ผญา คติสอนใจประจำวันที่ 29 เมษายน 2568:: อ่านผญา 
อย่าได้คึดต่อข้าวในนาของผู้อื่น คึดต่อนาขี้กระต่ายน้อย นาหม่องแห่งเฮา แปลว่า อย่าได้คาดหวังข้าวในนาของผู้อื่น ให้คาดหวังและใส่ใจนาแปลงเล็กๆของตน หมายถึง ไม่พึงอยากได้ของของผู้อื่น พึงรักใส่ใจดูแลของของตนให้ดี


  ล็อกอินเข้าระบบ  
ชื่อ ::
รหัสผ่าน::
*จำสถานะ
 
  รวมมิตรปลาร้านอกไห  
  สวัสดีครับ

     แทบจะไม่มีใครล่วงรู้อย่างลึกซึ้งเลยว่า มีเรื่องราวที่คุณไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่า ในภาคอีสานของประเทศไทยนั้น หลายอย่างมีความเป็นมาอย่างไร หลายอย่างได้เกิดขึ้นแล้วและยังคงอยู่ หลายอย่างเกิดขึ้นแล้ว และได้เลือนลางหายไปแล้วในอดีต เราและทีมงานปลาร้านอกไห จะนำพาคุณผู้ชม จูงมือเดินไปเรียนรู้วิถีชีวิตพื้นบ้านอีสานในแง่มุมต่างๆ เพื่อเปิดโลกทัศน์และมุมมองว่า ทำไมคนภาคอีสานจึงเป็นอย่างนี้ ทำไมต้องใช้ชีวิตกันอย่างนี้ และสิ่งหนึ่งที่จะลืมเสียไม่ได้ก็คือ การสร้างความเป็นไทยที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม หลากหลายทางเชื้อชาติ หลากหลายประเพณี เพื่อที่เราจะได้เรียนรู้และอยู่ได้กันอย่างสันติ อย่างสงบ ไม่มีความดูถูกเหยียดหยามคนไทยด้วยกันเอง

     ทีมงานปลาร้านอกไห ขอขอบคุณทุกเสียงทุกแรงใจที่มอบให้เรา เราสัญญาว่า เราจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะสร้างสรรค์สังคมให้จรรโลงใจ
พร้อมเสมอ
ทีมงานปลาร้านอกไห

กระทู้ธรรมดา... มีข้อความโพสต์ใหม่

  หน้า: 1 2 3 4 5 ตอบกระทู้  
  โพสต์โดย   สารานุกรม แมงไม้ ใน อีสาน  
  ปิ่นลม    คห.ที่210) แมงดา  
  เซียน

ภูมิลำเนา : สกลนคร
สมาชิกภาพ : สมาชิกชมรมฯ
เข้าร่วม : 16 มี.ค. 2553
รวมโพสต์ : 2,213
ให้สาธุการ : 180
รับสาธุการ : 5,444,730
รวม: 5,444,910 สาธุการ

 



ขอบคุณเจ้าของภาพ  ตาม URL ในภาพครับ


ชื่อภาษาไทย    แมลงดานา
ชื่อท้องถิ่น          แมงดา
วิทยาศาสตร์ Lethocerus indicus Lep.-Serv.
ชื่อสามัญ Giant water bug
ชื่อชั้น Insecta
อันดับ Hemiptera
ชื่อวงศ์ Belostomatidae

ลักษณะทางกายภาพ



แมลงดานาเป็นจำพวกมวนน้ำที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ตัวโตเต็มที่มีขนาดประมาณ 3-4 นิ้ว ตัวผู้มีขนาดเล็กกว่าตัวเมีย
มีลำตัวยาวเป็นรูปไข่ ด้านท้อง และทางด้านหลังมีลักษณะแบน หัวสีน้ำตาลแก่ปนเขียว ตาลสีดำ

จากประสบการณ์ งมแมงดา ตามท้องไร่ท้องนามา กว่า 15 หยก ๆ  16 หย่อน ๆ  ในประเทศไทย มีแมงดานาอยู่ 3 ชนิด
แมงดานา ชนิดสีน้ำตาลดำ  ชนิดขอบปีก ลาย   และแมงดาปีกทอง
ชนิดที่เราเห็นจนชินตา คือ ชนิดสีน้ำตาลดำ พวกนี้ตัวใหญ่ที่สุด  ชนิดขอบปีกลาย คือ มีลายที่ขอบของปีก ตัวเล็กที่สุด
ในจำนวนทั้งหมด  ส่วนชนิดสุดท้ายคือแมงดาปีกทอง  คือมีสีออกเหลือง ๆ ไม่มีลายที่ขา เรียกได้ว่า แมงดาปีกทอง
มีกลิ่น หอมที่สุดในบรรดาแมงดาทั้งหมด  แต่หาได้ยาก


ปากเป็นแบบเจาะดูด ลักษณะเป็นท่อยาวออกมาจากด้านหน้าของส่วนหัว และเก็บซ่อนไว้ด้านล่างของหัว
ปลายปากมีลักษณะคล้ายหนามแหลม ภาษาอีสานเรียกว่า “ไล” ใช้แทงเข้าไปในร่างกายเหยื่อแล้ว
ฉีดเอนไซม์ เยื่อเนื้อเหยื่อเพื่อดูดกินน้ำเหลวๆในตัวเหยื่อ อาหารของแมลงดานา ได้แก่ ลูกกบ ลูกอ๊อด  
หรือ ฮวก ในภาษาอีสาน ลูกอึ่งอ่าง ปู ปลา กุ้ง เขียด และแมลงน้ำต่างๆ


ภาพการกินเหยื่อของแมงดา


วงจรชีวิต
แมงดาเจริญเติบโตแบบ การลอกคราบ (moulting, ecdysis)  หรือ การเจริญเติบโตแบบไม่มีการเปลี่ยนแปลงรูปร่าง
(ametabola, non-metamorphosis)  แมงดานา มีอายุขัย ประมาณ 1.5 ปี ไม่นับพวกที่โชคร้าย เจอฤาษีใหญ่ ผู้บูชาไฟ
“ตึกแห” หรือ งมเอาไปกิน  ตัวนั้นอายุไขไม่นาน เพราะโดน “หักไล”  
เมื่อต้นฤดูฝน แมงดาที่อุ้มท้องจะตระเวนหาแหล่งน้ำที่เหมาะสมในการวางไข่  โดยจะอาศัยความมืดบินเสาะหาแหล่งน้ำ
เมื่อตาประกอบของมัน แลเห็น พื้นน้ำ “ขาวมาบ ๆ “ ด้วยสะท้อนกับแสงจันทร์  จึงพุ่งเข้าหาเต็มแรง เต็มสปีด
“ ปัง..!.”
“ เป้ง.....ปัง  ปุ๊ก  ปุก ปุก ! “   แมงนาท้องแก่ถึงกับ สลบไสล
นึกว่าพุ่งเข้าหาพื้นน้ำ ที่แท้ชนกับ หลังคา สังกะสี 5 ห่วง ของจารย์ใหญ่ ที่เพิ่งซื้อมาจากอำเภอมามุงเสร็จหมาดๆ อย่างจัง
เหตุการณ์เช่นนี้มักเกิดประจำเมื่อต้นฤดูฝน  โดยเฉพาะเมื่อเรามุงหลังคาเถียงนาใหม่ๆ สังกะสี ยังขาววับ

ครับ แมงดามักบินหาแหล่งน้ำใหม่อยู่เสมอ โดยมากจะเดินทางในเวลากลางคืน  เพราะเมื่อแสงกระทบตามัน
จะทำให้มันสับสนเรื่องทิศทาง  ปฏิกิริยาจะกระตุ้นให้มันหันหน้าเข้าหาแสงทันที



เอ้านอกเรื่องมานานแล้ว เข้าเรื่องต่อดีกว่าเนาะ

แมงดานับตั้งแต่ออกจากไข่ มันจะลอกคราบ 5 ครั้งเพื่อเติบโตเป็นตัวเต็มวัย มีรูปร่างไม่ต่างจากพ่อแม่
ตัวเมียวางไข่ในช่วงต้นของฤดูฝน วางไข่ตัวหนึ่งประมาณ 150 ฟอง  โดยจะวางไข่ตามยอดหญ้า ที่สูงพ้นน้ำ
เมื่อวางไข่เสร็จ จะผลัดกันเผ้าไข่ กับตัวผู้ที่จับคู่กัน  ใครว่าแมงดาตัวผู้ไม่มีความรับผิดชอบนั้น ผิดถนัดเลยครับ
ใช้เวลาประมาณ 2 อาทิตย์ ก็จะฟักเป็นตัว  


ภาพลูกแมงดาออกจากไข่

แมงดานาที่จะการลอกคราบเพื่อเติบโตประมาณ 5 ครั้ง คือ ครั้งแรกเมื่อมีอายุได้ 2 สัปดาห์
ครั้งที่สองหลังจากนี้ประมาณ 5-7 วัน และอีกเท่า ๆกัน สำหรับการลอกคราบครั้งที่ 3-4 และ5
ใช้เวลา ประมาณ 1 เดือน เป็นตัวโตเหมือนพ่อแม่  มีอายุตราบวายชนม์ได้ 1 ปี กว่า ๆ


ภาพการลอกคราบแต่ละครั้ง ก่อนเต็มวัย

แมงดาตัวผู้ผลิตสารที่มีกลิ่นฉุน  สำหรับมนุษย์ผู้กินแมงดาแล้ว ช่างมีกลิ่นหอมยวนใจ
สารที่มีกลิ่นน่าจับมากินนี้ เป็น สื่อในการหาคู่ของมันครับ  แมงดาตัวผู้ จะมีกลิ่น “ ฮ๊อก”
ส่วนตัวเมียไม่มี  เด้อ แมงดาในภาคอีสาน วางไข่ ปีละ 1 ครั้ง ในช่วงต้นฤดูฝน
ส่วนในภาคกลาง ชุ่มน้ำมากกว่าทางอีสาน จึงวางไข่ได้ 2 ฤดู คือ ต้น พ.ค. และ เดือน ต.ค.
ปัจจุบัน เทคโนโลยีการเกษตร ก้าวหน้า มีการ นำเอาแมงดานา มาเลี้ยงเป็นสัตว์เศรษฐกิจ
เนื่องจาก แมงดา ในธรรมชาตินั้นหายาก พอๆ กับคนที่มีใจเสียสละ



ความเกี่ยวเนื่องกับวิถีอีสาน
ในฤดูลงนา หรือ แรกแย้มแห่งวสันต์  ฝนตกมา พืชต่าง ๆ ก็งอกเงย  ในท่งนามีน้ำขัง “เอ๊าะเจ๊าะ
ตามต้นหญ้า พุ่มไม้ปริ่มน้ำตามท้องนา มักจะพบเห็น ไข่แมงดา  โผล่เหนือน้ำ
ว่าแล้ว ก็ หา “งมแมงดา” เพื่อทำแจ่วแมงดากินเป็นอาหาร  คนอีสานกับแมลง
มีความสัมพันธ์ในการบริโภคค่อนข้างมาก  และเป็นอาหารที่หาได้แทบทุกฤดู

บางรายลงทุกแบกแห “หาตึกแมงดา”  เพราะความแซบของแมงอันนี้  บ้างก็อาศัยช่วงว่าง
จาการไถนาฮุด หาส่อนแมงดา นำไปแจ่วใส่ กบเขียด แซบบ่มีแนวคือ

เมื่อตะวันลงลา ยอดไม้เย็นย่ำ ม่านเมฆด้านตะวันตก แซมสีเหลืองส้มแดง
ผักกะแยงบ่งยอดใหม่ แวมไหวในม่านน้ำ  เขียดจะนาน้อย ลอยคอ พรรณนาความเมื่อยยาก
ควันไฟโรยจากคิงไฟเถียงนาเนิ้ง  เสียงโขลกตำอาหารบ้านทุ่ง หอมกลิ่นแมงดาเจืออัสดง

เหนื่อยล้าปนหิวหอด ดังทิพรส แต้มเติม “ป่นแมงดาใส่เขียดน้อย” ให้เป็นอาหารเลิศล้ำ
จ้ำแจ่วคำได๋  วิญญาณเจือจางในสายลมร่ำทุ่ง   จนหลงลืมในจริต............

