู่ตามป่าเขาดงไม้ได้ทั่วทั้งประเทศไทย ในภาคอีสาน ตามป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ


       

อาหาร

ชอบกินใบไม้ครึ่งแก่ครึ่งอ่อนที่ชอบมากได้แก่ใบพันชาด ใบมะขามเทศ ใบเต็ง ใบพะยอม และใบตะแบกแดง มันกินจุมากโดยเฉพาะในช่วงที่แดดจัด แม่แมลงทับจะวางไข่ ไว้ตามโคนต้นไผ่เพ็กหรือไผ่โจดแล้วผละจากไป น่าสังเกตว่าถ้าไม่มีไผ่สองชนิดนี้แถวนั้นจะไม่พบแมลงทับเลย

วงจรชีวิต

จับคู่ผสมพันธุ์ในเวลากลางวันใช้เวลาประมาณ 1-2 ชั่วโมง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการยอมรับของเพศเมีย
เมื่อผสมพันธุ์เสร็จตัวเมียวางไข่ที่บริเวณโคนต้นพืชอาหาร ลึกลงในดินประมาณ 1-2 เซนติเมตร
วางไข่ทีละฟองจำนวน 1-2 ฟองต่อวัน ตัวเต็มวัยมีชีวิตเพียง 1-3 สัปดาห์พบมีจำนวนมากที่
สุดในเดือนกันยายนของทุกปี ไข่ ฝังอยู่ในดินนาน 2-3 เดือน (สิงหาคม-ตุลาคม)
หนอน วัยที่ 1, 2, 3 และ 4 อาศัยอยู่ในดินแทะกินรากพืชและเหง้าเพ็ก นาน 3-4 เดือน
(พฤศจิกายน-มีนาคม) หนอนวัยที่ 5 หยุดกินอาหารและสร้างปลอกดินหุ้มตัวฝังอยู่ในดินลึก
5-10 เซนติเมตร หนอนวัยสุดท้ายนี้พักตัวอยู่ในปลอกดินนาน 12-15 เดือน (เมษายนปีแรก-มิถุนายนปีถัดไป จึงเข้าดักแด้ในปลอกดิน ดักแด้ นาน 2-3 เดือน (มิถุนายน-สิงหาคม)

เมื่อเป็นตัวเต็มวัยสีเขียวยังคงอาศัยอยู่ในปลอกดินอีกเกือบเดือน เพื่อให้ปีกแข็งแกร่งและพร้อมที่จะออกจากปลอกดิน แต่แมลงทับต้องคอยจนกว่าฝนจะตกหนัก และน้ำฝนไหลลงไปจนถึงปลอกดินแมลงทับจึงดันปลอกดินให้เปิดออก เดินขึ้นมาจากใต้ดินและเจาะผิวดินเป็นรูปกลมดันตัวเองขึ้นจากพื้นดิน เมื่อมีแสงแดดจึงบินไปกินอาหาร ผสมพันธุ์ และวางไข่ กว่าจะเป็นแมลงทับแต่ละตัวต้องใช้เวลาอาศัยอยู่ในดินนานถึง 2 ปี เมื่อเป็นตัวเต็มวัยก็มีชีวิตนานแค่ 1-3 สัปดาห์เท่านั้น

แมงทับจะใช้ชีวิตอย่างสำเริงสำราญเป็นอิสรเสรีจับคู่กันผสมพันธ์แล้วตัวผู้ก็ตายไป
ส่วนตัวเมียตั้งท้องแล้วไข่ จากนั้นก็ตายตามไป
จำนวนแมลงทับในแต่ละปีมักจะมีความสัมพันธ์กับปริมาณน้ำฝนที่ตกในช่วงเข้าพรรษา
ถ้ามีอากาศแห้งแล้ง จะมีจำนวนน้อย



เกี่ยวข้องกับวิถีอีสาน


เวลาฝนตกเซาใหม่ ๆ หรือ เพิ่งหยุดตก  ช่วงเข้าพรรษา  เด็กน้อยลูกอีสาน พากันจับกลุ่ม
ไปเป็นหมู่คณะ ไปหา สั่นเอาแมงทับ หรือแมงคับ ตามต้นฮัง ต้นมะขามเทศ ( หมากขามแป )
ต้นมันปลา  ต้นตะแบก  และต้นส้มเสี้ยว  โดยเมื่อพบ จะสั่นกิ่งไม้ให้มันตกลงมา
บ้างก็วิ่งไล่แมงทับ เพราะปีกมันเปียกฝนบินไปไม่ไกล   เมื่อได้แล้ว ก็ นำปีกมันออก
เอาไปคั่ว หรือ จี่ ตามแต่ ถนัด
  
เนื่องจากปีกแมลงชนิดนี้ เงาวาวสีสันมรกต งดงาม จึงนิยมเอามาประดับ เครื่องไม้เครื่องมือ
เช่น เหน็บฝากระติบข้าว  เหน็บข้างฝาแถบตอง   เหน็บกระต่า , กระบุง กระด้ง ยามไปนา
บางครั้งก็เอามาทำ ปิ่นผม  บางคนร้อยเป็นสร้อย ข้อมือ ต้อนขวัญน้อง  

เด็กๆ จะเอาปีกแมงทับที่งดงามมาอวดกัน เป็นที่สนุกสนาน  เนื่องจากปีหนึ่งๆ  จะหาแมงทับได้
ครั้งเดียวเท่านั้น
แมงทับ มีความสัมพันธ์กันกับพันธุ์ไม้พื้นเมือง  โดยเฉพาะ ต้นโจด และกอหญ้าเพ็ก ซึ่งที่วางไข่
รวมทั้งพันธุ์ไม้ต่างๆ ในท้องถิ่น อีกทั้งยังเป็นความเชื่อว่า หากปีไหนแมงทับ  มีหลากหลาย
ฝนจะตกต้องตามฤดูกาล ไม่ทิ้งช่วง ขณะที่ข้าวกำลังตั้งท้อง
ปีกของมันที่งดงาม ราวกับจะบอกว่า ระบบนิเวศน์ แห่งความสมดุล งดงามราวอัญมณี  


ขอบคุณข้อมูลที่จำเป็น จาก  http://pennyb.multiply.com
ภาพประกอบ จาก google

 
 
สาธุการบทความนี้ : 1362 ครั้ง
จากสมาชิก : 3 ครั้ง
จากขาจร : 1359 ครั้ง
 
 
  29 ก.ย. 2553 เวลา 12:57:22  
   ขึ้นบน ลงล่าง  
 
         

  โพสต์โดย   98) สารานุกรม แมงไม้ ใน อีสาน  
  ปิ่นลม    คห.ที่0) สารานุกรม แมงไม้ ใน อีสาน      [ไปที่ความเห็นนี้ ในกระทู้นี้]  
  เซียน

ภูมิลำเนา : สกลนคร
เข้าร่วม : 16 มี.ค. 2553
รวมโพสต์ : 2213
ให้สาธุการ : 180
รับสาธุการ : 5440860
รวม: 5441040 สาธุการ

 



ความเป็นมาและการดำรงชีวิตของแมลง

      เมื่อประมาณ 300 ล้านปีมาแล้ว  โลกเริ่มมีป่าไม้และหนองน้ำใหญ่บนแผ่นดิน ระยะนี้เองที่ได้เกิดมีแมลงขึ้นบนโลก  แมลงชนิดแรกได้แก่ แมลงปอและแมลงสาบ แมลงในสมัยนั้นมีขนาดใหญ่จนอาจเรียกได้ว่า “แมลงปอยักษ์” เพราะมีความยาววัดจากปลายปีกถึง 20 เซนติเมตร  ส่วนแมลงสาบก็อาจถือได้ว่าเป็นบรรพบุรุษของแมลงสาบปัจจุบัน  เพราะมีรูปร่างและนิสัยเหมือนกันไม่ได้เปลี่ยนไปเลย เนื่องจากแมลงเป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง  เนื้ออ่อนนุ่มนิ่ม ปีกบางใส ฟอสซิลของแมลงโบราณ ซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญจึงได้หายากยิ่ง  หลักฐานเกี่ยวกับแมลงโบราณที่พอจะหาได้ คือ ซากของแมลงในก้อนอำพันซึ่งมีอายุ  60 ล้านปี

จากจะพบแมลงในที่ต่าง ๆ ที่เราไปอาศัยอยู่แล้ว เรายังพบความหลากหลายของแมลงแต่ละชนิด ทั้งรูปร่างลักษณะ และนิสัยความเป็นอยู่ที่แตกต่างกันมากมายจนกระทั่งเป็นที่ยอมรับกันในหมู่นักวิทยาศาสตร์ว่าในกระบวนสัตว์ทั้งหลายในโลก แมลงเป็น สัตว์ที่มีมากชนิดที่สุด คือ มีจำนวนมากกว่า50 ล้าน ชนิด ในขณะที่สัตว์อื่นมีจำนวน นับพัน หรืออย่างมากก็นับหมื่นชนิดเท่านั้น อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้แมลงประสบความสำเร็จในการดำรงชีวิตอยู่ในโลกได้มากถึงเพียงนี้




แมงกุดจี่เบ้า ( dung beetle ) ราชาแมลงแห่งทุ่งอีสาน


  มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Heliocopris bucephalus Fabricius
เป็นแมลงสวยงาม มีลูกเบ้าขนาดใหญ่เกือบเท่า  ลูกเปตองและ   ลูกเทนนิส เส้นผ่าศูนย์กลาง
ลูกเบ้าประมาณ 6.5 - 8.5 เซนติเมตร ลำตัวแมลงเบ้ากุดจี่ส่วนอกกว้าง 2.2 - 3.0 เซนติเมตร
ลำตัวยาว 3.6 - 5.0 เซนติเมตร แหล่งที่พบมากทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ในธรรมชาติจะพบในพื้นที่ป่าเต็งรังที่มีดินลักษณะเป็นดินทรายละเอียด พื้นที่ที่มีความสูงระดับน้ำทะเล  170 เมตร ที่มีหญ้าเป็นไม้พื้นล่าง ในบริเวณพื้นที่ ที่ชาวบ้านนำฝูงควายขึ้นมาเลี้ยงให้กินหญ้าบนดอนดิน


แมงกุดจี่ หรือ Dung Beetle สัตว์ตัวเล็กแต่ยิ่งใหญ่ มีวิวัฒนาการยาวนาน สันนิษฐานว่าอาจมีอยู่ตั้งแต่ 350 ล้านปีก่อน โดยกินมูลของไดโนเสาร์และสัตว์ในยุคนั้น และเมื่อ 5,000 ปีที่ผ่านมา ชาวอียิปต์โบราณได้ยกย่องบูชา แมงกุดจี่ เป็นตัวแทนของสุริยเทพ ที่เรียกว่า "เทพเจ้า Kherpri" ซึ่งมีการสร้างรูปปั้นหน้าสุสานและเขียนภาพแมงกุดจี่ไว้สักการะบูชา สำหรับประเทศไทยในปัจจุบัน เราสามารถพบได้ทั่วไปตามกองมูลควายในทุ่งนาชนบท ซึ่งพบว่าในมูลหนึ่งกองมีกุดจี่หลายชนิดและบางชนิด สามารถจับมาทำเป็นอาหารได้


ภาพ เทพกุดจี่ ของขาวอียิป โบราณ

ประโยชน์ของแมลงกุดจี่ยักษ์นั้นมีตั้งแต่ในเรื่องของสิ่งแวดล้อม เนื่องมาจากแมลงกุ๊ดจี่จะเก็บมูลควายไปกินเป็นอาหาร ทำให้ช่วยกำจัดมูลควายให้ไม่เกิดการทับทมของมูลสัตว์จนส่งกลิ่นเหม็น และในระหว่างที่มันสร้างเบ้าด้วยมูลและดินนั้น แมลงกุ๊ดจี่จะกินมูลควายและย่อยสลายขับถ่ายออกมาทำให้ดินร่วนซุยอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การปลูกพืชเกษตร
ในด้านอาหารแมลงกุ๊ดจี่ขึ้นชื่อว่าเป็นแมลงกินได้ที่อร่อย กล่าวกันว่าอร่อยเสียยิ่งกว่าไข่มดแดง ชาวภาคอีสานและภาคเหนือนิยมบริโภคกันมาก เนื่องจากลำตัวใหญ่  เนื้อมาก สามารถประกอบอาหารได้หลายอย่าง เช่น จี่  ย่าง   ต้ม  ทำแกงอ่อม  แกงป่า ตำน้ำพริก ห่อหมก แกงผักหวาน เป็นต้น มีคุณค่าอาหารและมีประโยชน์ต่อร่างกาย

โดยในน้ำหนักแมลงสด 100 กรัม  จะประกอบด้วย

โปรตีน 17.2 กรัม
สารแป้งน้ำตาล 0.2 กรัม  
เส้นใย 7.0 กรัม ให้พลังงาน 108.3 กิโลแคลอรี่
นอกจากนี้ยังมีแร่ธาตุแคลเซียม 30.9. มิลลิกรัม
ฟอสฟอรัส  157. 9 มิลลิกรัม
โปรตัสเซียม 287.6  มิลลิกรัม
วิตามิน  บี1,บี2 และ   ไนอาซีน  3.44 มิลิลกรัม  



กุ๊ดจี่มีช่วงชีวิตอยู่ที่ประมาณ 1 ปี ตัวผู้มีหน้าที่จะช่วยกลิ้งขนอาหารเพื่อปั้นลูกเบ้า จะพบตัวผู้
ตั้งแต่ปลายเมษายนถึงเดือนธันวาคมและสามารถมีชีวิตอยู่ได้ยาวนานประมาณ 8 เดือน
ส่วนตัวเมียมีหน้าที่วางไข่และ  ดูแลตัวอ่อน ตัวเมียจะเริ่มปั้นลูกเบ้าจากมูลควายและวางไข่
ใส่ในลูกเบ้าลูกละ 1 ฟอง หลังจากนั้นจะปั้นลูกเบ้าพอกใหญ่ขึ้นเพื่อเป็นอาหารของตัวอ่อน
ใช้ในการเจริญเติบโตอยู่ในลูกเบ้าและพอกปิดทับด้วยดินทราย ในธรรมชาติสามารถขุดพบ
ลูกเบ้ากุดจี่อยู่ในโพรงมีจำนวน 5, 7, 9 และ 11 ลูกต่อโพรง  


ในแง่วิถีชีวิตอีสาน

กุดจี่เบ้า หรือ จุดจี่เบ้า ช่วงเดือน พฤศจิกา – กุมภาพันธ์  เด็กน้อยอีสานสมัยก่อน ตอนเช้าๆ
จะถือเสียม สะพายกะต่า หรือหิ้วคุ เดินตามท่งนา เลาะตีนบ้าน หรือ เลาะไปตาม เดิ่นนาดินทราย
หัวป่า เนินทรายเพื่อเสาะหา ขวยจุดจี่  ส่วนมาก หาตามกองขี้ วัวขี้ควาย  เพื่อขุดจุดจี่  ส่วนมากสิได้
กุดจี่คุ่ม  กดจี่หวาย กุดจี่แดง  ต่างเลาะหาแมลงเหล่านี้มาเป็นอาหาร  ส่วนกุดจี่เป้า หากเจอ
ถือว่าเป็นโชค ดีใจจนเนื้อเต้น เนื่องจากหากยาก มักทำรัง หรือ ทำขวย หลบสายตา  
พบส่วนมาก ตามหัวป่า หัวบะ เดิ่นนาดินทราย

บางขวย ก็เป็น ขวยฮ้างต้องอาศัย ช่างสังเกต  การขุดก็ไม่ง่าย เพราะค่อนข้างอยู่ลึก
บางขวย ลึกเป็นวา  ทั้งนี้การขุดต้องหารู หรือ”แปว” มันให้พบ ขุดไม่ดี ดินถม “ แปว”
หาไม่เจอ เรียกว่า “ แปวตัน “
การได้ กุดจี่เบ้า ขวยเดียว ก็พอแล้ว เพราะ อย่างน้อยก็  5 ลูกขึ้นไป  โชคดีก็ได้  11 ลูก  แบกกลับบ้าน
หัวร่อเอิกอาก อารมณ์ดี  ส่วนมาก เบ้า จะมีจำนวนคี่ ไม่พบเป้าในขวยเดียวกัน จำนวนคู่
อันนี้ ผู้ตั้งกระทู้ไม่ทราบสาเหตุ  รวมทั้งยังไม่มีการวิจัย “ ทำไมเบ้าถึงมีคี่ “
การขุดเบ้าต้องไปขุด 2  คนขึ้นไป เพราะคนหนึ่ง เป็นคนขุด คนหนึ่งเป็นคน “ขวัก” หรือ โกยดิน

จากสาเหตุเบ้ามีจำนวนคี่  จึงต้องแบ่งปันกัน ระหว่าง  2 คน เช่น คนขุด มักจะได้มากกว่า “คนขวัก”
ซึ่งต้องมีอีกคนเสียสละ นั่นจึงเป็น สมการแห่งการเรียนรู้การแบ่งปัน ของลูกอีสานโดยแท้
เมื่อเด็กได้ทำกิจกรรมกลางแจ้งด้วยกัน ที่สำคัญได้เหนื่อยยากร่วมกัน แบ่งปันกัน ย่อมมีความผูกพัน
แม้เบาบางแต่ ค่อยๆ ซึมซับเข้าในหัวใจ ที่ธรรมชาติเป็นผู้สอน  

ในแง่ความเกี่ยวพันทางลึก

จะเห็นได้ว่าวงจรชีวิตของแมงกุดจี่ กับควาย กับ วัว ชาวบ้าน มีความเชื่อมโยงกัน ถ้าขาดฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไป
จะทำให้ขาดความสมดุล เช่น ในปัจจุบัน จำนวนควายลดลง ส่งผลให้แมงกุดจี่หายากขึ้นและลดจำนวนลง เพราะขยายพันธุ์ได้น้อยลง และหากไม่มีแมงกุดจี่คอยกินมูล ก็จะส่งผลให้เกิด ความไม่สมดุล  ทางนิเวศน์
หน้าดิน ขาดความอุดม วิถีชีวิตเปลี่ยนแปลง  เมื่อใดที่ ชาวนาขาด วัวควาย พื้นดินขาดแมงกุดจี่
นั่นย่อมหมายถึงผืนดิน ที่ใช้ปลูกข้าวในอีสาน ขาดแร่ธาตุอันเป็นประโยชน์ ในการเติบโตของพืช
จำต้องพึ่งสารเคมีสูงขึ้น ทุกปี   ต้นทุนสูงขึ้น ทำนาด้วยความยากลำบาก


สถานการณ์ปัจจุบัน

กุดจี่เบ้า หายากยิ่งขึ้น ยังคงมากมีตาม จังหวัดที่ยังรักษา วิถีชาวนาอีสานไว้อย่างแน่นแฟ้น
ยังมี วัวควายจำนวนมากในพื้นที่ เช่น บุรีรัมย์( บางอำเภอ)  ศรีษะเกษ   อุบล ฯ
มุกดาหาร  อุดร ขอนแก่นตอนบน และ หนองบัวลำภู

กุดจี่เบ้าเข้าขั้น วิกฤต ใกล้สูญพันธ์จากพื้นที่ ได้แก่ สุรินทร์ ขอนแก่น ชัยภูมิ มหาสารคาม สกลนคร หนองคาย
เด็กน้อยอีสานบางคน สมัยนี้  ไม่เคยไปขุด กุดจี่เบ้า หรือ รู้จักกุดจี่เบ้า  ซึ่งน่าเศร้าในแนวลึกวิถีอีสาน

แมลงที่เป็นอัตลักษณ์ เชิงจิตวิญญาณลูกอีสาน ผู้เป็นราชาแมลงแห่งท้องทุ่ง กำลังสูญหาย
เข้าสู่ยุค
  ESANIEA
ขอบคุณข้อมูลบางส่วน จาก
www.junjaowka.com   www.krusmart.com   ww.gotoknow.org/

 
 
สาธุการบทความนี้ : 1300 ครั้ง
จากสมาชิก : 7 ครั้ง
จากขาจร : 1293 ครั้ง
 
 
  28 ก.ย. 2553 เวลา 12:26:33  
   ขึ้นบน ลงล่าง  
 
         

  โพสต์โดย   98) สารานุกรม แมงไม้ ใน อีสาน  
  ปิ่นลม    คห.ที่68) แมงแคง      [ไปที่ความเห็นนี้ ในกระทู้นี้]  
  เซียน

ภูมิลำเนา : สกลนคร
เข้าร่วม : 16 มี.ค. 2553
รวมโพสต์ : 2213
ให้สาธุการ : 180
รับสาธุการ : 5440860
รวม: 5441040 สาธุการ

 


ชื่อพื้นบ้าน              แมงแคง  แมงแคงค้อ  แมงขิว (จอมยุทธใบไม้ผลิ)
ชื่อวิทยาศาสตร์        Tessaratoma papillosa  , Homoeocerus sp.
อันดับ         Hemiptera
ชื่อวงศ์        Coreidae
ชื่อสามัญ  Stink  Bugs


ลักษณะทางกายภาพ


ตัวเต็มวัยมีสีน้ำตาลปนเหลือง รูปร่างลักษณะคล้ายโล่ มีขนาดยาวประมาณ 25 - 31 มม. และส่วนกว้างตอนอก กว้างประมาณ 15 - 17 มม. ตัวเต็มวัยตัวเมียวางไข่เป็นกลุ่มตามใบหรือเรียงตามก้านดอก ไข่กลุ่มหนึ่งจะมีจำนวนโดยเฉลี่ย 14 ฟอง ไข่จะฟักออกมาเป็นตัวอ่อน ประมาณ 7 - 14 วัน ตัวอ่อนจะมีสีแดงมีการลอกคราบ 5 ครั้ง ระยะตัวอ่อนกินเวลาประมาณ 61 - 74 วัน จึงจะเจริญออกมาเป็นตัวเต็มวัย แมงแคงมีสีน้ำตาลปนเหลือง รูปร่างลักษณะคล้ายโล่  มีขนาดยาวประมาณ 25 – 31  มิลลิเมตร  ส่วนอกกว้างประมาณ  15 – 17  มิลลิเมตร


ภาพ ตัวอ่อนยังไม่เต็มวัยของ แมงแคง


แหล่งที่พบ

ตามต้นค้อ ( ตะคร้อ)  ต้นจิก ต้นฮัง และป่าเต็งรังทั่วไป  ส่วนมากพบตามต้นค้อ  แมงแคงอันนี้
กินน้ำเลี้ยงจากยอดใบอ่อนต้นค้อ จึงพบได้ตามต้นค้อเป็นหลัก แต่ทางภาคเหนือ พบตามต้นลำไย
ช่วงที่พบได้ง่าย ช่วงเดือน เม.ย – มิ.ย. ตามต้นค้อ ที่กำลัง งอกใบใหม่

วงจรชีวิต

แมงแคง มีอายุขัย นับตั้งแต่ไข่ – ตัวเต็มวัย – ตาย  ศิริอายุได้ 1 ปี  วงจรชีวิตเริ่มจาก
           เม.ย. – พ.ค.ตัวเมียวางไข่เป็นกลุ่มอยู่ตามใบและก้านดอกของต้นค้อ  หรือพืชอื่นๆ  
มักวางไข่เป็นกลุ่ม ๆ ละ 5 – 28 ฟอง  ระยะเวลาโดยประมาณ  ระยะไข่ใช้เวลา  7 – 14  วัน
ระยะตัวไม่เต็มวัย 105 – 107 วัน  ระยะตัวเต็มวัยอาจมีอายุมากถึง  90  วัน  หรือเกินกว่านี้


ศัตรูธรรมชาติ ศัตรูธรรมชาติของแมงอันนี้ เท่าที่ บ่าวปิ่นลม คนรูปหล่อ บ่ปรึกษาหมู่ บ่ปรึกษากอง
สังเกตพบ ได้แก่  นกกะปูด นกกระลาง นกไก่นา  กะปอม และ เด็กน้อยเล้ยงควายขี้ดื้อ

ประโยชน์และความสำคัญ

  นำไปรับประทานเป็นอาหาร ได้แก่

    1.กินดิบ เพียงแค่เด็ดปีกทิ้ง และบีบตรงส่วนท้องเพื่อให้ฉี่ที่มีกลิ่นฉุนๆ ออก  
       แล้วก็ใส่ปากหย่ำ
      หากอยากให้แซบ ต้องมีข้าวเหนียวกระติบน้อย และ แจ่วปลาแดกใส่ หมากเผ็ดหลอ
     จ้ำปลาแดก แล้วก็ แกล้มด้วยแมงแคงดิบ  แซบอีหลี ระวังฉี่ หรือ เยี่ยวมัน ลวกลิ้นเด้อ
   2.เอาไปคั่วหรือ เอาไปจ่าม ( เสียบไม้ย่างไฟ )
      นำไปคั่วไฟอ่อนๆ จนสุก โรยเกลือเล็กน้อย แค่นี้ก็อร่อยทั้งกินเล่นๆ และกินเป็นกับแกล้ม
      หรือจะเสียบไม้ ย่างไฟพอสุก ก็แซบพอกัน หอมฮ๋วย ๆ
   3.นำไปตำทำน้ำพริก หรือ แจ่วแมงแคง
    4. เอาไปหมกไฟ รวมกันกับ กะปอมแม่ไข่ ใส่ใบตอง ( อันนี้แซบบ่มีแนวคือ )





ข้อควรระวัง
แมงอันนี้ มีกลไกป้องกันตัว คือ เยี่ยว ( ฉี่ )  เป็นกรดมีพิษ แสบร้อน  เวลาจับ
ต้องระวัง อย่าให้มัน เยี่ยวใส่ตา  บ่ซั้น จะให้ดี ต้องใส่แว่น คือบ่าวหน่อ ไปจับมันเอา
เทคนิคการจับ คือหันดากมันออกไปจากตัว เป็นต้นว่า หันดากไปทาง สาวส่าเมืองยโส
หรือทางจารย์ใหญ่ กะได้  
อันหนึ่ง เวลาเยี่ยวมันถูกมือ ,แขน,ขา  เมื่อแห้งแล้ว จะมีรอยคราบสีเหลือง, ดำ
ติดตามมือ ตามตัว ล้างออกยาก มือเหลืองอ่อยฮ่อย  ส่วนนิ้วมือเหลือง ย้อนว่า
พันลำยาสูบ อันนี้บ่เกี่ยว เด้อ ( ผู้ลังคนดอกหวา )



วิธีการหาแมงแคง

1.“ตบแมงแคง”
ไม่ใช่การ ตบ แบบนางร้ายในละครเด้อ  อุปกรณ์ในการตบ ต้องมีดังนี้
ไม้แส่  , ถุงดางเขียว, ถุงพลาสติก มัดทำเป็นถุงปลายไม้  ไปหา “ตบ”เอาตามต้นค้อ  

2 “เลวแมงแคง”
      ไม่ใช่ เลวระยำตามความหมายในภาษากลางเด้อ “เลว” ในที่นี้ เป็นภาษาอีสานแปลว่า ขว้าง เขวี้ยง  
อุปกรณ์ ไม่ต้องมีอะไรมาก ค้อนไม้แกนหล่อน ขนาด
พอเหมาะมือ ก็พอ ขว้างแล้วก็ วิไล่เอาโลด ส่วนมาก นิยมทำตอน ฝนตกเซาใหม่
ปีกแมงแคงยังเปียก บินไม่ได้ไกล  หรือ ตอนเช้าๆ  ตอน”ฝนเอี้ยน” จะดีมาก จ๊วด...

ในแง่วิถีชีวิตอีสาน


เมื่อฝนแรก โรยรินถิ่นอีสาน กลิ่นดินระเหิด อบอวน ใบไม้ที่ผลัดใบ เริ่มผลิใบอ่อน
ต้นค้อ( ตะคร้อ) กำลังออกใบสีแดงอ่อนๆ เต็มต้น  เด็กน้อยชาวอีสาน ต่างออกจาก
หมู่บ้านตั้งแต่เช้า ไปหาเอาแมงแคง  บ้างก็ถือไม้แส่ ไม้ส่าว มีถุงพลาสติก ทำเป็น
ถุงมัดคล้องไว้ตรงปลาย ไปหาจับเอาแมงแคง  บ้างที่ไม่มีอุปกรณ์ ก็อาศัย ขึ้นจับเอา
หรือ สั่นกิ่งไม้ให้ แมงแคงบิน แล้วก็ วิ่งไล่ไปตามทุ่งนากว้าง  บางครั้งวิ่งไล่
ตามองแต่แมลงที่บิน ลืมดูที่พื้น “ตำ” คันนา  ล้มคุบดิน เป็นที่สนุกสนาน
เมื่อได้มาแล้ว ก็แบ่งกัน  การไล่ล่าแมงแคง จึงเป็นกิจกรรม ที่ลูกอีสานแทบทุกคน
เคยผ่าน จะรู้ว่า ทั้งเหนื่อยและสนุก เท่าใด

  เมื่อฝนเริ่มแรกตกลงสู่ผืนดิน ชาวไฮ่ชาวนาต่างเตรียมตัว ลงไฮ่ ลงนา
ซึ่งบางหมู่บ้านต้องลงไปนอนนา หมายถึง ยกครัวเรือนไปอยู่กินที่ โรงนาตลอดฤดู
จึงต้องมีการ วางแผนปลูกพืชไว้กิน ในฤดูทำนา   มีการ” เฮ็ดไฮ่ “ ปลูกแตงจิง
ปลูกถั่ว ปลูกงา  เพื่อเป็นอาหารในฤดูทำนา  การเฮ็ดไฮ่  ต้องมีการ “ เกียกไฮ่ “
คือถากถางต้นไม้ เผาตอไม้ เพื่อเอาเถ้าถ่าน เป็นฝุ่นปุ๋ย  ต้องเผาให้เหลือแต่เถ้าถ่าน
เกลี่ยให้เถ้านั้นกระจายเต็มพื้นที่การทำไฮ่  เรียกว่าการ”เกียกไฮ่”
พ่อกับลูกชาย พากันไปโคกนา ทำการ”เกียกไฮ่  “  ติบข้าว ห่อปลาแดก  น้ำเต้า
ห้อยไว้บนกิ่งไม้   ลุยเกลี่ยเถ้าถ่านที่ร้อนระอุ ไม่แพ้แดดกลางเดือนเมษา
เมื่อเสร็จแล้ว ต้องมีการล้อมรั้ว ทำเสาและราวรั้ว ซึ่งต้องตรากตรำ ใช้แรงงาน
เหงื่อท่วมตัว    เมื่อตะวันเที่ยง  ก็เดินไปที่ต้นค้อ หาเอาแมงแคง ทั้งตัวอ่อนของมัน
มาหมกใส่ใบตอง รวมกับ กระปอมแดงแม่ไข่ ที่จับได้ สับให้เป็นชิ้น ๆ คละเคล้ากัน
ใส่น้ำปลาแดก ใส่พริก แล้วก็ห่อใบตอง ไปหมกขี้เถ้าไฟ  
ความหิว ความเหนื่อย คือ ความโอชะอันเป็นทิพย์ ประกอบกับ ความหอม
ของกลิ่นแมงแคง และเนื้ออันพอเหมาะของกะปอมแดงฮาวฮั้ว  จึงเป็นอาหาร
อันสุดยอดแห่งความอร่อย  ผู้ตั้งกระทู้ ยังจดจำรสชาติ แห่งโอชา อาหารมื้อนั้นได้
ทุกครั้งที่มองทุ่งนาเวิ้งว้าง ที่มีต้นค้อยืนเด่น  รสชาติโอชะและรสชาติความเหนื่อยล้า
ระคนกันมากับความทรงจำดีๆ ในสายลม



ขอบคุณภาพทุกภาพจากอินเตอร์เน็ต บ้านมหาดอทคอม  แมลงดอทคอม  และ อื่นๆ ครับ

 
 
สาธุการบทความนี้ : 1253 ครั้ง
จากสมาชิก : 3 ครั้ง
จากขาจร : 1250 ครั้ง
 
 
  26 ต.ค. 2553 เวลา 13:49:54  
   ขึ้นบน ลงล่าง  
 
         

  โพสต์โดย   98) สารานุกรม แมงไม้ ใน อีสาน  
  ปิ่นลม    คห.ที่167) มดง่าม      [ไปที่ความเห็นนี้ ในกระทู้นี้]  
  เซียน

ภูมิลำเนา : สกลนคร
เข้าร่วม : 16 มี.ค. 2553
รวมโพสต์ : 2213
ให้สาธุการ : 180
รับสาธุการ : 5440860
รวม: 5441040 สาธุการ

 


ชื่อพื้นเมือง   มดง่าม   มดแง่ม   มดง่ามทุ่ง
ชื่อสามัญ  Pheidole jeton driversus
ชื่อวิทยาศาสตร์  Pheidole sp.
วงศ์               Formicidae
อันดับ        Hymenoptera
ก่อนอื่นขอเกริ่นให้ฟังก่อน  เนื่องจากแมง มดง่าม อันนี้ กระผมต้องใช้เวลาในการหาข้อมูล
นานพอควร หรือ ภาษาอีสานว่า “ เหิงเติบ”   เพราะว่า ข้อมูลส่วนใหญ่ เป็นภาษาอังกฤษ  การบันทึก
ข้อมูลเกี่ยวกับ มดง่าม เป็นภาษาไทยมีน้อย  อนึ่งไผเห็นแมงอันนี้ กะ เทน้ำฮ้อนลวกฮัง จนตาย “เสี่ยง”
เมื่อศึกษาอย่างจริงๆแล้ว จึงทราบง่า มดง่าม หรือ แมลงจำพวกมด น่าสนใจกว่าสัตว์ชนิดอื่นเอามากๆ
หลายอย่างที่เราไม่รู้ มองข้าม ประเมินสัตว์ประเภทนี้ต่ำกว่าที่เป็นจริง  อีกอย่างเพราะการทระนงตัว
ปัญญาสูง และมีกำลังกว่า จึงคิดว่ามด เป็นสัตว์กระจ้อยร้อย   เมื่อพิจารณาแล้ว  
ตกใจเกินจินตนาการ  มาลองอ่านดู จะพบความอัศจรรย์ ของแมง ประเภทนี้


มดจัดเป็นแมลงสังคมชั้นสูง  (Eusocial insect)   มีความสำคัญในห่วงโซ่อาหาร และสายใยอาหาร
อยู่ในอันดับ Hymenoptera กลุ่มเดียวกับ ต่อ แตน  วงศ์ Formicidae  ลักษณะเด่นคือ
ลำตัวออกเป็น 3 ส่วนเห็นได้ชัดเจนคือ หัว (head)  อก (thorax) และท้อง (abdomen)
ในแต่ละส่วนก็จะประกอบด้วยอวัยวะที่สำคัญ เช่น
ส่วนหัว ประกอบด้วย ตาเดี่ยว (ocelli) โดยทั่วไปมีอยู่ 3 ตา อยู่เหนือตารวมขึ้นไป มักพบในเพศผู้และราชินี
หนวด (antenna) เป็นแบบหักข้อศอก มี 4 - 12 ปล้อง ส่วนมากมี 12 ปล้อง ทำหน้าที่รับความรู้สึก  
และการสื่อสาร
     หนวด จำนวน 4 – 12 ปล้องในเพศเมีย
     และ หนวด 9 – 13 ปล้องในเพศผู้   มดงานมีหนวดจำนวน 12 ปล้อง
มีปากแบบกัดกิน  (chewing type)  
มดง่ามไม่มีเหล็กใน (มดส่วนใหญ่หลายชนิดมีเหล็กใน)
อาวุธที่ร้านกาจของมัน มีเพียง ง่ามปากกัด ที่ขบกัด ที่แข็งแรงกว่ามดอื่น  พิษของมันอยู่ที่คมกราม ทำให้เกิด
อาการเจ็บคัน และ ชา เป็นผื่น


รังมดง่าม ประกอบไปด้วย  วรรณะของมด ดังนี้

1 ราชินี  (Queen) ทำหน้าที่วางไข่ และทำหน้าที่ควบคุมจำนวนประชาการของมดในรังให้เข้ากับสถานการณ์
2 มดเพศผู้ มีขนาดเท่ากับมดงาน หรือเล็กกว่า มีหัวเล็ก มีตาเดี่ยว มีหนวดสั้นมาก  มีปีก 2 คู่
มดเพศผู้มีหน้าที่ผสมพันธุ์ กับ มด  ธิดาราชินี (มดเพศเมีย)   ในฤดูผสมพันธุ์
3 เป็นมดเพศเมีย รูปร่างโตกว่ามดปกติทั่งไปภายในรัง มีปีก 2 คู่  ก้นใหญ่  หรือ “ดากต่ง”
      มีหน้าที่ ผสมพันธุ์และขยายอาณาจักร ในฤดูผสมพันธุ์
4 มดงาน (Minor worker) ซึ่งเป็นมดไร้เพศ ไม่สามารถผมพันธุ์ได้  ทำหน้าที่หาอาหาร ปกป้องรัง
และเป็นพลพรรคหลักในการสร้างอาณาจักร
5 มดพยาบาล มีลำตัวเล็กกว่ามดในรังทั้งหมด  เป็นมดไร้เพศ ไม่ออกหากิน แต่ทำหน้าที่ ดูแลไข่
       และนางพญา ป้อนอาหาร นางพญาและ ตัวอ่อนภายในรัง
6  มดทหาร ( Major  Worker)  มีลักษณะ หัวใหญ่ตัวใหญ่ มีกรามขนาด มโหฬาร  เป็นมดไร้เพศ  
ทำหน้าที่เป็นทหาร ดูแลรังดูแลพลพรรคมดงาน  เป็นอาวุธเด็ด กำลังรบหลัก ของรัง



ภาพ วรรณะต่าง ๆ ของมดง่าม ภายในรัง


ความรู้ทั่วไป
มดในโลกใบนี้ มีราว 12,000 ชนิด มดกำเนิดขึ้นมาในโลก 140 ล้านปีมาแล้ว
ในขณะที่มนุษย์เพิ่งมีปรากฏขึ้นในโลกนี้เพียง  1 แสนปีมานี่เอง   มดไม่ฉลาด แต่ฝูงมดต่างหากที่ฉลาด
มดเพียงตัวเดียวอาจเป็น “บักปึกกะหลึม “ ตัวจิ๋ว แต่เมื่ออยู่รวมกัน ฝูงมดสามารถตอบสนองต่อสถานการณ์แวดล้อมได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ฉลาดล้ำที่เรียกว่า   ปัญญารวมฝูง (swarm intelligence)


หลักการสำคัญในการรวมฝูงของมดง่าม คือการไม่มีผู้นำ ไม่มีหัวหน้าคอยสั่งการมดงาน
มดราชินีไม่มีบทบาทอะไรนอกจากวางไข่ กำหนดจำนวนประชากร แม้จะมีสมาชิกถึงห้าแสนตัว
แต่ฝูงมดก็ยังทำงานได้อย่างราบรื่นโดยไม่มีการจัดการใดๆ ไม่มีแม้กระทั่งความขัดแย้ง
การดำเนินการต่างๆขึ้นอยู่กับปฏิสัมพันธ์ระหว่างมดแต่ละตัว นักวิทยาศาสตร์เรียกระบบนี้ว่า
การจัดการภายในตัวเอง (self-organizing)
มดง่าม จึงจัดได้ว่า เป็นสัตว์สังคมเช่นเดียวกับมนุษย์  แต่ประสบความสำเร็จ ยิ่งยวดกว่ามนุษย์
ในการอยู่รวมกับแบบฝูง แบบเทียบไม่ติด  
ขงจื้อ ปราชญ์ ที่ยิ่งใหญ่ชาวจีน กล่าวไว้ว่า  
“ การปกครองที่ประเสริฐสุด คือการอยู่โดยไม่ปกครอง”
คาดว่า ขงจื้อคงนั่งสังเกต “ขวยมดง่าม หรือ ขวยมดแง่ม “  นี่เองจึงแจ้งแจ่มในกมล


ภาพ ราชินีมดง่ามแสนสวย

พฤติกรรมโดยทั่วไป ของมดง่าม

มดง่ามเป็นมด ในตระกูล Pheidole มีการกระจายตัวในระบบนิเวศป่าเขตร้อนและกึ่งเขตร้อน
แหล่งที่อาศัยส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่ป่าธรรมชาติ (natural forest)หรือป่าขั้นทดแทน
(secondary forest) มีบางชนิดทำรังอาศัยในพื้นที่เกษตรกรรมหรือใกล้บ้านเรือน
สถานที่ทำรังมีหลากรูปแบบ ได้แก่ ใต้พื้นดิน ใต้ใบไม้ผุ กิ่งไม้ผุ ขอนไม้ผุ ใต้ก้อนหิน
กระจายบริเวณผืนป่าทั่วไป   รวมทั้งพื้นเปิดโล่ง หรือ “เดิ่นดอน”  ในภาษาอีสาน
นอกจากนี้ยังมีการสร้างรังในรูปแบบที่หลากหลาย เช่น สร้างรังในขอนไม้ผุช่วยทำให้ขอนไม้ผุเร็วขึ้น
สร้างรังในดินมีส่วนช่วยปรับปรุงคุณภาพดิน ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนมีผลในการส่งเสริมการหมุนเวียน
ของธาตุอาหารได้ดีขึ้น
มดง่ามทุ่ง พบเห็นได้ตาม ภาคอีสาน ภาคเหนือ และภาคกลางบางแห่ง

การสร้างรัง
มดง่าม เมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์ เหล่ามดธิดาราชินี หรือ มดเพศเมีย ที่มีปีก  และมดเพศผู้ที่มีปีก จะออกจากรัง
และบินขึ้นไปผสมพันธุ์กันกลางอากาศ  เอิ้นว่า “ วิวาห์เหาะ “   ส่วนใหญ่ฤดูผสมพันธุ์คือ ช่วง เมษายนจนถึงเดือน
พฤษภาคม หลังจากผสมพันธุ์เสร็จ มดเพศผู้จะตายลง “เบิ๊ดเวียก “   สำหรับมดเพศเมีย
จะเก็บน้ำเชื้อไว้ในท้อง หรือ ส่วน (spermatheca) ให้มากที่สุด จากนั้นจะสลัดปีก
พเนจรหาแหล่งที่ทำรังแห่งใหม่ เพื่อสร้างอาณาจักรของตน   ช่วงนี้เป็นช่วงที่อ่อนแอที่สุดของมดง่าม
เนื่องจากเป็นที่หมายปองของ สัตว์ต่าง ๆ ที่จ้องกิน “ราชินีไร้บัลลังก์”  เช่น “ กะปอม “ ขี้โกะ “
และนกสารพัด  อื่นๆ มากมาย



ภาพรังมดง่าม

เมื่อ”ราชินีไร้บัลลังก์” เหล่านี้ รอดพ้นพญามัจจุราชมาได้แล้ว จะเร่งเสาะหา  ตอไม้ ,โพรงใต้ดิน
หรือ สุมทุมพุ่มไม้ที่ปลอดภัย   แทรกตัวเข้าหลบภัย
จากนั้นจะออกไข่ก่อน  2 ฟอง เป็นไข่รุ่นแรก มีลักษณะขุ่น ๆ เล็ก ๆ   มันจะ กินไข่ตัวเองเพื่อ
เป็นอาหารเพื่อให้มีเรี่ยวแรง   ( มดราชินีหากินเองไม่ได้  ต้องกินไข่ตัวเองก่อน )    

ไข่ในชุดที่ 2   ออกไข่ 4 ฟอง   ฟักเป็นมดงาน  ไม่ค่อยสมบูรณ์ และยังปัญญาอ่อนเล็กน้อย
เธอจึงกินลูกมด 1 ตัว   และให้มดงาน 2 ตัวกิน น้องสุดท้อง1 ตัวเป็นอาหาร เพื่อเป็นพลังงาน
จากนั้นมดงาน 2 ตัวจะทำการออกหาเหยื่อ หรือเมล็ดพืชต่างๆ มาให้ ราชินีกินเป็นอาหาร
เมื่อพอมีอาหารประทังท้องบ้างแล้ว ราชินีมดง่าม จึงออกไข่ ชุดที่ 3 มีจำนวน  8 ฟอง
พวกมันกินกันเอง เหลือรอด 4 ตัว ช่วยกันขุดดินทำรังและหาอาหาร
กลยุทธ์แบบนี้ เรียกว่า “ เดินหน้า 1 ก้าว ถอยหลัง2 ก้าว “ ปานว่า วิชาหมัดเมา ของเฉินหลง



เธอทำแบบนี้เรื่อยๆ จนกระทั่ง มีจำนวนสมาชิกในรังจำนวนหนึ่ง เพียงพอเพื่อหาอาหารเลี้ยงมดรุ่นถัดไป
เธอจะเลิกกินลูกตัวเอง และวางไข่รุ่นต่อมา  จนกระทั่งประชากรในรังมีขนาดใหญ่ขึ้น
ราชินีมดจึง เริ่มออกไข่ ต่างประเภท เพื่อประโยชน์ต่อการ สร้างเมือง
เช่น ออกไข่ มดพยาบาล ออกไข่ มดทหาร  เป็นต้น  เมื่อมีปะชากรมากแล้ว มดงานจะย้ายราชินี ลงใต้ดิน
ให้ลึกพอในที่ปลอดภัย  สร้าง”ห้องประมุข” ให้สมเกียรติ  ราชินีใหม่ ในฐานะ “ราณีแห่งมด” และออกไข่
เป็น มดทหาร สถาปนา เมืองใหม่  สร้าง ฟีโรโมน อันเป็นเฉพาะรัง

( ตามจินตนาการของผู้เขียน คิดว่า การสร้าง ฟีโรโมนเฉพาะรังของราชินี เป็นการตั้งชื่อ ตัวเองและ
เมืองของตน เช่น “ ปูฆาน”   เมืองแห่งกลิ่นปู เพราะการตั้งรกรากครั้งแรก  มดงานนำเนื้อปูมาให้ราชินี
เมือง “ ตอแดงเนิ้งเวหาท “  เมืองนี้ตั้งอยู่ใต้ตอต้นแดง เป็นต้น    )
เมื่อเมืองแห่งมดมั่นคงแล้ว  มดง่ามจะส่ง “ทูต” หรือกลุ่มมดงาน ตามหารังแม่ เพื่อแจ้งตำแหน่ง
นครของตนให้กับ อาณาใหญ่จักรทราบ  
ตามที่ผู้เขียนเคยสังเกต “ขวยมดง่าม”  พบว่า แต่ละรังย่อยๆ มีการเดินแถวต่อต่อสื่อสารกัน
จนถึง รังขนาดใหญ่มาก    อาจกินเนื้อที่ได้ร่วม 2 กิโล  พออนุมานได้ว่า  อาณาจักรนี้  มีเนื้อที่เท่าใด
มีรังย่อยเท่าไร  รังใหญ่ที่เป็น “มหาจักรพรรดินี “ เพียงรังเดียว ซึ่งอาจมีอายุได้ 10 ปี
และมีนครย่อยทั้งหมด  60 รัง ทั้งหมดเป็น สหพันธุ์เดียวกัน
หลังจากภายในรังมีประชากรมดงานมากพอสมควร มดราชินีจึงจะผลิตมดวรรณะสืบพันธุ์เพื่อ
ออกไปสร้างรังต่อไป




ภาพ ฝรั่ง กำลังศึกษาโครงสร้างของรังมด และทึ่งในสถาปัตยกรรม  ( ใครว่ามดโง่)

การออกหาอาหาร
โดยทั่วไป มดง่าม จะจัดหน่วย “ จรยุทธ์” ประกอบด้วย มดทหาร (มดหัวโป) จำนวน 5 ตัว
และมดงานอีกประมาณ 30 ตัว  เพื่อลาดตะเวนหาอาหาร เมื่อพบอาหาร เช่น ใบไม้
เมล็ดพืช หรือตัวหนอน ก็จะขนกลับรัง หากอาหารมีปริมาณมากเกินขีดความสามารถ
ก็จะแจ้งพลพรรค ให้มาขนกันเป็นขบวน   ถึงขนาด สร้างถนนเป็น “ไฮเวย์” หรือทางด่วน



ภาพทางเดินของมดง่าม

มดง่ามจะขนของเป็นทาง เป็นแถว เป็นระเบียบ ไม่ ขนไปมั่วแบบกระจาย
ทุกริ้วขบวนการขน มักมี มดทหารคอยดูแลความปลอดภัย และทำหน้าที่บรรทุกมดงาน
มดทหาร จึงเป็นเสมือน รถถัง และรถบรรทุกในคราเดียวกัน
มดนั้นเป็นสัตว์ทรงพลัง มดสามารถยกของหนัก ได้ 50 เท่า จากน้ำหนักของตัวมัน
ลองนึกภาพว่า “ท่านคูบาต้องแล่ง” สามารถยก รถปิ๊กอัพ ได้มือสองข้างเบิ่ง




มดง่าม ไม่กินน้ำหวาน หรือน้ำตาล  อาหารหลักของมันคือ เมล็ดพืช และซากสัตว์
ในการสะสมอาหาร  มดง่ามจะขนอาหารเพื่อสะสมไว้กินในหน้าแล้งอย่างบ้าคลั่ง
เมื่อเข้าสู่ห้วง ปลายหน้าฝนจนถึงต้นหน้าหนาว  ซึ่งส่วนใหญ่แล้วตรงกับ ฤดูการเก็บเกี่ยว
มันจะสะสมอาหารไว้ในโพรงได้ดิน เพื่อให้มั่นใจว่าจะอยู่รอดตลอดจนถึงฤดูฝนปีหน้า
มดเป็นนักวางกลยุทธ์ที่ชาญฉลาดยิ่งยวด



พฤติกรรมอื่นที่เราคาดไม่ถึง
มดสายลับ  
นอกเหนือจาก มดวรรณะต่างๆ ภายในรังของมดง่าม  ที่กล่าวมาในขั้นต้น
มดง่ามยังแอบขโมยไข่ของมดชนิดอื่นมาเลี้ยง  เพื่อศึกษาพฤติกรรมของมดต่างชนิด
หรือเพื่อ ล้วงความลับจาก รังมดชนิดอื่น เสมือนรู้เขารู้เรา   เช่น มดแดงทราย  มดคัน
มดดำ มดไว เป็นต้น  มดต่างสายพันธุ์ที่ถูกเลี้ยงจากรังมดง่ามเหล่านี้ เพื่อเป็น สายลับ
และสืบหาแหล่งข้อมูลรับมือ มดต่างชนิดที่จะมารุกรานรังของมัน

มดเกษตรกรรม
ใครที่นึกว่า มนุษย์เป็นสัตว์ชนิดเดียวที่ รู้จักการปลูกพืชไว้เป็นอาหารหละก็  คิดผิดครับ
มดนั้นมีประวัติศาสตร์ยาวนานมากกว่ามนุษย์  จาการที่กระผม “ หาเลาะขุดขี้ไก่เดียน”
หรือขุดไส้เดือนมาเพื่อเป็นเหยื่อใส่เบ็ดกบ   มีหลายครั้งที่ผม ขุดรังมดง่าม ด้วยความอยากรู้
ภายในรังใต้ดินของมัน มีโพรงที่ปลูก เห็ดรา สีขาวและ เขียวเทาเล็ก ๆ    ไว้เพื่อเป็นอาหาร
เพราะว่า ในฤดูฝนนั้น  เมล็ดพันธุ์ของพืชยังไม่สุก หรือ มีเพียงพอให้กินเป็นอาหาร
อีกทั้งยังมีน้ำฝนไหลหลาก ทั่วป่าโคกแต่ เดิ่นดอน  จึงเป็นการลำบากในการหากิน
มดง่ามจึงหาเชื้อเห็ดรา เหล่านี้ มาปลูกไว้กินในรัง   รอฤดูเมล็ดพืชสุกงอม



การสื่อสารของมดง่าม

การติดต่อสื่อสารระหว่างมดด้วยกัน ส่วนใหญ่จะใช้สารเคมีที่ผลิตขึ้นมา สารเคมีชนิดนี้ เรียกว่า” ฟีโรโมน”
เป็นสารเคมีที่สำคัญมากที่สุด ฟีโรมนของมด มีหลายชนิดตามการใช้งาน

เช่น ฟีโรมนบอกทาง สามารถค้นหาอาหารเจอ
ฟีโรโมนเตือนภัย เอาไว้บอกเพื่อนถึงอันตราย
ฟีโรมนผสมพันธุ์  มีเฉพาะมดมีเพศ
ฟีโรโมนประจำรัง  เอาไว้บอกว่าเป็นพวกจากรังเดียวกัน
ฟีโรโมน อาณาจักร  เอาไว้บอกความเป็นพวกของ สหพันธุ์เครือญาติของรังที่เป็นอาณาจักรเดียวกัน

    มดยังมีการสื่อสารอีกชนิดคือการใช้หนวด
จะเห็นอยู่เป็นประจำในลักษณะที่เรียกว่า “ แปะหนวด “ ในความเห็นส่วนตัว กระผมขอเรียก
การสื่อสารแบบนี้ว่า “ 12 G “ เพราะมันใช้หนวดทั้ง 12 ปล้องของมัน ในการถ่ายทอดข้อมูล
แต่ละตัวเมื่อพบกันตามทางเดิน จะเคลื่อนไหวหนวดป่ายแปะ
เพื่อแตะสัมผัสปล้องหนวดของกันและกัน เรียกว่า “ การซุนคิง “
“โบราณว่า  สิบหูฟังหรือจะสู้ตาดู  สิบตาดูหรือจะสู้สัมผัสเอง”
ยกตัวอย่าง โทรศัพท์มือถือ 3 G   เราโทรหากิ๊ก  เห็นภาพและได้ยินเสียง นึกว่าประเสริฐแล้ว
ลองนึกภาพหากเราได้กลิ่นและสัมผัสด้วยอย่างมดบ้างสิ พี่น้อง  อยากจะบอกว่า 3 G  ของท่าน
“โยนลง บวกควายนอน” ได้เลย

คิดว่ามนุษย์ ผลิตเทคโนโลยี่เป็นสุดยอดของการสื่อสารของโลกแล้ว ต้องคิดใหม่
3 G ดาวน์โหลด โน่นนี่  ภาพเสียง  เอกสารข้อมูล หนัง MV   หรือแม้แต่ เกมส์  Angry Birds
เกมส์ฮิต  หนังสติ๊กยิงนกตายเป็นเบือ

มดง่ามใช้เวลา 3 วินาที ในการ “ซุนคิง” ข้อมูลและประสบการณ์มากมายถูกส่งผ่านกันและกัน
(ตัวอย่าง การสื่อสารของมดง่ามในแถวคันนา ไฮ่กกหว้า  แปลเป็นภาษามนุษย์ ทั้งหมดเกิดขึ้นเพียง 3 วินาที )
“ สวัสดี ฉันคือ หมายเลข 114562 ( หมายเลขที่ตกไข่)
“สวัสดี ฉันคือ หมายเลข 5006
ว่าแล้วทั้งสองก็เอาหนวดแปะกัน   ข้อมูลเส้นทาง  อาหารคือหอยโข่งนอนหงายสิ้นใจ
รสชาติ กลิ่น  ปริมาณ  จำนวนของมดที่กำลังขนเนื้อหอยอยู่  สถานการณ์รอบด้าน
ระวัง 100 เมตรจากตรงนี้ไป มีเด็กมนุษย์เพศผู้ กำลังสร้างคลื่น “ซึนามิ” ใส่แถวมด
ภาพเสียงกลิ่นรส สัมผัส ประสบการณ์ส่งตรงถึงอีกฝ่ายเสมือนเข้าร่วมเหตุการณ์นั้นจริงๆ
ดั่งการฝังความทรงจำสู่อีกฝ่าย  จนผู้รับรู้ข้อมูล ขาสั่นๆ เพราะความกลัว ซึนามิต้องแล่ง


จากนั้น 114562 ไดแบ่งปัน M 150  เครื่องดื่มที่เป็นอาหารชั้นยอดของ “เมืองปูฆาน”
ให้แก่ 5006 ขบวนการนี้ เป็นการแลกเปลี่ยนของเหลว ที่อยู่ในกระเพาะด้านหน้า
ระหว่างพลมดด้วยกัน และ อาคันตุกะ  แล้วก็ผละจากกันไปทำหน้าที่ต่อ    


ความเกี่ยวเนื่องของมดง่าม ในวิถีชีวิตชาวอีสาน

มดง่ามนั้น ในหน้าฝน ไม่ค่อยรุกราน ชาวไร่ ชาวนาผู้นอนนา เท่าใดนัก  แต่เมื่อเข้าปลายฝน
ข้าวในนาสุก หรือ ลงลานข้าวแล้ว มดง่ามคือ ผู้ขน  มักขนเม็ดข้าวไปสะสมในรวงรัง
และทำหน้าที่ เก็บซากสัตว์ที่ตายในตอนต้นหน้าแล้ง เช่น ขี้ไก่เดียนตายแดด ซากแมงไม้
ซากปลาข่อน  หรืออื่นๆ  ให้สะอาด และเป็นการ หมุนเวียนธาตุอาหารในดิน
ไม่ปรากฏว่า มดง่ามทำลายนาข้าว หรือผลผลิตจนถึงขั้นเสียหาย  บทบาทในห่วงโซ่อาหาร
ที่เฮาอาจไม่รู้เห็น   อาจจะรำคาญบ้าง สำหรับผู้ นอนนา  เพราะมันเจาะอันนั้นอันนี้
บางครั้งก็ “ขบ”ฮอดในซ่งเสื้อ   ส่วนมากคนเฒ่าคนแก่  เพิ่นเอา ขี้เถ้าไปถมฮังมัน
มันก็จะ ย้ายหนี  หรือ เอาขี้เถ้าไปโรย ป้องกันการเข้ามาไต่ตอมของมดง่าม

บางครั้งชาวอีสานอาศัยมดง่าม หรือ มดแง่ม  ในการทำนายฟ้าฝน  เช่นเห็นมดขนไข่ขึ้นที่สูง
ไม่เกิน 2 วัน  ฝนตกแน่   มดเดินแถวกัน ตามเดิ่นโล่งแจ้ง มากผิดปกติ  แสดงว่า
“ฝนขาด” แล้ว  



