ผญา คติสอนใจประจำวันที่ 29 เมษายน 2568:: อ่านผญา 
แนวหลานหล่อนบ่ปูนปานเจ้าย่า เด็กน้อยฮู้ตั้งล้านบ่ปานเถ้าผู้เดียว แปลว่า หลานเหลน อายุย่อมน้อยกว่าย่า เด็กเล็กล้านคน ก็รู้ไม่เท่าคนแก่หนึ่งคน หมายถึง ควรให้ความเคารพผู้อาวุโสกว่า ไม่พึงข้ามหน้าข้ามตาผู้หลักผู้ใหญ่


  ล็อกอินเข้าระบบ  
ชื่อ ::
รหัสผ่าน::
*จำสถานะ
 
  รวมมิตรปลาร้านอกไห  
  สวัสดีครับ

     แทบจะไม่มีใครล่วงรู้อย่างลึกซึ้งเลยว่า มีเรื่องราวที่คุณไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่า ในภาคอีสานของประเทศไทยนั้น หลายอย่างมีความเป็นมาอย่างไร หลายอย่างได้เกิดขึ้นแล้วและยังคงอยู่ หลายอย่างเกิดขึ้นแล้ว และได้เลือนลางหายไปแล้วในอดีต เราและทีมงานปลาร้านอกไห จะนำพาคุณผู้ชม จูงมือเดินไปเรียนรู้วิถีชีวิตพื้นบ้านอีสานในแง่มุมต่างๆ เพื่อเปิดโลกทัศน์และมุมมองว่า ทำไมคนภาคอีสานจึงเป็นอย่างนี้ ทำไมต้องใช้ชีวิตกันอย่างนี้ และสิ่งหนึ่งที่จะลืมเสียไม่ได้ก็คือ การสร้างความเป็นไทยที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม หลากหลายทางเชื้อชาติ หลากหลายประเพณี เพื่อที่เราจะได้เรียนรู้และอยู่ได้กันอย่างสันติ อย่างสงบ ไม่มีความดูถูกเหยียดหยามคนไทยด้วยกันเอง

     ทีมงานปลาร้านอกไห ขอขอบคุณทุกเสียงทุกแรงใจที่มอบให้เรา เราสัญญาว่า เราจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะสร้างสรรค์สังคมให้จรรโลงใจ
พร้อมเสมอ
ทีมงานปลาร้านอกไห

กระทู้ธรรมดา... มีข้อความโพสต์ใหม่

  หน้า: 1 2 3 4 5 ตอบกระทู้  
  โพสต์โดย   สารานุกรม แมงไม้ ใน อีสาน  
  ปิ่นลม    คห.ที่45) แมงหัวแข็ง  
  เซียน

ภูมิลำเนา : สกลนคร
สมาชิกภาพ : สมาชิกชมรมฯ
เข้าร่วม : 16 มี.ค. 2553
รวมโพสต์ : 2,213
ให้สาธุการ : 180
รับสาธุการ : 5,444,730
รวม: 5,444,910 สาธุการ

 


ชื่อพื้นเมือง         แมงหัวแข็ง  ( ด้วงหนวดยาว) แมงกอก  ( ชาวเหมืองแห่ง เหมันต์ )
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Plocaederus obesus Gahan

ชื่อสามัญ : Stem-boring grub

ชื่ออันดับ : Coleoptera

วงศ์ : Cerambycidae


ลักษณะทางกายภาพ
ตัวเต็มวัยเป็นด้วงหนวดยาวสีน้ำตาลแก่ ขนาดหัวยาว 4 ซม.
เพศผู้มีหนวดยาวกว่าลำตัวมาก เพศเมียขนาดสั้น หรือยาวเท่าลำตัว
ปีกแข็งคู่หน้ามีจุดสีเหลืองและแดง กระจายกันอยู่ ดวงตาเป็นลักษณะ ตามรวม
สีดำแบนราบด้านหน้า มีเขี้ยวสองเขี้ยวไว้เจาะเปลือกไม้

วงจรชีวิต

วางไข่ในเปลือกไม้   เมื่อโตขึ้น 1 จะเจาะชอนไช หากินตามเปลือกไม้
ตัวหนอน ตัวอ่อนมีเขี้ยวไว้คอยเจาะต้นไม้ ชอบอยู่ตาม ต้นงิ้ว ( ต้นนุ่น ) ต้นมะเดื่อ
ต้นมะม่วงหิมะพานต์  รวมทั้งต้นมะม่วงบางชนิด  
เมื่อจะลอกคาบเป็นตัวโตเต็มวัย จะสร้างเปลือกไข่บางๆ สีขาวๆ  ในรูของต้นไม้
พอย่างเข้าเดือนที่  3 จะเป็นตัวอ่อนเจาะออกมา โบยบินหากินต่อไป

ตัวเต็มวัยในช่วงฤดูฝนราวเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม เพื่อผสมพันธุ์และวางไข่
  
ภาพตัวอ่อนของ แมงหัวแข็งในเปลือกไม้
    

ประโยชน์
ตัวอ่อนของ แมงหัวแข็ง สามารถนำมาเป็นอาหารได้ เนื่องจากมีรสชาติ อร่อย แซบ
ส่วนมากนำมา จี่ใส่ขี้เถ้ากองไฟ ตอนหน้าหนาว  อีกทั้งตัวโตเต็มวัย ก็กินได้
อย่างไรก็ตาม แมงหัวแข็ง จัดว่าเป็นศัตรูพืช เนื่องจาก ชอบเจาะ ต้นงิ้ว  ต้นมะม่วง
และต้นไม้เนื้ออ่อนอย่างอื่น

ภาพต้นงิ้ว ที่แมงหัวแข็ง ชอบเจาะฝังตัวอยู่


ในแง่วิถีชีวิตอีสาน

สมัยเก่า คนอีสานทำเครื่องนอน เครื่องนุ่งห่มเอง เช่น ผ้าห่ม  หมอน อาสนะ ( ฟูกที่นอน )
ซึ่งต้องอาศัย ต้นงิ้ว หรือ ต้นนุ่น เอาใยนุ่น มาทำ จึงต้องปลูกต้นงิ้ว ไว้ตามบ้านแทบทุกบ้าน
นี่เองคือสวรรค์ ของ แมงหัวแข็ง  มีอาหารอันอุดมสมบูรณ์ ได้เจาะกินชอนไช



เมื่อถึงคราวหน้าหนาว เสร็จนาแล้ว  ตอนเช้าๆ  ผู้เฒ่าผู่แก่ ก็จะมาก่อไฟผิง ใต้ต้นงิ้วหน้าบ้าน
หรือหลังบ้าน ลูกหลานก็จะมา "ตุ้มโฮม" กันผิงไฟ แก้หนาว  นั่ง "จี่ข้าวจี่ทาไข่ "
อยู่ข้างกองไฟ ฟังปู่ย่าเล่าเรื่องสนุก ๆ  ระว่างนั้น เด็ก ๆ ก็จะเดินเลาะหา หนอนแมงหัวแข็ง
หรือ ด้วงงิ้ว หาเจาะงัดแงะเอาตามเปลือกต้นงิ้ว ตามรูของต้นไม้ ก็จะได้ แมงอันนี้ มา จี่กิน
เป็นที่สนุกสนาน  บ้างก็ได้ แมงหัวแข็งตัวโตเต็มวัยมาอ้างกัน  

เวลาจับมันจะร้อง เสียงดังเหมือนพลาสติกสีกัน ดังออด แอด.. ออด แอด  ด้วยการเอาหัว
ยกขึ้นลงทำให้ปล้องช่วงลำคอของมันสีกัน จนเกิดเป็นเสียงร้อง บางครั้งเด็ก ๆ ก็โดนผู้ใหญ่อำ
บอกว่า "แมงหัวแข็ง เอิ๊กมันหอม"  พลางให้เด็กน้อยดม อกแมงหัวแข็ง
แล้วก็โดน "แมงหัวแข็ง หยุมดัง "

ปัจจุบัน ต้นงิ้วเหลือน้อย เพราะงานหัตถกรรม ผ่าห่ม ฟูกที่นอน ที่ทำด้วยมือ หายไป
ยกหน้าที่ให้เป็นของ โรงงานต่างๆแทน  ลูกหลานต่างแยกย้ายจากถิ่นฐาน หาอยู่หากิน
ตามจำนวนต้นงิ้วที่หายไปจาก เฮือนอีสาน   การ"ตุ้มโฮม" หาได้ยาก
บางคนไม่รู้จัก แมงหัวแข็ง  รู้จักแต่ การหัวแข็งแทน

บางครั้งแมลงเล็ก ๆ นี้ ก็เป็นดัชนีวัด ความสุขในครอบครัว วิถีอีสานก็เป็นได้.......