 
 
สาธุการบทความนี้ : 569 ครั้ง
ให้สาธุการบทความนี้
 
 
  13 ก.ค. 2555 เวลา 18:22:30  
        offline  ติดต่อหลังเวที  ติดต่อโดยเมล์ ตอบอ้างอิง  
 
  ปิ่นลม    คห.ที่220) ต่อนอนเว็น  
  เซียน

ภูมิลำเนา : สกลนคร
สมาชิกภาพ : สมาชิกชมรมฯ
เข้าร่วม : 16 มี.ค. 2553
รวมโพสต์ : 2,213
ให้สาธุการ : 180
รับสาธุการ : 5,444,730
รวม: 5,444,910 สาธุการ

 



ชื่อพื้นเมือง ต่อนอนเว็น  
ชื่อสามัญ wasp  hornet  ,  Paper wasp
ชื่อวิทยาศาสตร์ Vespa cincta  
ชั้น Insecta
อันดับ   Hymenoptora
วงศ์      Vespidae

พูดเรื่องต่อ ในภาคอีสาน มีต่อยู่  5 ชนิด ได้แก่
1. ต่อนอนเว็น   (ภาคกลางเรียกต่อหัวเสือ )
2. ต่อนั่ง        ( ไม่แน่ใจว่าภาคกลางเรียกว่าอะไร )
3. ต่อขวด
4. ต่อขุม   ( ภาคกลางเรียก ต่อหลุม )
5. ต่อกระดิง  ( ภาคกลางเรียก ต่อแตน )

ทุกชนิดที่กล่าวมา ล้วนกระหน่ำ “ ง่อนต่อ”   ของบ่าวปิ่นลม จนไข้ขึ้นนอนซมแทบทั้งสิ้น
ไม่ใช่สักแต่ว่าเขียนข้อความให้พี่น้องได้อ่านแล้ว ไม่ได้ศึกษาให้เกิด “ปัญญา”  เหนืออารมณ์
แมลงจำพวกต่อ จัดเป็นแมลงตัวห้ำ (Predator)  กินแมลง กินตัวอ่อนของแมลงชนิดอื่นเป็นอาหาร
เช่น หนอน เพลี้ย  ผึ้ง ตั๊กแตน และตัวเบียนพืชชนิดต่างๆ ในธรรมชาติ  นอกจากนั้นยังชอบ
กินเนื้อสัตว์ จากซากสัตว์ต่างๆ เป็นอาหาร  อาหารสุดโปรดคือ “ ซี้นแห้งตากในกระด้ง”
มิหนำซ้ำยังดูดกินน้ำหวานจากดอกไม้ได้ด้วย   สุดยอดแห่งสายพันธุ์นี้ ก็คือ ตัวต่อ เด้อพี่น้อง



ตัวต่อเป็นสัตว์มีพิษ  มีเหล็กใน  หรือภาคอีสานเรียก “ ไล”   ต่อไม่มีมือ มีแต่ขา  เวลามันทำร้าย
คนหรือสัตว์อื่นที่รบกวนรัง ภาคอีสานเรียกว่า “ การตอด”   ส่วนภาคกลางเรียกว่า “การต่อย”
การ”ตอด”ของ ตัวต่อ ถึงตายได้ เพราะมันไม่ได้มาตัวเดียว แต่มาเป็น กลุ่ม มาทั้งรังก็มี
เรียกว่า “สหไล”  ภาษาคนว่า “สหบาทา”   ภาษาอีสานว่า  “ตีนจุ้ม”
การทำร้ายมนุษย์ของตัวต่อ จะทำก็ต่อเมื่อ เราไปรบกวนรังของมันเท่านั้น  ไม่มีเหตุผลอื่น
หากไม่ไปยุ่งกับมัน มันก็ไม่ทำร้ายใคร    ชาวอีสาน เมื่อพบรักต่อ จะทำเครื่องหมายไว้
เช่นเอาผ้าผูก  ให้รู้ว่า มีรังต่อ เด็ก ๆ หรือ ใครผ่านไปมาจะได้สังเกตและหลีกเลี่ยง
.................................................................................................

วงจรชีวิต
ตัวต่อจะผสมพันธุ์ในช่วงเดือน ตุลาคม  นางพญาที่ผสมพันธุ์กับต่อเพศผู้แล้ว จะทิ้งรังไปเผชิญชะตากรรมลำพัง
  รังกลายเป็น“ฮังฮ้าง”  ตัวต่องานจะตายลงหมดรัง  นางพญาจะโบยบินหาที่หลบภัย
อาศัยในโพรงไม้ หลืบไม้ หรือ โพรงใต้ดิน ตามจอมปลวก  รอให้ผ่านพ้นฤดูหนาวไป



..................................................................................................

เมื่อฝนแรกโปรยปราย มันจะออกจากที่ซ่อนแล้วหาทำเลสร้างรัง ตามลักษณะของสายพันธุ์ดังนี้
1.ต่อนอนเว็น (ต่อหัวสือ)  จะสร้างรังตามกิ่งไม้ ต้นไม้สูงเหนือพื้น

ภาพต่อนอนเว็น ( นาพ่อใหญ่มง บ้านขะน้อย )

2.ต่อนั่ง จะสร้างรังตามพุ่มไม้ ดงไม้ ที่ลับตา ติดกับพื้นดิน ( ทำรังในพื้นที่ต่ำติดดิน )

ภาพรังต่อนั่ง จะทำรังต่ำ ๆ ตามสุมทุมพุ่มไม้ มีขนาดใหญ่ ไม่เกินบาตรพระ

3.ต่อขวด  ทำรังเล็กลักษณะเหมือน ไหน้อย หรือ ขวด

ภาพต่อขวด  ทำรังเป็นเอาะเต๊าะ

4.ต่อขุม หรือต่อหลุม จะขุดโพรงทำรังในใต้ดิน

รังต่อขุม หรือต่อหลุม  ต้องสังเกตหน้าดินผิดแผกจากปกติ

5.ต่อกระดิง  จะทำรังตามกิ่งไม้ ใต้ร่มไม้ หรือ ต้นไม้ต่างๆ เหมือนรังแตน


  ภาพรังต่อกระดิง  หรือ ต่อกระดิ่ง  ทำรังคล้ายแตน แต่รังใหญ่กว่า



..................................................................................................................................


เมื่อสร้างรังเล็ก ๆ ได้แล้ว นางพญา จะเริ่มวางไข่  ตัวต่อเป็นแมลงที่มีการเจริญเติบโตแบบ
การถอดรูปสมบูรณ์แบบ (holometabolous or complete metamorphosis)
มักพบได้ในกลุ่มแมลงที่มีวิวัฒนาการสูง วงจรชีวิตที่สำคัญรวม 4 ระยะ คือ ระยะไข่  ระยะตัวอ่อน หรือ หนอน    
ระยะดักแด้ และ ระยะตัวเต็มวัย
“ออกแม่แพร่พันธุ์ “ สร้างรังที่มีขนาดใหญ่ ตามความสมบูรณ์ของอาหารในพื้นที่  จนถึงครา ออกพรรษา
นางพญาหมดอายุขัย  รังร้าง   เข้าสู่วัฎจักรเดิม    

การเจริญเติบโตแบบ complete metamorphosis มีในแมลงชั้นสูง

ลักษณะทั่วไปของวิถีชีวิตในรัง
แมลงต่อ  ส่วนใหญ่เป็นสัตว์สังคม (Social wasp)  ส่วนชาวเราก็เป็นสัตว์สังคม (Social Network)  
ภายในฮังต่อ จะมีตัวต่อยู่ 3 วรรณะ  1.นางพญา 2. ต่องาน  3.ต่อสืบพันธุ์ ( ธิดาราณี และ ต่อเพศผู้ )
แต่ละวรรณะมีหน้าที่แตกต่างกัน   นางพญาออกไข่   ต่องานอาหาร เลี้ยงตัวอ่อน  สร้างรัง  
ต่อสืบพันธุ์ มีหน้าที่ขยายเผ่าพงษ์ต่อ
ตัวต่อ จะหวงแหนรังยิ่งกว่าชีวิต เราจะได้ยินข่าวต่อทำร้ายมนุษย์เสมอ กิตติศัพท์ ว่าต่อหัวเสือ ดุ เหลือเกิน
ในบรรดาตัวต่อ   “ต่อขุม” หรือ ต่อหลุม  มีนิสัยดุที่สุด ไล่ทำร้ายผู้รุกรานไกลกว่า 500 เมตร
รสชาติความเจ็บปวดของต่อขุมที่ “ตอด”  รวดร้าวเพียงใด ให้ไปถาม จารย์ใหญ่ เซียนดง
ที่ถูกต่อตอด ข้อหาขโมยหน่อไม้ เลยโดนเต็มๆ วิ่งป่าราบ  จื่อบ่

เกร็ดเล็กน้อย
ผิวหนังของตัวต่อ  หรือ รงควัตถุ มันคือ โซล่าเซลล์ ประจำตัวของมัน มันสามารถใช้แสงแดด เปลี่ยนเป็น
พลังงานไฟฟ้า ขับเคลื่อนให้มีกระฉับกระเฉงได้   ลายดำของต่อดักจับแสง ลายเหลืองผลิตกระแสไฟฟ้า
เออแฮะ นึกว่ามนุษย์นี่สุดยอดปัญญาแล้ว  ผลิตโซล่าเซลล์ได้   ตัวต่อผลิตมาก่อนเราซะอีก  

ประโยชน์ของต่อ
ต่อเป็นตัวห้ำ คอยกำจัดแมลงศัตรูพืช ต่างๆ  ช่วยผสมพันธุ์พืช  กำจัดซากเน่าต่างๆ ในธรรมชาติ
มันคือพระเอกในระบบนิเวศน์ ที่คอยควบคุมจำนวน แมลงอื่นๆ   นาใครมีรังต่อ รับรอง แมลงไม่ระบาด
มันคือแมลงที่คอยสร้างความสมดุลให้กับ โลกที่เราดำรงอยู่  ไม่แน่ในอนาคต หนอนหรือ เพลี้ยกระโดดระบาด
เราอาจต้องใช้รังต่อในการ ต่อสู้กับมัน    บัจจุบัน ในภาคอีสาน มีการเลี้ยงต่อไว้เพื่อการค้า
มีการจองไว้ตั้งแต่รังมันยังเล็ก ๆ  ในอัตราเหมาจ่าย รังละ  800 บาท  


ภาพฮังต่อที่เลี้ยงไว้ ในนาลุงทร  บ้านขะน้อย
................................................................................................



ตัวอ่อนของต่อ หรือทางอีสานเรียกว่า “นางต่อ” มีรสชาติอร่อย และเป็นแหล่งโปรตีน  โอเมก้า 3 ชั้นยอด
นำมาทำอาหารได้หลายเมนู เช่น  หมกต่อ  แกงต่อ  นึ่งต่อ  ก้อยต่อ เป็นต้น ล้วนเป็นของแซบอีสาน
ใครได้ชิมถือว่าเป็น “ลาภปากอันประเสริฐ”   แถม “ฮังฮ้าง” ของต่อ ยังเอาไปขายเป็นของประดับบ้านช่องได้
การเอารังต่อ ต้องเอาในเวลากลางคืนเท่านั้น  อย่าเสี่ยงเอารังต่อในเวลากลางวัน ประมาทถึงตายได้
ต้องทำโดยผู้ชำนาญการเท่านั้น    เมื่อพบรังต่อ อย่าให้ลูกหลานเข้าใกล้  คอยระวังบอกกล่าว
อย่าเอาไม้ เอาอะไรไปขว้างรังต่อ  พบเห็นให้หลีกห่าง  เท่านี้ก็จะปลอดภัย
...............................................................
ความเกี่ยวเนื่องกับวิถีชีวิตอีสาน

ภาพพ่อใหญ่มง แนมฮังต่อจะของ
ชาวอีสานมีทัศนคติที่ดี กับแมลงชนิดนี้  หาในนาใครมี ฮังต่อ ถือว่า ได้โชค   ช่วงลงนาใหม่
เด็กน้อยหรือผู้ใหญ่ที่เลี้ยง งัวควาย มักจะ หาตีตั๊กแตน แล้วเอาด้ายผูกใส่ “เจี้ย “ ( กระดาษ )
แล้วหาทำเลที่โล่งเหมาะ ๆ  นังจอบเบิ่ง ตัวต่อมาคาบเหยื่อ(ตั๊กแตน)  เมื่อตัวต่อมาคาบเอาเหยื่อ
มันจะไม่ยอมปล่อย  บินหอบเอาตั๊กแตนผูกกระดาษไปด้วย  จากนั้นก็วิ่งตามมันไป ก็จะพบรังของมัน
เมื่อพบแล้วก็จะ ทำเครื่องหมายไว้ ให้รู้ว่า รังต่ออันนี้มีคนจองเป็นเจ้าของแล้ว
หรือหาผ้ามาผูกต้นไว้เป็นเครื่องหมาย


เมื่อถึงคราออกพรรษา ก็ไป “จูดต่อ” หรือเอารังต่อ  การจูดต่อ ต้องทำในเวลากลางคืน ส่วนมากนิยมหลัง
ตะเว็นตกดินเป็นต้นไป และต้องทำโดยผู้ชำนาญการ   ก็จะได้ “ นางต่อ”  หรือ ตัวอ่อนของตัวต่อ
นำมาทำอาหารเลิศรสได้หลายอย่าง ไปถวายพระ และกินกันในครอบครัว  ถือว่าเป็นอาหารเฉลิมฉลอง
ก่อนลงมือเกี่ยว “ข้าวดอ”