มดง่าม มีความสามัคคี น้ำหนึ่งใจเดียวกัน  กล้าหาญ เสียสละ แบ่งปัน  ขยันขันแข็ง
ถ่อมตัว มีเจตคติเพื่อส่วนรวมอย่างยิ่งยวด ไม่เห็นแก่ตัว จึงทำให้สังคมของมด
เป็นสังคมที่ประสบผลสำเร็จสมบูรณ์ ไร้ความวุ่นวายขัดแย้ง  
จึงน่าควรศึกษาวิถีสังคมของมดเพื่อมาปรับใช้ในสังคม ให้เจริญก้าวหน้า  
ไม่ใช่แค่มองเห็นเป็นเพียง แมลงตัวน้อยๆธรรมดา

สังคมบ้านนอกอีสานแต่เก่าก่อน ขยันขันแข็ง แบ่งปัน เสียสละ ถ่อมตน และสามัคคีกัน
อีกอย่างคนอีสานสมัยก่อน มีความซื่อตรง ซื่อสัตย์   และคุณธรรม มีธรรมะในใจ
เฮาเขาใกล้ความสำเร็จทางสังคมแล้ว แต่เฮาลืมกำพืดเอง ละทิ้งหลงลืม

ด้วยความเคารพ    ปิ่นลม
ขอบคุณทุกภาพ จาก เวบไซต์ ต่างๆ ในอินเตอร์เน็ต

 
 
สาธุการบทความนี้ : 1212 ครั้ง
จากสมาชิก : 3 ครั้ง
จากขาจร : 1209 ครั้ง
 
 
  15 ก.พ. 2555 เวลา 15:20:13  
   ขึ้นบน ลงล่าง  
 
         

  โพสต์โดย   98) สารานุกรม แมงไม้ ใน อีสาน  
  ปิ่นลม    คห.ที่16) แมงขี้สูด      [ไปที่ความเห็นนี้ ในกระทู้นี้]  
  เซียน

ภูมิลำเนา : สกลนคร
เข้าร่วม : 16 มี.ค. 2553
รวมโพสต์ : 2213
ให้สาธุการ : 180
รับสาธุการ : 5440860
รวม: 5441040 สาธุการ

 


  
ชื่อ                   แมงสูด , แมงขี้สูด  ( นักพรตแห่งโพนปลวก )
ชื่อวิทยาศาสตร์   Tetragonisca ,Trigona apicalis และ Trigona Collina
วงศ์                     Stingless bee

แมงสูด เป็นชื่อของแมลงชนิดหนึ่ง ที่อยู่ในตระกูลผึ้ง มีขนาดลำตัวเล็กๆ  และไม่มีเหล็กในในตัวเอง
นิสัยเป็นมิตร ไม่ดุร้าย มีวิถีชีวิตคล้ายคลึงกับผึ้ง  มีวรรณะ เช่น มีนางพญา(แม่รัง)  มีสูดงาน( ไม่มีเพศ )
และมีสูดสืบพันธุ์  ( มีทั้งตัวผู้ตัวเมีย )  สามารถผลิตน้ำหวาน และขยายเผ่าพันธุ์ได้
ทางภาคเหนือจะเรียกว่า “แมลงขี้ตึง” แปลว่าแมลงที่ผลิตหรือเก็บน้ำยางได้ ทางภาคอีสานเรียก” แมงขี้สูด”
นิยมนำมาอุดแคน หรือถ่วงเครื่องดนตรีเกือบทุกชนิด ทำให้เกิดเสียงไพเราะ ส่วนภาคใต้เรียกตัว “อุง”
สำหรับภาคกลาง รู้จักในชื่อตัว “ชำมะโรง “ หรือ “ชันโรง”

บางครั้งทำรังในระดับทางเดินของคน มีชื่อเรียกภาษาอีสานว่า” สูดเพียงดิน” หมายถึงแมลง
ชนิดนี้ ทำรังระดับเดียวกันกับพื้นดิน แล้วทำท่อขึ้นมาจากพื้นดินครับ ซึ่งปกติแล้วแมลงชนิดนี้มักจะทำรังในที่สูงครับ เช่นโพรงไม้หรือจอมปลวกครับ”สูดเพียงดิน” นี้ค่อนข้างจะหายาก
ครับ ถ้าใครเจอให้เก็บไว้เลยนะครับเป็นของดี
เอามาใส่เครื่องดนตรีชนิดใด ก็ไพเราะจนคนไหลหลง  อีกทั้งผู้ร่ำเรียนไสยศาสตร์ มักจะนำไป
ปลุกเสกเป็นมหานิยม แล    
ขี้สูด อะไร ( ทำไมต้องสูด )
          ขี้สูด เป็นแมลงสังคม (Social insect) กลุ่มเดียวกับผึ้ง ลักษณะที่สำคัญแตกต่างกันไปจากผึ้งคือ เป็นผึ้งขนาดเล็กที่ไม่มีเหล็กใน เป็นแมลงที่เชื่องไม่ดุร้ายกับศัตรู
บางชนิดขี้อายชอบหลบอยู่ในรูหรือโพรงไม้ อยู่ในวงศ์ผึ้ง กลุ่มนี้ว่า"Stingless bee"
สามารถสร้างน้ำหสานได้เช่นกัน คำว่า "ขี้สูด" เป็นชื่อเรียกพื้นเมือง (Verrnacular name) ทั่วไป
ของภาคอีสาน  ที่มาของคำนี้สันนิษฐานว่าน่าจะมาจากลักษณะการสร้างรังเนื่องจากแมลงกลุ่มนี้ได้เก็บหา ยาง(gum) ชัน (resin) ของต้นไม้ แล้วนำมาอุดยาชันรอบๆ ปากรังและภายใน เพื่อป้องกันน้าไหลซึมเข้ารัง และยังเป็นการป้องกันศัตรูบริเวณปากรัง   ตัวอ่อนเมื่อกินน้ำหวานแล้ว จะขับถ่าย
เกสร หรือยางไม้ออก พวกวรรณะงาน ( ตัวสูดไม่มีเพศ ) จะขนถ่ายเศษเหล่านั้นไปสะสมไว้ใต้รัง
ส่วนนี้เองที่เรียกว่า”ขี้สูด”  เนื่องจากมีกลิ่นหอมแปลก ๆ จากยางไม้ดอกไม้นาๆ ชนิด
หากจับต้องแล้ว เป็นต้องดม สูดกลิ่นอันนี้ ประหลาดแท้ จึงเรียกว่า ขี้สูด  
อีกอย่าง สมัยโบราณ ไม่มีส้วม จึงอาศัยตื่นแต่เช้า ไปขี้ อยู่ข้างโพน  บังเอิญเจอแมงอันนี้
จึง โก่งโก้ยไป สูดดมปล่องรัง  ได้ทั้งกลิ่นขี้ ได้ทั้งกลิ่นน้ำหวาน แมงอันนี้
จึงตั้งชื่อว่า " แมงขี้สูด " แล  
  

ลักษณะสัณฐานวิทยาของ แมงขี้สูด

          สำหรับขนาดตัวของแมงขี้สูดโดยเฉลี่ยมีขนาดเล็กกว่า ผึ้งพันธุ์ประมาณ 2-3 เท่า
เป็นแมลงที่รวมกันอยู่เป็นสังคมเช่นเดียวกับ ผึ้งรวง (ผึ้งมิ้ม ผึ้งหลวง และผึ้งเลี้ยง) ภายใน
สังคมแบ่งออกเป็น 3 วรรณะ คือ นางพญา(Queen) ตัวงาน (Worker) และตัวสืบพันธุ์(Male)
โดยที่ขนาดลำตัวระหว่างนางพญา กับตัวงานมีขนาดแตกต่างกันมาก ตัวสืบพันธุ์มีขนาดใกล้เคียง
หรือเล็กกว่านางพญาเล็กน้อย

ลักษณะทั่วไปของนางพญา

ส่วนหัวมีตารวม มีหนวด 1 คู่ ตาเดี่ยว 3 ตา ช่วงท้อง(Metasoma) ไม่เป็นรูปปิระมิดมีลิ้นเป็นงวงยาว ขา3 คู่ ขาคู่หน้าและ
คู่กลาง ค่อนข้างเล็กขาหลังเรียวไม่แผ่แบน ไม่มีเหล็กใน

ลักษณะทั่วไปของแมงสูดงาน

ตัวของ”สูดงาน”ตัวงานมีจำนวน 12 ปล้อง มีคล้ายนางพญาแต่ขนาดลำตัวเล็กกว่า กรามพัฒนาดีต่อการใช้งาน ขาคู่หลังแผ่กว้างเป็นใบพายมีขนจำนวนมาก รูปร่างคล้ายหวีสำหรับใช้เก็บละอองเรณูของดอกไม้มีปีกปกคลุมยาวเกินส่วนท้อง และไม่มีเหล็กใน

ลักษณะทั่วไปของแมงขี้สูดสืบพันธุ์

ลำตัวมีจำนวน 13 ปล้อง คล้ายนางพญา มีขนาดเล็กกว่า หรือใกล้เคียงกัน ตารวมเจริญพัฒนาดี กรามพัฒนาไม่ดีพอต่อการใช้งาน หนวดยากกว่าวรรณะทั้งสองโค้งเว้าเป็นรูปดัวยู ปลายส่วนท้องปล้องสุดท้ายมีครีบสำหรับผสมพันธุ์ (genitalia) ส่วนของขาคล้ายกับ
“ สูดงาน “  แต่ขาคู่หลังของชันโรงตัวผู้เล็กกว่า

รังและพฤติกรรมการสร้างรัง

          ลักษณะรัง การสร้างรังในป่าธรรมชาติเกิดจากการที่สูดวรรณะงานบางตัวเสาะหาแหล่งที่
จะสร้างรังใหม่เนื่องจากประชากรในรังเก่ามาก แออัดมาก และมีนางพญารุ่นลูก (daughter queen) เกิดขึ้นมา ทำให้ต้องแยกรังออกไปสร้างใหม่ ซึ่งพฤติกรรมนี้เกิดขึ้นในช่วงที่ฤดูผสมพันธุ์ของมัน
          การสร้างรัง ขึ้นอยุ่กับแต่ละชนิด แต่ละชนิดเลือกสถานที่สร้างรังต่างกันสามารถแยกลักษณะของการสร้างออกได้ 4 กลุ่มมีดังนี้

1. กลุ่มที่สร้างอยู่รูอยู่ตามชอกหลืบต้นไม้ที่มีโพรงของต้นไม้ขนาดใหญ่ ทั้ง ที่ยืนต้นมีชีวิตที่
     อยู่ และยืนต้นตาย (Trunk nesting) เป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดที่พบในบ้านเรา เช่น “แมงขี้สูดโกน” (Trigona apicalis)
2. กลุ่มที่สร้างรังอยู่ในโพรงใต้ดิน (Ground nesting) โดยรังจะถูกสร้างอยู่ใต้ดิน บริเวณ จอมปลวก
     ชนิดที่พบในบ้านเรา คือ” ขี้สูดโพน” (Trigona Collina)
3. กลุ่มที่สร้างรังอยู่ในโพรงตามพื้นดิน เรียกว่า “ สูดเพียงดิน “  
4.กลุ่มที่ทำรังตามหลืบ รอยแตกของต้นไม้ กิ่งไม้  หรือรูเล็ก ๆ ตามต้นไม้ ตามธรรมชาติ
   หรือทำรังในโพรง ต้นไม้ กลุ่มนี้มีตัวเล็กกว่า ชนิดที่ผ่านมา  เรียกว่า " แมงน้อย "

          แมงขี้สูดนี้จะสร้างปากรังออกมาเป็นหลอดกลมหรือแบนที่สร้างด้วยยาง หรือชันไม้โดยที่ชแต่ละชนิดมีรูปร่างปากรูใกล้เคียงกันหรือแตกต่างกันไปตามชนิดของมัน
ภายในรังมีการสร้างเป็นเซลล์ หรือ หน่วยๆ เพื่อให้นางพญาวางไข่ และตัวงานเก็บ ละอองเรณู น้ำหวานเพื่อใช้เลี้ยงตัวอ่อน เซลล์เรียงตัวเป็นชั้นๆ ไปตามแนวนอน ตามพื้นที่ภายในรังจะอำนวย วกวนไปมาหลายๆชั้นโดยที่ผนังเซลล์แต่ละหน่วยถูกสร้างเป็นผนังบางๆ
จากชันยางไม้ผสมไขที่ชันโรงสร้างเคลือบเอาไว้
ภายในรังสามารถแยกเซลล์ออกเป็น หลอดนางพญา หลอดตัวงาน หลอดเก็บเกสร
และหลอดเก็บน้ำหวาน  และ ท้ายสุด หลอดที่เก็บขี้สูด
    

ภาพการติดขี้สูด ใส่แคน


การเกี่ยวข้องกับวิถีอีสาน

สมัยเป็นเด็กน้อยเวลาไปทุ่งนากับพ่อ ชอบไปดูตามจอมปลวกหนือโพน ด้วยความอยากรู้
ไปเจอรังของแมลงเล็ก ๆ ถามพ่อ ๆ บอกว่าเป็นรังของแมงสูด หรือตัวขี้สูด
พ่อบอกว่า เมื่อออกพรรษาแล้ว ชาวบ้านจะมาหาขุดเอา น้ำหวานจากรังของมัน
รวมทั้ง “ขี้สูด” เพื่อเอาไปทำประโยชน์

พอโตขึ้นได้เที่ยวไปตามหมู่บ้านต่าง ๆ ไปเจอชาวบ้านใช้คุหาบน้ำ ที่สานจากไม้ไผ่เอาขี้สูดทาเครือบไว้
กันน้ำรั่ว เวลาเล่นว่าวจุฬา เอาขี้สูดติดตรงรอยต่อของ”สะนูว่าว” ปล่อยว่าวลอยลมขึ้นฟ้า
เสียง”สะนู”ดังก้องท้องทุ่งทั้งคืน แคนที่เป็นเครื่องดนตรีดึกดำบรรพ์ของโลก ก็เอาขี้สูดติดที่เต้าแคนกับลำแคนที่ทำมาจากต้นอ้อ โหวตเครื่องเป่าก็ใช้ขี้สูดติด รวมทั้งการทำหน้ากลองเอย
ชาวบ้านก็เอาขี้สูดติด



กลิ่นของขี้สูดมักมีกลิ่นหอมแปลก ๆ ของยางไม้หรือเกสร  
อนึ่งบนหิ้งพระของปู่ มีก้อนขี้สูดเพียงดิน ปั้นเป็นรูปพระ แกเล่าว่า ผ่านการปลุกเสกมาแล้ว
เอาไว้ทำมาค้าขาย เมตตามหานิยม เป็นของดี
จะเห็นได้ว่า “ขี้สูด” ข้องเกี่ยวทางวิถีอีสานหลายอย่าง  ยกแคนขึ้นมาเป่า เอากลองมาตี
เอา “โตดโต่ง “ ( พิณ ) มาดีด ก็จะได้กลิ่น”ขี้สูด”  เอา “สะนู” มาเล่นยามลมห่าว
ก็มีขี้สูดติด นับว่าเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรม หลายอย่าง  
อีกทั้งแมลงชนิดนี้ช่วยในการผสมเกสร ดอกไม้ต่างๆ ทำให้ผลไม้ติดผลดี  นิสัยก็ไม่ดุร้าย
ไม่เคยทำลายใคร ดังนักพรตแห่งจอมปลวก  เครื่องดนตรีของภาคอีสาน ล้วนต้องมีขี้สูด
ข้องเกี่ยวทั้งนั้น เสมือน จะบอกว่า
“ ดนตรีมิเคยทำร้ายใคร มีแต่เอิบอิ่มเติมเต็ม “ ดังเช่นนิสัยแมงขี้สูด    


ขอบคุณข้อมูลบางอย่าง รวมทั้งภาพ จาก www.km.rachinuthit.ac.th
และ gotoknow.org

 
 
สาธุการบทความนี้ : 1158 ครั้ง
จากสมาชิก : 10 ครั้ง
จากขาจร : 1148 ครั้ง
 
 
  29 ก.ย. 2553 เวลา 10:51:07  
   ขึ้นบน ลงล่าง  
 
         

  โพสต์โดย   98) สารานุกรม แมงไม้ ใน อีสาน  
  ปิ่นลม    คห.ที่155) บึ้ง      [ไปที่ความเห็นนี้ ในกระทู้นี้]  
  เซียน

ภูมิลำเนา : สกลนคร
เข้าร่วม : 16 มี.ค. 2553
รวมโพสต์ : 2213
ให้สาธุการ : 180
รับสาธุการ : 5440860
รวม: 5441040 สาธุการ

 
คุณจารย์ใหญ่:

                           ท่านปีโป้ เว้าเรื่องตัวที่อยู่ในภาพให้ฟังแหน่เด้อ


ตามคำขอครับ



ชื่อพื้นบ้าน  บึ้ง  . อีบึ้ง (มังกรดำแห่งลำเนา)
ชื่อสามัญ Thai land black tarantura
ชื่อวิทยาศาสตร์   Haplopelma minax
วงศ์ Theraphosidae
สกุล Haplopelma  

บึ้ง หรือ จัดเป็นแมงมุมที่มีขนาดใหญ่ อยู่ในประเทศไทยมี 4 ชนิด อยู่ใน ได้แก่ บึ้งลายหรือบึ้งม้าลาย บึ้งดำพม่า
บึ้งน้ำเงิน และบึ้งดำ ซึ่งทั้งหมดเป็นสัตว์ห้ามการนำเข้าส่งออกในบัญชีว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่า
และพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES)   ซึ่งเป็นสัตว์ป่าที่อยู่ในบัญชีที่ 2 ของอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศ
ซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES)




ลักษณะทางกายภาพ


เป็นแมงมุมขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย  มีแปดขา ลำตัวสีดำ เพศเมีย
ขนาดตัวเต็มวัย อาจมีขนสีน้ำตาลดำปกคลุมส่วนท้อง
ขนาดโดยทั่วไป ประมาณ 2.5 – 10  ซม. เคลื่อนตัวช้า  ตามลำตัวและขามีขนปกคลุม บึ้งเพศผู้มีอายุเพียง 5 ปี
ส่วนเพศเมีย บางชนิดอาจมีอายุถึง 10 ปี
มีเขี้ยวคู่หน้าขนาดใหญ่สำหรับล่าเหยื่อ สามารถฉีดพิษใส่เหยื่อได้
พิษของบึ้ง อยู่ที่ขน และต่อมพิษบริเวณเขี้ยว  สำหรับต่อมพิษบริเวณเขี้ยวนั้น บึ้งจะกัดและปล่อยพิษซึ่งเชื่อมต่อ
กับต่อมพิษ (Poision gland)  เพื่อการป้องกันตัวเมื่อถูกคุกคามจากศัตรู บึ้งบางชนิดมีเขี้ยวยาวถึง 1 นิ้ว
แต่พิษของบึ้งมีเพียงเล็กน้อยแค่เพียงพอจะให้เหยื่อขนาดเล็ก เป็นอัมพาตเท่านั้น สำหรับผู้ที่แพ้พิษบึ้ง
เมื่อถูกกัดอาจเกิดบาดแผลบวมแดง เหมือนถูกผึ้งต่อย แต่บางคนอาจเกิดอาการแพ้อย่างรุนแรง
ทำให้กล้ามเนื้อเป็นตะคริว ผู้ที่เป็นโรคหัวใจอาจช็อกได้


ภาพแสดง รังบึ้ง หรือ ฮู บึ้ง

ถิ่นอาศัย และ พฤติกรรม ตามธรรมชาติ


พบอาศัยอยู่ในอีสาน ภาคเหนือ และภาคใต้   บึ้งเป็นแมงมุม ที่ไม่ชักใยเหมือน
แมงมุมทั่วไปชนิดอื่น แต่จะ ขุดรูทำรัง และชักใยไว้บริเวณปากรู
ชอบทำรู หรือ “ ฮูบึ้ง”  ไว้ตาม ลานหญ้า, ริมป่าหัวไร่ปลายนา หรือ ในป่ารก


บึ้งเป็นสัตว์หากินตอนกลางคืน มักจะพบบึ้งขุดรูอยู่ในดินบริเวณลานหญ้าและนาข้าว  รูลึกประมาณ 45 ซม.
โดยจะชักใยสีขาวออกมาปิดปากรู  ซึ่งเส้นใยสีขาวทำหน้าที่เสมือนเกราะป้องกันตัว เป็นตัวรับสัญญาณสั่นสะเทือน
ให้รู้ว่าศัตรูหรือเหยื่อเดินผ่านมา  เมื่อเหยื่อเข้ามาใกล้บึ้งจะจู่โจมและใช้เขี้ยวกัดฝังลงไปในเนื้อ ปล่อยพิษผ่านเขี้ยว
จนทำให้เหยื่อชาเป็นอัมพาตจากนั้นจะใช้เขี้ยวฉีกเหยื่อและดูดกินของเหลวในตัวเหยื่อจนแห้งเหลือแต่ซาก

โดยทั่วไปพฤติกรรมการหาอาหารของบึ้งมักใช้วิธีล่าเหยื่อ  ไม่ใช่การสร้างใยให้เหยื่อมาติดกับ
และการฝังเขี้ยวลงในเนื้อของเหยื่อจะเป็นลักษณะแนวลึกตรงซึ่งต่างกับแมงมุมจะเป็นการกัดแบบรอยหยิก
บึ้งไม่ชอบพื้นที่ชุมแฉะ น้ำท่วมขัง หรือมีน้ำมาก จึงไม่น่าแปลก ที่ไม่ค่อยพบเห็น ในทางภาคกลาง
บึ้งมีนิสัย ขี้ตกใจ ขี้ระแวง คอยระวังภัยอยู่เสมอ เมื่อเจอผู้รุกราน จะยกขาหน้า 2 ขาขึ้นสูง
ทำท่าเตรียมพร้อมจู่โจม  เหมือนจะประกาศว่า “ อย่าเด้อสู!
“
อาหารของบึ้ง คือ แมลงต่างๆ เช่น ตะขาบ แมงป่อง ตั๊กแตน จิ้งจก หรือ จิ้งเหลนขนาดเล็ก
จิ้งหรีด และแมลงอื่นๆ


วงจรชีวิต





บึ้งเป็นสัตว์ที่มีการเจริญเติบโตคล้ายกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม คือ
การเจริญเติบโตแบบที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงรูปร่าง (ametabola, non-metamorphosis)
ตัวอ่อนจะมีลักษณะเหมือนตัวเต็มวัยทุกประการ เพียงแต่มีขนาดของร่างกายเล็กกว่าเท่านั้น
ตัวอ่อนจะเจริญเติบโตไปเรื่อยๆ จนมีขนาดเท่าตัวเต็มวัย
วงจรเริ่มจากไข่ โยตัวเมียจะวางไข่ในหลุม ในรู หรือ รังของมัน โยการชักใย มัดไว้เป็นก้อน  
เริ่มวางไข่ เดือน พ.ค.- มิ.ย.
จะฟักเป็นตัวอ่อน ที่เกิดมามีรูปร่างเหมือนพ่อแม่ ทุกประการ แต่มีสีขาวคล้ายวุ้น
ช่วงนี้วงจรมีอายุประมาณ 1 เดือน
จากนั้นจะเจริญเติบโต เป็นแมงมุมขนาดเล็ก แยกออกจากรัง ไปใช้ชีวิตตามลำพัง  
เจริญเติบโตโดยลำดับ
จนกระทั่งมีอายุได้ 1 ปี จึงมีสำน้ำตาล    เมื่อเข้าสู่ช่วงโตเต็มวัย มีอายุได้ 3  ปี  จึงมีสีดำ และ สามารถทำรังได้




ความสัมพันธ์ ในแง่ วิถีชีวิตอีสาน

ชาวอีสานนับตั้งแต่ “ เด็กน้อยหัวถ่อหมากแข้ง”  จนถึงเฒ่าหัวหงอก  รู้จัก “ตัวบึ้ง” ดี  บางที่ เรียก “ อีบึ้ง”
เนื่องจาก ตามหัวไร่ปลายนามักจะพบเห็น รูบึ้ง อยู่เสมอ  มักจะหักเอากิ่งไม้เล็ก ๆ ล่อให้มันโผล่ออกมาจากรู
แล้วจับเอาไปทำเป็นอาหาร  เช่น ลาบบึ้ง, ป่นบึ้ง, จี่บึ้ง    
ตัวไหนที่ดื้อด้าน ไม่ยอมออกมา ก็จะขุดเอา แต่การจับต้องระวังหากถืก บึ้งกัด  อาจเจ็บปวดแสนสาหัส


ในแง่ความเชื่อ
  
หากพบเห็นบึ้ง ขึ้นเรือน ขึ้นเถียงนา หรือ ขึ้นคิงไฟ  ถือว่าเป็นรางบอกเหตุร้าย คนในบ้านอาจเจ็บไข้ได้ป่วย
เสียเงินเสียทอง คนในครอบครัวมีอันเป็นไป  ที่ร้ายแรงที่สุด  คือ “ บึ้งไต่หม้อนึ่ง”   คือ พบเห็นบึ้งไต่ตาม
หม้อนึ่งข้าวเหนียว ในครัว หรือ “คิงไฟ” ถือว่าเป็นรางร้ายสุด ๆ   ต้องรีบ ทำพิธี เสียเคราะห์ แต่งแก้

ในแง่แห่งโชคลาภ


แม้จะดูเหมือนเป็นสัตว์ที่นำไปสู่หนทางแห่งโชคร้าย  แต่ ในทางที่นำไปสู่โชคดีก็มีเช่นกัน
เช่นหากพบเห็น รูบึ้ง หันปากรูไปทางทิศตะวันออก  บึ้งตัวนั้นคือบึ้งนำโชค  สามารถขอหวยได้ พะนะ
การขอหวยจากบึ้ง  ที่ทำรังหันหน้าไปทางทิศตะวันออก  ตอนเย็นให้ เขียน เลข 0 – 9 พร้อมเทียน 2 เล่ม
ดอกไม้ 1 คู่ ไปบอกกล่าวแก่บึ้ง จากนั้นวางม้วนกระดาษตัวเลขเล็ก ๆ ไว้รอบ รูบึ้ง
กลับมาดูอีกทีในตอนเช้า หากบึ้งคาบเลขตัวไหนเข้ารู  ก็ไปเสี่ยงดวงได้เลย  ถ้าถูก ก็เลี้ยงด้วย กระทงหวาน
หากไม่ถูก  ก็ ฟ้าวไปขุดบึ้งมาลาบใส่ก้านกล้วยได้เลย

ในแง่การพยากรณ์อากาศ

บึ้งมีประสาทสัมผัสที่แม่นยำ ในเรื่อง ความชื้นและ อุณหภูมิในอากาศ  จึงแม่นยำมากในการ ทำนายฟ้าฝน
วันไหนแดดจ้า..แต่บึ้งกลับ หาใบไม้มาถักปิดปากรู    วันนั้น หรือ คืนนั้นฝนตก ล้านเปอร์เซ็นต์
คนโบราณมักจะสังเกตธรรมชาติรอบตัว เพื่อรู้เท่าทันถึง  บึ้งไม่เคยทำนายพลาดสักครั้ง



ก้นบึ้ง

เมื่อพิจารณาแล้ว จะเห็นว่า"ตัวบึ้ง" เกี่ยวพันกับชีวิตลูกอีสานอย่างยิ่งยวด โดยเฉพาะ วิถีท้องนา
ยามหิวเป็นอาหารได้  ตามอับโชค ก็เป็นที่พึ่งได้ แม้ยามไม่มั่นใจในลมฟ้าอากาศ ตัวบึ้ง ยังให้คำตอบ
ยามมีภัยเล่า บึ้ง ยังเป็นลางสังหรณ์ เตือนล่วงหน้า ถึงเภทภัย

จะมีมิตรที่ไหน เอื้อเฟื้อวิถีชีวิตลูกอีสานไดเท่านี้  บึ้งจึงไม่ใช่แค่ แมลง หรือ แมง ร่วมโลก
หากแต่หยั่งรากฝังลึก ในความทรงจำของ ลูกอีสานหลายคน ดั่งตกลงใน ก้นบึ้งแห่งสำนึก
เมื่อใดที่บึ้ง หายไปจาก ท้องทุ่ง  เมื่อนั้นวิถีเราก็อาจเปลี่ยนก็ได้
จึงอยากขอให้ ละเว้น บึ้ง บ้าง  เพื่อดำรงค์อยู่ ชั่วลูกหลาน
อย่าให้ความอยาก มีอำนาจเหนือ จริตสำนึก  จนหลงลืมว่า
เฮาก็คือส่วนหนึ่งของธรรมชาติ  จนทำลายมารดาแห่งชีวิตผู้โอบอ้อม
เฮาคือคนอีสาน  ที่เติบโตจากผืนดิน ทุ่งนา ป่าโคก แมลง และ สัตว์อื่นๆ ในวิถี  

ขอขอบคุณ ทุกภาพ และ ข้อมูลที่จำเป็น บางอย่าง จาก อินเตอร์เน็ต

 
 
สาธุการบทความนี้ : 1156 ครั้ง
จากสมาชิก : 4 ครั้ง
จากขาจร : 1152 ครั้ง
 
 
  30 พ.ค. 2554 เวลา 11:43:00  
   ขึ้นบน ลงล่าง  
 
         

  โพสต์โดย   109) อาหาร อิสาน วิเศษ ไม่แพ้ชาติใด  
  ปิ่นลม    คห.ที่254) ลาบนกขุ่ม      [ไปที่ความเห็นนี้ ในกระทู้นี้]  
  เซียน

ภูมิลำเนา : สกลนคร
เข้าร่วม : 16 มี.ค. 2553
รวมโพสต์ : 2213
ให้สาธุการ : 180
รับสาธุการ : 5440860
รวม: 5441040 สาธุการ

 


ชื่อพื้นบ้าน     ลาบนกขุ่ม
ชื่อภาษาไทย   วิหกนั่งแท่น
ชื่อประกิต       Khom  Esso


หลังจากเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว ในภาคอีสาน เมื่อย่างเหมันต์ฤดู
ตอนเช้าๆ สายหมอก ลอยต่ำ  นกกาเวา ( กาเหว่า) เริ่มร้องขับขาน ได้ยินเสียงสะท้อน
กลับไปมา แมงจิดโป่ม เริ่ม "ก่นขวย" ขุดรูทำรัง  จะเห็นว่ามีนกขุ่ม  ( นกคุ่ม)
ตามหัวไร่ปลายนา ตามป่าละเมาะ



บางครั้งตามไฮ่นาที่เกี่ยวข้าวออกแล้ว เราจะสังเกตเห็น "หม่องนกขุ่ม" ซึ่งทำเป็นรังนอนของมัน
ธรรมชาติของนกขุ่ม เป็นนกที่อาศัยอยู่ตามพื้นดิน หาเขี่ยอาหารกินหนอน กินแมลง
"บินบ่หอง" หรือ บินได้ไม่ไกล  ช่วงนี้ของปี นกขุ่ม มักจะออกมาหากินตามทุ่งนา
เพราะมีอาหารที่แสนโปรดปรานของมันคือ " แมงมัน" (แมงมันข้าว)   ซึ่งจับอยู่ตามต้นข้าว
ที่กำลังสุกเหลืองอร่ามเต็มทุ่ง



นกขุ่ม คือ อาหาร Unseen ของชาวอีสานใครได้กินคือ ลาภปาก เพราะปัจจุบันหาได้ยากยิ่ง
เนื่องจาก ถิ่นที่อยู่ของมันตามธรรมชาติถูกแผ้วถาง  และการเกษตรแบบเคมีบันเทิง
จึงทำมันประสบชะตากรรม " ตายเบิ๊ดตายเสี่ยง"


ภาพ "แมงมัน"  อาหารสุดโปรดของนกคุ่ม ห้วง ต.ค. - พ.ย. ของทุกปี




นกขุ่มในภาคอีสาน มีอยู่ 3 ชนิดคือ

นกคุ่มอืด ตัวใหญ่  สีน้ำตาลเข้ม รูปร่างอ้วนอุ้ยอ้าย มีลายเป็นขีดและเป็นจุด ร้องเสียงอืด  อืด
ชอบหากินเป็นฝูง หรือไม่ก็ไปเป็นคู่  ตัวผู้มีนิสัยหวงถิ่น และหวงตัวเมียมาก  

นกคุ่มหรี่ ตัวเล็กสีน้ำตาล ชอบหากินตัวเดียว เวลาบินขึ้นฟ้าจะร้องเสียง "หลี่ๆ" ชอบทำรังตามรอยวัว
รอยควาย ต่างจาก ชนิดอื่น ที่ทำรังตามละเมาะไม้ ไม่ชอบร้องเหมือน นกขุ่มอืด

นกคุ่มลาย (นกคุ่มแกลบ) ตัวเล็กมาก หากินเป็นคู่ ตามป่าละเมาะและทุ่งหญ้า


นกคุ่ม มีบทบาทหน้าที่ตามธรรมชาติคือ กำจัดแมลง ด้วง หนอน ไข่ ตัวอ่อน ของแมลงศัตรูพืช
และหน้าที่สุดท้าย เป็นอาหารของ มนุษย์ และสัตว์กินเนื้อประเภทอื่น

บทบาทหน้าที่ตามธรรมชาติของมนุษย์ คือการทำลายล้าง
น้อยคนเข้าใจ ในบทบาทในความสมดุลพอเพียง ในธรรมชาติ " ไดเร็คชั่น ออฟ ดิสซินี่"




คำเตือน  นกคุ่มอืดใหญ่ เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง 2546 ข้อที่ 297เพื่อป้องกันไม่ให้มันหมดไป
"จะอนุรักษ์อย่างไร เมื่อประชายังยากไร้ อดอยาก "

วิธีการหาวัตถุดิบ

1.การห่างนกขุ่ม
อุปกรณ์ที่จำเป็น คือ ซิง  (ซิงอะซอง)  ดังที่นักร้องสมัยปัจจุบันเป็นอยู่  หน้าตาดีจั๊กหน่อย ก็ออก ซิงเกิล ได้
ร้องเพลงกะ จ่มคือกันกับเด็กน้อยเลี้ยงควายนี้หละ  
แต่สำหรับ "การห่างนกขุ่ม"  หน้าตาบ่ดีคือผีปั้นหลุดมือลงเตาถ่าน ก็สามารถ หิ้ว"ซิง" ไปดักนกคุ่มได้


ภาพวิถี การห่างซิง  หรือ ปักซิง ดักนกคุ่ม

ซิง ก็คือเครื่องมือ ที่ทำด้วยตาข่าย กับไม้ไผ่ เมื่อทำการปักซิงแล้ว จะมีลักษณะโค้ง ๆ มีตาข่ายอยู่ด้านหลัง
การไป"ห่างซิง" ( ดักซิง ) ต้องสำรวจพื้นที่ก่อน เช่น หัวดอน แจไฮ่นา ชายป่า เป็นต้น
หรือตามพื้นที่ที่เห็นรอยของนกขุ่ม
ส่วนใหญ่ ทำก่อนเกี่ยวข้าว เช่น ปักซิงไว้ แจไฮ่นา ( มุมของตะบิ้งนา ) แล้วเกี่ยวข้าวไปเรื่อยๆ
จะเป็นการไล่ต้อนนกคุ่มไปในตัว จนมันหนีไปโดนตาข่าย "ซิง" ที่เราปักไว้  "อ้อนต้อน"


พะเนียด สำหรับต่อนก

2. การต่อ นกคุ่ม
   กลยุทธนี้ เป็นของ "ท่านเซียน"เท่านั้น เพราะต้องอาศัยนกคุ่มตัวผู้ที่เลี้ยงไว้ อืด เสียงดัง
เพื่อล่อนกคุ่มตัวอื่นมาติดกับดัก กลยุทธก็คล้ายคลึงกับการต่อนกชนิดอื่น  คือต้องมี ตุ้มนก
หรือ พะเนียดต่อนก  บางคนก็ใช้"ซิง" ที่กล่าวไว้ในข้อ 1 ปักไว้ด้านหน้า นกต่อ
ต้องอาศัย " การเหมบจำดิน" ในการซ่อนพราง และยังต้องมีความสามารถในการ เลียนเสียงนกคุ่ม
บางครั้ง อืด จนลมเข้าท้อง นกก็ไม่เข้าพะเนียด พะนะ

3.การไต้นกขุ่ม ( ก้านนกคุ่ม )
อุปกรณ์ที่ต้องมีคือ ไฟส่องสว่าง แบตเตอรี่ หรือตะเกียงแก๊ส แห  หรือ "ดางตบ" เพื่อใช้ในการจับ
การไปหาไต้นกคุ่ม ต้องจดจำ สังเกตพื้นดิน ตามกอหญ้า กอฟาง หรื "แจคันแทนา" .ในตอนกลางวัน
พอตกกลางคืน ก็หาไต้นกคุ่ม ส่วนมากวิธีนี้ ทำตอนเกี่ยวข้าวออกจากนาแล้ว

ความสามารถที่ต้องมีคือ ย่องเบา ไม่ใช่ย่องเบา ขี้ลักขี้ขโมย เด้อ  ในที่นี้คือการเดินฝีเท้าเบาๆ
เพราะการเดินตามทุ่งนาที่มีแต่ ตอฟางแห้ง ให้เกิดเสียงเบาที่สุด ยากอยู่เด้
ที่ต้องมีอีกอย่างหนึ่ง คือสายตานกเค้า  คือ ตาไวต่อแสง
นกคุ่มนั้นธรรมดากลางวันก็แทบมองหาตัวลำบาก เนื่องจากมันกลมกลืนกับธรรมชาติ
การหานกคุ่มในตอนกลางคืน ต้องสังเกต ตานกคุ่มที่กระทบแสงไฟ "แดงพอฮีน ๆ  "
เมื่อพบ ก็หว่านแห ตึกเอาโลด  อย่าสับสนกันระหว่าง ตานกคุ่ม กับตาขี้คันคาก
เดี่ยวจะกลายเป็น "ตึกคันคาก" เด้อพี่น้อง  ตึกแนวอื่นเช่น "ตึกใบหยก" ยังมีแนวเป็นตาเบิ่ง
ตึกได้คันคาก มีแต่ "คำป้อย" กลางท่งในราตรี



อะแฮ่ม..!  ได้เว้าแล้วก็เว้าให้มันสุดเนาะพี่น้อง  สมัยยังเด็กน้อย อ้ายต้องแล่ง พาขะน้อยไปไต้นกคุ่ม
พาไปแต่นาของ "หญิงลี" แปนเอิดเติด บ่เป็นตามีนกคุ่มกะพาไปไต้ เที่ยวผ่านไปทุกมื้อ
พอฮอดใกล้เถียงนา ก็ สาดไฟไปใส่เถียงนาเบิ่งเสื้อผ้าพุสาว  ซ่ำนี้กะมีแฮงเผิ่นว่า.....



ส่วนประกอบของการทำ ลาบนกขุ่ม (นกคุ่ม)
1.นกคุ่มพวมแวง
2.เขียงไม้ขาม
3.น้ำต้มปลาแดก
4.ข้าวคั่ว คั่วใหม่ ๆ    ( คั่วแล้วเอาขวดเหล้าขาว บดเอา)
5.บักผั่ว หัวหอม ผักหอมเป
6.เกลือ หยุบหนึ่ง
7.พริกคั่ว และ พริกสด
8.ผงนัว
9. เครื่องเสริม ก้านกล้วย
10.ใบมะกูด
12.ผักกะหย่า  ผักกะโดน ผักสะเม็ก ยอดใบมะตูม

ภาพผักกะหย่า

กรรมวิธีในการประกอบอาหาร
1. เอานกคุ่ม ออกจาก "ข่อง"  กำคอมับ  นกคุ่มเป็นนกใจเสาะ จาดซือ ๆ ก็ตรอมใจตาย
    กำแรงๆ นิดหนึ่ง มันก็คอพับ " อ่อนแอ้แล้" บ่ต้องเอาค้อนมูดหัว
2. หลกขนให้หล่อนๆ  ลนไฟให้"ขนบั่ว " หมดไป หลังจากนั้น ผ่าท้องแบ๋ขี้ออกให้เรียบร้อย
    จัดเก็บเครื่องในไว้ ผ่าเหนียง ล้างน้ำให้สะอาด




3. ขั้นตอนการเตรียมการลาบ ทำได้ 2 อย่างแล้วแต่จะชอบ คือ
- นำนกคุ่มไปปิ้งพอ ห่ามๆ  แล้วค่อยเอามา สับ (ภาษาอีสานเรียกว่า การฟักลาบ )
          - เอาตอกไม้ไผ่มาร้อยเนื้อนก แล้วนำไปลวกในน้ำต้ม แล้วเอามา ฟักลาบ



กรณีที่ได้นกคุ่มไม่มาก  บ่หมาน แต่แขกผู้มีเกิบ หรือแขกดอยเยอะ กลัวไม่พอกันกิน
ก็เอา ก้านกล้วยมาฟักลาบผสมลงไป เพื่อเพิ่มปริมาณ


4. แยกเครื่องในของมันออกไปต้ม  เติมเกลือ น้ำปลาแดกนิดหนึ่ง เอาหัวซิงไค ลงไปด้วย แก้คาว
    จะให้ดีต้อง เติมบักขามส้มลง สักข้อ สองข้อ
5. นำน้ำต้มร้อนๆ มาราดเนื้อที่สับไว้  คนให้ทั่ว อายออก ฮ่วย..ฮ่วย  เนื้อสุก

6. รินน้ำออก เอาข้าวคั่วใหม่ ๆ ที่บดเตรียมไว้ เทลงไป คนให้ทั่ว
7. เติมพริกคั่วป่นลงไป คน ๆ   เติมพริกสดที่ซอยไว้ลงไปอีก


8.เติมน้ำปลาแดก  ลองชิมแล้ว เอาผักหอมต่างๆ ลงไป
10 ซอย ไต ซอยเหนียง ไส้น้อยในหม้อต้ม ลงไปใส่ลาบ
9. เติมผงนัวตามใจขอบ



10 ปรุงน้ำต้มในหม้อ ให้เป็นต้มแซบ ต้มนัว

จากนั้นก็ยกลงมาพร้อมกับลาบ และต้มนัว ผักต่างๆ   ล้อมวงกันพี่น้อง
ข้าวเหนียว ข้าวใหม่หอมๆ   คุ้ยลาบ ซดน้ำต้ม   รสชาติเป็นเอกในท้องทุ่ง
ได้กินแล้ว ลืมความทุกข์ยากหมดสิ้น พี่น้องเอ๋ย...แซบพาล่ำพาโล



ความเกี่ยวพันกับวิถีคนอีสาน
สมัยนี้ เมนู Unseen อีสานแบบนี้  เป็นอาหารตามวิถี โดยมีธรรมชาติเป็นผู้ประทาน
ธรรมชาติสร้างป่า แหล่งน้ำ  ปุ๋ย อาหารและยาฆ่าแมลงในตัว  
โดยมีมนุษย์เป็นผู้คล้องแขนดินไปด้วยกัน
เมื่อเราทำลายธรรมชาติ ธรรมชาติจึงทอดทิ้งเรา "ให้เดียวดายในสายจูง"

นกคุ่ม มีความสำพันธ์กับวิถีชาวบ้าน  เป็นอาหารที่หากินกันตาม บ้านทุ่ง
เป็นนกพื้นเมือง ที่อาศัยตามทุ่งไร่ทุ่งนา เฉกเช่นคนอีสาน

แม้ในพุทธศาสนายังมีการกล่าวขานถึง นกคุ่ม ดังคาถา นกคุ่มกันไฟว่า
สันติ ปักขา อะปัตตะนา สันติปาทา อะวัญจะนะ มาตา ปิตา จะ นิขันตา ชาตะเวทะ ปฏิกะมะฯ

เนื้อความในพระคาถา บ่งบอกชัดเจน รักถิ่นฐานบิดามารดาทำมาหากิน  ดำรงถิ่นความเป็นอยู่ในสันติ
นั่นคือทางรอด จากไฟป่า  " ไฟทุนนิยม" ที่ล้างผลาญทุกจุลชีพ

หากผมเป็นนายก ผมจะตั้งศูนย์พัฒนาเพาะเลี้ยงนกคุ่ม  ปล่อยมันคืนสู่ท่งนา คืนให้คนอีสาน
ปรับหลักสูตรการศึกษาให้คน รักธรรมชาติ รักถิ่นเกิด วิจัยฮอดกุดจี่ นำพากุดจี่สู่ตลาดโลกสากล
ตั้งหมู่บ้านสวรรค์นกคุ่ม  เก็บเงินฝรั่งที่เข้าชม ส่งเสริมการเกษตรแบบเป็นมิตรธรรมชาติ
"โปรดเลือกผม ชาติหน้าเด้อพี่น้อง"


-ขอบคุณภาพประกอบจาก อินเตอร์เน็ต

 
 
สาธุการบทความนี้ : 1156 ครั้ง
จากสมาชิก : 1 ครั้ง
จากขาจร : 1155 ครั้ง
 
 
  09 ก.พ. 2556 เวลา 19:08:19  
   ขึ้นบน ลงล่าง  
 
         

  โพสต์โดย   98) สารานุกรม แมงไม้ ใน อีสาน  
  ปิ่นลม    คห.ที่12) แมง อะระหัง      [ไปที่ความเห็นนี้ ในกระทู้นี้]  
  เซียน

ภูมิลำเนา : สกลนคร
เข้าร่วม : 16 มี.ค. 2553
รวมโพสต์ : 2213
ให้สาธุการ : 180
รับสาธุการ : 5440860
รวม: 5441040 สาธุการ

 


ชื่อ  แมงอะระหัง  (ฤาษีผู้สันโดษ)

ชื่อวิทยาศาตร์   Torrynorrhina distincta ( ไม่แน่ชัด )
วงศ์  P. montana group
ชื่ออื่น      แมงทับเหลี่ยม

ลักษณะทางกายภาพ


เคลือญาติของแมลงพันธุ์ด้วง  แมงอันนี้ทั้งสองเพศมีหลายสี อย่างน้อยสามสีคือ เขียว เขียวปนส้ม (รวมทั้งส้มเขียวและส้มแดง) และน้ำเงินดำ ลักษณะเด่นคือมีส่วนหน้าของหัว (Clypeus) ยื่นยาวและค่อนข้างขยายใหญ่ใกล้ส่วนปลาย ใต้ท้องมีสีเข้มในส่วนของท้อง แต่ด้านบนของด้วงชนิดหลังนี้มีสีเดียวคือสีเขียวแกมทอง
ตัวผู้ มักจะมีลำตัวแคบกว่าตัวเมียและมีฟันที่ปลายแข้ง (tibia) เพียง 1 ซี่ ส่วนตีวเมียจะมีฟัน 2 ซี่โดยมีซี่ถัดจากส่วนปลายแข้งลงมาด้าน มีหนวดสั้น ลำตัวเกือบจะเป็นเหลี่ยม มีขนาดใหญ่ รองจากด้วงกว่าง
หรือแมงคาม

อาหาร

ชอบกินน้ำหวานจากดอกไม้ที่มีช่อแข็ง เช่น ดอกหมาก  ดอกพร้าว ฮวงตาล  และฮวงหวาย

สถานที่พบ


ตามฮวงดอกหมาก ฮวงดอกพร้าว ฮวงดอกตาล ส่วนมากพบตอนแดดพวมงาย  
เนื่องจากเรือนอีสานสมัยก่อนเป็นเรือนยกใต้ถุนสูงมีชานแดด  และด้านหลัง
เป็น”ซานน้ำ” หรือที่เก็บแอ่งน้ำ อุ น้ำ ไว้ใช้สอย
ใกล้ๆกับซานน้ำ  มักจะปลูกต้นหมาก ไว้ให้พ่อใหญ่แม่ใหญ่เคี้ยวหมากนอกจากนั้น
ยังปลูกต้นพร้าว ไว้ใกล้ๆ

  แมงอะระหัง จึงชอบมาตอมดอกพืชชนิดที่กล่าวมา เพื่อดูดกินน้ำหวาน โดยเฉพาะต้นหมาก

เมื่อกินอิ่มแล้ว จะเมา หรือ” วิน” พอแดดตอนสายส่องแสง หรือ
แดดพวมงาย ก็จะผกผินบิน ผิดทิศทางเข้ามาในเรือน เด็กน้อยไล่จับ เป็นที่สนุกสนาน
บางครั้งก็ เอาไม้ไปสอยเอา มันจะตกลงดิน  

วงจรชีวิต

วางไข่ในดิน ตรงพื้นที่ดินทรายมีใบไม้ทับถม นาน 2-3 เดือน (สิงหาคม-ตุลาคม )  
จากนั้นก็กลายเป็น“บ้งดิน “ หรือ ตัวหนอนในดิน  อีก 2 – 3 เดือน
พอประมาณ เดือน เมษายน ก็ ลอกคราบ กลายมาเป็นแมลง
ส่วนมากเป็นแมลงที่พบตัวได้ยาก ไม่ชอบตอมไฟ กลางคืนอาศัยหลบนอน ตามยอดไม้เปลือกไม้
จะพบตัวมันก็ต่อเมื่อ ช่วงเดือน เมษายน– กรกฎาคม   เท่านั้น    

ภาพไข่ของแมง อะระหัง



ภาพ "บ้งดิน" หรือ ตัวอ่อน ของแมงอันนี้
    
ในแง่วิถีชีวิตและความสัมพันธ์ทางธรรมชาติ

ส่วนมากไม่นิยมนำมาเป็นอาหาร แต่ก็ กินได้ โดยการเอามา “จี่” กิน  ส่วนใหญ่ เมื่อจับได้

ผู้ใหญ่จะทำไม้” แท่นหัน”  ทำจากไม้ไผ่  แบนๆ เจาะรูร้อยเชือก ทั้งสองด้าน  
และไม้อีกอันเป็นด้ามจับหากคิดไม่ออก ให้ดู ใบพัดเฮลิคอปเตอร์  ชนิดใบพัดเดี่ยว  
จากนั้นก็นำ แมงอะระหัง  สองตัว ผูกเชือกที่ขา ร้อยติดทั้งสองด้าน แล้วให้มันบิน มันจะบินถ่วงกัน
เป็นวงกลม ทำให้ ใบพัดหมุนเป็นที่สนุกสนาน  เมื่อมันเหนื่อย ก็ เอามา “ จี่กิน “  
หรือ ปล่อยมันคืนธรรมชาติต่อไป

แมลงชนิดนี้ มีส่วนช่วยในการผสมเกสร ดอกพร้าว ดอกหมาก และ ต้นตาล เป็นแมลงตัวใหญ่ที่สวยงาม
ที่ได้ชื่อเรียกว่า อะระหัง  เดาว่า เดิม เรียก “ อะระหัน “ เพราะเอามา
เล่นหมุนเป็นไปพัดให้มันหมุนหรือ “ หัน” ในภาษาอีสาน แต่เนื่องจาก พ้องเสียงกับ
คำว่า”อรหันต์” ซึ่งเป็นนามเรียกของผู้หลุดพ้นจากกิเลส
ในคติทางพุทธศาสนา จึงไม่สมควรที่จะนำมาเล่น จึงเรียก” อะระหัง” แทน

ขอบคุณ ข้อมูลภาพ จาก www.malaeng.com

 
 
สาธุการบทความนี้ : 1153 ครั้ง
จากสมาชิก : 4 ครั้ง
จากขาจร : 1149 ครั้ง
 
 
  29 ก.ย. 2553 เวลา 08:52:07  
   ขึ้นบน ลงล่าง  
 
         

  โพสต์โดย   98) สารานุกรม แมงไม้ ใน อีสาน  
  ปิ่นลม    คห.ที่20) แมงหามผี      [ไปที่ความเห็นนี้ ในกระทู้นี้]  
  เซียน

ภูมิลำเนา : สกลนคร
เข้าร่วม : 16 มี.ค. 2553
รวมโพสต์ : 2213
ให้สาธุการ : 180
รับสาธุการ : 5440860
รวม: 5441040 สาธุการ

 



ชื่อ                    แมงหามผี ( พ่อมดผู้สันโดษ )
ชื่อวิทยาศาสตร์ Phasma  
ชื่อสามัญ           phobaeticus  
กลุ่ม                 “Phasmids”
วงศ์                  Phamatidae


ทางภาคอีสานเรียก แมลงชนิดนี้ว่า “แมงหามผี”
พบกระจายอยู่ทั่วโลก พบมากในเขตร้อน และ เขตอบอุ่นประเทศไทย และ พบกระจายอยู่เฉพาะแถบเอเซียตะวันออกเฉียงเหนือ วิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต ที่ใช้เทคนิคการพรางตัว สุดยอด  เพื่อความอยู่รอด

คำว่า Phasma มาจากภาษาละติน แปลว่า” ผี” ซึ่งมาจากกลไกที่ใช้ในการหลบหลีกศัตรูของแมลงกลุ่มนี้
อ้าว ทางละติน  ก็เรียก มันว่า ผีเหมือนกันกับ ทางอีสานเลย  ทำไมหนอ

ลักษณะทางกายภาพ

มีลำตัวยาว สีกิ่งไม้แห้ง  หัวเล็ก มีขา 6  ขา ยาว ๆ เรียวเล็ก คล้ายกิ่งไม้  
ขาแต่ละหาอยู่ห่างกัน ส่วนตัวผู้ มีขนาดเล็กกว่าตัวเมียมาก  ขาหน้า ยื่นยาวกว่าหัว
คล้ายใบหญ้าแห้ง หรือ กิ่งไม้แห้ง เพื่อล่อเหยื่อ

แมลงชนิดนี้ อาศัยการพรางตัวโดยใช้สีที่กลมกลืนกับกิ่งไม้แห้ง การเปลี่ยนสี ขึ้นกับอุณหภูมิ ความชื้น และ ความเข้มของแสง โดยเซลล์ epidermis ที่อยู่เหนือผิว cuticle จะมีเม็ดสี (pigment granules)
เคลื่อนที่เข้าในเซลล์เพื่อตอบสนองกับสิ่งแวดล้อมจากการศึกษานี้จะพัฒนาเพื่อนำไปใช้สู่กระบวน
การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โดยใช้แมลงเป็นต้นแบบ อีกทั้งมูลของแมงหามผี บางชนิดสามารถนำมาใช้เป็นยาแผนโบราณในการรักษาโรคกระเพาะอาหาร สมานแผลในระบบทางเดินอาหาร


ทางภาคกลาง เรียกแมงอันนี้ ว่า “ตั๊กแตนกิ่งไม้และ ใบไม้”
มีจำนวนชนิดทั้งหมด 32 ชนิด
ไม่สามารถจำแนกชนิดพันธุ์ได้ 18 ชนิด มีความสัมพันธ์กับพืชอาหาร ในกลุ่มของพืชสกุล กุหลาบ

ตั๊กแตนใบไม้มีชนิดพันธุ์เพิ่มขึ้น 1 ชนิดพันธุ์ และ พืชอาหารคือ มะยมป่า และ มะม่วง
ซึ่งจากจำนวนทั้งหมดนี้ทำการเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์ได้แล้วกว่า 15 ชนิด

อาหารการกิน

จากการสังเกตของผู้ตั้งกระทู้ ตอนไปเลี้ยง งัวเลี้ยงควายตามโคกป่า นาดอน พบว่า แมงหามผี
กินแมลงชนิดอื่นเป็นอาหาร เช่นตั๊กแตนน้อย ตัวเพลี้ย และ แมงซ้าง   โดยอาศัยการพลางตัว
แอบซุ่มพอเหยื่อเข้ามาใกล้ ก็รับใช้ขาเกี่ยวแล้วกัดกิน อีกทั้งยังกินเกสรดอกไม้ในป่า
กินน้ำหวานดอกไม้

สถานที่พบ

ตามสุมทุมพุ่มไม้ทั่วไป หรือตามต้นไม้ ต้องสังเกตดีๆ เนื่องจากพรางตัวได้แนบเนียนมาก
ส่วนมากอยู่ตามกิ่งไม้แห้ง คอยดักกินด้วงมอด บางชนิด  



ในแง่วิถีอีสาน


ชาวอีสานไม่กินแมลงชนิดนี้  ส่วนมากผู้สาวไปหาฟืน  หรือไปตัดฟืน จะพบแมงหามผี
เวลาจ้องมัน มันจะ แกว่งตัว เดินโซเซ ดังคนแบกของหนัก  บ้างก็ยืนไกวตัว โยกเยก ข่มขู่
แต่ไม่เคยทำอันตรายแก่มนุษย์แต่อย่างใด

ตัวที่มีขนาดเต็มวัย ตัวโต ขนาดนิ้วหัวแม่เท้า   ยาวคืบกว่าๆ   โบราณว่า แมงหามผี เวลาจะหาฟืนมาเผาผี
ในป่าช้า มักจะเห็นแมงอันนี้ ลัดทาง  ผู้ตั้งกระทู้ก็เคยถูกแมงหามผี ลัดทาง ยามไปหาควาย ( ตามควาย)
ในตอนแลง แมงหามผี คลานอยู่กลางทางดินทราย พอจ้องดู มันก็ทำท่าทาง โยกเยก ๆ   โยกหน้า โยกหลัง

ปู่บอกว่า
“เห็นแมงหามผีแล้ว ให้เตือนสติตัวเอง  ชีวิตเฮาดังแบกขอนดอก (ขอนผุ ) เมื่อชีวาวาย
ย่อมไร้ประโยชน์  เปรียบดังแมงหามผี  ขาน้อยๆ แบกตัวโซเซ ซวนล้ม  หากไม่สะสม
ความดี ในขณะมีชีวิต  ก็เกิดมาไร้ค่า”


คนอีสานกินแมงไม้เป็นอาหาร เพราะความอดอยาก หรือเพราะวิถีที่ต้องใช้ประโยชน์จากธรรมชาติคุ้มค่า
เรียนรู้และปรับตัว ไม่ถือว่า แมลงเป็นสิ่งไร้ค่า  แม้ว่า “แมงหามผี” จะกินไม่ได้ ก็ยังใช้เป็นเครื่องเตือนใจ
ให้หมั่นทำความดี ตามคติศาสนา
    


ขอบคุณข้อมูล www.rdi.ku.ac.th และเจ้าของภาพ

 
 
สาธุการบทความนี้ : 1138 ครั้ง
จากสมาชิก : 12 ครั้ง
จากขาจร : 1126 ครั้ง
 
 
  29 ก.ย. 2553 เวลา 17:16:17  
   ขึ้นบน ลงล่าง  
 
         

  โพสต์โดย   109) อาหาร อิสาน วิเศษ ไม่แพ้ชาติใด  
  ปิ่นลม    คห.ที่0) อาหาร อิสาน วิเศษ ไม่แพ้ชาติใด      [ไปที่ความเห็นนี้ ในกระทู้นี้]  
  เซียน

ภูมิลำเนา : สกลนคร
เข้าร่วม : 16 มี.ค. 2553
รวมโพสต์ : 2213
ให้สาธุการ : 180
รับสาธุการ : 5440860
รวม: 5441040 สาธุการ

 

เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา ดูรายการ ทีวีแชมป์เปียน เห็น อาหารญี่ปุ่น ซึ่งดูจะโปรโมทกันหรือเกิน
เรื่องขอเรื่องก็ คือ เขาบอกว่า อาหารของเขา สุดยอด  และขึ้นชื่อ ในภัตตาคารดัง  เป็นอาหารคุณภาพ 5 ดาว
ต้องปรุงโดยกุ๊กผู้ชำนาญ  เป็นที่นิยม แม้จะมีราคาแพง   เชื่อรึเปล่าครับ ว่าอะไร

" ปลาไหลย่าง ดีๆ นี่เอง "   ฮัดโธ่ "ปิ้งเอี่ยน"   ก็ไม่บอก  บ้านเฮา บ่อึ๊ด..!