ขอบคุณทุกภาพ จากที่มาหลายแห่งตามอินเตอร์เน็ต

 
 
สาธุการบทความนี้ : 968 ครั้ง
ให้สาธุการบทความนี้
 
 
  10 ต.ค. 2553 เวลา 14:56:38  
        offline  ติดต่อหลังเวที  ติดต่อโดยเมล์ ตอบอ้างอิง  
 
  ปิ่นลม    คห.ที่48) แมงสำลี  
  เซียน

ภูมิลำเนา : สกลนคร
สมาชิกภาพ : สมาชิกชมรมฯ
เข้าร่วม : 16 มี.ค. 2553
รวมโพสต์ : 2,213
ให้สาธุการ : 180
รับสาธุการ : 5,444,730
รวม: 5,444,910 สาธุการ

 


ขอบคุณภาพจาก OKNATION.NET

ชื่อ                    แมงสำลี, แมงหนวดโค้ง  (อีสาน )  ด้วงหนวดปม ( ภาคกลาง)

ชื่อวิทยาศาสตร์  Aristobia approximator
วงค์              Beetles  
อันดับ        OLEOPTERA

ลักษณะทางกายภาพ

เป็นด้วงที่มีขนาด  สัดส่วน ความยาวลำตัว 20-36 มิลลิเมตร
ลำตัวมีสีเหลือง ลายดำ สวยงาม
หนวดยาวกว่าลำตัวเล็กน้อย ปีปมสีดำ อยู่ตรงหนวด เป็นจุดเด่น

สถานที่นัดพบ

ป่าเต็งรัง และป่าเบญจพรรณ  พบได้ทุกภาค  ในภาคอีสานจะพบตัวมันได้ตอนหน้าฝน ตามต้น ส้มเสี้ยว
หรือต้น ชงโฆ  ต้นแก  ต้นถ่อน และต้นยูง ต้นยาง ต้นกะทัน   หรือแม้กระทั่ง ป่าละเมาะทั่วไป



วงจรชีวิต

วงจรชีวิตนานประมาณ 1 ปี ช่วงระยะตัวแก่จะมีตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ถึงตุลาคม แต่ช่วงพบตัวแก่สูงสุดคือช่วงฤดูฝน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ถึง กรกฏาคม ระยะตัวอ่อนจะพบตลอดทุกเดือนตลอดปี และในแต่ละเดือน
ก็พบตัวหนอนขนาดต่างๆ ทั้งขนาดเล็ก กลาง และขนาดใหญ่ เดือนที่พบตัวหนอนมากและเห็นชัดคือช่วงปลายฤดู ตั้งแต่เดือนสิงหาคม ถึง พฤศจิกายน
ตอนช่วงเป็นตัวนอน จะอยู่ตามใต้เปลือกไม้ ในโพรงเยื่อไม้  กินเปลือกและเยื่อไม้เป็นหลัก เมื่อโตเป็น
แมงสำลีเต็มวัย จะกินดอกไม้  ยอดอ่อนแทน

แมงสำลีนำมากินเป็นอาหารไม่ได้ เนื่องจาก ขิว มีกลิ่นฉุน และมีสารที่เป็นพิษ อย่างไรก็ตาม
แมงสำลีเป็นแมลงที่มีสีสัน สวยงาม ตัวอ่อนของมันเป็นอาหารของนก และสัตว์เลื้อยคลานตามธรรมชาติ
ส่วนมากนำปีกมันมา ประดับกระติบข้าว คู่กันกับปีกแมงทับ




เนื่องจากเป็นแมลงที่สวยงาม จึงเคยแสดงแบบบนแสตมป์ไทย ปี พ.ศ. 2532 (แสตมป์ราคา 3 บาท)

แมงสำลี หมายถึงความ หลากหลายทางชีวภาพ ที่สมบูรณ์  แม้จะเป็นศัตรูพืช แต่มันก็มีศัตรูตามธรรมชาติ
ไม่น้อย เพื่อเติมเต็มในห่วงโซ่อาหาร

 
 
สาธุการบทความนี้ : 714 ครั้ง
ให้สาธุการบทความนี้
 
 
  11 ต.ค. 2553 เวลา 00:09:10  
        offline  ติดต่อหลังเวที  ติดต่อโดยเมล์ ตอบอ้างอิง  
 
  ปิ่นลม    คห.ที่65) แมงจิซอน  
  เซียน

ภูมิลำเนา : สกลนคร
สมาชิกภาพ : สมาชิกชมรมฯ
เข้าร่วม : 16 มี.ค. 2553
รวมโพสต์ : 2,213
ให้สาธุการ : 180
รับสาธุการ : 5,444,730
รวม: 5,444,910 สาธุการ

 

ขอบคุณภาพจาก google


ชื่อวิทยาศาสตร์    Gryllotalpa orientalis
อันดับ                ORTHOPTERA
วงศ์                   Gryllotalpidae
ชื่อสามัญ            Mole Crickets
ชื่อพื้นบ้าน           แมงซอน  แมงจิซอน แมงกระซอน (นักธรณีวิทยาแห่งชายบึง)

ลักษณะทั่วไป

           แมลงจิซอน มีลำตัวกลมลักษณะคล้ายจิ้งหรีด แต่มีปีกสั้นมาก ขนาดความยาวลำตัวประมาณ
3 - 4 เชนติเมตร  หนวดสั้น ขาหน้ากว้างมีลักษณะคล้ายอุ้งมือของตัวตุ่น มีเล็บแข็ง
ใช้ในการขุดดิน ชอบอาศัยตามที่ชื้นขุดรูอยู่ใต้ดินกินรากพืชและพืชต่างๆ  เป็นอาหาร
แมลงชอนมีขาคู่หน้าดัดแปลงไปเป็นขาขุด เพื่อใช้ประโยชน์ในการขุดดินและมุดตัวอยู่ในดิน
ตัวเต็มวัยเพศผู้และเพศเมียแตกต่างกัน
จากการดูอวัยวะเพศที่ปลายท้องได้ ทั้งสองเพศมีรูปร่างลักษณะเหมือนกันมาก
ตัวผู้ท้องยาวเรียว แต่ที่แตกต่างคือเพศผู้สามารถทำเสียงได้เช่นเดียวกับจิ้งหรีดและตั๊กแตน
แต่เสียงค่อยกว่ามาก โดยเพศผู้มีอวัยวะในการทำเสียงอยู่ที่ปีกคู่หน้า เป็นตุ่มทำเสียงที่เรียกว่าไฟล์ และสะแครปเปอร์
และมีพื้นที่เล็กๆ บนแผ่นปีกที่ใช้ในการทำเสียงซึ่งเพศเมียไม่มี
ตัวเมีย ท้องป้อมๆ ลำตัวสั้นกว่าตัวผู้เล็กน้อย



แหล่งที่พบ  

           ขุดรูอาศัยในดินที่แฉะมากๆ โดยเฉพาะดินบริเวณรอบๆ แหล่งน้ำ ริมหนองน้ำ ริมห้วย ริมบึง
อาหารธรรมชาติ   คือ หญ้าสด มีหญ้าต่าง ๆ เช่น หญ้าขน หญ้าน้ำ หรือวัชพืช


ริมบึงน้ำแบบนี้ และครับ สวรรค์ของ แมงจิซอน


วงจรชีวิต  

แมลงกระชอน วางไข่เป็นแท่งไข่แข็งซึ่งมี 30-50 ฟองอยู่ในดิน ไข่ใช้เวลาฟักตัว
25-40 วัน ตัวอ่อนที่ฟักใหม่ๆมีสีขาว ส่วนอกและขาสีฟ้าอ่อน ตัวอ่อนเมื่อเติบโตขึ้น
เปลี่ยนเป็นสีเทาถึงดำ มีแต้มสีขาว ตัวอ่อนวัยสุดท้ายลักษณะเหมือนตัวเต็มวัยแต่มีปีกสั้นกว่า
ระยะตัวอ่อนนาน 3-4 เดือน  ผสมพันธุ์และวางไข่ช่วงต้นฤดูฝน ช่วงฝนตกใหม่ๆ คือช่วงที่
กระจายพันธุ์ โดยจะออกท่องเที่ยว บินหาแหล่งน้ำในตอนกลางคืน

แมงจิซอน ในโลกจำแนก เป็น 2 ชนิด ใหญ่ๆ   คือ ชนิดที่พบทางซีกโลกตะวันออก
และ ชนิดที่พบในแอฟริกา
ในประเทศไทยมีแมลงชนิดนี้ สายพันพันธุ์ตะวันออกชนิดเดียวเท่านั้น
ส่วนแมลงกระจิซอนที่พบในแอฟริกามีหนาม 3-4 อัน
(มักมี 4 อันดูจากตัวอย่างแมลงกระชอนจากอียิปต์ 2 ตัว)
เขตแพร่กระจายพบในเอเชียและฮาวาย พืชที่พบแมลงกระชอนทำความเสียหาย เช่นข้าวไร่ อ้อย ยาสูบ หอม
ทานตะวัน ผักกะหล่ำ ชา และมันเทศ เป็นต้น

ส่วนแมงจิซอนสายพันธุ์ไทย ไม่ปรากฏว่า ทำลายพืชไร่ ของเกษตรกรแต่อย่างใด  เนื่องจากมันไม่กินพืชไร่


ในภาพคือ แมงจิซอน สายพันธุ์ แอฟริกา ต่างจากสายพันธุ์ไทย มาก



หน้าที่ตามธรรมชาติ  ของแมงซอน

เนื่องจากมีขาหน้าที่ทรงพลัง บางคนเรียกแมงจิซอน ว่า ราชคึ  หรือ ราชคฤกษ์ ราชาแห่งการ “คึ “

เวลาจับใส่มือไว้ แมงจิซอน จะใช้ขาหน้า “คึ” ง่ามมือออก พลังในการแหวกน่าอัศจรรย์
หน้าที่หลักคือการพรวนดิน ในริมน้ำทำให้ดินริมแหล่งน้ำมีอากาศ  ให้บักเตรี
ทำการย่อยสลายซากอินทรีย์
ในดินกลายเป็นแร่ธาตุที่อุดม เหมาะสำหรับพืชริมน้ำและ แมลงสัตว์น้ำอื่นๆดำรงชีพ  
แมงจิซอนยังกินซากพืช รากพืชน้ำที่เน่าสลายในดิน เป็นอาหาร และเป็นอาหารของปลาหลากหลายสายพันธุ์
บางครั้งความสัมพันธ์ ในระบบนิเวศน์ ก็ซับซ้อนและอ่อนไหว ในการดำรงสภาพอันเอื้อต่อสิ่งมีชีวิต
หลายๆอย่าง เมื่อพิจารณาแล้ว ล้วนเกี่ยวพันกันเป็นสายใย ห่วงโซ่อาหารและความสมดุล



การเกี่ยวพันในวิถีชีวิตอีสาน

เมื่อย่างเข้าหน้าแล้ง ช่วงเดือน ธันวาคม ถึง กุมภาพันธุ์  น้ำตามแหล่งน้ำเหลือเพียงแหล่งน้ำใหญ่ๆ
บริเวณริมแหล่งน้ำเหล่านั้นยังชุ่มชื้น บางแห่งยังมีตม พื้นดินนิ่มชาวบ้านต่างแบกจอบ ถือคุ ลงไปหากิน
ตามแหล่งน้ำที่ยังหลงเหลือ ต่างลงไปหา “ย่ำแมงซอน “   ตามพื้นดินริมแหล่งน้ำที่ยังอ่อนนิ่ม