ที่ชาวอีสานเรียกต่อหัวเสือ ว่า “ต่อนอนเว็น” เพราะว่า หากถูกมันตอด หรือต่อยเอา โดยเฉพาะ
โดนบริเวณ “ง่อนต่อ” หรือ ท้ายทอย  เป็นต้องไข้ขึ้น นอนซมไปหลายวัน ไม่เป็นอันทำงาน
ต้องนอนเว็น หรือ นอนกลางวันอย่างเดียวเท่านั้น  ไม่ได้หมายความว่า ต่อชนิดนี้นอนกลางวัน
บางท่านที่หาข้อมูลในอินเตอร์เน็ตอาจได้รับข้อมูล ผิด ๆ เกี่ยวกับวิถีอีสาน  ( เดี๋ยวนี้มีเยอะ )

พฤติกรรมของต่อ  ชาวอีสานรู้เรื่องดี  ต่อไม่ได้นอนกลางวันเด้อพี่น้อง มันหากินกลางวัน
ตะวันตกดินมันก็จะนอนในรัง  เมื่อตะวันโพล้เพล้ มันจะจัดหน่วยลาดตระเวนออก
ตรวจตรารัง เดินเป็นแถว รอบรัง ก่อน แล้วเข้านอน
อนึ่งหากถูกต่อตอดที่หัว  ผมจะหงอกเร็ว กว่าปกติ
  


  ศัตรูทีสำคัญของตัวต่อ คือมนุษย์ และ มดแดง
สุดท้ายคือ “แหลวห่าว” ( เหยี่ยวใหญ่ )
มดแดงสามารถรุกรานรังของมัน บุกเข้ากินตัวอ่อนมันได้ การสร้างรังของตัวต่อ
จึงเลือกต้นไม้ต้นที่ไม่มีมดแดง   ส่วน “แหลว” (เหยี่ยว)  มันจะบินโฉบเอาปีก ตีรังต่อ
ให้รังต่อ “ ขุ” ( ร่วงลง )  แล้วบินลงไปจิกกิน ตัวอ่อน ที่ร่วงมาจากรัง
พฤติกรรมเหล่านี้  หลายคนนักไม่มีโอกาสรู้  ส่วนบ่าวปิ่นลมเห็นมากับตา เพราะว่า “เลี้ยงงัว”
ไม่ได้เลี้ยงแกะ  จึงเล่าแต่ความจริง ให้รับรู้ เป็นวิทยาทาน  เอวัง ขะน้อย

 
 
สาธุการบทความนี้ : 637 ครั้ง
ให้สาธุการบทความนี้
 
 
  11 ส.ค. 2555 เวลา 12:38:29  
        offline  ติดต่อหลังเวที  ติดต่อโดยเมล์ ตอบอ้างอิง  
 
  ปิ่นลม    คห.ที่228) แมงมัน (แมงมันข้าว)  
  เซียน

ภูมิลำเนา : สกลนคร
สมาชิกภาพ : สมาชิกชมรมฯ
เข้าร่วม : 16 มี.ค. 2553
รวมโพสต์ : 2,213
ให้สาธุการ : 180
รับสาธุการ : 5,444,730
รวม: 5,444,910 สาธุการ

 


ชื่อพื้นบ้าน   แมงมันข้าว ,  แมงมัน
ชื่อสามัญ Conehead Grasshopper – Bucrates
ชื่อวิทยาศาสตร์ Neoconocephalus melanorhinus
Class   Insecta
Subclass                  Pterygota
Order Orthoptera
Family Tettigoniidae


แมลงเป็นส่วนหนึ่งในตำแหน่งห่วงโซ่อาหาร   เป็นสัตว์ที่ประสบผลสำเร็จที่สุดในการดำรงชีวิตในโลกใบนี้
เป็นสัตว์ที่มีจำนวนมากที่สุดในโลก  การที่เราละเลย ที่จะศึกษาแมลง ว่ามันไร้สาระ  คือการมองข้าม
ความสำคัญของโลก และละเลยที่จะประสบผลสู่ความเป็น  “ศิวิไล “  มันจะนำพาให้เรา ร่วงลงต่ำ
นำสู่ความสูญสิ้นแห่งชาติ ไม่ช้าก็เร็ว  ไม่ในแง่มิติใดก็มิติหนึ่ง

……………………………………………………………………………………………………………….
ลักษณะทางกายภาพ

แมงมันข้าว  ภาษาอีสานเรียก “ แมงมัน”   เป็นแมลงจำพวกตั๊กแตนหนวดยาว  พบได้ตามเขตร้อน
ส่วนใหญ่มีสองสี  สีเขียว และสีน้ำตาล ( สีฟางแห้ง )  ลำตัวยาว 3 ซม.  ปีกยาว 5 ซม.  ปากสีชมพู
และปีกชั้นในมีสีชมพู สวยงาม   ส่วนพันธุ์สีฟางแห้ง จะมีสีเดียวตลอดลำตัว พรางตากับหญ้าแห้งได้สุดยอด
หนวดของ “แมงมัน” ยาวเท่ากับความยาวของลำตัว  มีขาคู่หลังที่เรียวงาม


แมงมัน อีกแบบหนึ่ง มีสีคล้ายๆ ฟางแห้งหญ้าแห้ง

แมลงชนิดนี้ บางคนเห็นอาจสับสนกัน ระหว่าง “แมงมัน” กับ” แมงจิงโจ้ “ เพราะสายพันธุ์ใกล้เคียง
ให้ดูที่ก้นเป็นหลัก  “แมงมัน”  มีก้นสั้น ไม่มี รยางค์ ต่อท้าย   ส่วน แมงจิงโจ้ ( กัดเสื้อผ้า ) จะมีรยางค์
ที่ก้นต่อท้าย เป็นลักษณะแหลม ๆ



อันนี้ภาพ แมงจิงโจ้เด้อ บ่แม่นแมงมัน เบิ่งก้นเอา บ่คือกัน

วงจรชีวิต
แมงมัน หรือ แมงมันข้าว  จะวางไข่ในในดินชุ่มชื้น ช่วงเดือน มิถุนายน  ในที่ขณะตั๊กแตนสายพันธุ์อื่นส่วนใหญ่
วางไข่ห้วงเดือน พ.ค.   แมงมันเป็นแมลงที่มีการเจริญเติบโตแบบ
เมทามอร์โฟซิสแบบค่อยเป็นค่อยไป (gradual metamorphosis )


ภาพวงจรชีวิต แมงมัน

ตัวอ่อนที่ฟักออกจากไข่มีลักษณะคล้ายตัวเต็มวัย แต่ยังมีอวัยวะบางอย่างไม่ครบ เช่น ไม่มีปีก
แล้วจะค่อยๆ  เมื่อมีการลอกคราบ จึงจะมีปีกและจะเจริญเติบโตต่อไปเรื่อยๆ จนมีลักษณะเหมือนตัวเต็มวัย
มันลอกคราบ 4 ครั้ง  เพื่อเข้าสู่ตัวโตเต็มวัย  จากนั้นจะกินอาหารจากท่อน้ำเลี้ยงของพืช  สะสมไขมันในท้อง
เพื่อต่อสู้กับฤดูแล้ง ฤดูหนาว ของภาคอีสาน  เมื่อถึงเดือน ต.ค- พ.ย. ของทุกปี ท้องของแมลงชนิดนี้
จะเต็มไปด้วยโปรตีน และไขมัน    รสชาติอร่อย นำมาเป็นอาหารได้   ชาวอีสานจึงเรียกมันว่า “ แมงมัน”  
เฉลี่ยอายุตั้งแต่ออกจากไข่ จนถึงวันลาโลก มีอายุ 1 ปี


ขอบคุณเจ้าของภาพ ( ปรากฏในภาพครับ )

ความสำคัญต่อระบบนิเวศน์
ในแต่ละชีวิตบนโลกใบนี้ ล้วนมีความเกี่ยวพันกัน ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง  ช่องว่างที่ทำให้แต่ละชีวิต ห่างกัน
เป็นรอยแยก และลดจำนวนลงอย่างฮวบฮาบ  คือ พลังคาร์บอน โลกต้องใช้เวลานานล้านปี ในการเยียวยาตัวเอง
ในการเก็บซ่อนคาร์บอน มิให้โผล่ขึ้นมาทำลายสิ่งมีชีวิต  และสร้างทุกสิ่งสรรพให้เอื้ออำนวยต่อพืชและสัตว์
พืชและสัตว์ทุกชนิดล้วนเกี่ยวพันกัน เป็นโซ่แห่ง “เป็นพลังชีพ” ให้โลกนี้ยังแตกต่าง
จากดาวเคราะห์ดวงอื่น

แมงมัน อยู่ในตำแหน่ง เอื้ออำนวยต่อต่อ สัตว์ปีก เช่นนกกินแมลง สายพันธุ์ท้องถิ่นต่างๆ และเป็นอาหารของ
สัตว์เลื้อยคลานขนาดเล็ก  รวมถึงมนุษย์  แมงมัน ไม่ใช่ตั๊กแตนที่เป็นศัตรูพืช แต่มันคือ ส่วนเติมเต็มให้พืชสมบูรณ์
แมงมัน เป็นแมลงที่ไวต่อสารเคมี  และความสมบูรณ์ ของแร่ธาตุในดิน เนื่องจากตัวอ่อนของมัน กินแร่ธาตุบางอย่าง
ในดินเพื่อเติบโตมากิน หญ้าปล้อง และ หญ้าวัชพืช  ก่อนจะโตเต็มวัย มาดูดน้ำเลี้ยงในต้นพืชแก่ เมล็ดสุกแล้ว
อนึ่ง แมงมัน  เป็นอาหารสุดโปรด ของ นกคุ่ม เช่น นกคุ่มอืด และ นกคุ่มหลี่

..................................................................

ภาพจากอินเตอร์เน็ต

ความเกี่ยวพันกับวิถีชีวิตอีสาน
ในช่วงเก็บเกี่ยวข้าว  ในนาข้าวที่สุกปลั่ง ท่งรวงทองพี่น้องเอย   เมื่อชาวนาอีสานเกี่ยวข้าวไป ก็จะพบ
แมงมัน ตามกอข้าว รีบจับเอามา ยัดด้ามเกี่ยว(เคียว) เอาไว้ เพื่อ จี่ให้ลูกเต้ากินเป็นอาหารเสริม
บางคนจับได้ก็โหม่มใส่ปาก กินดิบโลด  แซบมีโอเมก้า 3 น้ำมันตับปลาชิดซ้าย แก้โรค ไขข้อ
เจ็บแข้งเจ็บขาเจ็บแอว   ปีไหนมีแมงมันในนาหลาย ถือว่าข้าวปีนั้นได้ผลผลิตดี เต็มเม็ดเต็มหน่วย


ภาพจากอินเตอร์เน็ต

เมื่อลงมือเกี่ยวข้าว ชาวนาแต่ก่อนมักจะ “ปักซิง” หรือตาข่ายดักนกไว้  ตาม “แจไฮ่นา”
( มุมของตะบิ้งนา)  แล้วลงมือเกี่ยวข้าว  นกคุ่มอืด และ นกคุ่มหลี่ ( นกคุ่มบ่อืด ) จะลงมาหากินแมงมัน
ตามไฮ่นา เมื่อกอข้าวถูกเกี่ยวออก มันจะถอยร่นหนี ไป “ถูกซิง”   ดิ้นแด่ว ๆ  นั้นคืออาหารแลงอันโอชะ
ปัจจุบัน ทั้งนกคุ่ม และ แมงมัน หดหายไปจาก ระบบนิเวศน์   เนื่องจากสาเหตุหลายประการ





เสียดาย เฮาบ่อาจรักษามันไว้เป็นของขวัญระบบนิเวศน์ เกษตรแบบองค์รวม ให้ลุกหลาน
มุ่งหวังการเกษตรแบบอุตสาหกรรม นำคาร์บอน   ฟ้อนใส่ปุ๋ยเคมี
จึงไม่แปลกที่ปัจจุบัน ลูกหลานเฮา ไม่ค่อยซึมซับวิถี หันหน้าหนีท่งนา  แนมหาแต่  เซเว่น
น้อยคนที่จะ “ปรีชา” มองเห็นอักษรที่ แมงมัน จารึกไว้ในมิติอัสดง


ขอบคุณ เคดิตภาพจาก อินเตอร์เน็ตครับ

 
 
สาธุการบทความนี้ : 698 ครั้ง
ให้สาธุการบทความนี้
 
 
  16 ส.ค. 2555 เวลา 14:50:44  
        offline  ติดต่อหลังเวที  ติดต่อโดยเมล์ ตอบอ้างอิง  
 
  ปิ่นลม    คห.ที่239) แมงง่วง (นักร้องอัสดง)  
  เซียน

ภูมิลำเนา : สกลนคร
สมาชิกภาพ : สมาชิกชมรมฯ
เข้าร่วม : 16 มี.ค. 2553
รวมโพสต์ : 2,213
ให้สาธุการ : 180
รับสาธุการ : 5,444,730
รวม: 5,444,910 สาธุการ

