ผญา คติสอนใจประจำวันที่ 29 เมษายน 2568:: อ่านผญา 
มีไหมบ่มีครั่งย้อมเป็นป่านชาวกะเลิง ดำบ่แดงพอกะเทินส่วนสิเสียเซิงผ้า แปลว่า มีไหมแต่ไม่มีครั่งย้อม เหมือนป่านชนเผ่ากะเลิง ดำก็ไม่ดำ แดงก็ไม่แดง ชายผ้าจะเสีย หมายถึง เป็นอะไร เป็นให้เหมาะสม ทำอะไร ทำให้เหมาะสมกับกาละเทศะ


  ล็อกอินเข้าระบบ  
ชื่อ ::
รหัสผ่าน::
*จำสถานะ
 
  รวมมิตรปลาร้านอกไห  
  สวัสดีครับ

     แทบจะไม่มีใครล่วงรู้อย่างลึกซึ้งเลยว่า มีเรื่องราวที่คุณไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่า ในภาคอีสานของประเทศไทยนั้น หลายอย่างมีความเป็นมาอย่างไร หลายอย่างได้เกิดขึ้นแล้วและยังคงอยู่ หลายอย่างเกิดขึ้นแล้ว และได้เลือนลางหายไปแล้วในอดีต เราและทีมงานปลาร้านอกไห จะนำพาคุณผู้ชม จูงมือเดินไปเรียนรู้วิถีชีวิตพื้นบ้านอีสานในแง่มุมต่างๆ เพื่อเปิดโลกทัศน์และมุมมองว่า ทำไมคนภาคอีสานจึงเป็นอย่างนี้ ทำไมต้องใช้ชีวิตกันอย่างนี้ และสิ่งหนึ่งที่จะลืมเสียไม่ได้ก็คือ การสร้างความเป็นไทยที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม หลากหลายทางเชื้อชาติ หลากหลายประเพณี เพื่อที่เราจะได้เรียนรู้และอยู่ได้กันอย่างสันติ อย่างสงบ ไม่มีความดูถูกเหยียดหยามคนไทยด้วยกันเอง

     ทีมงานปลาร้านอกไห ขอขอบคุณทุกเสียงทุกแรงใจที่มอบให้เรา เราสัญญาว่า เราจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะสร้างสรรค์สังคมให้จรรโลงใจ
พร้อมเสมอ
ทีมงานปลาร้านอกไห

กระทู้ธรรมดา... มีข้อความโพสต์ใหม่

  หน้า: 1 2 3 4 5 ตอบกระทู้  
  โพสต์โดย   สารานุกรม แมงไม้ ใน อีสาน  
  ปิ่นลม  
  อ้างอิงจังหวัด : -
 
  เซียน

ภูมิลำเนา : สกลนคร
สมาชิกภาพ : สมาชิกชมรมฯ
เข้าร่วม : 16 มี.ค. 2553
รวมโพสต์ : 2,213
ให้สาธุการ : 180
รับสาธุการ : 5,444,600
รวม: 5,444,780 สาธุการ

 



ความเป็นมาและการดำรงชีวิตของแมลง

      เมื่อประมาณ 300 ล้านปีมาแล้ว  โลกเริ่มมีป่าไม้และหนองน้ำใหญ่บนแผ่นดิน ระยะนี้เองที่ได้เกิดมีแมลงขึ้นบนโลก  แมลงชนิดแรกได้แก่ แมลงปอและแมลงสาบ แมลงในสมัยนั้นมีขนาดใหญ่จนอาจเรียกได้ว่า “แมลงปอยักษ์” เพราะมีความยาววัดจากปลายปีกถึง 20 เซนติเมตร  ส่วนแมลงสาบก็อาจถือได้ว่าเป็นบรรพบุรุษของแมลงสาบปัจจุบัน  เพราะมีรูปร่างและนิสัยเหมือนกันไม่ได้เปลี่ยนไปเลย เนื่องจากแมลงเป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง  เนื้ออ่อนนุ่มนิ่ม ปีกบางใส ฟอสซิลของแมลงโบราณ ซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญจึงได้หายากยิ่ง  หลักฐานเกี่ยวกับแมลงโบราณที่พอจะหาได้ คือ ซากของแมลงในก้อนอำพันซึ่งมีอายุ  60 ล้านปี

จากจะพบแมลงในที่ต่าง ๆ ที่เราไปอาศัยอยู่แล้ว เรายังพบความหลากหลายของแมลงแต่ละชนิด ทั้งรูปร่างลักษณะ และนิสัยความเป็นอยู่ที่แตกต่างกันมากมายจนกระทั่งเป็นที่ยอมรับกันในหมู่นักวิทยาศาสตร์ว่าในกระบวนสัตว์ทั้งหลายในโลก แมลงเป็น สัตว์ที่มีมากชนิดที่สุด คือ มีจำนวนมากกว่า50 ล้าน ชนิด ในขณะที่สัตว์อื่นมีจำนวน นับพัน หรืออย่างมากก็นับหมื่นชนิดเท่านั้น อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้แมลงประสบความสำเร็จในการดำรงชีวิตอยู่ในโลกได้มากถึงเพียงนี้




แมงกุดจี่เบ้า ( dung beetle ) ราชาแมลงแห่งทุ่งอีสาน


  มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Heliocopris bucephalus Fabricius
เป็นแมลงสวยงาม มีลูกเบ้าขนาดใหญ่เกือบเท่า  ลูกเปตองและ   ลูกเทนนิส เส้นผ่าศูนย์กลาง
ลูกเบ้าประมาณ 6.5 - 8.5 เซนติเมตร ลำตัวแมลงเบ้ากุดจี่ส่วนอกกว้าง 2.2 - 3.0 เซนติเมตร
ลำตัวยาว 3.6 - 5.0 เซนติเมตร แหล่งที่พบมากทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ในธรรมชาติจะพบในพื้นที่ป่าเต็งรังที่มีดินลักษณะเป็นดินทรายละเอียด พื้นที่ที่มีความสูงระดับน้ำทะเล  170 เมตร ที่มีหญ้าเป็นไม้พื้นล่าง ในบริเวณพื้นที่ ที่ชาวบ้านนำฝูงควายขึ้นมาเลี้ยงให้กินหญ้าบนดอนดิน


แมงกุดจี่ หรือ Dung Beetle สัตว์ตัวเล็กแต่ยิ่งใหญ่ มีวิวัฒนาการยาวนาน สันนิษฐานว่าอาจมีอยู่ตั้งแต่ 350 ล้านปีก่อน โดยกินมูลของไดโนเสาร์และสัตว์ในยุคนั้น และเมื่อ 5,000 ปีที่ผ่านมา ชาวอียิปต์โบราณได้ยกย่องบูชา แมงกุดจี่ เป็นตัวแทนของสุริยเทพ ที่เรียกว่า "เทพเจ้า Kherpri" ซึ่งมีการสร้างรูปปั้นหน้าสุสานและเขียนภาพแมงกุดจี่ไว้สักการะบูชา สำหรับประเทศไทยในปัจจุบัน เราสามารถพบได้ทั่วไปตามกองมูลควายในทุ่งนาชนบท ซึ่งพบว่าในมูลหนึ่งกองมีกุดจี่หลายชนิดและบางชนิด สามารถจับมาทำเป็นอาหารได้


ภาพ เทพกุดจี่ ของขาวอียิป โบราณ

ประโยชน์ของแมลงกุดจี่ยักษ์นั้นมีตั้งแต่ในเรื่องของสิ่งแวดล้อม เนื่องมาจากแมลงกุ๊ดจี่จะเก็บมูลควายไปกินเป็นอาหาร ทำให้ช่วยกำจัดมูลควายให้ไม่เกิดการทับทมของมูลสัตว์จนส่งกลิ่นเหม็น และในระหว่างที่มันสร้างเบ้าด้วยมูลและดินนั้น แมลงกุ๊ดจี่จะกินมูลควายและย่อยสลายขับถ่ายออกมาทำให้ดินร่วนซุยอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การปลูกพืชเกษตร
ในด้านอาหารแมลงกุ๊ดจี่ขึ้นชื่อว่าเป็นแมลงกินได้ที่อร่อย กล่าวกันว่าอร่อยเสียยิ่งกว่าไข่มดแดง ชาวภาคอีสานและภาคเหนือนิยมบริโภคกันมาก เนื่องจากลำตัวใหญ่  เนื้อมาก สามารถประกอบอาหารได้หลายอย่าง เช่น จี่  ย่าง   ต้ม  ทำแกงอ่อม  แกงป่า ตำน้ำพริก ห่อหมก แกงผักหวาน เป็นต้น มีคุณค่าอาหารและมีประโยชน์ต่อร่างกาย

โดยในน้ำหนักแมลงสด 100 กรัม  จะประกอบด้วย

โปรตีน 17.2 กรัม
สารแป้งน้ำตาล 0.2 กรัม  
เส้นใย 7.0 กรัม ให้พลังงาน 108.3 กิโลแคลอรี่
นอกจากนี้ยังมีแร่ธาตุแคลเซียม 30.9. มิลลิกรัม
ฟอสฟอรัส  157. 9 มิลลิกรัม
โปรตัสเซียม 287.6  มิลลิกรัม
วิตามิน  บี1,บี2 และ   ไนอาซีน  3.44 มิลิลกรัม  



กุ๊ดจี่มีช่วงชีวิตอยู่ที่ประมาณ 1 ปี ตัวผู้มีหน้าที่จะช่วยกลิ้งขนอาหารเพื่อปั้นลูกเบ้า จะพบตัวผู้
ตั้งแต่ปลายเมษายนถึงเดือนธันวาคมและสามารถมีชีวิตอยู่ได้ยาวนานประมาณ 8 เดือน
ส่วนตัวเมียมีหน้าที่วางไข่และ  ดูแลตัวอ่อน ตัวเมียจะเริ่มปั้นลูกเบ้าจากมูลควายและวางไข่
ใส่ในลูกเบ้าลูกละ 1 ฟอง หลังจากนั้นจะปั้นลูกเบ้าพอกใหญ่ขึ้นเพื่อเป็นอาหารของตัวอ่อน
ใช้ในการเจริญเติบโตอยู่ในลูกเบ้าและพอกปิดทับด้วยดินทราย ในธรรมชาติสามารถขุดพบ
ลูกเบ้ากุดจี่อยู่ในโพรงมีจำนวน 5, 7, 9 และ 11 ลูกต่อโพรง  


ในแง่วิถีชีวิตอีสาน

กุดจี่เบ้า หรือ จุดจี่เบ้า ช่วงเดือน พฤศจิกา – กุมภาพันธ์  เด็กน้อยอีสานสมัยก่อน ตอนเช้าๆ
จะถือเสียม สะพายกะต่า หรือหิ้วคุ เดินตามท่งนา เลาะตีนบ้าน หรือ เลาะไปตาม เดิ่นนาดินทราย
หัวป่า เนินทรายเพื่อเสาะหา ขวยจุดจี่  ส่วนมาก หาตามกองขี้ วัวขี้ควาย  เพื่อขุดจุดจี่  ส่วนมากสิได้
กุดจี่คุ่ม  กดจี่หวาย กุดจี่แดง  ต่างเลาะหาแมลงเหล่านี้มาเป็นอาหาร  ส่วนกุดจี่เป้า หากเจอ
ถือว่าเป็นโชค ดีใจจนเนื้อเต้น เนื่องจากหากยาก มักทำรัง หรือ ทำขวย หลบสายตา  
พบส่วนมาก ตามหัวป่า หัวบะ เดิ่นนาดินทราย

บางขวย ก็เป็น ขวยฮ้างต้องอาศัย ช่างสังเกต  การขุดก็ไม่ง่าย เพราะค่อนข้างอยู่ลึก
บางขวย ลึกเป็นวา  ทั้งนี้การขุดต้องหารู หรือ”แปว” มันให้พบ ขุดไม่ดี ดินถม “ แปว”
หาไม่เจอ เรียกว่า “ แปวตัน “
การได้ กุดจี่เบ้า ขวยเดียว ก็พอแล้ว เพราะ อย่างน้อยก็  5 ลูกขึ้นไป  โชคดีก็ได้  11 ลูก  แบกกลับบ้าน
หัวร่อเอิกอาก อารมณ์ดี  ส่วนมาก เบ้า จะมีจำนวนคี่ ไม่พบเป้าในขวยเดียวกัน จำนวนคู่
อันนี้ ผู้ตั้งกระทู้ไม่ทราบสาเหตุ  รวมทั้งยังไม่มีการวิจัย “ ทำไมเบ้าถึงมีคี่ “
การขุดเบ้าต้องไปขุด 2  คนขึ้นไป เพราะคนหนึ่ง เป็นคนขุด คนหนึ่งเป็นคน “ขวัก” หรือ โกยดิน

จากสาเหตุเบ้ามีจำนวนคี่  จึงต้องแบ่งปันกัน ระหว่าง  2 คน เช่น คนขุด มักจะได้มากกว่า “คนขวัก”
ซึ่งต้องมีอีกคนเสียสละ นั่นจึงเป็น สมการแห่งการเรียนรู้การแบ่งปัน ของลูกอีสานโดยแท้
เมื่อเด็กได้ทำกิจกรรมกลางแจ้งด้วยกัน ที่สำคัญได้เหนื่อยยากร่วมกัน แบ่งปันกัน ย่อมมีความผูกพัน
แม้เบาบางแต่ ค่อยๆ ซึมซับเข้าในหัวใจ ที่ธรรมชาติเป็นผู้สอน  