แล้วเหตุไฉน อาหารบ้านเรา ไม่ดัง ไม่ 5 ดาว ไม่คุณภาพภัตตาคาร อย่างเขาหละครับ ทั้งที่บ้านเรา เรียกได้ว่า
เป็นแหล่งอาหาร แห่งเอชีย

เมื่อนั่งสมาธิ คบคิด ตรึกตองแล้ว  สาเหตุ คือ " Story " นี่เอง ครับพี่น้อง   แม้แต่อาหารธรรมดา ญี่ปุ่นเขาจัดการ
สร้างเรื่องราว ให้น่าสนใจ ตีไข่ใส่ ซะจนเห็นภาพว่า " วิเศษ" เห็นแล้ว อยากชิมลองให้ได้

บ้านเราเมืองเรา มีคนจบปริญญาเอก ปริญญาโท สาขาการจัดการ เยอะแยะ   แต่ ส่วนมากไปจัดการกับ การเมือง
แทนที่จะจัดการเรื่องปากท้อง  สิ่งเล็กน้อย อย่างอาหาร กลับจัดการให้เป็น 5 ดาว เอาไว้ดูดทรัพย์ เขาไม่ได้
ในฐานะ จบ " นักธรรมเอก" จาก ว.ค.ท. ( วัดโคกหนามแท่ง )   จึงขอ สร้าง "Story " ให้กับอาหาร
อีสาน บ้านผมให้เป็นสุดยอดอาหาร ที่ ทุกคน "ว้อนท์"    อยากลิ้มลองกัน

เมนูแรก วันนี้  
ชื่ออังกฤษ   Rat Of  Heaven
ชื่อภาษาไทย   หนูดาวดึงส์
ชื่อท้องถิ่น ปิ้งหนูท้องขาว



ส่วนประกอบในการทำอาหาร
1 หนูท้องขาวตัวผู้เต็มวัย   เกิดในภาคอีสาน
2 เกลือสินเธาว์ จาก จังหวัด หนองคาย
3. กระเทียมโทน จาก ศรีษะเกษ
4. ไม้หีบ ผลิตจากไม้ไผ่ สางไพ  
5 ถ่านไม้ค้อ  หรือ ถ่านไม้ขาม


ขึ้นชื่อว่าหนู หลายๆ คนร้องยี้ ! ด้วยความรู้ปฐมภูมิ ของเรา สอนให้เข้าใจว่า หนู เป็นสัตว์สกปรก เป็นพาหนะนำโรค
กินอาหารเน่าๆ ตามกองขยะ  หนูบางตัวเป็นขี้เรื้อน ตัวเท่าแมว สุนัขเห็นยังตัองเผ่น  ใช่ครับนั่นมันหนูสามัญ ปุถุชนหนู
แต่เมนูนี้ คือ “ หนูดาวดึงส์ “  เป็นสุดยอดอาหารของภาคอีสานในหน้าหนาว หนึ่งปีมีกินแค่ช่วงฤดูกาลเดียว
หนูท้องขาว
มีลักษณะแตกต่างจากหนูปกติ เพราะหนูท้องขาวคือพญาหนู   หรือ  KING OF RAT
หนูท้องขาว ไม่กินอาหารซากเน่า  ครับ  หนูท้องขาว กินเมล็ดพืช  ดอกไม้ ดอกหญ้า และแมลงตัวเล็ก  รวมทั้งหอยต่างๆ
การเป็นอยู่ หนูท้องขาว ไม่ขุดรูอยู่อย่างหนูทั่วไป  หนูท้องขาวทำรังบนต้นไม้ เหมือนนก ออกลูกบนนั้น นอนในนั้น
จึงนับว่าเป็นหนูที่รักสะอาด รักษาสุขภาพ และเป็นหนู ชีวจิต ในหน้าหนาวนั้น หนูท้องขาว เป็นมังสวิรัติ
ลืมความรูชั้น ปฐมภูมิ ที่ว่าหนู สกปรกไปเลยครับ สำหรับหนูชนิดนี้
ยิ่งเป็นหนู ที่เกิดตามหัวไร่ปลายนา  ป่าดินดอนในภาคอีสานด้วยไซร้  ไร้สารพิษ และ ขยะมลภาวะแน่นอน
จะมีสัตว์ที่เป็นอาหารชนิดได สะอาดเท่าหนูท้องขาว  แม้แต่ไก่ทอด ที่ท่านกิน เขายังเลี้ยง แบบเผด็จการ ไร้เสรี
กินกับขี้ในกรงนั่นแหละ   สำหรับ หนูท้องขาว ในธรรมชาติแล้ว มันมีเสรี ในการปฏิบัติ  กินแต่อาหารธรรมชาติ
มีโอกาสได้ชม “จันทรุปราคา “ หรือ กบกินเดือน  หรือแม้แต่ พลอดรักกัน ท่ามกลาง ทะเลดาว ในคืนเดือนดับ
เนื้อที่ได้จากมัน คือ เนื้อแห่งเสรีภาพ และความสุข   ดังสวรรค์ ในอุดมคติที่ มนุษย์ อย่างเราๆ ท่านๆ  เรียกร้องหา

ถิ่นอาศัยของมัน ปราศจาก มลภาวะ มลพิษ เงียบสงบ และสวยงาม  ประดุจ จิตวิญญาณแห่ง ห้องทุ่งนา ป่าเขา
เนื้อของสัตว์ ที่มีความสุข  เป็นทิพรส ที่โอชะ  เทียบเท่าสรวงสวรรค์ เราจะวัตถุดิบชนิดวิเศษนี้ ได้จากที่ได



ภาพรังของ หนูท้องขาว

การเสาะแสวงหา Rat Of Heaven
อุปกรณ์ ที่ต้องมี
1. หน่วง..หรือ กับยัน  
เป็นเครื่องมือดักสัตว์ของภูมิปัญญาชาวอีสาน มีมานับพันปี  ผลิตจากธรรมชาติ เป็นงาน ที่ทำด้วยมือ งานฝีมือ
ผลิตจาก ไม้ไผ่ สายพันธุ์ดี  มีที่เดียวในโลก คือ อีสาน  “ หน่วง” จึงนับเป็น “มูนมัง” หรือ สมบัติของบรรพบุรุษอีสาน
แม้แต่ปัจจุบัน นักร้องวัยรุ่น ยังเอาไปแต่งเป็นเพลง “ หน่วง “ โด่งดังกันไปทุกภาค  หากไม่เชื่อถามหนู ๆ
อายุ ประมาณ 14 – 18 ปี ตอนนี้ได้เลย
“ หนู ๆ  รู้จักเพลง “ หน่วง”  บ้างไหม “  
ป้าหน่อยถามหลาน
“ ฮัดเจ้ย..ป้า...Room 39 ไง   “เพลงหน่วง “   หลานป้าหน่อยตอบ
“ พวกหนู ชอบจะตาย “  
นี่คือสาเหตุ ว่าทำไม เราต้องใช้”หน่วง” ในการดักหนูท้องขาว    คนโบราณเขาฮิต “ หน่วง” มานานแล้ว เข้าจ๋า..ย
2. เหยื่อล่อ  
  ใช้ข้าวเหนียว สายพันธุ์ “ ข้าวมันวัว” เพราะมีกลิ่นหอม เย้ายวน เมื่อนึ่งให้สุก นำมาปั้น แล้วก็ ย่าง หรือ “จี่ “
ให้มีกลิ่นรัญจวน ชวนให้กระเพาะร้องคร่ำครวญ   ใส่เข้าไปในกระบอกไม้ไผ่ หรือ “หน่วง”  จะใช้ กล้วยทะนีออง
ปิ้งให้หอมๆ ล่อแทนก็ได้  ทุนน้อยหน่อย ก็ ข้าวสารเรานี่หละ  แต่หากใช้ข้าวสาร มักจะได้ ” หนูซิงตาสวด มาแทน”



ภาพ " หน่วง"  ภูมิปัญญา ชาวอีสาน

3. สถานที่ดักเหยื่อ
แน่นอนที่สุด จะหาหนูท้องขาว ในเมืองศิวิไล คงเป็นไปไม่ได้  ต้องหาหนูตาม ทุ่งนา เถียงนาน้อย  รั้วไม้ไผ่
หรือ ตาม”โพน”  ตามโพรงไม้  หรือ ตามคลึ้มไม้ ( เฟือย ) ใหญ่ๆ   นำไปดักไว้ ตอนหัวค่ำ
ข้อระวัง  ตอนไปวางกับดัก “หน่วง”  อย่านำ หมาบักแดงไปด้วย  เพราะพวกนี้ ชอบเป็น สเก๊าหน้า    หรือหน่วยตระเวน
มักเดินนำหน้าเราไป สะเปะสะปะ  จนทำให้หนู ได้กลิ่น กลัวหมาวิ่งขึ้นต้นไม้ ไม่มากินเหยื่อ
หรือบางที ก็เห่าใบตองแห้ง ให้เรา พะวงหน้าพะวงหลัง อย่างนี้เขาเรียก
  “ ปากหมา “



ภาพ หมาบักแดง บ่าวปิ่นลม   พันธุ์หลังอาน หูตั้ง  อีสาน 100 %


4 การไป “ย๋ามหน่วง” ( ไปดูกับดักที่เราวางไว้ )

ออกไปตอน สามทุ่ม ถึง 4 ทุ่ม  เท่านั้น   เพราะหนูท้องขาว มักกินเหยื่อช่วงนี้  และกินอีกที ช่วงใกล้รุ่ง
การไป “ ย๋ามหน่วง”  หรือ กู้กับดัก   ครานี้ ต้องมี โคมไฟ หรือ ไฟฉาย หรือ แบเตอรี่ ให้แสงสว่างติดมือด้วยนะท่าน

อย่าลืมพา “หมากบักแดง”ไปด้วย ให้มันเป็น สเก๊าหน้า ตรวจการไปก่อน ไล่งูเงี้ยวเขี้ยวขอ สัตว์มีพิษในกลางคืนให้พ้นทาง
ค่อยๆเดิน เดี๋ยวจะ “ ตำสะดุด “   บางทีอาจถึงขั้น “ เล็บเงิก “ ได้
ข้อดีของการ พา หมาบักแดงไปด้วย ก็คือเอาไปเป็นเพื่อนแก้กลัวผี   อันนี้ก็แปลก บางคนบอกว่า ผีไม่มีจริง แต่ก็ยังกลัว
นี่แหละเขาว่า   “ ความรักเหมือนผี  ไม่มีตัวตน แต่ก็ยังเชื่อ “  พกหมาไปด้วยอุ่นใจโข





5. เมื่อได้หนูท้องขาวมาแล้ว  คัดเอาแต่ตัวผู้   ส่วนตัวเมียเอาไปทำอาหารอย่างอื่น  เพราะตัวเมียไม่มีไข่  ที่เอาแต่ตัวผู้
มันมีไข่   เขาเรียกว่า “ ไข่หลำ”  ส่วนนี้แหละเป็น  ลับสุดยอดของ เมนูนี้
การประกอบอาหารเมนูนี้
- การถอนขน อย่าใช้วิธี ลนไฟ แล้วขูดออก เด็ดขาด เพราะจะทำให้มัน “ขิว”  เสียรสชาติ  เห็นในเว็บส่วนมาก
ลนไฟเผากันเอาเลย  แบบนั้น ไม่เรียกว่า กุ๊ก ระดับ 5 ดาวครับ  เพราะมัน “ขิว”  หากไม่เข้าใจว่า “ขิว” คืออะไร
ให้เอารองเท้าแตะ ตราดาวเทียม จูดไฟ ( เผาไฟ) เอา  ดูสิจะมีกลิ่นยังไง นั่นแหละ “ขิว”
- การถอนขนที่ถูกวิธี คือ พรมน้ำหมาดๆ (อย่าให้เปียก )  แล้วคลุกขี้เถ้าให้ทั่ว แล้วค่อยๆ ถอนขนออก
- เขาเรียกว่าบ “หนุมานคลุกฝุ่น”    เมื่อถอนหมดแล้ว ค่อย ลนไฟพอประมาณ แล้ว นำไปล้างน้ำ
นำมาชำแหละ แผ่ออก ล้างให้สะอาด ห้ามทำ “ บีแตก “ เพราะจะขม กินไม่ได้ ให้ตัด   Bทิ้งเสีย
ก็จะได้ เนื้อหนูท้องขาว เกรด A  



นำเอากระเทียมโทน ศรีษะเกษ มาทุบๆ และ หมักเอาไว้ก่อน ที่เลือก กระเทียมโทน  ของ จังหวัด ศรีษะเกษ
เพราะขึ้นชื่อเรื่องกระเทียมในภาคภาคอีสาน  เป็นกระเทียม ส่งออกนอก หรือที่เรียกว่า  “ เอ็กพอร์ต”
- จากนั้นทาให้ทั่วด้วย เกลือสินเธาว์    เกลือสินเธาว์คือเกลือ บริสุทธิ์ สะอาด
มีรสชาติเป็นเอกลักษณ์ กรรมวิธีผลิต เป็นปัจเจก  ต้องเจาะสูบเอาจากชั้นใต้ดิน  นำมาต้ม จนเหลือแต่
เกลือบริสุทธิ์   สมัยก่อน มีการผลิตกัน ยกใหญ่ ที่ อ.บรบือ จังหวัดสารคาม  ผลิตกันในเชิงพานิชย์เลย
จนกระทั่ง มีผลกระทบให้ดินเค็ม ปลูกพืชไม่ได้ จึงได้ เลิกราไป  ทำให้เกลือสิเธาว์ ขาดแคลน
ปัจจุบันเห็นโด่งดัง มากในจังหวัดน่าน  
- ที่แนะนำให้ใช้เกลือสินเธาว์ จาก จังหวัดหนองคาย  เพราะเกลือสินเธาว์ จากแหล่งนี้  เป็นเกลือชั้น แอนไฮไดรต์  ซึ่งมีจำเพาะบางหลุม  เป็นชั้นๆ บาง มีสีเทา  เกล็ดละเอียดมาก มีแร่ เฮไรต์ ( NaCl )
มีสีเทา จึงเรียกว่า เกลือสินเทา   พ้องเสียง พ้องรูป  ในตัว  มีรสชาติที่สะสมมานานนับร้อยล้านปี
กุ๊ก 5 ดาว ต้องรู้เรื่อง วัตถุดิบ  ทั้งที่มา ที่ไป และรายละเอียดปลีกย่อย   สำหรับแหล่งผลิตใน
จังหวัดหนองคายนั้น ยังเป็นความลับ  เพราะแอบๆ สูบมาต้ม เป็นแค่ อุตสาหกรรมครัวเรือน
วัตถุดิบชั้นเยี่ยม ใช่ใครๆ ก็หาได้  ใคร สนใจติดต่อ ป้าหน่อย คนอุบล  ณ หนองคาย ได้



ภาพการ ต้ม เกลือสินเธาว์  
  
ไม้หีบ
อะไรคือไม้หีบ   ไม้หีบทำจากไม้ไผ่ เหลาและผ่าซีก  เอาไว้หนีบอาหารปิ้ง ย่าง หรือที่ภาคกลางเรียก “ ไม้ปิ้งไก่ “
ความจริงแล้ว คนอีสาน ไม้ได้ใช้ประโยชน์ เฉพาะ ปิ้งไก่ เท่านั้น   ปิ้งอึ่ง  ปิ้งปลา  ปิ้งูสิง  ปิ้งเอี่ยน  ปิ้งขาวจี่
โอย สารพัดปิ้ง   เรียกมันว่า “ไม้ปิ้งไก่”เฉย ๆ  นับว่าทำให้มันด้อยค่าลงไปอักโข  ทางภาคอีสานเรียกว่า “ไม้หีบ”
คือหนีบทุกอย่างที่ขวางหน้า     ต้องทำจากไม้ไผ่สางไพ เท่านั้น   ตัดมาใหม่ๆ ได้ก็ดี เวลาปิ้งจะมีกลิ่นหอมติดด้วย
ข้อระวัง
ให้ทำจากไม้ไผ่ สภาพดี สดใหม่ หรือ ตัดไว้แล้วนำมาเหลา อย่าเก็บเอาไม้ไผ่เก่าๆ ตามทุ่งนารกร้าง มาเด็ดขาด
อาจจะเป็น “ ไม้แก้ง” มาก่อนแล้วก็ได้

6.นำมาปิ้งกับถ่านไฟ ไม้ค้อ  ไม้ขาม
   ที่ต้องใช้ถ่านชนิดนี้ เพราะ เป็นถ่านคุณภาพดี  ให้ไฟแรงคงที่  ไม่แตก “ขุ” เป็นพะเนียงไฟ ลามไปไหม้ เล้าไก่  เล้าหมู   “กระเทิบ”  “ตูบ”  หรือ เพิงหมาแหงน ของ ชาวบ้าน
อ้อ .!   เคล็ดลับอีกอย่าง เวลาจะก่อไฟ   ให้ท่องคาถาว่า “ โจ๊ะ! สนัมเพลิง”

7.  ศิลปะการใช้ไฟ
ส่วนสำคัญของการประกอบอาหาร คือการใช้ไฟ ใช้ความร้อนของไฟ อย่างลงตัว  ใช้ไม่ดีอาจเป็นโทษได้เช่น
ตอนไปดูหมอลำ  หาแฟนไม่เจอ  ส่องไฟหาแฟน  อย่าไปส่องตา ส่องหน้าคนอื่นเขา  เดี๋ยวจะหาว่า นักเลงตั๊วะนี่แหมะ
อาจโดน สหบาทา เอาง่ายๆ     อีกอย่าง มีรถรู้อยู่หรอก ว่าเท่ห์  แต่ อย่าไฟใช้ไฟ “ซีนอล”
  ส่องวาบๆ   มันแสบตาคนอื่นเขา ยามขับรถค่ำคืน  ประเภท เปิดไฟสูงตลอด ก็อย่าทำ   เดือดร้อน อีพ่อ อีแม่ ถูกด่า
อย่างนี้เขาเรียก ไม่มีศิลปะในการใช้ไฟ



..............................................................................




โอ้ เขียนมาซะยืดยาว  ได้เวลา  รับประทาน เมนู สุดยอดอาหาร ของ ชาวอีสาน ชนิดหนึ่งได้แล้ว
เมื่อสุขได้ที่ จะมีกลิ่นหอมของเนื้อ นำมันหนู  กระเทียมโทน และ กลิ่นไหม้ของไม้หีบ  
เนื้อของราชาแห่งหนู  หรือ หนูดาวดึงส์    เนื้อแห่งสัตว์ ผู้ปริ่มเปรม เสรีภาพ  และความสุข  รอยู่ตรงหน้า
บางคนล้วงรู้ความลับของอาหาร ทิพโอชะ  รีบคว้า “ ไข่หลำ” มาฟัดก่อนเพื่อน  ตรงนี้อร่อยสุด
จะให้ครบสูตร ต้องมี “ ไทยวิสกี้” กับ วิตามิน M  ผสมประกอบ  หรือได้ กระทิงแดง ยิ่งถูกปาก
ลมหนาวพัดมาระลอก เดือนดาวพร่างพราวพร่ำ เต็มท้องนา  กรดวิตามินแอล ไหลลง ให้ร่างกายร้อนผ่าว
อาหารชิ้นวิเศษเช่นนี้  ต่อให้มีเงินล้าน ย่อมมิได้ แตะลิ้น
หากแต่ผู้มีหัวใจ เสรี   และ วิญญาณที่มีค่า PH เป็นกลาง เท่านั้น  ถึงจะได้ ยินยล
วันหน้าจะหาเมนูใหม่...มาเล่าสู่กันฟัง เด้อ

 
 
สาธุการบทความนี้ : 1083 ครั้ง
จากสมาชิก : 4 ครั้ง
จากขาจร : 1079 ครั้ง
 
 
  27 ธ.ค. 2554 เวลา 19:59:35  
   ขึ้นบน ลงล่าง  
 
         

  โพสต์โดย   109) อาหาร อิสาน วิเศษ ไม่แพ้ชาติใด  
  ปิ่นลม    คห.ที่111) หมกฮวก      [ไปที่ความเห็นนี้ ในกระทู้นี้]  
  เซียน

ภูมิลำเนา : สกลนคร
เข้าร่วม : 16 มี.ค. 2553
รวมโพสต์ : 2213
ให้สาธุการ : 180
รับสาธุการ : 5440860
รวม: 5441040 สาธุการ

 


ชื่อ เมนู                   หมกฮวก
ชื่อภาษาอังกฤษ        Tadpole packet
ชื่อภาษาไทย            บุตรกบลุยเพลิง

ประเทศแถบ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มี เมนูอาหาร ประเภท"หมก "  อาหารฝรั่ง มีหมกอะไรบ้าง
คำตอบคือไม่มี  ภูมิใจเถิด ที่เกิดในอีสาน อย่างน้อยเฮาก็มี "อาหารที่มีเมนูหมก" มากที่สุดในโลก
หมกปลาซิว หมกเขียดน้อย หมกปลาค่อ   หมกไข่  หมกปลาแดก หมกหนู  หมกกบ หมกแมงแคง ฯลฯ
หมกบ่ได้อย่างเดียว คือ "ซ้าง"  มันใหญ่่โพด พะนะ  และ  “หมกเม็ด”  
อันนี้ ต้องถามท่าน ญาคูต้องแล่ง

ครับดังที่เกริ่นข้างต้นไว้  อาหารอีสานมื้อนี้ เป็นเมนู  “ แรไอเทม” (ศัพท์เด็กน้อยวัยรุ่นพวกติดเกมส์ )
แปลว่า ของหายากเนื่องจากเป็นอาหารที่สุดอร่อย หากินยาก ปีหนึ่งได้กินแค่ฤดูกาลเดียวเด้อขะน้อย  
ลุนฤดูนี้ไป ไห้หากะบ่เห็น
อาหารญี่ปุ่น หรือจีน ที่ท่าน ซูฮกว่า สุดยอด  ยังไม่มีการประกอบอาหารแบบนี้  นั่นคือการ   ” หมกฮวก”



ในจักวาลอันไพศาล   มีดวงดาวมากกว่าจำนวนเม็ดทรายในทะเลทราย ซาฮาร่า เสียอีก มีสักกี่ดวง มีสิ่งมีชีวิต
มีสักกี่ดวง ที่มี ”ฮวก”   แม้ดาวดวงนั้นมี “ฮวก”  มีสักกี่ชนชาติที่กิน    และมีสักกี่คน ที่ได้มีโอกาส ลิ้มรส “ หมกฮวก”
คำตอบโดย บริบท ก็คือ  หมกฮวก คือ อาหารที่หาได้ยากยิ่งในจักวาล  ยืดออกคุยทับฝรั่งมังค่า หรือ เกาหลีเกาเหลา
ซำเหมาจีนฮ่อได้เลย  “ อีสาน” นี่หละ มี สุดยอดแห่งอาหาร หมกฮวก นัมเบอร์วัน


ส่วนประกอบที่ต้องมีในการทำ หมกฮวก

1.เขิง , สวิง  , หรือ ดางเขียว   แล้วแต่สถานการณ์  ( แค่ “เขิง” ลุงแซมก็มึนแล้ว )
2. น้ำข่อนแจไฮ่นา ที่มีฮวก มาโฮมกัน  หรือโกนหลี่เก่า  ( ซามูไร มึนอีกแล้ว)
3.ผักอี่ตู่  ( โอย..เปาปุ้นจิ้น มึน )
4.ปลาแดก  
5.พริกสด
6.ผักกะแยงบ่งใหม่ 3-4 ยอด
7.ใบตองกล้วยทะนีออง  หรือ ใบตองกุง   ,ใบตองเรียง  แล้วแต่สิหาได้
8. ไข่ไก่แม่ใหม่ (ไก่สาว)  2 ฟอง
9.ผักบั่ว ( ต้นหอม )  4 ต้น



กรรมวิธีในการทำ
ช่วงเดือน พ.ค. – มิ.ย หลังจากฝนตกมาได้ พอมีน้ำเจิ่งนองตามท้องไร่ท้องนา กบและเขียด อึ่งอ่าง คางคก
ต่างลงมาวางไข่ตามแหล่งน้ำ  ทำให้เกิด “ ฮวก”  ตามแหล่งน้ำขนาดเล็ก  การจับฮวก หากจับตอน น้ำโฮ่ง
หรือน้ำหลาก ทำได้ยาก  จึงต้องรอ ตอนไถนาฮุดแล้วสาก่อน ฝนจะทิ้งช่วงสักพัก  ทำให้เกิด น้ำข่อนแจไฮ่นา
หรือน้ำข่อน ตามบึง หนอง บวก เก่า โกนหลี่ แฮ่งดี  บรรดา “ฮวก” หรือ ลูกอ๊อด จะไหลมารวมกัน บริเวณที่มีน้ำอยู่
เมื่อหาแหล่งได้แล้ว ก็ทำตามนี้ได้เลย


ภาพแสดงการวิวัฒนาการของ ฮวก  ( ภาพจากอินเตอร์เน็ต )

1.ส่อนฮวก   มาให้ได้พอประมาณพอที่จะทำห่อหมก
การส่อนฮวก ต้องใช้ความชำนาญ หรือความเป็น โปรเฟชชะนอล   (มืออาชีพ) เนื่องจาก ฮวก มีหลายชนิด
บางชนิดมีพิษ เช่น ฮวกคางคก  ฮวกอึ่งยาง  ฮวกเขียดจิก  ฮวกเขียดบักหมื่น ฮวกเขียดตะปาด
บรรดาฮวกที่กล่าวถึง เป็นฮวกต้องห้าม นำมารับประทานไม่ได้  ต้องคัดสรร จำแนกฮวกประเภทนี้ออก
คัดเอาแต่ ฮวกกบ และ ฮวกเขียด เท่านั้น

2.นำฮวกมาล้างน้ำ และ “ ไส้ขี้ “  ให้เรียบร้อย   สำหรับผู้บริโภคประเภท”  ฮาร์คอร์ “
  หรือ แฟนพันธุ์แท้หมกฮวกเพิ่นบ่ให้ “ ไส้ขี้”  เนื่องจากต้องการ รสชาติดั้งเดิมของธรรมชาติ
3 นำไข่ไก่แม่ใหม่ ( ไก่สาว) มาตีใส่ถ้วย การไก่ คนให้แตก  หั่นผักบั่ว(ต้นหอม) ลง


ภาพจากอินเตอร์เน็ต

3.นำฮวกที่เตรียมไว้ มาเทคนให้เข้ากันกับไข่  ( ในกรณีที่ได้ฮวกหลาย ไม่ต้องใส่ไข่ก็ได้ หมกแต่ฮวก )
จำนวนฮวกต้องมีมากกว่าไข่ พอคนแล้ว ต้องเป็นก้อน ข่อนๆ พอหมกได้
4.หยาะน้ำปลาแดกลงนิดหน่อย
5.เด็ดใบผักกะแยงลงใส่นำ พอได้กลิ่น
6 ใส่ผักอีตู่ลง
7..ใส่พริกสดลงไป นิยมใส่เป็นลูกเลย บ่ต้องหั่น
จัดการห่อหมกฮวก ด้วยใบตอง ให้มิดชิด
8 นำไม้หีบ มาหนีบ ไปปิ้งไฟ หรือ จะใช้การ หมกขี้เถ้าใช้ไอร้อนจากเถ้าอบให้สุก ก็ได้ แล้วแต่
ทิ้งไว้ประมาณ 30 นาที คอยพลิก ให้ได้รับความร้อนให้ทั่ว   จากนั้นเป็นอันเสร็จ


ภาพจากอินเตอร์เน็ต


การกินหมกฮวก นิยมกินเป็นอาหารมื้อเที่ยง หรือ มื้อค่ำ และต้องกินกับข้าวเหนียวถึงจะได้รสชาติ
กลิ่นหอมของเครื่องเคียงที่ปรุงมากับการหมก สัมผัสได้ทันทีที่เปิดห่อใบตอง กลิ่นเนื้อที่สุกแล้วของฮวก
และกลิ่นหอมของไข่หมกไฟ คละเคล้า   ชาวอีสานมักล้อมวงกันกินเป็นครอบครัว หลังจากทำงานเสร็จ
จึงนับได้ว่าเป็นอาหาร เมนูครอบครัว การพาพุสาวไปกิน หมกฮวก 2 ต่อ 2 บ่ควรทำ เนื่องจากไม่เหมาะสม



ภาพจากอินเตอร์เน็ต

หมกฮวกนั้นชาวอีสานทำกินกันในช่วง ไถนาฮุด หรือ การดำนา และกินแค่ฤดูกาลเดียว
เมนูนี้ แซบ บ่ต้องพิสูจน์  เป็นอาหารหายาก  บางพื้นที่ในอีสาน ชาวบ้านลงมติกัน” ห้ามส่อนฮวก”
เพราะปริมาณกบและเขียดลดลงขั้น วิกฤติ  จึงต้องอนุรักษ์ไว้  ฉะนั้น การหมกฮวกที่ยังพอเห็นได้
มีเพียงพื้นที่ ที่ยังความสมบูรณ์ของระบบนิเวศน์อยู่   จึงเป็นอาหารที่หากินได้ยากยิ่ง

 
 
สาธุการบทความนี้ : 1068 ครั้ง
จากสมาชิก : 4 ครั้ง
จากขาจร : 1064 ครั้ง
 
 
  21 มิ.ย. 2555 เวลา 08:59:13  
   ขึ้นบน ลงล่าง  
 
         

  โพสต์โดย   98) สารานุกรม แมงไม้ ใน อีสาน  
  ปิ่นลม    คห.ที่93) ตั๊กแตนโม      [ไปที่ความเห็นนี้ ในกระทู้นี้]  
  เซียน

ภูมิลำเนา : สกลนคร
เข้าร่วม : 16 มี.ค. 2553
รวมโพสต์ : 2213
ให้สาธุการ : 180
รับสาธุการ : 5440860
รวม: 5441040 สาธุการ

 



ชื่อวิทยาศาสตร์   Aiolopus thalassinus tamulus
ชื่อพื้นเมือง          ตั๊กแตนโม (เศรษฐีทุ่งโล่ง)

รูปร่างลักษณะ

- ขนาดค่อนข้างใหญ่ แต่เรียวสมส่วน
- ลำตัวสันด้านหลังแข็ง เรียวยาว บินได้ไกลมาก
- หนวดสั้น ตาสีหญ้าแห้ง  โตกว่าตั๊กแตนชนิดอื่น
- สีของลำตัวเป็นสีเขียวแก่
- ปีกคู่หน้ามีสีเขียว และไล่ลายจุดสีน้ำตาลจนถึงหาง
- ขาคู่ที่ 3(ขาดีด)  สีเขียวไล่เฉดสีหญ้าแห้ง มีหนามแหลมใหญ่ สีอมชมพู
- บริเวณโคนปีกคู่ที่ 2 (ปีกใน) เป็นสีเหลืองอ่อนและปีกสั้นแต่กว้าง
- บนกึ่งกลางด้านหลังของส่วนแรกเป็นสันเรียบ  ๆ  ต่างจากชนิดอื่น ซึ่งจะเป็นสันนูน

วงจรชีวิต

- ใน 1 ปี มีการขยายพันธุ์ 1 ครั้ง
- ฤดูผสมพันธุ์อยู่ในช่วงเดือน เมษายน- มิถุนายน
- เริ่มวางไข่ใน เดือน เมษายน ถึง พฤษภาคม
- ชอบวางไข่ในดินที่มีความชื้นพอเหมาะ  เช่นใต้ขอนไม้ โคนไม้
- ไข่ทั้งหมดอยู่ในฝักซึ่งเป็นสารหยุ่น ๆ คล้ายฟองน้ำ
- ไข่มีลักษณะยาวรี ประมาณ 7 มม. เส้นผ่าศูนย์กลาง 2 มม
- ไข่ใหม่ ๆ มีสีเหลืองแล้วค่อยเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล
- ช่วงอายุของไข่ 35  วัน
- ไข่เริ่มฟักเป็นตัวอ่อนในช่วง พฤษภาคม, มิถุนายน
- ช่วงอายุตัวอ่อน 65 วัน
- มีการลอกคราบ 6 – 7  ครั้ง จึงกลายเป็นตัวเต็มวัย
- ตัวอ่อนมี 3 วัย
- อายุของตัวเต็มวัย 4  เดือน


                      ภาพวงจรชีวิตตั๊กแตนโม



   ภาพตัวอ่อนของตั๊กแตนโม ปีกยังไม่งอก




ลักษณะนิสัยทั่วไป

ชอบอาศัยตามทุ้งหญ้า พื้นที่โล่ง ตามทุ่งนาในพื้นที่ราบสูง มีความสารถพิเศษ กว่าตั๊กแตนชนิดอื่น
คือ ดีดตัวครั้งหนึ่ง บินได้อึดและนาน บินได้ไกล ร่วม  200  เมตร ต่อ 1 ครั้ง  
จึงนับได้ว่าเป็นตั๊กแตนที่จับตัวได้ยากนักแล  อีกทั้ง “ตั๊กแตนโม”  มีดวงตาประกอบ ชนิดตารวม
ที่มีขนาดโตกว่าตั๊กแตนปกติ จึงมาสามารถ ตรวจจับความเคลื่อนไหวได้อย่ารวดเร็ว
ชอบกินยอดหญ้าอ่อน รวมทั้งยอดอ่อนของพืชพันธุ์ตามท้องถิ่นบางชนิด ไม่พบว่าตั๊กแตนโม ทำลายพืชไร่
นั่นแสดงว่าตั๊กแตนชนิดนี้ กินยอดพืชที่เกิดตามถิ่นฐานเดิมเป็นอาหาร
ปัจจุบันได้มีการเปลี่ยนการเพาะปลูก มาเป็นการปลูกพืชทางเศรฐกิจ
ซึ่งนั่นคือ การลดจำนวนพืชพันธุ์ตามท้องถิ่น
ทำให้ตั๊กแตนชนิดนี้ หายากยิ่ง อีกทั้งพฤติกรรมการสืบพันธุ์ ของตั๊กแตนชนิดนี้ ปี 1  สืบพันธุ์ แค่ครั้งเดียว
จึงลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว  

เด็กเยาวชนในปัจจุบันอาจไม่เคยรู้จัก  ตั๊กแตนโม
รู้จักแต่ตั๊กแตน ชลดา เด็กรุ่นต่อไปจะไม่รู้จักตั๊กแตน ชลดา  รู้จักแต่ ตั๊กแตน อินดี้ (วงเพลงแฟชั่น)



ความเกี่ยวเนื่องทางวิถีชีวิตอีสาน


ลงนาใหม่ ( หมายถึงการเริ่มฤดูกาลทำนา ) น้ำเต็มไฮ่เต็มคัน พ่อแม่ก็ไถนาฮุด ไล่ควายบักตู้ลงท่งนา
ลูกหลาน วิ่งเล่นตามไฮ่นา บ่างก็เล่นน้ำไฮ่นา เป็นที่สนุกสนาน บ้างก็เลี้ยง วัวเลี้ยงควาย
แลเห็น”ตั๊กแตนโม” บินลงมาจับคันแถนา   รีบถือไม้แส่ไล่ หวังจะจับเอาเป็น อาหารว่าง
แต่”ตั๊กแตนโม”มันบินไกล ต้อง วิ่งไล่จนลิ้นห้อย  ไล่จนมันหมดแรง บินตกลงน้ำไฮ่นา
ใครได้ “ตั๊กแตนโม”  คุยอวดอ้างกัน ถือว่า “เก่ง”  ที่เองที่มาของชื่อ “ ตั๊กแตนโม”
เพราะหากใครได้ ก็จะคุย”โม้”  โอ้อวดกัน ประสาเด็กน้อย
อีกอย่างหนึ่ง คำว่า “โม” ในภาคอีสาน
หมายถึง การบริจาค ( กริยา ) หรือ แปลว่า โต ( สดใส )  


ตั๊กแตนโม เป็นของขวัญแห่งท้องทุ่ง  ชีวิตของสัตว์ตัวเล็ก ที่มีคุณค่า คู่กับทุ่งนาอีสาน
มานานนับโบราณกาล
ปัจจุบันลดจำนวนลง ดังวิถีชาวที่ค่อยๆ เลือนหาย  ไปอย่างแช่มช้อย  

ขอบคุณข้อมูล ภาพจาก www.malang.com  และภาพสวยๆ จากเว็ปอื่นๆ ครับ

 
 
สาธุการบทความนี้ : 1061 ครั้ง
จากสมาชิก : 4 ครั้ง
จากขาจร : 1057 ครั้ง
 
 
  17 พ.ย. 2553 เวลา 14:34:29  
   ขึ้นบน ลงล่าง  
 
         

  โพสต์โดย   142) มาทางพี้ อ่านกวีศรี บังพุ่ม  
  ปิ่นลม    คห.ที่16)       [ไปที่ความเห็นนี้ ในกระทู้นี้]  
  เซียน

ภูมิลำเนา : สกลนคร
เข้าร่วม : 16 มี.ค. 2553
รวมโพสต์ : 2213
ให้สาธุการ : 180
รับสาธุการ : 5440860
รวม: 5441040 สาธุการ

 



ก้มลงลมหนาว ลอดหว่างขา
หมอกหนาโลมลูบเลาะชายทุ่ง
ตื่นเช้าก่อนดอกแย้ม บานอรุณ
ไปก่อน "งัว" นะคุณ เก็บดอกแค
.......................................
ป๊าดติโถ๊ะ..ดอกหล่นมาหลายเติบ
เห็น"กะเทิบ" มุงหญ้า นาลุงแหล่
เรามาเก็บดอกขาว ราวผืนแพร
นี่ก็คือต้นแค คนบ้านเฮา
.................................
เหยียบตอฟางแห้งขอบ กรอบแกรบเสียง
ทุ่งเหลือเพียงคันนา เป็นคูสัน
แบ่งปันดอกสีขาว ผ่อนอำพัน
เราแบ่งปันธรรมชาติ..ในเสรี
..............................
เอ๊ะนั่นใคร บังคันแท มานั่งขี้
สายปานนี้ มิอายใคร กระไรหนอ
ชวนพวกกันกลับบ้าน อย่ารั้งรอ
ไม่อยากพ้อ.."คนขี้ใกล้" หลายใจเอย..
(ปิ่นลม )



ภาพประกอบจาก บ้านมหาดอทคอม

 
 
สาธุการบทความนี้ : 1053 ครั้ง
จากสมาชิก : 1 ครั้ง
จากขาจร : 1052 ครั้ง
 
 
  31 พ.ค. 2556 เวลา 17:11:35  
   ขึ้นบน ลงล่าง  
 
         

  โพสต์โดย   98) สารานุกรม แมงไม้ ใน อีสาน  
  ปิ่นลม    คห.ที่9) แมงข้าวสาร      [ไปที่ความเห็นนี้ ในกระทู้นี้]  
  เซียน

ภูมิลำเนา : สกลนคร
เข้าร่วม : 16 มี.ค. 2553
รวมโพสต์ : 2213
ให้สาธุการ : 180
รับสาธุการ : 5440860
รวม: 5441040 สาธุการ

 

ชื่อ  แมงข้าวสาร ( ยามเผ้าตรวจแห่งผืนน้ำ )
ชื่อวิทยาศาสตร์ Cybister limbatus   Fabricius
อันดับ         Coleoptera
ชื่อวงศ์        Dytistidae
ชื่อสามัญ  True water beetle และ Predaceous diving beetle
ชื่ออื่น  แมงข้าวสาร
ประเภทสัตว์  แมลง , สัตว์น้ำ

ลักษณะทางกายภาพ

             แมลงขนาดเล็กลำตัวป้อมเท่าเม็ดข้าวสาร มีสีเทาสลับดำ  แมลงปีกแข็งขนาดเล็กอยู่ในน้ำจับได้โดยใช้สวิงช้อน ชอบบินมาเล่นแสงไฟเวลากลางคืน นำมาประกอบอาหารได้หลายชนิด เช่น คั่ว ทอด แกงใส่หน่อไม้ส้ม  หมก หรือตำเป็นน้ำพริก ขนาดโตเต็มวัยมีขนาดเท่ากับเล็บหัวนิ้วโป้ ( เล็บหัวแม่มือ ) มีเส้นสีเหลืองรอบๆ ลำตัว

แหล่งที่พบ


             ด้วงน้ำมักอาศัยอยู่ตามแหล่งน้ำที่เป็นน้ำนิ่ง บางครั้งสามารถพบได้ในน้ำหลาก แต่พบไม่มากนัก เช่น ห้วย หนอง คลอง บึง นาข้าว แม่น้ำลำธารทั่วๆ ไป อาศัยตามหัวหญ้า  แพจอก แพแหน  ริมหนองน้ำ  ไม่ชอบอยู่น้ำลึก
บางคนแยกไม่ออก ระหว่าง แมงตับเต่า  กับ แมงข้าวสาร   จริงๆ แล้ว
เป็น แมลงใน สปีชีย์ เดียวกัน  ข้อสังเกตคือ
แมงข้าวสาร มีขอบเส้นสีเหลืองรอบลำตัว ขนาดเล็กกว่าแมงตับเต่า  และ ไม่มีหนอกแหลมที่ใต้ท้อง
เหมือนแมงตับเต่าลำตัวเรียวบางกว่า ไม่มีกลิ่นฉุนเหมือนแมงตับเต่า

ประโยชน์และความสำคัญ


            ชาวบ้านนิยมนำแมงข้าวสาร มาแกงใส่รวมกับแมลงกินได้ที่อาศัยอยู่ในน้ำชนิดอื่นๆ เช่น แมงหน้างำ
แมงเหนี่ยว แมงก้องแขน  แมงตับเต่า  แกงใส่ผักอีตู่ อาจจะใส่หน่อไม้ส้ม ( หน่อไม้ดอง )
หรือ อุ  ใส่ผักอีตู่    หรือ หมกใส่ใบตอง รวมกับแมลงที่กล่าวมา  แซบอีหลี

การหาเอาแมงข้าวสาร
ช่วงเดือน พฤศจิกายน  - กุมภาพันธ์  น้ำแห้งขอด  ชาวอีสาน มักไปหา “ส่อน” โดยใช้ “เขิง”  หรือ ใช้วิธี
“ ล่องแหย่ง “ หรือ ลาก “ดางเขียว”  ตาม ห้วยหนองคลอง บึงที่น้ำน้ำเหลือน้อย  ซึ่งมักจะมี แมงอันนี้ติดมาด้วย
หากเป็นฤดู น้ำหลาก จะใช้วิธี “ ตึกสะดุ้ง” หรือ “ยกยอ” เพื่อหาเอาแมลงชนิดนี้
วงจรชีวิต และ ความสัมพันธ์ในระบบนิเวศ
ไม่มีการศึกษา วิจัย อันเป็น องค์ความรู้ เนื่องจาก บัณฑิต ในปัจจุบัน  จบสาขากฎหมาย เยอะที่สุด  ต่างมุ่งเน้น บัญญัติ
กฎให้คนอื่นทำตาม  หาได้สนใจกฎแห่งธรรมชาติไม่  จึงเป็นการมุ่งความสนใจไปที่กฎหมายและกฎหมู่  ฟาดฟันกัน
ดังเห็นได้จาก บ้านเมืองเฮา ในยุคเริ่มก้าว สู่  ESANIA  

อย่างไรก็ตาม ก็มีการศึกษา เกี่ยวกับเรื่องราวของ แมลงชนิดนี้ อยู่บ้าง แต่เป็นเพียง ข้อมูลเชิงระนาบ
มิได้เป็นฐานข้อมูล อันจะเป็น แบบแผน เพื่อพัฒนาการดำรงชีวิต ให้สอดคล้องกับ
วิถีห้วยหนอง คลองบึงเท่าใดนัก
การพัฒนาแหล่งน้ำ ตามที่เพิ่นเข้าใจกัน ก็ คือ จกให้ลึก  ขอบให้แปน  กักน้ำได้นาน
ไม่มีอะไรอาศัยอยู่ในนั้นก็ช่าง  นอกจากปลาซิว ( ขอให้บริหารงบก็พอ )

   ระบบนิเวศ จึงเป็นองค์ความรู้ เฉกเช่นแมลง  เล็กน้อยไม่น่าสนใจ แต่ ครอบครองโลกใบนี้อยู่

 
 
สาธุการบทความนี้ : 1045 ครั้ง
จากสมาชิก : 4 ครั้ง
จากขาจร : 1041 ครั้ง
 
 
  28 ก.ย. 2553 เวลา 19:14:55  
   ขึ้นบน ลงล่าง  
 
         

  โพสต์โดย   109) อาหาร อิสาน วิเศษ ไม่แพ้ชาติใด  
  ปิ่นลม    คห.ที่93) ลาบเทา      [ไปที่ความเห็นนี้ ในกระทู้นี้]  
  เซียน

ภูมิลำเนา : สกลนคร
เข้าร่วม : 16 มี.ค. 2553
รวมโพสต์ : 2213
ให้สาธุการ : 180
รับสาธุการ : 5440860
รวม: 5441040 สาธุการ

 

ชื่อภาษาอังกฤษ   Passion Spirogyra
ชื่อภาษาไทย      ง้วนนที รสทิพย์
ชื่อพื้นเมืองอีสาน   ลาบเทา



เมื่อต้นเดือนได้มีโอกาสกลับไปที่ จ.สกลนคร  นั่งคุยกับ “อาว”  อยู่กระเทิบหน้าบ้าน  คุยกันเรื่อง “บึ้ง”
หลานสาวเรียนอยู่ ปวช.  ถามว่า อีหยังคือ “บึ้ง”  พะนะ  เพิ่นบ่ฮู้จัก   นี่ขนาดเกิดอยู่สกลนคร  บ้านนอกชนบทแท้ๆ
สักพัก พ่อเอิ้นกินข้าว “ มาแมะหล่า กินข้าวกับลาบเทา “  เพิ่นตอบว่า
“ บ่กินดอกอีพ่อ  เอาเงินมา  ข่อย สิไปซื้อมาม่า มาต้มกิน”
กินข้าวอิ่มแล้ว เดินเวินไปเวินมา   ขะน้อยเลยถามว่า  “ฮู้จัก พันท้ายนรสิงห์บ่ “
“ แม่นไผหละ พันท้ายนรสิงห์ “ พะนะ
ขะน้อยนั่งอึ้ง  นึกไม่ถึง เจตคติของคนอีสาน ที่สืบสานวัฒนธรรม  โดนลบเลือนโดย คลื่นวัฒนธรรมต่างถิ่น
สิ้นวัฒนธรรมการกิน  วัฒนธรรมการครองตน  วัฒนธรรมทางความคิดอันพอเพียง เรียบง่าย วัฒนธรรมศิลปะ ต่างๆ
นับมื้อถดถอย  “ขี้เดียดวัฒนธรรมตนเอง”   มองเห็นอีซาเนีย อยู่ร่ำไร
มันเป็นตาขี้เดียดหม่อได๋  ลาบเทา     มาลองศึกษาให้แจ้งในกมล เบิ่ง



ลาบเทาเป็นอาหารพื้นเมืองที่ กลั่นกรองออกมาจากภูมิปัญญา คนอีสานแต่กาลโพ้น
เทา ก็คือ สาหร่ายน้ำจืด
สาหร่ายเป็นสิ่งมีชีวิตมีคู่กับโลกเฮามานานมาก  “ในสมัยพุทธกาลเรียกเทาว่า “กระบิดิน”
เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญมากของมนุษยชาติ และเป็นแหล่งอาหารคุณภาพสูงของผู้คนทั้งหลาย
จึงนำมาบริโภคกันในหลายรูปแบบ
ประเทศที่มีการบริโภคสาหร่ายอย่างแพร่หลายคือ จีน และญี่ปุ่น ส่วนประเทศอื่นก็มีการบริโภคกันบ้าง
แม้แต่ไทอีสาน และ ไทภาคเหนือของเฮา แต่สาหร่ายที่นิยมจะเป็นชนิดที่แตกต่างกันไปตามที่มีอยู่ในท้องถิ่น


เทาคือ
Spirogyra สไปโรไจรา เป็นสาหร่ายที่ชอบขึ้นในน้ำจืดที่สะอาดทั้งน้ำนิ่ง และน้ำไหลเอื่อยๆ มีสีเขียวเป็นเส้นกลมยาวขนาดเล็กพันกันเป็นเกลียวนิ่มลื่นมือพบได้ในแหล่งน้ำภาคเหนือและอิสานเรียกสาหร่ายชนิดนี้ว่า เทา หรือผักไกนิยมนำมาบริโภคในรูปผักจิ้มน้ำพริก ทำลาบ และมีรายงานว่าเป็นสาหร่ายที่นิยมบริโภคในประเทศพะม่า เวียตนามและอินเดียด้วย  
เห็นบ่ คนวัฒนธรรมอื่นเขากะกิน เทาคือกัน  มันต้องมีดีหละเขาจั่งกินกัน



ประโยชน์ของ เทา นอกเหนือจากเป็นอาหาร คือ

ใช้เป็นปุ๋ยชีวภาพ จากการวิจัยของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย
พบว่าสาหร่ายสีเขียวในนาข้าวบางชนิดสามารถตรึงไนโตรเจนในอากาศให้เป็นสารประกอบไนโตรเจน เช่น แอมโมเนียม
ทำให้ข้าวเจริญเติบโต ส่วนใหญ่เป็นพันธุ์ Anabaena sp. และ Nostoc sp.  
(เอาหละหว่าหนทางรอด สำรับเกษตรอินทรีย์ชาวนาไทย ลดการใช้ปุ๋ยเคมีได้ เพราะนำเทา มาปล่อยตามทุ่งนา
ธรรมชาติบำบัด ลดต้นทุน ทิ้งห่างเวียดนาม ชนิดไง่ง่อง)
สังเกต นาข้าวไผงามดินดี มักจะมีเทาขึ้นตามไฮ่นา  รับรองข้าวงาม ซ้างเหยียบตอเฟียงบ่ล้ม  คนโบราณว่า

ใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง สาหร่ายประกอบด้วยสารเคมีบางชนิดที่ช่วยในการรักษาผิวหนัง ชนเผ่า Kanembu ได้ใช้สาหร่ายเกลียวทองรักษาโรคผิวหนังบางชนิด การศึกษาในประเทศญี่ปุ่นพบว่า
เครื่องสำอางที่ผสมสาหร่ายและสารสกัดจากสาหร่ายช่วยให้ผิวพรรณดีขึ้นและลดริ้วรอย ส่วนในประเทศไทย
ก็ได้มีบริษัทหลายแห่งที่ใช้สาหร่ายเป็นเครื่องสำอางในรูปครีมบำรุงผิว
(เห็นบ่ ดาราละครผู้หล่อๆ สวย ๆ เพิ่นกะเอาเทาไปทาหน้า ให้ ผุดผ่อง แล้วก็มาตบหน้ากันให้ซุมเฮาเบิ่ง  )

ใช้ในอุตสาหกรรมยา นักวิทยาศาสตร์และนายแพทย์หลายท่านได้ทดลองใช้สาหร่าย
ในการป้องกันและรักษาโรคต่าง ๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคกระเพาะ อีกทั้งยังช่วยลดความเครียด
และความไม่สมดุลในร่างกาย ในประเทศฝรั่งเศส ได้ทดลองใช้ ธาตุแมกนีเซียมในคลอโรฟิลล์ ในสาหร่าย
ในการรักษาบาดแผล มีคุณสมบัติในการฆ่าเชื้อป้องกันการเกิดของแบคทีเรียและช่วยสร้างเซลล์ขึ้นมาใหม่ด้วย
คลอโรฟิลล์ในสาหร่ายมีโครงสร้างเหมือนสารสีแดงในเลือด (hemo-globin)
นักวิทยาศาสตร์จึงแนะนำให้ใช้คลอโรฟิลล์รักษาโรคโลหิตจาง
สาหร่ายบางชนิดสารปฏิชีวนะซึ่งเป็นประโยชน์ต่อวงการแพทย์
ซ้วดแล้วบาดนี้...เทามีประโยชน์กว่า มาม่า หลายพันเท่า


ภาพจากอินเตอร์เน็ต

บรรพบุรุษชาวอีสานช่าง มองการไกล และมีวิสัยทัศน์  ในการนำเอาพืชที่มีประโยชน์อันนี้มาทำอาหาร
แต่พอตกมาถึง รุ่นหลานเหลน โหล่น  กลับรังเกียจเดียดฉันท์   แปลเจตนาผิด หนูจะฟัง LAP  หนูอยากอยู่ใน TOWN
นี่ไงครับ LAP TOWN ( ลาบเทาว์)  คนญี่ปุ่น คนจีน เขาไม่ทิ้งเจตจำนงแห่ง บรรพบุรุษ  ในทางกลับกัน
เขารักในวัฒนธรรมของเขา พัฒนาต่อยอด จากการกินสาหร่ายธรรมดาๆ  เป็น  นวัตกรรมใหม่  
ศึกษาและวิจัยต่อยอดจาก บรรพบุรุษ จนกระทั่งสร้าง สินค้าส่งออก  มากรอกปากลูกหลานเฮา  
สังเกตจากร้านค้าในบ้านผม  มีแต่ ขนมสาหร่าย  สาหร่ายอัดแท่ง ยี่ห้อญี่ปุ่น ยี่ห้อเกาหลี  ยี่ห้อจีน
วางขายวัฒนธรรมการกินของเขา
สำหรับคนจบ นักธรรมเอก อย่างกระผม จึงมีความคิดว่า ใยเฮาบ่พัฒนาศึกษาวิจัย  ต่อยอดความคิด
จากวัฒนธรรมการกินของ คนอีสานเฮาบ้าง  จะมัวอายใคร อนุมานว่ากำพืดตนว่า “ต่ำต้อย” เมื่อไหร่จะพัฒนาก้าวทันเพิ่น
นี่คือตัวอย่าง แนวทางการคิด ของขะน้อย  ส่งออกไปขายฮอด ยอดเขาหิมาลัยพู้น





แห่งเว้าแห่ง”สูน” พี่น้องเอ้ย   กลับมาเข้าเรื่องประเทืองความแซบ กันดีกว่าเนาะ
ส่วนประกอบ  ก็มี เทา   ปลาป่น   ข้าวคั่ว  พริกป่น น้ำปลาแดก  ผักหอมบั่ว   ผักหอมเป  ผักแพรว
                     ถั่วฝักยาว   มะเขือ    ของกินกับ ก็คือ ผักต่าง  ผักหูเสือ  และอย่าลืม  บักแข้งขม


ภาพจากอินเตอร์เน็ต

วิธีทำ   1 ไปหา ทาวเอาเทา    ตามห้วยหนองคลองบึง ไฮ่นา ควรเลือกแหล่งน้ำที่สะอาด เชื่อใจได้
               เทาจะเกิดก็ต่อเมื่อ มีอุณหภูมิและช่วงเวลาที่เหมาะสม ปีหนึ่ง มักจะเกิดแค่ 2 ครั้ง  
              คือ ช่วงข้าวเขียว (กลางฤดูฝน ) และ ในฤดูหนาว


         2 นำเทามาล้างน้ำหลายๆครั้ง จนได้เนื้อเทาที่สะอาด สีเขียวมรกต


         3  ต้มน้ำฮ้อนๆ มาลวกเทา  แล้วเทน้ำทิ้ง    ลวกใหม่อีกครั้ง  ทำประมาณ 3 ครั้ง  ฆ่าแม่พยาธิ

         4  นำปลาป่นมากวนลงไปให้เข้ากัน  แล้ว เทเครื่องปรุง เช่น ข้าวคั่ว  พริกป่น  ลงปรุงรส  ด้วยน้ำปลาแดก


น้ำปลาแดกต้ม



           ข้อควรระวังในขณะ เทข้าวคั่วกับพริกป่นลงปรุง  อาจเกิดอาการ “แฮดดัง”  จนต้องจาม
           หากจะ จาม ต้องหันหน้า ออกจากกาละมังลาบเทา   ขณะจามแทนที่จะ เปล่งเสียง ฮัดเช้ย !
ให้อุทานจามคำว่า  “ ฮี้.....ส๊วด! “ แทน  มันเป็นคาถา
5 เอาผักหอมต่างๆ  (หั่นแล้ว) ลงกวนให้เข้ากัน เป็นอันเสร็จ   ยกลงมาปันกัน ซูด
            คันบ่แซบกะ ขุ  ผงนัว ลงจั๊กหน่อย  อย่าลืมแบ่งแม่ใหญ่ต้อย  ผู้เลาป้อยผัวเป็น