 

เครดิตตามเจ้าของภาพ ที่ปรากฏ ครับ

ชื่อพื้นเมือง  แมงง่วง  แมงน้ำฝน
ชื่อภาษาไทย      ตั๊กแตนใบโศก  ตั๊กแตนหมู  ตั๊กแตนใบไม้เทียมยักษ์
ชื่อสามัญ  giant leaf katydid
ชื่อวิทยาศาสตร์  Pseudophyllus titan
Class    Insecta
Oder   Orthoptera
family  Tettigonioidea

หากเราเป็นลูกอีสาน หรือชอบศึกษาศิลปวัฒนธรรม ต่างๆ ของชาวอีสาน  เราจะได้ยิน ได้ฟัง
กวีเก่า ๆ หรือ หมอลำกลอน หมอลำหมู่  เกี่ยวกับแมลงชนิดนี้อยู่มากโข   บางคนเคยได้ยิน
แต่ไม่เคยเห็นตัวตนของมัน เลย   มื้อนี้วันนี้ บ่าวปิ่นลม จึงขอเสนอ “แมงง่วง”  ให้ทุกท่านได้
อิ่มเอมกับ แมลงแห่งอีสานชนิดหาได้ชมยากอีกชนิดหนึ่ง



“แมงง่วง”  นักวิทยาศาสตร์ จัดเข้าในกลุ่ม แมลงในวงศ์ ตั๊กแตนหนวดยาว
เป็นตั๊กแตนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และเป็นหนึ่งในตั๊กแตนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกด้วย
นั่นคือ มันมีขนาดลำตัว ยาวได้ถึง 15 ซม. วงปีกกว้าง 20 ซม.
เพศผู้สามารถทำเสียงได้ดังโหยหวนมากในเวลากลางคืน หรือ พลบค่ำ
โดยมีอวัยวะในการทำเสียง ที่โคนปีกคู่หน้าซึ่งใช้ในการเสียดสีกันจนเกิดเป็น เสียงดัง


เครดิตภาพ จาก www.malaeng.com

รูปร่างของปีกคล้ายใบไม้เขียว เพื่อการพรางตาศัตรู  ขาหลังมีขนาดยาวและมีปลายหนาม
แมงอันนี้ นี้มีนิสัยการกินอาหารในเวลากลางคืน ส่วนในเวลากลางวันมักจะเกาะนิ่งๆ แทบไม่เคลื่อนที่
และไม่กินอาหารเลย   อาหารของมันคือ ใบอ่อน และเปลือกอ่อนของพืช ในตระกูล ต้นไทร
หรือ “หมากไฮ” ในภาษาอีสาน  พบว่าที่มันโปรดปรานมากที่สุด คือ ต้นมะเดื่อ
จึงไม่แปลกที่ ปัจจุบันหาเบิ่ง แมงอันนี้ได้ยากยิ่ง เพราะ ต้นบักเดื่อ หรือมะเดื่อตามธรรมชาติ
แทบจะกู้เงิน IMF  มาจ้างเบิ่ง

วงจรชีวิต
แมงง่วง ผสมพันธุ์ ช่วงเดือน มิ.ย.  คือ ฤดุฝน  ตัวผู้จะส่งเสียงร้องโหยหวนจากยอดไม้
ในเวลาพลบค่ำ หรือตอนหัวค่ำ ช่วงเวลาตั้งแต่ 1800 – 2100 น. ตัวเมียจะบินตามหาตัวผู้
และจะทำการผสมพันธุ์กัน  จากนั้นจะวางไข่ตามรากไม้  และในดินใกล้แหล่งอาหาร
ไข่ของมันสามารถ ทนทานอยู่ได้ ถึง 3 ปี  เพื่อรอสภาวะเหมาะสม เช่น ฝนฟ้าและ ภูมิอากาศ
อุณหภูมิ ที่เหมาะแก่การฟักออกมาเป็นตัว  ระยะเวลาจากตัวอ่อน ลอกคาบ 3 ครั้ง
เพื่อเป็นตัวโตเต็มวัย ใช้เวลา 3 เดือน


ภาพจากอินเตอร์เน็ต

ตัวอ่อนระยะแรก ปีกยังไม่งอก มันมีหนวดยาว และลู่ไปด้านหน้าคู่กัน มองคล้ายๆว่า
มันมี “งวง”  ที่คือที่มาของชื่อมัน แมงงวง  และ เป็น “แมงง่วง “ในที่สุด
เมื่อลอกคราบจะเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก เมื่อโตเต็มวัย จะหากินบนยอดไม้
หรือตามต้นไม้สูง ไม่ลงมาเหยียบพื้นอีกเลย


ภาพเปรียบเทียบ ตัวอ่อน และ ตัวเต็มวัย



ขอบคุณเจ้าของภาพครับ

ความเกี่ยวพันกับวิถีอีสาน

เมื่อฤดูทำนา ชาวนาเริ่ม “ดำนา”  ฝนเริ่มตก ตอนตะเว็นพลบค่ำ เขียดจะนา
ฮ้องอ๊อบแอ๊บ  ตามราวป่า และต้นไม้สูง แมงง่วง ฮ้องเสียงดัง ก้องกังวาน
คืนนี้ฝนตกแน่นอน พ่อใหญ่สี บอกหลานน้อย


พวกพุสาวซ่ำน้อย ย้านเสียงแมงง่วง บ่กล้าไปตักน้ำส่าง  ต้องหาหมู่ไปนำ
แม่บอกลูกน้อย ว่าแมงง่วงมันฮ้องหากินตับเด็กน้อยขี้ดื้อ  
หากบ่กินข้าว  แมงง่วงสิมาเอาไป

แมงง่วง บ่งบอกถึงระบบนิเวศน์ที่เหมาะสม แก่การดำรงชีพของมนุษย์เกษตรกรรม
ชาวอีสานโบราณใช้ทำนายการตกของฝนในฤดูกาล  นั่นแสดงว่าชาวอีสาน
แต่กาลก่อน เป็นยอดนักธรรมชาติวิทยา สังเกตและสนใจธรรมชาติ
ช่วยกลมกล่อมจิตใจให้ ละมุนละไม ซื่อตรง และโอบอ้อม แบ่งปัน
“นั่นคือของขวัญล้ำค่า ที่บรรพบุรุษเฮาทิ้งไว้ให้ลูกหลานสืบต่อ”

จึงอยากให้หน่ออ่อน ต้นกล้า ของชาวอีสานรุ่นใหม่ ได้สนใจธรรมชาติท้องถิ่น
สนใจวัฒนธรรมตนเอง  สืบต่อสิ่งดีงาม นำพาสังคมสงบสุข


  ภาพจากอินเตอร์เน็ต

การขาดหายไปของพันธุ์ไม้ท้องถิ่น สัตว์ท้องถิ่น  ย่อมกระเทือนต่อบริบทของมนุษย์
ที่อาศัย ณ ถิ่นนั้น  เมื่อแมลง และพืชพันธุ์ถิ่นหายไป  ความเป็นมนุษย์ ในถิ่นนั้นย่อมลดลง
คือที่มาของ อาชญากรรม  คดโกง รังแก ข่มเหง ภัยธรรมชาติ และความถืออัตตาสูงลิบ
หากเราไม่บริหารการดำรงอยู่ของธรรมชาติ ให้สมดุลกับจำนวนประชากร
ยากยิ่งที่ประเทศจะก้าวข้ามไปเป็น เมือง ศิวิไล
เป็นได้แค่เพียง เหยื่อ ของระบบกลไกโลกิยะ ที่พร้อมหมุนไปสู่ความพินาศ ตามไตรลักษณ์


ขอบคุณเจ้าของภาพครับ

 
 
สาธุการบทความนี้ : 1001 ครั้ง
ให้สาธุการบทความนี้
 
 
  31 ส.ค. 2555 เวลา 16:35:02  
        offline  ติดต่อหลังเวที  ติดต่อโดยเมล์ ตอบอ้างอิง  
 
  ปิ่นลม    คห.ที่256) แมงตด  
  เซียน

ภูมิลำเนา : สกลนคร
สมาชิกภาพ : สมาชิกชมรมฯ
เข้าร่วม : 16 มี.ค. 2553
รวมโพสต์ : 2,213
ให้สาธุการ : 180
รับสาธุการ : 5,444,730
รวม: 5,444,910 สาธุการ

 



ชื่อพื้นบ้าน :  แมงตด   ( อีสาน )  แมงแต๊บ  ( เหนือ ) แมงขี้ตด ( ใต้ )
ชื่อสามัญ  Bombardier beetles
ชื่อวิทยาศาสตร์  Pherosophus
Phylum: Arthropoda
Class: Insecta
Order: Coleoptera
Family: Carabidae

ข้อมูลทั่วไป  
กล่าวกันว่า แมงตด คือ เจ้าแห่งนักรบเคมีชีวะ  ด้วยความสามารถเฉพาะตัว  พ่นตดเป็น "ไฟเย็น"ได้
ส่วนมนุษย์ผู้ขี้คร้าน หรือ "ผู้นอนเว็น"  ก็ให้ระวัง " ไฟเย็น"   สะเดิดโด่ง  เพราะเพื่อนๆ แกล้งเอา
โดยจำเพาะ ญาคูต้องแล่ง  ฉันเพลแล้ว เรียนคาถา " กรนิน " ( อ่านว่า กอละนิน กินแล้วนอน )
มักสิถืกจัวน้อย "วางไฟเย็น" เป็นประจำ  อันนี้กะหยอกกันเล่นดอกครับ   สุมื้อนี้ เพิ่นเป็นฮอด ผอ.แล้ว
ไผสิกล้า แม่นบ่ครับ ท่าน ผอ.พระยืน 4


ภาพแสดงโครงสร้างทางกายภาพ แมงตด

ลักษณะทั่วไป
แมงตด  เป็นแมลงจำพวกเดียวกันกับ "ด้วงดิน " เป็นแมลงปีกแข็ง มีลำตัวยาว 17-21 มม. กว้าง 6.5-8 มม
ในโลกนี้นี้ ว่ากันว่ามีกว่า 500 ชนิด แตกต่างกันไป แต่ชนิดที่พบในภาคอีสาน และในประเทศไทย  มีอยู่ 2 ชนิด คือ Pherosophus javanus และ Pherosophus occipitalis  แม้เป็นแมลงขนาดเล็ก  แต่ก็วิวัฒนาการ
ตัวเองให้มีพิษสง ไว้สำหรับป้องกันตัว โดยสร้างสารกรดพิษ " ตดไฟเย็น" ที่มีส่วนประกอบของ
ไฮโดรควินโนน และ ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ เย็นแต่เผาไหม้ พุพอง ลวกมดแดง ตายเป็นทาง พะนะ
เวลามันปล่อยแก๊สพิษ จะมีเสียงดังคล้าย "ตด"  จึงได้ชื่อว่า แมงตด   ตัวผู้มีจะมีเกล็ดแข็งใต้ท้อง 8 ปล้อง
ส่วนตัวเมียมี 7 ปล้อง



ชีวิตความเป็นอยู่
แมลงตดอาศัยอยู่บนบกและบางครั้งพบตามริมแอ่งน้ำเล็ก ๆ อาศัยจับแมลงและสัตว์เล็ก ๆ อื่น
กินโดยไม่เลือก ภาษาอีสานว่า " กินบ่ฮิ" ได้แก่ ไส้เดือน หนอนของแมลงต่าง ๆ รวมไปถึง เพลี้ย
ส่วน "ขี้เพี้ย" ให้ผู้บ่าวพวมแวง กิน พะนะ

ส่วนมากวางไข่เป็นกลุ่มอยู่ใน โพรงใต้ดิน กองหิน หรือใต้เปลือกไม้ หรือขอนที่ตายที่ล้ม
โดยทั่วไปจะเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ไม่ถึง 10 ฟอง
ตัวหนอนมีลำตัวยาวค่อนไปทางแบนและแข็งตลอดหัว กรามโค้งยาว และปลายแหลมยื่น
ตัวหนอนค่อนข้างว่องไว
  เมื่อตัวยังเล็กมักจะกินไข่ของแมลงต่าง ๆ ที่วางอยู่ใต้ดิน โตขึ้นกินอาหารแบบเดียวกับตัวเต็มวัย
เมื่อโตเต็มที่จะเปลี่ยนเป็นดักแด้ในดิน แล้วลอกคราบออกมาเป็น แมงตด พวกนี้อยู่ตาม"เขิบไม้"
ปกติแล้ว ชอบอยู่ตามพื้นที่ชื้น  ศัตรูตามธรรมชาติของมัน คือ "ขี่โก๊ะ"  แมงเงา  ขี่เข็บ  และบึ้ง
นกกดแดง นกกะลาง  ไก่ป่า พร้อมกับ แมงเลี้ยงน้อง