ในแง่ความเกี่ยวพันทางลึก

จะเห็นได้ว่าวงจรชีวิตของแมงกุดจี่ กับควาย กับ วัว ชาวบ้าน มีความเชื่อมโยงกัน ถ้าขาดฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไป
จะทำให้ขาดความสมดุล เช่น ในปัจจุบัน จำนวนควายลดลง ส่งผลให้แมงกุดจี่หายากขึ้นและลดจำนวนลง เพราะขยายพันธุ์ได้น้อยลง และหากไม่มีแมงกุดจี่คอยกินมูล ก็จะส่งผลให้เกิด ความไม่สมดุล  ทางนิเวศน์
หน้าดิน ขาดความอุดม วิถีชีวิตเปลี่ยนแปลง  เมื่อใดที่ ชาวนาขาด วัวควาย พื้นดินขาดแมงกุดจี่
นั่นย่อมหมายถึงผืนดิน ที่ใช้ปลูกข้าวในอีสาน ขาดแร่ธาตุอันเป็นประโยชน์ ในการเติบโตของพืช
จำต้องพึ่งสารเคมีสูงขึ้น ทุกปี   ต้นทุนสูงขึ้น ทำนาด้วยความยากลำบาก


สถานการณ์ปัจจุบัน

กุดจี่เบ้า หายากยิ่งขึ้น ยังคงมากมีตาม จังหวัดที่ยังรักษา วิถีชาวนาอีสานไว้อย่างแน่นแฟ้น
ยังมี วัวควายจำนวนมากในพื้นที่ เช่น บุรีรัมย์( บางอำเภอ)  ศรีษะเกษ   อุบล ฯ
มุกดาหาร  อุดร ขอนแก่นตอนบน และ หนองบัวลำภู

กุดจี่เบ้าเข้าขั้น วิกฤต ใกล้สูญพันธ์จากพื้นที่ ได้แก่ สุรินทร์ ขอนแก่น ชัยภูมิ มหาสารคาม สกลนคร หนองคาย
เด็กน้อยอีสานบางคน สมัยนี้  ไม่เคยไปขุด กุดจี่เบ้า หรือ รู้จักกุดจี่เบ้า  ซึ่งน่าเศร้าในแนวลึกวิถีอีสาน

แมลงที่เป็นอัตลักษณ์ เชิงจิตวิญญาณลูกอีสาน ผู้เป็นราชาแมลงแห่งท้องทุ่ง กำลังสูญหาย
เข้าสู่ยุค
  ESANIEA
ขอบคุณข้อมูลบางส่วน จาก
www.junjaowka.com   www.krusmart.com   ww.gotoknow.org/

 
 
สาธุการบทความนี้ : 1300 ครั้ง
ให้สาธุการบทความนี้
 
 
  28 ก.ย. 2553 เวลา 12:26:33  
        offline  ติดต่อหลังเวที  ติดต่อโดยเมล์ ตอบอ้างอิง  
 
  ปิ่นลม    คห.ที่2) แมงจินูน  
  เซียน

ภูมิลำเนา : สกลนคร
สมาชิกภาพ : สมาชิกชมรมฯ
เข้าร่วม : 16 มี.ค. 2553
รวมโพสต์ : 2,213
ให้สาธุการ : 180
รับสาธุการ : 5,444,600
รวม: 5,444,780 สาธุการ

 



ชื่อ แมงกินูน ( ราชินีแห่งท่งตีนบ้าน )

ชื่อสามัญ scarab beetlc
ชื่อวิทยาศาสตร์ Holotricheasp.
Order colcoptera
FAMILY Searabaeidae

ลักษณะ

แมงกินูนเป็นแมลงปีกแข็งขนาดกลางรูปร่างป้อมหนวดเป็นรูปใบไม้มีขนปกคลุมเล็กน้อย ส่วนหัว อก ขา มีสีน้ำตาลเข้ม ปีกสีน้ำตาลอ่อนกว่าไม่ค่อยเป็นมัน ปีกคลุม ส่วนท้องแต่ไม่ถึงท้องปล่องสุดท้าย อกปล้องที่สองมีขนยาวปกคลุม ขนาดลำตัวยาวประมาณ 22-25 มิลลิเมตร

ที่อยู่อาศัย


ขุดรูอยู่ตามดิน ตามรากไม้ รูมีขุย แต่ขุยไม่กลบปากรู ขุยวางรอบ ๆ ปากรู กลางวันจะหลบแดดอยู่ในรู กลางคืนจะออกหากินโดยบินขึ้นไปเกาะกินใบอ่อนของต้นไม้ ชอบกินใบมะขามอ่อน ใบติ้ว ใบส้มเสี้ยว และใบอ่อนต้นไม้อื่น ๆ ทั่วไป

การจับแมงกินูน


ชาวบ้านจะหารูแมงกินูนตามดินตามใต้ต้นไม้ พบแล้วใช้เสียมขุดลักษณะถากตัดขวาง แล้วใช้นิ้วแหย่รูเข้าไปทางปากรูว่าไปทางทิศใดพบตัวก็จะใช้มือจับ

หากล่าในเวลากลางคืน ชาวบ้านจะใช้คบหรือไฟฉาย หรือโคมแบตเตอรี่ ส่องหาตัวแมงกินูนจากนั้นใช้กระป๋อง ขวดน้ำหรือกระบอกไม้ไผ่พันกับปลายไม้ยาว ๆ ไปจ่อที่ตัวแมลง ๆ จะปล่อยตัวลงในกระป๋อง ขวด หรือกระบอกไม้ไผ่ หรือใช้วิธีเขย่าต้นไม้ กิ่งไม้ให้แมงกินูนตกลงมา เพราะมันอิ่มมันจะไปไม่เป็น หรือใช้วิธีเอาเสื่อไปปูใต้ต้นไม้ที่แมงกินูนเกาะอยู่ เขย่ากิ่งไม้แมงกินูนก็จะตกลงมาเราก็เก็บเอาใส่ถังและกระป๋องน้ำที่เตรียมมาด้วย



ความสัมพันธ์กับชุมชน


แมงกินูนนำมาเป็นอาหาร ให้โปรตีนสูง ทำให้ชาวบ้านประหยัดค่าใช้จ่ายในการบริโภคสัตว์อื่น ๆ นอกจากโปรตีนแล้วแมงกินูนยังให้แคลเซี่ยมและฟอสฟอรัสด้วย

การประกอบอาหารบางประเภทจะมีผักพื้นบ้านผสมอยู่ด้วย หลายชนิดซึ่งช่วยเพิ่มสารอาหาร และมีคุณค่าทางสมุนไพร นับเป็นการสืบทอดภูมิปัญญาพื้นบ้านในการบริโภคและกลวิธีการแสวงหาแมลงมาเป็นอาหารด้วย



ความสำคัญทางเศรษฐกิจ


นำแมงกินูนมาล้างให้สะอาด แล้วนำมาประกอบอาหารได้หลายอย่าง เช่น คั่ว ทอด จี่ (ย่างไฟ) ทำป่น (ตำน้ำพริก) ก้อย ลาบ แกงใส่หน่อไม้ ฯลฯ และยังสามารถสร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้านได้ ขายในราคาขีดละ 10 กว่าบาท กิโลกรัมเป็นร้อย

ประเภทและวิธีการหาแมงจินูนแต่ละอย่างกะสิพอสรุปได้ ดังนี้

1.แมงจินูนแดงน้อย ลักษณะตัวสีแดงขนาดปานกลานไม่ใหญ่มาก ชนิดนี้จะมีปริมาณมาก หาได้โดยการส่องไฟหาตอนกลางคืนใต้ต้นมะขาม ต้นโก มะม่วง เป็นต้น

2. แมงจินูนหม่น หรือ แมงจินูนแดง ชนิดนี้เวลาส่องไฟหาตอนกลางคืนจะเห็นแป้งสีขาวๆปกคลุมตามปีกมันเอาไว้ ทำให้เรามองเห็นเป็นสีเทาๆหม่นๆแต่เมื่อมันไปขุดรูทำรังแป้งบนปีกมันก็จะลบออกทำให้เราเห็นปีกมันมีสีแดง


3.แมงจินูนแดงใหญ่ ชนิดนี้จะมีเป็นบางท้องที่ คือมีลักษณะคล้ายๆกับแมงจินูนแดงหม่นแต่จะตัวโตกว่า

4.แมงจินูนทอง หรือแมงจินูนเหลี่ยม จะมีลักษณะเป็นสีเขียวมรกตแวววานสวยงาม ตัวขนาดกลาง

5.แมงจินูน อื่นๆ เช่น แมงจินูนดำ ตามต้นยอ ต้นคูน แมงจินูนดำน้อย ตามต้นมะขาม หรือแมงจินูนอื่นๆอีกแล้วแต่ แต่ละท้องที่จะมี
แต่ที่เด่นๆคือ จินูนแดง


ความสัมพันธเชิงลึก

เป็นแมลงที่มีบทบาทสำคัญ ในระบบนิเวศ ช่วยให้ผืนดิน ร่วยซุย เป็นอาหารของ
สัตว์เลื้อยคลานประเภทต่างๆ ในระบบนิเวศ รวมทั้งเป็นอาหารของชาวอีสาน
ปัจจุบันยังมีจำนวนมาก เนื่องจาก ออกลูกคราละมาก ตัว กินอาหารใบไม้ได้หลายชนิด

ซึ่งต่างจาก กุดจี่เบ้า ที่กล่าวมาแล้วข้างต้น กินแต่ขี้งัวขี้ควาย ออกลูกคราละไม่เกิน 11 ตัว
เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์

แมงจินูน ในแง่ธรรมชาติ สอนคนอีสานให้รู้ว่า  ตราบใดที่ ยังมีต้นไม้พื้นเมือง
ชีวิตคนอีสานย่อมมีหนทางดำเนิน ตามวิถีตน
ข้อควรระวังคือ  แมงจินูน บ่กินใบยาง บ่กินใบยูคา บ่กินใบปาล์ม  บ่กินใบสบู่ดำ บ่กินใบอ้อย

ตามป่าเต็งรัง แมงจินนูนกินใบอ่อนของพืชในป่าประเภทนี้ เกือบทุกชนิด  
เมื่อแมงจินนูน ราชินีแห่งตีนท่ง หายไปจากอีสาน
นั่นคือ เริ่มยุค ESANIA

ปล.คำเตือน

ในการกินคั่วแมงจินูน กะคือ เวลาเฮาเข้าห้องส้วมยามมื่อเช้า เฮาสิล้างส้วมยากจักหน่อย เพราะว่า
ปีกแมงจินูน มันสิบ่ถืกย่อย มันสิฟูอ่องล่อง อยู่ ต้องใช้น้ำราดหลายๆ

วิธีการแก้ไข กะคือ ก่อนกินคั่วแมงจินูน เฮาควร เด็ดปีกมันออก สาก่อน...แล้วกะเคี้ยวให้มันแหลกๆ..

สำหรับผู้ป่วยเป็นริดสีดวงควรงดเว้น กินคั่วแมงจินูน


ขอบคุณข้อมูล บางส่วนจาก
http://animal-of-the-world.blogspot.com/    
www.infoforthai.com

 
 
สาธุการบทความนี้ : 886 ครั้ง
ให้สาธุการบทความนี้
 
 
  28 ก.ย. 2553 เวลา 12:55:16  
        offline  ติดต่อหลังเวที  ติดต่อโดยเมล์ ตอบอ้างอิง  
 
  ปิ่นลม    คห.ที่6) แมงคาม  
  เซียน

ภูมิลำเนา : สกลนคร
สมาชิกภาพ : สมาชิกชมรมฯ
เข้าร่วม : 16 มี.ค. 2553
รวมโพสต์ : 2,213
ให้สาธุการ : 180
รับสาธุการ : 5,444,600
รวม: 5,444,780 สาธุการ

 


ชื่อ  แมงคาม   ( อัศวินนักสู้แห่งวสันต์ฤดู )

ชื่อภาษาไทย  ด้วงกว่าง
ชื่อวิทยาศาสตร์
Xylotrupes Gideon Linneaus
อันดับ      Coleoptera
ชื่อวงศ์     Scarabaeidia
ชื่อสามัญ  Scarab beetle

ลักษณะทางกายภาพ


             แมงคาม หรือด้วงกว่างเป็น แมลงปีกแข็ง ตัวค่อนข้างใหญ่ ลักษณะคล้ายด้วงแรดมะพร้าว ลำตัวแข็ง
และนูน สีดำเป็นมัน  รูปร่างรูปไข่  ขามีปล้องเล็กๆ  5  ปล้อง  หนวดเป็นแบบแผ่นใบไม้ มี 3-4  ปล้อง  ปล้องสุดท้ายมีลักษณะคล้ายใบไม้  3-4  แผ่น รวม กันกลายเป็นลูกกลม  จำนวนปล้องหนวดมีทั้งหมด 8 – 11 ปล้อง  และตามผิวมีส่วนที่เป็นหนามใหญ่   ตัวผู้มีเขาใหญ่ยื่นตรงออกมาจากหัว ใช้สำหรับต่อสู้ศัตรู เมื่อพบศัต
ซึ่งมักเป็นแมงคามตัวผู้ด้วยกัน ก็จะเดินเข้าหากันใช้เขาดันกันไปมา ตัวไหนสู้ไม่ได้ก็ถอยไป ถือว่าเป็นฝ่ายแพ้ตัวอ่อน หรือตัวหนอน สีขาวตัวอ้วน ตัวงอเป็นรูปเหมือนตาขอ  