ขั้นตอนแรก คือ ทำคันกั้นน้ำเล็ก ๆ  เป็นแนวยาว  บางแห่ง ก็ ทำเป็นรูปครึ่งวงกลม เพื่อกั้นน้ำ
จากนั้นก็ ขุดหน้าดินขึ้นมา ตักน้ำมาราด ดินที่ขุดขึ้น แล้วก็ลงมือ ย่ำดินให้กลายเป็นดินเหนียว
เมื่อน้ำเข้าไปแทนอากาศที่อยู่ในดิน และน้ำท่วมดิน บริเวณที่แมงซอน อาศัยอยู่ แมงซอนก็จะออกมาจากดิน
ชาวบ้านต่างเก็บเอาแมงซอน เพื่อเป็นอาหาร  ไล่คุบแมงซอน เป็นที่สนุกสนาน
แมงซอน หรือ แมงจิซอน เป็นอาหารของชาวอีสานในหน้าแล้ง นำไปทำอาหารได้หลายอย่าง
ห้วงเดือนดังที่กล่าวมาเท่านั้น ที่ชาวบ้านหากินแมลงชนิดนี้  ส่วนห้วงเดือนอื่น ก็หากินอย่างอื่น
ชีวิตชาวอีสาน ยากจนค้นแค้น อึดอยากปากหมอง  หากินแมลงต่าง ตามฤดูกาล เป็นแหล่งโปรตีน
จึงมีความสัมพันธ์ กับแมลงมากกว่าภาคอื่น ๆ  ซึ่งทางภาคอื่น มีแหล่งอาหารหลากหลายกว่า อุดมกว่า
แมลงจึงเป็นตัวเลือกลำดับสุดท้ายในการนำมาเป็นอาหาร  ต่างจากภาคอีสาน ซึ่งกินแมลงตามฤดูกาล



สิ่งที่น่าเป็นห่วง

เนื่องจากปัจจุบันการทำเกษตร มีการใช้สารเคมีในปริมาณที่มากขึ้นทุกปี  เกินขีดความสามารถของธรรมชาติ
ในการกำจัดสารตกค้าง ตามแม่น้ำลำคลอง ห้วยหนอง ให้เจือจางลงตาม วิถีธรรมชาติ จึงเป็นผลกระทบ
ในวงกว้างในระบบนิเวศน์  สารเคมีตกค้างในดินจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ แมงจิซอนเป็นจำพวกต้นๆ
ในการได้รับผลกระทบ  ลดจำนวนลง  ส่วนผลกระทบในด้านอื่นๆ  ทั้งทางตรงและทางอ้อม ไม่ขอกล่าว
เนื่องจากประเทศที่กำลังพัฒนา  ส่วนใหญ่ไม่สนใจ ระบบนิเวศน์และธรรมชาติ เท่าไหร่
ข้าวของผลิตภัณฑ์ทางเศรษฐกิจ ราคาสูงขึ้น  ที่ราคาถูกลงคือ ชีวิตพลเมือง


ขอบคุณทุกภาพ จาก oknation.net และ จาก google

 
 
สาธุการบทความนี้ : 849 ครั้ง
ให้สาธุการบทความนี้
 
 
  26 ต.ค. 2553 เวลา 10:24:05  
        offline  ติดต่อหลังเวที  ติดต่อโดยเมล์ ตอบอ้างอิง  
 
  ปิ่นลม    คห.ที่68) แมงแคง  
  เซียน

ภูมิลำเนา : สกลนคร
สมาชิกภาพ : สมาชิกชมรมฯ
เข้าร่วม : 16 มี.ค. 2553
รวมโพสต์ : 2,213
ให้สาธุการ : 180
รับสาธุการ : 5,444,730
รวม: 5,444,910 สาธุการ

 


ชื่อพื้นบ้าน              แมงแคง  แมงแคงค้อ  แมงขิว (จอมยุทธใบไม้ผลิ)
ชื่อวิทยาศาสตร์        Tessaratoma papillosa  , Homoeocerus sp.
อันดับ         Hemiptera
ชื่อวงศ์        Coreidae
ชื่อสามัญ  Stink  Bugs


ลักษณะทางกายภาพ


ตัวเต็มวัยมีสีน้ำตาลปนเหลือง รูปร่างลักษณะคล้ายโล่ มีขนาดยาวประมาณ 25 - 31 มม. และส่วนกว้างตอนอก กว้างประมาณ 15 - 17 มม. ตัวเต็มวัยตัวเมียวางไข่เป็นกลุ่มตามใบหรือเรียงตามก้านดอก ไข่กลุ่มหนึ่งจะมีจำนวนโดยเฉลี่ย 14 ฟอง ไข่จะฟักออกมาเป็นตัวอ่อน ประมาณ 7 - 14 วัน ตัวอ่อนจะมีสีแดงมีการลอกคราบ 5 ครั้ง ระยะตัวอ่อนกินเวลาประมาณ 61 - 74 วัน จึงจะเจริญออกมาเป็นตัวเต็มวัย แมงแคงมีสีน้ำตาลปนเหลือง รูปร่างลักษณะคล้ายโล่  มีขนาดยาวประมาณ 25 – 31  มิลลิเมตร  ส่วนอกกว้างประมาณ  15 – 17  มิลลิเมตร


ภาพ ตัวอ่อนยังไม่เต็มวัยของ แมงแคง


แหล่งที่พบ

ตามต้นค้อ ( ตะคร้อ)  ต้นจิก ต้นฮัง และป่าเต็งรังทั่วไป  ส่วนมากพบตามต้นค้อ  แมงแคงอันนี้
กินน้ำเลี้ยงจากยอดใบอ่อนต้นค้อ จึงพบได้ตามต้นค้อเป็นหลัก แต่ทางภาคเหนือ พบตามต้นลำไย
ช่วงที่พบได้ง่าย ช่วงเดือน เม.ย – มิ.ย. ตามต้นค้อ ที่กำลัง งอกใบใหม่

วงจรชีวิต

แมงแคง มีอายุขัย นับตั้งแต่ไข่ – ตัวเต็มวัย – ตาย  ศิริอายุได้ 1 ปี  วงจรชีวิตเริ่มจาก
           เม.ย. – พ.ค.ตัวเมียวางไข่เป็นกลุ่มอยู่ตามใบและก้านดอกของต้นค้อ  หรือพืชอื่นๆ  
มักวางไข่เป็นกลุ่ม ๆ ละ 5 – 28 ฟอง  ระยะเวลาโดยประมาณ  ระยะไข่ใช้เวลา  7 – 14  วัน
ระยะตัวไม่เต็มวัย 105 – 107 วัน  ระยะตัวเต็มวัยอาจมีอายุมากถึง  90  วัน  หรือเกินกว่านี้


ศัตรูธรรมชาติ ศัตรูธรรมชาติของแมงอันนี้ เท่าที่ บ่าวปิ่นลม คนรูปหล่อ บ่ปรึกษาหมู่ บ่ปรึกษากอง
สังเกตพบ ได้แก่  นกกะปูด นกกระลาง นกไก่นา  กะปอม และ เด็กน้อยเล้ยงควายขี้ดื้อ

ประโยชน์และความสำคัญ

  นำไปรับประทานเป็นอาหาร ได้แก่

    1.กินดิบ เพียงแค่เด็ดปีกทิ้ง และบีบตรงส่วนท้องเพื่อให้ฉี่ที่มีกลิ่นฉุนๆ ออก  
       แล้วก็ใส่ปากหย่ำ
      หากอยากให้แซบ ต้องมีข้าวเหนียวกระติบน้อย และ แจ่วปลาแดกใส่ หมากเผ็ดหลอ
     จ้ำปลาแดก แล้วก็ แกล้มด้วยแมงแคงดิบ  แซบอีหลี ระวังฉี่ หรือ เยี่ยวมัน ลวกลิ้นเด้อ
   2.เอาไปคั่วหรือ เอาไปจ่าม ( เสียบไม้ย่างไฟ )
      นำไปคั่วไฟอ่อนๆ จนสุก โรยเกลือเล็กน้อย แค่นี้ก็อร่อยทั้งกินเล่นๆ และกินเป็นกับแกล้ม
      หรือจะเสียบไม้ ย่างไฟพอสุก ก็แซบพอกัน หอมฮ๋วย ๆ
   3.นำไปตำทำน้ำพริก หรือ แจ่วแมงแคง
    4. เอาไปหมกไฟ รวมกันกับ กะปอมแม่ไข่ ใส่ใบตอง ( อันนี้แซบบ่มีแนวคือ )





ข้อควรระวัง
แมงอันนี้ มีกลไกป้องกันตัว คือ เยี่ยว ( ฉี่ )  เป็นกรดมีพิษ แสบร้อน  เวลาจับ
ต้องระวัง อย่าให้มัน เยี่ยวใส่ตา  บ่ซั้น จะให้ดี ต้องใส่แว่น คือบ่าวหน่อ ไปจับมันเอา
เทคนิคการจับ คือหันดากมันออกไปจากตัว เป็นต้นว่า หันดากไปทาง สาวส่าเมืองยโส
หรือทางจารย์ใหญ่ กะได้  
อันหนึ่ง เวลาเยี่ยวมันถูกมือ ,แขน,ขา  เมื่อแห้งแล้ว จะมีรอยคราบสีเหลือง, ดำ
ติดตามมือ ตามตัว ล้างออกยาก มือเหลืองอ่อยฮ่อย  ส่วนนิ้วมือเหลือง ย้อนว่า
พันลำยาสูบ อันนี้บ่เกี่ยว เด้อ ( ผู้ลังคนดอกหวา )



วิธีการหาแมงแคง

1.“ตบแมงแคง”
ไม่ใช่การ ตบ แบบนางร้ายในละครเด้อ  อุปกรณ์ในการตบ ต้องมีดังนี้
ไม้แส่  , ถุงดางเขียว, ถุงพลาสติก มัดทำเป็นถุงปลายไม้  ไปหา “ตบ”เอาตามต้นค้อ  

2 “เลวแมงแคง”
      ไม่ใช่ เลวระยำตามความหมายในภาษากลางเด้อ “เลว” ในที่นี้ เป็นภาษาอีสานแปลว่า ขว้าง เขวี้ยง  
อุปกรณ์ ไม่ต้องมีอะไรมาก ค้อนไม้แกนหล่อน ขนาด
พอเหมาะมือ ก็พอ ขว้างแล้วก็ วิไล่เอาโลด ส่วนมาก นิยมทำตอน ฝนตกเซาใหม่
ปีกแมงแคงยังเปียก บินไม่ได้ไกล  หรือ ตอนเช้าๆ  ตอน”ฝนเอี้ยน” จะดีมาก จ๊วด...