ความเกี่ยวพันกับวิถีชีวิตชาวอีสาน
แมงตด มักแพร่กระจายพันธุ์ในช่วงฤดูฝน  มักจะเห็นมันไต่ เกะกะตามเดิ่นดอน เพราะมันเป็นสัตว์
ที่หากินอยู่กับพื้นดิน อยู่กับพื้นที่ชุมชื้น เวลาไปเลี้ยงวัวควาย มักจะเจอบ่อย คนอีสานโบราณนิยม
ปลูกเรือนให้สูง เพื่อให้หลีกเลี่ยงกับการทักทาย สัตว์มีพิษต่างๆ รวมทั้ง  แมงตดอันนี้ด้วย
เพราะหากลูกหลานไปพบเจอจับมันเล่น เพราะมีสีสันสวยงาม เมื่อโดนมันตดใส่ เกิดอาการแสบร้อน
ทำให้เด็กน้อยเกิดอาการ "ลัง"  ( งอแง )  แม้แต่ผู้ใหญ่หากถูกมันพ่นกรดใส่ อาจลุกลามเป็นแผลเป็นได้

ในสมัยปัจจุบัน การนิยมปลูกเรือนสูง ถูกปรับเปลี่ยนตามกาลสมัย  หันมานิยมปลูกเรือนทรงต่ำ
หรือที่ทางอีสานเรียกว่า " เฮือนต่ำ "  แป๋ ขี้ดิน  จึงควรระวังสัตว์มีพิษเหล่านี้เอาไว้บ้าง
หากถูกพิษของมันให้ หาสบู่ล้างน้ำออก พร้อมท่องคาถา " โอม สะหัมติด " รับรองหายเป็นปลิดทิ้ง
เอวังด้วยประการฉะนี้  สะหละหล่ะ




ข้อมูลอ้างอิงจาก
http://en.wikipedia.org/wiki/Bombardier_beetle

 
 
สาธุการบทความนี้ : 406 ครั้ง
ให้สาธุการบทความนี้
 
 
  01 ก.พ. 2556 เวลา 11:40:50  
        offline  ติดต่อหลังเวที  ติดต่อโดยเมล์ ตอบอ้างอิง  
 
  ปิ่นลม    คห.ที่260) แมงภู่  
  เซียน

ภูมิลำเนา : สกลนคร
สมาชิกภาพ : สมาชิกชมรมฯ
เข้าร่วม : 16 มี.ค. 2553
รวมโพสต์ : 2,213
ให้สาธุการ : 180
รับสาธุการ : 5,444,730
รวม: 5,444,910 สาธุการ

 

ขอบคุณเจ้าของภาพครับ

ชื่อพื้นบ้าน         แมงภู่
ชื่อภาษาไทย       แมลงภู่ภมร
ชื่อสามัญ          carpenter  bees
ชื่อ วิทยาศาสตร์  Xylocopa varipuncta
Phylum           Arthropoda
Subphylum     Hexapoda
Class              Insecta
Inflaclass        Neoptera
Superorder     Endopterygota
Order            Hymenoptera
Suborder      Aprocrita
Family          Xylocopidae

หึย..ประสาแมงภู่ ซือ ๆพะนะลังคนอ่านแล้วกะดาย   แมงภู่กะสิว่า หึย..ประสาคนซือ ๆ
เพราะฉะนั้น ด้วยเหตุและผลเดียวกัน  เราจึงควรศึกษาทำความเข้าใจ จะได้รู้ว่าแมลงชนิดนี้
มีความเกี่ยวพันกับ วิถีมนุษย์ วิถีธรรมชาติอย่างไร  อย่าให้แมงภู่ว่าให้เฮาได้
ว่าเกิดเป็นคนซือ ๆ

กล่าวนำ
ครั้งเมื่อ ขงเบ้ง ผู้ฉลาดบันลือโลกใกล้สิ้นลมเพราะสังขาร ในขณะที่ทำการศึกกับ สุมาอี้ ในดินแดนวุ่ยก๊ก
ได้สั่งเสียกับ เกียงอุย ศิษย์เอกไว้ว่า  เมื่อตัวเราตาย จงหาหม้อมา จับแมงภู่ลงไปขังไว้ 100 ตัว
แล้วมัดศพเราในท่านั่งอ่านตำราบนหม้อนั้น จัดขบวนทัพเหมือนเดินทัพอย่างใจเย็น อย่าหวาดหวั่น
แล้วค่อยๆ ถอยทัพกลับเมืองไป  เมื่อทำดังนี้แล้ว สุมาอี้จะไม่กล้าไล่ติดตาม เหตุเพราะคิดว่าเรายังมีชีวิตอยู่
นั่นคือ สามก๊ก  สุดยอดตำนานของจีน  บงเบ้งยังต้องพึ่งแมงภู่  เขามิได้ดูแคลนแมลงชนิดนี้เลย

หันกลับมาดู "เซียงเมี่ยง" เจ้าปัญญา วรรณกรรมอีสาน  เจ้าพญานั่งเมือง ใส่ยาพิษที่ปรุงเอง ให้เขากิน
ก่อนเขาตายได้สั่งให้เมีย ทำแบบเดียวเหมือนกับขงเบ้ง  คือนั่งบนหม้อที่ขังแมงภู่ไว้หลายร้อยตัว
ทำท่าอ่านหนังสือ  เสนาอำมาตย์ที่มาสังเกตการณ์ กลับไปรายงานพระยาว่า
" บักเซียงเมี่ยง ยังบ่ตาย  นั่งอ่านหนังสือเสย พะนะ"
เจ้าพญาเกิดแคลงใจในยาพิษ จึงทดลองดื่ม ตกตายไปตามกัน

พระสุตตันตปิฎก เล่ม 19 ขุททกนิกาย ชาดก ภาค 1 - หน้าที่ 225
อัฏฐสัททชาดก  ว่าด้วยนิพพาน
[1131] ดูก่อน มหาบพิตร คติของกระพี้ไม้นั้นมีอยู่เพียงใด กระพี้ไม้ทั้งหมด แมลงภู่เจาะกินสิ้นแล้วเพียงนั้น แมลงภู่หมดอาหารแล้ว ย่อมไม่ยินดี ในไม้แก่น


ท่านคงรู้จัก สุนทรภู่  กวีเอกของชาวไทย  เดิมมีนาว่า "ภู่" หมายถึง แมลงภู่ ซึ่งแม่ท่านตั้งชื่อให้
เพราะตอนอุ้มท้อง แพ้ท้อง อยากกิน " บีแมงภู่ " ( ดีแมงภู่ )

สำหรับ อีเกียแดง , จารย์ใหญ่ และอ้ายมังกร ล้วนเคยกิน "บีแมงภู่ " เนื่องจากมีรสหอมหวาน
สำหรับ อ้ายต้องแล่ง จี่กินเบิ๊ดทั้งตัวเลย  จึงมีมันสมองเป็นเลิศ  สอบเป็น ผอ.ได้ ประการฉะนี้แล



ลักษณะทางกายภาพ
แมลงภู่ เป็นแมลงขนาดใหญ่   ลำตัวอ้วนป้อม    มักมีสีดำและมีปีกสีเข้มบางชนิด    
มีสีเขียว  แกมน้ำเงิน  เป็นมันวาว   มีขนละเอียดสีเหลือง  สีเทาหรือ สีน้ำตาล  
เป็นกระจุกที่บริเวณอกด้านบน ของส่วนท้องเกลี้ยงเป็นมันไม่มีขน  ลำตัวยาวประมาณ 2.0 - 3.5 ซม.
บางชนิดมีขนาดเล็กเพียง 6 มม.   ปัจจุบันพบแล้ว ประมาณ  500  ชนิดทั่วโลก  
ปากเป็นแบบกัดเลีย(chewing – lapping type)
  มีฟันกรามขนาดใหญ่เป็นแมลงวงศ์เดียวกันกับผึ้ง




นิสัยและความเป็นอยู่
แมงภู่เจริญเป็นตัวเต็มวัยในช่วงฤดูหนาว  จะพบแมลงภู่บินตอมดอกไม้ ในเดือนเมษายน  -  พฤษภาคม เพื่อหาน้ำหวานเป็นอาหาร  มีเสียงดังคล้ายผึ้งหึ่ง ๆ น่ากลัว  
แมลงภู่เพศผู้จะไม่มีเหล็กใน มีเพียงแมลงภู่เพศเมีย เท่านั้น  ที่มีเหล็กใน สามารถต่อยให้ได้รับบาดเจ็บได้
    
โดยปกติแล้วแมลงภู่จะไม่กลัวคนหรือสัตว์อื่นๆ     มักจะบินวนเวียนไปมารอบๆ    
แต่ถ้าหากเรา ไม่ทำอันตรายกับแมลงภู่แล้ว  มันจะไม่ทำอันตรายเรา



การหาอาหาร
แมงภู่กินน้ำหวานจากดอกไม้ ดอกพืชต่างๆ  กินเกสรดอกไม้  ดอกที่ชื่นขอบที่สุดของมันคือ
ดอกฟักทอง หรือ "ดอกบักอึ" ในภาษาอีสาน  รวมทั้งดอกบวบ  ดอกไม้เถาอื่นๆ


การสืบพันธุ์
แมงภู่จะผสมพันธุ์ในเดือน พฤษภาคม  ตัวเมียจะเจาะเนื้อไม้ให้เป็นรูในเนื้อไม้ที่แห้งตาย    
โดยการใช้ฟันกรามกัดแทะ เนื้อไม้  เพื่อทำรังจึงถูกเรียกว่า Carpenter  bees
ซึ่งแต่ละรังจะมี ทางเข้าออกได้เพียงทางเดียว ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.5 นิ้ว
ที่ชื่นชอบที่สุดของมันคือ ไม้ไผ่ และไม้ที่มีน้ำมันหอม เช่น ไม้กุง (พลวง)   ไม้ชาด ไม้สะแบง
เมือทำรังเสร็จ ตัวเมียจะปล่อย สารฟีโรโมน หรือ กลิ่นสืบพันธุ์  เมื่อตัวผู้ได้กลิ่น ก็จะมารุมตอม
และผสมพันธุ์กัน



จากนั้นมันจะวางไข่ในโพรงไม้ ที่ ใช้เป็นที่สำหรับอนุบาลตัวหนอน เก็บอาหาร(น้ำหวานและเกสร)  
  ไว้ใช้เลี้ยงตัวอ่อน



ในบางครั้ง แมงภู่ตัวเมียจะอยู่กันเป็นกลุ่มในโพรงเดียวกัน และมีตัวหนึ่งที่ทำหน้าที่ป้องกันรัง
ส่วนตัวผู้นั้นจะทำรังอยู่เพียงลำพังตัวเดียว
มันวางไข่ตัวละประมาณ  5- 10 ฟอง ใช้เวลา 4 เดือนในการฟูมฟัก จนลูกเติบโตเต็มวัย
จากนั้นมันก็จะย้ายรังใหม่ ทั้งหมดก็จะออกจากรัง ย้ายที่อยู่ไปเรื่อย  โดยเฉลี่ยแล้ว
มันมีอายุได้ 2 ปี


การเจริญเติบโต
แมงภู่ มีการเจริญเติบโต แบบการเปลี่ยนแปลงรูปร่างแบบสมบูรณ์ (complete metamorphosis)
นั่นคือครบทั้ง 4 ระยะคือ  ไข่  ตัวหนอน  ดักแด้ และตัวเต็มวัย



ประโยชน์ และหน้าที่บทบาทของมันตามธรรมชาติ
แมงภู่ช่วยในการผสมพันธุ์ให้พืช ผสมเกสร ช่วยให้ไม้ผลออกผลดี หากปราศจากพวกมัน
เราคงไม่ได้กินผลไม้  พืชก็ไม่อาจกระจายพันธุ์  หลายคนคิดว่า เมื่อเราปลูกไม้ผล
ปลูกไว้มันก็ติดผลเอง อันนี้ต้องคิดใหม่  
ผลหมากรากไม้เหล่านั้นต้องอาศัยแมลงสายพันธุ์นี้ จึงสามารถออกผลได้  
แมลงภู่กับดอกไม้ เป็นของคู่โลก คู่กันตามธรรมชาติ ประดุจชายคู่หญิง ในโลกา



ความเกี่ยวพันกับวิถีอีสาน
ในยุคสมัยที่ความพอเพียงยังอยู่ในวิถีของคนส่วนใหญ่ของประเทศ  ตามไร่นาต่างๆ
ของชาวนาอีสาน ต้องปลูก ฟัก แฟง หรือ บักโต่น   บักอึ (ฟักทอง) ไว้ตามไร่สวนเสมอ
ด้านข้างของเถียงนา จึงเต็มไปด้วยพืชชนิดนี้  ค้างบักโต่น  ค้างบักฟัก ค้างบักบวบ
เวลามันออกดอก ทั้งสีเหลือง สีขาวประดับประดาเถียงนา