แหล่งที่พบ


อาศัยอยู่ในดิน  กินมูลของซากพืชหรือซากสัตว์  ตัวหนอนด้วงอาศัยอยู่ในดิน  ระยะแรกก็อยู่ตามเศษซากพืชทับถมในบริเวณที่ร่มที่มีความชื้นสูง  ระยะถัดมาขุดดินฝังตัวอยู่ลึกประมาณ  7.5 – 15.0 เซนติเมตร  ระยะหนอนด้วงใช้เวลาประมาณ  58 – 95 วัน  มี 3 ระยะ  คือ  ระยะก่อนเข้าดักแด้  3 – 6  วัน  แล้วจึงลอกคราบเปลี่ยนเป็นดักแด้ ซึ่งในระยะนี้ใช้เวลา 11 – 14  วัน  ต่อมาก็ออกเป็นตัวเต็มวัย  ออกหากินในเวลาตั้งพลบค่ำเป็นต้นไป
และพบมากในเวลากลางคืน  ส่วนในเวลากลางวันก็หลบซ่อนตัวอยู่ในดินมากกว่าที่อื่น  ระยะตัวเต็มวัยเพศผู้และเพศเมียประมาณ 18 และ 28 วัน  ตามลำดับ
มักอยู่ตามต้นคาม ( ต้นคราม )  ต้นถ่อน และต้นไม้หลายชนิด ในป่าเบญจพรรณ


ภาพต้นคาม ( ต้นคราม) ที่มาของชื่อ เจ้าอัศวินแห่งวสันต์ฤดู


ที่มาของชื่อ แมงคาม
เนื่องจากพบมาก ตาม “ต้นคาม” หรือ ต้นคราม ที่ คนอีสานสมัยเก่า
ปลูกเป็นสวน หรือ พื้นที่ว่างเปล่าปลูกไว้เพื่อ นำมาหมัก “คาม” ( ออกเสียงสำเนียงอีสาน )  
หมักในหม้อดิน เมื่อได้ที่ก็ นำมาย้อมผ้า
ซึ่งสมัยนั้น คือ ผ้าฝ้าย ที่ทอด้วยมือนั่นเอง เพื่อให้ผ้ามีสีสัน  และคงทน
แมลงชนิดนี้ จึงได้ชื่อตาม ต้นคาม   ต้นไม้ที่มันโปรดปราน นั่นเอง


ภาพการ " ย้อมคราม " ในอดีต



ประโยชน์และความสำคัญ


ส่วน มากชาวบ้านนิยมนำด้วงกว่างมารับประทานโดยการจี่  ให้ด้วงกว่างมีความกรอบ  
แล้วนำมารับประทานกับข้าวเหนียว  จ้ำแจ่วปลาแดก  และสามารถนำมา
“ ซนกัน “ เป็นกีฬาพื้นบ้านชนิดหนึ่ง

การเสาะแมงคาม


เมื่อฤดูการชนแมงคามของชาวชนบททางภาคอีสานมาถึง ซึ่งเป็นเวลาที่ทุกคนเริ่มว่างจาก
การทำไร่ทำนา เพียงรอให้ผลผลิตของตนสุกงอมและเก็บเกี่ยว ประจวบกับเป็นช่วงที่แมงคาม
เติบโตเข้าสู่ตัวเต็มวัยและขึ้นจากดิน เที่ยวบินหากินและผสมพันธุ์ อาหารของว่างมียอดพืชผัก
ยอดหน่อไม้ และกล้วยต่าง ๆ  ในอดีตเด็กน้อยในหมู่บ้าน ที่ชื่นชอบการชนกว่างทั้งหลาย
มักจะจับกลุ่มออก “หาแมงคาม” ตัวเก่งด้วยตนเอง  ตามสุมทุมพุ่ม ไม้หรือป่าของหมู่บ้าน
หรือตามที่ต่างๆ เช่น วัดร้างที่มีต้นไม้เครือเถาขึ้นปกคลุมตามต้นถ่อน ที่มีมากที่สุด เห็นจะเป็น
“ ป่าสวนคาม “  ที่ปู่ย่า ปลูกไว้ เพื่อนำมาหมักเป็น สีย้อมผ้าฝ้าย
ต้องไปหาในเวลาเช้า เมื่อพบจะใช้ไม้แหย่ไปที่ตัวกว่างหรือเขย่ากิ่งไม้ กว่างจะทิ้งตัวลงดิน
หรือพื้นหญ้าและจะอำพรางตัว ตามสัญชาติญาณของมัน ทำให้สามารถจับกว่างได้ไม่ยากนัก

บางครั้งจะใช้การดักจับ ที่เรียกว่า “การล่อ” โดยใช้ “
แมงคามตัวเมีย”  ที่มีขนาดเล็ก เขาสั้นผูกด้วยเชือกฝ้ายเส้นเล็กโยงกับไม้ขอที่เสียบไว้กับ
ส่วนบนท่อนอ้อยที่ปอกเปลือกแล้ว หรืออาจดักด้วย “กล้วยทะนีออง”
หรือ อ้อย ในกะลาหรือ” กะโป๋ะ” ผูกแมงคามตัวเมียไว้ข้างใน

พอพลบค่ำ จึงนำไปแขวนไว้กับกิ่งไม้ในที่ที่คาดว่าจะมีแมงคามอยู่
เช่น “ต้นคาม”  ช่วงกลางคืน แมงคามตัวเมียจะบินทำให้มีเสียงดัง
ประกอบกับมีอ้อยหรือกล้วยที่เป็นอาหารที่โปรดล่ออยู่  จึงดึงดูดให้ตัวอื่นๆที่บินอยู่
ในบริเวณนั้นเข้ามาหา  แมงคามก็เป็นเช่นเดียวกับแมลงที่หากิน
กลางคืนหลายชนิด ที่โดยธรรมชาติของมันมามาถึงแหล่งอาหารก็มักจะอยู่บริเวณนั้นจนฟ้า
สาง
  ดังนั้น ผู้ที่วางกับดัก จึงสามารถจับมันได้ง่าย  อย่างไรก็ตาม ผู้ที่หลงใหลในแมงคาม  มักจะเฝ้ากันทั้งคืน เพื่อหวังจะได้แมงคามตัวสวย ๆ ก่อนที่มันจะบินไปที่อื่น
ปัจจุบันการ “ ปลูกสวนคาม “ หรือ ย้อมคราม อาจสูญหายไปแล้ว เนื่องจากโลกเจริญขึ้น เด็กน้อยอีสานบางคน
ไม่รู้จักต้นคามเสียด้วยซ้ำ  กลิ่นอายแห่งภาพในบรรยากาศเก่าๆ ที่เป็นเสน่ห์แห่งชนบทบ้านนอก ค่อยๆจางหายไป    
          



เลี้ยงดูฟูมฟัก

เมื่อได้แมงคามตัวเก่งมาแล้ว ผู้เลี้ยงก็มักจะหาอาหารการกิน มาบำรุง เช่น น้ำอ้อยคั้นสดมาให้กว่างกินเสริมจากอ้อยท่อนที่ผูกกว่างไว้
ส่วนผู้ที่รักการ “ เอาแมงคามซนกัน “ จะทำการฝึกซ้อมให้ อัศวินของตัวเองมีความอดทน เช่น ซ้อมบิน  
ว่ายน้ำ เพื่อฝึกกำลัง หรือเดินบนพื้นทรายร่อนละเอียดเพื่อให้เล็บกว่างคมแข็งแรงเวลาชนจะเกาะ “คอน” ได้แน่นขึ้น  เป็นต้น
และที่จะขาดไม่ได้คือการฝึกฝนทักษะการต่อสู้ ตามวิธีการต่างๆที่ได้รับการบอกกล่าวมา หรือตามที่ตัวเองเชื่อว่าจะทำให้
แมงคามของตนเก่งเป็นผู้ชนะตลอดกาล  เช่น ใช้”ไม้ผั่น” สอดระหว่างเขาทั้งคู่แล้วปั่น ซ้ายบ้าง ขวาบ้าง เพื่อฝึกปฏิกิริยาในการต่อสู้บางครั้งก็ใช้ กว่างตัวอื่นๆ ที่มีกำลังด้อยกว่าเป็นคู่ซ้อม ให้เกิดความฮึกเหิม


สู้เพื่อนาง


ผู้เลี้ยงแมงคาม  เมื่อได้ฟูมฟักเลี้ยงจนเป็นอัศวินที่  สมบูรณ์  มีความแข็งแรง ผ่านการฝึกฝนมาอย่างดีแล้ว
จะชักชวนเพื่อนเป็นกลุ่มเล็กกลุ่มน้อย หามุมสบายของตัวเองตามหมู่บ้าน ใต้ถุนบ้าน ไม่จำกัดสถานที่ เพื่อนำมาประกวด
หรืออวดกัน  และมักจะสิ้นสุดการ “ ขี้โม้ “ และด้วยการ “ ท้าซน กัน”  
เจ้าของแมงคาม ที่อย่างจะประลองความสามารถจะประกบหาคู่แข่งขันกันตามความสมัครใจ
โดยนิสัยผู้ชายทั่วๆไปที่มักจะรับไม่ได้กับความพ่ายแพ้  จึงพยายามสรรหาวิธีให้แมงคาม
ของตัวเองอยู่ได้เปรียบเสมอ เช่น ใช้ยาหม่องทาที่”ไม้ผั่น” และไปปั่น แมงคามฝ่ายตรงข้ามตอนเปรียบกว่าง  บางครั้งพบว่าใช้น้ำจากพริกขี้หนู ยาหม่อง ขี้ยาจากอีพ่อใหญ่
หรือพิษของยางคางคก มาป้ายไว้ที่เขาของแมงคามตัวเอง เพื่อให้กว่างฝ่ายตรงข้ามได้กลิ่น หรือถูกตำ จะทำให้แมงคามหมดแรง
หันหนี และแพ้ไปในที่สุด ดังนั้นเมื่อตกลงจะให้กว่างของตนชนกันจริง ๆ แล้ว  เจ้าของกว่างมักจะขอกว่างของฝ่ายตรงกันข้ามมาตรวจดูเสียก่อนว่าไม่มีกลโกง หรืออาจจะต้องเช็ดปลายเขากว่างคู่ต่อสู้หรือเอาน้ำอ้อยบีบรดเขาแมงคาม

ซึ่งถ้าหากมีการเอายาฆ่าแมลงทาไว้ น้ำอ้อยจะล้างไหลเข้าปากกว่างตัวที่ถูกทาไว้ ทำให้
อาจจะถึงตายหรือหมดแรงไปได้  การซนแมงคาม ต้องทำคอนให้มันไต่
เอาตัวเมียไว้ตรงกลางล่อให้มัน หวงตัวเมีย และคอยเอาไม้ฟั่น ปั่นท้องแมงคามเพื่อให้มันฉุน
เร่งเข้าฟาดฟันกัน
บางรายเขาหัก  ตกคอน  ส่วนมากเมื่อแพ้ มันมักจะถอยหนี ไม่มีการสู้กันถึงตาย


กีฬาประเพณีพื้นบ้านกับวิถีชีวิต


จากวิถีชีวิตพื้นบ้านเพื่อการพักผ่อน ของนักนิยม ซนแมงคาม เริ่มจากชักชวนเพื่อนบ้านหามุมสบาย
ของตัวเองอย่างไม่จำกัดสถานที่ ร่วมกับการซนเพื่อประลองกำลัง  ซึ่งมักหนีไม่พ้นกับ
การพนันขันต่อเล็กๆน้อยๆ ตามวิถีชีวิตของหมู่ชายชาวชนบท  
สร้างความสนุกสนานลืมความทุกข์ยาก จากการงานได้เป็นครั้งคราว


วิถีชีวิตชุมชน ธรรมชาติ และ การคงอยู่ของแมงคาม


ในมุมมองของคนท้องถิ่นแล้ว “การซนแมงคาม” เป็นการผสมผสานภูมิปัญญาท้องถิ่น วิถีชีวิตชุมชน
เข้ากับความเป็นธรรมชาติ การต่อสู้แย่งชิงตัวเมียของสัตว์เป็นหนึ่งในวิธีการที่ธรรมชาติ
เลือกใช้  “ตัวผู้ที่เก่งและ แข็งแรงที่สุด” จะเป็นผู้ที่มีโอกาสสืบต่อพันธุ์มากกว่าตัวผู้ที่
อ่อนแอ ทั้งนี้เพื่อการดำรงคงอยู่ของสิ่งมีชีวิตชนิดนั้นๆ  กรณีการชนกันของแมงคามตัวผู้ก็เช่นกัน
แทบไม่เคยพบว่ามันชนกันถึงบาดเจ็บและตาย ไม่เหมือนการชนไก่ หรือชนวัว  เนื่องจาก
การแพ้ชนะของแมงคาม คือตัวที่สู้ไม่ได้จะถอยหนีไปเอง “มันรู้จักแพ้”


จากนั้นเจ้าของแมงคาม มักจะปล่อยแมงคาม โดยเฉพาะตัวที่มีลักษณะดี แข็งแรง ซึ่งมักจะ
เป็นกว่างตัวตัวโปรดกลับคืนสู่ธรรมชาติในที่ที่เหมาะสม ให้มันมีโอกาสผสมพันธุ์และ
แพร่ขยายดำรงไว้ซึ่งเผ่าพันธุ์ที่ดีต่อไป

ปัจจุบันการปลูกสวนคาม เพื่อย้อมผ้า เหลือน้อยเต็มที มีเพียงบางพื้นที่ ที่อนุรักษ์ภูมิปัญญา
แบบเก่าไว้  
แมงคามจึงเหลือน้อย แต่แมงคาม ก็ปรับตัว กินพืชได้หลายชนิดเพื่อความอยู่รอด  แม้ว่าทางภาคอีสาน
การซนแมงคามจะมีให้เห็นน้อยนักแต่ทางภาคเหนือกลับ ยังมีให้เห็นได้ชม ถึงขนาดเป็น
“ บ่อน “ โดยถูกกฎหมาย  แมงคามตัวเก่งๆ ราคา เป็นหมื่น