ส่วนอันนี้ สำหรับเพิ่มรสชาติ สำหรับ วัยรุ่น  กินกับ ลาบเทา


ภาพจาก อินเตอร์เน็ต

 
 
สาธุการบทความนี้ : 1039 ครั้ง
จากสมาชิก : 4 ครั้ง
จากขาจร : 1035 ครั้ง
 
 
  08 ก.พ. 2555 เวลา 15:56:25  
   ขึ้นบน ลงล่าง  
 
         

  โพสต์โดย   98) สารานุกรม แมงไม้ ใน อีสาน  
  ปิ่นลม    คห.ที่6) แมงคาม      [ไปที่ความเห็นนี้ ในกระทู้นี้]  
  เซียน

ภูมิลำเนา : สกลนคร
เข้าร่วม : 16 มี.ค. 2553
รวมโพสต์ : 2213
ให้สาธุการ : 180
รับสาธุการ : 5440860
รวม: 5441040 สาธุการ

 


ชื่อ  แมงคาม   ( อัศวินนักสู้แห่งวสันต์ฤดู )

ชื่อภาษาไทย  ด้วงกว่าง
ชื่อวิทยาศาสตร์
Xylotrupes Gideon Linneaus
อันดับ      Coleoptera
ชื่อวงศ์     Scarabaeidia
ชื่อสามัญ  Scarab beetle

ลักษณะทางกายภาพ


             แมงคาม หรือด้วงกว่างเป็น แมลงปีกแข็ง ตัวค่อนข้างใหญ่ ลักษณะคล้ายด้วงแรดมะพร้าว ลำตัวแข็ง
และนูน สีดำเป็นมัน  รูปร่างรูปไข่  ขามีปล้องเล็กๆ  5  ปล้อง  หนวดเป็นแบบแผ่นใบไม้ มี 3-4  ปล้อง  ปล้องสุดท้ายมีลักษณะคล้ายใบไม้  3-4  แผ่น รวม กันกลายเป็นลูกกลม  จำนวนปล้องหนวดมีทั้งหมด 8 – 11 ปล้อง  และตามผิวมีส่วนที่เป็นหนามใหญ่   ตัวผู้มีเขาใหญ่ยื่นตรงออกมาจากหัว ใช้สำหรับต่อสู้ศัตรู เมื่อพบศัต
ซึ่งมักเป็นแมงคามตัวผู้ด้วยกัน ก็จะเดินเข้าหากันใช้เขาดันกันไปมา ตัวไหนสู้ไม่ได้ก็ถอยไป ถือว่าเป็นฝ่ายแพ้ตัวอ่อน หรือตัวหนอน สีขาวตัวอ้วน ตัวงอเป็นรูปเหมือนตาขอ  

แหล่งที่พบ


อาศัยอยู่ในดิน  กินมูลของซากพืชหรือซากสัตว์  ตัวหนอนด้วงอาศัยอยู่ในดิน  ระยะแรกก็อยู่ตามเศษซากพืชทับถมในบริเวณที่ร่มที่มีความชื้นสูง  ระยะถัดมาขุดดินฝังตัวอยู่ลึกประมาณ  7.5 – 15.0 เซนติเมตร  ระยะหนอนด้วงใช้เวลาประมาณ  58 – 95 วัน  มี 3 ระยะ  คือ  ระยะก่อนเข้าดักแด้  3 – 6  วัน  แล้วจึงลอกคราบเปลี่ยนเป็นดักแด้ ซึ่งในระยะนี้ใช้เวลา 11 – 14  วัน  ต่อมาก็ออกเป็นตัวเต็มวัย  ออกหากินในเวลาตั้งพลบค่ำเป็นต้นไป
และพบมากในเวลากลางคืน  ส่วนในเวลากลางวันก็หลบซ่อนตัวอยู่ในดินมากกว่าที่อื่น  ระยะตัวเต็มวัยเพศผู้และเพศเมียประมาณ 18 และ 28 วัน  ตามลำดับ
มักอยู่ตามต้นคาม ( ต้นคราม )  ต้นถ่อน และต้นไม้หลายชนิด ในป่าเบญจพรรณ


ภาพต้นคาม ( ต้นคราม) ที่มาของชื่อ เจ้าอัศวินแห่งวสันต์ฤดู


ที่มาของชื่อ แมงคาม
เนื่องจากพบมาก ตาม “ต้นคาม” หรือ ต้นคราม ที่ คนอีสานสมัยเก่า
ปลูกเป็นสวน หรือ พื้นที่ว่างเปล่าปลูกไว้เพื่อ นำมาหมัก “คาม” ( ออกเสียงสำเนียงอีสาน )  
หมักในหม้อดิน เมื่อได้ที่ก็ นำมาย้อมผ้า
ซึ่งสมัยนั้น คือ ผ้าฝ้าย ที่ทอด้วยมือนั่นเอง เพื่อให้ผ้ามีสีสัน  และคงทน
แมลงชนิดนี้ จึงได้ชื่อตาม ต้นคาม   ต้นไม้ที่มันโปรดปราน นั่นเอง


ภาพการ " ย้อมคราม " ในอดีต



ประโยชน์และความสำคัญ


ส่วน มากชาวบ้านนิยมนำด้วงกว่างมารับประทานโดยการจี่  ให้ด้วงกว่างมีความกรอบ  
แล้วนำมารับประทานกับข้าวเหนียว  จ้ำแจ่วปลาแดก  และสามารถนำมา
“ ซนกัน “ เป็นกีฬาพื้นบ้านชนิดหนึ่ง

การเสาะแมงคาม


เมื่อฤดูการชนแมงคามของชาวชนบททางภาคอีสานมาถึง ซึ่งเป็นเวลาที่ทุกคนเริ่มว่างจาก
การทำไร่ทำนา เพียงรอให้ผลผลิตของตนสุกงอมและเก็บเกี่ยว ประจวบกับเป็นช่วงที่แมงคาม
เติบโตเข้าสู่ตัวเต็มวัยและขึ้นจากดิน เที่ยวบินหากินและผสมพันธุ์ อาหารของว่างมียอดพืชผัก
ยอดหน่อไม้ และกล้วยต่าง ๆ  ในอดีตเด็กน้อยในหมู่บ้าน ที่ชื่นชอบการชนกว่างทั้งหลาย
มักจะจับกลุ่มออก “หาแมงคาม” ตัวเก่งด้วยตนเอง  ตามสุมทุมพุ่ม ไม้หรือป่าของหมู่บ้าน
หรือตามที่ต่างๆ เช่น วัดร้างที่มีต้นไม้เครือเถาขึ้นปกคลุมตามต้นถ่อน ที่มีมากที่สุด เห็นจะเป็น
“ ป่าสวนคาม “  ที่ปู่ย่า ปลูกไว้ เพื่อนำมาหมักเป็น สีย้อมผ้าฝ้าย
ต้องไปหาในเวลาเช้า เมื่อพบจะใช้ไม้แหย่ไปที่ตัวกว่างหรือเขย่ากิ่งไม้ กว่างจะทิ้งตัวลงดิน
หรือพื้นหญ้าและจะอำพรางตัว ตามสัญชาติญาณของมัน ทำให้สามารถจับกว่างได้ไม่ยากนัก

บางครั้งจะใช้การดักจับ ที่เรียกว่า “การล่อ” โดยใช้ “
แมงคามตัวเมีย”  ที่มีขนาดเล็ก เขาสั้นผูกด้วยเชือกฝ้ายเส้นเล็กโยงกับไม้ขอที่เสียบไว้กับ
ส่วนบนท่อนอ้อยที่ปอกเปลือกแล้ว หรืออาจดักด้วย “กล้วยทะนีออง”
หรือ อ้อย ในกะลาหรือ” กะโป๋ะ” ผูกแมงคามตัวเมียไว้ข้างใน

พอพลบค่ำ จึงนำไปแขวนไว้กับกิ่งไม้ในที่ที่คาดว่าจะมีแมงคามอยู่
เช่น “ต้นคาม”  ช่วงกลางคืน แมงคามตัวเมียจะบินทำให้มีเสียงดัง
ประกอบกับมีอ้อยหรือกล้วยที่เป็นอาหารที่โปรดล่ออยู่  จึงดึงดูดให้ตัวอื่นๆที่บินอยู่
ในบริเวณนั้นเข้ามาหา  แมงคามก็เป็นเช่นเดียวกับแมลงที่หากิน
กลางคืนหลายชนิด ที่โดยธรรมชาติของมันมามาถึงแหล่งอาหารก็มักจะอยู่บริเวณนั้นจนฟ้า
สาง
  ดังนั้น ผู้ที่วางกับดัก จึงสามารถจับมันได้ง่าย  อย่างไรก็ตาม ผู้ที่หลงใหลในแมงคาม  มักจะเฝ้ากันทั้งคืน เพื่อหวังจะได้แมงคามตัวสวย ๆ ก่อนที่มันจะบินไปที่อื่น
ปัจจุบันการ “ ปลูกสวนคาม “ หรือ ย้อมคราม อาจสูญหายไปแล้ว เนื่องจากโลกเจริญขึ้น เด็กน้อยอีสานบางคน
ไม่รู้จักต้นคามเสียด้วยซ้ำ  กลิ่นอายแห่งภาพในบรรยากาศเก่าๆ ที่เป็นเสน่ห์แห่งชนบทบ้านนอก ค่อยๆจางหายไป    
          



เลี้ยงดูฟูมฟัก

เมื่อได้แมงคามตัวเก่งมาแล้ว ผู้เลี้ยงก็มักจะหาอาหารการกิน มาบำรุง เช่น น้ำอ้อยคั้นสดมาให้กว่างกินเสริมจากอ้อยท่อนที่ผูกกว่างไว้
ส่วนผู้ที่รักการ “ เอาแมงคามซนกัน “ จะทำการฝึกซ้อมให้ อัศวินของตัวเองมีความอดทน เช่น ซ้อมบิน  
ว่ายน้ำ เพื่อฝึกกำลัง หรือเดินบนพื้นทรายร่อนละเอียดเพื่อให้เล็บกว่างคมแข็งแรงเวลาชนจะเกาะ “คอน” ได้แน่นขึ้น  เป็นต้น
และที่จะขาดไม่ได้คือการฝึกฝนทักษะการต่อสู้ ตามวิธีการต่างๆที่ได้รับการบอกกล่าวมา หรือตามที่ตัวเองเชื่อว่าจะทำให้
แมงคามของตนเก่งเป็นผู้ชนะตลอดกาล  เช่น ใช้”ไม้ผั่น” สอดระหว่างเขาทั้งคู่แล้วปั่น ซ้ายบ้าง ขวาบ้าง เพื่อฝึกปฏิกิริยาในการต่อสู้บางครั้งก็ใช้ กว่างตัวอื่นๆ ที่มีกำลังด้อยกว่าเป็นคู่ซ้อม ให้เกิดความฮึกเหิม


สู้เพื่อนาง


ผู้เลี้ยงแมงคาม  เมื่อได้ฟูมฟักเลี้ยงจนเป็นอัศวินที่  สมบูรณ์  มีความแข็งแรง ผ่านการฝึกฝนมาอย่างดีแล้ว
จะชักชวนเพื่อนเป็นกลุ่มเล็กกลุ่มน้อย หามุมสบายของตัวเองตามหมู่บ้าน ใต้ถุนบ้าน ไม่จำกัดสถานที่ เพื่อนำมาประกวด
หรืออวดกัน  และมักจะสิ้นสุดการ “ ขี้โม้ “ และด้วยการ “ ท้าซน กัน”  
เจ้าของแมงคาม ที่อย่างจะประลองความสามารถจะประกบหาคู่แข่งขันกันตามความสมัครใจ
โดยนิสัยผู้ชายทั่วๆไปที่มักจะรับไม่ได้กับความพ่ายแพ้  จึงพยายามสรรหาวิธีให้แมงคาม
ของตัวเองอยู่ได้เปรียบเสมอ เช่น ใช้ยาหม่องทาที่”ไม้ผั่น” และไปปั่น แมงคามฝ่ายตรงข้ามตอนเปรียบกว่าง  บางครั้งพบว่าใช้น้ำจากพริกขี้หนู ยาหม่อง ขี้ยาจากอีพ่อใหญ่
หรือพิษของยางคางคก มาป้ายไว้ที่เขาของแมงคามตัวเอง เพื่อให้กว่างฝ่ายตรงข้ามได้กลิ่น หรือถูกตำ จะทำให้แมงคามหมดแรง
หันหนี และแพ้ไปในที่สุด ดังนั้นเมื่อตกลงจะให้กว่างของตนชนกันจริง ๆ แล้ว  เจ้าของกว่างมักจะขอกว่างของฝ่ายตรงกันข้ามมาตรวจดูเสียก่อนว่าไม่มีกลโกง หรืออาจจะต้องเช็ดปลายเขากว่างคู่ต่อสู้หรือเอาน้ำอ้อยบีบรดเขาแมงคาม

ซึ่งถ้าหากมีการเอายาฆ่าแมลงทาไว้ น้ำอ้อยจะล้างไหลเข้าปากกว่างตัวที่ถูกทาไว้ ทำให้
อาจจะถึงตายหรือหมดแรงไปได้  การซนแมงคาม ต้องทำคอนให้มันไต่
เอาตัวเมียไว้ตรงกลางล่อให้มัน หวงตัวเมีย และคอยเอาไม้ฟั่น ปั่นท้องแมงคามเพื่อให้มันฉุน
เร่งเข้าฟาดฟันกัน
บางรายเขาหัก  ตกคอน  ส่วนมากเมื่อแพ้ มันมักจะถอยหนี ไม่มีการสู้กันถึงตาย


กีฬาประเพณีพื้นบ้านกับวิถีชีวิต


จากวิถีชีวิตพื้นบ้านเพื่อการพักผ่อน ของนักนิยม ซนแมงคาม เริ่มจากชักชวนเพื่อนบ้านหามุมสบาย
ของตัวเองอย่างไม่จำกัดสถานที่ ร่วมกับการซนเพื่อประลองกำลัง  ซึ่งมักหนีไม่พ้นกับ
การพนันขันต่อเล็กๆน้อยๆ ตามวิถีชีวิตของหมู่ชายชาวชนบท  
สร้างความสนุกสนานลืมความทุกข์ยาก จากการงานได้เป็นครั้งคราว


วิถีชีวิตชุมชน ธรรมชาติ และ การคงอยู่ของแมงคาม


ในมุมมองของคนท้องถิ่นแล้ว “การซนแมงคาม” เป็นการผสมผสานภูมิปัญญาท้องถิ่น วิถีชีวิตชุมชน
เข้ากับความเป็นธรรมชาติ การต่อสู้แย่งชิงตัวเมียของสัตว์เป็นหนึ่งในวิธีการที่ธรรมชาติ
เลือกใช้  “ตัวผู้ที่เก่งและ แข็งแรงที่สุด” จะเป็นผู้ที่มีโอกาสสืบต่อพันธุ์มากกว่าตัวผู้ที่
อ่อนแอ ทั้งนี้เพื่อการดำรงคงอยู่ของสิ่งมีชีวิตชนิดนั้นๆ  กรณีการชนกันของแมงคามตัวผู้ก็เช่นกัน
แทบไม่เคยพบว่ามันชนกันถึงบาดเจ็บและตาย ไม่เหมือนการชนไก่ หรือชนวัว  เนื่องจาก
การแพ้ชนะของแมงคาม คือตัวที่สู้ไม่ได้จะถอยหนีไปเอง “มันรู้จักแพ้”


จากนั้นเจ้าของแมงคาม มักจะปล่อยแมงคาม โดยเฉพาะตัวที่มีลักษณะดี แข็งแรง ซึ่งมักจะ
เป็นกว่างตัวตัวโปรดกลับคืนสู่ธรรมชาติในที่ที่เหมาะสม ให้มันมีโอกาสผสมพันธุ์และ
แพร่ขยายดำรงไว้ซึ่งเผ่าพันธุ์ที่ดีต่อไป

ปัจจุบันการปลูกสวนคาม เพื่อย้อมผ้า เหลือน้อยเต็มที มีเพียงบางพื้นที่ ที่อนุรักษ์ภูมิปัญญา
แบบเก่าไว้  
แมงคามจึงเหลือน้อย แต่แมงคาม ก็ปรับตัว กินพืชได้หลายชนิดเพื่อความอยู่รอด  แม้ว่าทางภาคอีสาน
การซนแมงคามจะมีให้เห็นน้อยนักแต่ทางภาคเหนือกลับ ยังมีให้เห็นได้ชม ถึงขนาดเป็น
“ บ่อน “ โดยถูกกฎหมาย  แมงคามตัวเก่งๆ ราคา เป็นหมื่น

วิถีแมงคาม เปลี่ยนไป วิถีสังคมก็เปลี่ยนแปลง แต่ วิถีแห่งการต่อสู้ของมันยังคงอยู่  เฉกเช่นมนุษย์ ผู้ยังคงดิ้นรนในกาลสมัย


ขอบคุณภาพ และ ข้อมูล ส่วนหนึ่ง จากอินเตอร์เน็ต ( กระผมลืม URL )

 
 
สาธุการบทความนี้ : 1024 ครั้ง
จากสมาชิก : 4 ครั้ง
จากขาจร : 1020 ครั้ง
 
 
  28 ก.ย. 2553 เวลา 16:41:10  
   ขึ้นบน ลงล่าง  
 
         

  โพสต์โดย   98) สารานุกรม แมงไม้ ใน อีสาน  
  ปิ่นลม    คห.ที่189) แมงขี้นาก      [ไปที่ความเห็นนี้ ในกระทู้นี้]  
  เซียน

ภูมิลำเนา : สกลนคร
เข้าร่วม : 16 มี.ค. 2553
รวมโพสต์ : 2213
ให้สาธุการ : 180
รับสาธุการ : 5440860
รวม: 5441040 สาธุการ

 


ชื่อพื้นเมือง    แมงขี้นาก

ชื่อสามัญ     Black dwarf honey bee
ชื่อวิทยาศาสตร์  Tetragonula laeviceps
ลำดับ            Hymenoptera  
วงศ์                APIDAE  
วงศ์ย่อย         Meliponinae

ตามคำเรียกร้องของท่านสมาชิก “ว้อนท์”  แมงขี้นาก เสียเหลือเกิน วันนี้
จัดให้ตามคำขอ  เนื่องจากแมงขี้นาก หาข้อมูลยากยิ่ง เพราะส่วนใหญ่
ค้นหาในอินเตอร์เน็ต  จะพบแต่สรรพคุณของแมงอันนี้  ว่ามันเจ้าชู้  ชอบเล่นหูเล่นตา
และสร้างอาการ “ ฟ้อนไปตามดิน” ( รำคลาน)  แก่ประชาชนทั่วไป
จึงนับได้ว่า เวบอีสานจุฬาเฮา เป็นแห่งเดียวที่รวบรวมข้อมูล “แมงขี้นาก” ไว้ครบถ้วนกระบวนยุทธ
หากท่านใด อ่านแล้ว “ ซ๊วด! ” หรือ ตาสวด ขึ้นมาทันใด ในข้อมูลแมงขี้นาก
ที่ลงในเวบอีสานจุฬา ฯหากจะก็อปปี้ ไปลงที่อื่น ก็ขอให้ อ้างอิงที่มาด้วยเด้อขะน้อย  หลูโตน บ่าวปิ่นลม ผู้เรียบเรียงแน

กล่าวทั่วไป
แมงขี้นาก เป็นแมลงเชื้อสายเดียวกับผึ้งประเภท Stingless bee หรือ ผึ้งไร้เหล็กใน   ในประเทศไทย
มีผึ้งสายพันธุ์นี้ จำนวน 29 ชนิด  ( จำพวกแมงน้อย  ,ขี้สูด  อ่มหมี เป็นต้น ) ภาคตะวันออก เรียกแมงนี้ว่า แมงอีโลม
แต่ในต่างประเทศ เรียกมันว่า “ ผึ้งแคระดำ” จัดมันเข้าในกลุ่มผึ้งดอกไม้
แมงขี้นาก ทำรังในโพรงไม้ หรือรอยแตกบนต้นไม้ รังที่ขนาดใหญ่ที่สุด มีขนาดเท่าผ่ามือ ยูไล เท่านั้น
แมงขี้นาก นั้นขึ้นชื่อว่า สร้างความรำคาญแก่ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม  เพราะชอบตอมไต่ ตาม รูหู  และตา
และส่งเสียง วิ้ง..วิ้ง  ในรูหู จนเกิดความรำคราญ หากเรา “ปัดหรือตบฆ่ามัน  ตัวที่ตาย จะปล่อย ฟีโรโมน ชนิดพิเศษ  
ชนิดกลิ่นเข้มข้น ทำให้ตัวอื่นๆ ที่อยู่ใน อาณาบริเวณ เข้าร่วม “ประท้วง” ทวงหาสิทธิ แมงขี้นาก ตอมไต่ ทวีคูณ
แถมกลิ่นฉุน หรือ ภาษาอีสาน เรียกว่า “ ขิว”  จะติดตามท่านไปทุกย่างก้าว


ในประเทศ แถบแอพฟริกา ก็มี แมงขี้นาก เช่นกัน แต่แถวนั้น นักวิทยาศาสตร์เรียกว่า “ ผึ้งดำพื้นเมือง”
ยังไม่รับการจำแนก วงศ์  มีการถ่ายรูปมันมาลงใน วงการวิทยาศาสตร์ แต่ ไม่มีรายละเอียดมากนัก



สาเหตุที่ แมงขี้นาก ชอบตอมหูคน
เพราะ ขี้หู คือ ปัจจัยสำคัญในการอยู่รอด ของรัง ซึ่ง แมงขี้นาก สามารถนำเอาขี้หู และ สารประกอบแคลเซี่ยม
ในเหงื่อไคลของคนเรา ไปผลิต รังของมัน
อธิบายว่า ขี้หูถูกสร้างออกมาจากต่อมสร้างขี้หู ซึ่งอยู่ในช่องหูชั้นนอก มีคุณสมบัติเป็นกรดอ่อน ๆ ประโยชน์ของขี้หู คือ ช่วยปกป้องผิวหนังของช่องหูชั้นนอก ให้ความชุ่มชื้น ช่วยต่อต้านเชื้อโรค ป้องกันการติดเชื้อจากแบคทีเรีย และช่วยป้องกันไม่ให้สิ่งแปลกปลอมเข้าไปในช่องหู
แมงขี้นาก ก็ใช้ประโยชน์จาก คุณสมบัตินี้ หาตอมหู ตอมตาคนเรา หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่น
เพื่อนำไป ฉาบทาปากโพรงรัง และรังด้านใน เพื่อป้องกันเชื้อโรค และรักษาความชุ่มชื่นภายในรัง  และยังเป็น
ฟีโรโมนสังเคราะห์ ป้องกัน  แมลงจำพวกมดต่าง ๆ เข้าบุกรุกโพรงของมันนั่นเอง
ฮ้วย...ฮังแมงขี้นาก มันเอาขี้หูสัตว์ไปเฮ็ด ซั่นตี้...ลังคนคิดในใจ  จริงๆแล้ว มันเอาไปผสมกับ เกสรดอกไม้ และ
สารประกอบอื่น ๆ อีกหลายอย่างครับ บ่มีแต่ขี้หู อย่างเดียว ขะน้อย


ที่มาของชื่อ “แมงขี้นาก”


ภาพวาดประกอบ วรรณกรรมเรื่อง  “ สังข์สินไซ “ ของ ด.ญ.สุปรียา บุญตั้ง  โรงเรียนวัดบางฝ้าย

สืบเนื่องมาจาก วรรณกรรม พี่น้องชาว “ลาว”  เรื่อง “สังข์สินไซ”  ตอนสู้กับ งูซวง”
ลูกน้อง ยักษ์กุมภันฑ์   ที่ทรงฤทธิ์กินสัตว์น้อยใหญ่เป็นอาหาร เป็นพญาเมืองมาร คุมฮอดบ่อบาดาลพู้น  
( ไม่เกี่ยวกับ กรมทรัพยากรธรณี เด้อ )
งูซวง นั้นเป็น “นาก”   หรือ นาค บ่สมประกอบ คือมีเชื้อสายยักษ์ สีโห เอาเท้าเหยียบหางไว้

สินไซ เอาพระขรรค์ ฟันฉับ   !
ส่วนสีโห กระทืบซ้ำ จน “นากา”  นาคา”  ขี้หยอด แตกเป็นฝอย   กลายเป็นแมงไม้ หลบหลีกสายตาหอยสังข์
กลายมาเป็น “แมงขี้นาก”  ที่คอยรบกวนมนุษย์ อยู่ร่ำไป   นี่ขนาด”ขี้” ของยักษ์ ยังมีพิษภัยขนาดนี้ เนาะพี่น้อง
นี่ก็ว่ากันไปตาม นิทานปรัมปรา  นี่หละครับที่มาของชื่อ “ แมงขี้นาก”




ลักษณะทางกายภาพของ แมงขี้นาก
เป็นแมลงในตระกูลผึ้ง แต่เล็กมาก มีลำตัวยาวเพียง 2 มม. มีสีดำ  เป็นแมลงที่ไม่มีเหล็กใน ต่อยใครไม่ได้
ใช้กลยุทธในการ”ตอม” ไต่ และปล่อยสารเคมี ที่มีกลิ่นฉุน ก่อให้เกิดการรำคาญ ทดแทนการที่ไม่มีเหล็กใน
ลักษณะของแมลงชนิดนี้แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ
1.ส่วนหัว มีตารวม และมีตาเดี่ยว  ตารวมมีลักษณะคล้ายรูปหกเลี่ยม เชื่อมต่อกันเป็นแผง ทำให้มองเห็นรอบทิศ
    ตาเดี่ยวเป็น จุดเล็ก ๆ  2 จุด อยู่ระหว่าง ตารวม  แมงขี้นาก ใช้ตาเดี่ยวนี้ในการมองเห็นสี
   หนวด ใช้ในการสัมผัส บรรยากาศ ความชื้น และไวต่อสารเคมีใน บรรยากาศ เป็นอย่างมาก
2.ส่วนอก มีปล้องจำนวน 4 ปล้อง
3.ส่วนท้องมีลำตัว 6 ปล้อง ด้านข้างมีรูสำหรับหายใจ แมงขี้นาก ใช้ประโยชน์จากรูด้านข้างท้องเหล่านี้
ในการสูดอากาศเข้าไปซึ่งแต่ละรูจะเชื่อมกับถุงลมภายในเพื่อพยุงตัว ช่วยในการบิน
นอกจากนั้น บริเวณท้องยังบรรจุ สารเคมีฟีโรโมน กลิ่นฉุน ซึ่งในผึ้งประเภทอื่นแทบจะไม่พบเลย



วงจรชีวิต
ปกติจะมีวงจรชีวิต 1-2 ปี ผสมพันธุ์ในช่วงเดือน เมษายน จากนั้นมันจะเป็นผึ้งเร่ร่อน
พาฝูงตระเวนบินหาทำเลเหมาะสม


ภาพแมงขี้นาก ออกหากิน ในระหว่าง เป็นแมลงพเนจร  หาที่ทำรัง
ตัวก้นใหญ่ ๆ ท้ายเปๆ นั่นคือนางพญา


การนอนในขณะที่ยังไม่พบทำเลที่เหมาะ อาจเกาะกลุ่มกันหลบใต้พุ่มไม้ใบหนา
เมื่อพบโพรงที่เหมาะสม จะเข้าไปสร้างรัง กลุ่มของ แมงขี้นากเป็นผึ้งกลุ่มเล็ก



มีขนาดฝูงไม่เกิน 1000 ตัว
แต่เมื่อพบโพรงที่สร้างรังแล้ว อาจเพิ่มจำนวนถึง 2000 ตัว



วางไข่ได้ประมาณวันละ 100 ฟอง สามารถวางไข่ทุกวัน จนถึงเดือน พ.ย.ของทุกปี
ระยะฟักตัว จากไข่เป็นตัวอ่อน 7 วัน เมื่อมีจำนวนมาก มันจะแยกรัง
อาหารของมัน คือ เกสรดอกไม้ น้ำหวาน  ขี้หู ขี้ตา เหงื่อไคล ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม  



อย่างไรก็ตาม ยังมีการศึกษาเกี่ยวกับ แมงขี้นากน้อยมาก เพราะมีประโยชน์กับมนุษย์น้อย
รังขนาดเล็ก น้ำหวานน้อย จึงไม่น่าสนใจ ซึ่งต่างจาก ผึ้งสายพันธุ์เดียวกัน เช่น ผึ้งชันมะโรง ขี้สูด

ในประเทศไทย มีการศึกษาอย่างกว้าง ขวางเพื่อการเกษตร  


ความเกี่ยวพันธ์กับวิถีชิวิตอีสาน
แมงขี้นาก เป็น “ไอดอล” หรือสัญลักษณ์แห่ง “ความหนหวย” โดยเฉพาะในฤดูแล้ง
  เมื่อชาวอีสานดุ่มเดินตามท้องนา ป่าโคก เพื่อหาอาหารหรือทำกิจกรรมกลางแจ้ง  มักจะโดนทายาทอสูร
ชนิดนี้ตอมหูตอมตา  พอฆ่าไปตัวหนึ่ง กลับมาอีก 3 เท่าทวี   ยิ่งตอนที่ต้องใช้สมาธิ เช่นเล็งหนังสติ๊ก
หมายมั่นใส่ กะปอมก่า   มักจะได้ยินเสียง วิ๊ง...วิ้ง..ตามรูหู

หาก “หันใจ” แรง ก็จะสูดเอาแมงขี้นาก ”เข้าดัง” ไปด้วย.. จนต้องสบถก่นด่า


ขอบคุณเจ้าของภาพ จาก อินเตอร์เน็ตครับ

พอใช้ท่า ฝ่ามือ ยูไล จัดการ  ก็สะใจอยู่สักพัก ไม่เกิน 1 นาที มันก็ยกพวกมาประท้วงเกาะติดตามหน้าตา
จนต้องรีบหนีแจ้นไป “ โตนห้วย”  เพื่อล้างกลิ่นฉุนติดตามตัว
สำหรับพ่อใหญ่สี  เลามีเคล็ดลับ สูตรดั้งเดิม ออริจินอล  คือ เอาผักอีตู่ ”ฮะ”ตามกะแต้หู เพื่อไล่แมงขี้นาก
สำหรับ อ้ายต้องแล่ง ก็มีสูตรเด็ดในการ ต่อต้าน แมงขี้นาก  โดยการ “เอาตมโอบกกหูไว้”

ประการหนึ่ง แมงขี้นาก หมายถึง พวกก่อกวน พวก อึดเวียก  มือไม่พายเอาเท้าลาน้ำ
สร้างความเดือดร้อนรำคาญให้กับคนอื่น   ภาษาอีสานเรียกว่า “ พวกบ่เป็นตาซิแตก”
บุคคลชนิดนี้ เรียกว่า “แมงขี้นาก” ได้เช่นกัน

ข้อมูลจากภาพ และข้อมูลทางวิชาการจาก
http://flickrhivemind.net   www.padil.gov.au  www.lebahkelulut.com

 
 
สาธุการบทความนี้ : 1007 ครั้ง
จากสมาชิก : 3 ครั้ง
จากขาจร : 1004 ครั้ง
 
 
  27 มิ.ย. 2555 เวลา 08:45:26  
   ขึ้นบน ลงล่าง  
 
         

  โพสต์โดย   98) สารานุกรม แมงไม้ ใน อีสาน  
  ปิ่นลม    คห.ที่239) แมงง่วง (นักร้องอัสดง)      [ไปที่ความเห็นนี้ ในกระทู้นี้]  
  เซียน

ภูมิลำเนา : สกลนคร
เข้าร่วม : 16 มี.ค. 2553
รวมโพสต์ : 2213
ให้สาธุการ : 180
รับสาธุการ : 5440860
รวม: 5441040 สาธุการ

 

เครดิตตามเจ้าของภาพ ที่ปรากฏ ครับ

ชื่อพื้นเมือง  แมงง่วง  แมงน้ำฝน
ชื่อภาษาไทย      ตั๊กแตนใบโศก  ตั๊กแตนหมู  ตั๊กแตนใบไม้เทียมยักษ์
ชื่อสามัญ  giant leaf katydid
ชื่อวิทยาศาสตร์  Pseudophyllus titan
Class    Insecta
Oder   Orthoptera
family  Tettigonioidea

หากเราเป็นลูกอีสาน หรือชอบศึกษาศิลปวัฒนธรรม ต่างๆ ของชาวอีสาน  เราจะได้ยิน ได้ฟัง
กวีเก่า ๆ หรือ หมอลำกลอน หมอลำหมู่  เกี่ยวกับแมลงชนิดนี้อยู่มากโข   บางคนเคยได้ยิน
แต่ไม่เคยเห็นตัวตนของมัน เลย   มื้อนี้วันนี้ บ่าวปิ่นลม จึงขอเสนอ “แมงง่วง”  ให้ทุกท่านได้
อิ่มเอมกับ แมลงแห่งอีสานชนิดหาได้ชมยากอีกชนิดหนึ่ง



“แมงง่วง”  นักวิทยาศาสตร์ จัดเข้าในกลุ่ม แมลงในวงศ์ ตั๊กแตนหนวดยาว
เป็นตั๊กแตนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และเป็นหนึ่งในตั๊กแตนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกด้วย
นั่นคือ มันมีขนาดลำตัว ยาวได้ถึง 15 ซม. วงปีกกว้าง 20 ซม.
เพศผู้สามารถทำเสียงได้ดังโหยหวนมากในเวลากลางคืน หรือ พลบค่ำ
โดยมีอวัยวะในการทำเสียง ที่โคนปีกคู่หน้าซึ่งใช้ในการเสียดสีกันจนเกิดเป็น เสียงดัง


เครดิตภาพ จาก www.malaeng.com

รูปร่างของปีกคล้ายใบไม้เขียว เพื่อการพรางตาศัตรู  ขาหลังมีขนาดยาวและมีปลายหนาม
แมงอันนี้ นี้มีนิสัยการกินอาหารในเวลากลางคืน ส่วนในเวลากลางวันมักจะเกาะนิ่งๆ แทบไม่เคลื่อนที่
และไม่กินอาหารเลย   อาหารของมันคือ ใบอ่อน และเปลือกอ่อนของพืช ในตระกูล ต้นไทร
หรือ “หมากไฮ” ในภาษาอีสาน  พบว่าที่มันโปรดปรานมากที่สุด คือ ต้นมะเดื่อ
จึงไม่แปลกที่ ปัจจุบันหาเบิ่ง แมงอันนี้ได้ยากยิ่ง เพราะ ต้นบักเดื่อ หรือมะเดื่อตามธรรมชาติ
แทบจะกู้เงิน IMF  มาจ้างเบิ่ง

วงจรชีวิต
แมงง่วง ผสมพันธุ์ ช่วงเดือน มิ.ย.  คือ ฤดุฝน  ตัวผู้จะส่งเสียงร้องโหยหวนจากยอดไม้
ในเวลาพลบค่ำ หรือตอนหัวค่ำ ช่วงเวลาตั้งแต่ 1800 – 2100 น. ตัวเมียจะบินตามหาตัวผู้
และจะทำการผสมพันธุ์กัน  จากนั้นจะวางไข่ตามรากไม้  และในดินใกล้แหล่งอาหาร
ไข่ของมันสามารถ ทนทานอยู่ได้ ถึง 3 ปี  เพื่อรอสภาวะเหมาะสม เช่น ฝนฟ้าและ ภูมิอากาศ
อุณหภูมิ ที่เหมาะแก่การฟักออกมาเป็นตัว  ระยะเวลาจากตัวอ่อน ลอกคาบ 3 ครั้ง
เพื่อเป็นตัวโตเต็มวัย ใช้เวลา 3 เดือน


ภาพจากอินเตอร์เน็ต

ตัวอ่อนระยะแรก ปีกยังไม่งอก มันมีหนวดยาว และลู่ไปด้านหน้าคู่กัน มองคล้ายๆว่า
มันมี “งวง”  ที่คือที่มาของชื่อมัน แมงงวง  และ เป็น “แมงง่วง “ในที่สุด
เมื่อลอกคราบจะเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก เมื่อโตเต็มวัย จะหากินบนยอดไม้
หรือตามต้นไม้สูง ไม่ลงมาเหยียบพื้นอีกเลย


ภาพเปรียบเทียบ ตัวอ่อน และ ตัวเต็มวัย



ขอบคุณเจ้าของภาพครับ

ความเกี่ยวพันกับวิถีอีสาน

เมื่อฤดูทำนา ชาวนาเริ่ม “ดำนา”  ฝนเริ่มตก ตอนตะเว็นพลบค่ำ เขียดจะนา
ฮ้องอ๊อบแอ๊บ  ตามราวป่า และต้นไม้สูง แมงง่วง ฮ้องเสียงดัง ก้องกังวาน
คืนนี้ฝนตกแน่นอน พ่อใหญ่สี บอกหลานน้อย


พวกพุสาวซ่ำน้อย ย้านเสียงแมงง่วง บ่กล้าไปตักน้ำส่าง  ต้องหาหมู่ไปนำ
แม่บอกลูกน้อย ว่าแมงง่วงมันฮ้องหากินตับเด็กน้อยขี้ดื้อ  
หากบ่กินข้าว  แมงง่วงสิมาเอาไป

แมงง่วง บ่งบอกถึงระบบนิเวศน์ที่เหมาะสม แก่การดำรงชีพของมนุษย์เกษตรกรรม
ชาวอีสานโบราณใช้ทำนายการตกของฝนในฤดูกาล  นั่นแสดงว่าชาวอีสาน
แต่กาลก่อน เป็นยอดนักธรรมชาติวิทยา สังเกตและสนใจธรรมชาติ
ช่วยกลมกล่อมจิตใจให้ ละมุนละไม ซื่อตรง และโอบอ้อม แบ่งปัน
“นั่นคือของขวัญล้ำค่า ที่บรรพบุรุษเฮาทิ้งไว้ให้ลูกหลานสืบต่อ”

จึงอยากให้หน่ออ่อน ต้นกล้า ของชาวอีสานรุ่นใหม่ ได้สนใจธรรมชาติท้องถิ่น
สนใจวัฒนธรรมตนเอง  สืบต่อสิ่งดีงาม นำพาสังคมสงบสุข


  ภาพจากอินเตอร์เน็ต

การขาดหายไปของพันธุ์ไม้ท้องถิ่น สัตว์ท้องถิ่น  ย่อมกระเทือนต่อบริบทของมนุษย์
ที่อาศัย ณ ถิ่นนั้น  เมื่อแมลง และพืชพันธุ์ถิ่นหายไป  ความเป็นมนุษย์ ในถิ่นนั้นย่อมลดลง
คือที่มาของ อาชญากรรม  คดโกง รังแก ข่มเหง ภัยธรรมชาติ และความถืออัตตาสูงลิบ
หากเราไม่บริหารการดำรงอยู่ของธรรมชาติ ให้สมดุลกับจำนวนประชากร
ยากยิ่งที่ประเทศจะก้าวข้ามไปเป็น เมือง ศิวิไล
เป็นได้แค่เพียง เหยื่อ ของระบบกลไกโลกิยะ ที่พร้อมหมุนไปสู่ความพินาศ ตามไตรลักษณ์


ขอบคุณเจ้าของภาพครับ

 
 
สาธุการบทความนี้ : 1001 ครั้ง
จากสมาชิก : 2 ครั้ง
จากขาจร : 999 ครั้ง
 
 
  31 ส.ค. 2555 เวลา 16:35:02  
   ขึ้นบน ลงล่าง  
 
         

  โพสต์โดย   98) สารานุกรม แมงไม้ ใน อีสาน  
  ปิ่นลม    คห.ที่138) แมงผักหม      [ไปที่ความเห็นนี้ ในกระทู้นี้]  
  เซียน

ภูมิลำเนา : สกลนคร
เข้าร่วม : 16 มี.ค. 2553
รวมโพสต์ : 2213
ให้สาธุการ : 180
รับสาธุการ : 5440860
รวม: 5441040 สาธุการ

 


ชื่อพื้นบ้าน    แมงผักหม ,แมงผักโหม (ทรชนปล้นใบไม้)
ชื่ออื่นๆ                ด้วงน้ำมันแถบขาว
ชื่อวิทยาศาสตร์      Mylabris phalerata Pall.
จำพวก(Species):    Epicauta waterhousei Haag-Rutenberg
วงศ์   :    Meloidae
อันดับ:    Anhui

ลักษณะทางกายภาพ


แมงอันนี้ มีหัวสีส้มแดง ส่วนอื่นของลำตัวมีสีเทาดำ ปีกมีแถบสีขาวปนเทา
พาดตามความยาวสองข้างของปีกและที่เส้นกลางปีก
เป็นตระกูลเดียวด้วง มีขนาดยาว 18-24 มิลลิเมตร
เพศเมียมีขนาดลำตัวใหญ่กว่า ยาวกว่าเพศผู้
ตรงส่วนท้าย มีต่อมเก็บสารเคมี สามารถพ่น สารพิษ ได้ ( เยี่ยวใส่ได้ )
เรียกว่าสารแคนทาริดิน (Cantharidin)
นับว่าเป็นกลไก ในการป้องกันตัวของแมงผักหม

ถิ่นอาศัย

พบทั่วไป ตามเดิ่นดอน เดิ่นหน้าบ้าน เดิ่นหน้าเถียงนา หรือ แม้กระทั่งหัวนา
อาศัยอยู่กิน ตาม ต้นผักหม ต้นมะเขือบ้า และมะเขือเคีย( มะเขือเทศ )
และผักขม เป็นต้น  มักอยู่กันเป็นจุ้ม(กลุ่ม) ไต่อยู่อะญะ เต็มต้นผักหม
กัดกินต้นผักหมจนเหลือแต่ก้าน


ภาพผักหม อาหารสุดโปรดของมัน


มันเป็นแมลงมีพิษร้าย

แมลงชนิดนี้หากโดนรบกวน จะพ่นสาร แคนทาริดิน ซึ่งเป็นสารพิษ
หากโดนผิวหนังจะทำให้เป็นผื่นพองปวดแสบปวดร้อน ถ้าเข้าตาจะทำให้ตาอักเสบ
ที่สำคัญคือกินแล้วถึงตายได้ เพราะ 1 ตัวมีสารแคนทาริดินประมาณ 6 มิลลิกรัม
หากร่างกายได้รับสารแคนทาริดินประมาณ 1-2 ชั่วโมง จะมีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง
อาเจียนมีเลือดปนออกมา อุจจาระและปัสสาวะปนเลือด ความดันต่ำ หมดสติ
หากเกินกว่า 10 มิลลิกรัมขึ้นไปจะทำให้เป็นอันตรายถึงชีวิต
ดังนั้นถ้ารับประทานเพียง 2-3 ตัวก็ทำให้เสียชีวิตได้




ภาพแมงผักหม กำลังเล่น งัวเติ่งต่าง

ตัวอย่างอันตรายจากแมงอันนี้  สมัยเป็นเด็กน้อยเลี้ยงควาย กับบัก เคน ลูกทิดเดช
(ออกเสียงคล้ายๆ เคน ธีรเดช ) เคยจับมาเล่น เห็นมันสีขิวๆ ซั้นดอก
ก็เลยถืกมันเยี่ยวใส่  แสบฮ้อนปานไฟไหม้  ฟ้าวแล่นไปหนองบวกควาย
เอาน้ำล้างออก  เป็นแผลพองไปหลายมื้อ เป็นแป้ว พะนะ




จึงขอเตือนเด็กน้อยทั้งหลาย หากเห็นแมลงชนิดนี้ให้ฟ้าวแล่นหันๆ หนีโลด
หากผู้สาวเห็น บ่อยาก ค่าดองตก กะให้เว้นไกลๆ    

ช่วงที่สามารถพบเห็น คือ ช่วงเดือน พ.ค. - มิ.ย. ( ยามผักหมกำลังป่ง )



วงจรชีวิต

แมงผักหม หรือ ด้วงน้ำมัน(ภาษากลาง)  เป็นแมลงที่มีอายุสั้น จึงมีวงจรชีวิตแบบไม่เต็มขั้น
เหมือนแมลงทั่วไป ซึ่งมี4 ชั้น (Complete Metamorphosis)
ได้แก่  1.ไข่
         2.ตัวอ่อน
         3.ดักแด้
         4.ตัวเต็มวัย

ส่วนแมลงชนิดนี้ มีแค่ 3 ขั้น  ได้แก่  1.ไข่ 2. ตัวอ่อน 3 .ตัวเต็มวัย
เรียกว่าการเจริญเติบโตแบบ (Gradual Metamorphosis)

ไข่จะฟักตัวเมื่อมีอถณหภูมิและความชื่นเหมาะสม ซึ่งเป็นห้วงเดือน ปลาย เม.ย. ถึง พ.ค.
จากนั้นก็ใช้เวลาแค่ 7 วัน ก็แปลงร่างมาเป็น แมงผักหม ตัวเต็มวัย
เมื่อเป็นตัวเต็มวัย จะมีหน้าที่อยู่ 2 อย่าง คือ กิน กับสืบพันธุ์ เท่านั้น
ช่วงโตเต็มวัย มีอายุเพียง 30 วัน

ศัตรูตามธรรมชาติ
เท่าที่เห็นด้วยสายตาตัวเอง มีแต่ ขี้กะตู่ หรือ คันคาก และ ขี้โกะ หรือ จิ้งเหลน
ที่สามารถกินแมงอันนี้ได้ นับว่าสัตว์ทั้ง 2 มีภูมิต้านทานพิษของแมลงนี้ น่าอัศจรรย์




ขอบคุณทุกภาพจาก maleang.com และ เวบไซต์อื่น ๆ   ขอบคุณครับ

 
 
สาธุการบทความนี้ : 989 ครั้ง
จากสมาชิก : 2 ครั้ง
จากขาจร : 987 ครั้ง
 
 
  12 พ.ค. 2554 เวลา 13:15:27  
   ขึ้นบน ลงล่าง  
 
         

  โพสต์โดย   109) อาหาร อิสาน วิเศษ ไม่แพ้ชาติใด  
  ปิ่นลม    คห.ที่23) ตำบักหุ่ง สูตรโบราณ      [ไปที่ความเห็นนี้ ในกระทู้นี้]  
  เซียน

ภูมิลำเนา : สกลนคร
เข้าร่วม : 16 มี.ค. 2553
รวมโพสต์ : 2213
ให้สาธุการ : 180
รับสาธุการ : 5440860
รวม: 5441040 สาธุการ

 

ชื่ออังกฤษ    Papaya (เครื่องหมายซิกม่า พิมบ่ได่ ) X  ( พาพาย่า ซิกม่า เอ็ก )
ชื่อภาษาไทย   ส้มตำปัจเจก
ชื่อท้องถิ่น ตำบักหุ่ง สูตรโบราณ

ท่านเข้าใจถูกต้องแล้วครับ  ตำบักหุ่ง  ส้มตำ หรือ ตำส้ม ที่เราคุ้นเคยดีนี่เอง  บางคนกินแทบทุกวัน
ใครบ้างอยากรู้ที่มา  ยกจั๊กแร้ ขึ้น     เห็นในเว็บ โพสกันจัง บางเวป บรรยายถึง วิธีทำโดยเบ็ดเสร็จ
หากท่านได้รู้ที่มา และรายละเอียด ของอาหารอีสานประเภทนี้แล้ว จะรู้ว่า  “ท่านเป็นคนไม่เอาผ้าห่ม”
แล้วมันเกี่ยวอะไรกันกับผ้าห่ม  หากท่านไม่เอาผ้าห่ม ณ ห้วง เหมันต์ หละก็ บอกคำเดียว ว่า “ หนาว”

ส่วนประกอบที่จำเป็นในการทำอาหารเมนูนี้
1 มะละกอ ( บักหุ่ง)  จากต้นเพศเมีย
2  บักเอิ่ก   ( มะอึก)
3  บักเผ็ดหลอ
4  น้ำต้มปลาแดก เคี่ยวกับ น้ำอ้อย  และ หญ้า คันนาบิด
5  ต่อนปลาแดก พอเหมาะ (เอาไว้สีก)
6 กระเทียม
7 บักกอก ( มะกอกป่า)
8  กะปูน้อย  ( ลูกปู หน้าปักดำนา )
9 ผักก้านจอง  ( ผักพาย) หรือ ผัก โหบเหบ ก็ได้  
10 ผักกะถิน  4-5 ฝัก




มะละกอ เป็นพืชในเขตร้อนของทวีปอเมริกา  ว่ากันว่า เข้ามาในประเทศไทยสมัยกรุงศรีอยุธยา
น่าจะเป็นสมัย สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม( สมัยอยุธยา)  ประมาณปี พ.ศ. 2163-2171  ที่นำเข้ามาประเทศไทย  คือ ชาว ฮอลลันดา  ครับผม




เดิมที ชาวฮอลลันดา เรียกเชื่อมันว่า “คารีก้า”   พูดเร็ว ๆ สั้นๆ แบบคนรำคาญ เพราะมีคนมาถามชื่อมันบ่อย
จะได้สำเนียงว่า “ ค่อล้อคอ”   พี่ไทยสมัยนั้นได้ยิน  เลยทึกทักเอา ว่า “ กอก้อกอ “ หละวะ  กลายเป็น มะละกอ ในปัจจุบัน

ต่อมาเมื่อชาวฝรั่งเศส หรือ “ ฟรั้งค์”   เข้ามาเมืองไทยเพื่อสัมพันธ์ทางการทูต   ซึ่งถือว่าสมัยนั้น ชาวยุโรป
ได้เข้ามา เดินกันเกลื่อนเมือง เป็นสมัยแรก  คนไทยไม่เคยเห็น ฝรั่งหัวแดง จึงถามว่า เขามาจากไหนกัน
  ได้คำตอบว่า มาจากประเทศ “ ฟรั้งค์ “    อ๋อ  ประเทศ “ฝาหรั่ง”   นี่เอง  จากนั้นมาเห็นพวกหัวแดง เรียก ฝรั่ง  หมดเลย
นี่หละ ที่มาของคำว่า “ ฝรั่ง”  ส่วนพวกวัยรุ่นอีสาน  ผู้บ่าวแนว  ที่ย้อมผมเป็นสีเหลืองสีแดง  เขาเรียก “พวกมอดลงหัว”

ว่ากันว่า ต่อมา ชาวอังกฤษ ได้เข้ามาประเทศไทยบ้าง นายอ่ำ  คนในรั้วในวัง   ได้พาคณะทูต ออกเที่ยวชมตลาด คณะทูตเพลิดเพลิน
กับบรรยากาศ บังเอิญหันไปพบ  กระจาดผลมังคุด ที่แม่ค้าวางขายอยู่ จึงถามว่า
“ว๊อด.! ดีส..ส...”  ชาวอังกฤษทำหน้าฉงวน
นายอ่ำ กลัวฝรั่ง ฟังไม่ทัน จึงพูดชื่อมังคุด อย่างช้า ๆ  ยาน ๆ ว่า
“ มา..ง ...คุด!”
ฝรั่งทำหน้าประหลาดใจ พร้อม ทำปากออกเสียงตาม  
“ มา..ง...โค่..”
นายอ่ำ พยามสอนให้ออกเสียง มังคุด ตั้งนาน ฝรั่งก็ยังออกเสียง
“มาง..โค่”  เช่นเดิม   ไม่”คุด” สักที
ด้วยความรำคาญ  จึง สบถไปว่า
“ มางโค่..ส้นตีน นิ๊ “
หรั่งเลย.. “ซ้วด.! “  รู้ชัดทันทีว่า ไอ้ มังคุด นี่ชื่อ
“ มังโค่ สตีน”   นับตั้งแตบัดดล    โอ้  Mangos teen


(นี่ไงครับ  มางโค่..ส้นตีน )
.............................................................