คราลมพัดเอื่อยๆ หอมรวยริน  มากับเสียงหึ่งๆ ของแมลงชนิดนี้  ตอมดอกนั้นนั้นดอกนี้ที
บางครั้งก็เผ้าดูมันเจาะรู  บางครั้งก็เอามันมา กินบี เล่นๆ  เป็นที่สนุก  
บางรูมันแออัดกันอยู่  หาไม้มาแหย่ให้มันโกรธ แล้วพากันวิ่งหนี เฮฮา นั่นคือประสาเด็กน้อย




ขอบคุณ ข้อมูลจาก www.ca.uky.edu  www.malaeg.com

 
 
สาธุการบทความนี้ : 925 ครั้ง
ให้สาธุการบทความนี้
 
 
  05 ก.พ. 2556 เวลา 12:42:26  
        offline  ติดต่อหลังเวที  ติดต่อโดยเมล์ ตอบอ้างอิง  
 
  ปิ่นลม    คห.ที่274) แมงซ้าง  
  เซียน

ภูมิลำเนา : สกลนคร
สมาชิกภาพ : สมาชิกชมรมฯ
เข้าร่วม : 16 มี.ค. 2553
รวมโพสต์ : 2,213
ให้สาธุการ : 180
รับสาธุการ : 5,444,730
รวม: 5,444,910 สาธุการ

 


ชื่อพื้นบ้าน แมงซ้าง  แมงค่อม
ชื่อภาษาไทย  แมลงค่อมทอง
ชื่อสามัญ  Green weevil
วิทยาศาสตร์ Hypomeces  squamosus  Fab

Class           Insecta
Inflaclass     Neoptera
Superorder   Endopterygota
Order          Coleoptera
Suborder     Polyphaga
Family        Curculionidae
Genus         Hypomeces



ลักษณะทางกายภาพ
เป็นด้วงงวงสีสวย และเป็นสีเหลือง ลักษณะเป็นฝุ่น ตามตัวมีสีต่าง ๆ เช่น น้ำตาลปนเขียว
เขียวปนสีทอง เขียวปนทองแดงและสีเทาดำ มีผู้พบว่าแมลงค่อมทองมีสีดำ
เนื่องจากสีชั้นนอกสุดเป็นสีเขียว สีเหลือง หลุดออกง่าย เป็นขุยปีกชั้นในสุดเป็นสีดำ
ส่วนหัวยื่นยาวออกไปเพียงเล็กน้อย ลำตัวยาว 1 2 ซม.

แมงซ้างเป็นด้วงชนิดขนาดกลาง  สามารถพบเห็นได้ทั่วทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
จนถึงญี่ปุ่นและจีน    ปากมีลักษณะเป็นงวงยาวแบบ กัดกิน  
ส่วนหัวสั้นทู่ยื่นตรงไม่งุ้มเข้าใต้อก    มีหนวดแบบข้อศอก (geniculate)  
โดยปล้องปลายหนวดจะโป่งออก  ตั้งอยู่ที่กึ่งกลางของงวงปาก

ลำตัวมีหลายสีขึ้นอยู่กับ สภาพแวดล้อมเมื่อเป็นตัวเต็มวัย  
พบได้ตลอดทั้งปีและทุกภาคของประเทศไทย ช่วงที่พบเห็นได้มาก หากเป็นพื้นที่ภาคกลาง
ภาคเหนือคือช่วง กุมภาพันธ์ - มีนาคม ส่วนทางภาคอีสานจะเป็นช่วง มิถุนายน - สิงหาคม


การดำรงชีวิต
          ตัวหนอนของแมงซ้าง กัดกินรากของพืชหลายชนิดเป็นอาหาร  เช่น  ข้าว  ข้าวโพด  ยาสูบ  ฝ้าย
และพืชตระกูลส้ม  ตัวเต็มวัยกัดกินตั้งเเต่เนื้อเยื่อเจริญ  เช่น รากอ่อน  ตากิ่ง  ตาดอก เป็นต้น
ต้นอ่อน  ใบอ่อน จนถึงใบแก่ของต้นไม้   เช่น มะม่วง ลำไย เงาะ ส้มเขียวหวาน  ส้มโอ หม่อน สามสา ต้นคูน
สนประดิพัทธ์ ยูคาลิปตัส กะเลา ต้นสัก ต้นดูก ต้นก่อ มะค่าแต้ กะทกรก เหียง ต้นถ่อน กระถินณรงค์ ประดู่แดง ขี้เหล็ก
และพันธุ์ไม้ท้องถิ่นอื่น ๆ

ตัวเต็มวัยชอบอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม  เป็นปุ้ม ชอบอาศัยอยู่ตามใต้ใบไม้บนต้นไม้ เคลื่อนที่ช้า  ไม่ว่องไว  
เมื่อถูกรบกวนจะทิ้งตัวลงพื้น   โดยดึงส่วนขาและหนวด เข้าห่อตัวและหยุดเคลื่อนไหว  
มักพบเป็นคู่ ๆ หรือรวมกลุ่มอยู่บนต้นไม้ใบไม้


วงจรชีวิตและสืบพันธุ์
ในเดือน ธันวาคม-มีนาคม   เป็นระยะที่แมลงผสมพันธุ์และวางไข่    วางไข่ในดิน
ตัวเมีย 1 ตัว วางไข่ได้ 40 - 131 ฟอง โดยวางไข่ 5 - 10 ครั้ง
แต่ละครั้งห่างกัน 3 - 4 วัน จำนวนไข่ที่วางแต่ละครั้ง 3 - 27 ฟอง ระยะไข่ 7 - 8 วัน  
เมื่อไข่ฟักเป็นตัวหนอนจะกัดกินรากพืชในดิน  
หนอนมีการลอกคราบ 4 - 5 ครั้ง  
ระยะหนอน 22 - 23 วัน  จากนั้นจะเข้าดักแด้ในดิน ระยะดักแด้ 10 - 15 วัน
เพศผู้มีขนาดเล็กกว่าเพศเมีย อายุตัวเต็มวัย เพศผู้ 8 เดือน เพศเมีย 12 เดือน    
  

ประโยชน์และความสำพันธ์ในธรรมชาติ
แมงซ้าง สามารถปรับตัวได้ดี กินใบไม้ได้หลายชนิด  รักษาสมดุลไม่ให้พืชชนิดใดชนิดหนึ่ง
ได้เปรียบ ครอบครองเป็นพืชเดี่ยว มันเป็นอาหารของ นกหลากชนิด รวมทั้งสัตว์ปีกที่หากินตามพื้นดิน
เป็นอาหารของ กิ้งก่า จิ้งเหลน กบ ต่อ แตน รวมทั้งค้างคาวบางชนิดด้วย
เหนือสิ่งอื่นใด มันอุทิศตัวให้เป็นอาหารให้ มนุษย์ผู้สันโดษ

เมื่อเราค้นหาข้อมูลของ แมงซ้าง หรือ แมลงค่อมทอง จะเห็นว่า "มันน่ากลัว"
เพราะเห็นว่าเป็นศัตรูพืช  ทำลายล้างทำให้เสียหาย และจะเห็นสูตรสารเคมีต่างๆ
เพื่อใช้ฉีดพ่นกำจัด โฆษณาขาย เคมีบันเทิง ไปในตัว



มนุษย์นี่เองเป็นตัวการที่ทำให้มันเกิดการ แพร่ระบาด ทำลายนิเวศน์พืชท้องถิ่น
ปลูกพืชเชิงเดี่ยวโดยไม่นึกถึง สายใยธรรมชาติ  ในพื้นที่ ที่มีพืชท้องถิ่นอยู่หลากกลาย
จะไม่พบการระบาดของมันทำลายพืชใดเลย  

เมื่อมันไม่มีอันใดกิน  มันก็ต้องกินพืชสวน ลองปลูกพืชท้องถิ่นอย่างอื่น
เช่น ขี้เหล็ก มะตูม  มะขาม  หรืออะไรก็ได้ที่เป็นพืชตามท้องถิ่นตน เสริมเป็นแนว
แมลงชนิดนี้ก็จะไม่ระบาด ทำลายพืชสวนให้เสียหาย ไม่ต้องใช้เคมีให้เกิดพิษภัย


แมงซ้าง นำมาเป็นอาหารได้  ลองรับประทานดู  รับรองลืมฟิซซ่าไปเลย



ความเกี่ยวพันกับวิถีชีวิตชาวอีสาน

เดิมทีชาวอีสานเป็นคนละเมียดละไม มีองค์ความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติมาก
ช่างสังเกตธรรมชาติ และเรียนรู้จากมัน นำมาใช้ประโยชน์ เช่นดูพฤติกรรมสัตว์
เพื่อทำนายฟ้าฝน ดูพืชติดดอกออกผล ก็คาดเดาสภาพอากาศได้ เพื่อจะวางแผนเพาะปลูก
ดูท้องฟ้า ดูก้อนเมฆ ดูแสงแรกอรุณ ดูแสงอัสดง ก็รู้สภาวะฟ้าฝน

คนอีสานโบราณมีความรู้เรื่อง สัตว์และพืชในท้องถิ่นตนมาก รู้จักใช้ประโยชน์
แม้แต่ "แมงซ้าง" ก็เอามันมาเป็นอาหารได้  หาเก็บเอาแมลงชนิดนี้มาคั่วกิน
เป็นอาหารเสริมตามฤดูกาล ไม่ต้องซื้อหาเสียเงินทอง

เวลาลัดเลาะเลี้ยงวัวควาย เด็กน้อยชาวอีสาน ชอบเลาะหา "แมงซ้าง" ที่กำลังหลบแดด
ใต้ใบไม้มากิน บางคนกินดิบเลย แค่เด็ดปีกออก "โม่ม" ใส่ปาก แซบเข้าท่า
ไม่แพ้ของขบเคี้ยวชนิดอื่น บางคนก็เก็บสะสมในถุง เพื่อเก็บเอาไปคั่วที่บ้านกินเป็นอาหาร


ขอบคุณ ศิลปินผู้แต้มฮูป   สุนัขในภาพ คือหมาบักแดงขะน้อยฮ้าย

ระหว่างที่เลาะหาแมงซ้าง พบมุมสงบใต้ต้นไม้เย็นๆ อาศัยงีบหลับสบายอารมณ์
ปีไหนที่พบแมงซ้างเยอะ ตามต้นขี้เหล็ก ต้นส้มเสี่ยว ต้นถ่อน ปีนั้น "ข้าวงัน" จะได้ผลดี
ฝนจะไม่ทิ้งช่วง  

ปีไหนพบเยอะตามต้นมะม่วง ต้นบักค้อ ต้นส้มมอ ปีนั้นน้ำจะมากหลากท่วม
ปีไหนพบตามไม้เถาเยอะ ๆ ปีนั้นจะแล้ง ข้าวกล้าไม่งาม
หากเราละเลย สายใยธรรมชาติ มีแต่จะทำให้เราไม่เหลือบแล "คุณค่าของกันและกัน"


-ขอบคุณ ข้อมูล และภาพบางส่วนจาก
http://www.biogang.net
http://www.malaeng.com/
http://www.photonovice.com/
http://www.oknation.net/
http://coursewares.mju.ac.th:81/e-learning47/HO416/html/pa0089.htm
http://noknoi.com/newboard.php?b=2964

 
 
สาธุการบทความนี้ : 593 ครั้ง
ให้สาธุการบทความนี้
 
 
  17 ก.พ. 2556 เวลา 12:29:21  
        offline  ติดต่อหลังเวที  ติดต่อโดยเมล์ ตอบอ้างอิง  
 
  ปิ่นลม    คห.ที่279) เหลียก  
  เซียน

ภูมิลำเนา : สกลนคร
สมาชิกภาพ : สมาชิกชมรมฯ
เข้าร่วม : 16 มี.ค. 2553
รวมโพสต์ : 2,213
ให้สาธุการ : 180
รับสาธุการ : 5,444,730
รวม: 5,444,910 สาธุการ

 


ชื่อพื้นบ้าน       เหลียก
ชื่อสามัญ buffalo-flies
ชื่อวิทยาศาสตร์ Tabanus sulcifrons
อันดับ       Diptera
อันดับย่อย   Brachycera
วงศ์ Tabanidae

" ควายแม่ค้ำเล็มหญ้า พลางแสวเหลียกไปด้วย "  วลีที่ปรากฏใน นิยายชีวิตอีสาน
เรื่อง โสกฮัง - ตาดไฮบางคนไม่เข้าใจ อะไรเกาะฮึ  ?  "แสวเหลียก"  


เหลียก เป็นแมลงดูดเลือด ลักษณะคล้ายแมลงวัน แต่ตัวใหญ่กว่ามาก
แมลงใน วงศ์ ( family ) นี้พบได้ทั่วโลก มีการพบแล้วประมาณ 4000 species ส่วนมากแล้ว
พบในทวีป แอฟริกา  ประเทศขี้บ่ก่น ทางการแพทย์ถือว่าเป็น สัตว์พาหะนำโรคชนิดหนึ่ง