วิถีแมงคาม เปลี่ยนไป วิถีสังคมก็เปลี่ยนแปลง แต่ วิถีแห่งการต่อสู้ของมันยังคงอยู่  เฉกเช่นมนุษย์ ผู้ยังคงดิ้นรนในกาลสมัย


ขอบคุณภาพ และ ข้อมูล ส่วนหนึ่ง จากอินเตอร์เน็ต ( กระผมลืม URL )

 
 
สาธุการบทความนี้ : 1024 ครั้ง
ให้สาธุการบทความนี้
 
 
  28 ก.ย. 2553 เวลา 16:41:10  
        offline  ติดต่อหลังเวที  ติดต่อโดยเมล์ ตอบอ้างอิง  
 
  ปิ่นลม    คห.ที่9) แมงข้าวสาร  
  เซียน

ภูมิลำเนา : สกลนคร
สมาชิกภาพ : สมาชิกชมรมฯ
เข้าร่วม : 16 มี.ค. 2553
รวมโพสต์ : 2,213
ให้สาธุการ : 180
รับสาธุการ : 5,444,600
รวม: 5,444,780 สาธุการ

 

ชื่อ  แมงข้าวสาร ( ยามเผ้าตรวจแห่งผืนน้ำ )
ชื่อวิทยาศาสตร์ Cybister limbatus   Fabricius
อันดับ         Coleoptera
ชื่อวงศ์        Dytistidae
ชื่อสามัญ  True water beetle และ Predaceous diving beetle
ชื่ออื่น  แมงข้าวสาร
ประเภทสัตว์  แมลง , สัตว์น้ำ

ลักษณะทางกายภาพ

             แมลงขนาดเล็กลำตัวป้อมเท่าเม็ดข้าวสาร มีสีเทาสลับดำ  แมลงปีกแข็งขนาดเล็กอยู่ในน้ำจับได้โดยใช้สวิงช้อน ชอบบินมาเล่นแสงไฟเวลากลางคืน นำมาประกอบอาหารได้หลายชนิด เช่น คั่ว ทอด แกงใส่หน่อไม้ส้ม  หมก หรือตำเป็นน้ำพริก ขนาดโตเต็มวัยมีขนาดเท่ากับเล็บหัวนิ้วโป้ ( เล็บหัวแม่มือ ) มีเส้นสีเหลืองรอบๆ ลำตัว

แหล่งที่พบ


             ด้วงน้ำมักอาศัยอยู่ตามแหล่งน้ำที่เป็นน้ำนิ่ง บางครั้งสามารถพบได้ในน้ำหลาก แต่พบไม่มากนัก เช่น ห้วย หนอง คลอง บึง นาข้าว แม่น้ำลำธารทั่วๆ ไป อาศัยตามหัวหญ้า  แพจอก แพแหน  ริมหนองน้ำ  ไม่ชอบอยู่น้ำลึก
บางคนแยกไม่ออก ระหว่าง แมงตับเต่า  กับ แมงข้าวสาร   จริงๆ แล้ว
เป็น แมลงใน สปีชีย์ เดียวกัน  ข้อสังเกตคือ
แมงข้าวสาร มีขอบเส้นสีเหลืองรอบลำตัว ขนาดเล็กกว่าแมงตับเต่า  และ ไม่มีหนอกแหลมที่ใต้ท้อง
เหมือนแมงตับเต่าลำตัวเรียวบางกว่า ไม่มีกลิ่นฉุนเหมือนแมงตับเต่า

ประโยชน์และความสำคัญ


            ชาวบ้านนิยมนำแมงข้าวสาร มาแกงใส่รวมกับแมลงกินได้ที่อาศัยอยู่ในน้ำชนิดอื่นๆ เช่น แมงหน้างำ
แมงเหนี่ยว แมงก้องแขน  แมงตับเต่า  แกงใส่ผักอีตู่ อาจจะใส่หน่อไม้ส้ม ( หน่อไม้ดอง )
หรือ อุ  ใส่ผักอีตู่    หรือ หมกใส่ใบตอง รวมกับแมลงที่กล่าวมา  แซบอีหลี

การหาเอาแมงข้าวสาร
ช่วงเดือน พฤศจิกายน  - กุมภาพันธ์  น้ำแห้งขอด  ชาวอีสาน มักไปหา “ส่อน” โดยใช้ “เขิง”  หรือ ใช้วิธี
“ ล่องแหย่ง “ หรือ ลาก “ดางเขียว”  ตาม ห้วยหนองคลอง บึงที่น้ำน้ำเหลือน้อย  ซึ่งมักจะมี แมงอันนี้ติดมาด้วย
หากเป็นฤดู น้ำหลาก จะใช้วิธี “ ตึกสะดุ้ง” หรือ “ยกยอ” เพื่อหาเอาแมลงชนิดนี้
วงจรชีวิต และ ความสัมพันธ์ในระบบนิเวศ
ไม่มีการศึกษา วิจัย อันเป็น องค์ความรู้ เนื่องจาก บัณฑิต ในปัจจุบัน  จบสาขากฎหมาย เยอะที่สุด  ต่างมุ่งเน้น บัญญัติ
กฎให้คนอื่นทำตาม  หาได้สนใจกฎแห่งธรรมชาติไม่  จึงเป็นการมุ่งความสนใจไปที่กฎหมายและกฎหมู่  ฟาดฟันกัน
ดังเห็นได้จาก บ้านเมืองเฮา ในยุคเริ่มก้าว สู่  ESANIA  

อย่างไรก็ตาม ก็มีการศึกษา เกี่ยวกับเรื่องราวของ แมลงชนิดนี้ อยู่บ้าง แต่เป็นเพียง ข้อมูลเชิงระนาบ
มิได้เป็นฐานข้อมูล อันจะเป็น แบบแผน เพื่อพัฒนาการดำรงชีวิต ให้สอดคล้องกับ
วิถีห้วยหนอง คลองบึงเท่าใดนัก
การพัฒนาแหล่งน้ำ ตามที่เพิ่นเข้าใจกัน ก็ คือ จกให้ลึก  ขอบให้แปน  กักน้ำได้นาน
ไม่มีอะไรอาศัยอยู่ในนั้นก็ช่าง  นอกจากปลาซิว ( ขอให้บริหารงบก็พอ )

   ระบบนิเวศ จึงเป็นองค์ความรู้ เฉกเช่นแมลง  เล็กน้อยไม่น่าสนใจ แต่ ครอบครองโลกใบนี้อยู่

 
 
สาธุการบทความนี้ : 1045 ครั้ง
ให้สาธุการบทความนี้
 
 
  28 ก.ย. 2553 เวลา 19:14:55  
        offline  ติดต่อหลังเวที  ติดต่อโดยเมล์ ตอบอ้างอิง  
 
  ปิ่นลม    คห.ที่12) แมง อะระหัง  
  เซียน

ภูมิลำเนา : สกลนคร
สมาชิกภาพ : สมาชิกชมรมฯ
เข้าร่วม : 16 มี.ค. 2553
รวมโพสต์ : 2,213
ให้สาธุการ : 180
รับสาธุการ : 5,444,600
รวม: 5,444,780 สาธุการ

 


ชื่อ  แมงอะระหัง  (ฤาษีผู้สันโดษ)

ชื่อวิทยาศาตร์   Torrynorrhina distincta ( ไม่แน่ชัด )
วงศ์  P. montana group
ชื่ออื่น      แมงทับเหลี่ยม

ลักษณะทางกายภาพ


เคลือญาติของแมลงพันธุ์ด้วง  แมงอันนี้ทั้งสองเพศมีหลายสี อย่างน้อยสามสีคือ เขียว เขียวปนส้ม (รวมทั้งส้มเขียวและส้มแดง) และน้ำเงินดำ ลักษณะเด่นคือมีส่วนหน้าของหัว (Clypeus) ยื่นยาวและค่อนข้างขยายใหญ่ใกล้ส่วนปลาย ใต้ท้องมีสีเข้มในส่วนของท้อง แต่ด้านบนของด้วงชนิดหลังนี้มีสีเดียวคือสีเขียวแกมทอง
ตัวผู้ มักจะมีลำตัวแคบกว่าตัวเมียและมีฟันที่ปลายแข้ง (tibia) เพียง 1 ซี่ ส่วนตีวเมียจะมีฟัน 2 ซี่โดยมีซี่ถัดจากส่วนปลายแข้งลงมาด้าน มีหนวดสั้น ลำตัวเกือบจะเป็นเหลี่ยม มีขนาดใหญ่ รองจากด้วงกว่าง
หรือแมงคาม

อาหาร

ชอบกินน้ำหวานจากดอกไม้ที่มีช่อแข็ง เช่น ดอกหมาก  ดอกพร้าว ฮวงตาล  และฮวงหวาย

สถานที่พบ


ตามฮวงดอกหมาก ฮวงดอกพร้าว ฮวงดอกตาล ส่วนมากพบตอนแดดพวมงาย  
เนื่องจากเรือนอีสานสมัยก่อนเป็นเรือนยกใต้ถุนสูงมีชานแดด  และด้านหลัง
เป็น”ซานน้ำ” หรือที่เก็บแอ่งน้ำ อุ น้ำ ไว้ใช้สอย
ใกล้ๆกับซานน้ำ  มักจะปลูกต้นหมาก ไว้ให้พ่อใหญ่แม่ใหญ่เคี้ยวหมากนอกจากนั้น
ยังปลูกต้นพร้าว ไว้ใกล้ๆ

  แมงอะระหัง จึงชอบมาตอมดอกพืชชนิดที่กล่าวมา เพื่อดูดกินน้ำหวาน โดยเฉพาะต้นหมาก

เมื่อกินอิ่มแล้ว จะเมา หรือ” วิน” พอแดดตอนสายส่องแสง หรือ
แดดพวมงาย ก็จะผกผินบิน ผิดทิศทางเข้ามาในเรือน เด็กน้อยไล่จับ เป็นที่สนุกสนาน
บางครั้งก็ เอาไม้ไปสอยเอา มันจะตกลงดิน  

วงจรชีวิต

วางไข่ในดิน ตรงพื้นที่ดินทรายมีใบไม้ทับถม นาน 2-3 เดือน (สิงหาคม-ตุลาคม )  
จากนั้นก็กลายเป็น“บ้งดิน “ หรือ ตัวหนอนในดิน  อีก 2 – 3 เดือน
พอประมาณ เดือน เมษายน ก็ ลอกคราบ กลายมาเป็นแมลง
ส่วนมากเป็นแมลงที่พบตัวได้ยาก ไม่ชอบตอมไฟ กลางคืนอาศัยหลบนอน ตามยอดไม้เปลือกไม้
จะพบตัวมันก็ต่อเมื่อ ช่วงเดือน เมษายน– กรกฎาคม   เท่านั้น    

ภาพไข่ของแมง อะระหัง



ภาพ "บ้งดิน" หรือ ตัวอ่อน ของแมงอันนี้
    
ในแง่วิถีชีวิตและความสัมพันธ์ทางธรรมชาติ

ส่วนมากไม่นิยมนำมาเป็นอาหาร แต่ก็ กินได้ โดยการเอามา “จี่” กิน  ส่วนใหญ่ เมื่อจับได้

ผู้ใหญ่จะทำไม้” แท่นหัน”  ทำจากไม้ไผ่  แบนๆ เจาะรูร้อยเชือก ทั้งสองด้าน  
และไม้อีกอันเป็นด้ามจับหากคิดไม่ออก ให้ดู ใบพัดเฮลิคอปเตอร์  ชนิดใบพัดเดี่ยว  
จากนั้นก็นำ แมงอะระหัง  สองตัว ผูกเชือกที่ขา ร้อยติดทั้งสองด้าน แล้วให้มันบิน มันจะบินถ่วงกัน
เป็นวงกลม ทำให้ ใบพัดหมุนเป็นที่สนุกสนาน  เมื่อมันเหนื่อย ก็ เอามา “ จี่กิน “  
หรือ ปล่อยมันคืนธรรมชาติต่อไป

แมลงชนิดนี้ มีส่วนช่วยในการผสมเกสร ดอกพร้าว ดอกหมาก และ ต้นตาล เป็นแมลงตัวใหญ่ที่สวยงาม
ที่ได้ชื่อเรียกว่า อะระหัง  เดาว่า เดิม เรียก “ อะระหัน “ เพราะเอามา
เล่นหมุนเป็นไปพัดให้มันหมุนหรือ “ หัน” ในภาษาอีสาน แต่เนื่องจาก พ้องเสียงกับ
คำว่า”อรหันต์” ซึ่งเป็นนามเรียกของผู้หลุดพ้นจากกิเลส
ในคติทางพุทธศาสนา จึงไม่สมควรที่จะนำมาเล่น จึงเรียก” อะระหัง” แทน

ขอบคุณ ข้อมูลภาพ จาก www.malaeng.com

 
 
สาธุการบทความนี้ : 1153 ครั้ง
ให้สาธุการบทความนี้
 
 
  29 ก.ย. 2553 เวลา 08:52:07  
        offline  ติดต่อหลังเวที  ติดต่อโดยเมล์ ตอบอ้างอิง  
 
  ปิ่นลม    คห.ที่16) แมงขี้สูด  
  เซียน

ภูมิลำเนา : สกลนคร
สมาชิกภาพ : สมาชิกชมรมฯ
เข้าร่วม : 16 มี.ค. 2553
รวมโพสต์ : 2,213
ให้สาธุการ : 180
รับสาธุการ : 5,444,600
รวม: 5,444,780 สาธุการ