ในขณะที่ชมตลาด  ชาวอังกฤษ เห็น มะละกอสุก  เหลืองอร่าม  จึงสนใจเป็นพิเศษ  ไม่เคยเห็น  เพ่งพิจารณา
ใจจดจ่อ อยู่กับ มะละกอ  ไม่ได้มองรอบๆ ข้างเลย จังหวะนั้น ยายทอง  กำลังทะเลาะกับสามี ที่เอาแต่ร่ำสุรา
สัญชาตญาณแม่ค้า พุ่งถึงขีดสุด   จับสากกะเบือขึ้นมา หวังขว้างใส่หัวสามี แต่บังเอิญ  สามีของยายทอง
ยืนใกล้กับ นายฝรั่งพอดี    นายอ่ำกลัว สากกะเบือ โดนหัว แขกบ้านแขกเมือง   จึงร้องห้ามเสียงหลง

“ ป้า.ป้า..อย่า ! “
นายฝรั่ง ผู้เพ่งพิจ มะละกอ   จึงจดลงสมุดบันทึก ยึก ๆ  ว่า ไอ้ลูกนี่ ชื่อ
“ปา ปา ย่า “
นี่เอง ที่มาของ ชื่อ Papaya  



มะละกอ เป็นพืชที่มีหลายเพศ (polygamous) บางต้นเป็นเพศผู้ มีเฉพาะดอกตัวผู้ซึ่งไม่มีเกสรตัวเมีย บางต้นเป็นเพศเมีย
มีดอกเฉพาะดอกตัวเมีย และบางต้นเป็นกระเทย คือมีดอกที่เป็นดอกสมบูรณ์เพศ (perfect flower)เพราะสามารถ
ผสมตนเอง เป็นลูกได้ ไม่ต้องพึ่งอีหยัง  พันธุ์ที่นิยมนำมาปลูกกันมากคือพันธุ์ที่มีต้นแบบกระเทย    

สูตรสำเร็จการปลูก บักหุ่ง  คือ หากเราปลูกแล้ว หากออกดอกเป็นดอกตัวผู้ หรือ "บักหุ่งผู่" (ดอกเล็กๆ เป็นพวง )
ให้หาผ้าถุง หรือ "สิ่น"มานุ่งให้มัน เพื่อเป็นการแก้เคล็ด  พ่อใหญ่เลาว่า
ส่วนต้นได๋ บ่ออกดอกหยังเลย  ออกแต่ใบ  วิธีแก้ก็คือ " ตีนทำ" อย่างเดียว โพดมันบ่คูน


สายพันธุ์บักหุ่ง ในบ้านเฮา มีให้เลือกปลูก หลายเติบ ที่โดดเด่นเห็นจะได้แก่ พันธุ์แขกดำ  เช่น แขกดำท่าพระ
แขกดำศรีสะเกษ    พันธุ์ “แขกดอย “  อันนี้ก็เยอะเหมือนกัน ส่วนมากจะอยู่เฉยๆ   คอยกินอย่างเดียว
ปัจจุบัน สายพันธุ์ใหม่ มาแรง ได้รับความนิยมอย่างมาก ได้แก่ บักหุ่งฮอลแลนด์ ส่วนมากปลูกไว้ขายตอนมันสุก
ชาวฮอลแลนด์  หรือ ฮอลันดา รู้จัก มะละกอมาก่อนเราครับ แต่เขา กินตอนมันสุก อย่างเดียว




ทำไมถึงเรียก “บักหุ่ง”
บักหุ่งเข้ามาอีสาน ครั้งแรก สมัย ต้นรัชกาลที่  1   โดยปลูกที่     "เมืองอุบลราชธานีศรีวนาไล ประเทศราช”
นั่นคือจังหวัดอุบล ฯ ของภาคอีสานเรานี่เอง
โดยท่านเจ้าเมือง  “พระยาคำผง” นำมาเผยแพร่ปลูกไว้รับประทานผลสุก    ซึ่งในสมัยนั้น  ปลูกกันเฉพาะ
เจ้าขุนมูลนาย เพราะถือว่า เป็นผลไม้ต่างถิ่น  เป็นอาหารในรั้วในวัง และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ที่ได้รับมาจากกรุงเทพ
สมัยนั้น เรียก บักหุ่งว่า “กล้วยกรุงเทพ”    หรือ เรียกสั้นๆ ว่า “กล้วยเทพ”  
ทางภาคเหนือ เรียกว่า "กล้วยเต๊บ"(กล้วยเทพ) มาจนถึงปัจจุบัน

ต่อมาท่านเจ้าเมืองหัวเมืองต่างๆ ในภาคอีสานได้นำพันธุ์ บักหุ่ง ไปปลูกตามพื้นที่ต่างๆ  ใครที่ปลูกเอาผลสุกไปถวาย หรือไปให้เจ้าเมืองท่าน รับประทาน ก็จะได้รางวัล
เจริญรุ่งเรืองกันถ้วนหน้า    ดังนั้น ชาวอีสานจึงเรียก มะละกอ ว่า “ บักหุ่ง “  หมายถึง “ควมฮุ่งเฮือง” หรือ รุ่งเรืองนั่นเอง


มะอึก : หรือ  บัก เอิก
เป็นมะเขือป่าที่มีมีลักษณะพิเศษอันเป็นเอกลักษณ์ เอกบุรุษ  ปาน “ ซ่งน้อย” ยี่ห้อ “รอสโซ่”  
ทั้งลำต้น กิ่งก้าน ใบ และผล  ตั้งแต่อ่อนจนสุก จะปกคลุมด้วยขนอ่อนสีขาว  หรือ คล้ายๆ  “ขนบั่ว” ของเฮา
ถิ่นกำเนิดดั้งเดิมของมะอึกอยู่แถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีประเทศไทยอยู่ด้วยนั่นเอง มะอึกจึงนับเป็นผักพื้นบ้านดั้งเดิมแท้จริงอีกชนิดหนึ่ง  ที่มีในอีสานมาตั้งแต่สมัยโบราณ
มะอึกมีชื่อเรียกต่างกันตามภาค คือ มะอึก(กลาง) มะเขือปู่ มะปู่(เหนือ) บักเอิก(อีสาน) และอึก(ใต้)
ที่กระแดะ หน่อย จะเรียก “มะเขือขน”  

ประโยชน์ด้านอื่นๆของมะอึก

ผล : รสเปรี้ยว แก้เสมหะ แก้ไอ แก้น้ำลายเหนียว  ( ขี้กะเยือ)  แก้ไข้สันนิบาต  (เอ็นจั๋ง)
ราก : รสเปรี้ยว เย็นน้อย แก้ดีฝ่อ ดีสะเดิด (นอนสะดุ้งผวา หลับๆ ตื่นๆ เพราะน้ำดี ) ดับพิษร้อนใน



ภาพบักเอิก  กำลังาม


ภาพบักเอิก (มะอีก)  ตอนกำลังสุก

กระเทียม
จากหลักฐานเก่าแก่ พบว่าถิ่นกำเนิดใน อียิปต์  ถูกนำมาใช้เป็นยาตั้งแต่ยุคอียิปต์โบราณเรื่อยมา เข้ามาในยุโรป
อินเดีย และเอเชียและเผยแพร่เข้าไปในอเมริกา ปัจจุบันมีการวิจัยพยายามศึกษาหาสารในกระเทียมว่า มีสารอะไรบ้าง
ที่มีประโยชน์ในการรักษาโรค โรคที่ใช้รักษาได้คือ โรคหัวใจ, มะเร็ง, ภูมิคุ้มกันบกพร่อง, ใช้ต่อต้านอนุมูลอิสระ
ไหนๆ พูดเรื่องกระเทียมแล้ว ขอฝอยต่อ อีกนิดหนึ่ง
ขะน้อยเคยไปประจำการอยู่ชายแดน จังหวัดแม่ฮ่องสอน   ตรงดอยที่ไปอยู่นั้น มีหมู่บ้านกระเหรี่ยง
ระหว่างที่ลาดตระเวนตรวจพื้นที่  ประมาณว่า ทำหนาที่ เป็น “หมาบักแดง “ หรือหน่วย สเก๊าหน้า  
เดินผ่านหมู่บ้านกระเหรี่ยง  ทันไดนั้น หนุ่มกะเหรี่ยง รูปร่างจ่อยๆ ก็ร้องทักผมขึ้นเสียงดัง ฟังไม่ชัดว่า
“  ไปไสวะ  ไปไสวะ “
ขะน้อยตกใจเบิ๊ด  กระเหรี่ยงแพะอะไร   พูดภาษาลาว จ้อยๆ  หรือ ลาวบุกทะลวงกระเหรี่ยง จนกลายพันธุ์
มีความพยามขนาด ปีนเขาขึ้นมาผสมพันธุ์บนดอยนี่เลยเหรอ   หันไปพิจารณาอีกที   ฮ้วย..!
ที่แท้เขาจะขายกระเทียมให้นี่เอง   เห็นยกมัดกระเทียม มัดบักเอ๊บ !    ร้องว่า
“  ปะเซ้วา   ปะเส้วา  !”
ปะเซวา   ภาษากะเหรี่ยง แปลว่า กระเทียม ครับ หลงเข้าใจผิดตั้งนาน นึกว่าเขาทัก

หญ้าคันนาบิด  Cannabis  
เป็นพืชล้มลุกจำพวกหญ้าขึ้นได้ง่ายในเขตร้อน ลำต้นสูงประมาณ 2-4 ฟุต ลักษณะใบจะแยกออกเป็นแฉกประมาณ
5-8 แฉก  นำหญ้าชนิดนี้ มาต้มเคี่ยวใส่ปลาแดก และ น้ำอ้อยย้วย     เคี่ยวประมาณ 1 ชม.ก็จะได้ น้ำปรุงรส
ว่ากันว่า หญ้าชนิดนี้ มีถิ่นกำเนิด ในทุ่งหญ้าเทือกเขามองโกล ใกล้ๆ เทือกเขาหิมาลัย  



สูตรลับเฉพาะของ เมนูนี้      หญ้าคันนาบิด

บักเผ็ดหลอ  พริกสายพันธุ์อีสานดั้งเดิม ที่เราหลงลืม ละทิ้ง
พริกขี้หนู  พริกสวน  หรือ พริกชี้ฟ้า  ที่เรารับประทานกันในปัจจุบัน  ล้วนเป็นพริก ที่นำสายพันธุ์
มาจากต่างประเทศ เมื่อไม่นานมานี้  ตัดแต่งสายพันธุ์ ปลูกกันเป็นล่ำเป็นสัน จนทำให้เราเข้าใจผิดว่า  
สมัยโบราณ อีสานไม่เคยมีพริก    ผิดครับ  อีสานมีพริกที่ปลูกกินกัน ตามครัวเรือน และเป็นพืชดั้งเดิมท้องถิ่น
นั่นคือ “บักเผ็ดหลอ”   มีลำต้นไม่สูงมากนัก ผลยาวไม่เกิน 3 ซม.  สีไม่จัดจ้าน ส่วนมากออกโทนแนวสีเหลือง  
สารก่อให้เกิดรสเผ็ดร้อน เรียกว่า แคปไซซินอยด์" ความเผ็ดของพริกสายพันธุ์ไทยปกติอยู่ที่ 50-50,000 SHU เท่านั้น
ซึ่งถือว่า ไม่จี๊ดสะใจเท่าไหร่    ในที่สุดก็ถูกพริก สายพันธุ์ต่าง แซงหน้า  
การปลูกพริกชนิดนี้ ส่วนมาก ปลูกตามโพน  ตามไฮ่  หรือปลายนา  เอาไว้เป็นเครื่องปรุงอาหาร
ลักษณะคล้ายๆ พริกกระเหรี่ยง แต่ไม่ใช่ครับ  บักเผ็ดหลอ  ความเผ็ดของมันจะค่อยเป็นค่อยไป
มีรสชาติ เผ็ดนัว  มากกว่าเผ็ดร้อน     เพราะกินปุ๋ย คือ ขี้ไก่เป็นหลัก



ภาพ บักเผ็ดหลอ

วิธีทำ อาหาร เมนูนี้
1 งมกะปูน้อย ตามริมคันนา มาก่อน คัดเอาแต่ตัว ขนาดเท่าหัวโป้มือ   เอามาขังไว้ก่อน


2 เก็บผัก ก้านจอง และผัก โฮบเฮบ  ตามหนอง หรือ ”บวก” เก่าๆ   มาเป็นผักแกล้ม
   ข้อระวัง  อย่าเป็นเก็บเอา ใน”บวก” ที่ ควายนอนใหม่ ๆ  เพราะ มัน “กุย” และไม่น่ากิน
3  ใช้ “ บ่วง”  ขูด ขนของ มะอึก หรือ บักเอิก ออก ล้างน้ำให้สะอาด  ฝานฝ่าไว้ ขนาดพอเหมาะ
4 ตำบักเผ็ดหลอ กับกระเทียม ในครกให้ละเอียดเข้ากัน   การตำพริกนั้น ควรตำให้ถี่ๆ   อย่าตำแบบขี้คร้าน
   เดี๋ยวท่านจะว่า “ บ่เป็นตาซิแตก”
5 เอาเส้นมะละกอลงก่อน  ตำและ คนให้เข้าที่      
6 เอาบัก เอิก หรือ มะอึก ที่ฝานเตรียมไว้ ลงไปตำให้เข้ากัน  
7 .ใส่น้ำปลาร้าต้มเคี่ยวหญ้าคันนาบิด ลงไป ตามสมควร


ภาพ น้ำอ้อย  สงสัยในการผลิต หรือความเป็นมา ปรึกษา อ้ายมังกร ผูถนัด ในการ “หีบอ้อย”

8  ฝานมะกอก เข้าปรุงรส  เพิ่มความ ฝาดและอมเปรี้ยว
   ข้อแนะนำ อย่าเอา “ไน” มะกอกลงไปด้วย  เพราะบางคน อาจจะเผลอ “ลึดไนมะกอก”   คาคอเอาง่ายๆ



9 .ใส่ต่อนปลาแดกลงนำ เอาไว้ แย่งกัน สีก (ฉีก) เพิ่มอรรถรส
10  แกะเอาเม็ดผักกระถินลงคลุก
11 เทลงมาใส่ “พาโตก”   ยกมา เสริฟ พร้อมผักแกล้ม และ กะปูน้อย ที่ แกะเอา “ ออง” ทิ้ง



ว่าแล้วก็ล้อมวงกินกัน แซบ ๆ  ข้าวเหนียวคุ้ย  กินผักแกล้ม แถมด้วย กะปูน้อย  “โหม่ม” คำละตัว
การกินอาหารชนิดนี้ กินคนเดียวหรือ 2 คนไม่อร่อย  ให้กิน ตั้งแต่ 3 – 10 คนขึ้นไป
เคล็ดลับคือ ยิ่งแย่งกันกิน ยิ่งอร่อย    บ่เชื่ออย่าลบหลู่   ปกติแล้ว คนอีสานจะทำเมนูนี้กิน ตอนลงแขก
หรือ “ นาวาน”  ขอแรงช่วยกันทำงาน เช่น ดำนา  เกี่ยวข้าว เป็นต้น




นี่คือส้มตำที่ ตำกินกันในอีสาน มาร่วม 200 ปี   และดั้งเดิมสุด ๆ   สังเกต  ส่วนประกอบ ที่ผมนำเสนอ
ไม่มี มะเขือเทศ  ไม่มี นำปลา   ผงชูรส (ผงนัว)   หรือน้ำตาลทรายขาว
ในสมัยโบราณนั้น  อาศัย ความเค็มจากปลาร้า  ความหวานจากน้อยอ้อย (น้ำตาลปึก) ความเปรี้ยว จาก บักเอิก
และความฝาดเปรี้ยวนัว จาก บักกอก ส่วน  บักกอกคน บ่เอา  ได้หลายแล้ว บ่อยากตื่ม

ยังไงก็ตาม หญ้าคันนาบิด  อาจจะหายากสักนิด   เพราะมนุษย์ตัดสินว่ามัน ชั่วร้าย
มันก็แค่พืชที่เกิดมาในโลกใบนี้   ไม่รู้จักถูกผิดเสียด้วยซ้ำ  คนต่างหากที่กระทำชั่ว คิดชั่ว
ทุกอย่างในโลกนี้ ไม่มีสิ่งใด มีประโยชน์ และมีโทษอยู่ฝ่ายเดียว  อยู่ที่เราเลือก

หากท่านสงสัยเรื่อง หญ้าคันนาบิด ประการใด  โปรด พิมพ์ คำว่า “Cannabis  “  ในกูเกิล
ท่านจะ “ซ้วด” ขึ้นมาทันใด  โดยเฉพาะจารย์ใหญ่ ผู้ สันทัดกรณี




ส่วนนี้ คือ ภาพ ผักก้านจอง (ผักคันจอง) หรือ บางถิ่นก็เรียก ผักพาย
ส่วนผักโหบเหบ  หารูป บ่ได้   สงสัยเป็นปัจเจกโพด   บ่มีคนรู้จัก

ลป.ขอบคุณทุกภาพ  ที่ผมเอามาลง จาก อินเตอร์เน็ต ครับ ไม่มีเจตนาละเมิด เพื่อประโยชน์ส่วนตน

 
 
สาธุการบทความนี้ : 981 ครั้ง
จากสมาชิก : 2 ครั้ง
จากขาจร : 979 ครั้ง
 
 
  29 ธ.ค. 2554 เวลา 16:55:08  
   ขึ้นบน ลงล่าง  
 
         

  โพสต์โดย   109) อาหาร อิสาน วิเศษ ไม่แพ้ชาติใด  
  ปิ่นลม    คห.ที่146) ตำกล้วยทะนีออง      [ไปที่ความเห็นนี้ ในกระทู้นี้]  
  เซียน

ภูมิลำเนา : สกลนคร
เข้าร่วม : 16 มี.ค. 2553
รวมโพสต์ : 2213
ให้สาธุการ : 180
รับสาธุการ : 5440860
รวม: 5441040 สาธุการ

 

ภาพ ตำกล้วย ทะนีออง ของป้าหน่อย ณ หนองคาย  เอิ้นหมู่กินนำกัน


เมนูวันนี้ คือ อาหารคลายเครียด ตามประสาคนบ้านเฮา  เป็นอาหารยามว่าง จับกลุ่ม โสเหร่
ชื่อเมนู ตำกล้วยทะนีออง
ชื่อ อังกฤษ   Check  Pop


ได้ยินว่า “ ตำกล้วย” บางคนบางท่าน เกิดอาการ “ส้มปาก” ขึ้นมาอย่างกะทันหัน เพราะเป็นเมนู
ที่จ๊วดด..!โดนใจหลายคน  มีคู่กับอีสานมานาน ต้นกำเนิดและ”ตำนาน” จนแหลกคามือ แม่ใหญ่สี
ไม่ทราบที่มาที่ไป ที่แน่ๆ เป็นเมนูดั้งเดิมของชาวอีสานเราเองนี่หละ ครับพี่น้อง


ภาพจากอินเตอร์เน็ต

เนื่องจากตาม “ เฮือนซาน” ของคนอีสานแต่เก่าก่อน  มักปลูกพืชชนิดต่างๆ ไว้รายล้อมบ้านช่อง
ไม่ว่าจะเป็น กล้วย ว่าน หัวซิงไค มะยม มะเฟือง ต้นงิ้ว (ต้นนุ่น) มะพร้าว มะม่วง  มันสาคู  ขี้หมิ่น ว่านไฟ
แต่ที่ต้องมีทุกบ้าน คือ ต้นกล้วย  เพราะประโยชน์ใช้สอย อเนกอนันต์

กล้วยตานี หรือ กล้วยทะนีออง จึงเป็นตัวเลือกหนึ่ง ในการปลูก การฝัง ไว้ตาม หลังบ้านเรือน
เพื่อใช้ใบตอง ในการห่อ บรรจุผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น  ส่วนผลสุกของมัน ไม่นิยมกินมากนัก
เนื่องจาก มี”ไน”  หรือ เมล็ดมาก น่ารำคาญ ในการ “ลึด” ส่วนมาก นิยมกิน “กล้วยตีบ” มากกว่า



ภาพจาก อินเตอร์เน็ต

เมนูนี้แม่บ้านแม่เรือน ชาวอีสาน ที่จับกลุ่มกับประสาพี่น้อง นั่ง”ต่ำหูก” (ทอหูก)  นั่งโสเหร่เฮฮา
หรือ “ผู้สาวพวมแวง”  จับกลุ่มคุยกันยามว่างงาน คิดหาเมนูของกิน “จ๊วด จ๊วด” สร้างสีสันบรรยากาศ
ส่วนประกอบมีดังนี้
1.กล้วยทะนีออง “พวมแก่”  
2.ตกปุ๊ก !   ข้างซี่  2-3 ลูก ( บักเฟียง หรือภาคกลางเรียก มะเฟือง )



3.บักเผ็ด
4.กระเทียม
5.ปลาแดก “ต่วง”
6. น้ำอ้อย  หรือใช้น้ำตาลแทนก็ได้
7.ผงนัว
8.บักนาว 1-2 หน่วยแล้วแต่
9. ผักอีเลิศ หรือ คูณหญิงประเสริฐ 1 กำใหญ่
อนึ่งหากหา ตกปุ๊ก ข้างซี่ ไม่ได้ หา มะยม หรือ บักเม่า  บักม่วงดิบแทนก็ได้  ไม่จำกัด เหมือนตลับไม้ขีดไฟ
อีกทั้งเมนู นี้ ยังเปิดโอกาสให้ผู้ชื่นชอบ ใส่มะเขือเปราะลงไปได้ ตามแต่ความชอบ และตามแต่ผลไม้ในฤดูกาล



วิธีทำ
1.ฝานกล้วยทะนีอองดิบ เป็นแว่น ๆ อย่าให้หนามาก
2.ฝานมะเฟืองเป็นแว่นบางๆ  เพิ่งพิจพลาง คิดถึงปลาดาว ในทะเลใส ฟ้าสวย
3.ตำบักเผ็ดในครก โขกกับกระเทียมจนแหลก
4.นำกล้วยที่ฝานเตรียมไว้ ลงตำ ให้ละเอียดพอประมาณ
5. ใส่น้ำปลาแดก ลงไป พอควร
6. ใส่มะเฟืองลงไป ตำนิดหน่อย
7. บีบมะนาว ใส่น้ำตาล ผงนัว  ลงปรุงรส
8. ยกมาปันกันกิน พร้อมด้วย ผักอีเลิศของแกล้ม



ความเกี่ยวพันกับวิถีชีวิตชาวอีสาน
คนอีสานเชื่อว่า ใครที่กินตำกล้วยแล้ว “ไอ”  หรือจาม แสดงว่า เป็น “ปอบ” หรือ pop ในภาษาฝรั่งดังโม
ตำกล้วยจึงเป็นอาหาร “เช็ค ปอบ” หาตัวการว่าใครเป็น “ปอบ”    

อันว่า ปอบ นั้นคือ ผู้ที่ร่ำเรียน วิชาอาคม มาแล้ว ไม่สามารถ รักษาของ รักษาจารีต ข้อห้าม กฎข้อบังคับได้
จนกลายเป็น “ผี”ชั่วร้าย ทำลายความสงบสุขของคนในหมู่บ้าน

อนึ่ง ผู้มีวิชาแล้ว เที่ยวระรานคนอื่น เอาเปรียบ เบียดบัง  ก่อกวนประโยชน์สุขส่วนรวม  เรียกว่า ผีปอบ ได้เช่นกัน

จริง ๆ แล้ว เป็นกลอุบาย ในการสร้างความสนุกสนานในการกินอาหารเมนูนี้ ของชาวอีสาน ครับ
เพราะการกิน “ตำกล้วย” เป็นเมนู ที่เหมาะแก่การ กินเป็นหมู่เป็นคณะ  ต้องมีการ ล้อเล่นกัน
เพื่อความสนุกสนาน  ม่วนซื่นโฮแซว ตามประสาจริต



บางคนกินตำกล้วยแล้ว คันคอ แต่ก็อดทนไว้ กลัวถูกว่า เป็น”ปอบ”   เผ็ดก็เผ็ด เปรี้ยวคัน  แต่ก็ “ อดเอา” พะนะ
จนกระทั่ง ขี้มูกน้ำตาแตกคาดลาด  “หัวขวน” กันทั้งวง




สอบถามแม่ใหญ่สี  ทราบว่า ที่กินตำกล้วยแล้ว”คันคอ”  เป็นปอบจริงไหม
แม่ใหญ่สี ตอบตามภูมิปัญญาของแกว่า ที่มันคัน เพราะตำกล้วย “ บ่พอปลาแดก และของส้ม “
แว๊บมาถาม คูบาต้องแล่งแตนลาม  เอกวิทยาศาสตร์   ทราบว่า
อาการคันคอ ทำให้ไอหรือจาม ในขณะกินตำกล้วย เกิดจาก  สารแคลเซียมออกซาเลท ในกล้วยดิบ
การเติม “กรด” จะเป็นการเปลี่ยนสภาพให้เป็นสารอื่นที่ระคายเคืองน้อยลง พะนะ
เอ้า..แล้วน้ำปลาแดกกับของส้ม  เป็น กรด หรือด่าง ครับอาจารย์
“ มันเป็นของกิน” พะนะ   ญาคูตอบ  ขะน้อยเลย เบิ๊ดควมสิส่อ



ตำกล้วยทะนีอง เป็นเมนูของชาวอีสาน ที่เน้นรสชาติ จี๊ดจ๊าด ถึงใจ  หายง่วง เป็นปลิดทิ้ง
ซ้ำยังออกแบบ มาให้กินกันเป็นกลุ่ม สร้างมิตรไมตรี แบ่งปันความสนุกสนาน
สะท้อนภาพลักษณ์ของชาวอีสานได้เป็นอย่างดี

คาราวะ  ......(ปิ่นลม)

 
 
สาธุการบทความนี้ : 976 ครั้ง
จากสมาชิก : 4 ครั้ง
จากขาจร : 972 ครั้ง
 
 
  04 ก.ค. 2555 เวลา 13:25:57  
   ขึ้นบน ลงล่าง  
 
         

  โพสต์โดย   98) สารานุกรม แมงไม้ ใน อีสาน  
  ปิ่นลม    คห.ที่45) แมงหัวแข็ง      [ไปที่ความเห็นนี้ ในกระทู้นี้]  
  เซียน

ภูมิลำเนา : สกลนคร
เข้าร่วม : 16 มี.ค. 2553
รวมโพสต์ : 2213
ให้สาธุการ : 180
รับสาธุการ : 5440860
รวม: 5441040 สาธุการ

 


ชื่อพื้นเมือง         แมงหัวแข็ง  ( ด้วงหนวดยาว) แมงกอก  ( ชาวเหมืองแห่ง เหมันต์ )
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Plocaederus obesus Gahan

ชื่อสามัญ : Stem-boring grub

ชื่ออันดับ : Coleoptera

วงศ์ : Cerambycidae


ลักษณะทางกายภาพ
ตัวเต็มวัยเป็นด้วงหนวดยาวสีน้ำตาลแก่ ขนาดหัวยาว 4 ซม.
เพศผู้มีหนวดยาวกว่าลำตัวมาก เพศเมียขนาดสั้น หรือยาวเท่าลำตัว
ปีกแข็งคู่หน้ามีจุดสีเหลืองและแดง กระจายกันอยู่ ดวงตาเป็นลักษณะ ตามรวม
สีดำแบนราบด้านหน้า มีเขี้ยวสองเขี้ยวไว้เจาะเปลือกไม้

วงจรชีวิต

วางไข่ในเปลือกไม้   เมื่อโตขึ้น 1 จะเจาะชอนไช หากินตามเปลือกไม้
ตัวหนอน ตัวอ่อนมีเขี้ยวไว้คอยเจาะต้นไม้ ชอบอยู่ตาม ต้นงิ้ว ( ต้นนุ่น ) ต้นมะเดื่อ
ต้นมะม่วงหิมะพานต์  รวมทั้งต้นมะม่วงบางชนิด  
เมื่อจะลอกคาบเป็นตัวโตเต็มวัย จะสร้างเปลือกไข่บางๆ สีขาวๆ  ในรูของต้นไม้
พอย่างเข้าเดือนที่  3 จะเป็นตัวอ่อนเจาะออกมา โบยบินหากินต่อไป

ตัวเต็มวัยในช่วงฤดูฝนราวเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม เพื่อผสมพันธุ์และวางไข่
  
ภาพตัวอ่อนของ แมงหัวแข็งในเปลือกไม้
    

ประโยชน์
ตัวอ่อนของ แมงหัวแข็ง สามารถนำมาเป็นอาหารได้ เนื่องจากมีรสชาติ อร่อย แซบ
ส่วนมากนำมา จี่ใส่ขี้เถ้ากองไฟ ตอนหน้าหนาว  อีกทั้งตัวโตเต็มวัย ก็กินได้
อย่างไรก็ตาม แมงหัวแข็ง จัดว่าเป็นศัตรูพืช เนื่องจาก ชอบเจาะ ต้นงิ้ว  ต้นมะม่วง
และต้นไม้เนื้ออ่อนอย่างอื่น

ภาพต้นงิ้ว ที่แมงหัวแข็ง ชอบเจาะฝังตัวอยู่


ในแง่วิถีชีวิตอีสาน

สมัยเก่า คนอีสานทำเครื่องนอน เครื่องนุ่งห่มเอง เช่น ผ้าห่ม  หมอน อาสนะ ( ฟูกที่นอน )
ซึ่งต้องอาศัย ต้นงิ้ว หรือ ต้นนุ่น เอาใยนุ่น มาทำ จึงต้องปลูกต้นงิ้ว ไว้ตามบ้านแทบทุกบ้าน
นี่เองคือสวรรค์ ของ แมงหัวแข็ง  มีอาหารอันอุดมสมบูรณ์ ได้เจาะกินชอนไช



เมื่อถึงคราวหน้าหนาว เสร็จนาแล้ว  ตอนเช้าๆ  ผู้เฒ่าผู่แก่ ก็จะมาก่อไฟผิง ใต้ต้นงิ้วหน้าบ้าน
หรือหลังบ้าน ลูกหลานก็จะมา "ตุ้มโฮม" กันผิงไฟ แก้หนาว  นั่ง "จี่ข้าวจี่ทาไข่ "
อยู่ข้างกองไฟ ฟังปู่ย่าเล่าเรื่องสนุก ๆ  ระว่างนั้น เด็ก ๆ ก็จะเดินเลาะหา หนอนแมงหัวแข็ง
หรือ ด้วงงิ้ว หาเจาะงัดแงะเอาตามเปลือกต้นงิ้ว ตามรูของต้นไม้ ก็จะได้ แมงอันนี้ มา จี่กิน
เป็นที่สนุกสนาน  บ้างก็ได้ แมงหัวแข็งตัวโตเต็มวัยมาอ้างกัน  

เวลาจับมันจะร้อง เสียงดังเหมือนพลาสติกสีกัน ดังออด แอด.. ออด แอด  ด้วยการเอาหัว
ยกขึ้นลงทำให้ปล้องช่วงลำคอของมันสีกัน จนเกิดเป็นเสียงร้อง บางครั้งเด็ก ๆ ก็โดนผู้ใหญ่อำ
บอกว่า "แมงหัวแข็ง เอิ๊กมันหอม"  พลางให้เด็กน้อยดม อกแมงหัวแข็ง
แล้วก็โดน "แมงหัวแข็ง หยุมดัง "

ปัจจุบัน ต้นงิ้วเหลือน้อย เพราะงานหัตถกรรม ผ่าห่ม ฟูกที่นอน ที่ทำด้วยมือ หายไป
ยกหน้าที่ให้เป็นของ โรงงานต่างๆแทน  ลูกหลานต่างแยกย้ายจากถิ่นฐาน หาอยู่หากิน
ตามจำนวนต้นงิ้วที่หายไปจาก เฮือนอีสาน   การ"ตุ้มโฮม" หาได้ยาก
บางคนไม่รู้จัก แมงหัวแข็ง  รู้จักแต่ การหัวแข็งแทน

บางครั้งแมลงเล็ก ๆ นี้ ก็เป็นดัชนีวัด ความสุขในครอบครัว วิถีอีสานก็เป็นได้.......

ขอบคุณทุกภาพ จากที่มาหลายแห่งตามอินเตอร์เน็ต

 
 
สาธุการบทความนี้ : 968 ครั้ง
จากสมาชิก : 5 ครั้ง
จากขาจร : 963 ครั้ง
 
 
  10 ต.ค. 2553 เวลา 14:56:38  
   ขึ้นบน ลงล่าง  
 
         

  โพสต์โดย   109) อาหาร อิสาน วิเศษ ไม่แพ้ชาติใด  
  ปิ่นลม    คห.ที่273) คั่วไข่      [ไปที่ความเห็นนี้ ในกระทู้นี้]  
  เซียน

ภูมิลำเนา : สกลนคร
เข้าร่วม : 16 มี.ค. 2553
รวมโพสต์ : 2213
ให้สาธุการ : 180
รับสาธุการ : 5440860
รวม: 5441040 สาธุการ

 

ช่วงเดือนมีนาคม - เมษายน   เดือน 4 เดือน 5  บรรยากาศแถบบ้านเฮา มักจะมี พายุฤดูร้อน
หรือ "ฝนแล่น" นั่นคือ ลมกระโชกแรง ฝนตกหนัก และ" บักเห็บ" (ลูกเห็บ)
ซึ่งเป็นฝนโฮยดอกมะม่วง ดอกงิ้ว และให้ไม้ผลัดใบได้ฟื้นตัวผลิใบ ให้แมลง และ ขี้กะปอม ได้เกิดใหม่
งัวควาย ที่ถูกฝนแล่น แบบนี้มักจะ "ห่าว" วิ่งหนีแก๋ว (หนีแก่ว)
ขึ้นโคก ลงทาม บ่กลับมาคอก
ฝนตกมา อีสานกะมีแนวกินตามมาอีกสารพัดสาระเพ พี่น้อง
ท้องทุ่งโคกป่า ที่แห้งระแหง เริ่มมีชีวิตผลิกผัน เปลี่ยนโฉมหน้าไปตามฤดูกาล



สำหรับบรรยากาศในตัวเมืองใหญ่ หรือ กึ่งเมืองกึ่งชนบท จะไม่ค่อยเห็นการเปลี่ยนแปลง
ของธรรมชาติเท่าใดนัก มีแต่อากาศร้อนๆ รถติดคือเก่า  สิ่งที่ชินตาสำหรับเฮาผู้อยู่ในเมืองใหญ่
ก็คือ ร้านอาหาร "ฟาสต์ฟู้ด" อาหารจานด่วน เนื่องจากสะดวกรวดเร็ว ทันใจ ฟ้าวไป ฟ้าวมา
แลชำเรื่องไป มีแต่ชื่อยี่ห้อต่างชาติ  โกยเงินออกต่างประเทศ ปีละหลายหมื่นล้านบาท

"ฟาสต์ฟู้ด"  ทางอีสานบ้านเฮาก็มีเช่นกัน แต่แตกต่างไปคนละแบบ ในทางอีสานเน้นความเรียบง่าย
สมถะและได้รสชาติ เช่น  ไนบักขามคั่ว  แจ่วปลาแดก  หรือ แจ่วหัวโหล่น
"ฟาสต์ฟู้ด"  อีกอย่างหนึ่ง ที่เป็นพื้นเพทางภาคอีสาน บ่งบอกตัวตนและวิถีได้อย่างดีคือ


ชื่อเมนู               คั่วไข่
ชื่อภาษาไทย       ไข่นอกคอก
ชื่อภาษาอังกฤษ   Relate Egg

การคั่ว คือการทำให้อาหารสุก โดยการทำให้แห้ง ไม่ใช้น้ำมันเป็นตัวกลาง  ไม่ง้อน้ำมันปาล์ม น้ำมันพืช
การทำอาหารประเภทนี้ พบได้ทั่วไป ส่วนใหญ่ในแถบยุโรป จะเป็นการคั่วเมล็ดพืช เสียมากกว่า
ส่วนอาหารที่นำไข่มา"คั่ว" คงมีแต่อีสานบ้านเฮาแห่งเดียว



ความเป็นมาของเมนู
วิถีชีวิตชาวอีสานสมัยเก่า อยู่กับไร่กับนา การงานส่วนใหญ่อยู่กับการปลูกพืช และเลี้ยงสัตว์ต่างๆ
เรียกได้ว่า ชอบปลูกชอบฝัง งานหนักของผู้ชายส่วนใหญ่คือ "ขุดดินสิมไม้" ส่วนผู้หญิงก็
ยุ่งยากเรื่องอาหารการกิน เสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่ม  จึงปรากฏเป็นหัตถกรรมพื้นบ้านดังที่เห็น

เมื่อฤดูกาลปลูกพืชมาถึงการงานจึงเยอะแยะไม่ค่อยมีเวลา เรียกว่า "ยากเวียก"
บางครั้งไม่มีเวลาไปหาอาหาร ( หาปูหาปลาหากบหาเขียด )  เหลือบมองไปบนเถียงนา
เห็นแต่ไก่แม่ฟัก กำลังฟักไข่ (กกไข่)  จึงหลอยเอามาประกอบอาหารง่ายๆ เพื่อให้ทันเวลา
ชาวอีสานโบราณ ไม่นิยมซื้อของกิน ให้เสียสตางค์ มักจะหากินเอาตามธรรมชาติ
จนมีเจตคติเก่าแก่ว่า " ตื่นเซ้ามี 3 แนวหย๋าม  ยามแลงมี 3 แนวใส่ "

อธิบายให้คนปัจจุบันเข้าใจลำบาก เนื่องจากสมัยก่อน เสรีชนมีเยอะสมัยปัจจุบันเสรีภาพมีเยอะ
แต่เสรีชนมีน้อย จึงยากที่จะดำรงเจตคติแบบอีสานเก่าก่อน )



ส่วนประกอบอาหาร
1.ไข่ไก่
2.ปลาแดก
3.ผักหอมบั่ว ผักหอมเป
4.หัวหอมแดง
5.เกลือ
6.บักเผ็ด (พริก) 3 เม็ด
7.ผงนัว ( แล้วแต่คนชอบ)

ไข่ไก่จากไก่ที่เลี้ยงไว้  ปลาแดกที่หาเฮ็ดไว้ตั้งแต่ฤดูน้ำหลาก และฤดูปลาข่อน
ผักบั่วหัวหอมปลูกไว้ติดครัวเรือน พริกเกลือ คือสิ่งสามัญประจำครัวอยู่แล้ว

วิธีทำ
1.เอาน้ำเหยาะใส่ม้อนิดหน่อยป้องกันการติดหม้อ



2.ตอกไข่ใส่หม้อตีให้แตก เหยาะเกลือนิดหนึ่ง


3.เอาน้ำปลาแดกเหยาะลงไป คนให้ทั่ว


4.ซอยพริกกับผักหอมต่างๆ เตรียมไว้



5.นำไปตั้งไฟอ่อน ๆ คอย คะลนอย่าให้ไหม้



6.เอาผักหอมที่ซอยไว้ลงไปใส่


7.คนและคั่วให้สุกหอม


8.ตักใส้ถ้วย อย่าลืมขูด ขี้เมี่ยงติดหม้อไปด้วย ส่วนนี้หละที่แซบ





ใช้เวลาทั้งหมดไม่เกิน 5 นาทีก็ได้กิน เมนูสุดแซบนี้
ไข่คั่วนั้น รสชาติแตกต่างจาก ไข่เจียวมากมาย  เพราะความหอมของไข่
ไข่ผ่านการคั่วจะมีรสชาติที่แซบและนัว เป็นอาหารที่ทำง่ายๆ ได้คุณค่า

เมนูนี้ยังมีความอ่อนตัว สามารถนำไปประยุกต์ให้เข้ากับสมัยใหม่ หรือความเป็นอินเตอร์
เพื่อให้ถูกปากผู้นิยมของนอกได้  แต่กระผมนิยมแบบ อีสส...
เมื่อกินครั้งใดหัวใจลอยไปชะโลมทุ่ง...กลิ่นแห่งเสรีภาพ  ในวิถีอีสาน




พ่อครัวปิ่นลมลงมือทำเอง พี่น้อง  เป็นตาแซบบ่

 
 
สาธุการบทความนี้ : 962 ครั้ง
จากสมาชิก : 2 ครั้ง
จากขาจร : 960 ครั้ง
 
 
  06 มี.ค. 2556 เวลา 09:02:12  
   ขึ้นบน ลงล่าง  
 
         

  โพสต์โดย   142) มาทางพี้ อ่านกวีศรี บังพุ่ม  
  ปิ่นลม    คห.ที่15)       [ไปที่ความเห็นนี้ ในกระทู้นี้]  
  เซียน

ภูมิลำเนา : สกลนคร
เข้าร่วม : 16 มี.ค. 2553
รวมโพสต์ : 2213
ให้สาธุการ : 180
รับสาธุการ : 5440860
รวม: 5441040 สาธุการ

 



ตะวันรอน อ่อนแสง สาดผ่าน
หอมหวาน ซ่านกลิ่น จำปีขาว
กลีบดอก ออกช่อ พริ้มพราว
กลีบเจ้า วาววับ ลับแสงอัสดง........
..( ป้าหน่อยศรี..)

ตะวันรอน ยอแสง แวววง
จำปีคง กลิ่นหอม ยวนจิต
สุคนธ์โชยกลิ่นทั่วหล้า
จำปาลา จำปีพร่ำ หวนคืน
..( ปิ่นลม )

 
 
สาธุการบทความนี้ : 959 ครั้ง
จากสมาชิก : 2 ครั้ง
จากขาจร : 957 ครั้ง
 
 
  31 พ.ค. 2556 เวลา 17:00:20  
   ขึ้นบน ลงล่าง  
 
         

  โพสต์โดย   98) สารานุกรม แมงไม้ ใน อีสาน  
  ปิ่นลม    คห.ที่114) แมง ปุ๋ม , แมงขุม , แมงซ้าง      [ไปที่ความเห็นนี้ ในกระทู้นี้]  
  เซียน

ภูมิลำเนา : สกลนคร
เข้าร่วม : 16 มี.ค. 2553
รวมโพสต์ : 2213
ให้สาธุการ : 180
รับสาธุการ : 5440860
รวม: 5441040 สาธุการ

 


(ขอบคุณเจ้าของภาพ)

ชื่อพื้นเมือง แมงปุ๋ม  แมงซ้าง  แมงหลุม  แมงขุม แมงบุ๋ม   กุดต้ม(นักล่าแห่งผผืนทราย)
ชื่อสามัญ antlion

วงศ์  Myrmeleontidae.
อันดับ Neuroptera

เป็นชื่อของตัวอ่อนของแมลงชนิดหนึ่ง อาศัยอยู่ในหลุมทราย คอยจับเหยื่อ
ที่ตกลงหลุมมาเป็นอาหาร เช่น มด และ แลงคลานชนิดอื่น ๆ
ในประเทศไทย มีการศึกษาแมลงในวงศ์นี้น้อยมาก มีรายงานการพบ
และทราบชื่อแล้วเพียง  2 ชนิดเท่านั้น



( ขอบคุณเจ้าของภาพ)



ถิ่นอาศัย


          วัยตัวอ่อน อาศัยขุดหลุมตาม พื้นดินทราย หรือ ดินร่วน ตามลาน
ตามพื้นที่ใต้ร่มไม้ใหญ่ต่าง ๆ
ระยะตัวอ่อนอาศัยอยู่ในทรายหรือดินละเอียด อาจอยู่ใต้หลังคาหรือในที่ไม่มีฝนตกหรือน้ำค้างตกใส่ จะสร้างหลุมเป็นรูปกรวย มักพบในพื้นที่ป่าหรือพื้นที่ชนบท
แต่ไม่ค่อยพบในเขตเมือง

อาหาร

แมลงขนาดเล็ก ส่วนใหญ่แล้วเป็นมด แมงมุมขนาดเล็ก และแมลงชนิดต่างๆ

ลักษณะนิสัย

มุดตัวลงไปใต้พื้นทราย แล้วใช้ขากรรไกรโยนทรายขึ้นมาหลุม จนหลุมมีลักษณะเป็นรูปกรวย โดย ตัวอ่อนของแมลงช้างจะซ่อนตัวอยู่ใต้ก้นหลุม เพื่อดักจับเหยื่อที่เป็นแมลงขนาดเล็ก เมื่อแมลงตกลงไปในหลุมจะไม่สามารถขึ้นมาได้ เพราะทรายในบริเวณขอบหลุมจะยึดตัวกันหลวม ๆ  เมื่อแมลงพยายามเดินขึ้นมาจะลื่นไถลตามทรายตกลงสู่ก้นหลุม  ตัวอ่อนแมลงช้างที่อยู่ก้นหลุมก็จะใช้ขากรรไกรกัดและดูดเหยื่อเป็นอาหาร



วิธีขุดหลุม

ใช้ก้นไถพื้นทรายเป็นวง และใช้หัวและขากรรไกรที่เหมือนเขี้ยว เหวี่ยงสะบัดทรายที่ขึ้นมาอยู่ข้างบนออกไปเรื่อย ๆ ก็จะได้หลุมรูปกรวยภายในเวลาอย่างน้อย 15 นาที
หลุมของแมลงช้างจะมีความสัมพันธ์ตามขนาดของตัวอ่อนแมลงช้าง
จะเห็นว่าขอบในของที่ดูเป็นเขี้ยว อันที่จริงคือขากรรไกร จะมีเป็นหนามแหลมซึ่งมีรูเล็ก ๆ อยู่ สำหรับปล่อยพิษ   เข้าไปในตัวมดที่เป็นเหยื่อของมัน และดูดน้ำในตัวมดเป็นอาหาร จนตัวมดแห้งเหลือแต่เปลือก มันก็จะเหวี่ยงซากมดออกไปจากหลุม
ของมัน และเตรียมพร้อมสำหรับรอเหยื่อรายใหม่


  ภาพแมงซ้าง ตัวโตเต็มวัย รูปร่าง คล้ายแมงปอ


วงจรชีวิต
ถ้าเราเข้าใจว่า “แมงช้าง” มันเป็นตัวอย่างนี้เท่านั้น ก็เป็นการเข้าใจผิด เพราะนี่มันเป็นเพียง “ตัวอ่อน” larva  ที่ฟักออกจากไข่เท่านั้น แต่เป็นช่วงชีวิตที่ยาวนานที่สุดของมัน นับตั้งแต่ออกจากไข่ เป็น”ตัวอ่อน” อย่างที่เห็นนี้ ทำหลุมดักมดหากินอยู่ในดิน นานถึง 2 – 3 ปี กว่าจะเข้าสู่ระยะเป็นดักแด้ ที่ฝังลึกลงไปใต้ดินถึง 10 ซม. ฟักตัวอยู่ 2 – 3 อาทิตย์ จึงออกจากดักแด้ คลานขึ้นมาจากใต้ดิน มีปีก และภายใน 20 นาทีก็บินไปหาคู่ผสมพันธ์กัน ตัวที่โตเต็มที่แล้ว มีทั้งชนิดที่คล้ายผีเสื้อ และที่คล้ายแมลงปอ แต่เวลาเกาะปีกทั้งสองข้างจะไม่ขนานกัน แต่จะทำมุมแหลมเป็นรูปตัววี ปีกมีเส้นเป็นร่างแห สังเกตความแตกต่างกันได้ตรงที่ “แมงช้าง” จะมีปลายหนวดเป็นปุ่ม และเป็นตัวที่ชอบออกมาตอนเย็นหรือกลางคืน
พบในที่มีแสงนีออน หรือตามกระจกหน้าต่างที่มีแสงไฟสว่าง ตัวเต็มวัยจะหาคู่ผสมพันธ์แล้วก็ไปวางไข่ไว้ในดินที่แห้งร่วนต่อไป ตัวเต็มวัย มีอายุประมาณ 30- 45 วัน

 
 
สาธุการบทความนี้ : 955 ครั้ง
จากสมาชิก : 4 ครั้ง
จากขาจร : 951 ครั้ง
 
 
  22 ธ.ค. 2553 เวลา 11:42:36  
   ขึ้นบน ลงล่าง  
 
         

  โพสต์โดย   109) อาหาร อิสาน วิเศษ ไม่แพ้ชาติใด  
  ปิ่นลม    คห.ที่75) ก้อยเดิก      [ไปที่ความเห็นนี้ ในกระทู้นี้]  
  เซียน

ภูมิลำเนา : สกลนคร
เข้าร่วม : 16 มี.ค. 2553
รวมโพสต์ : 2213
ให้สาธุการ : 180
รับสาธุการ : 5440860
รวม: 5441040 สาธุการ

 
ชื่อภาษาอังกฤษ   midnight of   Beef mix
ชื่อย่อ             MBM
ชื่อท้องถิ่น     ก้อยเดิก  ,ก้อยเดิ๊ก


1 ตื่นนอน ตอนเดิก..ยามสอง เป็นต้นไป  หิ้วกระต่า
2 ไปโรงฆ่าสัตว์ หรือ ย่างไปหม่องเพิ่นล้มงัว
3  หาหลอยเอาซี้น หม่อง แซบๆๆ   ดังนี้
- เสือฮ้องไห้
- บักพร้าวอ่อน
- ตับหวาน
- เนื้อสัน
- คันแทนา
- สามสิบกีบ
- บีขม
- ขี้เพี้ย
- หลอยเอา”ลิ้น”  มาเสี่ยงก่อนกะดี  เอาไว้ ก้อยทีหลัง
เครื่องปรุง
ข้าวคั่ว     น้ำปลาแดก   พริกคั่วป่น   พริกดิบ  น้ำปลา  ผงนัว
ใบผักบั่ว (ต้นหอม) ผักอีเสริม (สระแหน่) ผักหอมเป (ผักชีใบเลื่อย)
ผักกินกับ (เครื่องเคียง)
ผักตูม  ใบบักกอก ผักกาดฮิ่น   แตงกวา บักเผ็ด (พริกลูกโดด)
  

เหตุผลที่ต้องตื่นแต่ เดิ๊ก ( ดึก ) เพราะจะได้ถ่าเอาเนื้ออยู่หม่อง เพิ่นล้มงัวโลด  เชฟอาหารอีสานที่ดี
ย่อมรู้ว่า เนื้อสด ๆ ตอน ตี 1 ตี2 เต้นตุ๊บ ๆ  คือ วัตถุดิบ ของแท้

เกริ่นนำ
การทำอาหารประเภท “ก้อย”  ถือว่าเป็น วัฒนธรรมการกิน ของภาคอีสาน  สามารถทำ “ก้อย” ได้หลายชนิด
แล้วแต่สถานการณ์  เช่น ก้อยปลา  ก้อยกุ้ง  ก้อยหอย  ก้อยเนื้อ ก้อยปลาซิว ก้อยไข่มดแดง  ก้อยบักลิ้นไม้
ก้อยกะปอม “ก้อยฟาน” แต่ก้อยอันหลังสุด  ให้ระวังสำหรับลูกผู้ชายอย่างเฮา   หัวแตกหัวโนได้
การทำอาหารประเภท”ก้อย” มีมานานก่อนสมัย มีการบันทึกถึงเรื่องราวของคนอีสาน ส่วนใหญ่มักถูกมอง
ว่าเป็นวัฒนธรรมการกินที่ ล้าสมัย เพราะผู้บันทึก ไม่เคยกินก้อย  และไม่เคยคิดจะเกี่ยวก้อยกับวัฒนธรรมอันแตกต่าง
การทำอาหารประเภทนี้ พบ ทั้งในภาคอีสาน ภาคเหนือ ไปจนถึง อาณาจักรสิบสองปันนา  สืบเนื่องสมัยโบราณ
สังคมชาวอีสานและคนแถบนี้ เป็นนักเกษตรกรรม และ นักล่าสัตว์   เมื่อเว้นว่างจากเกษตร  พวกผู้ชายมักออกล่าสัตว์
การล่าสัตว์ใหญ่ จำต้องรวมกลุ่มกันออกล่าในเวลากลางคืน  เช่น กวาง ละมั่ง และ ฟาน  (เนื้อทราย)
กว่าจะล่าได้ เวลาก็ปาเข้าไป 2 ยาม  ภาษาอีสาน เรียก เวลานั้น ว่า “เดิก” หรือ “ดึก”  บรรดานายพรานเกิดอาการ ”หิวเข่า”   ไม่ใช่ เข่า นำขบวน  หนองกี่พาหุยุทธ  แชมป์มวย เวทีลุมพินี  นะครับ   “เข่า” ภาษาอีสาน
แปลว่า “ข้าว”     ครั้นจะ ติดไฟ หุงหา ก็เปลืองเวลา  และเป็นการ รบกวนแม่บ้านแม่เรือน ผู้กำลังนอนกับลูกน้อย
จึงอาศัยช่วงการ “คัว” หรือการแล่ชำและเนื้อแบ่งปันกัน   คัดสรรค์แต่เนื้อที่อร่อย  มาทำอาหารกิน
นั่นจึงเป็นต้นกำเนิดของอาหาร ประเภท”ก้อย”  จากนั้น  เมื่อเห็นว่าประกอบอาหารประเภทนี้ แซบ สะใจ
เมื่อหาอะไรได้  เป็นต้อง”ก้อย” เสมอ   คือที่มาของการทำอาหาร ก้อยสารพัด ของทางอีสาน สืบมาจนปัจจุบัน




ภาพวาดก่อนยุคประวัติศาสตร์ ผาแต้ม ชาวอีสานกำลัง “ต้อน”  ฟาน     และกำลังก่อไฟคั่วพริก  เตรียมก้อยเดิก

วิธีทำ
1 เอิ้นหมู่  เอิ้นกอง  เรียกเพื่อนฝูง เพราะการกินก้อยเดิก นั้น ห้ามกินคนเดียว  ส่วนการเอิ้น หรือเรียก
      ก็ต้องมีศิลปะคือกัน  เพราะบางคนก็กำลัง “ซ้ำเซ้า”  เพราะนั้นต้องกะจังหวะให้ดี อย่าไปรบกวน
     หากเป็นวัยสะรุ่น ที่เรียกชื่อพ่อเพื่อน เป็นชื่อเพื่อน จนคุ้นปาก ก็ ให้ระวัง เพราะ พ่อใหญ่ท่านอาจจะตื่นแล้ว
    อีกประเภท  ชอบ “ดึก”  บักขี้หิน ใส่ ฝาบ้าน  อันนี้ให้ เกรงใจ บ้าง เดี๋ยวจะนึกว่า “ไล่ปอบ”



( ภาพ วัตถุดิบ ของแท้  สิงห์โตเท่านั้นที่เข้าใจ แม่นบ่ พ่อตู้ )

2 เมื่อพาพร้อมเพียงกันแล้ว  แบ่งหน้าที่กัน   คนหนึ่ง ทำหน้าที่ “ซอย”   อีกคน ไป คั่วเพี้ยใส่หม้อไว้รอ



(ภาพการคั่วขี้เพี้ย  และ ห้องครัวสุดยอด ของเชฟอีสาน )

3 การซอย กะซอยต่อนใหญ่ ขาด 3x3 ซม.
  





ภาพ ขี้เพี่้ย ที่คั่วเสร็จแล้ว

4 เอาคันแทนา สามสิบกีบ  ล้างน้ำ  แล้ว ลนไฟ พอให้ห่ามๆ    ขูด ขี้ตะหลืน นิดหนึ่ง แล้วซอยลง



5คลุกเล้า พริกป่น และ ข้าวคั่ว ลงไป

  
6 เอาขี้เพี่ยที่คั่วไว้ เทฮาด  และ สะยอก  คะลนวนวาย ให้เข้ากัน



7 ใส่ บีขม  และ น้ำปลาแดก  น้ำปลา  และ ผงนัว  และตับหวาน
8 ใส่ผักหอม ต่าง ๆลงไป



ขั้นตอนสุดท้าย  อันนี้กะสำคัญ ส่วนมาก หลงลืมกันไป  คือ
อย่าลืมตักใส่ถ้วยตราไก่  ใช้คนให้เอาไปให้ คูบาอยู่วัด
พร้อมกระติบข้าวน้อย 1 ติบ   บ่ผิดศีลดอก ก้อยเดิก   ใกล้สิแจ้งแล้ว  ไม่ถือว่าเป็นการ “กิน ข้าวแลง
เพราะเป็นการ “ฉันข้าวเดิก”
อนึ่ง เอา”ก้อยเดิก” ไปให้ คูบาแล้ว   บ่ต้องถ่ารับพร   เพราะ คูบาเพิ่นกำลัง งัวเงีย    ฟ้าวมาโลด  
จังหันแล้ว ค่อยให้แม่ออก ไปเอาถ้วย เอากระติบข้าวคืน



เมนู ก้อยเดิก    เป็นเมนูที่แซบ  ไร้ตัวอักษร   หาคำบรรยายยาก   ทั้งขม ทั้งหวาน แซบ นัว เผ็ด หอม
เพราะเป็นเนื้อสดๆ ใหม่  อีกทั้ง ผักกาดฮิ่น  ให้รสชาติ คล้ายๆ “วาซาบิ”   ก้อยเดิก อุดมไปด้วย ขี้เพี่ย
เมนูนี้หากินยาก โดยเฉพาะผู้นอนตื่นสาย   อายที่จะกิน  ถวิลหาของนอก  ผีหลอกอุบปาทาน
โดยนิยามแล้ว ก้อยเดิก  คืออาหารของ คนที่มีมิตรภาพต่อกันครับ


เขาฆ่างัว ขั่วงา        กันหม่องไหน
ดัง..ต้องไว             ได้กลิ่น แต่ดึกหนา
ตื่น ปะเมียลงไป         ไม่ล้างหน้า
คว้ากะต่า ลงเฮือน     ไปเยือนยล

     ขอปาดนิด          ตรงช่อง อก งัวเถิกใหญ่
เสือร้องไห้ เนื้อแซบ   หายากหนอ
หลอยเอาตับ  คันแท   อย่ารั้งรอ
แล้วก็ขอ สามสิบกีบ    หีบมานำ
ทั้งตับหวาน ดีซ่าน     บีขม ฝาด
เบิ๊ดอาดลาด             ได้ ขี้เพี่ย และเนื้ย สัน

เลาะลอดฮั้วหนามบักจับ    โดยฉับพลัน
อย่าลืมหันไปเอิ้น            เซียงทิด เอย

ถึงเล็กสั้นขยันซอย    ให้พอห่าง
ใครที่ว่าง ไปคั่วเพี่ย....เก็บเอาหอม
อันข้าวคั่ว บักเผ็ด      ต้องเตรียมพร้อม
หั่นผักบั่ว ผักหอม       ล้อมวงกัน

เทขี้เพี้ยลงไป     คนเสียก่อน
ไผออนซอน        บีขม ผสม ท่าน
น้ำปลาแดกมาฮด  ผงนัวนำ
ขมอ่ำหล่ำ         ก้อยเดิก  บักเถิ๊กเฮา
อย่าลืมเอาไปถวาย..ท่านญาคู    

ผิดพลาดประการใด  ขออภัยอย่างหอง......(ปิ่นลม)

 
 
สาธุการบทความนี้ : 954 ครั้ง
จากสมาชิก : 4 ครั้ง
จากขาจร : 950 ครั้ง
 
 
  12 ม.ค. 2555 เวลา 14:18:05  
   ขึ้นบน ลงล่าง  
 
         

  โพสต์โดย   109) อาหาร อิสาน วิเศษ ไม่แพ้ชาติใด  
  ปิ่นลม    คห.ที่61) ส้มปลาน้อย      [ไปที่ความเห็นนี้ ในกระทู้นี้]  
  เซียน

ภูมิลำเนา : สกลนคร
เข้าร่วม : 16 มี.ค. 2553
รวมโพสต์ : 2213
ให้สาธุการ : 180
รับสาธุการ : 5440860
รวม: 5441040 สาธุการ

 

หลายตอนที่ผ่านมา พี่น้องกะคงสิ อิ่ม สิเปิด หรือว่า OPEN กับเมนูบ่าวปิ่นลม พอสมควรน้อครับ
มื้อนี่กะเลยมีเมนู มาเสนออีก เพื่อให้พี่น้องได้ “พวนท้อง”   ผู้ลังคนถึงขึ้น “ แสบบักหูก “ พู้นแหล่ว
สำนวนอาจะ อีสาน แน  ภาคกลางแน ปะปนกัน อันนี้ กะขออภัยอย่างหอง  สงสัยคำศัพท์อีสานประการใด
ก็ค้นหาความหมายได้ ใน เมนู ”ภาษาอีสานวันละคำ”  ของ บ่าวหน่อ พ่อไอคอนน้อย   เด้อครับ

เมนูภาษาปะกิต   Orange small fish
ภาษาอีสาน          ส้มปลาน้อย
ภาษาภาคกลาง    ปลาจ่อมทรงเครื่อง




ชาวอีสานเฮารู้จักการถนอมอาหารด้วยวิธีการดอง มานานนม จนเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม  
ต่างจากจากยุโยปหลายครับ ส่วนมากฝรั่งไม่ชอบของดอง
สำหรับชาวอีสานแล้ว ของดอง มีความจำเป็นต่อชีวิต เนื่องจาก ฤดูกาล เวลามีอาหารการกินมากมาย
ก็มากเสียจน ล้นหลาม ยามอึดอยาก หรืออดอยาก ก็แร้นแค้น หาแนวอยู่แนวกินแทบ บ่ได้
จึงคิดค้น กรรมวิธีในการดอง เพื่อถนอมอาหารมาไว้กิน ยามขาดแคลน จึงเป็นที่มาของ “ปลาแดก”
อาหารดองที่ขึ้นชื่อของภาคอีสาน  ว่ากันตาม สมมุติฐานแล้ว ชาวอีสานมักกินของดองในสายเลือด
เวลาแต่งงาน ก็เรียกว่า “ ไปกินดอง”   ค่าสินสอด ก็เรียกว่า “ค่าดอง”   เพราะฉะนั้นไม่มีชนชาติใด
มักของดองเท่าอีสานบ้านเฮาอีกแล้ว  




ภาพวิถี  การไปกินดอง ทางภาคอีสาน  (ภาพจากอินเตอร์เน็ต)

ตัวอย่างเมื่อเร็วมานี้ พี่น้องทางจังหวัด ยโสธร เพิ่นแจ้งข่าวมาว่า สิ “ กินดองแล้ว”   หลังจากกินแต่ แซนวิส
มาเหิงเติบ  จึงเตรียมการและเชิญชวนพี่น้องป้องปาย  มางันมาตุ้มโฮมกัน  ส่วนขะน้อย กะสิอาศัย
นั่งรถยู้พ่วงหลัง พ่อใหญ่หน่อ กับพ่อใหญ่สมบัติ ผู้เป็นพ่อล่าม ไปนำกันเนาะครับ  ส่วน”หมอสูตร”
หรือ ด๊อกเตอร์ฟอร์มูล่า  หากญาอ้ายต๊อก เพิ่น บ่ว่าง กะสิให้ “จานเจิด” ทางมุกดาหารเพิ่นทำหน้าที่แทน
เอาหละเข้าเรื่องดีกว่า
ส่วนประกอบอาหาร
1 ปลาซิว หรือสารพัดปลา ที่มีขนาดเล็ก
3 ข้าวเหนียวนึ่ง
4 น้ำข้าวหม่า ( น้ำซาวข้าว )
5 เกลือสินเธาว์
6 ข้าวคั่วใหม่ๆ
7 ไหเทียม (ไหน้อย ) หรือ ภาชนะเก็บมิดชิด

การหาวัตถุดิบ
ในตอนลงนา ดำนาแล้ว ขาวกำลังงาม ฝนตกน้ำหลาก  ชาวนาอีสานมักจะ ทำ”หลี่” ( โพงพาง ) ตามทางน้ำหลากผ่าน
หลี่ มีลักษณะ ต่างจาก “โต่ง”  หรือ “ต่ง”   คือ มีเสากระหนาบข้างพยุงตัว  มีฝาข้าง และมีพื้นให้น้ำไหลผ่าน
สมัยโบราณสานจากไม้ไผ่ ตอกหลักปูพื้นตามทางน้ำไหล  สมัยนี้ใช้ “ดางเขียว” หรือ “แหย่ง”  แทนไม้ไผ่

การใส่”หลี่” มักจะใส่ตอน “ปลาลง” หรือปลากำลังหาน้ำใหม่  ส่วนมากหลังจากฝนตกหนัก
รอให้ฝน “เอี้ยน” ก่อน  เมื่อฝนซาใหม่ๆ  ฟ้าวไปหย๋ามได้



ภาพ “หลี่”  เครื่องมือดักปลา ทางภาคอีสาน ( ภาพจาก บ้านโคก ป้าหน่อย )



ภาพ ปลาน้อย ชนิดต่างๆ  ที่ได้จากการ หย๋ามหลี่



ภาพ บรรยากาศ ตอนฝน “เอี้ยน”  น้ำกำลังหลายตามท่งนา



การทำส้มปลาน้อย

เป็นภูมิปัญญาในการถนอมอาหาร ของชาวอีสาน โดยใช้ จุลินทรีย์ในการ ดอง เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นเนื่องจาก
จุลินทรีย์ย่อยสลายคาร์โบไฮเดรต หรือสารอื่น ภายใต้สภาวะที่มีหรือไม่มีอากาศ
การหมักดอง ให้เกิดส้มปลาน้อย ต้องทำให้  pH ลดต่ำลง ซึ่งจะเป็นการป้องกันไม่ให้เชื้อจุลินทรีย์ ทำลายอาหาร

ค่า pH จุลินทรีย์ทุกชนิดจะมีค่า pH ที่เหมาะสมต่อการเจริญ โดยทั่วไปอาหารที่มีความเป็นกรดสูงหรือ
มีค่า PH ต่ำจะเก็บได้นาน

ค่า PH  คือ ค่าความเป็น กรด หรือด่าง ของ สสารวัตถุ   วัดค่าความต่างศักย์ไฟฟ้าของไอออนในสารละลาย เด้อ
เว้าให้เข้าใจง่าย คือ  ขี้กะปอม มีความเป็นกรด แล่นขึ้นต้นไม้ได้เร็วกว่า หมาบักด่าง



ภาพ ไหเทียม  หรือไหน้อย ส่วนมากเอาไว้ใส่ของดอง ต่างๆ ทางภาคอีสาน

เว้าหลายหยายห่าง เนาะ มาเขาเรื่องซะก่อน

วิธีเฮ็ดส้มปลาน้อย
1.นำปลาที่ได้มาล้างให้สะอาด  เตรียมไว้
2.เอาข้าวเหนียวนึ่ง มาแช่น้ำข้าวหม่า (น้ำซาวข้าว) ประมาณ 5 นาที แล้ว  “ทาว” ขึ้นมาเตรียมไว้  
3.นำปลามาแช่ในน้ำข้าวหม่า เหิงเติบ จนปลาแข็งตัว
4.นำมาคั้นใส่ข้าวเหนียวที่เตรียมไว้ ข้าวคั่ว เกลือสินเธาว์ จนได้ที่
    -ขันตอนนี้สำคัญ อย่าใส่เกลือมากเกินไป ให้ใส่ข้าวมากกว่าเกลือ มิฉะนั้นจะกลายเป็น ปลาแดก
     บางท้องถิ่นจะตำกระเทียมคลุกด้วย แล้วแต่ตามต้องการ
5.ทิ้งไว้ประมาณ 1 ชม.
6.จัดเก็บมิดชิด ส่วนมากเก็บไว้ใน ไหน้อย หรือกระปุก พลาสติก ปิดฝาให้มิดชิด
7. หากต้องการให้ เป็นส้มปลาน้อยเร็วขึ้น ให้นำไห มาตากแดด 1 วัน
    โดยมาก หากเก็บไว้ตามปกติ จะเป็นภายใน 1อาทิตย์




การนำมารับประทาน ต้อง แปลงส้มปลาน้อยซะก่อน ขั้นตอนการแปลง

- ใส่ มะเขือขื่น หัวสิงไค (ตะไคร้) หั่นฝอย
-หั่นบักเผ็ด(พริก) ใส่ลง
- บางที่ก็หั่นขิงลงไป บางที่ก็ไม่ใส่
- ปรุงรส ตามใจชอบ



เมนูส้มปลาน้อย  เป็นของคู่กับวัฒนธรรมอีสานมานาน  แสดงออกถึง วัฒนธรรมการกิน
ซึ่งการบ่งบอกวัฒนธรรมของแต่ละชนชาติ เป็นเอกลักษณ์แต่ละชาติพันธุ์  ดังที่รู้กันคือ
ภาษา  การแต่งกาย  การกินอยู่   ประเพณี ค่านิยม  ศิลปกรรม  ภูมิปัญญา  ดนตรี  และท้ายสุด ความเชื่อ
ส้มปลาน้อย เป็น จิตวิญญาณคนอีสาน ที่ส่งผ่าน “ยีสต์”  ในอาหาร ถ่ายทอดเจตนารมณ์สู่ลูกหลาน
เมื่อใดที่ “ยีสต์”ชนิดนี้ ไม่ถูกส่งผ่าน สู่ ”ยีน”  ของผู้สืบสายพันธุ์   นั่นคือสัญญาณบอกว่า
คนอีสานไร้ตัวตน ไร้ อัตตลักษณ์ และ ชักจูงสู่ความพินาศแห่ง วัฒนธรรมได้โดยง่าย

พูดไปใครจะเชื่อ แลคโตบาซีรัส  ในส้มปลาน้อย มีคุณค่าทางอาหารไม่น้อยหน้าไปกว่า “โยเกิร์ต” และนมเปรี้ยว
ที่น่าทึ่งคือ สารอาหารในส้มปลาน้อย ช่วยในการควบคุมความเป็นกรดของผิว  ให้ค่าเป็นกลาง คือ
ค่า pH ระหว่าง 4 -7 ทำให้ผิวชุ่มชื่น และลดปัญหาการเกิด “สิว” ในวัยรุ่น
ซ้ำยังมีสารช่วยในการเผาผลาญไขมันในร่างกาย และช่วยในการขับถ่ายทำให้ร่างกายแช่มชื่น ชะลอการแก่ตัวของเชลล์
   เวลาคนเราพูดอะไรต้องมีหลักฐาน   ไม่เชื่อให้ดู “ป้าหน่อย”
ที่ยังดูสาวสดใส แม้วัยบรรพกาล


อย่างไรก็ตามแม้อาหารเมนูนี้ จะมีประโยชน์อนันต์  แต่ให้ ระวังผู้พัน ( กอกยา )  ไว้ให้แม่นมั่น
  หาก ขี้บุรี่ “ ขุ” ลงใส่แม้เพียงปลายองคุลี  รับรองเทียวไปขี้จน “ขาหล่อย”    อามะ   ภัณเต........