สำหรับในภาคอีสาน คำว่า "เหลียก" เป็นคำนาม หมายถึง แมงอันนี้ ดูดกินเลือดวัวเลือดควาย
หากใช้เป็นคำกิริยา หมายถึงอาการ ชำเรืองมองแบบเจาะจงโจ่งแจ้ง  หรือ ตาถลึง เพราะกลัว
หากชำเรืองมองแบบไม่โจ่งแจ้ง เรียกว่า " สิ่งตาน้อย"  พะนะ



ลักษณะทั่วไป
คล้ายกันกับ แมลงวัน แต่ตัวใหญ่กว่า บินเสียงดัง  ตัวมีมี งวงเจาะ ไว้แทรกรูขน
เพื่อดูดกินเลือด ตัวผู้ส่วนที่ไม่จำเป็นต้องใช้ของปากลดรูป  จึงไม่มี งวงเจาะ
ตัวเหลียก ที่หาดูดเลือดนั้นเป็นตัวเมีย ที่เข้าสู่ระยะขยายพันธุ์
มันต้องกินเลือดเพื่อที่จะวางไข่ได้
ตัวเมียส่วนมากกินเลือดสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ
หรือสัตว์เลื้อยคลาน สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง อื่นๆ

เรียกได้ว่า เหลียกเป็นแมลงรำคาญ  ส่วนคนอีสาน ชอบลำเดิน ลำล่อง ลำเพลิน ลำแพน
เป็นแมลงที่คอยดูดกินเลือดสัตว์เลี้ยง เช่น วัวควาย ซ้างม้า  ส่วนใหญ่ระบาดในหน้าฝน


ที่อยู่อาศัย
เมื่อครั้งวัยเยาว์ แมลงจำพวกนี้ อยู่ตามใต้ดินชื้น ๆ  ดินใต้พุ่มไม้ใบหญ้า  
เมื่อฝนตกในฤดูฝนแรก  จะออกมาจากใต้ดินเมื่อเป็นตัวเต็มวัย
จะอาศัยหลบตาม ใต้ใบไม้หนาๆ เกาะใบไม้นอนหลับพักผ่อน
เช้ามาก็ออกหากินน้ำหวานจากดอกไม้ ดอกหญ้า และหาสืบพันธ์


ภาพเหลียก กำลังกินแมงเม่า ไม่ต้องหลกขน

การสืบพันธุ์
ผสมพันธุ์กันในห้วง เดือน พ.ค. - มิ.ย ของทุกปี
วางไข่บนก้อนหิน หรือ ใบพืช ที่ใกล้น้ำ ตามรากไม้ เป็นต้น
วางไข่คราละ  1000 - 500 ฟอง เมื่อฟัก ตัวอ่อนจะตกลงในน้ำหรือดินที่ชื้นๆ
กินสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง เช่น หอยทาก ไส้เดือน และ แมลงอื่นเป็นอาหาร


วงจรชีวิต
• ไข่จะฟักภายในเวลา 5 – 7 วัน เพื่อเป็นตัวอ่อน จากนั้นจะพัฒนาเป็น ตัวอ่อนเต็มวัย
ภายใน  2 เดือน และอยู่ใต้ดิน ช่วง เดือน ก.ค. -ต.ค.
• เหลียกจะอาศัยอยู่ ในช่วงฤดูหนาวโดยจะเข้าดักแด้ ห้วง พ.ย. - มี.ค.
• ในช่วงฤดูใบไม้ผลิ และช่วงต้นของฤดูร้อน ( เม.ย.-พ.ค.) จะลอกคราบเป็นตัวเหลียก
• วงจรชีวิตของตัวโตเต็มวัย ( ตัวเหลียก ) อยู่ที่ 30 ถึง 60 วัน
จากนั้นมันก็ลาโลก โดยไม่เคยทำบุญใส่บาตร รักษาศีล  ฟังเทศน์ อนิจจา




บทบาทและหน้าที่ตามธรรมชาติ
ตัวเหลียก ตัวอ่อนเมื่ออยู่ใต้ดิน จะเป็นอาหารของสัตว์อื่น เช่น ไก่ป่า ไก่บ้าน
นกที่หากินตามพื้น  กบ เขียด และแมลงตัวห้ำชนิดอื่น ๆ  
เมื่อโตมา มันจะทำหน้าที่ผสมเกสรให้พืช
หน้าที่อย่างหนึ่ง คือสร้างความรำคาญให้สัตว์ ให้ต้องคิดค้นวิวัฒนาการ
เพื่อป้องกันเช่น ต้องมีหางยาวขนเป็นพวง เพื่อเป็นเครื่องมือขับไล่  
หรือ ควายก็ต้อง แช่ปลัก ทางอีสานเรียกว่า "ควายนอนบวก"



ความเกี่ยวพันกับวิถีอีสาน
ครั้งฝนตกใหม่ ๆ น้ำในนาเริ่มขัง ถึงเวลาที่ชาวอีสานต้อง "ลงนา"
ไล่ควายวัวไปนา ย่อมหลีกหนีแมลงเหล่านี้ไม่พ้น  
บางครั้งก็สงสารงัวน้อย โดนเจาะจนพรุน
บางครา "สูน" หรือ โกรธ จับตัวมันมา เอาก้านดอกหญ้าเจ้าชู้
เจาะเสียบก้นมัน แล้วปล่อยให้บิน อิหลักอิเหลื่อ

กองไฟที่สุมฟืนตามคอก เพื่อขับไล่แมลงดูดเลือด ให้ห่างไกล
แสงวาบ แวมไหว ในทิวทุ่งเมื่อราตรี  เสียงสะบัด กะโหล่ง
ของควายบักตู้ ที่ "แสวเหลียก" (สะบัดหัวกระทบสีข้าง เพื่อไล่แมลง)
กล่อมเกลาเถียงนาน้อยให้คลายเหงา
มันคือสุขและทุกข์ ที่เจือปนกันในรสชาติชีวิต เพราะเราคือมนุษยชน

ขอขอบคุณ ภาพประกอบทุกภาพ จาก GOOGLE

 
 
สาธุการบทความนี้ : 508 ครั้ง
ให้สาธุการบทความนี้
 
 
  16 พ.ค. 2556 เวลา 11:34:46  
        offline  ติดต่อหลังเวที  ติดต่อโดยเมล์ ตอบอ้างอิง  
 
  ปิ่นลม    คห.ที่283) แมงบ้งหาน  
  เซียน

ภูมิลำเนา : สกลนคร
สมาชิกภาพ : สมาชิกชมรมฯ
เข้าร่วม : 16 มี.ค. 2553
รวมโพสต์ : 2,213
ให้สาธุการ : 180
รับสาธุการ : 5,444,730
รวม: 5,444,910 สาธุการ

 



ชื่อพื้นบ้าน แมงบ้งหาน
ชื่อสามัญ   Nettle Caterpillar
ชื่อวิทยาศาสตร์  Parasa lepida
Order: Lepidoptera
Family: Limacodidae
Genus: Parasa
Species: P. lepida

แมงบ้งหาน เป็นหนอนตัวอ่อนของผีเสื้อกลางคืน
ในตระกูล Limacodidae ซึ่งอยู่ในระยะ Larva
หรือ ระยะการเป็นตัวบุ้ง  ก่อนจะกลายเป็นดักแด้ และลอกคราบกลายเป็นผีเสื้อกลางคืน

เพราะฉะนั้นตัวเต็มวัยซึ่งเป็นแมลงผีเสื้อกลางคืน เฮาส่วนมากจะไม่ค่อยพบเห็นเท่าไหร่
แต่ส่วนใหญ่พี่น้องชาวอีสาน จะพบเจอ " แมงบ้งหาน" ตามที่ กระผมนำเสนอนี้เป็นส่วนมาก



ลักษณะทั่วไป
บ้งหาน (อีสาน) บุ้งร่าน (กลาง)  เป็นตัวหนอนสีเขียวแพรวพราว มีขนาดตั้งแต่  2 ซม. - 5 ซม.
มีขนแข็งสีเขียวสด มีจุดม่วงแดง หรือน้ำเงินสลับอยู่บนตัว  มีลายสีขาวหม่นพาดยาว
พบได้ทั่วไปในประเทศไทย และเขตอบอุ่น
ขนของมันมีพิษร้าย โดนทิ่มเข้า เป็นต้องปวดแสบร้อน กล้ามเนื้อเกร็ง เป็นผื่นแดง น้ำตาเล็ด วิ่งพล่าน
บางรายมีอาการแพ้พิษของ แมงบ้งหาน จนกล้ามเนื้อเป็นอัมพาตไปชั่วขณะ
ในบรรดาแมงบ้ง หรือตัวบุ้ง ชนิดนี้หละครับ โหดสุด โดนเข้าหละก็  "บัดกับหม่อง" แน่นอน





ที่อยู่อาศัยในธรรมชาติ
ตอนโตเต็มวัย มันเป็นแมลงที่ปราศจากพิษภัยใด ๆ  รักสงบ และหากินน้ำหวานจากดอกไม้
ในเวลากลางคืน แต่ตอนเป็นตัวหนอนนี่ร้ายกาจ มักหลบตามใบไม้ พุ่มไม้ อาศัยกินใบไม้
ตามป่าเป็นอาหาร ที่อยู่ทั่วไปคือ ป่าโปร่ง ป่าแดง ป่าเต็งรัง และป่าเบญจพรรณ

วงจรชีวิต
ผสมพันธุ์กันในช่วง เดือน พ.ค. - มิ.ย. ในช่วงที่เป็น "แมงกะเบี้ย" (ผีเสื้อ) และจะวางไข่ใต้ใบไม้
หรือตามเปลือกไม้ ลักษณะเป็นกระเปราะกลม ๆ ขนาด 5 - 10  มม.


ระยะไข่ 3-5 วัน จะฟักตัวเป็นหนอน ออกมาในวันแรก ๆ จะอยู่กันเป็นกลุ่มๆ
หลังจาก  1 อาทิตย์ พอมีขนปกป้องตัวแล้ว มันจะแยกกันอยู่ตามใบไม้ เพื่อหากิน
ระยะหนอนมี 7 วัย เพศเมียมักมี 8 วัย ระยะอยู่ในสภาพตัวหนอน  ราว 35-42 วัน
จากนั้นจะเข้าสู่ระยะดักแด้  สายพันธุ์ที่พบบ่อย ช่วงนี้จะมีขนยาวปกคลุม ยึดเกาะกับใบไม้
มักจะยึดอยู่ตามใต้ใบไม้ หลบอยู่นิ่งๆ เพื่อรอลอกคราบ เป็นผีเสื้อ


ภาพแมงบ้งหาน ( ชนิดตัวใหญ่ ) ระยะดักแด้  
ช่วงนี้อันตรายสุด ๆ อย่าได้กลายใกล้  เด็กน้อยขี้ดื้อ พึงระวัง


ภาพ กระเปาะดักแด้ แมงบ้งหาน อีกประเภท ในระยะดักแด้


อีกสายพันธุ์หนึ่งที่ตัวเล็กกว่า ดักแด้มีปลอกดักแด้คล้ายฝาชีครึ่งวงกลมครอบอยู่
มีขนาดยาว 15 มิลลิเมตร ระยะดักแด้ 21-24 วัน  จึงทะลุปลอกออกมาเป็นตัวเต็มวัย
ตัวเต็มวัยมีปีกกว้าง 30-32 มิลลิเมตร ตลอดวงจรชีวิตใช้เวลา 65-70 วัน


อันนี้ภาพ กระเปาะที่มันทิ้งร้าง เพราะลอกคราบออกมาหมดแล้ว


นี่ไงตัวเต็มวัยของแมลงชนิดนี้ เด้อพี่น้อง  เคยเห็นบ่


บทบาทตามหน้าที่ในธรรมชาติ
ช่วยผสมพันธุ์เกสร ให้กับพืชที่ออกดอกกลางคืน
เป็นอาหารของ ค้างคาว , บ่าง  นก กิ้งก่า
และเป็นอาหารของแตนเบียนหลายชนิด ในระบบนิเวศน์


กับเกี่ยวพันกับวิถีชีวิตอีสาน
เมื่อเราเข้าป่าหาเห็ด หรือเลี้ยงวัวควายตามป่าโปร่ง บางครั้งไม่ระวัง
เดินไปโดนตัวของมันเข้า เป็นอันน้ำตาแตก ร้องฟูมฟาย วิ่งหนีตาเหลือก
เมื่อวิ่งไปหาผู้เฒ่าผู้แก่ ก็จะถ่มน้ำลายเป่าพร้อมเล่าคาถา
" อมสะหม สะหี นกขี้ถี่ ถืดถึ่ง เพี้ยง !  เซา ๆ "
พร้อมบอกกล่าวสั่งสอนว่า
"ไปไสมาไส ให้ระวังดังนี้  1.คน 2. อุบัติเหตุ 3. สัตว์ฮ้าย "
คนไร้ศีลธรรม จริยธรรมนั้น ร้ายยิ่งกว่าสัตว์ใด ๆ ในโลกา
หล่าเอ้ย.....    