 


  
ชื่อ                   แมงสูด , แมงขี้สูด  ( นักพรตแห่งโพนปลวก )
ชื่อวิทยาศาสตร์   Tetragonisca ,Trigona apicalis และ Trigona Collina
วงศ์                     Stingless bee

แมงสูด เป็นชื่อของแมลงชนิดหนึ่ง ที่อยู่ในตระกูลผึ้ง มีขนาดลำตัวเล็กๆ  และไม่มีเหล็กในในตัวเอง
นิสัยเป็นมิตร ไม่ดุร้าย มีวิถีชีวิตคล้ายคลึงกับผึ้ง  มีวรรณะ เช่น มีนางพญา(แม่รัง)  มีสูดงาน( ไม่มีเพศ )
และมีสูดสืบพันธุ์  ( มีทั้งตัวผู้ตัวเมีย )  สามารถผลิตน้ำหวาน และขยายเผ่าพันธุ์ได้
ทางภาคเหนือจะเรียกว่า “แมลงขี้ตึง” แปลว่าแมลงที่ผลิตหรือเก็บน้ำยางได้ ทางภาคอีสานเรียก” แมงขี้สูด”
นิยมนำมาอุดแคน หรือถ่วงเครื่องดนตรีเกือบทุกชนิด ทำให้เกิดเสียงไพเราะ ส่วนภาคใต้เรียกตัว “อุง”
สำหรับภาคกลาง รู้จักในชื่อตัว “ชำมะโรง “ หรือ “ชันโรง”

บางครั้งทำรังในระดับทางเดินของคน มีชื่อเรียกภาษาอีสานว่า” สูดเพียงดิน” หมายถึงแมลง
ชนิดนี้ ทำรังระดับเดียวกันกับพื้นดิน แล้วทำท่อขึ้นมาจากพื้นดินครับ ซึ่งปกติแล้วแมลงชนิดนี้มักจะทำรังในที่สูงครับ เช่นโพรงไม้หรือจอมปลวกครับ”สูดเพียงดิน” นี้ค่อนข้างจะหายาก
ครับ ถ้าใครเจอให้เก็บไว้เลยนะครับเป็นของดี
เอามาใส่เครื่องดนตรีชนิดใด ก็ไพเราะจนคนไหลหลง  อีกทั้งผู้ร่ำเรียนไสยศาสตร์ มักจะนำไป
ปลุกเสกเป็นมหานิยม แล    
ขี้สูด อะไร ( ทำไมต้องสูด )
          ขี้สูด เป็นแมลงสังคม (Social insect) กลุ่มเดียวกับผึ้ง ลักษณะที่สำคัญแตกต่างกันไปจากผึ้งคือ เป็นผึ้งขนาดเล็กที่ไม่มีเหล็กใน เป็นแมลงที่เชื่องไม่ดุร้ายกับศัตรู
บางชนิดขี้อายชอบหลบอยู่ในรูหรือโพรงไม้ อยู่ในวงศ์ผึ้ง กลุ่มนี้ว่า"Stingless bee"
สามารถสร้างน้ำหสานได้เช่นกัน คำว่า "ขี้สูด" เป็นชื่อเรียกพื้นเมือง (Verrnacular name) ทั่วไป
ของภาคอีสาน  ที่มาของคำนี้สันนิษฐานว่าน่าจะมาจากลักษณะการสร้างรังเนื่องจากแมลงกลุ่มนี้ได้เก็บหา ยาง(gum) ชัน (resin) ของต้นไม้ แล้วนำมาอุดยาชันรอบๆ ปากรังและภายใน เพื่อป้องกันน้าไหลซึมเข้ารัง และยังเป็นการป้องกันศัตรูบริเวณปากรัง   ตัวอ่อนเมื่อกินน้ำหวานแล้ว จะขับถ่าย
เกสร หรือยางไม้ออก พวกวรรณะงาน ( ตัวสูดไม่มีเพศ ) จะขนถ่ายเศษเหล่านั้นไปสะสมไว้ใต้รัง
ส่วนนี้เองที่เรียกว่า”ขี้สูด”  เนื่องจากมีกลิ่นหอมแปลก ๆ จากยางไม้ดอกไม้นาๆ ชนิด
หากจับต้องแล้ว เป็นต้องดม สูดกลิ่นอันนี้ ประหลาดแท้ จึงเรียกว่า ขี้สูด  
อีกอย่าง สมัยโบราณ ไม่มีส้วม จึงอาศัยตื่นแต่เช้า ไปขี้ อยู่ข้างโพน  บังเอิญเจอแมงอันนี้
จึง โก่งโก้ยไป สูดดมปล่องรัง  ได้ทั้งกลิ่นขี้ ได้ทั้งกลิ่นน้ำหวาน แมงอันนี้
จึงตั้งชื่อว่า " แมงขี้สูด " แล  
  

ลักษณะสัณฐานวิทยาของ แมงขี้สูด

          สำหรับขนาดตัวของแมงขี้สูดโดยเฉลี่ยมีขนาดเล็กกว่า ผึ้งพันธุ์ประมาณ 2-3 เท่า
เป็นแมลงที่รวมกันอยู่เป็นสังคมเช่นเดียวกับ ผึ้งรวง (ผึ้งมิ้ม ผึ้งหลวง และผึ้งเลี้ยง) ภายใน
สังคมแบ่งออกเป็น 3 วรรณะ คือ นางพญา(Queen) ตัวงาน (Worker) และตัวสืบพันธุ์(Male)
โดยที่ขนาดลำตัวระหว่างนางพญา กับตัวงานมีขนาดแตกต่างกันมาก ตัวสืบพันธุ์มีขนาดใกล้เคียง
หรือเล็กกว่านางพญาเล็กน้อย

ลักษณะทั่วไปของนางพญา

ส่วนหัวมีตารวม มีหนวด 1 คู่ ตาเดี่ยว 3 ตา ช่วงท้อง(Metasoma) ไม่เป็นรูปปิระมิดมีลิ้นเป็นงวงยาว ขา3 คู่ ขาคู่หน้าและ
คู่กลาง ค่อนข้างเล็กขาหลังเรียวไม่แผ่แบน ไม่มีเหล็กใน

ลักษณะทั่วไปของแมงสูดงาน

ตัวของ”สูดงาน”ตัวงานมีจำนวน 12 ปล้อง มีคล้ายนางพญาแต่ขนาดลำตัวเล็กกว่า กรามพัฒนาดีต่อการใช้งาน ขาคู่หลังแผ่กว้างเป็นใบพายมีขนจำนวนมาก รูปร่างคล้ายหวีสำหรับใช้เก็บละอองเรณูของดอกไม้มีปีกปกคลุมยาวเกินส่วนท้อง และไม่มีเหล็กใน

ลักษณะทั่วไปของแมงขี้สูดสืบพันธุ์

ลำตัวมีจำนวน 13 ปล้อง คล้ายนางพญา มีขนาดเล็กกว่า หรือใกล้เคียงกัน ตารวมเจริญพัฒนาดี กรามพัฒนาไม่ดีพอต่อการใช้งาน หนวดยากกว่าวรรณะทั้งสองโค้งเว้าเป็นรูปดัวยู ปลายส่วนท้องปล้องสุดท้ายมีครีบสำหรับผสมพันธุ์ (genitalia) ส่วนของขาคล้ายกับ
“ สูดงาน “  แต่ขาคู่หลังของชันโรงตัวผู้เล็กกว่า

รังและพฤติกรรมการสร้างรัง

          ลักษณะรัง การสร้างรังในป่าธรรมชาติเกิดจากการที่สูดวรรณะงานบางตัวเสาะหาแหล่งที่
จะสร้างรังใหม่เนื่องจากประชากรในรังเก่ามาก แออัดมาก และมีนางพญารุ่นลูก (daughter queen) เกิดขึ้นมา ทำให้ต้องแยกรังออกไปสร้างใหม่ ซึ่งพฤติกรรมนี้เกิดขึ้นในช่วงที่ฤดูผสมพันธุ์ของมัน
          การสร้างรัง ขึ้นอยุ่กับแต่ละชนิด แต่ละชนิดเลือกสถานที่สร้างรังต่างกันสามารถแยกลักษณะของการสร้างออกได้ 4 กลุ่มมีดังนี้

1. กลุ่มที่สร้างอยู่รูอยู่ตามชอกหลืบต้นไม้ที่มีโพรงของต้นไม้ขนาดใหญ่ ทั้ง ที่ยืนต้นมีชีวิตที่
     อยู่ และยืนต้นตาย (Trunk nesting) เป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดที่พบในบ้านเรา เช่น “แมงขี้สูดโกน” (Trigona apicalis)
2. กลุ่มที่สร้างรังอยู่ในโพรงใต้ดิน (Ground nesting) โดยรังจะถูกสร้างอยู่ใต้ดิน บริเวณ จอมปลวก
     ชนิดที่พบในบ้านเรา คือ” ขี้สูดโพน” (Trigona Collina)
3. กลุ่มที่สร้างรังอยู่ในโพรงตามพื้นดิน เรียกว่า “ สูดเพียงดิน “  
4.กลุ่มที่ทำรังตามหลืบ รอยแตกของต้นไม้ กิ่งไม้  หรือรูเล็ก ๆ ตามต้นไม้ ตามธรรมชาติ
   หรือทำรังในโพรง ต้นไม้ กลุ่มนี้มีตัวเล็กกว่า ชนิดที่ผ่านมา  เรียกว่า " แมงน้อย "

          แมงขี้สูดนี้จะสร้างปากรังออกมาเป็นหลอดกลมหรือแบนที่สร้างด้วยยาง หรือชันไม้โดยที่ชแต่ละชนิดมีรูปร่างปากรูใกล้เคียงกันหรือแตกต่างกันไปตามชนิดของมัน
ภายในรังมีการสร้างเป็นเซลล์ หรือ หน่วยๆ เพื่อให้นางพญาวางไข่ และตัวงานเก็บ ละอองเรณู น้ำหวานเพื่อใช้เลี้ยงตัวอ่อน เซลล์เรียงตัวเป็นชั้นๆ ไปตามแนวนอน ตามพื้นที่ภายในรังจะอำนวย วกวนไปมาหลายๆชั้นโดยที่ผนังเซลล์แต่ละหน่วยถูกสร้างเป็นผนังบางๆ
จากชันยางไม้ผสมไขที่ชันโรงสร้างเคลือบเอาไว้
ภายในรังสามารถแยกเซลล์ออกเป็น หลอดนางพญา หลอดตัวงาน หลอดเก็บเกสร
และหลอดเก็บน้ำหวาน  และ ท้ายสุด หลอดที่เก็บขี้สูด
    

ภาพการติดขี้สูด ใส่แคน


การเกี่ยวข้องกับวิถีอีสาน

สมัยเป็นเด็กน้อยเวลาไปทุ่งนากับพ่อ ชอบไปดูตามจอมปลวกหนือโพน ด้วยความอยากรู้
ไปเจอรังของแมลงเล็ก ๆ ถามพ่อ ๆ บอกว่าเป็นรังของแมงสูด หรือตัวขี้สูด
พ่อบอกว่า เมื่อออกพรรษาแล้ว ชาวบ้านจะมาหาขุดเอา น้ำหวานจากรังของมัน
รวมทั้ง “ขี้สูด” เพื่อเอาไปทำประโยชน์

พอโตขึ้นได้เที่ยวไปตามหมู่บ้านต่าง ๆ ไปเจอชาวบ้านใช้คุหาบน้ำ ที่สานจากไม้ไผ่เอาขี้สูดทาเครือบไว้
กันน้ำรั่ว เวลาเล่นว่าวจุฬา เอาขี้สูดติดตรงรอยต่อของ”สะนูว่าว” ปล่อยว่าวลอยลมขึ้นฟ้า
เสียง”สะนู”ดังก้องท้องทุ่งทั้งคืน แคนที่เป็นเครื่องดนตรีดึกดำบรรพ์ของโลก ก็เอาขี้สูดติดที่เต้าแคนกับลำแคนที่ทำมาจากต้นอ้อ โหวตเครื่องเป่าก็ใช้ขี้สูดติด รวมทั้งการทำหน้ากลองเอย
ชาวบ้านก็เอาขี้สูดติด



กลิ่นของขี้สูดมักมีกลิ่นหอมแปลก ๆ ของยางไม้หรือเกสร  
อนึ่งบนหิ้งพระของปู่ มีก้อนขี้สูดเพียงดิน ปั้นเป็นรูปพระ แกเล่าว่า ผ่านการปลุกเสกมาแล้ว
เอาไว้ทำมาค้าขาย เมตตามหานิยม เป็นของดี
จะเห็นได้ว่า “ขี้สูด” ข้องเกี่ยวทางวิถีอีสานหลายอย่าง  ยกแคนขึ้นมาเป่า เอากลองมาตี
เอา “โตดโต่ง “ ( พิณ ) มาดีด ก็จะได้กลิ่น”ขี้สูด”  เอา “สะนู” มาเล่นยามลมห่าว
ก็มีขี้สูดติด นับว่าเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรม หลายอย่าง  
อีกทั้งแมลงชนิดนี้ช่วยในการผสมเกสร ดอกไม้ต่างๆ ทำให้ผลไม้ติดผลดี  นิสัยก็ไม่ดุร้าย
ไม่เคยทำลายใคร ดังนักพรตแห่งจอมปลวก  เครื่องดนตรีของภาคอีสาน ล้วนต้องมีขี้สูด
ข้องเกี่ยวทั้งนั้น เสมือน จะบอกว่า
“ ดนตรีมิเคยทำร้ายใคร มีแต่เอิบอิ่มเติมเต็ม “ ดังเช่นนิสัยแมงขี้สูด    