 
 
สาธุการบทความนี้ : 950 ครั้ง
จากสมาชิก : 5 ครั้ง
จากขาจร : 945 ครั้ง
 
 
  09 ม.ค. 2555 เวลา 15:36:04  
   ขึ้นบน ลงล่าง  
 
         

  โพสต์โดย   98) สารานุกรม แมงไม้ ใน อีสาน  
  ปิ่นลม    คห.ที่172) จิ๊ดโป่ม      [ไปที่ความเห็นนี้ ในกระทู้นี้]  
  เซียน

ภูมิลำเนา : สกลนคร
เข้าร่วม : 16 มี.ค. 2553
รวมโพสต์ : 2213
ให้สาธุการ : 180
รับสาธุการ : 5440860
รวม: 5441040 สาธุการ

 



ชื่อพื้นเมือง จิดโป่ม จิ๊หล่อ (อีสาน)  จิ้งกุ่ง (เหนือ)  จิ้งโกร่ง (กลาง)
ชื่อสามัญ  Cricket
วิทยาศาสตร์ว่า Brachytrupes portentosus
ลำดับ(order )  Orthoptera
วงศ์  (Family)   Gyllidae

จิดโป่ม เป็นแมลงในวงศ์ จิ้งหรีดที่มีขนาดใหญ่ที่สุด  แต่ครายังน้อย เคยเข้าใจว่า
เป็นสัตว์ในวงศ์ มดX supper one (พะนะ)  แต่นักวิทยาศาสตร์จัดมันอยู่ในประเภทเดียวกันกับ ตั๊กแตน
แรงดีดจากขาโต้ย (ต้นขา) แรงกว่าตั๊กแตน 2 เท่า ประมาณว่าหากมันเป็นมนุษย์
จะกระโดดไกลได้ 20 เมตร

ลักษณะทางกายภาพ
มีลำตัวยาวประมาณ ๔.๕ เซนติเมตรไม่รวมรยางค์ที่ปลายท้องและปีกคู่หลังที่ยื่นยาวออกไป
ส่วนอกกว้างที่สุดประมาณ ๑.๔ เซนติเมตร สีน้ำตาลตลอดทั้งตัว ทั้งสองเพศมีอวัยวะในการฟังเสียง
อยู่ที่โคน( tibia)ด้านนอกเป็นวงบุ๋มลงไป เพศผู้มีปีกคู่หน้าขรุขระซึ่งมีแผ่นที่ทำเสียงที่เรียกว่า ไฟล (file)
อยู่เกือบกึ่งกลางปีก และ สะแครบเปอร์ (scrapers) อยู่ที่มุมปีกด้านหลัง มีตุ่มทำเสียง (pegs)
เรียงตัวกันอยู่ที่ขอบของแผ่นทั้งสอง



จิ๊ดโป่ม มีจุดเด่นที่การร้องลำทำเพลง ทำให้เกิดเสียง เรียกว่าการ “ฮ้อง” แต่จริงๆ แล้ว

การเกิดเสียงจะเป็นการเสียดสีกันอย่างรวดเร็วโดยของปีกข้างหนึ่งเสียดสีกับ สะแครบเปอร์ของปีกอีกข้างหนึ่ง
อย่างรวดเร็ว เพศเมียไม่มีอวัยวะในการทำเสียงดังกล่าว ปีกจึงมีลักษณะเรียบ
แต่ปลายท้องมีอวัยวะในการวางไข่รูปเข็มค่อนข้างยาวยื่นออกมาซางไม่พบในเพศผู้
แมลงชนิดนี้จัดเป็นอาหารเสริมรสเลิศของบางคนในชนบท โดยเฉพาะในภาคเหนือ
และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ



วงจรชีวิต
โดยปกติ จิดโป่มมีอายุโดยเฉลี่ย  330 วัน  ตัวเมียอายุยืนกว่าตัวผู้   ตัวเมียตัวหนึ่ง วางไข่ได้
โดยเฉลี่ย  120 ฟองจากตัวอ่อนถึงตัวเต็มวัย ใช้เวลา 87 วัน  หาอยู่หากิน 180 วัน ที่เหลือ
คือการ ทำรัง (ขุดรู) และสืบพันธุ์



การจับคู่ผสมพันธุ์
ตัวเต็มวัยอยู่ในช่วงเดือนกันยายน ถึง พฤศจิกายน ( ฤดูหนาว ยามเกี่ยวข้าว )  โดยในช่วงนี้ จิดโป่ม
ตัวผู้จะทำฮัง หรือ ขุดรู เพื่อเตรียมวิมานน้อย ๆ  เมื่อเสร็จแล้ว ในตอนกลางคืน
จะทำเสียงเพื่อเรียกตัวเมีย
เมื่อตัวเมียมาหา ตัวผู้จะเดินวนเวียนไปมารอบ ๆ ตัวเมีย มักพบการต่อสู้ของตัวผู้เพื่อแย่งตัวเมียอยู่เสมอ
พฤติกรรมการผสมพันธุ์เกิดขึ้นในกลางคืน ตัวเมียที่พร้อมผสมพันธุ์จะตามหาตัวผู้จากนั้นจะซุกตัว
ที่ท้องตัวผู้ ใช้เวลาประมาณ 20 - 30 นาที จากนั้นตัวผู้จะอยู่นิ่งๆ และตัวเมียขึ้นไปอยู่บนหลัง

ตัวผู้จะกระดกปลายส่วนท้องขึ้น ในขณะที่ตัวเมียโน้มอวัยวะเพศ ซึ่งเป็นส่วนที่อยู่ต่ำกว่าอวัยวะวางไข่เล็กน้อย
ให้แนบกับถุงน้ำเชื้อของตัวผู้ ถุงน้ำเชื้อนี้มีลักษณะเป็นถุงใสๆ ถุงนี้จะมาติดอยู่ที่ปลายส่วนท้องของตัวเมีย
ช่วงนี้ใช้เวลาไม่ถึง 1 นาที จากนั้นตัวผู้จะพักอยู่นิ่งประมาณ 5 - 10 นาที  แล้วพาตัวเมียเข้ารู
การผสมพันธ์ของ จิดโป่ม ตัวเมียจะอยู่ด้านบน
เพราะฉะนั้น ภรรยาที่ชอบ ข่มเหง สามี แสดงว่า ชาติแต่ก่อนเคยเป็นจิ๊ดโป่ม



ภาพจิดโป่มที่หาลักขุดนำคันนาพ่อใหญ่สี


การกินอาหาร

จิดโป่ม กินหญ้าและใบไม้และผลไม้พื้นเมืองเป็นอาหาร เช่นในทางภาคอีสาน จิโป่มจะกิน หญ้าปล้อง
ผักโขมผักกะแยง และหญ้าวัชพืชอื่นๆ เป็นอาหาร ในฤดูทำรัง วางไข่มักจะ สะสม ผลไม้ ดอกหญ้าอื่นๆ
ไว้ในรังเพื่อเป็นอาหารในหน้าฝน จะสะสมลูกหว้า และผลไม้ลูกเล็ก ๆ ในรัง


ภาพ "ขวย" หรือ รังของ จิโป่ม

ความสำคัญต่อระบบนิเวศน์

จิดโป่มถือว่าเป็นตัวแปรในการ หมุนเวียนแหล่งธาตุอาหารในดิน และเป็นอาหารให้ สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ
สัตว์เลื้อยคลานและ นก เป็นอาหารให้ กบเขียดอึ่งอ่าง ให้ ระบบนิเวศน์อุดมสมบูรณ์  
โบราณอีสานว่า หากถิ่นไหนจิดโป่ม สมบูรณ์ครอบครัวจะเป็นปึกแผ่น พี่น้องฮักกันสามัคคี  
ปลูกพืชระยะสั้นได้ผลดีแล  อีกทั้งยังเป็นอาหารของคนในท้องถิ่น
ที่ไม่ต้องเสียภาษี ร้อยละ  7  หรือผ่านพ่อค้าคนกลาง ที่หวังกำไรไปเป็นทุนเล่นการเมือง






ความเกี่ยวเนื่องกับวิถีชีวิตคนอีสาน

จิดโป่ม หรือ จิ้งโกร่ง เป็นอาหารของชาวอีสานในฤดูเก็บเกี่ยว น้ำในหนองคลองบึงเหลือน้อย แหล่งโปรตีนหายาก
อาศัยแมลงชนิดนี้ เติมเต็มในส่วนที่พร่อง  เมื่อพ่อและแม่ ยากเวียกยากงาน เอื้อยและพี่น้องวัยไล่เลี่ยกัน
พากันถือเสียม และ คุ ลงท่ง ไปตามคันนา ท่งกว้าง ที่เกี่ยวข้าวเสร็จแล้ว เพื่อ “ขุดจิโป่ม”
บ้างก็ถือ ขวดใส่น้ำ หรือ “กะตุง” เตรียมตัวไป ฮ่ายจิ๊ดโป่ม เป็นที่สนุกสนาน
คราจันทร์ทอแสงอับเฉา ในคืนเดือนแรม ก็ถือเอา ตะเกียงหรือ โคมไฟ  ไปไต้ จิ๊ดโป่ม คนธรรพ์แห่งทุ่ง
ทุ่งนาเถาลำเนาไพร อลอึงด้วยเสียงเพรียกแห่งรัก ข้าวเหนียวจี่  กับ จิดโป่ม “จ่าม” ช่างโอชะ
เอื้อยป้อนจิ๊ดโป่มกับข้าวเหนียวให้น้อง พร้อมเช็ดขี้มูกให้   นั่งฟังนิทานที่พ่อเล่าเคล้ากลิ่นจำปาโรยร่ำ

 
 
สาธุการบทความนี้ : 947 ครั้ง
จากสมาชิก : 6 ครั้ง
จากขาจร : 941 ครั้ง
 
 
  03 มิ.ย. 2555 เวลา 17:33:43  
   ขึ้นบน ลงล่าง  
 
         

  โพสต์โดย   98) สารานุกรม แมงไม้ ใน อีสาน  
  ปิ่นลม    คห.ที่283) แมงบ้งหาน      [ไปที่ความเห็นนี้ ในกระทู้นี้]  
  เซียน

ภูมิลำเนา : สกลนคร
เข้าร่วม : 16 มี.ค. 2553
รวมโพสต์ : 2213
ให้สาธุการ : 180
รับสาธุการ : 5440860
รวม: 5441040 สาธุการ

 



ชื่อพื้นบ้าน แมงบ้งหาน
ชื่อสามัญ   Nettle Caterpillar
ชื่อวิทยาศาสตร์  Parasa lepida
Order: Lepidoptera
Family: Limacodidae
Genus: Parasa
Species: P. lepida

แมงบ้งหาน เป็นหนอนตัวอ่อนของผีเสื้อกลางคืน
ในตระกูล Limacodidae ซึ่งอยู่ในระยะ Larva
หรือ ระยะการเป็นตัวบุ้ง  ก่อนจะกลายเป็นดักแด้ และลอกคราบกลายเป็นผีเสื้อกลางคืน

เพราะฉะนั้นตัวเต็มวัยซึ่งเป็นแมลงผีเสื้อกลางคืน เฮาส่วนมากจะไม่ค่อยพบเห็นเท่าไหร่
แต่ส่วนใหญ่พี่น้องชาวอีสาน จะพบเจอ " แมงบ้งหาน" ตามที่ กระผมนำเสนอนี้เป็นส่วนมาก



ลักษณะทั่วไป
บ้งหาน (อีสาน) บุ้งร่าน (กลาง)  เป็นตัวหนอนสีเขียวแพรวพราว มีขนาดตั้งแต่  2 ซม. - 5 ซม.
มีขนแข็งสีเขียวสด มีจุดม่วงแดง หรือน้ำเงินสลับอยู่บนตัว  มีลายสีขาวหม่นพาดยาว
พบได้ทั่วไปในประเทศไทย และเขตอบอุ่น
ขนของมันมีพิษร้าย โดนทิ่มเข้า เป็นต้องปวดแสบร้อน กล้ามเนื้อเกร็ง เป็นผื่นแดง น้ำตาเล็ด วิ่งพล่าน
บางรายมีอาการแพ้พิษของ แมงบ้งหาน จนกล้ามเนื้อเป็นอัมพาตไปชั่วขณะ
ในบรรดาแมงบ้ง หรือตัวบุ้ง ชนิดนี้หละครับ โหดสุด โดนเข้าหละก็  "บัดกับหม่อง" แน่นอน





ที่อยู่อาศัยในธรรมชาติ
ตอนโตเต็มวัย มันเป็นแมลงที่ปราศจากพิษภัยใด ๆ  รักสงบ และหากินน้ำหวานจากดอกไม้
ในเวลากลางคืน แต่ตอนเป็นตัวหนอนนี่ร้ายกาจ มักหลบตามใบไม้ พุ่มไม้ อาศัยกินใบไม้
ตามป่าเป็นอาหาร ที่อยู่ทั่วไปคือ ป่าโปร่ง ป่าแดง ป่าเต็งรัง และป่าเบญจพรรณ

วงจรชีวิต
ผสมพันธุ์กันในช่วง เดือน พ.ค. - มิ.ย. ในช่วงที่เป็น "แมงกะเบี้ย" (ผีเสื้อ) และจะวางไข่ใต้ใบไม้
หรือตามเปลือกไม้ ลักษณะเป็นกระเปราะกลม ๆ ขนาด 5 - 10  มม.


ระยะไข่ 3-5 วัน จะฟักตัวเป็นหนอน ออกมาในวันแรก ๆ จะอยู่กันเป็นกลุ่มๆ
หลังจาก  1 อาทิตย์ พอมีขนปกป้องตัวแล้ว มันจะแยกกันอยู่ตามใบไม้ เพื่อหากิน
ระยะหนอนมี 7 วัย เพศเมียมักมี 8 วัย ระยะอยู่ในสภาพตัวหนอน  ราว 35-42 วัน
จากนั้นจะเข้าสู่ระยะดักแด้  สายพันธุ์ที่พบบ่อย ช่วงนี้จะมีขนยาวปกคลุม ยึดเกาะกับใบไม้
มักจะยึดอยู่ตามใต้ใบไม้ หลบอยู่นิ่งๆ เพื่อรอลอกคราบ เป็นผีเสื้อ


ภาพแมงบ้งหาน ( ชนิดตัวใหญ่ ) ระยะดักแด้  
ช่วงนี้อันตรายสุด ๆ อย่าได้กลายใกล้  เด็กน้อยขี้ดื้อ พึงระวัง


ภาพ กระเปาะดักแด้ แมงบ้งหาน อีกประเภท ในระยะดักแด้


อีกสายพันธุ์หนึ่งที่ตัวเล็กกว่า ดักแด้มีปลอกดักแด้คล้ายฝาชีครึ่งวงกลมครอบอยู่
มีขนาดยาว 15 มิลลิเมตร ระยะดักแด้ 21-24 วัน  จึงทะลุปลอกออกมาเป็นตัวเต็มวัย
ตัวเต็มวัยมีปีกกว้าง 30-32 มิลลิเมตร ตลอดวงจรชีวิตใช้เวลา 65-70 วัน


อันนี้ภาพ กระเปาะที่มันทิ้งร้าง เพราะลอกคราบออกมาหมดแล้ว


นี่ไงตัวเต็มวัยของแมลงชนิดนี้ เด้อพี่น้อง  เคยเห็นบ่


บทบาทตามหน้าที่ในธรรมชาติ
ช่วยผสมพันธุ์เกสร ให้กับพืชที่ออกดอกกลางคืน
เป็นอาหารของ ค้างคาว , บ่าง  นก กิ้งก่า
และเป็นอาหารของแตนเบียนหลายชนิด ในระบบนิเวศน์


กับเกี่ยวพันกับวิถีชีวิตอีสาน
เมื่อเราเข้าป่าหาเห็ด หรือเลี้ยงวัวควายตามป่าโปร่ง บางครั้งไม่ระวัง
เดินไปโดนตัวของมันเข้า เป็นอันน้ำตาแตก ร้องฟูมฟาย วิ่งหนีตาเหลือก
เมื่อวิ่งไปหาผู้เฒ่าผู้แก่ ก็จะถ่มน้ำลายเป่าพร้อมเล่าคาถา
" อมสะหม สะหี นกขี้ถี่ ถืดถึ่ง เพี้ยง !  เซา ๆ "
พร้อมบอกกล่าวสั่งสอนว่า
"ไปไสมาไส ให้ระวังดังนี้  1.คน 2. อุบัติเหตุ 3. สัตว์ฮ้าย "
คนไร้ศีลธรรม จริยธรรมนั้น ร้ายยิ่งกว่าสัตว์ใด ๆ ในโลกา
หล่าเอ้ย.....    

ขอบพระคุณภาพประกอบ จาก อินเตอร์เน็ต

 
 
สาธุการบทความนี้ : 939 ครั้ง
จากสมาชิก : 1 ครั้ง
จากขาจร : 938 ครั้ง
 
 
  17 พ.ค. 2556 เวลา 15:44:38  
   ขึ้นบน ลงล่าง  
 
         

  โพสต์โดย   99) หาหน่อไม้ บ้านบ่าวปิ่น กินวอสก้า..  
  ปิ่นลม    คห.ที่3)       [ไปที่ความเห็นนี้ ในกระทู้นี้]  
  เซียน

ภูมิลำเนา : สกลนคร
เข้าร่วม : 16 มี.ค. 2553
รวมโพสต์ : 2213
ให้สาธุการ : 180
รับสาธุการ : 5440860
รวม: 5441040 สาธุการ

 



ได้ยินข่าวว่า สาวส่า ฯ สิเอางัวมาเลี้ยงพร้อม  อันนี้ โอเค
เนื่องจาก ด้านข้างของสำนักฯ  เป็นเดิ่นใหญ่  ดังภาพ  
จารย์ใหญ่ เห็นเดิ่นแล้ว  ว่าจั๋งได๋

 
 
สาธุการบทความนี้ : 935 ครั้ง
จากสมาชิก : 0 ครั้ง
จากขาจร : 935 ครั้ง
 
 
  15 ก.ค. 2553 เวลา 14:00:46  
   ขึ้นบน ลงล่าง  
 
         

  โพสต์โดย   98) สารานุกรม แมงไม้ ใน อีสาน  
  ปิ่นลม    คห.ที่292) มดแดง ( แม่ทัพแห่งโคกป่า )      [ไปที่ความเห็นนี้ ในกระทู้นี้]  
  เซียน

ภูมิลำเนา : สกลนคร
เข้าร่วม : 16 มี.ค. 2553
รวมโพสต์ : 2213
ให้สาธุการ : 180
รับสาธุการ : 5440860
รวม: 5441040 สาธุการ

 



ชื่อภาษาไทย           มดแดง
ชื่อวิทยาศาสตร์   Oecophylla smaragdina Fabricius
ชื่อสามัญ   Red Ant, Green Tree Ant
อันดับ Hymenoptera
วงศ์ Formicidae
มดที่พบและรายงานบันทึกแล้ว ในประเทศไทยมี 247 ชนิดใน 9 วงศ์ย่อย
แต่มดชนิดนี้ โด่งดังรู้จักกันถ้วนหน้า ส่วนหนึ่งมาจาก รสนิยมการกิน "แมลง"
ของพี่น้องบ้านเรา "อีซาเนีย"  คือ อีสานบ้านหมู่เฮา นี่หละ

"ไข่มดแดง" คือ อาหารชั้นสูงบนยอดไม้ เพราะมันเป็นมด ที่ทำรังบนต้นไม้
ซึ่งมีเพียง 3 สายพันธุ์เท่านั้น มดส่วนใหญ่ ทำรังบนดิน , ใต้ดิน และโพรงไม้ ขอรับ




มดแดง โดดเด่นที่สุดในบรรดาสายพันธุ์ที่ทำรังบนต้นไม้  มันเป็น"ฮีโร่" ของคนหลายคน
ในประเทศ ญี่ปุ่น ฮีโร่ สายพันธุ์ ไอ้มดแดง กลายเป็นขวัญใจเด็ก ๆ  ในฐานะผู้พิทักษ์โลก
ผู้ผดุงคุณธรรม ต่อกรกับความชั่วร้าย มีท่าไม้ตายคือ"ท่ามอญยันหลัก" SUPER KICK "
นั่นคือการ ออกแบบของศิลปิน โดยอาศัยโครงสร้างจาก มดแดงแมลงตัวเล็ก ๆ




ในโลกแห่งความเป็นจริงนั้น มดแดง เป็นสัตว์ที่ประสบผลสำเร็จในด้านการปกครอง
เหนือชั้นกว่าทุกลัทธิ ทุกระบอบ ที่ปัญญาของมนุษย์คิดค้นขึ้นมาใช้ในโลกา
มดแดงในรังไม่ต้องมีหัวหน้าคอยสั่งการ ไม่เอาเปรียบกัน ต่างทุ่มเทเสียสละทำงาน
ทำตามหน้าที่ของตนไม่เกี่ยงงอน ไม่อิจฉาริษยา ไม่รังแกทำร้ายกัน ไม่ก้าวก่ายหน้าที่กัน
ไม่ต้องมีศาลหรือ ออกกฎหมายปกครอง บ้านเมืองของมดแดง ก็สงบสุข   ต่างเสียสละ
เพื่อรังของมัน ที่ยึดมั่นคือ" ความสามัคคี"   นั่นคือเหตุผลที่มี อยู่รอดมาได้
เป็นเวลา 30 ล้านปี ก่อนจะปรากฏ มนุษย์ผู้เลิศด้วยปัญญา  
มดแดง คือมดที่ วิวัฒนาการขั้นสูงสุดในบรรดามดทั้งมวล
ทั้งด้านกลยุทธ การปกครอง จริยธรรม ขาดอย่างเดียว คือ ปัญญาประดิษฐ์
นั่นเพราะสัจธรรม ธรรมชาติใด ๆ ทั้งปวง ล้วนไม่สมบูรณ์แบบ
ธรรมชาตินั้น ชิงชังความสมบูรณ์แบบ

มดแดง คือมดที่น่าสนใจเอามาก ๆ  เพราะเป็นราชันย์แห่งมวลมด
การศึกษาวิจัย ทำความเข้าใจเกี่ยวกับมัน อาจนำมาซึ่งประโยชน์
แก่มวลมนุษย์มหาศาล เกินจินตนาการของเราโดยสิ้นเชิง


ลักษณะทางกายภาพ


มดแดง มีลำตัวสีแดง บางครั้ง "แม่เป้ง" (นางพญา) ก็มีสีเขียว แต่โดยทั่วไปนั้น
มีขนาดลำตัว 9 - 11 มม. มีรูปร่างยาวเรียว เอวคอดกิ่ว ปากเป็นแบบปากกัด บ่มีเหล็กไน
รูปร่างยาวเรียว เคลื่อนไหวได้คล่องแคล่ว มีสีแดงส้ม บางแห่ง อาจมีสีเขียว
เพราะอยู่ในเขตป่าฝนชื้น แต่ที่พบในเมืองไทย มีสีแดงส้ม  
นั่นคือมดแดงที่เราเห็นจนชินตา

ภายในตัวมดงาน ( อีสานเรียกว่า มดส้ม)  จะมีกรด ฟอร์มิค ซึ่งมีฤทธิ์กัดกร่อน แสบร้อน
มันเอาไว้ป้องกันตัว และล่าเหยื่อ ทดแทนการไม่มีเหล็กไน
มันเป็นนักสงครามเคมีขั้นเทพ >


นักวิจัยจากสถาบันแห่งหนึ่งในประเทศเยอรมัน วิจัยตัวเร่งปฏิกิริยา สกัดเอาไฮโดรเจน
จากกรดมด (Formic acid, HCOOH) โดยไม่ต้องอาศัยอุณหภูมิที่สูงในการแยกเอาไฮโดรเจนออกมา
ซึ่งจำเป็นในการแยกไฮโดรเจนในปฏิกิริยาอื่น และสามารถนำไปใช้ในเซลล์เชื้อเพลิง


นักวิจัยได้พัฒนาวิธีแยกไฮโดรเจนจากกรดมดโดย ในสภาวะที่ปรากฏ เอมีน(เช่น N,N-dimethylhexylamine)
และตัวเร่งที่เหมาะสม (เช่นตัวเร่งที่ขายตัวไป ruthenium phosphine complex [RuCl2(PPH3)2])
กรดมด จะถูกเปลี่ยนไปเป็น คาร์บอนไดออกไซด์และไฮโดรเจนในทันที (HCOOH = H2 + CO2)
การเร่งที่ง่าย ๆ โดยใช้ตัวถ่าน Charcoal  เป็นตัวกรองจับคาร์บอนไดออกไซด์ไว้ ซึ่งทำให้ไฮโดรเจน
ที่ออกมามีความบริสุทธิ์จนใช้ในเซลล์เชื้อเพลิงได้

ไม่แน่ในอนาคต เชื้อเพลิงบริสุทธิ์ ที่ใช้เติมยานพาหนะล้ำสมัย อาจมาจาก "ฮังมดแดง" พะนะ




มดแดงแต่ละประเภทในรังของมัน
1. มดนางพญา (ราชินีมด )  มีลำตัวยาว 15 มม. มีสีชมพู หรือสีเขียวอ่อนจางๆ ท้องใหญ่
   คือผู้ให้กำเนิดอาณาจักร มีหน้าที่ออกไข่ รับข่าวสารจากมดงาน ประมวลผลว่า
    จะออกไข่ชนิดใด กำหนดจำนวนและชนิดของประชากรในรัง ให้เหมาะกับแต่ละฤดูกาล
2. มดนาง ในภาษาอีสาน  คือมดตัวเมีย ซึ่งจะทำหน้าที่สืบพันธุ์ เตรียมตัวเป็น
     นางพญามด ในวันข้างหน้า มีลักษณะเหมือนกับ  มดนางพญา แต่มีปีก อาจมีสีแดง
      สีชมพู หรือสีเขียว ก้นใหญ่อวบอิ่ม อาจมีเฉพาะฤดูกาลผสมพันธุ์ ห้วงเดือน เม.ย.-พ.ค.
3. มดตัวผู้ มีขนาดเล็กกว่าบรรดามดในรั้งทั้งหมด มีขนาด 6- 8 มม .ลำตัวเรียวเล็ก
     มีสีน้ำตาลแก่ แดง  จนถึงสีดำ  มีปีกเหมือน แม่เป้ง (มดนาง) มีหน้าที่บินไปผสมพันธุ์กับ
     มดนางแม่เป้ง   เมื่อฤดูผสมพันธุ์ มาถึง มักจะมีเฉพาะฤดูกาล
4. มดงาน คือมดแดง ที่เราเห็นกันบ่อยๆ มีหน้าที่หาอาหาร สร้างรัง สะสมเสบียง
   เลี้ยงดูสมาชิกอื่นในรัง ทำหน้าที่ทหารเมื่อรังถูกคุกคาม เรียกได้ว่าเป็น เครื่องจักรสีแดง
   ทำงานหามรุ่งหามค่ำ เพื่ออาณาจักรอย่างแท้จริง


5. มดทาส หรือ มดสายลับ คือ มดชนิดอื่น ๆ ภายในรังของมดแดง เช่น มดดำตะลาน มดดำขน
    มดดำฉุน  เกิดจากการ ขโมยไข่มดชนิดอื่นมาเลี้ยงในรัง เพื่อประโยชน์ในการศึกษาพฤติกรรม
   และปลอมตัวเข้าไปล้วงความลับ ของแหล่งอาหารในมดต่างชนิด อีกทั้งมดแดงนั้น
   ไม่มีมีสัญชาตญาณในการทำนายสภาพอากาศ จึงอาศัยมดต่างชนิด ที่มีความสามารถด้านนี้
   ช่วยในการทำหน้าที่เป็น "กรมอุตุนิยมวิทยา"


ภาพมดดำชนิดที่ มดแดงชอบเอามาเลี้ยงในรัง เป็นมดทาส



การดำรงชีวิตและการสร้างรัง
มดแดงจะผสมพันธุ์กันในช่วงต้นฤดูฝน แม่เป้งกับมดผู้จะบินขึ้นไปผสมพันธุ์
บนกลางอากาศ แล้วมดแม่เป้ง ก็จะหาทำเลเหมาะ ๆ ในการออกไข่บนใบไม้


ภาพ แม่งเป้ง กำลังร่อนเร่ หาที่เหมาะในการสร้างรัง


ภาพแม่เป้ง กำลังออกไข่ชุดแรกบนใบไม้ ถนุถนอม เพิ่มจำนวนมดเพื่อสร้างรัง

เมื่อมีจำนวนมดงานมากพอแล้ว มดแดงจะช่วยกันทำรังบนต้นไม้
โดยใช้เส้นใยจากตัวอ่อนของมดแดง เป็นกาวเชื่อมต่อใบไม้ให้เป็นรัง
มดงานจะเกาะตัวกันเป็นลูกโซ่ เพื่อดึงใบไม้มาชิดกัน
แล้วเส้นใยเชื่อมให้ใบแต่ใบติดกัน ห่อหุ้มเป็นรังมดแดง  
ต้องอาศัยความสามัคคีอย่างยิ่งยวด


มันกินอาหารได้หลายหลาก ทั้งเมล็ดพืช แมลง และซากของสัตว์ชนิดอื่นที่ตายลง
แม้แต่เศษอาหารของมนุษย์ก็เป็นอาหารของมันได้เช่นกัน




สังคมของมดแดงภายในรังคล้ายกับมนุษย์ มีการแบ่งหน้าที่กันทำงาน
มดงานในรัง เป็นแบบ polymorphic  มีรูปร่างต่างแบบกัน
เช่น มดงาน แบบ major worker ส่วนใหญ่หน้าที่คือออกไปนอกรังหาอาหาร
มดงาน แบบ minor worker ทำหน้าที่ดูแลไข่ และเลี้ยงดูนางพญา
มดงาน แบบ ect. worker คือมดต่างสายพันธุ์ ที่มดแดงเก็บไข่มาเลี้ยง
ส่วนใหญ่เป็นมดดำ ที่ทำรังใต้ดิน หรือตามขอนไม้ผุ
มดจำพวก ect. worker ในแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับระบบนิเวศน์ท้องถิ่น
ซึ่งมดจำพวกนี้ จะมีเฉพาะรังที่มีอาณาจักรใหญ่แล้วเท่านั้น

( รังอาจไม่มีมดจำพวก ect. worker เพราะพื้นที่ ขาดความหลากหลายทางชีวภาพ )



รังของมันมีอยู่ 3 ประเภท คือ รังที่พักของมดนักล่า รังฉุกเฉิน และรังใหญ่
หากเราสังเกตดีๆ ตามต้นไม้ที่มีรังมดแดง จะมีหลายรัง บ้างก็รังเล็ก ๆ บ้างก็รังที่อยู่ต่ำ ๆ
กระจายกันอยู่รอบบริเวณรังใหญ่ของนางพญา ( รังที่เราไปเอาไข่มัน )
ซึ่งแต่ละรังใช้ประโยชน์ต่างกัน



คิดเอาเองหรือเปล่า พะนะ (ลังคนสงสัย)  เด็กบ้านนอกอย่างผม อาศัยเวลาว่าง
ในขณะที่เลี้ยงควาย รอดาวเทียมไทยคมหมดอายุ  สังเกตสังกา รังมดแดง
พบว่ามดแดงนั้นหากินไกลได้ถึง 1 ตารางกิโลเมตร  การขนย้ายอาหารเป็นเรื่องลำบาก
บ้างครั้งขนทั้งวันยังไม่ถึงรังแม่ มันจึงสร้างรังพักระหว่างทางในการหาอาหาร
เมื่อล่าแมลงอื่นมาได้ 4 ตัวหาม 3 ตัวแห่ จะลำเลียงมาพักคอยไว้ก่อน ในรังเล็ก
จากนั้นจะมีพวกมารับช่วงต่อ หาบคลอนขึ้นไปหารังใหญ่ (รังที่มีไข่)
รังกระเปาะเล็ก ๆ ต่ำ ๆ ที่อยู่ห่างจากรังแม่ ประมาณ 300 เมตร หรือน้อยกว่านั้น
เรียกว่า "รังนักล่า"


ภาพตัวอย่าง รังนักล่าของมดแดง

ประโยชน์ก็คือ เป็นที่พักชั่วคราวของมดงาน และพักซ่อนอาหาร จากสายตาสัตว์อื่น
ก่อนจะลำเลียงสู่รังใหญ่  เพราะหาก ขนย้ายระยะทางไกล เป็นจุดเด่น
มักจะถูก นกเอี้ยงสาริกา นกเอี้ยงโหม่ง หรือนกอื่นๆ แย่งอาหารไปได้


รังฉุกเฉิน  คือรังใหญ่ขึ้นมาหน่อย ในไม้ต้นเดียวกัน แต่ไม่ใช่รังของราชินี (แม่เป้ง)
ใช้สำหรับเมื่อห้วงราชินีออกไข่ ทำให้รังแออัด รองรับจำนวนมดทั้งหมดไม่ได้
จำต้องสร้างรังอีกประเภท ไว้เป็นที่พักของบรรดามดงาน และเก็บอาหาร
บางประเภทไว้ฉุกเฉิน   กรณีที่รังใหญ่ ประสบภัยพิบัติ


วงจรชีวิต


มดแดง มีการเจริญเติบโตแบบที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างสมบูรณ์ (complete metamorphosis)
โดยในวงจรชีวิตจะประกอบด้วย  4 ระยะ ได้แก่  ไข่ ตัวหนอน ดักแด้ และตัวเต็มวัย

มดงานมีอายุ 1 ปี  มดตัวผู้ มีอายุ 6 เดือน  ส่วนมดนางพญา มีอายุยืนยาวได้ถึง 10 ปีทีเดียว




บทบาทตามหน้าที่ในธรรมชาติ
มดแดงทำหน้าที่ นักเก็บขยะ หรือเทศบาลในธรรมชาติ ทำหน้าที่ควบคุมแมลง และหนอน
ที่จะกัดกินต้นพืชให้เสียหาย จัดการแมลงชนิดอื่น ถ่วงสมดุลให้ธรรมชาติ
ให้ไม้ผล ออกผลสมบูรณ์ดี ผลไม้ไม่เน่าเสีย ป้องกันแมลงวางไข่ หนอนเจาะผลไม้
และหน้าที่เป็นแบบไม่ได้ตั้งใจคือ เป็นอาหารของมนุษย์ และเครื่องปรุงอาหาร
ประเภท "ก้อย"  "ต้ม"  "ตำเมี่ยง" แกง พร้อมเป็นกับแกล้มชั้นดี



ความเกี่ยวพันกับวิถีชีวิตอีสาน
คนอีสานกินไข่มดแดง เป็นอาหารมาตั้งแต่ โคลัมบัส ยังไม่เกิด  เป็นอาหารพื้นบ้านที่นิยม
ก่อนนี้ 30 ปี ยังเป็นแค่อาหารของ ผู้ใช้แรงงาน อาหารบ้านนอก ผู้ด้อยโอกาส
เมื่อยุค แผนพัฒนาเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4 มาถึง  การอพยพแรงงานจากภาคอีสาน ได้ตะลุย
บุกที่ถิ่นที่ แม้กระทั่งเป็นแม่บ้านฝรั่งดังโม ได้นำเอาเทคนิคการกินไข่มดแดงเผยแพร่
หาแหย่ หาซั๊วรังมดแดง มาทำเป็นอาหารหลากหลาย  จนกลายเป็น อาหารภัตตาคาร



บันทึกไว้ตรงนี้ก็ได้ ชาวอีสานและ ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง เป็นชนชาติแรกที่คิดค้น
การกินไข่มดแดงเป็นอาหาร  หรือจะนิยามใหม่ให้เป็น "ไข่โคกเวียร์" เทียบชั้น
ไข่ปลาคาเวียร์ ที่แพงยังกะทองคำในซีกยุโรป



ปัจจุบันไข่มดแดง เป็นสินค้าเศรษฐกิจ ที่สร้างได้งามแก่ผู้คิดดัดแปลงเพาะเลี้ยง
เพราะสภาพป่าโคก ป่าท้องถิ่น ถูกแนวคิด "พัฒนาเหี้ยนเต้" ครอบงำ
จนพี่น้องชาวอีสานเข้าถึงมดแดงได้ยากขึ้น จำนวนลดลง ตามสภาพป่าโคกอีสาน



ในอนาคตอาจมี ไข่มดแดงอัดกระป๋อง เป็นสินค้าส่งออก สร้างรายได้ให้ประเทศ
ในอนาคตอีก อาจใช้แมลงชนิดนี้ในการ ผลิตเชื้อเพลิงบริสุทธิ์ เติมยานพาหนะ
ใครจะไปรู้ถึงตอนนั้น "มดแดง "  อาจเป็นผู้ครองโลกแทนเราก็ได้



ขอบคุณภาพประกอบ และข้อมูลทั่วไปจาก

www.malaeng.com
www.oknation.net
www.wellcome-hi.com
www.blognone.com
www.enn.co.th

 
 
สาธุการบทความนี้ : 933 ครั้ง
จากสมาชิก : 3 ครั้ง
จากขาจร : 930 ครั้ง
 
 
  21 มิ.ย. 2556 เวลา 11:10:02  
   ขึ้นบน ลงล่าง  
 
         

  โพสต์โดย   98) สารานุกรม แมงไม้ ใน อีสาน  
  ปิ่นลม    คห.ที่199) แมงแคงขาโป้ง (ขาโป้)      [ไปที่ความเห็นนี้ ในกระทู้นี้]  
  เซียน

ภูมิลำเนา : สกลนคร
เข้าร่วม : 16 มี.ค. 2553
รวมโพสต์ : 2213
ให้สาธุการ : 180
รับสาธุการ : 5440860
รวม: 5441040 สาธุการ

 



ชื่อวิทยาศาสตร์  Anoplocnemis plasiana F.
ชื่อสามัญ Coreid bug, Squash bug
ชื่อพื้นบ้าน  แมงแคงขาโป้ง  แมงแคงขาโป้
ชื่อภาษาไทย  มวนนักกล้าม
อาณาจักร Animalia
ไฟลัม    arthropoda
คลาส  insecta
อันดับ Hemiptera
อันดับย่อย  Gymnocerata
วงศ์  Coreidae


ขอบคุณภาพ จากป้าหน่อยครับ

กล่าวนำ  
นักวิทยาศาสตร์ หรือ ผู้เชี่ยวชาญ  เรียกมันว่า มวนถั่ว (มาลีมง)   จัดเข้าในประเภทเดียวกันกับ
แมงแคงค้อ แมงแดง เช่นเดียวกับที่ชาวอีสานโบราณ เรียกชื่อมัน ว่า “แมงแคงขาโป้ หรือ ขาโป้ง “  เพิ่มลักษณะเด่น
ของมันเพื่อให้จดจำง่าย ว่ากันว่าพบกระจายในพื้นที่ประเทศไทย  จารย์ใหญ่แห่งมุกดาหาร ที่ปลูกถั่วลิสง
ช่วยตรวจสอบด้วย   มีแมงอันนี้ มากินใบถั่วหรือไม่   หากไม่มีมากิน ก็อย่าเชื่อ ว่ามันกินถั่ว
เท่าที่พบมา แมงแคงชนิดนี้ พบตามต้นไม้ท้องถิ่น เช่น “ต้นแมงแคงขาโป้” ต้นคูน
และไม้พันธุ์ท้องถิ่น  มักเกาะตามใบอ่อน  หรือยอดพืชที่กำลังผลิใบ
แมลงชนิดนี้ ดูดกินน้ำเลี้ยงจาก ก้านใบของพืช  อาจจะแพร่ระบาดในถิ่นอื่น
หากแต่เจอคนอีสานเข้าไป  "ไม่ดับแนว" ก็บุญโข  เพราะเป็นอาหารระดับ แฟทตินั่ม พะนะ




ลักษณะทางกายภาพ
ลักษณะลำตัว เป็นรูปทรงกระบอก  หนวดสีดำ ปีกชั้นใน สีชมพูอ่อน  ปีกชั้นนอกสีน้ำตาลดำ
มีปากแบบเจาะดูด  มีตาแบบ ตารวม  ขา 4 ขา สั้น ส่วนอีก 2 ขาหลัง  มีขนาดใหญ่
ลักษณะโค้งเข้าหาลำตัว ขาอันใหญ่ผิดปกตินี้เอง คือที่มาของชื่อ เพราะว่ามัน “โป” ซึ่งแปลว่า
ใหญ่กว่าปกติ ลำตัวมีขนาดยาว 3- 4 ซม.


ขอบคุณเจ้าของภาพ ตามที่ปรากฏในภาพครับ

นอกเรื่อง
ไม่รู้ว่าท่านเคยดูหนังเรื่อง “ สงครามบ้งกื๋อ ล่าล้างจักรยาน” ไหมครับ    อ้อ ชื่อเรื่องผิดแฮะ
“ สงครามหมื่นขา ล่าล้างจักวาล”   ไอ้ตัวแมลงที่ ใช้ขาสับหัวคน  “ใช่เลย  แมงแคงขาโป”
เพียงแต่ขาหลังสลับมาอยู่ขาหน้าแทน   ไอ้ตัวแมลง”หัวเสธ”  หัวหน้าทัพแมลง ดูยังไง
ก็คิดถึง “ นางพญาปลวก”   ที่อีเกียดำ ดุ่มเดินหา “ซะ” โพน  หวังเอามาเป็นเหยื่อล่อปลาช่อน


ภาพจาก อินเตอร์เน็ต ครับ


วงจรชีวิต
วางไข่ ช่วงต้นฤดูฝน  ตัวหนึ่งวางไข่ประมาณ 30 ฟอง ใช้เวลาฟักเป็น ตัว 7 วัน
ตัวอ่อนระยะแรก  อายุ 10 วัน มีลักษณะ ตัวเล็ก ๆ แดงๆ อยู่กันเป็นกลุ่มใต้ใบไม้  
ตัวอ่อนระยะที่ 2 มีขาดเกือบเท่าตัวเต็มวัย แต่ปีกยังไม่งอก มีขาขนาดใหญ่แล้ว
ใช้เวลา จากระยะนี้เป็นตัวเต็มวัย 5 วัน     กล่าวกันว่า มันมีอายุขัย ทั้งสิ้น 100 วัน


ภาพจาก อินเตอร์เน็ต

ความสัมพันธ์กับวิถีชาวอีสาน

แมลงชนิดนี้ เป็นอาหาร จานเด็ดของ กะปอมก่า กะปอมแดง  และนกต่างๆ  เพราะมีรสชาติ แซบ
หากจับได้คราละมาก ๆ สามารถนำมาทำน้ำพริกได้  แต่ส่วนใหญ่จะเป็นอาหาร จานด่วน
ของเด็กน้อย เลี้ยงงัว  จับได้ปุ๊บ ก็ เด็ดปีก” โม่มขาโต้ย” มันก่อน เพราะมันใหญ่
จากนั้นก็ กินตัวมันเป็น ๆ
หากว่าเป็น “ขาร็อก” หน่อย ก็จะ เด็ดขาโปของมัน  เด็ดขาช่วงแรก เหลือแต่ ต้นขาใหญ่
จากนั้นก็นำ ดอกหญ้าเจ้าชู้ มาเสียบแทน ขาข้อหลัง  ปล่อยให้มันบิน เหมือน เครื่องบิน ชี-นุ๊ค ลากของหนัก
จากนั้นก็ วิ่งตามกันเป็นพรวน  เฮโลสาระพา  เป็นที่สนุกสนาน ในมุมมองของเด็ก




แมงแคงบาโป้ง ตัวเมีย ขาบ่โป้ง เท่าตัวผู้ อันนี้ถ่ายมาจาก โคกโสกฮัง


อย่างไรก็ตาม มันสามารถปล่อยฉี่ หรือสารกลิ่นฉุน ป้องกันตัวมัน ซึ่งมีสภาพเป็นกรด ต้องระวังไว้บ้าง
แมลงน้อยอันนี้ คือ ชิ้นส่วนเล็ก ๆ ของธรรมชาติที่ใหญ่ยิ่ง  เรายังไม่ได้ศึกษาชิ้นส่วนนี้ให้ชัดแจ้ง
ว่ามันเกี่ยวเนื่องกับ ชิ้นส่วนอื่นที่ใหญ่กว่าอย่างไร  มันอาจจะซ่อนประโยชน์ ต่อมวลมนุษย์ไว้
ภายใต้ “ขาโป้ง” อันน่าพิสมัยของมัน  

ชาวอีสานหลายพื้นที่รู้จักแมลงชนิดนี้ ดี เพราะมีให้เห็นตาม ท่งนา ป่าโคก แลเห็นมันเป็นอาหาร
และไม่ได้มี พิษภัย คุกคามพืชไร่ พืชนา  มันคือส่วนประกอบหนึ่งเล็ก ๆ ที่ทำให้ วิถีเรียบง่าย
แอบอิงธรรมชาตินั้น เปรมปริ่ม

 
 
สาธุการบทความนี้ : 927 ครั้ง
จากสมาชิก : 1 ครั้ง
จากขาจร : 926 ครั้ง
 
 
  04 ก.ค. 2555 เวลา 16:20:03  
   ขึ้นบน ลงล่าง  
 
         

  โพสต์โดย   98) สารานุกรม แมงไม้ ใน อีสาน  
  ปิ่นลม    คห.ที่260) แมงภู่      [ไปที่ความเห็นนี้ ในกระทู้นี้]  
  เซียน

ภูมิลำเนา : สกลนคร
เข้าร่วม : 16 มี.ค. 2553
รวมโพสต์ : 2213
ให้สาธุการ : 180
รับสาธุการ : 5440860
รวม: 5441040 สาธุการ

 

ขอบคุณเจ้าของภาพครับ

ชื่อพื้นบ้าน         แมงภู่
ชื่อภาษาไทย       แมลงภู่ภมร
ชื่อสามัญ          carpenter  bees
ชื่อ วิทยาศาสตร์  Xylocopa varipuncta
Phylum           Arthropoda
Subphylum     Hexapoda
Class              Insecta
Inflaclass        Neoptera
Superorder     Endopterygota
Order            Hymenoptera
Suborder      Aprocrita
Family          Xylocopidae

หึย..ประสาแมงภู่ ซือ ๆพะนะลังคนอ่านแล้วกะดาย   แมงภู่กะสิว่า หึย..ประสาคนซือ ๆ
เพราะฉะนั้น ด้วยเหตุและผลเดียวกัน  เราจึงควรศึกษาทำความเข้าใจ จะได้รู้ว่าแมลงชนิดนี้
มีความเกี่ยวพันกับ วิถีมนุษย์ วิถีธรรมชาติอย่างไร  อย่าให้แมงภู่ว่าให้เฮาได้
ว่าเกิดเป็นคนซือ ๆ

กล่าวนำ
ครั้งเมื่อ ขงเบ้ง ผู้ฉลาดบันลือโลกใกล้สิ้นลมเพราะสังขาร ในขณะที่ทำการศึกกับ สุมาอี้ ในดินแดนวุ่ยก๊ก
ได้สั่งเสียกับ เกียงอุย ศิษย์เอกไว้ว่า  เมื่อตัวเราตาย จงหาหม้อมา จับแมงภู่ลงไปขังไว้ 100 ตัว
แล้วมัดศพเราในท่านั่งอ่านตำราบนหม้อนั้น จัดขบวนทัพเหมือนเดินทัพอย่างใจเย็น อย่าหวาดหวั่น
แล้วค่อยๆ ถอยทัพกลับเมืองไป  เมื่อทำดังนี้แล้ว สุมาอี้จะไม่กล้าไล่ติดตาม เหตุเพราะคิดว่าเรายังมีชีวิตอยู่
นั่นคือ สามก๊ก  สุดยอดตำนานของจีน  บงเบ้งยังต้องพึ่งแมงภู่  เขามิได้ดูแคลนแมลงชนิดนี้เลย

หันกลับมาดู "เซียงเมี่ยง" เจ้าปัญญา วรรณกรรมอีสาน  เจ้าพญานั่งเมือง ใส่ยาพิษที่ปรุงเอง ให้เขากิน
ก่อนเขาตายได้สั่งให้เมีย ทำแบบเดียวเหมือนกับขงเบ้ง  คือนั่งบนหม้อที่ขังแมงภู่ไว้หลายร้อยตัว
ทำท่าอ่านหนังสือ  เสนาอำมาตย์ที่มาสังเกตการณ์ กลับไปรายงานพระยาว่า
" บักเซียงเมี่ยง ยังบ่ตาย  นั่งอ่านหนังสือเสย พะนะ"
เจ้าพญาเกิดแคลงใจในยาพิษ จึงทดลองดื่ม ตกตายไปตามกัน

พระสุตตันตปิฎก เล่ม 19 ขุททกนิกาย ชาดก ภาค 1 - หน้าที่ 225
อัฏฐสัททชาดก  ว่าด้วยนิพพาน
[1131] ดูก่อน มหาบพิตร คติของกระพี้ไม้นั้นมีอยู่เพียงใด กระพี้ไม้ทั้งหมด แมลงภู่เจาะกินสิ้นแล้วเพียงนั้น แมลงภู่หมดอาหารแล้ว ย่อมไม่ยินดี ในไม้แก่น


ท่านคงรู้จัก สุนทรภู่  กวีเอกของชาวไทย  เดิมมีนาว่า "ภู่" หมายถึง แมลงภู่ ซึ่งแม่ท่านตั้งชื่อให้
เพราะตอนอุ้มท้อง แพ้ท้อง อยากกิน " บีแมงภู่ " ( ดีแมงภู่ )

สำหรับ อีเกียแดง , จารย์ใหญ่ และอ้ายมังกร ล้วนเคยกิน "บีแมงภู่ " เนื่องจากมีรสหอมหวาน
สำหรับ อ้ายต้องแล่ง จี่กินเบิ๊ดทั้งตัวเลย  จึงมีมันสมองเป็นเลิศ  สอบเป็น ผอ.ได้ ประการฉะนี้แล



ลักษณะทางกายภาพ
แมลงภู่ เป็นแมลงขนาดใหญ่   ลำตัวอ้วนป้อม    มักมีสีดำและมีปีกสีเข้มบางชนิด    
มีสีเขียว  แกมน้ำเงิน  เป็นมันวาว   มีขนละเอียดสีเหลือง  สีเทาหรือ สีน้ำตาล  
เป็นกระจุกที่บริเวณอกด้านบน ของส่วนท้องเกลี้ยงเป็นมันไม่มีขน  ลำตัวยาวประมาณ 2.0 - 3.5 ซม.
บางชนิดมีขนาดเล็กเพียง 6 มม.   ปัจจุบันพบแล้ว ประมาณ  500  ชนิดทั่วโลก  
ปากเป็นแบบกัดเลีย(chewing – lapping type)
  มีฟันกรามขนาดใหญ่เป็นแมลงวงศ์เดียวกันกับผึ้ง




นิสัยและความเป็นอยู่
แมงภู่เจริญเป็นตัวเต็มวัยในช่วงฤดูหนาว  จะพบแมลงภู่บินตอมดอกไม้ ในเดือนเมษายน  -  พฤษภาคม เพื่อหาน้ำหวานเป็นอาหาร  มีเสียงดังคล้ายผึ้งหึ่ง ๆ น่ากลัว  
แมลงภู่เพศผู้จะไม่มีเหล็กใน มีเพียงแมลงภู่เพศเมีย เท่านั้น  ที่มีเหล็กใน สามารถต่อยให้ได้รับบาดเจ็บได้
    