ในแง่วิถีชีวิตอีสาน


เมื่อฝนแรก โรยรินถิ่นอีสาน กลิ่นดินระเหิด อบอวน ใบไม้ที่ผลัดใบ เริ่มผลิใบอ่อน
ต้นค้อ( ตะคร้อ) กำลังออกใบสีแดงอ่อนๆ เต็มต้น  เด็กน้อยชาวอีสาน ต่างออกจาก
หมู่บ้านตั้งแต่เช้า ไปหาเอาแมงแคง  บ้างก็ถือไม้แส่ ไม้ส่าว มีถุงพลาสติก ทำเป็น
ถุงมัดคล้องไว้ตรงปลาย ไปหาจับเอาแมงแคง  บ้างที่ไม่มีอุปกรณ์ ก็อาศัย ขึ้นจับเอา
หรือ สั่นกิ่งไม้ให้ แมงแคงบิน แล้วก็ วิ่งไล่ไปตามทุ่งนากว้าง  บางครั้งวิ่งไล่
ตามองแต่แมลงที่บิน ลืมดูที่พื้น “ตำ” คันนา  ล้มคุบดิน เป็นที่สนุกสนาน
เมื่อได้มาแล้ว ก็แบ่งกัน  การไล่ล่าแมงแคง จึงเป็นกิจกรรม ที่ลูกอีสานแทบทุกคน
เคยผ่าน จะรู้ว่า ทั้งเหนื่อยและสนุก เท่าใด

  เมื่อฝนเริ่มแรกตกลงสู่ผืนดิน ชาวไฮ่ชาวนาต่างเตรียมตัว ลงไฮ่ ลงนา
ซึ่งบางหมู่บ้านต้องลงไปนอนนา หมายถึง ยกครัวเรือนไปอยู่กินที่ โรงนาตลอดฤดู
จึงต้องมีการ วางแผนปลูกพืชไว้กิน ในฤดูทำนา   มีการ” เฮ็ดไฮ่ “ ปลูกแตงจิง
ปลูกถั่ว ปลูกงา  เพื่อเป็นอาหารในฤดูทำนา  การเฮ็ดไฮ่  ต้องมีการ “ เกียกไฮ่ “
คือถากถางต้นไม้ เผาตอไม้ เพื่อเอาเถ้าถ่าน เป็นฝุ่นปุ๋ย  ต้องเผาให้เหลือแต่เถ้าถ่าน
เกลี่ยให้เถ้านั้นกระจายเต็มพื้นที่การทำไฮ่  เรียกว่าการ”เกียกไฮ่”
พ่อกับลูกชาย พากันไปโคกนา ทำการ”เกียกไฮ่  “  ติบข้าว ห่อปลาแดก  น้ำเต้า
ห้อยไว้บนกิ่งไม้   ลุยเกลี่ยเถ้าถ่านที่ร้อนระอุ ไม่แพ้แดดกลางเดือนเมษา
เมื่อเสร็จแล้ว ต้องมีการล้อมรั้ว ทำเสาและราวรั้ว ซึ่งต้องตรากตรำ ใช้แรงงาน
เหงื่อท่วมตัว    เมื่อตะวันเที่ยง  ก็เดินไปที่ต้นค้อ หาเอาแมงแคง ทั้งตัวอ่อนของมัน
มาหมกใส่ใบตอง รวมกับ กระปอมแดงแม่ไข่ ที่จับได้ สับให้เป็นชิ้น ๆ คละเคล้ากัน
ใส่น้ำปลาแดก ใส่พริก แล้วก็ห่อใบตอง ไปหมกขี้เถ้าไฟ  
ความหิว ความเหนื่อย คือ ความโอชะอันเป็นทิพย์ ประกอบกับ ความหอม
ของกลิ่นแมงแคง และเนื้ออันพอเหมาะของกะปอมแดงฮาวฮั้ว  จึงเป็นอาหาร
อันสุดยอดแห่งความอร่อย  ผู้ตั้งกระทู้ ยังจดจำรสชาติ แห่งโอชา อาหารมื้อนั้นได้
ทุกครั้งที่มองทุ่งนาเวิ้งว้าง ที่มีต้นค้อยืนเด่น  รสชาติโอชะและรสชาติความเหนื่อยล้า
ระคนกันมากับความทรงจำดีๆ ในสายลม



ขอบคุณภาพทุกภาพจากอินเตอร์เน็ต บ้านมหาดอทคอม  แมลงดอทคอม  และ อื่นๆ ครับ

 
 
สาธุการบทความนี้ : 1253 ครั้ง
ให้สาธุการบทความนี้
 
 
  26 ต.ค. 2553 เวลา 13:49:54  
        offline  ติดต่อหลังเวที  ติดต่อโดยเมล์ ตอบอ้างอิง  
 
  ปิ่นลม    คห.ที่80) ตั๊กแตนข้าว (ตั๊กแตนเข๋า )  
  เซียน

ภูมิลำเนา : สกลนคร
สมาชิกภาพ : สมาชิกชมรมฯ
เข้าร่วม : 16 มี.ค. 2553
รวมโพสต์ : 2,213
ให้สาธุการ : 180
รับสาธุการ : 5,444,730
รวม: 5,444,910 สาธุการ

 


ชื่อวิทยาศาสตร์ Cyrthacantacris tatarica
ชื่อ สามัญ           กำลังสืบค้น
วงศ์                 Orthoptera
ชื่อพื้นบ้าน        ตั๊กแตนข้าว ,ตั๊กแตนข้าวเจ้า ,ตั๊กแตนหวาย ( ราชาไร้อาณาจักร )

วงศ์เดียวกันกับ ตั๊กแตนปาทังก้า ที่ทอดขายตามท้องตลาด แต่ไม่ใช่ตั๊กแตนปาทังก้าครับ
ตั๊กแตนข้าวเป็นคนละสายพันธุ์กัน เด็กน้อยเยาวชน ผู้ไม่ได้เพ่งพิจ ท้องทุ่ง
อาจจำแนกไม่ออก ว่าตั๊กแตนอะไร
เห็นทุกตัวเป็นตั๊กแตนเหมือนกันหมด จริงๆแล้ว ตั๊กแตนในประเทศไทย
มีนับพันสายพันธุ์ ครับ

รูปร่างลักษณะ


- มีขนาดใหญ่ รูปร่างหนา กระโดดได้ไกล แต่ไม่ว่องไวเหมือน ตั๊กแตนทั่วไป
- ตัวผู้มีความยาววัดจากหัวถึงปลายปีก 6-6.5 เซนติเมตร
- ตัวเมียยาว 8.5-10 เซนติเมตร
- ทั้งตัวผู้ และตัวเมีย ลำตัวมีสีน้ำตาลอ่อนสลับกับจุดสีน้ำตาลแก่
- แก้มทั้ง 2 ข้างมีแถบสีดำพาดจากขอบตารวมด้านล่างถึงปาก
- ปีกยาวเลยปลายส่วนท้องไปประมาณ 1/5 เท่าของตัว
- ปีกคู่แรกแข็งมีแถบสีขาว ส่วนปีคู่ในมีสีเหลืองอ่อน - ปีกคู่ที่ 2 เป็นเยื่อบางใส
- โคนปีกมีสีขาวหรือสีชมพู


วงจรชีวิต


- ในรอบ 1 ปี มีการขยายพันธุ์เพียง 1 ครั้ง
- ฤดูผสมพันธุ์อยู่ในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน
- อัตราส่วนตัวผู้ : ตัวเมีย 2:1
- ตัวเมียวางไข่ในดิน ระหว่างเดือน เมษายน-พฤษภาคม (เป็นระยะฝนแรกของปี)
- วางไข่เป็นฝักลึกลงไปในดิน ที่มีลักษณะร่วนซุย ลึก 2-4 เซนติเมตร และมีความชื้นพอเหมาะ ตามสุมทุมพุ่มไม้
- ฝักไข่มีรูปร่างเป็นทรงกระบอกยาว 2-5 เซนติเมตร มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 8 มม. ห่อหุ้มด้วยฟองน้ำสีขาว
- ตัวเมียวางไข่ได้ 1-3 ฝัก
- ไข่ 1 ฝัก มีจำนวน 96-152 ฟอง เพราะฉะนั้น ไข่ 1-3 ฝักมีจำนวนรวม 288-451 ฟอง
- อายุไข่ 35-51 วัน (เมษายน-พฤษภาคม)
- ไข่ฟักเป็นตัวอ่อนเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม
- ตัวอ่อนลอกคราบ 5  ครั้ง
- ช่วงอายุตัวอ่อน 56-81 วัน มี 9 วัย
- เริ่มเป็นตัวแก่ประมาณเดือนกรกฎาคม
- อายุตัวเต็มวัย 8-9 เดือน (สิงหาคม-เมษายน)
- ตั๊กแตนเมื่อวางไข่แล้วก็จะตายในที่สุด