ขอบคุณข้อมูลบางอย่าง รวมทั้งภาพ จาก www.km.rachinuthit.ac.th
และ gotoknow.org

 
 
สาธุการบทความนี้ : 1158 ครั้ง
ให้สาธุการบทความนี้
 
 
  29 ก.ย. 2553 เวลา 10:51:07  
        offline  ติดต่อหลังเวที  ติดต่อโดยเมล์ ตอบอ้างอิง  
 
  ปิ่นลม    คห.ที่19) แมงทับ  
  เซียน

ภูมิลำเนา : สกลนคร
สมาชิกภาพ : สมาชิกชมรมฯ
เข้าร่วม : 16 มี.ค. 2553
รวมโพสต์ : 2,213
ให้สาธุการ : 180
รับสาธุการ : 5,444,600
รวม: 5,444,780 สาธุการ

 

ชื่อ        แมงทับ , แมงคับ  , แมงพลับ ( อัญมณีแห่งทุ่ง)
ชื่อสามัญ Metalic Wood Boring Beetle
วงศ์       Buprestidae
อันดับ    COELOPTERA


ว่ากันว่า สีสันอันงดงามของปีกแมงคับ หรือ แมงทับมันนั้นอยู่ยั้งยืนยงคง ทนอยู่กว่า 50 ปีจึง
จะสลายไป

ในบ้านเรามี แมลงทับอยู่ 2 ชนิดคือแมลงทับขาเขียวกับแมลงทับขาแดง โดยพบมากที่สุดอยู่ในภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

แมลงทับขาแดง

มักอยู่รวมเป็นกลุ่มใหญ่ พบกินใบพันซาด มะค่าแต้ พะยอมเต็ง ตะแบกแดง และกางขี้มอด ในบริเวณป่าเต็งรังและรอยต่อระหว่างป่าเต็งรังกับป่าเบญจพรรณที่มีไผ่เพ็กหรือไผ่โจดขึ้นเป็นไม้พื้นล่าง พบมากทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

แมลงทับขาเขียว

พบอยู่รวมเป็นกลุ่มขนาดเล็ก แต่มีขอบเขตแพร่กระจายกว้างทั้งประเทศชอบกินใบคางมะขามเทศ และต้นถ่อน ที่ขึ้นตามที่รกร้าง ป่าละเมาะ และริมข้างทาง


ข้อมูลทั่วไป


แมลงทับทั้งสองชนิดนี้มีสีเขียวมรกตมันวาว บางตัวอาจมีสีเขียวเหลือบทองน้ำเงิน
หรือทองแดง ปกติพบแมลงทับเพียงปีละครั้งในช่วงฤดูเข้าพรรษา ระหว่างเดือน
กรกฎาคม ถึง ตุลาคม แมลงทับทั้งสองชนิดพบแพร่กระจายทั่วทุกภาคของประเทศ


จากผลของงานวิจัยพบว่า...แมลงทับจะปรากฏให้เห็นเพียงปีละครั้งเดียว ทั้งนี้
ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่างที่เข้ามากระทบต่อวงจรชีวิต เช่น สภาพแวดล้อม
ก่อนเข้าหน้าฝน ถ้าหากสภาพอากาศแห้งแล้ง หนอนวัยสุดท้ายจะฟักตัวนิ่งข้ามปีได้
เพื่อรอจนกว่าจะถึงรอบปีตามปกติ.. มันจึงจะลอกคราบจากดักแด้กลายเป็นแมลงทับตัวเต็มวัย

ถิ่นอาศัย

แมลงทับอยู่ตามป่าเขาดงไม้ได้ทั่วทั้งประเทศไทย ในภาคอีสาน ตามป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ


       

อาหาร

ชอบกินใบไม้ครึ่งแก่ครึ่งอ่อนที่ชอบมากได้แก่ใบพันชาด ใบมะขามเทศ ใบเต็ง ใบพะยอม และใบตะแบกแดง มันกินจุมากโดยเฉพาะในช่วงที่แดดจัด แม่แมลงทับจะวางไข่ ไว้ตามโคนต้นไผ่เพ็กหรือไผ่โจดแล้วผละจากไป น่าสังเกตว่าถ้าไม่มีไผ่สองชนิดนี้แถวนั้นจะไม่พบแมลงทับเลย

วงจรชีวิต

จับคู่ผสมพันธุ์ในเวลากลางวันใช้เวลาประมาณ 1-2 ชั่วโมง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการยอมรับของเพศเมีย
เมื่อผสมพันธุ์เสร็จตัวเมียวางไข่ที่บริเวณโคนต้นพืชอาหาร ลึกลงในดินประมาณ 1-2 เซนติเมตร
วางไข่ทีละฟองจำนวน 1-2 ฟองต่อวัน ตัวเต็มวัยมีชีวิตเพียง 1-3 สัปดาห์พบมีจำนวนมากที่
สุดในเดือนกันยายนของทุกปี ไข่ ฝังอยู่ในดินนาน 2-3 เดือน (สิงหาคม-ตุลาคม)
หนอน วัยที่ 1, 2, 3 และ 4 อาศัยอยู่ในดินแทะกินรากพืชและเหง้าเพ็ก นาน 3-4 เดือน
(พฤศจิกายน-มีนาคม) หนอนวัยที่ 5 หยุดกินอาหารและสร้างปลอกดินหุ้มตัวฝังอยู่ในดินลึก
5-10 เซนติเมตร หนอนวัยสุดท้ายนี้พักตัวอยู่ในปลอกดินนาน 12-15 เดือน (เมษายนปีแรก-มิถุนายนปีถัดไป จึงเข้าดักแด้ในปลอกดิน ดักแด้ นาน 2-3 เดือน (มิถุนายน-สิงหาคม)

เมื่อเป็นตัวเต็มวัยสีเขียวยังคงอาศัยอยู่ในปลอกดินอีกเกือบเดือน เพื่อให้ปีกแข็งแกร่งและพร้อมที่จะออกจากปลอกดิน แต่แมลงทับต้องคอยจนกว่าฝนจะตกหนัก และน้ำฝนไหลลงไปจนถึงปลอกดินแมลงทับจึงดันปลอกดินให้เปิดออก เดินขึ้นมาจากใต้ดินและเจาะผิวดินเป็นรูปกลมดันตัวเองขึ้นจากพื้นดิน เมื่อมีแสงแดดจึงบินไปกินอาหาร ผสมพันธุ์ และวางไข่ กว่าจะเป็นแมลงทับแต่ละตัวต้องใช้เวลาอาศัยอยู่ในดินนานถึง 2 ปี เมื่อเป็นตัวเต็มวัยก็มีชีวิตนานแค่ 1-3 สัปดาห์เท่านั้น

แมงทับจะใช้ชีวิตอย่างสำเริงสำราญเป็นอิสรเสรีจับคู่กันผสมพันธ์แล้วตัวผู้ก็ตายไป
ส่วนตัวเมียตั้งท้องแล้วไข่ จากนั้นก็ตายตามไป
จำนวนแมลงทับในแต่ละปีมักจะมีความสัมพันธ์กับปริมาณน้ำฝนที่ตกในช่วงเข้าพรรษา
ถ้ามีอากาศแห้งแล้ง จะมีจำนวนน้อย



เกี่ยวข้องกับวิถีอีสาน


เวลาฝนตกเซาใหม่ ๆ หรือ เพิ่งหยุดตก  ช่วงเข้าพรรษา  เด็กน้อยลูกอีสาน พากันจับกลุ่ม
ไปเป็นหมู่คณะ ไปหา สั่นเอาแมงทับ หรือแมงคับ ตามต้นฮัง ต้นมะขามเทศ ( หมากขามแป )
ต้นมันปลา  ต้นตะแบก  และต้นส้มเสี้ยว  โดยเมื่อพบ จะสั่นกิ่งไม้ให้มันตกลงมา
บ้างก็วิ่งไล่แมงทับ เพราะปีกมันเปียกฝนบินไปไม่ไกล   เมื่อได้แล้ว ก็ นำปีกมันออก
เอาไปคั่ว หรือ จี่ ตามแต่ ถนัด
  
เนื่องจากปีกแมลงชนิดนี้ เงาวาวสีสันมรกต งดงาม จึงนิยมเอามาประดับ เครื่องไม้เครื่องมือ
เช่น เหน็บฝากระติบข้าว  เหน็บข้างฝาแถบตอง   เหน็บกระต่า , กระบุง กระด้ง ยามไปนา
บางครั้งก็เอามาทำ ปิ่นผม  บางคนร้อยเป็นสร้อย ข้อมือ ต้อนขวัญน้อง  

เด็กๆ จะเอาปีกแมงทับที่งดงามมาอวดกัน เป็นที่สนุกสนาน  เนื่องจากปีหนึ่งๆ  จะหาแมงทับได้
ครั้งเดียวเท่านั้น
แมงทับ มีความสัมพันธ์กันกับพันธุ์ไม้พื้นเมือง  โดยเฉพาะ ต้นโจด และกอหญ้าเพ็ก ซึ่งที่วางไข่
รวมทั้งพันธุ์ไม้ต่างๆ ในท้องถิ่น อีกทั้งยังเป็นความเชื่อว่า หากปีไหนแมงทับ  มีหลากหลาย
ฝนจะตกต้องตามฤดูกาล ไม่ทิ้งช่วง ขณะที่ข้าวกำลังตั้งท้อง
ปีกของมันที่งดงาม ราวกับจะบอกว่า ระบบนิเวศน์ แห่งความสมดุล งดงามราวอัญมณี  


ขอบคุณข้อมูลที่จำเป็น จาก  http://pennyb.multiply.com
ภาพประกอบ จาก google

 
 
สาธุการบทความนี้ : 1362 ครั้ง
ให้สาธุการบทความนี้
 
 
  29 ก.ย. 2553 เวลา 12:57:22  
        offline  ติดต่อหลังเวที  ติดต่อโดยเมล์ ตอบอ้างอิง  
 
  ปิ่นลม    คห.ที่20) แมงหามผี  
  เซียน

ภูมิลำเนา : สกลนคร
สมาชิกภาพ : สมาชิกชมรมฯ
เข้าร่วม : 16 มี.ค. 2553
รวมโพสต์ : 2,213
ให้สาธุการ : 180
รับสาธุการ : 5,444,600
รวม: 5,444,780 สาธุการ

 



ชื่อ                    แมงหามผี ( พ่อมดผู้สันโดษ )
ชื่อวิทยาศาสตร์ Phasma  
ชื่อสามัญ           phobaeticus  
กลุ่ม                 “Phasmids”
วงศ์                  Phamatidae


ทางภาคอีสานเรียก แมลงชนิดนี้ว่า “แมงหามผี”
พบกระจายอยู่ทั่วโลก พบมากในเขตร้อน และ เขตอบอุ่นประเทศไทย และ พบกระจายอยู่เฉพาะแถบเอเซียตะวันออกเฉียงเหนือ วิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต ที่ใช้เทคนิคการพรางตัว สุดยอด  เพื่อความอยู่รอด

คำว่า Phasma มาจากภาษาละติน แปลว่า” ผี” ซึ่งมาจากกลไกที่ใช้ในการหลบหลีกศัตรูของแมลงกลุ่มนี้
อ้าว ทางละติน  ก็เรียก มันว่า ผีเหมือนกันกับ ทางอีสานเลย  ทำไมหนอ

ลักษณะทางกายภาพ

มีลำตัวยาว สีกิ่งไม้แห้ง  หัวเล็ก มีขา 6  ขา ยาว ๆ เรียวเล็ก คล้ายกิ่งไม้  
ขาแต่ละหาอยู่ห่างกัน ส่วนตัวผู้ มีขนาดเล็กกว่าตัวเมียมาก  ขาหน้า ยื่นยาวกว่าหัว
คล้ายใบหญ้าแห้ง หรือ กิ่งไม้แห้ง เพื่อล่อเหยื่อ

แมลงชนิดนี้ อาศัยการพรางตัวโดยใช้สีที่กลมกลืนกับกิ่งไม้แห้ง การเปลี่ยนสี ขึ้นกับอุณหภูมิ ความชื้น และ ความเข้มของแสง โดยเซลล์ epidermis ที่อยู่เหนือผิว cuticle จะมีเม็ดสี (pigment granules)
เคลื่อนที่เข้าในเซลล์เพื่อตอบสนองกับสิ่งแวดล้อมจากการศึกษานี้จะพัฒนาเพื่อนำไปใช้สู่กระบวน
การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โดยใช้แมลงเป็นต้นแบบ อีกทั้งมูลของแมงหามผี บางชนิดสามารถนำมาใช้เป็นยาแผนโบราณในการรักษาโรคกระเพาะอาหาร สมานแผลในระบบทางเดินอาหาร


ทางภาคกลาง เรียกแมงอันนี้ ว่า “ตั๊กแตนกิ่งไม้และ ใบไม้”
มีจำนวนชนิดทั้งหมด 32 ชนิด
ไม่สามารถจำแนกชนิดพันธุ์ได้ 18 ชนิด มีความสัมพันธ์กับพืชอาหาร ในกลุ่มของพืชสกุล กุหลาบ

ตั๊กแตนใบไม้มีชนิดพันธุ์เพิ่มขึ้น 1 ชนิดพันธุ์ และ พืชอาหารคือ มะยมป่า และ มะม่วง
ซึ่งจากจำนวนทั้งหมดนี้ทำการเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์ได้แล้วกว่า 15 ชนิด