โดยปกติแล้วแมลงภู่จะไม่กลัวคนหรือสัตว์อื่นๆ     มักจะบินวนเวียนไปมารอบๆ    
แต่ถ้าหากเรา ไม่ทำอันตรายกับแมลงภู่แล้ว  มันจะไม่ทำอันตรายเรา



การหาอาหาร
แมงภู่กินน้ำหวานจากดอกไม้ ดอกพืชต่างๆ  กินเกสรดอกไม้  ดอกที่ชื่นขอบที่สุดของมันคือ
ดอกฟักทอง หรือ "ดอกบักอึ" ในภาษาอีสาน  รวมทั้งดอกบวบ  ดอกไม้เถาอื่นๆ


การสืบพันธุ์
แมงภู่จะผสมพันธุ์ในเดือน พฤษภาคม  ตัวเมียจะเจาะเนื้อไม้ให้เป็นรูในเนื้อไม้ที่แห้งตาย    
โดยการใช้ฟันกรามกัดแทะ เนื้อไม้  เพื่อทำรังจึงถูกเรียกว่า Carpenter  bees
ซึ่งแต่ละรังจะมี ทางเข้าออกได้เพียงทางเดียว ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.5 นิ้ว
ที่ชื่นชอบที่สุดของมันคือ ไม้ไผ่ และไม้ที่มีน้ำมันหอม เช่น ไม้กุง (พลวง)   ไม้ชาด ไม้สะแบง
เมือทำรังเสร็จ ตัวเมียจะปล่อย สารฟีโรโมน หรือ กลิ่นสืบพันธุ์  เมื่อตัวผู้ได้กลิ่น ก็จะมารุมตอม
และผสมพันธุ์กัน



จากนั้นมันจะวางไข่ในโพรงไม้ ที่ ใช้เป็นที่สำหรับอนุบาลตัวหนอน เก็บอาหาร(น้ำหวานและเกสร)  
  ไว้ใช้เลี้ยงตัวอ่อน



ในบางครั้ง แมงภู่ตัวเมียจะอยู่กันเป็นกลุ่มในโพรงเดียวกัน และมีตัวหนึ่งที่ทำหน้าที่ป้องกันรัง
ส่วนตัวผู้นั้นจะทำรังอยู่เพียงลำพังตัวเดียว
มันวางไข่ตัวละประมาณ  5- 10 ฟอง ใช้เวลา 4 เดือนในการฟูมฟัก จนลูกเติบโตเต็มวัย
จากนั้นมันก็จะย้ายรังใหม่ ทั้งหมดก็จะออกจากรัง ย้ายที่อยู่ไปเรื่อย  โดยเฉลี่ยแล้ว
มันมีอายุได้ 2 ปี


การเจริญเติบโต
แมงภู่ มีการเจริญเติบโต แบบการเปลี่ยนแปลงรูปร่างแบบสมบูรณ์ (complete metamorphosis)
นั่นคือครบทั้ง 4 ระยะคือ  ไข่  ตัวหนอน  ดักแด้ และตัวเต็มวัย



ประโยชน์ และหน้าที่บทบาทของมันตามธรรมชาติ
แมงภู่ช่วยในการผสมพันธุ์ให้พืช ผสมเกสร ช่วยให้ไม้ผลออกผลดี หากปราศจากพวกมัน
เราคงไม่ได้กินผลไม้  พืชก็ไม่อาจกระจายพันธุ์  หลายคนคิดว่า เมื่อเราปลูกไม้ผล
ปลูกไว้มันก็ติดผลเอง อันนี้ต้องคิดใหม่  
ผลหมากรากไม้เหล่านั้นต้องอาศัยแมลงสายพันธุ์นี้ จึงสามารถออกผลได้  
แมลงภู่กับดอกไม้ เป็นของคู่โลก คู่กันตามธรรมชาติ ประดุจชายคู่หญิง ในโลกา



ความเกี่ยวพันกับวิถีอีสาน
ในยุคสมัยที่ความพอเพียงยังอยู่ในวิถีของคนส่วนใหญ่ของประเทศ  ตามไร่นาต่างๆ
ของชาวนาอีสาน ต้องปลูก ฟัก แฟง หรือ บักโต่น   บักอึ (ฟักทอง) ไว้ตามไร่สวนเสมอ
ด้านข้างของเถียงนา จึงเต็มไปด้วยพืชชนิดนี้  ค้างบักโต่น  ค้างบักฟัก ค้างบักบวบ
เวลามันออกดอก ทั้งสีเหลือง สีขาวประดับประดาเถียงนา



คราลมพัดเอื่อยๆ หอมรวยริน  มากับเสียงหึ่งๆ ของแมลงชนิดนี้  ตอมดอกนั้นนั้นดอกนี้ที
บางครั้งก็เผ้าดูมันเจาะรู  บางครั้งก็เอามันมา กินบี เล่นๆ  เป็นที่สนุก  
บางรูมันแออัดกันอยู่  หาไม้มาแหย่ให้มันโกรธ แล้วพากันวิ่งหนี เฮฮา นั่นคือประสาเด็กน้อย




ขอบคุณ ข้อมูลจาก www.ca.uky.edu  www.malaeg.com

 
 
สาธุการบทความนี้ : 925 ครั้ง
จากสมาชิก : 2 ครั้ง
จากขาจร : 923 ครั้ง
 
 
  05 ก.พ. 2556 เวลา 12:42:26  
   ขึ้นบน ลงล่าง  
 
         

  โพสต์โดย   73) ผาแดง - นางไอ่ ( ฉบับ บ่าวปิ่นลม )  
  ปิ่นลม    คห.ที่1)       [ไปที่ความเห็นนี้ ในกระทู้นี้]  
  เซียน

ภูมิลำเนา : สกลนคร
เข้าร่วม : 16 มี.ค. 2553
รวมโพสต์ : 2213
ให้สาธุการ : 180
รับสาธุการ : 5440860
รวม: 5441040 สาธุการ

 


ขอบคุณเจ้าของภาพ

พระธาตุนารายณ์เจงเวง  อ.เมือง จ.สกลนคร
หลักฐานสนับสนุน ว่า สกลคร เป็นอาณาจักรขอม ที่เคยรุ่งเรืองเอาการในอดีต
ที่มีการตั้งรกรากของชุมชนมานาน จนสร้างศิลปวัฒนธรรม ตามแบบขอม

 
 
สาธุการบทความนี้ : 923 ครั้ง
จากสมาชิก : 1 ครั้ง
จากขาจร : 922 ครั้ง
 
 
  01 ก.ค. 2553 เวลา 15:25:16  
   ขึ้นบน ลงล่าง  
 
         

  โพสต์โดย   98) สารานุกรม แมงไม้ ใน อีสาน  
  ปิ่นลม    คห.ที่2) แมงจินูน      [ไปที่ความเห็นนี้ ในกระทู้นี้]  
  เซียน

ภูมิลำเนา : สกลนคร
เข้าร่วม : 16 มี.ค. 2553
รวมโพสต์ : 2213
ให้สาธุการ : 180
รับสาธุการ : 5440860
รวม: 5441040 สาธุการ

 



ชื่อ แมงกินูน ( ราชินีแห่งท่งตีนบ้าน )

ชื่อสามัญ scarab beetlc
ชื่อวิทยาศาสตร์ Holotricheasp.
Order colcoptera
FAMILY Searabaeidae

ลักษณะ

แมงกินูนเป็นแมลงปีกแข็งขนาดกลางรูปร่างป้อมหนวดเป็นรูปใบไม้มีขนปกคลุมเล็กน้อย ส่วนหัว อก ขา มีสีน้ำตาลเข้ม ปีกสีน้ำตาลอ่อนกว่าไม่ค่อยเป็นมัน ปีกคลุม ส่วนท้องแต่ไม่ถึงท้องปล่องสุดท้าย อกปล้องที่สองมีขนยาวปกคลุม ขนาดลำตัวยาวประมาณ 22-25 มิลลิเมตร

ที่อยู่อาศัย


ขุดรูอยู่ตามดิน ตามรากไม้ รูมีขุย แต่ขุยไม่กลบปากรู ขุยวางรอบ ๆ ปากรู กลางวันจะหลบแดดอยู่ในรู กลางคืนจะออกหากินโดยบินขึ้นไปเกาะกินใบอ่อนของต้นไม้ ชอบกินใบมะขามอ่อน ใบติ้ว ใบส้มเสี้ยว และใบอ่อนต้นไม้อื่น ๆ ทั่วไป

การจับแมงกินูน


ชาวบ้านจะหารูแมงกินูนตามดินตามใต้ต้นไม้ พบแล้วใช้เสียมขุดลักษณะถากตัดขวาง แล้วใช้นิ้วแหย่รูเข้าไปทางปากรูว่าไปทางทิศใดพบตัวก็จะใช้มือจับ

หากล่าในเวลากลางคืน ชาวบ้านจะใช้คบหรือไฟฉาย หรือโคมแบตเตอรี่ ส่องหาตัวแมงกินูนจากนั้นใช้กระป๋อง ขวดน้ำหรือกระบอกไม้ไผ่พันกับปลายไม้ยาว ๆ ไปจ่อที่ตัวแมลง ๆ จะปล่อยตัวลงในกระป๋อง ขวด หรือกระบอกไม้ไผ่ หรือใช้วิธีเขย่าต้นไม้ กิ่งไม้ให้แมงกินูนตกลงมา เพราะมันอิ่มมันจะไปไม่เป็น หรือใช้วิธีเอาเสื่อไปปูใต้ต้นไม้ที่แมงกินูนเกาะอยู่ เขย่ากิ่งไม้แมงกินูนก็จะตกลงมาเราก็เก็บเอาใส่ถังและกระป๋องน้ำที่เตรียมมาด้วย



ความสัมพันธ์กับชุมชน


แมงกินูนนำมาเป็นอาหาร ให้โปรตีนสูง ทำให้ชาวบ้านประหยัดค่าใช้จ่ายในการบริโภคสัตว์อื่น ๆ นอกจากโปรตีนแล้วแมงกินูนยังให้แคลเซี่ยมและฟอสฟอรัสด้วย

การประกอบอาหารบางประเภทจะมีผักพื้นบ้านผสมอยู่ด้วย หลายชนิดซึ่งช่วยเพิ่มสารอาหาร และมีคุณค่าทางสมุนไพร นับเป็นการสืบทอดภูมิปัญญาพื้นบ้านในการบริโภคและกลวิธีการแสวงหาแมลงมาเป็นอาหารด้วย



ความสำคัญทางเศรษฐกิจ


นำแมงกินูนมาล้างให้สะอาด แล้วนำมาประกอบอาหารได้หลายอย่าง เช่น คั่ว ทอด จี่ (ย่างไฟ) ทำป่น (ตำน้ำพริก) ก้อย ลาบ แกงใส่หน่อไม้ ฯลฯ และยังสามารถสร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้านได้ ขายในราคาขีดละ 10 กว่าบาท กิโลกรัมเป็นร้อย

ประเภทและวิธีการหาแมงจินูนแต่ละอย่างกะสิพอสรุปได้ ดังนี้

1.แมงจินูนแดงน้อย ลักษณะตัวสีแดงขนาดปานกลานไม่ใหญ่มาก ชนิดนี้จะมีปริมาณมาก หาได้โดยการส่องไฟหาตอนกลางคืนใต้ต้นมะขาม ต้นโก มะม่วง เป็นต้น

2. แมงจินูนหม่น หรือ แมงจินูนแดง ชนิดนี้เวลาส่องไฟหาตอนกลางคืนจะเห็นแป้งสีขาวๆปกคลุมตามปีกมันเอาไว้ ทำให้เรามองเห็นเป็นสีเทาๆหม่นๆแต่เมื่อมันไปขุดรูทำรังแป้งบนปีกมันก็จะลบออกทำให้เราเห็นปีกมันมีสีแดง


3.แมงจินูนแดงใหญ่ ชนิดนี้จะมีเป็นบางท้องที่ คือมีลักษณะคล้ายๆกับแมงจินูนแดงหม่นแต่จะตัวโตกว่า

4.แมงจินูนทอง หรือแมงจินูนเหลี่ยม จะมีลักษณะเป็นสีเขียวมรกตแวววานสวยงาม ตัวขนาดกลาง

5.แมงจินูน อื่นๆ เช่น แมงจินูนดำ ตามต้นยอ ต้นคูน แมงจินูนดำน้อย ตามต้นมะขาม หรือแมงจินูนอื่นๆอีกแล้วแต่ แต่ละท้องที่จะมี
แต่ที่เด่นๆคือ จินูนแดง


ความสัมพันธเชิงลึก

เป็นแมลงที่มีบทบาทสำคัญ ในระบบนิเวศ ช่วยให้ผืนดิน ร่วยซุย เป็นอาหารของ
สัตว์เลื้อยคลานประเภทต่างๆ ในระบบนิเวศ รวมทั้งเป็นอาหารของชาวอีสาน
ปัจจุบันยังมีจำนวนมาก เนื่องจาก ออกลูกคราละมาก ตัว กินอาหารใบไม้ได้หลายชนิด

ซึ่งต่างจาก กุดจี่เบ้า ที่กล่าวมาแล้วข้างต้น กินแต่ขี้งัวขี้ควาย ออกลูกคราละไม่เกิน 11 ตัว
เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์

แมงจินูน ในแง่ธรรมชาติ สอนคนอีสานให้รู้ว่า  ตราบใดที่ ยังมีต้นไม้พื้นเมือง
ชีวิตคนอีสานย่อมมีหนทางดำเนิน ตามวิถีตน
ข้อควรระวังคือ  แมงจินูน บ่กินใบยาง บ่กินใบยูคา บ่กินใบปาล์ม  บ่กินใบสบู่ดำ บ่กินใบอ้อย

ตามป่าเต็งรัง แมงจินนูนกินใบอ่อนของพืชในป่าประเภทนี้ เกือบทุกชนิด  
เมื่อแมงจินนูน ราชินีแห่งตีนท่ง หายไปจากอีสาน
นั่นคือ เริ่มยุค ESANIA

ปล.คำเตือน

ในการกินคั่วแมงจินูน กะคือ เวลาเฮาเข้าห้องส้วมยามมื่อเช้า เฮาสิล้างส้วมยากจักหน่อย เพราะว่า
ปีกแมงจินูน มันสิบ่ถืกย่อย มันสิฟูอ่องล่อง อยู่ ต้องใช้น้ำราดหลายๆ

วิธีการแก้ไข กะคือ ก่อนกินคั่วแมงจินูน เฮาควร เด็ดปีกมันออก สาก่อน...แล้วกะเคี้ยวให้มันแหลกๆ..

สำหรับผู้ป่วยเป็นริดสีดวงควรงดเว้น กินคั่วแมงจินูน


ขอบคุณข้อมูล บางส่วนจาก
http://animal-of-the-world.blogspot.com/    
www.infoforthai.com

 
 
สาธุการบทความนี้ : 886 ครั้ง
จากสมาชิก : 6 ครั้ง
จากขาจร : 880 ครั้ง
 
 
  28 ก.ย. 2553 เวลา 12:55:16  
   ขึ้นบน ลงล่าง  
 
         

  โพสต์โดย   109) อาหาร อิสาน วิเศษ ไม่แพ้ชาติใด  
  ปิ่นลม    คห.ที่127) ส้มผักเสี้ยน      [ไปที่ความเห็นนี้ ในกระทู้นี้]  
  เซียน

ภูมิลำเนา : สกลนคร
เข้าร่วม : 16 มี.ค. 2553
รวมโพสต์ : 2213
ให้สาธุการ : 180
รับสาธุการ : 5440860
รวม: 5441040 สาธุการ

 


ครับทุกวันนี้กระแส เกาหลีกำลังมาแรง ไม่ว่าจะเป็น ศิลปิน  อาหารการกิน  แม้กระทั่งของคบเขี้ยว
ในขณะที่เรากำลังทะเลาะกัน เขาก็ สร้างกลไกทางตลาดมาตีเราซะจนหลุดหลุ่ย ราบคาบ
ผมเป็นคนช่างเลือก   เลือกที่จะ รักในวัฒนธรรมตนเอง  รักในประเทศชาติ   มีอะไรบ้างหนอ
พอขึ้นชื่อ หรือแข่งขันเขาในเวทีโลกได้  ยิ่งจะก้าวเข้าสู่ สังคมอาเซียน แล้ว  
แค่ ผักดองธรรมดา เฉกเช่น “ กิมจิ”  เขายัง ซูฮก
ให้โด่งดังไปทั่วโลกได้   ทำไมลูกอีสาน ปากกัด เท้าถีบ จะสร้าง ปัจจัยผลักดันให้ เพิ่มมูลค่า ทางวัฒนธรรมการกิน
ให้แข่งขันเขาได้   สติปัญญาก็มีแค่นี้   คนไทยมีของดีหลายๆ อย่าง ที่ โลกต้องตะลึง  
เรามัวแต่สร้างค่านิยม ผิด ๆ ให้กับลุกหลาน  ให้คิดว่า วัฒนธรรมการกิน ของเราเอง “ต่ำต้อย” ดังต้อยติ่งแต้มดิน
สุดท้ายเราก็จะได้ ลูกหลาน” บริโภคนิยม” ที่ รอหนี้สาธารณะ อุดแผลฉกรรจ์ของชาติบ้านเมือง
ผมจึงขอเสนอ เมนู วิเศษ อาหารอีสานอันหนึ่ง ซึ่ง ทัดเทียม หรืออาจจะเหนือกว่า “กิมจิ” เสียอีก
แค่บอกชื่อ “ลัทธิบริโภคนิยม” อาจโจมตีหัวใจท่าน ให้ร้อง” ยี้”   อันนี้นั่นก็แล้วแต่ท่านถูกสั่งสอน หรือสะสม ค่านิยม
ให้ชอบของนอก แค่ไหน  นั่นคือ ดัชนี ชี้วัด ว่าอาหารไทย จะแข่งขันใน เวทีโลกได้หรือไม่  

ชื่อเมนู   ส้มผักเสี้ยน
ชื่ออังกฤษ  kin jung   ( กินจัง )
ข้อมูลพื้นฐาน  ผักเสี้ยน
ชื่อวิทยาศาสตร์   Cleome gynandra Linn.
วงศ์    CLEOMACEAE
ชื่อสามัญ   Wild Spider Flower
ชื่ออื่น    ผักส้มเสี้ยน ผักเสี้ยนขาว
ประเภทไม้   ไม้ล้มลุก





สรรพคุณ
ต้น ขับโลหิตระดูที่เน่าเสีย ใบ ตำพอกทาแก้ปวดเมื่อย เรียกเลือดมาเลี้ยงผิวหนัง น้ำคั้นจากใบมาผสมกับน้ำมัน
เป็นยาแก้ปวดหู หรือตำพอกฝีไม่ให้เป็นหนอง เมล็ด นำมาชงช่วยขับเสมหะขับพยาธิไส้เดือน
กินส้มผักเสี้ยนแล้ว ผิวพรรณ สดใส  รักษาความเป็นกรดและด่าง ในร่างกายได้ดี  ลดการเกิดสิว
กิมจิ ทำแบบนี้ได้ที่ไหน ตรองเถิดโฉมตรู


กินจัง หรือ ส้มผักเสี้ยน เป็น ราชินีแห่งผักดอง เนื่องจากสรรพคุณของตัว ต้นผักเสี้ยนเอง นั้นอนันต์
แถม รสชาติผักดองชนิดนี้ยังเป็นเอก ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  ผักชนิดนี้ปลูกในเมืองหนาวไม่ได้
แม้สหรัฐอเมริกาจะเอาไปปลูกไม่ขึ้น  ญี่ปุ่น ปลูกไม่ขึ้น เกาหลีปลุกไม่ขึ้น  ประเทศออสซี่ก็ปลูกไม่ขึ้นเช่นกัน
เมืองไทยปลูกขึ้น นับเป็นฟ้าประทาน ให้โอกาสเรา นำเสนอ เมนูสุดวิเศษ เพื่อชาวโลก



ต้นกำเนิด “ส้มผักเสี้ยน” และความเป็นมา
ในสมัยโบราณ อาณาจักร “ลานซ้าง” ซึ่งอยู่ห่างไกลทะเล เต็มไปด้วยป่าเขา และสิงห์เสือสางนางไม้
ยากที่จะเดินทางติดต่อค้าขาย ในสมัยนั้น “ ผักกาด กะหล่ำปลี ผักกวงตุ้ง “ ยังไม่มีในอาณาจักรแห่งนี้
ในคราที่ แผ้วถาง สร้างบ้านแปงเมือง ขยับขยายพื้นที่เพาะปลูก ชาวเมืองได้พบว่า มีพืชชนิดหนึ่ง
เกิดตามเดิ่นดอน มันก็คือ ผักเสี้ยน  ประกอบกับสมัยนั้น ได้มีการระดมพล เพื่อไปรบ สมทบกับ
“อโยธยา ศรีรามเทพนคร” เพื่อผนึกกำลังป้องกันการรุกคืบของพม่ารามัญ   ซึ่งต้องมีการ สะสมเสบียง
ชาวลานซ้าง จึงคิดค้นอาหารที่สามรถเก็บได้นาน จึงนำเอาผักเสี้ยน มาคั้นส้ม
เพื่อถนอมอาหารไว้กิน และเพื่อเป็นเสบียงเดินทางไกล

ในคราหนึ่ง แม่ทัพพม่า ส่งหน่วย “เสือหมอบ แมวเซา” เข้าปล้นเสบียง เพื่อตัดกำลัง ของชาวลานซ้าง
พบแต่ในไห มีแต่ส้มผักเสี้ยน  ซึ่งมีรสเปรี้ยว ขื่นขม  จึงคาดว่า เป็นกลลวง ของ กองทัพลานซ้าง
จึงมิได้ทำลายไหส้มผัก    กองทัพหน้าชาวลานซ้าง จึงมีเสบียงไว้กิน และรวบรวมกำลัง สู้กับพม่า
จนอาณาจักร สยาม  รอดพ้นเสียเอกราช   นับแต่นั้น ส้มผักเสี้ยนได้รับความนิยม แพร่หลาย
ครั้นจะบันทึกในหน้าประวัติศาสตร์ ว่า “ส้มผักเสี้ยน” คืออาหารช่วยชาติ  ทางเจ้าขุนจากฝ่าย อโยธยา ฯ
สอบถามแล้ว มันคือ “ หญ้าดอง”   อุวะ “กินหญ้า” มันก็ ควาย หนะสิ  เดี๋ยวอาย ชาวโปตุเกต ฮอร์ลันดา
ส้มผักเสี้ยน จึงรอดพ้น จากการบันทึก ในหนังสือใบลาน ประวัติศาสตร์ ซึงดูเหมือนจะมีเนื้อที่น้อยมาก




วิธีทำส้มผักเสี้ยน สูตรอีสาน

ผักเสี้ยน 4 ต่อ เกลือ 1 กก.
นำผักเสี้ยน มาตากแดด รับ รังสีแกรมม่า เพื่อ รังสิต รสชาติ และ ฆ่าเชื้อโรค
นำผักเสี้ยนมาแช่น้ำ และ ล้างให้สะอาด รินน้ำออก
นำน้ำซาวข้าว (เหนียว)  มาแช่กับผักเสี้ยน  คั้นให้เข้ากัน รินน้ำออก (ลดความขม)
เติมน้ำซาวข้าว แล้วเติมเกลือตามปริมาณ คั้นให้เข้ากัน
ใส่ข้าวเหนียว ( ข้าวนึ่ง) คันให้ทั่ว
เติมผงนัว เพื่อเพิ่มรสชาติ
ซาวให้ทั่ว ทิ้งไว้  30 นาที
หาภาชนะมาบรรจุปิดฝาให้มิดชิด เก็บไว้ในที่ไม่มีแสงแดด เก็บไว้ 3 วัน ก็เอาออกมากินได้
การกินนั้นต้องกินกับ “ บักเผ็ดหลอ” ถึงจะ จ๊วดดด...



การประยุกต์ เพื่อเพิ่มมูลค่าและเพิ่มความหลากหลาย
ส้มผักเสี้ยน หรือ “ กินจัง”  สามารถนำมาหั่น ให้รับประทานสะดวก “ บ่ต้องม้วน แล้ว โม่ม” ดังการกินของชาวบ้าน
เมื่อหั่นแล้ว จัดให้สวยงาม นำมากินกับ “ข้าวต้มกุ้ย “   กินกับขนมจีน    หรือเป็นเครื่องเคียง กลับแกล้ม
ภาชนะ บรรจุส้มผักเสี้ยน ต้องพัฒนาให้ดูดี และทันสมัย ไม่ใช่มัดใส่ถุงใส วางขายอย่างไร้คุณค่า
อาจบรรจุในไห เซรามิคเล็ก ๆ มี ยี่ห้อ “ ส.สิ่ง”  หรือ “ ส.ห. “  กะตามแต่ ผู้สิตั้ง แต่ต้อง เป็นภาษาอีสาน

อย่างไรก็ตาม “ ส้มผักเสี้ยน” มีการทำเป็นธุรกิจ ขนาดเล็กครบวงจร  ตั้งแต่ปลูก คั้นส้ม ไปจนถึงส่งขาย
สิ่งที่ขาดไป คือ การสนับสนุนภาครัฐ  และการโฆษณา ถึง สรรพคุณ ของ “ส้มผักเสี้ยน”
รวมไปถึงการวิจัยพัฒนาต่อยอด ภูมิปัญญาบรรพบุรุษ และ บรรพสตรี  ขาดการจัดการเชิงพานิชที่เหมาะสม
คนทำ”ส้มผักเสี้ยนขาย” ยังขาด คุณธรรมในการเป็นผู้ผลิตที่ได้มาตรฐาน เช่น บางแห่ง ยัง”เอาตีนหย่อง”
แทนที่จะใช้มือคั้น หรือ ไม่ผ่านการตรวจสอบคุณภาพ ความ”นัว”

ความเกี่ยวเนื่องกับวิถีอีสาน

ส้มผักเสี้ยนถือว่าเป็นอาหารที่ลูกอีสานทุกคนรู้รักมักจี่  โดยเฉพาะวันรุ่น หรือ พวก “บุญ  9 ปาง “ หาเลาะเที่ยวงาน
หาเลาะคุยผุสาว จนดึกดื่น พอกลับมาบ้าน ดึกดื่น  แนวกิน หรือกับข้าวหมดแล้ว เหลือแต่ ส้มผักเสี้ยน
ล้อมวงกันกินกับ “บักเผ็ดหลอ”  หรือ ลูกโดด   บางคนแซบ จน “ ยกซด” หรือ หลง “ซูดน้ำ” ส้มผักเสี้ยน
ยิ่งใครที่ฝักใฝ่ “กรมป่าไม้ “    ชื่นชอบ ส้มผักเสี้ยนยิ่งนัก
อาหารชนิดนี้ ชาวอีสานทำไว้กิน ในฤดูกาลที่อาหารหายาก เช่นฤดูแล้ง  ฤดูเก็บเกี่ยว  เช่นหน้าเกี่ยวข้าว
แม้จะเป็นอาหารพื้นๆ แต่มีสรรพคุณในการ ช่วยในการขับถ่าย แก้โรคเครียด และมีสารประกอบ
ในการบำรุงผิวหนัง เลือดฝาดผุดผ่อง  เป็นอาหารที่มีรสชาติเลิศ  ของแซบอีสานอีกเมนูหนึ่ง

 
 
สาธุการบทความนี้ : 873 ครั้ง
จากสมาชิก : 1 ครั้ง
จากขาจร : 872 ครั้ง
 
 
  03 ก.ค. 2555 เวลา 08:18:13  
   ขึ้นบน ลงล่าง  
 
         

  โพสต์โดย   142) มาทางพี้ อ่านกวีศรี บังพุ่ม  
  ปิ่นลม    คห.ที่0) มาทางพี้ อ่านกวีศรี บังพุ่ม      [ไปที่ความเห็นนี้ ในกระทู้นี้]  
  เซียน

ภูมิลำเนา : สกลนคร
เข้าร่วม : 16 มี.ค. 2553
รวมโพสต์ : 2213
ให้สาธุการ : 180
รับสาธุการ : 5440860
รวม: 5441040 สาธุการ

 




มาทางพี้อ่านกวีศรี บังพุ่ม  ปุ้มอุ้มหลุ่มคือฮังฮ้างต่อนอนเว็น
ไผมาเห็นกายใกล้ ออนซอนดอกอีสานเฮา
เขาผัดส่าอ้างลือ   มากมีศิลปะล้น

น้อคนพุฮ้ายอ่านแล้ว เกิดผ่องใใส
คนพุไคอ่านแล้ว งามไปหน้า
คนพุเป็นผีบ้า...อ่านแล้วกะเซาป่วง
คนโซ ส่วง     ซงไคบรรเทาโรค
หรือว่าเอาจั๊กโบก  มีแฮงน้ำเต้าใหญ่
คือสิใสไปหน้า มโนน้อมกล่อมกวี.....ดอกเด้อ... (ปิ่นลม )



ชีวิตนี้คือจั่งเล่นเฮือนน้อย
นำฮอยแต่เก่่าหลัง.... แท้น้อ
พอแต่ใหญ่มีฝัน แล่นบ่ทันเจ้าจ้อย
ได้แต่พลอยกำพร้า เทียวนาทุกเช้าค่ำ
ได้แต่หำแหล่ ๆ..แขนแอวไว้.. ไคกว่าหมา
.............(ปิ่นลม )........................

จั่งแหม่นน้อ เว้าพื้น สมใส่เจ้าของคัก.. แพงเอ้ย....
บ่อแหม่นหลัก บ่อแหม่นตอ ยอปักไสบ่อเป็นได้...
วาสนาบ่อพาสร้าง สมบุญบ่อฮอดเพิ่น ...
เพลินแต่นำเที่ยวเล่น ....แสนก้าว แล่นบ่อทัน...(จั๊กสิโทษ ผู้ได๋ )
(ป้าหน่อย )


..............................................


ฮ้วย.! .กะย้อนทุกข์ยากฮ้าย ผีปั้นหลุดมือ หละน้อ
ไสสิยอ พวมยก ข้ามตอแกนหล่อนได้
บ่เคยเก็บดอกไม้   ฮ่วมต้น กับคำแพง
ได้แยงป่องฝา  ลอดฮูใบตองแห้ง   (ถ่อนแหลว.).
.....( ปิ่นลม ) ..................



งึดหลายเด้..!
งึดอ้ายปิ่นเลาว่าไว้ เอาหำใหญ่แขวนแอว
หำบ่เป็นตาเอาแนว....ย้อนออกแนวสีคล้ำ
งึดเห็นนำเฮียนน้อย เคยหลอยนำเหล่นอยู่  ( อ้ายเอ๊ย )
เหล่นนำหมู่สาวน้อย หลอยจ้ำหม่อมพะนาง
.......(อีเกียแดง..) ...

 
 
สาธุการบทความนี้ : 870 ครั้ง
จากสมาชิก : 1 ครั้ง
จากขาจร : 869 ครั้ง
 
 
  17 พ.ค. 2556 เวลา 12:33:10  
   ขึ้นบน ลงล่าง  
 
         

  โพสต์โดย   98) สารานุกรม แมงไม้ ใน อีสาน  
  ปิ่นลม    คห.ที่297) แมงแคงจิก      [ไปที่ความเห็นนี้ ในกระทู้นี้]  
  เซียน

ภูมิลำเนา : สกลนคร
เข้าร่วม : 16 มี.ค. 2553
รวมโพสต์ : 2213
ให้สาธุการ : 180
รับสาธุการ : 5440860
รวม: 5441040 สาธุการ

 


ชื่อพื้นบ้าน      แมงแคงจิก
ชื่อวิทยาศาสตร์  Pygoplatys auropunctatus และ Pygoplatys lunatus
class Insecta -
order Hemiptera
family Tesseratomidae

บางคนเข้าใจว่า แมงแคงจิก คือ แมงแคงค้อ ที่เคยเสนอไป
ความจริงแมลงชนิดนี้ เป็นคนละชนิดกัน แต่อยู่ในวงษ์เดียวกัน
ลักษณะทั่วไป

เป็นแมลงที่อยู่ในวงเดียวกัน กับ แมงแคงค้อ ( แมงแคงแดง) คือวงศ์ Tesseratomidae
แต่มีรูปร่างเล็กกว่า มีสีอมเขียวจนถึงน้ำตาลซีด ลำตัวกว้าง 1.5 ซม. ยาว 2 ซม
มีหนอกเล็ก ๆ ยื่นออกบนไหล่. ซึ่งต่างจากแมงแคงค้อ



พบในเขต อีสาน จนถึงประเทศลาว ( จากการบันทึกของฝรั่ง )
อาศัยตามป่าเบญจพรรณ ป่าแดง หรือป่าโคก ส่วนใหญ่อาศัยตามป่าโปร่ง
ไม่พบในป่าแบบป่าดงดิบ หรือป่าดิบชื้น
ตัวผู้มีลำตัวเรียวกว่าตัวเมีย ซึ่งตัวมีมีลักษณะแผ่แบน
ซึ่งที่ชาวอีสานเรียกรวมกันว่า "แมงแคงจิก"
ความจริงแล้ว เป็น แมลง 2 ชนิดรวมกันคือ
พันธุ์ที่มีสีแดง และพันธุ์ชนิดที่มีสีเขียว ได้แก่  


แมงแคงจิกแดง   Pygoplatys lunatus


แมงแคงจิกเขียว  ชนิด Pygoplatys auropunctatus


นับว่าเป็นแมลงที่มีเขตพื้นที่อยู่จำกัดและเป็นแมลงจำเพาะถิ่น
ในสมัยก่อนมีดาษดื่นตามป่าในภาคอีสาน
แต่ปัจจุบันแทบหาดูไม่ได้ มีคนรู้จัก  และมีโอกาสพบเห็นน้อยนิด




การดำรงชีพ
ดอนยังเล็ก อาศัยดูดน้ำเลี้ยง น้ำหวานจากยอดไม้ใบไม้ผลิใหม่
ในห้วงต้นฤดูใบไม้ผลิ ห้วง เม.ย.- พ.ค. อาศัยตามพุ่มไม้ ประเภท
พุ่มจิก พุ่มรัง พุ่มกุง (ตองตึง) ต้นค้อ และพืชในป่าโคก ชอบอยู่เป็นกลุ่ม
ไม่ชอบที่สูง ตอนกลางวันมักหลบแดดใต้ใบไม้ ชอบดูดกินน้ำเลี้ยง
ตอนเช้าๆ เมื่อสายจะหลบพักใต้ใบบัง


พุ่มจิก ผลิใบใหม่ ๆ แบบนี้หละ ที่มันชอบนัก

เมื่อเจริญเต็มวัย จะอาศัยอยู่บนที่สูง ตามใบไม้ต่างๆ คอยกินน้ำหวาน
จากดอกไม้ป่า หรือยอดไม้บนที่สูง เป็นเหตุผลให้เราไม่ค่อยเจอตัวมัน
ในช่วงเต็มวัย




วงจรชีวิต
ชอบวางไข่ตามใต้พุ่มไม้  กิ่งไม้ทีมีร่มเงา ไข่จะทนสภาพได้ถึง 3 เดือน
เมื่อวางไข่เสร็จมันจะตายลง  ไข่จะฟักตัวเมื่อเข้าสู่หน้าร้อน ปลายเดือน มี.ค.
จากนั้นจะอาศัยกินน้ำเลี้ยงตามยอดพืชของป่า จิกเต็งรัง และไม้พุ่มอื่นๆ
รวมกลุ่มกัน บางครั้งก็พบตาม ต้นเพ็ก ช่วงนี้ของชีวิตมีอายุ 15 วัน
จากนั้นใช้เวลา 7 - 9 วันก็จะงอกปีกโผบินได้ดังตัวเต็มวัย

แมงแคงจิก มีการเจริญเติบโตเป็นแบบไม่สมบูรณ์ (Incomplete metamorphosis)
ซึ่งเป็นการเจริญเติบโต มีการเปลี่ยนแปลงทั้งรูปร่าง และขนาด
ประกอบด้วย 3 ระยะ คือ
1. ไข่ (egg),  3  ( 3 เดือน )
2.ตัวอ่อนหรือตัวกลางวัย (nymph) 28 -30 วัน
3. ตัวเต็มวัย (adult)  5 - 6 เดือน


ตัวอ่อน ระยะที่ 2 นี่หละ ที่ชาวอีสานนำมาเป็นอาหาร


ภาพ ต้นจิก ตามป่าโคก ซึ่งเป็นป่าที่มีลักษณะจำเพาะ

ที่เรียกว่า "แมงแคงจิก" เพราะในช่วงวัยตัวอ่อน หรือ ตัวกลางวัย
(ช่วงยังไม่มีปีก) มันชอบดูดกินน้ำเลี้ยงของใบอ่อน ต้นจิกอีสาน
ต้นไม้ชนิดนี้เป็นอาหารและทางรอดของ แมลงสายพันธุ์นี้
มันจึงมีจำเพาะถิ่น ตามป่าโคก





อย่างไรก็ตาม การเผาป่าโคก เป็นการทำลายล้างไข่ของแมลงชนิดนี้
การเผา หรือถากถางป่าโคก เพื่อปลูกพืชเศรษฐกิจ
คือการสูญพันธุ์ "แมงแคงจิก" ไปจากอีสาน
ปัจจุบันมันเป็น สัตว์เศรษฐกิจ ที่นำเข้ามาจาก สปป.ลาว
ประเทศที่ยังมีทรัพยากรสมบูรณ์



แมงแคงจิก เป็นอาหารราแพง พบตามตลาดนัด ตามจังหวัด ริมฝั่งโขง

ความเกี่ยวพันวิถีชีวิตอีสาน
เมื่อฝนแรกตก หอมไอดินกลิ่นลำเนา ใบไม้ผลิใหม่
เมื่อเดือนเมษายน ตามพุ่มจิกพุ่มฮัง  ใบสีตองอ่อน
จะพบแมงแคงจิก รวมกลุ่มกันเป็นกลุ่ม  เราก็เก็บเอามา
เพื่อคั่ว ตำทำน้ำพริก รสชาติอร่อย กินกันตอนเย็นๆ
กินแล้วนั่งฟังเสียง กะโหร่ง เขาะ ของวัวควายตามคอก
นั่งอยู่นอกชาน เพราะอากาศร้อน ฟังพ่อใหญ่เล่านิทาน
สูญเสีย แมงแคงจิก ไปเราจึงสูญเสีย "วิถี" ไปเฉกเช่นกัน
อะไรจะตามมานั้น........ สุดจะคาดเดา..............





ข้อมูลภาพ จาก
http://www.heteroptera.fr/tessite/Pygoplatys/P.auropunctatus.html
http://jdmyeepa.wordpress.com/galleries/hemiptera-bugs/shield-and-red-bugs/
ต้องขอบพระคุณอย่างสูง เพราะถ้าไม่ได้ ข้อมูลภาพ กระผมเองคง
งมโข่ง หากจำแนกชนิดแมลงในเวป ฝรั่ง ปานงมเข็มในมหาสมุทร
น้องๆ หนู ๆ ที่ทำรายงานเรื่องแมลง สามารถหาความรู้เพิ่มเติมได้ที่
http://jdmyeepa.wordpress.com/galleries/hemiptera-bugs/shield-and-red-bugs/
มีข้อมูลภาพ กับชื่อบันทึกไว้ มากมาย เกี่ยวกับแมลงไทย

 
 
สาธุการบทความนี้ : 867 ครั้ง
จากสมาชิก : 3 ครั้ง
จากขาจร : 864 ครั้ง
 
 
  22 ก.ค. 2556 เวลา 14:51:51  
   ขึ้นบน ลงล่าง  
 
         

  โพสต์โดย   109) อาหาร อิสาน วิเศษ ไม่แพ้ชาติใด  
  ปิ่นลม    คห.ที่220) ตำกุ้ง      [ไปที่ความเห็นนี้ ในกระทู้นี้]  
  เซียน

ภูมิลำเนา : สกลนคร
เข้าร่วม : 16 มี.ค. 2553
รวมโพสต์ : 2213
ให้สาธุการ : 180
รับสาธุการ : 5440860
รวม: 5441040 สาธุการ

 



ระหว่างที่รอ ญาคูต้องแล่ง สะพายกล้อง “ปืนใหญ่ CANNON  “ ถ่ายภาพงาน  มหกรรมอาหารนานาชาติ
และอาหารพื้นเมือง ที่จัดขึ้น ณ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มาให้พี่น้องชมและตื่นตา
ทั้งนี้เพื่อ โปรโมชั่น  ประเทศไทย ให้ตระหนักสำคัญถึง ฐานะ “ครัวชองโลก” เนื่องจากเป็นประเทศที่
อุดมสมบูรณ์ มังสาหาร ภักษาหาร  ผลไม้มีกินตลอดปี ปูปลานาน้ำ หลากหลาย

หากขะน้อยเว้าบ่จริง ขอให้ฟ้าผ่าควายตู้

เอาหละครับเว้าหลายพี่น้องสิเครียด  หันมาหาแนวกินอีสานเฮา บ่เล่ากะลืมกันดีกว่า
วันนี้ มีเมนูแซบๆ อีสานแท้ๆ   มีมานานพร้อมกันกับ “สากกะเบือ “  
ชื่อเมนูพื้นบ้าน         ตำกุ้ง
ชื่อเมนูภัตตาคาร      แพลงก์ตอน แห่งที่ราบสูง




ชาวอีสานขึ้นชื่อเรื่องกินอาหารประเภทตำ  สารพัดสารพัน    และตำทุกอย่างต้องใส่ปลาแดก
เป็นเมนูเรียบง่าย เข้าถึงแก่นอาหารสด  อาหารประเภทตำนั้นขาด ปลาแดก กับบักเผ็ด มิได้เด็ดขาด
บางคนแย้ง ขาดครกกับสาก บ่ได้ พะนะ   อันนั้นกะบ่ว่ากัน ถือว่าเป็นการคิดวิพากษ์  คริสตอล มายด์


เคยได้ยินคำว่า ตำนาน ไหมครับ   ตำนานคือ สุดยอดการสืบทอด รุ่นต่อรุ่น  ชื่อเสียงเกริกเกียรติ
หรือใช้แทน คุณนามว่า “สุดยอด” นั่นเอง   ที่มาของมันมีเรื่องเล่าว่า
พระราชาองค์หนึ่ง ได้จัดประกวดการทำอาหาร  โดยให้พ่อครัวแต่ละถิ่น ทำอาหารมาถวาย ให้ชิม
แล้วท่านจะตัดสิน หากอาหารใดทำให้ พระราชา น้ำลายไหล ด้วยความอยากได้  จะเป็นผู้ชนะ

พ่อครัวระดับเทพทั้งหลาย ต่างมาประชุมกันที่ท้องพระโรง   ทำอาหารให้กับพระราชาชม และชิม
พ่อครัวทั่ว สารทิศ ฝีมือเทพ ๆ ทำทั้ง   ต้ม ผัด  แกง ทอด  ดอง  หมัก  ปิ้ง ย่าง  เผา อบเชย
พระราชาชมและชิมแล้ว บอกว่า แค่ธรรมดา



และแล้ว.......................
มีพ่อครัวจากภาคอีสาน   มาคนสุดท้าย  ทำอาหารให้พระราชาดู  
พ่อครัวคนนั้นเลือก เมนู “ตำมะขาม “
อันดับแรก เขาเอามะขามดิบกับเกลือ วางให้พระราชาดูก่อน    แค่เห็น พระราชาก็ น้ำลายสอเสียแล้ว
จากนั้นเขาก็ตำพริกเอามะขามดิบ ลงตำ  กับเกลือ   ตำ ๆๆ   ตำ อยู่นั่นหละ  ไม่เสร็จสักที
พระราชาน้ำลายแตก  เพราะเปรี้ยวปาก      
“ เฮ้ย...หยุดตำได้แล้ว  เอา มะขามกับเกลือ มาให้ข้าจิ้ม  ก็พอ “

เย้..พ่อครัวคนนั้น ชนะการแข่งขัน    เป็นสุดยอดของการทำอาหาร ประทานชื่อให้ว่า “ ตำนาน”
หรือ “ตำด่น” ในภาษาอีสาน พร้อมแก้วแหวนเงินทอง   เป็นที่เลื่องลือ

นี่แหละครับที่มาของคำว่า “ตำนาน”

ส่วนประกอบของเมนู ตำกุ้ง





กุ้งฝอยสด ๆ
น้ำปลาแดก
พริกแห้งคั่ว
เกลือ
หัวหอม ,กระเทียม
บักกอก (มะกอกป่า)
ผักบั่ว (ต้นหอม)
ผักชี
ผักอีเสิม (สระแหน่)
มะนาว
ข้าวคั่ว

ข้อแนะนำ

การหาเอากุ้งฝอย หรือกุ้งนา ต้องหาจากแหล่งน้ำที่เชื่อถือได้ ว่าสะอาด และเป็นธรรมชาติ
ปลอดจากสารเคมี หรือห่างไกลตัวเมืองแออัด  เช่น ห้วย หนอง  และแม่น้ำ ตามธรรมชาติ
เพราะกุ้งฝอย กินจุลินทรีย์เล็ก ๆ และสารอาหารจากตะกอนแม่ , น้ำลำน้ำ   หากแหล่งน้ำไม่สะอาด
จะก่อให้เกิดโรคท้องร่วง ท้องเสีย   กลายเป็นว่า เมนูตำกุ้ง เป็นสิ่งน่ารังเกียจ
แท้จริงแล้ว ควรรังเกียจ การทิ้งสิ่งต่างๆ ลงแม่น้ำ ปล่อยสารเคมีลงแม่น้ำ  การไม่ดูแลรักษาแม่น้ำเป็นต้น
หาใช่ พฤติกรรมการกิน ตำกุ้ง หรือ กินกุ้งสด  เด้อพี่น้อง
การหากุ้ง ทำได้หลายวิธี เช่น ล่องแหย่ง  ส่อนกุ้ง ใส่ตุ้มกุ้ง และ ตึกสะดุ้ง   ที่ได้ผลชัดแจ้งแถลงไข
คือการ “ใส่ตุ้มกุ้ง”  


ภาพเครื่องมือดักกุ้ง  ในภาคอีสาน เรียกว่า  “ตุ้มกุ้ง”

วิธีทำ “ตำกุ้ง”  สุดแสนจะง่ายดาย
อันดับแรกเอาพริกแห้งคั่วพอหมาด ๆ  ตำใส่กับหัวหอมและกระเทียม
เด็ดหมอยกุ้ง( หนวดกุ้ง) ออกสาก่อน   ตำลงไป ใส่เกลือพอประมาณ
เหยาะน้ำปลาแดกลงไปปรุงรส
ฝานบักกอก (มะกอกป่า) ลงไปตำโคเล
เหยาะข้าวคั่วลงไปนิดหนึ่ง
ใครที่ชอบรสเปรี้ยว ก็บีบบักนาวลงปรุงรส
จากนั้นก็หั่นผักหอมต่างๆ ลงไป เอาช้อน คะลน  เป็นอันเสร็จสรรพ
ยกลงมาจัดผักกินกับตามท้องถิ่น จัดให้ดูน่าทาน


มะกอกป่า หรือ บักกอก  ส่วนประกอบที่ขาดไม่ได้ ในเมนูตำกุ้ง


อนึ่งอาจจะคั่วกุ้งให้สุกก่อนแล้วนำมาตำก็ได้  เรียกว่า “ป่นกุ้ง”  
เมนูนี้ ในทางภาคเหนือของไทยก็มีการทำ ตำกุ้ง กินกันตามประสา ชาวลานนา
แต่ว่าทางภาคเหนือ เขาจะใส่ ดีปลี และ มะแข่น ลงเป็นเครื่องหอม

ใครที่เป็นโรคไอ ( บ่แม่น ไอเลิพยู  เด้อ )  ควรหลีกเว้น เนื่องจาก “ผิดกะบูร” กับโรคไอ


เมนูตำกุ้ง และ ป่นกุ้ง เป็นเมนูพื้นเมืองอีกเมนูหนึ่ง  ที่น่านำเสนอให้ได้ชิมรสชาติแห่งลุ่มน้ำอีสาน
กุ้งฝอย หรือกุ้งนา เปรียบเสมือน “แพลงก์ตอน “ แห่งที่ราบสูง  หล่อเลี้ยงทุกสรรพสิ่ง
และเป็นเมนูที่เน้นผักต่างๆ กินเป็นเครื่องเคียง ไม่จำเพาะเจาะจงผักกินกับ  
มีมหกรรมอาหารพื้นเมืองที่ไหน
บ่าวปิ่นลม ขอฝาก “ตำกุ้ง” บรรจุในแผนการแสดงอาหารพื้นเมือง ให้แขกบ้านแขกเมือง ได้ลองเปิบ


 
 
สาธุการบทความนี้ : 858 ครั้ง
จากสมาชิก : 4 ครั้ง
จากขาจร : 854 ครั้ง
 
 
  12 ก.ย. 2555 เวลา 12:50:32  
   ขึ้นบน ลงล่าง  
 
         

  โพสต์โดย   99) หาหน่อไม้ บ้านบ่าวปิ่น กินวอสก้า..  
  ปิ่นลม    คห.ที่634)       [ไปที่ความเห็นนี้ ในกระทู้นี้]  
  เซียน

ภูมิลำเนา : สกลนคร
เข้าร่วม : 16 มี.ค. 2553
รวมโพสต์ : 2213
ให้สาธุการ : 180
รับสาธุการ : 5440860
รวม: 5441040 สาธุการ

 



สามแพร่ง

 
 
สาธุการบทความนี้ : 857 ครั้ง
จากสมาชิก : 1 ครั้ง
จากขาจร : 856 ครั้ง
 
 
  04 ธ.ค. 2553 เวลา 21:28:27  
   ขึ้นบน ลงล่าง  
 
         

  โพสต์โดย   97) ESANIA Sector 9 นครที่สาบสูญ  
  ปิ่นลม    คห.ที่237)       [ไปที่ความเห็นนี้ ในกระทู้นี้]  
  เซียน

ภูมิลำเนา : สกลนคร
เข้าร่วม : 16 มี.ค. 2553
รวมโพสต์ : 2213
ให้สาธุการ : 180
รับสาธุการ : 5440860
รวม: 5441040 สาธุการ

 


“ ปลูกต้นตาล นี่นะ  จะพาให้ รอดพ้น วิกฤต คาร์บอนด์ไคซิส “
หนูอีฟ เอามือป้องปากตกใจ  ไม่ทันขาดคำ อำมาตย์จำป้อย แมงจินูนจักรกล ก็ขยับหนวดสั้นๆ
พลันภาพนูน 4 มิติ รอบทิศทาง ก็แสดงภาพประกอบต่อไป

“ เมื่อน้ำมันขาดแคลน แต่มนุษย์ ต้องพึ่งพา พลังงาน เพื่อขับเคลื่อนอารยธรรม  จึงตื่นตัวหันมาใช้พลังงาน
ทดแทนอย่างอื่น แต่พลังงานทดแทนน้ำมันอย่างอื่น เห็นจะมีเพียง พลังงานแสงอาทิตย์เท่านั้น
แต่ว่าการนำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ ประสบปัญหา การผลิตวัตถุดิบ ในการเก็บกักพลังงาน”


พืชฉลาดกว่ามนุษย์ ในการวิวัฒนาการ ด้านพลังงาน นับตั้งแต่เริ่มกำเนิดโลก พืชเป็นสิ่งมีชีวิตชนิดแรก
ในการนำแสงอาทิตย์ มาแปรผันเป็นพลังงาน เพื่อการดำรงชีพ  ดูดกลืนก๊าซตระกูลคาร์บอน ซึมซับเอาน้ำ
แตกโมเลกุล แปรเป็นแร่ธาตุจำเป็นต่อสิ่งมีชีวิต และที่สำคัญสุด ผลิตออกซิเจน ให้ สัตว์ทั้งหลายได้หายใจ

เดิมทีโลกใบนี้เต็มใบด้วย คาร์บอนด์ และก๊าซคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ คาร์บอนมอนอ๊อกไซด์  จากการระเบิด
ของภูเขาไฟ ความร้อนจากการหลอมละลายหิน บรรยายกาศ ไม่มีออกซิเจน เลย  แบคทีเรียชนิดหนึ่ง
กำเนิดขึ้น และใช้แสงอาทิตย์ เป็นพลังงานในการ ขับเคลื่อนขบวนการดำรงชีพ พัฒนามาเป็นพืช
ที่ปล่อย ก๊าซออกซิเจน  เก็บกักคาร์บอนอันเป็นพิษ  จนโลกมีชั้น บรรยากาศโอโซน ลดทอน อนุภาคที่
เป็นภัยต่อสิ่งมีชีวิต จากดวงอาทิตย์ ทำให้โลกใบนี้มีสภาวะเหมาะสมต่อ สรรพสัตว์
โลกใช้เวลานับ ล้านๆ ปี ในการเก็บซ่อนคาร์บอนอันเป็นพิษต่อพืชและสัตว์นั้นไว้ใต้เปลือกโลก
เพื่อให้โลกมีสภาพเอื้ออำนวยต่อสิ่งมีชีวิตทุกสายพันธุ์


มนุษย์ผู้ฉลาดล้ำ ใช้ปัญญาในการ ขุดเจาะเอาสิ่งเหล่านั้นมาใช้จนเกินเลย ที่จะสามรถควบคุมได้
บุกรุก ทำลายป่าพืชพันธุ์ เหมือน “ ก่องข้าวน้อยฆ่าแม่ “ ทำบรรยากาศให้เจือปนก๊าซพิษเหล่านั้นอีกครั้ง
คาร์บอนไคซิส จึงย้อนกลับมา ดังคราที่โลกกำเนิดใหม่ๆ “

“เอาหละ ผมรู้แล้ว ว่ามนุษย์ ทำลายบรรยากาศ พืชพันธุ์ และความสมบูรณ์ของธรรมชาติ
เพียงเพื่อหาเงินซื้อหา พลังงานฟอสซิล   (Fossil Energy) นั่นคือ วัฒนธรรม คาร์ฟอร์แคท
นั่นคือ เหตุผลของการล่มสลาย รึ ดูจะง่ายไปกระมัง ท่านกุดจี่ “
ปีโป้ปิ่นเถียงจนตาสวด  ในขณะที่ อีฟ เอามือกดภาพนูน 4 มิติ ด้วยสงสัยว่า ไอ้พลังงานฟอสซิล
ที่ว่ามันคืออะไร

ทันใดนั้น ข้อมูลก็พรั่งพรู
เชื้อเพลิงฟอสซิลเกิดจากการย่อยสลายของสิ่งมีชีวิตภายใต้สิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม เมื่อพืชและสัตว์สมัยดึกดำบรรพ์
(ยุคไดโนเสาร์) เสียชีวิตลงจะถูกย่อยสลายและทับถมกันเป็นชั้น ๆ อยู่ใต้ดินหรือใต้พิภพ
ซึ่งใช้เวลาหลายล้านปีกว่าที่จะเปลี่ยนซากเหล่านี้ให้กลายเป็นเชื้อเพลิงฟอสซิลที่รู้จักกันทั่วไปคือ
ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ
พลังงานฟอสซิลนี้ ก็ถือว่าเป็นแหล่งกักเก็บ พลังงานจากดวงอาทิตย์ ที่เกิดขึ้นหลายล้านปีก่อนของ
สิ่งมีชีวิตในยุคนั้น
พลังงานเหล่านี้จะถูกปลดปล่อยออกมาได้ หรือเอามาใช้ทำงานได้ ก็มีอยู่วิธีเดียวเท่านั้นคือ
การเผาไหม้ซึ่งจะทำให้คาร์บอนและไฮโดรเจนที่อยู่ในเชื้อเพลิงรวมกับออกซิเจนในอากาศเป็นคาร์บอนไดออกไซด์
• ถ่านหิน (Coal)
• น้ำมันปิโตรเลียม (Petroleum Oil)
• ก๊าซธรรมชาติ (Natural Gas)
• สารสังเคราะห์ (Derivative)
พลังงานเหล่านี้ จะถูก วัฒนธรรม คาร์ฟอร์แคท ใช้หมดไปจากโลก ภายใน 500 ปี
ยังผลให้บรรยากาศโลกเปลี่ยนแปลง อย่างแสนสาหัส  

พญาเบ้าคำ ส่ายหน้า พลางอธิบาย
“ใช่แล้ว การขาดแคลนพลังงาน ไม่ทำให้ อารยธรรม อีสานสูญสลาย เพราะอารยธรรม อีสาน
กำเนิดมาก่อนยุค พึ่งพาพลังงานฟอสซิลเหล่านั้น
แต่ เมื่อเกิด การลำลายล้าง ปลูกพืชเชิงเดี่ยว
แบบไม่ยั้งคิด บริโภคพลังงานฟอสซิล ทุกกิจกรรม จนหลงลืมว่า บรรพบุรุษอยู่เยี่ยงไร
ภาวะโลกร้อน และ วิกฤตการณ์ คาร์บอนไคซิส  ทำให้ ลมมรสุมที่เคยพัดผ่านอีสาน เปลี่ยนแปลง
ฤดูกาล และบรรยากาศเปลี่ยนไป  คราฝนตก ก็ ท่วมบ่า  คราแล้งก็ขาดแคลนน้ำ ในการเกษตร
ลมฝนตามฤดูกาล หายไป ทิ้งไว้เพียงภัยแล้ง เพราะปลูกไม่ได้   อีสานจึงค่อยๆ กลายเป็นทะเลทรายช้าๆ

เริ่มจาก ปลูกไม้ผลยืนต้นไม่ได้  มาเป็น ทำนาไม่ได้  และในที่สุดคือ ปลูกพืชไร่ไม่ได้  วัฒนธรรมจึง
ล่มสลายไปพร้อมกับ อาชีพเกษตรกรรม “