ลักษณะการดำรงชีวิต

   ตั๊กแตนข้าว เป็นตั๊กแตนขนาดใหญ่ เมื่อโตเต็มวัย มีขนาดยาว 10 ซม. ขึ้นไป
   ลำตัวมีสีซีดจาง ต่างจากสายพันธุ์อื่น ซึ่งมีเด่นชัด  การเคลื่อนไหวค่อนข้างช้า
   แต่จุดเด่นคือสามารถบินได้ไกล  โดยลักษณะนิสัย ไม่ชอบที่โล่ง , ลานหญ้า
เหมือนตั๊กแตนปกติ  จึงไม่ค่อยพบตั๊กแตนชนิดนี้ ตามทุ่งหรือที่โล่งมากนัก
มักอาศัยตาม ป่าโปร่ง ป่าละเมาะ ไปจนถึงป่าทึบ กินยอดไม้ ใบไม้หลายขนิดเป็นอาหาร
รวมทั้งพืชไร่ เช่น ข้าวโพด ข้าวฟ่าง ถั่ว ต่างๆ รวมทั้งพันธุ์ไม้ตามท้องถิ่น

ที่มีนิสัยไม่ชอบที่โล่ง เพราะเป็นตั๊กแตนขนาดใหญ่ สังเกตเห็นได้ง่ายเมื่ออยู่ที่โล่ง
จึงเป็นอันตรายต่อตัวมันเอง  ชอบที่จะอยู่ตามต้นไม้ หรือ พุ่มไม้เสียมากกว่า
ถึงแม้ตั๊กแตนชนิดนี้ จะถือว่าเป็นศัตรูพืช แต่การขยายพันธุ์ของมัน
กลับมาสำเร็จผลในการเพิ่มจำนวนเหมือนตั๊กแตนชนิดทั่วไป เนื่องจากถิ่นอาศัย
ต้องอาศัยแอบอิง หมู่ไม้ยืนต้น ป่าละเมาะ หรือป่าเต็งรัง ในการดำรงชีวิต
เมื่อพื้นที่ป่าถูก บุกรกทำลาย เกินความสมดุล จึงค่อยๆ ลดจำนวนลง

ลักษณะเฉพาะ


  เป็นตั๊กแตนขนาดใหญ่ ที่ไม่ชอบที่โล่ง หรือลานหญ้า  กินพืชไร่ แต่ไม่กินต้นข้าว
หรือทำลายข้าวกล้าในนา  นกแจนแวน และนกแทด ชอบกินแมลงชนิดนี้มาก
เด็กน้อยผู้หิวโหย กะมักคือกัน เพราะจี่แซบ


การเกี่ยวพันทางวิถีชีวิตอีสาน


  ช่วงลงนาใหม่ ตกหล้า ฝนรินรดผืนดินอีสานให้แช่มชื้น  ตั๊กแตนข้าว มักจะจับคู่กัน
ผสมพันธุ์ ตามใบไม้ ป่าโปร่ง ป่าละเมาะทั่วไป  ยามไปเลี้ยงควาย  จะพบเห็น
แมลงอันนี้ ก็ รีบ คุบเอาโลด  เอามาจี่ บ่ายคำข้าว ได้มา 2 ตัว ก็ จี่ใส่ไฟ กินกับ
ปั้นข้าวเหนียว
แค่นั้นก็อิ่มท้องได้ คาบหนึ่ง  หากได้ตั๊กแตนแม่ไข่  แฮ่งตะคักหลาย  แซบอีหลี



ขอบคุณ ทุกภาพ และข้อมูลบางอย่างจากอินเตอร์เน็ต ครับผม

 
 
สาธุการบทความนี้ : 559 ครั้ง
ให้สาธุการบทความนี้
 
 
  16 พ.ย. 2553 เวลา 13:25:41  
        offline  ติดต่อหลังเวที  ติดต่อโดยเมล์ ตอบอ้างอิง  
 
  ปิ่นลม    คห.ที่93) ตั๊กแตนโม  
  เซียน

ภูมิลำเนา : สกลนคร
สมาชิกภาพ : สมาชิกชมรมฯ
เข้าร่วม : 16 มี.ค. 2553
รวมโพสต์ : 2,213
ให้สาธุการ : 180
รับสาธุการ : 5,444,730
รวม: 5,444,910 สาธุการ

 



ชื่อวิทยาศาสตร์   Aiolopus thalassinus tamulus
ชื่อพื้นเมือง          ตั๊กแตนโม (เศรษฐีทุ่งโล่ง)

รูปร่างลักษณะ

- ขนาดค่อนข้างใหญ่ แต่เรียวสมส่วน
- ลำตัวสันด้านหลังแข็ง เรียวยาว บินได้ไกลมาก
- หนวดสั้น ตาสีหญ้าแห้ง  โตกว่าตั๊กแตนชนิดอื่น
- สีของลำตัวเป็นสีเขียวแก่
- ปีกคู่หน้ามีสีเขียว และไล่ลายจุดสีน้ำตาลจนถึงหาง
- ขาคู่ที่ 3(ขาดีด)  สีเขียวไล่เฉดสีหญ้าแห้ง มีหนามแหลมใหญ่ สีอมชมพู
- บริเวณโคนปีกคู่ที่ 2 (ปีกใน) เป็นสีเหลืองอ่อนและปีกสั้นแต่กว้าง
- บนกึ่งกลางด้านหลังของส่วนแรกเป็นสันเรียบ  ๆ  ต่างจากชนิดอื่น ซึ่งจะเป็นสันนูน

วงจรชีวิต

- ใน 1 ปี มีการขยายพันธุ์ 1 ครั้ง
- ฤดูผสมพันธุ์อยู่ในช่วงเดือน เมษายน- มิถุนายน
- เริ่มวางไข่ใน เดือน เมษายน ถึง พฤษภาคม
- ชอบวางไข่ในดินที่มีความชื้นพอเหมาะ  เช่นใต้ขอนไม้ โคนไม้
- ไข่ทั้งหมดอยู่ในฝักซึ่งเป็นสารหยุ่น ๆ คล้ายฟองน้ำ
- ไข่มีลักษณะยาวรี ประมาณ 7 มม. เส้นผ่าศูนย์กลาง 2 มม
- ไข่ใหม่ ๆ มีสีเหลืองแล้วค่อยเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล
- ช่วงอายุของไข่ 35  วัน
- ไข่เริ่มฟักเป็นตัวอ่อนในช่วง พฤษภาคม, มิถุนายน
- ช่วงอายุตัวอ่อน 65 วัน
- มีการลอกคราบ 6 – 7  ครั้ง จึงกลายเป็นตัวเต็มวัย
- ตัวอ่อนมี 3 วัย
- อายุของตัวเต็มวัย 4  เดือน


                      ภาพวงจรชีวิตตั๊กแตนโม



   ภาพตัวอ่อนของตั๊กแตนโม ปีกยังไม่งอก




ลักษณะนิสัยทั่วไป

ชอบอาศัยตามทุ้งหญ้า พื้นที่โล่ง ตามทุ่งนาในพื้นที่ราบสูง มีความสารถพิเศษ กว่าตั๊กแตนชนิดอื่น
คือ ดีดตัวครั้งหนึ่ง บินได้อึดและนาน บินได้ไกล ร่วม  200  เมตร ต่อ 1 ครั้ง  
จึงนับได้ว่าเป็นตั๊กแตนที่จับตัวได้ยากนักแล  อีกทั้ง “ตั๊กแตนโม”  มีดวงตาประกอบ ชนิดตารวม
ที่มีขนาดโตกว่าตั๊กแตนปกติ จึงมาสามารถ ตรวจจับความเคลื่อนไหวได้อย่ารวดเร็ว
ชอบกินยอดหญ้าอ่อน รวมทั้งยอดอ่อนของพืชพันธุ์ตามท้องถิ่นบางชนิด ไม่พบว่าตั๊กแตนโม ทำลายพืชไร่
นั่นแสดงว่าตั๊กแตนชนิดนี้ กินยอดพืชที่เกิดตามถิ่นฐานเดิมเป็นอาหาร
ปัจจุบันได้มีการเปลี่ยนการเพาะปลูก มาเป็นการปลูกพืชทางเศรฐกิจ
ซึ่งนั่นคือ การลดจำนวนพืชพันธุ์ตามท้องถิ่น
ทำให้ตั๊กแตนชนิดนี้ หายากยิ่ง อีกทั้งพฤติกรรมการสืบพันธุ์ ของตั๊กแตนชนิดนี้ ปี 1  สืบพันธุ์ แค่ครั้งเดียว
จึงลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว  

เด็กเยาวชนในปัจจุบันอาจไม่เคยรู้จัก  ตั๊กแตนโม
รู้จักแต่ตั๊กแตน ชลดา เด็กรุ่นต่อไปจะไม่รู้จักตั๊กแตน ชลดา  รู้จักแต่ ตั๊กแตน อินดี้ (วงเพลงแฟชั่น)



ความเกี่ยวเนื่องทางวิถีชีวิตอีสาน


ลงนาใหม่ ( หมายถึงการเริ่มฤดูกาลทำนา ) น้ำเต็มไฮ่เต็มคัน พ่อแม่ก็ไถนาฮุด ไล่ควายบักตู้ลงท่งนา
ลูกหลาน วิ่งเล่นตามไฮ่นา บ่างก็เล่นน้ำไฮ่นา เป็นที่สนุกสนาน บ้างก็เลี้ยง วัวเลี้ยงควาย
แลเห็น”ตั๊กแตนโม” บินลงมาจับคันแถนา   รีบถือไม้แส่ไล่ หวังจะจับเอาเป็น อาหารว่าง
แต่”ตั๊กแตนโม”มันบินไกล ต้อง วิ่งไล่จนลิ้นห้อย  ไล่จนมันหมดแรง บินตกลงน้ำไฮ่นา
ใครได้ “ตั๊กแตนโม”  คุยอวดอ้างกัน ถือว่า “เก่ง”  ที่เองที่มาของชื่อ “ ตั๊กแตนโม”
เพราะหากใครได้ ก็จะคุย”โม้”  โอ้อวดกัน ประสาเด็กน้อย
อีกอย่างหนึ่ง คำว่า “โม” ในภาคอีสาน
หมายถึง การบริจาค ( กริยา ) หรือ แปลว่า โต ( สดใส )  


ตั๊กแตนโม เป็นของขวัญแห่งท้องทุ่ง  ชีวิตของสัตว์ตัวเล็ก ที่มีคุณค่า คู่กับทุ่งนาอีสาน
มานานนับโบราณกาล
ปัจจุบันลดจำนวนลง ดังวิถีชาวที่ค่อยๆ เลือนหาย  ไปอย่างแช่มช้อย  