อาหารการกิน

จากการสังเกตของผู้ตั้งกระทู้ ตอนไปเลี้ยง งัวเลี้ยงควายตามโคกป่า นาดอน พบว่า แมงหามผี
กินแมลงชนิดอื่นเป็นอาหาร เช่นตั๊กแตนน้อย ตัวเพลี้ย และ แมงซ้าง   โดยอาศัยการพลางตัว
แอบซุ่มพอเหยื่อเข้ามาใกล้ ก็รับใช้ขาเกี่ยวแล้วกัดกิน อีกทั้งยังกินเกสรดอกไม้ในป่า
กินน้ำหวานดอกไม้

สถานที่พบ

ตามสุมทุมพุ่มไม้ทั่วไป หรือตามต้นไม้ ต้องสังเกตดีๆ เนื่องจากพรางตัวได้แนบเนียนมาก
ส่วนมากอยู่ตามกิ่งไม้แห้ง คอยดักกินด้วงมอด บางชนิด  



ในแง่วิถีอีสาน


ชาวอีสานไม่กินแมลงชนิดนี้  ส่วนมากผู้สาวไปหาฟืน  หรือไปตัดฟืน จะพบแมงหามผี
เวลาจ้องมัน มันจะ แกว่งตัว เดินโซเซ ดังคนแบกของหนัก  บ้างก็ยืนไกวตัว โยกเยก ข่มขู่
แต่ไม่เคยทำอันตรายแก่มนุษย์แต่อย่างใด

ตัวที่มีขนาดเต็มวัย ตัวโต ขนาดนิ้วหัวแม่เท้า   ยาวคืบกว่าๆ   โบราณว่า แมงหามผี เวลาจะหาฟืนมาเผาผี
ในป่าช้า มักจะเห็นแมงอันนี้ ลัดทาง  ผู้ตั้งกระทู้ก็เคยถูกแมงหามผี ลัดทาง ยามไปหาควาย ( ตามควาย)
ในตอนแลง แมงหามผี คลานอยู่กลางทางดินทราย พอจ้องดู มันก็ทำท่าทาง โยกเยก ๆ   โยกหน้า โยกหลัง

ปู่บอกว่า
“เห็นแมงหามผีแล้ว ให้เตือนสติตัวเอง  ชีวิตเฮาดังแบกขอนดอก (ขอนผุ ) เมื่อชีวาวาย
ย่อมไร้ประโยชน์  เปรียบดังแมงหามผี  ขาน้อยๆ แบกตัวโซเซ ซวนล้ม  หากไม่สะสม
ความดี ในขณะมีชีวิต  ก็เกิดมาไร้ค่า”


คนอีสานกินแมงไม้เป็นอาหาร เพราะความอดอยาก หรือเพราะวิถีที่ต้องใช้ประโยชน์จากธรรมชาติคุ้มค่า
เรียนรู้และปรับตัว ไม่ถือว่า แมลงเป็นสิ่งไร้ค่า  แม้ว่า “แมงหามผี” จะกินไม่ได้ ก็ยังใช้เป็นเครื่องเตือนใจ
ให้หมั่นทำความดี ตามคติศาสนา
    


ขอบคุณข้อมูล www.rdi.ku.ac.th และเจ้าของภาพ

 
 
สาธุการบทความนี้ : 1138 ครั้ง
ให้สาธุการบทความนี้
 
 
  29 ก.ย. 2553 เวลา 17:16:17  
        offline  ติดต่อหลังเวที  ติดต่อโดยเมล์ ตอบอ้างอิง  
 
  ปิ่นลม    คห.ที่29) แมงย่างซี้น  
  เซียน

ภูมิลำเนา : สกลนคร
สมาชิกภาพ : สมาชิกชมรมฯ
เข้าร่วม : 16 มี.ค. 2553
รวมโพสต์ : 2,213
ให้สาธุการ : 180
รับสาธุการ : 5,444,600
รวม: 5,444,780 สาธุการ

 



ชื่อ                 แมงย่างซี้น
( ช่างทอหูกแห่ง รัตติ )
ชื่อวิทยาศาสตร์   กำลังสืบค้น
วงค์                Arachnida
ชั้น                 กำลังสืบค้น

เมื่อพูดถึงแมงมุมเราจะนึกถึงสิ่งมีชีวิตตัวเล็กที่มี 8 ขา พร้อมด้วยรูปร่างหน้าตาที่ดู
น่ากลัวที่ทำให้แมงมุมได้เป็นดารารับเชิญในหนังสยองขวัญและหนังผจญภัยต่างๆ
อยู่เสมอ  แมงมุมจัดเป็นสัตว์ที่มีข้อปล้องในชั้นอะแรคนิดา (Arachnida) ร่วมกับ
แมงป่อง ตัวหมัดและเหา  

มีความสามารถพิเศษในการสร้างและชักใย เพื่อจับเหยื่อมาเป็นอาหาร
ในโลกนี้นี้มีแมงมุมชนิดต่าง ๆ มากกว่า 40,000 ชนิดกระจายอยู่ทุกมุมโลก
ตั้งแต่สวนหลังบ้าน ในตู้เก็บของ ลงไปในแม่น้ำ และตามป่าต่าง ๆ
ยกเว้นทวีปแอนตาร์กติกาเท่านั้น  

ลักษณะทางกายภาพ

แมงย่างซี้น เป็นแมงมุมขนาดใหญ่ มีขนาดลำตัว ยาว 5 ซม.กว้าง  2-3 ซม. มีปล้องขา
ยาวร่วม 10 ซม.  ลำตัว มีสีลายเหลือง มีจุดด้านข้าง ประปราย  เท่าสังเกตมา  สายพันธุ์
แมงย่างซี้นที่มีในภาคอีสาน มี 2  ได้แก่ ชนิด สีเหลือง Golden Orb  และ ชนิดสีดำ จุดเหลือง
ชนิดนิดแรก มีลำตัวป้อม ๆ สีสีนออกไปทางลายเหลือง มีเส้นสีเหลืองพาดกลางหลัง 2 เส้น
ส่วนชนิดที่ 2  ไม่มีเส้นสีเหลืองพาด แต่มีจุดสีเหลืองอันเดียว เรียงกันตามแนวยาวของลำตัว
มีสีของโทนดำ ซึ่งขนิดนี้ พบตามป่าใหญ่ ป่าทึบ มีแสงแดดส่องลอดผ่านน้อย

ความสามารถพิเศษ คือ ถักทอใย  

แมงย่างซี้น มีลักษณะการใช้งานของเส้นใยของแมงมุมแบ่งได้เป็น 7 รูปแบบกว้าง ๆ ดังนี้





• สำหรับเป็นเส้นใยรับแรง (หรือ dragline) ซึ่งเป็นเส้นใยที่เหนียวและแข็งแรงที่สุด ใช้สำหรับเป็นโครงสร้างหลักของตาข่าย ดักแมลงของแมงมุมและสำหรับไว้ห้อยโยงแมงมุมเข้ากับตาข่าย
• สำหรับมัดห่อเหยื่อ  (swathing silk)
• สำหรับสร้างรังไข่ (egg sak)
• สำหรับชักเป็นตาข่าย (web)  
• สำหรับใช้ในการลอยตัว (parachuting or balloning)  
• สำหรับผสมพันธุ์ (mating)
• สำหรับสร้างรัง (shelter)

ใยแมงมุมมีอยู่ 7 ชนิดซึ่งผลิตออกมาจากต่อมสร้างเส้นใยแบบต่างกัน 7 แบบ  อย่างไรก็ตามจำนวนและชนิดของต่อมสร้างเส้นใย ที่มีในแมงมุมแต่ละชนิด
ขึ้นอยู่กับสายพันธ์และเพศของแมงมุม

ความน่าสนใจของเส้นใยแมงมุมอยู่ที่คุณสมบัติทางกลที่ทั้งเหนียวและแข็งแรง  ใยบางแบบสามารถยืดออกได้ 2 ถึง 3 เท่าโดยที่ยังไม่ขาด ขณะที่เส้นใยบางแบบมีความแข็งแรงกว่าเส้นใยเหล็กที่มีน้ำหนักเท่ากันถึง 5 เท่า และเกือบแข็งแรงเท่ากับเส้นใยเคฟลาร์ที่เป็นเส้นใยที่แข็งแรงที่สุดที่มนุษย์ผลิตได้ แต่เหนียวกว่าและมีความยืดหยุ่นดีกว่าเคฟล่าร์   นอกจากนี้กระบวนการผลิตเส้นใยของแมงมุมก็เป็นวิธีที่ดีกว่าการผลิตเส้นใยของมนุษย์อย่างเทียบกันไม่ได้ เพราะเป็นวิธีที่ไม่สร้างมลภาวะ เนื่องจากใช้น้ำเป็นองค์ประกอบหลัก มีสมบัติที่หลากหลาย แข็งแรงและเหนียวอย่างน่าทึ่ง
ซึ่งเชื่อว่าบรรพบุรุษของแมงมุมได้เคยสร้างรังอยู่ตามฝั่งริมน้ำ มันจึงใช้วิธีปั่นใยขึ้นมาบุรังของมันเพื่อทำให้รังแข็งแรง

บรรพบุรุษของแมงมุมใช้วิธีขับฉีดสารโปรตีนออกจากร่างกายง และโปรตีนที่ว่านั้นคือใยแมงมุมนั้นเอง

ตามปกติใยแมงมุมจะมีขนาดและรูปทรงต่างๆ กัน ในบางครั้งเราจะเห็นแมงมุมกินใยของมันเอง
ทั้งนี้ก็เพื่อบริโภคน้ำที่ติดอยู่ตามใย และจริงๆ แล้วใยก็คืออาหารประเภทโปรตีนสำหรับร่างกายมัน




พฤติกรรมการดำรงชีวิต

แมงมุมชนิดนี้จะชักใยที่มีขนาดใหญ่- ใช้สูตรการถักใย 170/ 64   คือเส้นแนวดิ่งหรือ เส้นตรง 170  เส้น
เส้นรอบวง หรือ เส้นวงกลม 67 เส้น  เป็นวงใย ขนาดใหญ่ และว้าง ประมาณ 1 เมตร  มักทอสูงจากพื้นดิน
2 เมตรขึ้นไป  มีรูห่าง ในฤดูฝนจะถักใยขนาดใหญ่แบบนี้  เนื่องจากมีแมลงซึ่งเป็นอาหารมีจำนวนมาก
และ ตัวใหญ่ๆทั้งนั้น เช่น ตั๊กแตน , ผีเสื้อ , แมงเม่า . แมงแคง  จักจั่น จึงจำเป็นต้องถักใย ขนาดใหญ่
และสูง เพื่อดักทาง เมื่อเหยื่อมาติดใย จะรีบออกมาพ่นใยห่อไว้ โอ้นโต้น   หากใยไหนมีแมลง
มาติดมาก ก็จะเห็น ก้อนสีขาวที่ห่อด้วยใยห้อยอยู่  มองดูคล้ายกับ  หิ้งตากเนื้อแห้งบนอากาศ  
จึงได้ชื่อว่า “ แมงย่างซิ้น “ หรือ  ย่างเนื้อนั่นเอง

หลังจากออกพรรษาแล้ว แมลงตัวใหญ่ๆ เหลือน้อย เริ่มเข้าฤดูฝนขาด เข้าหน้าแล้ง
ฤดูนี้มีแมลงขนาดเล็กมาก แมงย่างซี้น จะเปลี่ยนพฤติกรรม มากางใย ตามใต้พุ่มไม้เตี้ยๆ
ตามพุ่มจิก พุ่มฮัง พุ่มหมากเม่า

ใยแมงมุมจะมีรูถี่ ขึ้น ใช้สูตรในการถัก 56/228  .ใยมีขนาดเล็ก แต่ถี่ขึ้น  ตามขนาดของแมลงในฤดู

การสืบพันธุ์

ผสมพันธุ์กัน ในเดือน มี.ค.- เม.ย.  จากนั้นตัวเมียจะวางไข่ ไว้ตามพุ่มไม้  ถักใยหุ้มมัดไว้ ตามใต้ใบไม้
ฟักเป็นตัวประมาณเดือน พ.ค. - มิ.ย.  วางไข่แล้ว มักจะไม่เผ้ารัง ต่างปล่อยให้เผชิญโชคชะตาเอง

ในแง่วิถีอีสาน

ยามไถนาฮุดแล้ว รอกล้าที่ตกไว้ ใหญ่พอดำ  เด็กน้อยไล่ งัวควายไปเลี้ยงตาม หัวป่าหัวดอน
ระหว่างที่เล่นน้ำไฮ่นา จนเมื่อยแล้ว ก็มานั่งเซาฮ่ม  เหลียวขึ้นไปทางปลายต้นไม้ เห็นแมงย่างซี้น
ตัวลายเหลืองแสก  ขนาดเท่าหัวโป้มือ  พวกเด็กน้อยแม่หญิง ย้าน แล่นหนีกุ่น ๆ  ส่วนซุมผู้ซาย
หาเอากิ่งไม้ “เลว” ( ขว้าง ) เพื่อเอาแมงย่างซี้น เมื่อจับได้แล้ว จัดการก็”หักแข่ว “ เพื่อให้ปลอดภัย
จากนั้นก็หากองไฟ บ่ทันมอน “จี่แมงย่างซี้น”  ปันกันกิน   รสชาติก็หอมอร่อย เป็นสีมัน ๆ ซั้นแหล่ว
ในบ้างครั้งการเอาแมงอันนี้  พอใยมันขาด แมงย่างซี้น ก็จะหนี ขึ้นต้นไม้ตามใย  เด็กๆได้แต่ มองตาปริบๆ
หมดปัญญา  เมื่อผิดหวัง จากแมงย่างซิ้น ก็หากิน หมากเล็บแมว หมากเม่า หมากต้องแล่ง แก้ผิดหวัง    