ว่าแล้ว พญาเบ้าคำก็ ฉายภาพถ่ายทางดาวเทียม พื้นที่อีสาน สมัย เริ่มยุค”คาฟอร์แคท” ให้ทั้งสองดู



(ภาพจาก อินเตอร์เน็ต )

ที่เห็นโล่งๆ นี่คือ อีซาเนีย เมื่อ 5000 ปีก่อน  จะเห็นว่า พื้นที่สีเขียว แทบไม่มี เพราะต่างคนต่าง
แผ้วทางป่า พืชพันธุ์พื้นเมือง เพื่อเร่งปลูกพืชเศรษฐกิจ  แสวงหารายได้ เงินตรา เพื่อซื้อหา ผลพวง
ของพลังงานฟอสซิล  ปลูกพืชก็ต้องใช้ น้ำมัน ปลูกเสร็จ ต้องใส่ปุ๋ยเคมี ที่ได้จากส่วนเกินของปิโตเลียม
เก็บเกี่ยว ใช้น้ำมัน ขนส่งก็ใช้พลังงานฟอสซิล  ขายได้เงินมา
ก็ไปซื้อหาเครื่องอำนวยความสะดวก ที่ใช้พลังงานฟอสซิลทั้งนั้น  วงจรไร้ที่สิ้น

ดินเกิดการเสื่อมสภาพ ขาดความอุดม พืชท้องถิ่น รวมทั้ง สัตว์หลายชนิดสูญพันธุ์ ฤดู กาลผันแปร
ฝนที่เคยตก เพราะต้นไม้ ดูดซับความชื้น  เริ่มตกน้อยลง  และเว้นผ่านพื้นที่นี้ ไปช้าๆ
ความแห้งแล้งครอบงำทีละนิด  ใช้เวลาเพียง 100 ปี อีซาเนียโบราณ แปรสภาพเป็นทะเลทราย
กว้างขึ้น กว้างขึ้นเรื่อยๆ  

เริ่มจาก อ.โนนศิลา ใจกลางอีซาเนีย แผ่ขยายเป็นวงกว้างไปทางแผ่นขอบอีซาเนีย  จนทั้งหมด
มีแต่ทรายอย่างที่เห็น ภายใน 500 ปี

ทั้งวัฒนธรรม และความอุดมสมบูรณ์ และความหลากหลายทางชีวภาพ สาบสูญ  
ผู้คนล้มตาย ด้วยอดอยาก สงคราม และ โรคภัย  มิคสัญญี  มนุษย์ผู้มีใจงาม เป็นเพียงเรื่องเล่า “

ปีโป้ปิ่นและ อีฟยืนตัวแข็ง เศร้าสลด จนมิอาจเอ่ยถ้อยคำใด

 
 
สาธุการบทความนี้ : 855 ครั้ง
จากสมาชิก : 3 ครั้ง
จากขาจร : 852 ครั้ง
 
 
  18 ส.ค. 2554 เวลา 10:36:54  
   ขึ้นบน ลงล่าง  
 
         

  โพสต์โดย   98) สารานุกรม แมงไม้ ใน อีสาน  
  ปิ่นลม    คห.ที่65) แมงจิซอน      [ไปที่ความเห็นนี้ ในกระทู้นี้]  
  เซียน

ภูมิลำเนา : สกลนคร
เข้าร่วม : 16 มี.ค. 2553
รวมโพสต์ : 2213
ให้สาธุการ : 180
รับสาธุการ : 5440860
รวม: 5441040 สาธุการ

 

ขอบคุณภาพจาก google


ชื่อวิทยาศาสตร์    Gryllotalpa orientalis
อันดับ                ORTHOPTERA
วงศ์                   Gryllotalpidae
ชื่อสามัญ            Mole Crickets
ชื่อพื้นบ้าน           แมงซอน  แมงจิซอน แมงกระซอน (นักธรณีวิทยาแห่งชายบึง)

ลักษณะทั่วไป

           แมลงจิซอน มีลำตัวกลมลักษณะคล้ายจิ้งหรีด แต่มีปีกสั้นมาก ขนาดความยาวลำตัวประมาณ
3 - 4 เชนติเมตร  หนวดสั้น ขาหน้ากว้างมีลักษณะคล้ายอุ้งมือของตัวตุ่น มีเล็บแข็ง
ใช้ในการขุดดิน ชอบอาศัยตามที่ชื้นขุดรูอยู่ใต้ดินกินรากพืชและพืชต่างๆ  เป็นอาหาร
แมลงชอนมีขาคู่หน้าดัดแปลงไปเป็นขาขุด เพื่อใช้ประโยชน์ในการขุดดินและมุดตัวอยู่ในดิน
ตัวเต็มวัยเพศผู้และเพศเมียแตกต่างกัน
จากการดูอวัยวะเพศที่ปลายท้องได้ ทั้งสองเพศมีรูปร่างลักษณะเหมือนกันมาก
ตัวผู้ท้องยาวเรียว แต่ที่แตกต่างคือเพศผู้สามารถทำเสียงได้เช่นเดียวกับจิ้งหรีดและตั๊กแตน
แต่เสียงค่อยกว่ามาก โดยเพศผู้มีอวัยวะในการทำเสียงอยู่ที่ปีกคู่หน้า เป็นตุ่มทำเสียงที่เรียกว่าไฟล์ และสะแครปเปอร์
และมีพื้นที่เล็กๆ บนแผ่นปีกที่ใช้ในการทำเสียงซึ่งเพศเมียไม่มี
ตัวเมีย ท้องป้อมๆ ลำตัวสั้นกว่าตัวผู้เล็กน้อย



แหล่งที่พบ  

           ขุดรูอาศัยในดินที่แฉะมากๆ โดยเฉพาะดินบริเวณรอบๆ แหล่งน้ำ ริมหนองน้ำ ริมห้วย ริมบึง
อาหารธรรมชาติ   คือ หญ้าสด มีหญ้าต่าง ๆ เช่น หญ้าขน หญ้าน้ำ หรือวัชพืช


ริมบึงน้ำแบบนี้ และครับ สวรรค์ของ แมงจิซอน


วงจรชีวิต  

แมลงกระชอน วางไข่เป็นแท่งไข่แข็งซึ่งมี 30-50 ฟองอยู่ในดิน ไข่ใช้เวลาฟักตัว
25-40 วัน ตัวอ่อนที่ฟักใหม่ๆมีสีขาว ส่วนอกและขาสีฟ้าอ่อน ตัวอ่อนเมื่อเติบโตขึ้น
เปลี่ยนเป็นสีเทาถึงดำ มีแต้มสีขาว ตัวอ่อนวัยสุดท้ายลักษณะเหมือนตัวเต็มวัยแต่มีปีกสั้นกว่า
ระยะตัวอ่อนนาน 3-4 เดือน  ผสมพันธุ์และวางไข่ช่วงต้นฤดูฝน ช่วงฝนตกใหม่ๆ คือช่วงที่
กระจายพันธุ์ โดยจะออกท่องเที่ยว บินหาแหล่งน้ำในตอนกลางคืน

แมงจิซอน ในโลกจำแนก เป็น 2 ชนิด ใหญ่ๆ   คือ ชนิดที่พบทางซีกโลกตะวันออก
และ ชนิดที่พบในแอฟริกา
ในประเทศไทยมีแมลงชนิดนี้ สายพันพันธุ์ตะวันออกชนิดเดียวเท่านั้น
ส่วนแมลงกระจิซอนที่พบในแอฟริกามีหนาม 3-4 อัน
(มักมี 4 อันดูจากตัวอย่างแมลงกระชอนจากอียิปต์ 2 ตัว)
เขตแพร่กระจายพบในเอเชียและฮาวาย พืชที่พบแมลงกระชอนทำความเสียหาย เช่นข้าวไร่ อ้อย ยาสูบ หอม
ทานตะวัน ผักกะหล่ำ ชา และมันเทศ เป็นต้น

ส่วนแมงจิซอนสายพันธุ์ไทย ไม่ปรากฏว่า ทำลายพืชไร่ ของเกษตรกรแต่อย่างใด  เนื่องจากมันไม่กินพืชไร่


ในภาพคือ แมงจิซอน สายพันธุ์ แอฟริกา ต่างจากสายพันธุ์ไทย มาก



หน้าที่ตามธรรมชาติ  ของแมงซอน

เนื่องจากมีขาหน้าที่ทรงพลัง บางคนเรียกแมงจิซอน ว่า ราชคึ  หรือ ราชคฤกษ์ ราชาแห่งการ “คึ “

เวลาจับใส่มือไว้ แมงจิซอน จะใช้ขาหน้า “คึ” ง่ามมือออก พลังในการแหวกน่าอัศจรรย์
หน้าที่หลักคือการพรวนดิน ในริมน้ำทำให้ดินริมแหล่งน้ำมีอากาศ  ให้บักเตรี
ทำการย่อยสลายซากอินทรีย์
ในดินกลายเป็นแร่ธาตุที่อุดม เหมาะสำหรับพืชริมน้ำและ แมลงสัตว์น้ำอื่นๆดำรงชีพ  
แมงจิซอนยังกินซากพืช รากพืชน้ำที่เน่าสลายในดิน เป็นอาหาร และเป็นอาหารของปลาหลากหลายสายพันธุ์
บางครั้งความสัมพันธ์ ในระบบนิเวศน์ ก็ซับซ้อนและอ่อนไหว ในการดำรงสภาพอันเอื้อต่อสิ่งมีชีวิต
หลายๆอย่าง เมื่อพิจารณาแล้ว ล้วนเกี่ยวพันกันเป็นสายใย ห่วงโซ่อาหารและความสมดุล



การเกี่ยวพันในวิถีชีวิตอีสาน

เมื่อย่างเข้าหน้าแล้ง ช่วงเดือน ธันวาคม ถึง กุมภาพันธุ์  น้ำตามแหล่งน้ำเหลือเพียงแหล่งน้ำใหญ่ๆ
บริเวณริมแหล่งน้ำเหล่านั้นยังชุ่มชื้น บางแห่งยังมีตม พื้นดินนิ่มชาวบ้านต่างแบกจอบ ถือคุ ลงไปหากิน
ตามแหล่งน้ำที่ยังหลงเหลือ ต่างลงไปหา “ย่ำแมงซอน “   ตามพื้นดินริมแหล่งน้ำที่ยังอ่อนนิ่ม

ขั้นตอนแรก คือ ทำคันกั้นน้ำเล็ก ๆ  เป็นแนวยาว  บางแห่ง ก็ ทำเป็นรูปครึ่งวงกลม เพื่อกั้นน้ำ
จากนั้นก็ ขุดหน้าดินขึ้นมา ตักน้ำมาราด ดินที่ขุดขึ้น แล้วก็ลงมือ ย่ำดินให้กลายเป็นดินเหนียว
เมื่อน้ำเข้าไปแทนอากาศที่อยู่ในดิน และน้ำท่วมดิน บริเวณที่แมงซอน อาศัยอยู่ แมงซอนก็จะออกมาจากดิน
ชาวบ้านต่างเก็บเอาแมงซอน เพื่อเป็นอาหาร  ไล่คุบแมงซอน เป็นที่สนุกสนาน
แมงซอน หรือ แมงจิซอน เป็นอาหารของชาวอีสานในหน้าแล้ง นำไปทำอาหารได้หลายอย่าง
ห้วงเดือนดังที่กล่าวมาเท่านั้น ที่ชาวบ้านหากินแมลงชนิดนี้  ส่วนห้วงเดือนอื่น ก็หากินอย่างอื่น
ชีวิตชาวอีสาน ยากจนค้นแค้น อึดอยากปากหมอง  หากินแมลงต่าง ตามฤดูกาล เป็นแหล่งโปรตีน
จึงมีความสัมพันธ์ กับแมลงมากกว่าภาคอื่น ๆ  ซึ่งทางภาคอื่น มีแหล่งอาหารหลากหลายกว่า อุดมกว่า
แมลงจึงเป็นตัวเลือกลำดับสุดท้ายในการนำมาเป็นอาหาร  ต่างจากภาคอีสาน ซึ่งกินแมลงตามฤดูกาล



สิ่งที่น่าเป็นห่วง

เนื่องจากปัจจุบันการทำเกษตร มีการใช้สารเคมีในปริมาณที่มากขึ้นทุกปี  เกินขีดความสามารถของธรรมชาติ
ในการกำจัดสารตกค้าง ตามแม่น้ำลำคลอง ห้วยหนอง ให้เจือจางลงตาม วิถีธรรมชาติ จึงเป็นผลกระทบ
ในวงกว้างในระบบนิเวศน์  สารเคมีตกค้างในดินจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ แมงจิซอนเป็นจำพวกต้นๆ
ในการได้รับผลกระทบ  ลดจำนวนลง  ส่วนผลกระทบในด้านอื่นๆ  ทั้งทางตรงและทางอ้อม ไม่ขอกล่าว
เนื่องจากประเทศที่กำลังพัฒนา  ส่วนใหญ่ไม่สนใจ ระบบนิเวศน์และธรรมชาติ เท่าไหร่
ข้าวของผลิตภัณฑ์ทางเศรษฐกิจ ราคาสูงขึ้น  ที่ราคาถูกลงคือ ชีวิตพลเมือง


ขอบคุณทุกภาพ จาก oknation.net และ จาก google

 
 
สาธุการบทความนี้ : 849 ครั้ง
จากสมาชิก : 4 ครั้ง
จากขาจร : 845 ครั้ง
 
 
  26 ต.ค. 2553 เวลา 10:24:05  
   ขึ้นบน ลงล่าง  
 
         

  โพสต์โดย   98) สารานุกรม แมงไม้ ใน อีสาน  
  ปิ่นลม    คห.ที่31) แมงปอ แมงโกก แมงคันโซ่ แมงก้องแขน แมงระงำ      [ไปที่ความเห็นนี้ ในกระทู้นี้]  
  เซียน

ภูมิลำเนา : สกลนคร
เข้าร่วม : 16 มี.ค. 2553
รวมโพสต์ : 2213
ให้สาธุการ : 180
รับสาธุการ : 5440860
รวม: 5441040 สาธุการ

 



ชื่อ      แมงโกก, แมงน้ำแก่ง, แมงคันโซ่ ,แมงปอ (เจ้าผู้ครองเวหาศ )
ชื่อวิทยาศาสตร์ Rhyothemis sp.
อันดับ         ODONATA
ชื่อวงศ์        Libellulidae
ชื่อสามัญ  Dragonfly Nymphs


ฝรั่งเรียก Dragonfly เป็นแมลงมีปีก 4 ปีก บางชนิดกินเกสรดอกไม้ บางชนิดกินแมลงด้วยกันเป็นอาหาร บางคนเรียกว่า นักล่าแห่งเวหา เพราะมีความสามารถใน
การบินสูงมาก

แมลงปอสามารถบินได้ไกลถึง 100 ก.ม. การขยับปีกขึ้น-ลง จะใช้ความเร็วเฉลี่ยประมาณ 500 ครั้งต่อวินาที  ในที่นี่ขอเรียกว่า แมลงปอ เพื่อความเข้าใจ เพราะต่างถิ่น ต่างเรียกชื่อไม่เหมือนกัน

ประเภทและชนิด

แมลงปอในโลกนี้มีอยู่มากกว่า 5,000 ชนิด(species) จัดอยู่ประมาณ 500 สกุล
ซึ่งศาสตราจารย์ G.H.Carpenter ซึ่งเป็นศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยแมน
เชสเตอร์ ประเทศอังกฤษ แบ่งแมลงปอออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ โดยดูจากลักษณะของเส้นปีก รูปร่างปีก และลักษณะการวางปีกขณะเกาะอยู่ แบ่งเป็น

1.  กลุ่มแมลงปอบ้าน มีลักษณะตัวใหญ่ สีเข้ม หัวโต ตากว้างแต่ไม่โปน ปีกคู่หลัง
      ใหญ่กว่าปีกคู่หน้า เวลาเกาะจะกางปีกในแนวราบ
2.กลุ่มแมลงปอเข็ม มีตัวเล็กเรียว หรือสั้น ตาโปน ปีกคู่หลังมีขนาดเท่ากับปีก
    คู่หน้า เวลาเกาะจะหุบปีก

ในประเทศไทยมีการค้นพบแมลงปอมากกว่า 295 ชนิด



ในภาพ คือ แมงก้องแขน  แมงระงำ  และ ฮวก



ตัวอ่อนแมลงปอ ( Naiad )


ทางภาคอีสาน กินตัวอ่อนของแมลง ชนิดนี้เป็นอาหาร ซึ่งต่างชนิด ต่างมีลักษณะลูกอ่อน ไม่เหมือนกัน
จึงเป็นที่มา ของความสับสน เรียกชื่อผิด ๆ ถูก ๆ   ผู้ตั้งกระทู้ จึงขอสรุป ตัวอ่อน
ของแมลงปอ ที่ทางภาคอีสาน
นำมาเป็นอาหารปะเภทใหญ่ๆ ได้ดังนี้ หวังว่าคงให้ความกระจ่างกันบ้าง
เห็น ถกเถียงกันเหลือเกิน

1 แมงก้องแขน

     คือลูกแมงปอนักล่า ในสายพันธุ์แมงปอบ้าน ที่มีขนาดใหญ่ตาโปนสีเขียว  มีปีกขนาดใหญ่
ตัวอ่อนของแมงปอสายพันธุ์นี้ มีลักษณะคล้ายตัวหนอนซะมากว่า เรียวยาวกว่า
บรรดา ตัวอ่อนแมงปอทั้งหมด แปลกว่าเขาก็คือไม่มีขา  ที่ที่ร้ายกาจคือ มีเขี้ยวที่
สามรถกัดได้ กัดเจ็บเหมือนกัน  เรียกว่า" แมงก้องแขน"
ด้วยลักษณะเรียวยาว ไม่มีขา ลำตัวมีสีขุ่น เวลาโค้งเข้าหากันจากหัวกับหาง คล้าย “ กำไล “ หรือ ภาษาอีสานเรียกว่า “ ก้องแขน “
ทั้งตัวยาว 5- 6 ซม.   ส่วนมากอยู่ในแม่น้ำใหญ่ ๆ  ตามห้วยต้องเป็นห้วยใหญ่
น้ำไม่ขาดทั้งปี หากตามหนอง หรือแหล่งน้ำ เล็ก ๆ  ไม่ค่อยพบ


ภาพแมงก้องแขน ( ตัวอ่อนของแมงปอ อีกชนิดหนึ่ง )


2.แมงระงำ

มีลักษณะตัวป้อมๆ ตาโปน ก้นใหญ่  อาจมีกระบังหน้าคล้ายพาย ใช้สำหรับช่วยในการกินอาหาร
มีขา6 ขา เวลาโดนจับ จะใช้กระบังหน้าปิดตาอาไว้ เหมือนอาการคนงุ้ม หรือ ง้ำหน้าหลบ
จึงได้ชื่อว่า“แมงหน้างำ “ และ เพี้ยนมาเป็น “แมงระงำ” ดังที่เรียกขานกัน  บางชิดรูปร่างแบน ก้นเรียว
ต่างกันไปบ้าง ตามสายพันธุ์  บางชนิดไม่มีกะบังหน้า  ตัวอ่อนชนิดนี้ เป็นตัวอ่อนของแมงปอ ทั่วไป
เช่น แมงปอแดง แมงปอนา ตัวไม่ใหญ่และยาวเท่าใดนัก  ประเภทนี้มีมากที่สุด มีตามแหล่งน้ำทั่วไป

ภาพ แมงระงำ ตัวอ่อนแมงปอ อีกชนิด



ภาพด้านหน้า  แมงระงำ  สังเกต กะบังหน้า โดนแกะออก


3.แมงเหนี่ยง , หรือ แมงเหนี่ยว

ลูกของแมงปอเข็ม แตกต่างจากทั้ง 2 ชนิด มีขนาด เล็ก ลำตัวเรียวหรือแบน แต่ยาวกว่า
แมงระงำ อาจมีสีดำ หรือสีใสขุ่นตามสภาพน้ำที่อาศัย ขบางชนิดลำตัวกลม
สังเกต ชนิดนี้ ไม่มีกะบังหน้า  


ภาพแมงเหนี่ยง



ภาพแมงเหนี่ยงอีกชนิด

เบิ่งเอาโลด ในกาละมัง มีแมงหยังแน



ทุกชนิดที่กล่าวมา ทั้งหมดล้วน โตขึ้นเป็น แมงปอ ขะน้อย


วงจรชีวิต

แมงปอ มีชีวิตส่วนใหญ่ในน้ำ   อาศัยอยู่ตามแหล่งน้ำจืดทั่วไป  ตัวอ่อนแมลงปอใช้ชีวิตนานอยู่ในน้ำนาน
1-3ปีเมื่อถึงวัยหนึ่ง จะขึ้นมาลอกคราบ กลายเป็นแมงปอ  และจะลอกคราบ ประมาณ
5 – 6 ครั้ง เจริญพันธุ์เป็นตัวเต็มวัยกินลูกน้ำ สัตว์น้ำเล็ก ๆ และลูกอ๊อดเป็นอาหาร
บางครั้งก็กินพวกเดียวกันเอง บางสายพันธุ์กินพืช

แมลงปอมักผึ่งปีกในเวลาแดดตอนสาย  เมื่อปีกแห้งจึงบินได้ ไปล่าเหยื่อ  ผสมพันธุ์ใน
หน้าฝน ช่วงเดือน มิ.ย. ก.ค. วางไข่ตามแอ่งน้ำ  แล้วก็ สิ้นอายุขัย


ประโยชน์และความสำคัญ

แมงน้ำแก่ง ,แมงโกก , แมงคันโซ่  หรือ แมลงปอ  ตามแต่จะเรียก กินลูกของสัตว์น้ำ และ ตัวอ่อนของแมลงเบียนพืชทั้งหลายเป็นอาหาร  ตลอดจนลูกน้ำ ตัวอ่อนของยุงเป็นของโปรด  
อีกทั้งช่วงอายุตอนอาศัยในน้ำยังเป็นอาหารของสัตว์น้ำหลากหลายชนิด ทั้งกบ เขียด ปู ปลา
ประดุจดัง “แพลงตอน” ผู้โบยบินจากฟ้า
ชุบเลี้ยงผืนน้ำ ในอีสาน  อีกทั้งยังสามารถแปลงโฉมจาก ผู้ถูกล่า มาเป็นนักล่าได้ ในช่วงท้ายของวงจรชีวิต
นับว่าเป็นแมลงที่มีประโยชน์ยิ่ง ต่อระบบนิเวศน์โดยแท้  ความสามารถในการปรับตัวของมัน ทำให้
อยู่รอดมาได้จนทุกวันนี้ เรารู้หรือไม่ แมลงปอ กำเนิดและอยู่มานานก่อนจะมีมนุษย์   ไดโนเสาร์ล้มตาย
สูญพันธุ์ แต่ แมลงปอ ยืนหยัดได้  จึงไม่แปลกที่ เทคนิคการบิน ของแมลงปอ ถือว่าเป็นสุดยอด
เป็นจ้าวเวหา   ที่มาแห่งความอร่อยล้น เลี้ยงดูชาวอีสานให้มีอาหารการกิน ไม่ว่าแล้ง หรือ ฝน


แมงก้องแขน เมื่อลอกคราบแล้ว โตขึ้นมาจะกลายเป็น แมงปอพิฆาต หากินหมู่ ตั๊วะ


ส่วนแมงระงำ เมื่อลอกคราบมาแล้ว ส่วนมากเป็นแมงปอ แบบนี้ ซั่นเด้..




ส่วนแมงหนี่ยง ลอกคราบออกมา จะเป็นแมงปอ สีแปลก ๆ  พ่อตู้เลาเว่าให้ฟัง พะนะ


ในแง่วิถีชาวอีสาน

เมื่อฤดูแล้งย่างกราย แผ่นดินอีสาน  อาหารการกินหายาก  แหล่งน้ำประจำหมู่บ้าน เช่น ห้วยหนอง , บึง
พ่อแม่ พาลูกเต้า ไปหา “ส่อน” ( ช้อนเอา ) ตัวอ่อนแมลงเหล่านี้เป็นอาหาร ทั้ง แมงระงำ แมงก้องแขน
แมงเหนี่ยว  แกง หรือหมกใส่ใบตอง รวมกับแมลงน้ำชนิดอื่น กินเพื่อยังชีพ  อยู่อย่างพอเพียง
เอาตัวรอดจากฤดูกาล  


เมื่อถึงคราวเข้าหน้าฝน สังเกตแมลงชนิดนี้ โบยบินเป็นกลุ่ม บินวนท้องฟ้า ดาษดา  
เพิ่นว่า ไม่เกิน 2  วัน ฝนใหญ่สิตก  วางแผนหาแช่เข้าปลูก  หรือ หาป้านคันนาไว้ เก็บกักน้ำ
ยามนั่งเผ้าตากล้า อยู่เถียงนาน้อย แมงปอ บินจับปลายไม้แห้ง ริมหนอง ดวงตาเกลือกกลิ้งแนมฟ้า
ชวนให้จิตใจ ใสเย็นสงบ  ดังสายลมที่พาพัด แมงปอน้อยลอยล่อง   อนึ่ง จำนวนของแมลงปอแต่ละปี
คนอีสานโบราณใช้ทำนาย น้ำมาก หรือน้อยได้  นั่นแสดงว่า สายตาแห่งชาวอีสาน  เมื่อมองทอดสู่ทุ่ง
ย่อมเห็นแมงปอ กับยอดต้นข้าว ล้อลิ่วกับสายลม  เสมอ




ขอบคุณภาพจากเวปต่างๆ ( ตามที่ปรากฎในภาพ ) และ google
ส่วนข้อมูลดิบ หายากพอสมควร ส่วนมากเป็นรูปภาพ ครับ
อันอื่นมีแต่ภาษาฝรั่ง แปลบ่ออก  

สำหรับผู้มีข้อมูลแตกต่างจากนี้ ขอให้แจ้งเด้อครับ สิได้ปรับปรุงให้ถูกต้อง ตามชื่อเรียก

 
 
สาธุการบทความนี้ : 848 ครั้ง
จากสมาชิก : 4 ครั้ง
จากขาจร : 844 ครั้ง
 
 
  30 ก.ย. 2553 เวลา 14:48:14  
   ขึ้นบน ลงล่าง  
 
         

  โพสต์โดย   98) สารานุกรม แมงไม้ ใน อีสาน  
  ปิ่นลม    คห.ที่105) แมงม้า      [ไปที่ความเห็นนี้ ในกระทู้นี้]  
  เซียน

ภูมิลำเนา : สกลนคร
เข้าร่วม : 16 มี.ค. 2553
รวมโพสต์ : 2213
ให้สาธุการ : 180
รับสาธุการ : 5440860
รวม: 5441040 สาธุการ

 


ชื่อสามัญ    Mantis
Order       ORTHOPTERA  
Family      Mantidae  
ชื่อพื้นบ้าน     แมงม้า   , แมงนบ  , แมงอีหมม่อม ,ตั๊กแตนโย่งโย่
(นักชกสีเขียว)

เป็นแมลงขนาดใหญ่ ที่กินแมลงชนิดอื่น หรือศัตรูพืชเป็นอาหาร
ขาหน้ามีขนาดใหญ่ใช้ในการจับเหยื่อ ขณะทำการจับเหยื่อทำท่ายกขาหน้าและโยกไปมา
โดยจะมองว่า  คล้ายจะต่อยมวย หรือ คล้าย ม้าย่อง กำลังยกขาหน้า จึงได้ชื่อว่า” แมงม้า”
อนึ่ง ชาวอีสานบางพื้นที่ มองว่ามันกำลังยกมือสวดมนต์ภาวนาจึงเรียกมันว่า “แมงนบ” (พนมมือ)
ส่วนทางพื้นที่ จังหวัดขอนแก่น จนถึงจังหวัดหนองบัวลำภู เรียกแมลงชนิดนี่ว่า"แมงอีหม่อม"
แมลงชนิดนี้พบกระจายทั่วโลกในเขตร้อน  และเขตอบอุ่นมีประมาณ  1800   สายพันธุ์  

ลักษณะโดยทั่วไป


           เป็นสัตว์ที่มีขาคู่หน้า ที่แข็งแรง และยัง มีขอบหยักคล้ายซี่เลื่อยแหลมคมงอกขึ้นมาตาม ท้องขา
ท่อนปลายสุด และ ท่อนกลาง ไว้ช่วยตะปบเหยื่อ ไม่ให้หลุดก่อนที่จะกินโดยเฉพาะ ท่อนขาช่วงกลาง  
โตผิดปกติ   โค้งงอคล้ายใบมีด   และมีตาทั้งคู่โปนเด่นสามารถที่จะกรอกตาได้รอบๆ เพื่อจ้อง จับเหยื่อ
ตามปกติถ้าไม่ตื่นกลัวง่าย ๆ  มักจะคลานไต่ไปตามต้นไม้เพื่อหากินอิสระ

หัวสามารถหมุนได้อิสระเกือบรอบ จัดว่าเป็นแมลงชนิดหนึ่งที่สามารถมองผ่านไหล่ของตัวเอง
ไปทางด้านหลังได้เช่นเดียวกับแมลงปอซึ่งมีส่วนหัวหมุนได้เกือบรอบเช่นเดียวกัน
“แมงม้า “ยังมีตาเดี่ยวอีกสามตาอยู่ตรงกลางหน้าผากระหว่างตารวมทั้งสองข้าง
ตาเดี่ยวทำหน้าที่รับแสงมากกว่าการรับภาพเหมือนตารวม

จะไม่บินรวมกันเป็นฝูง. สามารถเปลี่ยนสีพรางตัวให้เข้ากับสถาพแวดล้อมที่อยู่ได้
เช่นพันธุ์   Hyminopus cornatus  หรือ พันธุ์ Tarachodes  การพรางตัว   ทำให้มันดำรงชีวิตอยู่ได้
ในประเทศไทยมีการสำรวจพบ “แมงม้า”  ประมาณ 180 ชนิด







ภาพแมงม้า กำลังวางไข่

วงจรชีวิต


ตามปกติ “แมงม้า” จะเจริญเติบโตแบบเป็นขั้นตอนที่ไม่สมบูรณ์ กล่าวคือไม่มีระยะดักแด้
“แมงม้า” วงจรชีวิตเริ่มจาก ฟักตัวออกจากไข่เป็นตัว มีขนาดเล็กมาก รูปร่างคล้ายมด
แต่ละครั้งที่มีการลอกคราบขนาดจะและรูปร่างก็จะเปลี่ยนแปลงไปโดยปีกจะยาวขึ้น
หลังการลอกคราบครั้งสุดท้าย 2-3 ครั้ง จึงจะเป็นตัวเต็มวัย
    ตัวผู้มีขนาดเล็กกว่าตัวเมีย  เริ่มจับคู่ผสมพันธุ์ ช่วงเดือน พฤษภาคม
    ระหว่างผสมพันธุ์ อาจจะใช้เวลานานเป็นวัน หรือแล้วแต่ความพอใจของตัวเมีย
เมื่อผสมพันธุ์เสร็จ ตัวเมียอาจสังหารตัวผู้เป็นอาหารว่าง ( โหดแถะหวา)
หลังจากการผสมพันธุ์ประมาณ 1-2 สัปดาห์ ตัวเมียจะเริ่มวางไข่เป็นกลุ่มอัดเรียงกันแน่นเป็นฝัก
ซึ่งจะวางได้ติดต่อกันไปได้ 3-6 ฝัก ไข่ฟักเป็นตัวอ่อนภายใน 5-6 สัปดาห์
สังเกตได้ว่า “แมงม้า” ไม่เป็นดักแด้ หรือใช้เวลาในการฝักตัวในคราบดักแด้ ดังแมลงชนิดอื่น
เกิดมาเป็นตัว ออกหากิน และ ลอกคราบเพื่อเจริญเติบโตเลย



   ความเกี่ยวเนื่องกับวิถีอีสาน


เมื่อฤดูกาลปักดำข้าวกล้าในนา หรือ ปลูกพืชไร่ ถั่ว อ้อย ข้าวโพดมาถึง  ตามสุมทุมพุ่มไม้ หรือตาม
ต้นข้าวโพด กล้าต้นอ้อย มักจะพบ “แมงม้า” โยกเยก โยงโย่ ตามใบไม้ไม้กิ่งไม้
เวลาเจอหน้ามัน เด็กน้อยแสนซน มักจะเอาปลายไม้ไปเขี่ย ทำให้ มันยกตัวขึ้นสู้ ตั้งท่าเหมือนจะชก
เป็นที่สนุกสนาน   อีกอย่างหนึ่ง ฝักไข่ของแมงม้า สามารถนำมา “จี่กิน” เป็นอาหารได้
รสชาติแซบ เป็นแมลงชนิดหนึ่งที่พบได้ตาม หัวไร่ปลายนา  พวกเด็กน้อยผู้หญิงไม่กล้ายุ่ง เพราะรูปร่าง
อันน่าหวาดหวั่น  แมงไม้ชนิดนี้ เป็นแมงไม้ที่ไม่ค่อยตื่นกลัว  ตั้งท่าสู้เสมอ
แม้ผู้รุกรานจะมีขนาดใหญ่เพียงใด “นั่นแสดงถึงความห้าวหาญ” ของการเป็นนักสู้
ดังเช่นชีวิตลูกอีสาน สู้ชะตาฝ่าฝันชะตาโดยไม่ย่นย้อ  ปกติแล้วมักจะไม่นิยม จับมาเป็นอาหาร
นอกจาก เอามา” ไต่ฮาวฮั้วเล่น”  เอาไม้แหย่ดาก ให้มันฉุนเฉียว แล้วก็ปล่อยไป    

 
 
สาธุการบทความนี้ : 848 ครั้ง
จากสมาชิก : 2 ครั้ง
จากขาจร : 846 ครั้ง
 
 
  23 พ.ย. 2553 เวลา 15:09:59  
   ขึ้นบน ลงล่าง  
 
         

  โพสต์โดย   109) อาหาร อิสาน วิเศษ ไม่แพ้ชาติใด  
  ปิ่นลม    คห.ที่256) ก้อยลิ้นไม้      [ไปที่ความเห็นนี้ ในกระทู้นี้]  
  เซียน

ภูมิลำเนา : สกลนคร
เข้าร่วม : 16 มี.ค. 2553
รวมโพสต์ : 2213
ให้สาธุการ : 180
รับสาธุการ : 5440860
รวม: 5441040 สาธุการ

 



ชอบของขม  ชมเด็กสวย  กินกล้วยตอนเช้า  พะนะ   สัญญาณบอกว่า "เฒ่าแล้ว" พี่น้องเอ๋ย
"คนจะแก่  แก่ความรู้ ใช่อยู่นาน  คนจะรวย รวยศีลทาน ใช่บ้านโต" ทัศนคติของคนโบราณ
แต่ทุกวันนี้ ตรงกันข้ามเด้อ..พี่น้อง  ย้อนคนเฮา ห่างวัดห่างวา  หาเข้าแต่ "เซเว่น"

เอาหละ เว้าความยาว มันสาวความยืด  ขี้กะตืกฮ้อง ไทบ้านสิจ่มหา พี่น้องเอ๋ย
เมนูวันนี้ เอามาจาก "โคกหินแห่" นู้นหละ

ชื่อพื้นบ้าน   ก้อยบักลิ้นไม้  ก้อยบักลิ้นฟ้า
ชื่อภาษาไทย    นภาลิ้นห้อย
ชื่อประกิต     Tongue Downfall Sky

  

อัน บักลิ้นไม้ หรือบักลิ้นฟ้า (ภาษาอีสาน)  ภาษาไทยเรียกว่า "เพกา"  ชื่อเมืองใกล้ๆ กับ กรุงลงกา
เป็นชื่อของต้นไม้ชนิดหนึ่ง แพร่ขยายพันธุ์ ในแถบอินเดีย ไทย  และแถบอินโดจีน
  
ประเทศแถบยุโยป  ก็มี "เพกา" เหมือนกันครับพี่น้อง
แต่ว่าเขา "ซัส" หมดแล้ว ( ซัส อีสานแปลว่า กินเรียบ ) จึงเหลือเพียง " เพกาซัส"  ชื่อม้ามีปีก บินเวิ่ม ๆ

พูดถึงฝักอ่อน ดอกอ่อน ของต้นไม้ชนิดนี้รสขม กลับมีประโยชน์
รับประทานแทนผักจะช่วยขับเสมหะและบรรเทาอาการไอ ลดไขมันในเม็ดเลือด



จากการศึกษาวิจัยพบว่า มีสรรพคุณเป็นสมุนไพร แก้โรคได้หลายอย่าง  ชาวจีนเรียกมันว่า
"กระดาษพันใบ"  เมล็ดมัน เขานำไปเป็นส่วนผสมของสมุนไพรจีน รักษาโรค"ตะพึดตะพือ"
คุณประโยชน์กล่าวบ่หมดพี่น้องเอ๋ย

ชาวอีสานบ้านเฮา นิยมเอามาทำอาหาร เช่น เอาไฟแล้วล้างน้ำ มากินกับ ลาบ  แจ่ว ป่น เป็นต้น
บางคนก็หั่นเป็นชิ้นๆ กินดิบๆ เลย ได้รสชาติ แต่ที่จะเสนอมื้อนี้ คือการนำมันมา"ก้อย"ครับ



ส่วนประกอบ
1. บักลิ้นไม้  3 -4 ฝัก
2. เนื้อปลา เนื้อกบ เนื้อเขียด ต้มสุก ( ตามแต่จะหาได้ )
3. พริกป่น +   ข้าวคั่ว
4. กระเทียมเผาสุก 5 กลีบ
5. หอมแดงเผาสุก 4 หัว
6. เกลือ
7. บักบั่ว ผักหอม
8. ผักแพรว 1 กำ
9. บักนาว  ( ตามใจชอบ)
10. น้ำปลาแดก



วิธีทำ
1. นำบักลิ้นไม้ไป "ฌาปนกิจ"จนสุกไหม้ ขูด " ขี้ตะหลืน "ทิ้ง ล้างน้ำให้สะอาดหั่นเป็นชิ้นบางๆ



2. ต้มน้ำปลาแดก ใส่ปลา กบ เขียด (ตามแต่จะหาได้ ) รอไว้ก่อน
3. ตำกระเทียม หอมแดง เกลือป่นให้เข้ากัน นำคลุกเคล้ากับบักลิ้นไม้
4. เนื้อปลา กบเขียด คนให้เข้ากัน สำมะเลเทฮาด พริกป่น และข้าวคั่วลงไป
5. ซอยผักหอมลงไป ชิมและปรุงรสด้วยน้ำปลาแดก ตามชอบ
6. บีบบักนาว ปรุงรสเปรี้ยวส้มขมหวาน

( ลป.หากคนซิม " ฮิ" ในรสชาติ  ติเป็นหลาย ก็ให้ ขูดขี้เขียงลงจั๊กหน่อย เพิ่มความนัว )
รสชาติของอาหารชนิดนั้น คือ สรรพมิตร หวานหอม ขม อมเปรี้ยว มันนัว ลงตัว



ความสัมพันธ์กับชาวอีสาน
บักลิ้นไม้ หรือ บักลิ้นฟ้า เป็นพืชท้องถิ่น  คู่กับวิถีชีวิตลูกทุ่ง เป็นทั้งอาหารการกิน
เป็นทั้งยารักษาโรค ฝักแห้ง เป็นของเล่นให้ลูกหลาน ทำเป็นเรือยาวแข่งกัน
ในขณะที่เม็ด หรือ เมล็ด ของมัน ชาวอีสานโบราณ นำมันมาร้อยเป็นพวงมาลัย
ประดับตกแต่ง "โฮงธรรมาสน์" ในงานบุญผะเหวด (บุญพระเวศ)



ภาพ ไน (เม็ด) บักลิ้นฟ้า
ฝักของบักลิ้นฟ้า จะแห้งแตกออก ให้เมล็ดปลิวว่อนในเดือน 4 หน้าแล้ง
ซึ่งตรงกับเทศกาล บุญผะเหวด ตามประเพณีอีสาน  หนุ่มสาวมักจะชวนกัน
ไปหาเก็บเอาเมล็ดที่คล้ายกระดาษสีขาว มาถวายพระ เพื่อร้อยเป็นมาลัย บูชาพระธรรม



ตกเย็นกินข้าวแลงเสร็จ  พระท่านจะ"ตีกลองตุ้ม" เป็นสัญญาณบอกว่า ให้ชาวบ้านมาตุ้มโฮมกัน
ผู้เฒ่าผู่แก่  เด็กเล็กเด็กน้อย  ผู้หนุ่มผู้สาว ก็จะมารวมตัวกันที่ "ศาลาวัด" หรือ "หอแจก"
ต่างคนต่างนำ เมล็ดบักลิ้นไม้ มารวมกัน ร้อยรัดถักพวง ประดับประดาศาลาวัด
คนเฒ่าคนแก่ก็จะ ทำ "ขันแหย่ง" "ขันหมากเบ็ง" และอื่นๆ  คุยกันสนุกสนาน

ในขณะที่หนุ่มสาวก็จะสบตากันไปด้วย "ร้อยมาลัยบักลิ้นฟ้า "ไปด้วย คุยหยอกล้อกัน
ได้บุญ และได้ความอิ่มเอมใจเปรมปริ่ม นั่นคือวิถีที่เป็นมา



หากบุญพา วาสนาส่ง ผลาบุญแต่ปาง ฮ้อยมาลัยบูชาพระธรรม ขอดลบันดาลให้
ชาวอีสานฮักในวิถีประเพณีถิ่น หันมามองในวิถี แล้วตกแต่งต่อยอด เจริญงอกงาม
"เข้าใจ  เข้าถึง  พัฒนา "  แม้แต่บักลิ้นไม้ ก็ให้กลายเป็นพืชเศรษฐกิจ
อาหารเสริมบำรุง"บี" งัวพันธุ์ ให้ขม  
เป็นเครื่องดื่มสกัดจากบักลิ้นฟ้า ยาแก้ไอยาแก้อักเสบ หรือจะเป็น "บักลิ้นไม้ราดซอส"
เป็นฮอด "ยี่ห้อซิ่น"  (ผ้าถุง)

ส๊า.....ธุ..อนุโมทามิ

ขอบคุณ  ภาพจาก www.OKNATION.NET  , www.gotoknow.org   บ้านสวนพอพียง.com
BLOG ภาพ ส่วนบุคคล อื่นๆ และ เว็บไซต์ต่าง ๆ ที่ไม่ได้อ้างที่มา

 
 
สาธุการบทความนี้ : 843 ครั้ง
จากสมาชิก : 3 ครั้ง
จากขาจร : 840 ครั้ง
 
 
  10 ก.พ. 2556 เวลา 15:35:47  
   ขึ้นบน ลงล่าง  
 
         

  โพสต์โดย   142) มาทางพี้ อ่านกวีศรี บังพุ่ม  
  ปิ่นลม    คห.ที่12)       [ไปที่ความเห็นนี้ ในกระทู้นี้]  
  เซียน

ภูมิลำเนา : สกลนคร
เข้าร่วม : 16 มี.ค. 2553
รวมโพสต์ : 2213
ให้สาธุการ : 180
รับสาธุการ : 5440860
รวม: 5441040 สาธุการ

 



ลูกอีสานนี้  ทุกข์ยากแท้น้อ
แต่กะสุขเพียงพอ หาเลี้ยงปากท้อง
มีแต่พี่แต่น้อง พี่ป้าอาวอา
นอนกันตามเถียงนา คอยฟ้าฝนถั่ง
ฝนหลั่งแล้ว  บ่อึดแต่แนวกิน
บ่ถวิลนำทุกข์ เฮ็ดนาเลี้ยงชีพ

 
 
สาธุการบทความนี้ : 843 ครั้ง
จากสมาชิก : 1 ครั้ง
จากขาจร : 842 ครั้ง
 
 
  28 พ.ค. 2556 เวลา 16:04:32  
   ขึ้นบน ลงล่าง  
 
         

  โพสต์โดย   116) กระบี่หยันยุทธภพ ภาคพิเศษ  
  ปิ่นลม    คห.ที่7)       [ไปที่ความเห็นนี้ ในกระทู้นี้]  
  เซียน

ภูมิลำเนา : สกลนคร
เข้าร่วม : 16 มี.ค. 2553
รวมโพสต์ : 2213
ให้สาธุการ : 180
รับสาธุการ : 5440860
รวม: 5441040 สาธุการ

 

หายไปด่น ญ้อน นำหา ผู้ประพันธุ์ ฉบับผญาที่หละ  
บังเอิญ ไปไร่ ( ไร่เพ่น เล่นไพ่ ) กะเลยลุกบ่ได้ มันขาดขา

ลป.ไม่เล่นแล้วหละ เกมส์ไพ่เท็กซัส   เล่นก็มีแต่เสีย
มาหน่ำทางพี้ ดีกว่า

 
 
สาธุการบทความนี้ : 836 ครั้ง
จากสมาชิก : 0 ครั้ง
จากขาจร : 836 ครั้ง
 
 
  08 ก.ค. 2554 เวลา 11:54:03  
   ขึ้นบน ลงล่าง  
 
         

  โพสต์โดย   65) นิยายชีวิตอีสาน เรื่อง โสกฮัง - ตาดไฮ ( โดย บ่าวปิ่นลม พรหมจรรย์ )  
  ปิ่นลม    คห.ที่602)       [ไปที่ความเห็นนี้ ในกระทู้นี้]  
  เซียน

ภูมิลำเนา : สกลนคร
เข้าร่วม : 16 มี.ค. 2553
รวมโพสต์ : 2213
ให้สาธุการ : 180
รับสาธุการ : 5440860
รวม: 5441040 สาธุการ

 



พากันสรรหาแนว มาให้หัวเนาะ  หัวสาดอก อดมาด่นแล้ว

 
 
สาธุการบทความนี้ : 834 ครั้ง
จากสมาชิก : 0 ครั้ง
จากขาจร : 834 ครั้ง
 
 
  17 มิ.ย. 2553 เวลา 22:00:21  
   ขึ้นบน ลงล่าง  
 
         

  โพสต์โดย   98) คั่วหนูพุ๊ก  
  ปิ่นลม    คห.ที่2)       [ไปที่ความเห็นนี้ ในกระทู้นี้]  
  เซียน

ภูมิลำเนา : สกลนคร
เข้าร่วม : 16 มี.ค. 2553
รวมโพสต์ : 2213
ให้สาธุการ : 180
รับสาธุการ : 5440860
รวม: 5441040 สาธุการ

 

เวลาถอนขน  อย่าเผาเอาเด้อครับ อ่อมแล้ว มันสิขิว
การถอนขนต้องเอาคลุกขี้เถ้า แล้วถอนเอา
สูตรอ่อมคือ อ่อมใส่ผักบั่ว หลายๆ   ขมๆ อ่ำหลำ
กรึ๊บ เสือ11 โต  แกล้มนำ  กินตอนเดิก ๆ ( ไต้หนูมากะเดิกแล้ว เนาะ )
ฟาดเบิ๊ดแล้ว ทั้งคั่วหนู อ่อมหนู และ ยาดอง บาดสิเมือ ฮ้องดังๆว่า
" ไอ้เสือ......ถอย.ย...! "  พะนะ

 
 
สาธุการบทความนี้ : 834 ครั้ง
จากสมาชิก : 0 ครั้ง
จากขาจร : 834 ครั้ง
 
 
  17 มิ.ย. 2553 เวลา 14:53:31  
   ขึ้นบน ลงล่าง  
 
         

  โพสต์โดย   98) สารานุกรม แมงไม้ ใน อีสาน  
  ปิ่นลม    คห.ที่181) แมงอี      [ไปที่ความเห็นนี้ ในกระทู้นี้]  
  เซียน

ภูมิลำเนา : สกลนคร
เข้าร่วม : 16 มี.ค. 2553
รวมโพสต์ : 2213
ให้สาธุการ : 180
รับสาธุการ : 5440860
รวม: 5441040 สาธุการ

 




ชื่อพื้นเมือง  : แมงอี ,   แมงอี่
ชื่อสามัญ : Chorus cicada
ชื่อวิทยาศาสตร์: Ptatylomia radha
ชั้น : Insecta
ลำดับ : Hemiptera
วงศ์ : Cicadidae
( วงศ์เดียวกัน กับจักจั่น)

บางคนบางท่านเห็นภาพแล้ว “ นี่มันจักจั่นนี่นา “  ครับผม ไม่ผิดเท่าใดนัก แมงอี เป็นแมลง วงศ์เดียวกันกับจักจั่น
แต่เป็นคนละพันธุ์กัน  แมงอี มีขนาดเล็กกว่า สั้นกว่า ลักษณะทั่วไปจากหัวจรดหาง มีรูปร่างเป็น สามเหลี่ยม
ซึ่งต่างจากจักจั่น ที่มีลักษณะเรียว   สีสัน ของแมงอี เท่าที่พบมีสีสวยงานั่นคือ มีสีเขียว และสีใบไม้แห้ง
เสียงร้องของมัน ร้อง “ อี  อีๆๆๆๆๆ “  ก้องกังวานป่า  นั่นคือที่มาของชื่อ  “ แมงอี”
ส่วนมากพบในประเทศเขตร้อน ครับ



ลักษณะทางกายภาพ
มีลำตัวยาว  2- 3 ซม.  มีหนวดเป็นรูปขน มีตาเดี่ยว 3 ตาเรียงกันเป็นรูปสามเหลี่ยม ส่วนหัว ลำตัว และท้อง
จะเชื่อมต่อเป็นส่วนเดียวกัน มีปีกบางใสและยาวกว่าลำตัว เวลาเกาะอยู่กับที่ ปีกจะหุบชิดกันเป็นรูปสามเหลี่ยม
มองคล้าย เครื่องบิน “สเตลท์” ของอเมริกา ใครจะรู้ แรงบันดาลใจของวิศวกรการบิน ที่ผลิต
อาจได้จากการเดินเที่ยว ป่าโคก บ้านเรา แล้วได้ยินแต่เสียง “ อี ๆๆ “  มองหาตัวแมงอี ไม่เห็น  
พอจับตัวได้ แอบไปเพ่งพิจ แล้ว คิดออกแบบออกมา
กลายเป็นเครื่องบินรบที่ทันสมัย ตั้งชื่อว่า “ล่องหน”    


ตัวอ่อนมีลักษณะรูปร่างเช่นเดียวกับตัวเต็มวัย มีสีน้ำตาลอ่อน ตาโต ขาหน้ามีขนาดใหญ่ไว้สำหรับขุดดิน

เสียงที่เกิดจากแมงอี  ไพเราะจนฝรั่งตั้งชื่อให้มันว่า ” แมลงแห่งเสียงประสาน”


เสียงของจักจั่น
ตัวผู้สามารถทำเสียงได้ดังมาก เฉลี่ยอยู่ที่ 100 เดซิเบล  เสียงของมันมีความถี่สูง แตกต่างจาก
จักจั่นชนิดอื่น จนเราสามารถได้ยินเป็นเสียงแหลมเล็ก ส่งเสียงร้องในเวลากลางวันมากกว่ากลางคืน และร้องมากที่สุด
เมื่อมีอุณหภูมิประมาณ 32-33 องศาเซลเซียส  ช่วงเดือน มีนาคม – เมษายน
ในภาคอีสานเรียกว่า “ฤดู ฝนฮวย”
ส่วนตัวเมีย หรือ อีสานเรียกว่า “โตแม่” ไม่สามารถทำเสียงได้
แหล่งกำเนิดเสียงมาจากบริเวณใต้ลำตัวของท้องปล้องแรกต่อกับส่วนอก  เกิดจากการสั่นถี่ยิบ
ของกล้ามเนื้อส่วนปล้องอก  เรียกว่า กล้ามเนื้อ Tymbal ดูดีๆ จะคล้าย “ ฮีทซิงค์ “  ของเครื่องคอมพิวเตอร์
จากนั้นเสียงที่มีความถี่ เฉลี่ย 120 เฮิรตซ์ จะถูกส่งผ่าน ถุงลม  และจะผ่านการปิด-เปิดของแผ่น opercula
ที่จะปรับแต่งเสียงเป็นครั้งสุดท้าย    ป๊าด..มี.ขั้นมีตอน ปานไส้กรอก นครพนม  พะนะ



การส่งเสียงของแมงอีตัว ผู้ไม่ต่างไป จากการส่งกลิ่นฟีโรโมนของแมลงชนิดอื่น ๆ
เพื่อเรียกร้องความสนใจจากเพศตรงข้าม  แปลเป็นภาษามนุษย์ได้ว่า  “มาเอากับข่อยเด้อ”

วงจรชีวิต

การเจริญเติบโตของจักจั่นเป็นแบบไม่สมบูรณ์ คือ ระยะตัวอ่อนมีรูปร่างลักษณะเช่นเดียวกับตัวเต็มวัย
ต่างกันที่ตัวอ่อนในระยะแรกไม่มีปีก เมื่อลอกคราบปีกจะค่อย ๆ ยาวออก  
                ระยะไข่   ตัวเมียจะอาศัยเปลือกไม้ เพื่อวางไข่ เมื่อไข่ฟักกลายเป็นตัวอ่อน
จะร่วงลงสู่พื้นดิน โดยไข่ใช้เวลาฟักประมาณ 4 เดือน



                ระยะตัวอ่อน อาศัยในดินที่ความลึกตั้งแต่ 30 เซนติเมตร ถึงมากกว่า  2.5 เมตร
ดูดกินน้ำเลี้ยงจากรากพืช ตัวอ่อนมีขาหน้าขนาดใหญ่สำหรับขุดดิน
บางครั้งจะเห็นดินเป็นแท่งทรงกระบอกเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2 เซนติเมตร
บิดเป็นเกลียวโผล่ขึ้นมาจากดินสูงประมาณ 5-7 เซนติเมตร คล้ายกับดินที่เกิดจากไส้เดือน หรือ “ ขี้ไก่เดียน”
ในภาษาอีสาน  แต่มีขนาดใหญ่กว่า   นั่นคือ “ ฮังของแมงอี “  หรือรังของจักจั่นชนิดนี้ละครับ
ตัวอ่อนใช้เวลาประมาณ 4-6 เดือน ในใต้ดิน



                 ตัวเต็มวัย  เมื่อตัวอ่อนเจริญเติบโตเต็มที่ จะไต่ขึ้นมาบนลำต้นเพื่อลอกคราบเป็นตัวเต็มวัย
ในเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน ระยะที่เป็นตัวเต็มวัยจะประมาณ 1-2 เดือน
วงจรชีวิตโดยรวมประมาณ 2 ปี  ส่วนใหญ่มันใช้ชีวิตใต้ดิน ช่วงเวลาที่เราเห็นมัน ร้องรำ คือ วงจรสุดท้าย
ของชีวิตแมงอี  เมื่อผสมพันธุ์เสร็จ  วางไข่  แล้วมันก็จะอำลาวงการเพลง กลับคืนสู่ผืนดิน



ความเกี่ยวพันกับวิถีชีวิตชาวอีสาน
ในฤดู”ฝนฮวย” ต้นเดือน มี.ค – ปลายเดือน เม.ย. เมื่อฝนแรก โรยรินแผ่นดินอีสาน ใบไม้ไปไหล่ ออกบ่งใหม่
ฟื้นคืนชีพให้แดนดินอีสานบ้านเฮา  ต้นจิก ต้นฮัง ต้นตะแบก ต้นยางนา และต้นไม้ถิ่นหลากหลายชนิด
ผลิใบเพื่อต้อนรับฤดูฝนที่จะมาถึง  เมื่อดินชุ่มพอควร แมงอี และ จักจั่น ต่าง โผล่ออกมาจากดินดอน
ไต่ขึ้นกกไม้ เพื่อลอกคราบกลายเป็น ตัวโตเต็มวัย ส่งเสียง แซ่ซ้องสรรเสริญใบเขียวแห่งโคกป่า




เมื่อผ่านพ้นความยากลำบากในห้วงฤดูแล้งมาแล้ว ดังเพลงของ พ่อใหญ่ เทพพร เพชรอุบล ว่า
“ ฝนตกมา มีของกิน “  แมงอี และจักจั่น คืออาหารของชาวอีสาน ที่ฟ้าประทานมาให้
ต่างถือข่องและไม้ส่าว และ ปั้งตั๋ง หรือ กระบอกบรรจุยางไม้เหนียวๆ  เพื่อไปหา” ติดจักจั่น”  
โคกได๋หละ แมงอี กับจักจั่นหลาย  ก็พากันออกหากิน และ บ่ลืมห่อหมกปลาแดก และ ติ๊บข้าวเหนียวห้อยไปด้วย
การหาแมงอันนี้ ปีหนึ่งทำได้ครั้งเดียว  ภาคอื่นมีผลไม้ตามฤดู แต่ อีสานเฮามี แมลงตามฤดู ละครับพี่น้อง
ฤดูนี้ มีทั้ง ไข่มดแดง  จักจั่น และ แมงอี   สำหรับหมู่บ้านไหน ไม่มีโคกป่า  กิจกรรมนี้ อาจทดแทนด้วยการหาแมงจินูน



  เสียงก้องกังวานของแมลงชนิดนี้ บ่งบอกถึง ความร่มเย็น และพูนสุขในวิถีชีวิต การอุดมสมบูรณ์ด้วย ธรรมชาติ

ได้นอนอิงต้นไม้ใหญ่ร่มครึ้ม หลับตา ฟังเสียงเพลงคอรัส แห่งแมงอีและจักจั่น
พริ้มหลับไปให้เมโลดี้เจือลมเย็น เห่กล่อม

 
 
สาธุการบทความนี้ : 833 ครั้ง
จากสมาชิก : 4 ครั้ง
จากขาจร : 829 ครั้ง
 
 
  25 มิ.ย. 2555 เวลา 14:55:51  
   ขึ้นบน ลงล่าง  
 
         

  หน้า: 1 2 3 4 5 6 7 8 9 10 11 12 13 14 15 16 17 18 19 20 21 22 23 24 25 26 27 28 29 30 31 32 33

   

Creative Commons License
สารานุกรม แมงไม้ ใน อีสาน --- เว็บบอร์ดอีสานจุฬาฯ