ขอบคุณข้อมูล ภาพจาก www.malang.com  และภาพสวยๆ จากเว็ปอื่นๆ ครับ

 
 
สาธุการบทความนี้ : 1061 ครั้ง
ให้สาธุการบทความนี้
 
 
  17 พ.ย. 2553 เวลา 14:34:29  
        offline  ติดต่อหลังเวที  ติดต่อโดยเมล์ ตอบอ้างอิง  
 
  ปิ่นลม    คห.ที่105) แมงม้า  
  เซียน

ภูมิลำเนา : สกลนคร
สมาชิกภาพ : สมาชิกชมรมฯ
เข้าร่วม : 16 มี.ค. 2553
รวมโพสต์ : 2,213
ให้สาธุการ : 180
รับสาธุการ : 5,444,730
รวม: 5,444,910 สาธุการ

 


ชื่อสามัญ    Mantis
Order       ORTHOPTERA  
Family      Mantidae  
ชื่อพื้นบ้าน     แมงม้า   , แมงนบ  , แมงอีหมม่อม ,ตั๊กแตนโย่งโย่
(นักชกสีเขียว)

เป็นแมลงขนาดใหญ่ ที่กินแมลงชนิดอื่น หรือศัตรูพืชเป็นอาหาร
ขาหน้ามีขนาดใหญ่ใช้ในการจับเหยื่อ ขณะทำการจับเหยื่อทำท่ายกขาหน้าและโยกไปมา
โดยจะมองว่า  คล้ายจะต่อยมวย หรือ คล้าย ม้าย่อง กำลังยกขาหน้า จึงได้ชื่อว่า” แมงม้า”
อนึ่ง ชาวอีสานบางพื้นที่ มองว่ามันกำลังยกมือสวดมนต์ภาวนาจึงเรียกมันว่า “แมงนบ” (พนมมือ)
ส่วนทางพื้นที่ จังหวัดขอนแก่น จนถึงจังหวัดหนองบัวลำภู เรียกแมลงชนิดนี่ว่า"แมงอีหม่อม"
แมลงชนิดนี้พบกระจายทั่วโลกในเขตร้อน  และเขตอบอุ่นมีประมาณ  1800   สายพันธุ์  

ลักษณะโดยทั่วไป


           เป็นสัตว์ที่มีขาคู่หน้า ที่แข็งแรง และยัง มีขอบหยักคล้ายซี่เลื่อยแหลมคมงอกขึ้นมาตาม ท้องขา
ท่อนปลายสุด และ ท่อนกลาง ไว้ช่วยตะปบเหยื่อ ไม่ให้หลุดก่อนที่จะกินโดยเฉพาะ ท่อนขาช่วงกลาง  
โตผิดปกติ   โค้งงอคล้ายใบมีด   และมีตาทั้งคู่โปนเด่นสามารถที่จะกรอกตาได้รอบๆ เพื่อจ้อง จับเหยื่อ
ตามปกติถ้าไม่ตื่นกลัวง่าย ๆ  มักจะคลานไต่ไปตามต้นไม้เพื่อหากินอิสระ

หัวสามารถหมุนได้อิสระเกือบรอบ จัดว่าเป็นแมลงชนิดหนึ่งที่สามารถมองผ่านไหล่ของตัวเอง
ไปทางด้านหลังได้เช่นเดียวกับแมลงปอซึ่งมีส่วนหัวหมุนได้เกือบรอบเช่นเดียวกัน
“แมงม้า “ยังมีตาเดี่ยวอีกสามตาอยู่ตรงกลางหน้าผากระหว่างตารวมทั้งสองข้าง
ตาเดี่ยวทำหน้าที่รับแสงมากกว่าการรับภาพเหมือนตารวม

จะไม่บินรวมกันเป็นฝูง. สามารถเปลี่ยนสีพรางตัวให้เข้ากับสถาพแวดล้อมที่อยู่ได้
เช่นพันธุ์   Hyminopus cornatus  หรือ พันธุ์ Tarachodes  การพรางตัว   ทำให้มันดำรงชีวิตอยู่ได้
ในประเทศไทยมีการสำรวจพบ “แมงม้า”  ประมาณ 180 ชนิด







ภาพแมงม้า กำลังวางไข่

วงจรชีวิต


ตามปกติ “แมงม้า” จะเจริญเติบโตแบบเป็นขั้นตอนที่ไม่สมบูรณ์ กล่าวคือไม่มีระยะดักแด้
“แมงม้า” วงจรชีวิตเริ่มจาก ฟักตัวออกจากไข่เป็นตัว มีขนาดเล็กมาก รูปร่างคล้ายมด
แต่ละครั้งที่มีการลอกคราบขนาดจะและรูปร่างก็จะเปลี่ยนแปลงไปโดยปีกจะยาวขึ้น
หลังการลอกคราบครั้งสุดท้าย 2-3 ครั้ง จึงจะเป็นตัวเต็มวัย
    ตัวผู้มีขนาดเล็กกว่าตัวเมีย  เริ่มจับคู่ผสมพันธุ์ ช่วงเดือน พฤษภาคม
    ระหว่างผสมพันธุ์ อาจจะใช้เวลานานเป็นวัน หรือแล้วแต่ความพอใจของตัวเมีย
เมื่อผสมพันธุ์เสร็จ ตัวเมียอาจสังหารตัวผู้เป็นอาหารว่าง ( โหดแถะหวา)
หลังจากการผสมพันธุ์ประมาณ 1-2 สัปดาห์ ตัวเมียจะเริ่มวางไข่เป็นกลุ่มอัดเรียงกันแน่นเป็นฝัก
ซึ่งจะวางได้ติดต่อกันไปได้ 3-6 ฝัก ไข่ฟักเป็นตัวอ่อนภายใน 5-6 สัปดาห์
สังเกตได้ว่า “แมงม้า” ไม่เป็นดักแด้ หรือใช้เวลาในการฝักตัวในคราบดักแด้ ดังแมลงชนิดอื่น
เกิดมาเป็นตัว ออกหากิน และ ลอกคราบเพื่อเจริญเติบโตเลย



   ความเกี่ยวเนื่องกับวิถีอีสาน


เมื่อฤดูกาลปักดำข้าวกล้าในนา หรือ ปลูกพืชไร่ ถั่ว อ้อย ข้าวโพดมาถึง  ตามสุมทุมพุ่มไม้ หรือตาม
ต้นข้าวโพด กล้าต้นอ้อย มักจะพบ “แมงม้า” โยกเยก โยงโย่ ตามใบไม้ไม้กิ่งไม้
เวลาเจอหน้ามัน เด็กน้อยแสนซน มักจะเอาปลายไม้ไปเขี่ย ทำให้ มันยกตัวขึ้นสู้ ตั้งท่าเหมือนจะชก
เป็นที่สนุกสนาน   อีกอย่างหนึ่ง ฝักไข่ของแมงม้า สามารถนำมา “จี่กิน” เป็นอาหารได้
รสชาติแซบ เป็นแมลงชนิดหนึ่งที่พบได้ตาม หัวไร่ปลายนา  พวกเด็กน้อยผู้หญิงไม่กล้ายุ่ง เพราะรูปร่าง
อันน่าหวาดหวั่น  แมงไม้ชนิดนี้ เป็นแมงไม้ที่ไม่ค่อยตื่นกลัว  ตั้งท่าสู้เสมอ
แม้ผู้รุกรานจะมีขนาดใหญ่เพียงใด “นั่นแสดงถึงความห้าวหาญ” ของการเป็นนักสู้
ดังเช่นชีวิตลูกอีสาน สู้ชะตาฝ่าฝันชะตาโดยไม่ย่นย้อ  ปกติแล้วมักจะไม่นิยม จับมาเป็นอาหาร
นอกจาก เอามา” ไต่ฮาวฮั้วเล่น”  เอาไม้แหย่ดาก ให้มันฉุนเฉียว แล้วก็ปล่อยไป    

 
 
สาธุการบทความนี้ : 848 ครั้ง
ให้สาธุการบทความนี้
 
 
  23 พ.ย. 2553 เวลา 15:09:59  
        offline  ติดต่อหลังเวที  ติดต่อโดยเมล์ ตอบอ้างอิง  
 
  ปิ่นลม    คห.ที่114) แมง ปุ๋ม , แมงขุม , แมงซ้าง  
  เซียน

ภูมิลำเนา : สกลนคร
สมาชิกภาพ : สมาชิกชมรมฯ
เข้าร่วม : 16 มี.ค. 2553
รวมโพสต์ : 2,213
ให้สาธุการ : 180
รับสาธุการ : 5,444,730
รวม: 5,444,910 สาธุการ

 


(ขอบคุณเจ้าของภาพ)

ชื่อพื้นเมือง แมงปุ๋ม  แมงซ้าง  แมงหลุม  แมงขุม แมงบุ๋ม   กุดต้ม(นักล่าแห่งผผืนทราย)
ชื่อสามัญ antlion

วงศ์  Myrmeleontidae.
อันดับ Neuroptera

เป็นชื่อของตัวอ่อนของแมลงชนิดหนึ่ง อาศัยอยู่ในหลุมทราย คอยจับเหยื่อ
ที่ตกลงหลุมมาเป็นอาหาร เช่น มด และ แลงคลานชนิดอื่น ๆ
ในประเทศไทย มีการศึกษาแมลงในวงศ์นี้น้อยมาก มีรายงานการพบ
และทราบชื่อแล้วเพียง  2 ชนิดเท่านั้น



( ขอบคุณเจ้าของภาพ)



ถิ่นอาศัย


          วัยตัวอ่อน อาศัยขุดหลุมตาม พื้นดินทราย หรือ ดินร่วน ตามลาน
ตามพื้นที่ใต้ร่มไม้ใหญ่ต่าง ๆ
ระยะตัวอ่อนอาศัยอยู่ในทรายหรือดินละเอียด อาจอยู่ใต้หลังคาหรือในที่ไม่มีฝนตกหรือน้ำค้างตกใส่ จะสร้างหลุมเป็นรูปกรวย มักพบในพื้นที่ป่าหรือพื้นที่ชนบท
แต่ไม่ค่อยพบในเขตเมือง