ขอบคุณข้อมูล บางส่วน และภาพ จาก อินเตอร์เน็ต  

 
 
สาธุการบทความนี้ : 650 ครั้ง
ให้สาธุการบทความนี้
 
 
  30 ก.ย. 2553 เวลา 11:42:14  
        offline  ติดต่อหลังเวที  ติดต่อโดยเมล์ ตอบอ้างอิง  
 
  ปิ่นลม    คห.ที่31) แมงปอ แมงโกก แมงคันโซ่ แมงก้องแขน แมงระงำ  
  เซียน

ภูมิลำเนา : สกลนคร
สมาชิกภาพ : สมาชิกชมรมฯ
เข้าร่วม : 16 มี.ค. 2553
รวมโพสต์ : 2,213
ให้สาธุการ : 180
รับสาธุการ : 5,444,600
รวม: 5,444,780 สาธุการ

 



ชื่อ      แมงโกก, แมงน้ำแก่ง, แมงคันโซ่ ,แมงปอ (เจ้าผู้ครองเวหาศ )
ชื่อวิทยาศาสตร์ Rhyothemis sp.
อันดับ         ODONATA
ชื่อวงศ์        Libellulidae
ชื่อสามัญ  Dragonfly Nymphs


ฝรั่งเรียก Dragonfly เป็นแมลงมีปีก 4 ปีก บางชนิดกินเกสรดอกไม้ บางชนิดกินแมลงด้วยกันเป็นอาหาร บางคนเรียกว่า นักล่าแห่งเวหา เพราะมีความสามารถใน
การบินสูงมาก

แมลงปอสามารถบินได้ไกลถึง 100 ก.ม. การขยับปีกขึ้น-ลง จะใช้ความเร็วเฉลี่ยประมาณ 500 ครั้งต่อวินาที  ในที่นี่ขอเรียกว่า แมลงปอ เพื่อความเข้าใจ เพราะต่างถิ่น ต่างเรียกชื่อไม่เหมือนกัน

ประเภทและชนิด

แมลงปอในโลกนี้มีอยู่มากกว่า 5,000 ชนิด(species) จัดอยู่ประมาณ 500 สกุล
ซึ่งศาสตราจารย์ G.H.Carpenter ซึ่งเป็นศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยแมน
เชสเตอร์ ประเทศอังกฤษ แบ่งแมลงปอออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ โดยดูจากลักษณะของเส้นปีก รูปร่างปีก และลักษณะการวางปีกขณะเกาะอยู่ แบ่งเป็น

1.  กลุ่มแมลงปอบ้าน มีลักษณะตัวใหญ่ สีเข้ม หัวโต ตากว้างแต่ไม่โปน ปีกคู่หลัง
      ใหญ่กว่าปีกคู่หน้า เวลาเกาะจะกางปีกในแนวราบ
2.กลุ่มแมลงปอเข็ม มีตัวเล็กเรียว หรือสั้น ตาโปน ปีกคู่หลังมีขนาดเท่ากับปีก
    คู่หน้า เวลาเกาะจะหุบปีก

ในประเทศไทยมีการค้นพบแมลงปอมากกว่า 295 ชนิด



ในภาพ คือ แมงก้องแขน  แมงระงำ  และ ฮวก



ตัวอ่อนแมลงปอ ( Naiad )


ทางภาคอีสาน กินตัวอ่อนของแมลง ชนิดนี้เป็นอาหาร ซึ่งต่างชนิด ต่างมีลักษณะลูกอ่อน ไม่เหมือนกัน
จึงเป็นที่มา ของความสับสน เรียกชื่อผิด ๆ ถูก ๆ   ผู้ตั้งกระทู้ จึงขอสรุป ตัวอ่อน
ของแมลงปอ ที่ทางภาคอีสาน
นำมาเป็นอาหารปะเภทใหญ่ๆ ได้ดังนี้ หวังว่าคงให้ความกระจ่างกันบ้าง
เห็น ถกเถียงกันเหลือเกิน

1 แมงก้องแขน

     คือลูกแมงปอนักล่า ในสายพันธุ์แมงปอบ้าน ที่มีขนาดใหญ่ตาโปนสีเขียว  มีปีกขนาดใหญ่
ตัวอ่อนของแมงปอสายพันธุ์นี้ มีลักษณะคล้ายตัวหนอนซะมากว่า เรียวยาวกว่า
บรรดา ตัวอ่อนแมงปอทั้งหมด แปลกว่าเขาก็คือไม่มีขา  ที่ที่ร้ายกาจคือ มีเขี้ยวที่
สามรถกัดได้ กัดเจ็บเหมือนกัน  เรียกว่า" แมงก้องแขน"
ด้วยลักษณะเรียวยาว ไม่มีขา ลำตัวมีสีขุ่น เวลาโค้งเข้าหากันจากหัวกับหาง คล้าย “ กำไล “ หรือ ภาษาอีสานเรียกว่า “ ก้องแขน “
ทั้งตัวยาว 5- 6 ซม.   ส่วนมากอยู่ในแม่น้ำใหญ่ ๆ  ตามห้วยต้องเป็นห้วยใหญ่
น้ำไม่ขาดทั้งปี หากตามหนอง หรือแหล่งน้ำ เล็ก ๆ  ไม่ค่อยพบ


ภาพแมงก้องแขน ( ตัวอ่อนของแมงปอ อีกชนิดหนึ่ง )


2.แมงระงำ

มีลักษณะตัวป้อมๆ ตาโปน ก้นใหญ่  อาจมีกระบังหน้าคล้ายพาย ใช้สำหรับช่วยในการกินอาหาร
มีขา6 ขา เวลาโดนจับ จะใช้กระบังหน้าปิดตาอาไว้ เหมือนอาการคนงุ้ม หรือ ง้ำหน้าหลบ
จึงได้ชื่อว่า“แมงหน้างำ “ และ เพี้ยนมาเป็น “แมงระงำ” ดังที่เรียกขานกัน  บางชิดรูปร่างแบน ก้นเรียว
ต่างกันไปบ้าง ตามสายพันธุ์  บางชนิดไม่มีกะบังหน้า  ตัวอ่อนชนิดนี้ เป็นตัวอ่อนของแมงปอ ทั่วไป
เช่น แมงปอแดง แมงปอนา ตัวไม่ใหญ่และยาวเท่าใดนัก  ประเภทนี้มีมากที่สุด มีตามแหล่งน้ำทั่วไป

ภาพ แมงระงำ ตัวอ่อนแมงปอ อีกชนิด



ภาพด้านหน้า  แมงระงำ  สังเกต กะบังหน้า โดนแกะออก


3.แมงเหนี่ยง , หรือ แมงเหนี่ยว

ลูกของแมงปอเข็ม แตกต่างจากทั้ง 2 ชนิด มีขนาด เล็ก ลำตัวเรียวหรือแบน แต่ยาวกว่า
แมงระงำ อาจมีสีดำ หรือสีใสขุ่นตามสภาพน้ำที่อาศัย ขบางชนิดลำตัวกลม
สังเกต ชนิดนี้ ไม่มีกะบังหน้า  


ภาพแมงเหนี่ยง



ภาพแมงเหนี่ยงอีกชนิด

เบิ่งเอาโลด ในกาละมัง มีแมงหยังแน



ทุกชนิดที่กล่าวมา ทั้งหมดล้วน โตขึ้นเป็น แมงปอ ขะน้อย


วงจรชีวิต

แมงปอ มีชีวิตส่วนใหญ่ในน้ำ   อาศัยอยู่ตามแหล่งน้ำจืดทั่วไป  ตัวอ่อนแมลงปอใช้ชีวิตนานอยู่ในน้ำนาน
1-3ปีเมื่อถึงวัยหนึ่ง จะขึ้นมาลอกคราบ กลายเป็นแมงปอ  และจะลอกคราบ ประมาณ
5 – 6 ครั้ง เจริญพันธุ์เป็นตัวเต็มวัยกินลูกน้ำ สัตว์น้ำเล็ก ๆ และลูกอ๊อดเป็นอาหาร
บางครั้งก็กินพวกเดียวกันเอง บางสายพันธุ์กินพืช

แมลงปอมักผึ่งปีกในเวลาแดดตอนสาย  เมื่อปีกแห้งจึงบินได้ ไปล่าเหยื่อ  ผสมพันธุ์ใน
หน้าฝน ช่วงเดือน มิ.ย. ก.ค. วางไข่ตามแอ่งน้ำ  แล้วก็ สิ้นอายุขัย


ประโยชน์และความสำคัญ

แมงน้ำแก่ง ,แมงโกก , แมงคันโซ่  หรือ แมลงปอ  ตามแต่จะเรียก กินลูกของสัตว์น้ำ และ ตัวอ่อนของแมลงเบียนพืชทั้งหลายเป็นอาหาร  ตลอดจนลูกน้ำ ตัวอ่อนของยุงเป็นของโปรด  
อีกทั้งช่วงอายุตอนอาศัยในน้ำยังเป็นอาหารของสัตว์น้ำหลากหลายชนิด ทั้งกบ เขียด ปู ปลา
ประดุจดัง “แพลงตอน” ผู้โบยบินจากฟ้า
ชุบเลี้ยงผืนน้ำ ในอีสาน  อีกทั้งยังสามารถแปลงโฉมจาก ผู้ถูกล่า มาเป็นนักล่าได้ ในช่วงท้ายของวงจรชีวิต
นับว่าเป็นแมลงที่มีประโยชน์ยิ่ง ต่อระบบนิเวศน์โดยแท้  ความสามารถในการปรับตัวของมัน ทำให้
อยู่รอดมาได้จนทุกวันนี้ เรารู้หรือไม่ แมลงปอ กำเนิดและอยู่มานานก่อนจะมีมนุษย์   ไดโนเสาร์ล้มตาย
สูญพันธุ์ แต่ แมลงปอ ยืนหยัดได้  จึงไม่แปลกที่ เทคนิคการบิน ของแมลงปอ ถือว่าเป็นสุดยอด
เป็นจ้าวเวหา   ที่มาแห่งความอร่อยล้น เลี้ยงดูชาวอีสานให้มีอาหารการกิน ไม่ว่าแล้ง หรือ ฝน


แมงก้องแขน เมื่อลอกคราบแล้ว โตขึ้นมาจะกลายเป็น แมงปอพิฆาต หากินหมู่ ตั๊วะ


ส่วนแมงระงำ เมื่อลอกคราบมาแล้ว ส่วนมากเป็นแมงปอ แบบนี้ ซั่นเด้..




ส่วนแมงหนี่ยง ลอกคราบออกมา จะเป็นแมงปอ สีแปลก ๆ  พ่อตู้เลาเว่าให้ฟัง พะนะ


ในแง่วิถีชาวอีสาน

เมื่อฤดูแล้งย่างกราย แผ่นดินอีสาน  อาหารการกินหายาก  แหล่งน้ำประจำหมู่บ้าน เช่น ห้วยหนอง , บึง
พ่อแม่ พาลูกเต้า ไปหา “ส่อน” ( ช้อนเอา ) ตัวอ่อนแมลงเหล่านี้เป็นอาหาร ทั้ง แมงระงำ แมงก้องแขน
แมงเหนี่ยว  แกง หรือหมกใส่ใบตอง รวมกับแมลงน้ำชนิดอื่น กินเพื่อยังชีพ  อยู่อย่างพอเพียง
เอาตัวรอดจากฤดูกาล  


เมื่อถึงคราวเข้าหน้าฝน สังเกตแมลงชนิดนี้ โบยบินเป็นกลุ่ม บินวนท้องฟ้า ดาษดา  
เพิ่นว่า ไม่เกิน 2  วัน ฝนใหญ่สิตก  วางแผนหาแช่เข้าปลูก  หรือ หาป้านคันนาไว้ เก็บกักน้ำ
ยามนั่งเผ้าตากล้า อยู่เถียงนาน้อย แมงปอ บินจับปลายไม้แห้ง ริมหนอง ดวงตาเกลือกกลิ้งแนมฟ้า
ชวนให้จิตใจ ใสเย็นสงบ  ดังสายลมที่พาพัด แมงปอน้อยลอยล่อง   อนึ่ง จำนวนของแมลงปอแต่ละปี
คนอีสานโบราณใช้ทำนาย น้ำมาก หรือน้อยได้  นั่นแสดงว่า สายตาแห่งชาวอีสาน  เมื่อมองทอดสู่ทุ่ง
ย่อมเห็นแมงปอ กับยอดต้นข้าว ล้อลิ่วกับสายลม  เสมอ




ขอบคุณภาพจากเวปต่างๆ ( ตามที่ปรากฎในภาพ ) และ google
ส่วนข้อมูลดิบ หายากพอสมควร ส่วนมากเป็นรูปภาพ ครับ
อันอื่นมีแต่ภาษาฝรั่ง แปลบ่ออก  

สำหรับผู้มีข้อมูลแตกต่างจากนี้ ขอให้แจ้งเด้อครับ สิได้ปรับปรุงให้ถูกต้อง ตามชื่อเรียก

 
 
สาธุการบทความนี้ : 848 ครั้ง
ให้สาธุการบทความนี้
 
 
  30 ก.ย. 2553 เวลา 14:48:14  
        offline  ติดต่อหลังเวที  ติดต่อโดยเมล์ ตอบอ้างอิง  
 
  ปราร้านอกไห   ตอบเต็มรูปแบบ || Quick Reply  
  หน้า: 1 2 3 4 5

   

Creative Commons License
สารานุกรม แมงไม้ ใน อีสาน --- ปลาร้านอกไห (ปลาร้านอกไห --- อีสานจุฬาฯ)