ขอบพระคุณภาพประกอบ จาก อินเตอร์เน็ต

 
 
สาธุการบทความนี้ : 940 ครั้ง
ให้สาธุการบทความนี้
 
 
  17 พ.ค. 2556 เวลา 15:44:38  
        offline  ติดต่อหลังเวที  ติดต่อโดยเมล์ ตอบอ้างอิง  
 
  ปิ่นลม    คห.ที่289) แมงสะดิ้ง  
  เซียน

ภูมิลำเนา : สกลนคร
สมาชิกภาพ : สมาชิกชมรมฯ
เข้าร่วม : 16 มี.ค. 2553
รวมโพสต์ : 2,213
ให้สาธุการ : 180
รับสาธุการ : 5,444,730
รวม: 5,444,910 สาธุการ

 



ชื่อพื้นบ้าน   แมงสะดิ้ง  
ชื่อภาษาไทย  จิ้งหรีดทองแดงลาย  จิ้งหรีดขาว
ชื่อวิทยาศาสตร์  Acheta domesticus
Class   :  Insecta
Order   :  Orthoptera
Family :   Gryllidae
Species:  Acheta
Sub  Species  :   A. demestica

มีหลายท่านเข้าใจผิด คิดว่าแมงสะดิ้ง คือ แมงจินาย ( จิ๊ดนาย)   ความจริงแล้ว แมงสะดิ้ง( อีสาน)
เป็นคนละอย่างคนละสายพันพันธุ์กับ แมงจิดนาย ขอรับกะผม  บางท่านหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ต
อาจได้ข้อมูลที่ผิด ๆไป  เพราะความไม่รู้ "สัมพันธภาพวิถี" ทำให้การถ่ายทอดความรู้ โค้งงอ
เดิมที ชาวอีสานเรียกมันมาตั้งแต่โบราณว่า" จิดลออี๊ด..!  " เพิ่งมาเปลี่ยนชื่อเป็น "สะดิ้ง ! "
เมื่อ 40 ปี มานี้  ในที่สุดลูกหลานอีสานก็ลืมชื่อนั้น เรียกแมงสะดิ้ง มาจนถึงปัจจุบัน
"สะดิ้ง" เป็น ภาษาภาคกลาง  แปลว่า ดัดจริตเกินงาม  ระเริงเกินวัย  ไม่ใช่ภาษาอีสาน

คำว่า "สะดิ้ง" เริ่มมีมาใช้ ในอีสาน เมื่อมีการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานให้แก่ประชาชน
จัดตั้งโรงเรียน เริ่มมีการเรียนภาษาไทย ภาษาราชการ หรือโรงเรียนวัดในสมัยก่อน ( เรียนกันตามวัด )
ชาวอีสานจึงเข้าใจในบริบทคำว่าสะดิ้ง และดัดแปลงมันมาเปรียบเคียงกิริยา
จนตั้งชื่อให้แมลงชนิดนี้ เป็น "แมงสะดิ้ง"  ในที่สุด เพราะตัวเล็ก ๆ ก็อุ้มท้องป่อง มีไข่มีลูกเสียแล้ว

จากคำว่า "สะดิ้ง" ที่มีพูดกันจนเป็น แฟชั่น  จากนั้นก็กำเนิดคำว่า "ซิ่ง" ขึ้นมาเมื่อ 30 ปีที่แล้ว
แผลงมาจากคำว่า "Sing " ในภาษาอังกฤษ  รู้จักกันในนาม ยี่ห้อเครื่องสำอาง ทาหน้า
ยี่ห้อ  Sing Sing ทาแล้วจะผุดผ่องยองใย ประดุจสาวแรกแย้ม  จึงเกิดคำว่า โสด ซิง ซิง ขึ้นมา



"ซิ่ง ในความหมายที่พูด เปรียบกิริยาที่ออกแนวกวนๆ ไม่เหมือนใคร  จึงกำเนิดเป็น "หมอลำซิ่ง"
ที่มีลีลาการ ร้องรำไม่เหมือนหมอลำตาม ครรลองอดีต ซึ่งสมัยนั้นถือว่าแปลก
เพราะฉะนั้น คำว่า ซิ่ง ของคนสมัยนั้นคือ แปลก กวนๆ ไม่เหมือนใคร นั่นเอง
มาในยุคปัจจุบัน คำว่า "ซิ่ง" ความเข้าใจในบริบทของคน คือ "เหยียบไม่ยั้ง  บิดจนสุด เร็วทะลุนรก
นั่นคือบริบทของสังคม ที่มีผลต่อภาษาและวิถีชีวิต ( สมัยก่อนไม่มีรถ เดี๋ยวนี้มีรถ )

แมงสะดิ้ง ก็เช่นกัน เมื่อใช้เรียก"  จิดลออี๊ด " จนติดปากเป็น"แฟชั่น จึงกลายเป็น แมงสะดิ้ง
มาจวบทุกวันนี้ แล


แมงสะดิ้ง คือแมลงในวงศ์เดียวกับจิ้งหรีด  แต่เป็นสายพันธุ์หนึ่ง ที่มีขนาดเล็ก
ถิ่นกำเนิด คือแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ได้กระจายพันธุ์เข้าสู่ยุโรป เมื่อประมาณ ศตวรรษที่ 18  ทางเรือสำเภาค้าขาย
โดยติดไปกับกระถางต้นไม้ ที่ชาวเรือนำไปด้วย มันแพร่พันธุ์เข้าสู่อเมริกา
และขยายพันธุ์เข้าสู่ประเทศ แคนาดา  พะนะ
ลักษณะทั่วไป
มีขนาดลำตัวกว้าง 0.4 ซม.  ยาว 2 ซม.  สีน้ำตาลอ่อน ปีกนอกมีลายเหลืองอ่อนเป็นทางยาว
ขนานไปกับลำตัว ปีกไม่ค่อยยาว เคลื่อนไหวไม่รวดเร็วเหมือนจิ้งหรีดชนิดอื่น
มีอัตราการขายพันธุ์ที่สูง อัตราการเลี้ยงรอดก็สูงกว่าแมลงชนิดเดียวกัน




วงจรชีวิต



การเจริญเติบโต มี 3 ระยะ ดังนี้
1. ระยะไข่
   มีสีขาวครีม วางไข่ในดินร่วน มีลักษณะ เรียวคล้ายเม็ดข้าวสาร ยาว 1.5 มม.
ตัวเมียตัวหนึ่ง วางไข่คราละประมาณ  500 ฟอง  มันจะวางไข่ 4 รุ่น ห่างกัน
คราวละ 10 - 15 วัน  ใช้เวลาฟัก 11 วัน เพื่อเป็นตัวอ่อน


  ภาพในระยะไข่
2. ระยะตัวอ่อน
  ลักษณะคล้ายมด ตัวขาวๆใสๆ  ไม่มีปีก  เมื่อฟักเป็นตัว มันจะพยามไปหาพื้นที่เบียกชื้น
เพื่อดื่มน้ำ และจะไม่กินอย่างอื่นไปอีก  2- 3 วัน จากนั้นค่อยหากินใบพืชใบหญ้าต่างๆ
เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ  มันต้องลอกคราบ ถึง 8 ครั้ง ถึงจะเป็นตัวเต็มวัย  ระยะนี้ มีอายุ 35- 40 วัน






3. ระยะเต็มวัย
  จะมีอวัยวะครบเหมือนดั่งพ่อแม่  เพศผู้จะมีปีกคู่หน้าย่น (หลังไม่เรียบ ) ส่วนตัวเมีย
จะมีปีกเรียบ มีอวัยวะยาวๆ ต่อท่อออกมาจากก้นเพื่อวางไข่ในดินได้ ตัวผู้มีส่วนของ
อวัยวะสั่นให้เกิดเสียง เพื่อสื่อสารหาคู่ ช่วงนี้ของชีวิตมีอายุ 60 วัน




การดำรงชีวิต
อาหารของมันคือ ใบไม้ใบหญ้า มันกินอาหารได้ลายหลาก  นับตั้งแต่ มอส ตระใคร่น้ำ
ไปจนถึงพืชใบกว้าง และต้นหญ้า  ไม่ชอบแดดร้อน มักจะหลบตามพุ่มไม้ ร่มไม้ พื้นดินตื้นๆ
ตามขอนไม้ผุ ใต้ซอกหิน ซอกดิน เพื่อหลบร้อน ในขณะที่ ตะวันบ่ายคล้อย และช่วงเช้าๆ
มันถึงจะออกมาในที่โล่งบ้าง  ส่วนใหญ่หากินในตอนกลางคืน



  ภาพ ต้นตำแยแมว หรือ หญ้าให้แมว ( อีสาน )

อาหารสุดโปรดคือ หญ้าตำแยแมว หรือหญ้าให้แมว(อีสาน)  และหญ้าแห้วหมู เป็นต้น
เมื่อถึงวัยสืบพันธุ์ ตัวผู้จะหาทำเลเหมาะ ๆ ร้องเพลง อี๊ด ๆ ( บางคนฟังเป็น กรี๊ก ) ยาวๆ
เรียกสาวๆ มาใกล้เพื่อขยายพงศ์วงศ์วาน

บทบาทและความสำคัญในธรรมชาติ
แมงสะดิ้ง ตามธรรมชาติแล้ว เป็นอาหารของ กบ เขียด ปู ปลา สัตว์เลื้อยคลาน เช่น
ขี้กะปอม ขี้โกะ  เป็นอาหารของสัตว์ปีก นกกินแมลง และ เป็นอาหารของไก่บ้าน ไก่ป่า
รวมทั้งมนุษย์เราด้วย นับว่าเกิดมาเพื่อปรุงแต่งโลก เลี้ยงโลกให้วิวัฒนาการหลากหลาย
โลกนั้นขาดมนุษย์ ก็ไม่เดือดร้อน  แต่หากขาดแมลงแล้วหละก็  เป็นอันวินาศทันที



ความเกี่ยวพันกับวิถีชาวอีสาน
แมงสะดิ้ง พบได้ตาม คันแทนา ริมห้วยหนอง ในป่า หรือตามเดิ่นดอนทั่วไป
ชาวอีสานจึงนำมาเป็นอาหารรสแซบอีกเมนูหนึ่ง  แหล่งโปรตีนที่หาได้แทบทุกฤดู
บางครั้งก็นำเอาแมงสะดิ้งเป็นเหยื่อในการ ตกปลา เช่น ปลาค่อ ปลาโด ปลาค้าว
ชาวอีสาน มีรสนิยมในการกินแมลง แซงหน้าของคนในภูมิภาคนี้ โดดเด่น
นั่นคือการเล็งเห็น คุณค่าของสิ่งเล็ก ๆ น้อย  ไม่ทอดทิ้งเปล่าประโยชน์



ปัจจุบัน แมงสะดิ้งกลายเป็นแมลงเศรษฐกิจ สามารถนำมาเพาะเลี้ยงขายเป็นอาชีพได้
ต้องยกย่อง นักวิชาการเกษตร และเกษตรกรผู้หัวหลักแหลม  ของไทยแลนด์แสตนอัพ
นั่นคือแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน นำธรรมชาติมาประยุกต์ เพื่อสร้างมูลค่า

อย่างไรก็ตาม แมงสะดิ้งตามธรรมชาติบ้านเรา ลดจำนวนลงมาก เพราะมัน
เปราะบางต่อสารเคมีต่างๆ ที่เราใช้ถ่ายเทลงสู่ระบบนิเวศน์  ส่งผลต่อทุกชีวิตเป็นลูกโซ่  
แมงสะดิ้งลดลง ปลาก็ลดลง กบเขียดอึ่งอ่างคางลาย "กะปอม" ก็ลดลง
คนก็เป็นสุขน้อยลง นั่นคือสายสัมพันธ์ที่เรามักจะมองข้าม จนภัยมาถึงตัว
จึงโอดครวญประท้วงคิดแตกแยก สาเหตุเล็ก ๆ เพราะแมงสะดิ้งสูญหาย ก็เป็นได้

* ข้อมูลอ้างอิงจาก "จิ้งหรีดและการเพาะเลี้ยง"
ของ รศ.ดร.ศิวิลัย  ศิริมังคลารัตน์
สาขา กีฏวิทยา  คณะเกษตรศาสตร์ มหาลัยขอนแก่น

* ข้อมูลภาพและอื่นๆ จาก
http://bugguide.net/
http://commons.wikimedia.org
www.herpcenter.com  
www.oknation.net

 
 
สาธุการบทความนี้ : 627 ครั้ง
ให้สาธุการบทความนี้
 
 
  06 มิ.ย. 2556 เวลา 08:46:59  
        offline  ติดต่อหลังเวที  ติดต่อโดยเมล์ ตอบอ้างอิง  
 
  ปราร้านอกไห   ตอบเต็มรูปแบบ || Quick Reply  
  หน้า: 1 2 3 4 5

   

Creative Commons License
สารานุกรม แมงไม้ ใน อีสาน --- ปลาร้านอกไห (ปลาร้านอกไห --- อีสานจุฬาฯ)