อาหาร

แมลงขนาดเล็ก ส่วนใหญ่แล้วเป็นมด แมงมุมขนาดเล็ก และแมลงชนิดต่างๆ

ลักษณะนิสัย

มุดตัวลงไปใต้พื้นทราย แล้วใช้ขากรรไกรโยนทรายขึ้นมาหลุม จนหลุมมีลักษณะเป็นรูปกรวย โดย ตัวอ่อนของแมลงช้างจะซ่อนตัวอยู่ใต้ก้นหลุม เพื่อดักจับเหยื่อที่เป็นแมลงขนาดเล็ก เมื่อแมลงตกลงไปในหลุมจะไม่สามารถขึ้นมาได้ เพราะทรายในบริเวณขอบหลุมจะยึดตัวกันหลวม ๆ  เมื่อแมลงพยายามเดินขึ้นมาจะลื่นไถลตามทรายตกลงสู่ก้นหลุม  ตัวอ่อนแมลงช้างที่อยู่ก้นหลุมก็จะใช้ขากรรไกรกัดและดูดเหยื่อเป็นอาหาร



วิธีขุดหลุม

ใช้ก้นไถพื้นทรายเป็นวง และใช้หัวและขากรรไกรที่เหมือนเขี้ยว เหวี่ยงสะบัดทรายที่ขึ้นมาอยู่ข้างบนออกไปเรื่อย ๆ ก็จะได้หลุมรูปกรวยภายในเวลาอย่างน้อย 15 นาที
หลุมของแมลงช้างจะมีความสัมพันธ์ตามขนาดของตัวอ่อนแมลงช้าง
จะเห็นว่าขอบในของที่ดูเป็นเขี้ยว อันที่จริงคือขากรรไกร จะมีเป็นหนามแหลมซึ่งมีรูเล็ก ๆ อยู่ สำหรับปล่อยพิษ   เข้าไปในตัวมดที่เป็นเหยื่อของมัน และดูดน้ำในตัวมดเป็นอาหาร จนตัวมดแห้งเหลือแต่เปลือก มันก็จะเหวี่ยงซากมดออกไปจากหลุม
ของมัน และเตรียมพร้อมสำหรับรอเหยื่อรายใหม่


  ภาพแมงซ้าง ตัวโตเต็มวัย รูปร่าง คล้ายแมงปอ


วงจรชีวิต
ถ้าเราเข้าใจว่า “แมงช้าง” มันเป็นตัวอย่างนี้เท่านั้น ก็เป็นการเข้าใจผิด เพราะนี่มันเป็นเพียง “ตัวอ่อน” larva  ที่ฟักออกจากไข่เท่านั้น แต่เป็นช่วงชีวิตที่ยาวนานที่สุดของมัน นับตั้งแต่ออกจากไข่ เป็น”ตัวอ่อน” อย่างที่เห็นนี้ ทำหลุมดักมดหากินอยู่ในดิน นานถึง 2 – 3 ปี กว่าจะเข้าสู่ระยะเป็นดักแด้ ที่ฝังลึกลงไปใต้ดินถึง 10 ซม. ฟักตัวอยู่ 2 – 3 อาทิตย์ จึงออกจากดักแด้ คลานขึ้นมาจากใต้ดิน มีปีก และภายใน 20 นาทีก็บินไปหาคู่ผสมพันธ์กัน ตัวที่โตเต็มที่แล้ว มีทั้งชนิดที่คล้ายผีเสื้อ และที่คล้ายแมลงปอ แต่เวลาเกาะปีกทั้งสองข้างจะไม่ขนานกัน แต่จะทำมุมแหลมเป็นรูปตัววี ปีกมีเส้นเป็นร่างแห สังเกตความแตกต่างกันได้ตรงที่ “แมงช้าง” จะมีปลายหนวดเป็นปุ่ม และเป็นตัวที่ชอบออกมาตอนเย็นหรือกลางคืน
พบในที่มีแสงนีออน หรือตามกระจกหน้าต่างที่มีแสงไฟสว่าง ตัวเต็มวัยจะหาคู่ผสมพันธ์แล้วก็ไปวางไข่ไว้ในดินที่แห้งร่วนต่อไป ตัวเต็มวัย มีอายุประมาณ 30- 45 วัน

 
 
สาธุการบทความนี้ : 955 ครั้ง
ให้สาธุการบทความนี้
 
 
  22 ธ.ค. 2553 เวลา 11:42:36  
        offline  ติดต่อหลังเวที  ติดต่อโดยเมล์ ตอบอ้างอิง  
 
  ปิ่นลม    คห.ที่124) แมงหิ่งห้อย  
  เซียน

ภูมิลำเนา : สกลนคร
สมาชิกภาพ : สมาชิกชมรมฯ
เข้าร่วม : 16 มี.ค. 2553
รวมโพสต์ : 2,213
ให้สาธุการ : 180
รับสาธุการ : 5,444,730
รวม: 5,444,910 สาธุการ

 



ชื่อสามัญ             Firefly หรือ Lightening  Bug
วงศ์                   Lampyridae ( แลมพายริดี้)

ส่วนชื่อสามัญภาษาไทย เรียกขานกันแตกต่างไปตามพื้นที่ อย่างเช่น

ภาคกลาง แมลงทิ้งถ่วง แมงดาเรือง แมงแสง หนอนกระสือ
อีสาน   แมงหิ่งห้อย , หิ่งห้อย  (เทพธิดาแห่งความหวัง)
ภาคใต้   ญิงห๊อย..

มีรายงานว่า หิ่งห้อยทั่วโลกมีมากกว่า 2,000 ชนิด กระจายอยู่ในทวีปเอเชีย ยุโรป ออสเตรเลีย อเมริกาเหนือ และอเมริกากลาง พบได้ตั้งแต่บริเวณภูเขาสูง
ไปจนถึงชายฝั่งทะเล

สำหรับในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2540 จนถึงปัจจุบัน ได้มีการศึกษาชนิดของหิ่งห้อย
ในภาคกลางและภาคตะวันออก
ศึกษานิเวศวิทยา แหล่งที่อยู่อาศัย และพันธุ์พืชที่หิ่งห้อยชอบเกาะ รวมถึงวงจรชีวิตของหิ่งห้อยแต่ละชนิด
เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พบว่าในประเทศไทยมีหิ่งห้อย
มากกว่า 8 สกุล คือ

Diphanes
Lamprigera
Luciola
Pteroptyx
Pyrocoelia
Pyrophanes
Rhagophthalmus
Stemoleadius
    
แต่หิ่งห้อยส่วนใหญ่ที่พบได้ง่ายในประเทศไทย มี 2 สกุล คือ
สกุล Luciola Brahmina (ลูซิโอลา บราห์มิน่า) เป็นหิ่งห้อยที่มีตัวอ่อนอาศัยอยู่ในบริเวณ
น้ำจืด มีธรรมชาติเป็นคลองส่งน้ำที่มีผักตบชวา จอง แหน จำนวนมาก
และมีอยู่เป็นเวลานานแล้วเช่น  ดินงืม  หรือหนองน้ำเก่าแก่

และอีกสกุลคือ
Pteroptyx  Malacea
(เทอรอพติกซ์ มาแลคซี่) เป็นหิ่งห้อยที่มีตัวอ่อนอาศัยอยู่บริเวณป่าชายเลน และฝั่งแม่น้ำที่มีน้ำทะเลท่วมถึง ซึ่งเรียกกันว่า หิ่งห้อยน้ำกร่อย  ( เช่นที่อัมพวา )



ลักษณะทางกายภาพของหิ่งห้อย

รูปร่างและส่วนต่างๆ ของหิ่งห้อยนั้นประกอบด้วย
ส่วนหัว มีสีดำหรือสีเหลืองปนน้ำตาล มีตาโตสีดำ 1 คู่ หนวด 1 คู่ เป็นสีดำทั้งสองข้าง

ส่วนอก ส่วนใหญ่มีลักษณะกว้างออกทางด้านข้าง เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า บางชนิดอกขยายใหญ่คลุมส่วนหัวเอาไว้จนมองไม่เห็นส่วนหัว  เมื่อมองลงมาจากทางด้านบน ปีกคลุมท้องมิด  มองไม่เห็นอวัยวะส่วนท้อง ปีกของหิ่งห้อยมี 2 ปีก ปีกบนมีลักษณะทึบแสงไม่แข็งมาก ส่วนปีกล่างบางใส สีดำ หรือสีชา สีของปีกมีลักษณะแตกต่างกันไปตามชนิดของหิ่งห้อย

ส่วนท้อง ตัวผู้มีปล้องท้อง 6 ปล้อง ปล้องที่ 5 และ 6 เป็นที่ตั้งอวัยวะทำแสง ส่วน ตัวเมีย มีปล้องท้อง 7 ปล้อง และปล้องที่ 5 เป็นที่ตั้งอวัยวะทำแสงอวัยวะทำแสงนั้นมีสีขาว หรือขาวครีม

ส่วนขา ขาของหิ่งห้อยมี 3 คู่ ลักษณะเป็น 3 ข้อ มี 6 ขา ปลายขาของหิ่งห้อยมีของเหนียวเอาไว้ยึดเกาะกับต้นไม้และใบไม้





วงจรชีวิต


หิ่งห้อยเป็นแมลงปีกแข็งขนาดเล็ก อาศัยเกาะอยู่ตามกอหญ้า และใต้ใบไม้ เมื่อผสมพันธุ์แล้วจะวางไข่ฟองเดี่ยวตามพื้นดินหรือที่ชื้นแฉะ หรือใบพืชน้ำ ไข่ใช้เวลา 4-5 วัน จึงฟักเป็นตัวหนอน เจริญเติบโตจนกระทั่งเข้าดักแด้ และออกเป็นตัวเต็มวัย หิ่งห้อยมีวงจรชีวิตอยู่ 3-12 เดือน แล้วแต่ชนิด โดยทั่วไปแล้ว หิ่งห้อยบก( หิ่งห้อยโคก) มีวงจรชีวิตนาน ถึง 1 ปี ในขณะที่หิ่งห้อยน้ำส่วนใหญ่มีวงจรชีวิตสั้นกว่า

ช่วงตัวอ่อน หิ่งห้อยอาศัยตามดินเลน ส่วนตัวเต็มวัย กลางวันหลบซ่อนอยู่ตามใบวัชพืชต้นเตี้ยๆ ใกล้พื้นดิน พอพลบค่ำจึงบินขึ้นไปเกาะตามต้นไม้สูงและกระพริบแสงพร้อมกัน เพื่อสื่อสารกัน  



การกำเนิดแสงหิ่งห้อย

แสงของหิ่งห้อยนั้น มีช่วงแสงที่มนุษย์สามารถมองเห็นได้ลักษณะเป็นแสงเย็น โดยมีพลังงานความร้อนเกิดขึ้นเพียง
10 เปอร์เซ็นต์ จึงแตกต่างจากหลอดไฟทั่วไป ที่ปล่อยพลังงานความร้อนออกมาถึง 95 เปอร์เซ็นต์

อวัยวะที่ทำให้เกิดแสงของหิ่งห้อย อยู่ด้านใต้ของปล้องท้อง 2 ปล้องสุดท้ายในตัวผู้
และ 3 ปล้องสุดท้ายในตัวเมีย ภายในปล้องมีเซลล์ขนาดใหญ่เรียกว่า โฟโต้ไซต์ อยู่จำนวน
7,000-8,000 เซลส์ เรียงกันอยู่เป็นกลุ่มรูปทรงกระบอกหลายกลุ่มภายใต้ผนังลำไส้ใส โฟโต้ไซต์จะเป็นที่ทำให้เกิดแสง มีท่ออากาศและเส้นประสาทเข้าไปหล่อเลี้ยงจำนวนมาก
  
แสงของหิ่งห้อย เกิดจากปฏิกิริยาชีวเคมีในร่างกายเริ่มจากสมองหลั่งสารเคมีชื่อ ไนตริกออกไซด์
ส่งสัญญาณไปที่เซลล์ส่วนท้อง ให้กระตุ้นการทำงานของเอ็นไซม์ โดยใช้ออกซิเจนร่วมด้วย แปลงสารเคมีในเซลล์เกิดเป็นพลังงานแสง โดยสารลูซิเฟอรีน (Luciferin) ทำปฏิกิริยากับออกซิเจน โดยมีสาร อดิโนซีน ไตรฟอสเฟต (Adenosine   Triphosphate) เป็นตัวให้พลังงานทำให้เกิดแสง ผลึก ยูเรตที่ใต้ผิวหนังด้านท้อง ทำหน้าที่สะท้อนแสง
แสงเป็นผลจากปฏิกิริยาชีวเคมีภายในเซลล์ มีการผลิตแสงโดยไม่ใช้พลังงานความร้อน หิ่งห้อยทั้งตัวอ่อนและตัวโตเต็มวัยสามารถทำแสงได้ แสงของหิ่งห้อยมีสีเขียว อมเหลือง



การกะพริบแสงของหิ่งห้อยแต่ละชนิดแตกต่างกันไป การกระพริบแสงของหิ่งห้อยมีทั้งบินไปกระพริบไป เกาะทำแสงพร้อมกันบนต้นไม้ เช่น หิ่งห้อยที่อาศัยอยู่ตามป่าชายเลนเกาะทำแสงเหมือนไฟต้นคริสต์มาส และเปิดแสงแช่เอาไว้ แล้วบินไปมาคล้ายกับผีกระสือ หิ่งห้อยยังสามารถบอกถึงฤดูกาลได้อีกด้วย โดยเฉพาะพบหิ่งห้อยจำนวนมากบินออกมาผสมพันธุ์กันในช่วงต้นฤดูฝน และมีปริมาณลดน้อยลงในฤดูแล้ง

หิ่งห้อยเริ่มทำแสงเมื่อพระอาทิตย์ตกดินประมาณ 30 นาที และสามารถเห็นแสงได้ชัดเจนในคืนข้างแรมเดือนมืด
หิ่งห้อยกระพริบแสงเพื่อการผสมพันธุ์ และสื่อสารกับเพศตรงข้าม โดยที่ตัวผู้จะเป็นฝ่ายกระพริบแสงก่อน หากตัวเมียเห็นลีลากระพริบแสงแล้วพึงพอใจก็จะกระพริบตอบให้ตัวผู้รู้ว่าอยู่ที่ไหน จะได้บินไปหาคู่ได้ถูก

หิ่งห้อยแต่ละชนิดนั้นมันจะมีลีลาในการกระพริบแสงที่แตกต่างกัน อาทิเช่น การกระพริบแสงช้าเร็วต่างกัน
และลีลาการเปล่งแสงของหิ่งห้อยอาจเป็นไปตามสภาพแวดล้อมที่มันอยู่    




ประโยชน์ของหิ่งห้อย


คือ เป็นตัวบ่งชี้ถึงความสมบูรณ์หรือความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศ และตัวอ่อนของหิ่งห้อยมักดำเนินชีวิตเป็นผู้ล่าเหยื่อ โดยกินไส้เดือนดิน หอย และทากเป็นอาหาร ในการล่าเหยื่อหิ่งห้อยใช้การตามรอยเหยื่อจากเมือกลื่นๆที่เหยื่อทิ้งไว้ตามรอยทางเดิน และเมื่อพบเหยื่อซึ่งโดยทั่วไปจะมีขนาดใหญ่กว่า ตัวอ่อนหิ่งห้อยจะปล่อยสารเคมีบางอย่างออกมาจากเขี้ยว (ซึ่งในแมลงเรียกว่า mandible แต่ในสัตว์มีกระดูกสันหลัง mandible หมายถึงขากรรไกรล่าง) ซึ่งจะมีฤทธิ์ทำให้เหยื่อเป็นอัมพาต หลังจากนั้นก็จะจับเหยื่อกินเป็นอาหาร

อาหารของหิ่งห้อย


ระยะที่เป็นตัวหนอน หิ่งห้อยกินหอยขนาดเล็กเป็นอาหาร ซึ่งหอยหลายชนิดเป็นพาหะนำโรคมาสู่มนุษย์และสัตว์ เช่น โรคพยาธิใบไม้ในลำไส้ โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เป็นต้น และหอยบางชนิดเป็นศัตรูที่สำคัญของเกษตรกร เช่น ลูกหอยเชอรี่ เป็นศัตรูสำคัญที่กัดกินต้นข้าวในระยะลงกล้าและปักดำใหม่ๆ
ตัวอ่อนของหิ่งห้อยจะทำหน้าที่เป็นตัวห้ำกัดกินหอยเชอรี่ ทั้งที่เป็นลูกหอยและโตเต็มวัย นอกจากหอยต่างๆ แล้ว พวกกิ้งกือ ไส้เดือน และแมลงตัวเล็ก ก็ยังเป็นอาหารของหิ่งห้อยอีกด้วย
ใครจะรู้เล่า แมลงเล็กๆนี้ ช่วยรักษา ระบบนิเวศแห่งท้องทุ่งนาเฮา


            นอกจากนี้ยังมีการพบว่า ตัวอ่อนหิ่งห้อยสามารถกินอาหารที่เป็นซากสัตว์ที่ตายแล้วได้ และเมื่อหิ่งห้อยโตเต็มวัยโดยทั่วไปมันจะกินนำหวานจากดอกไม้เพื่อใช้สร้าง พลังงานในการดำรงชีวิต ในระยะนี้หิ่งห้อยจะยังมีเขี้ยวอยู่ หิ่งห้อยบางชนิดใช้การพรางตัวเพื่อทำทีว่า "อยากจะผสมพันธุ์กับหิ่งห้อยอีกชนิดหนึ่ง" แต่จริงๆ แล้วก็เข้าไปเพื่อจับหิ่งห้อยอีกชนิดหนึ่งกินเป็นอาหาร


ส่วนในระยะโตเต็มวัย หิ่งห้อยจะอาศัยกินเฉพาะน้ำค้างเป็นอาหารเท่านั้น
  


ขอบคุณ ทุกภาพทุกข้อมูล จาก อินเตอร์เน็ต  มิได้มีเจตนาละเมิดเพื่อประโยชน์ส่วนตัว
หวังเพียงเป็น วิทยาทานแด่ มวลหมู่สมาชิก ได้เรียนรู้ แมลงตัวเล็ก ๆ ที่ไม่มีสิทธิ์เลือกตั้ง

 
 
สาธุการบทความนี้ : 702 ครั้ง
ให้สาธุการบทความนี้
 
 
  14 มี.ค. 2554 เวลา 17:34:29  
        offline  ติดต่อหลังเวที  ติดต่อโดยเมล์ ตอบอ้างอิง  
 
  ปิ่นลม    คห.ที่131) แมงเลี้ยงน้อง  
  เซียน

ภูมิลำเนา : สกลนคร
สมาชิกภาพ : สมาชิกชมรมฯ
เข้าร่วม : 16 มี.ค. 2553
รวมโพสต์ : 2,213
ให้สาธุการ : 180
รับสาธุการ : 5,444,730
รวม: 5,444,910 สาธุการ

 



ชื่อพื้นบ้าน
  แมงเลี้ยงน้อง (กวีขี้อาย)
ชื่อสามัญ              ด้วงดินขอบทองแดง
ชื่อวิทยาศาสตร์     Mouhotia batesi Lewis
วงศ์ Carabidae


ลักษณะทางกายภาพ


เป็นด้วงดินที่มีขนาดใหญ่สีดำ ลำตัวยาวประมาณ 3-5 เซนติเมตร
ส่วนหัวมีลักษณะแบน ใต้เขี้ยวมีขนสีน้ำตาล
หรือดำบริเวณขอบของส่วนอกและขอบปีกมีสีทองแดง  
มีกระดองที่สวยงาม ไม่มีปีก มีแต่กระดอง
พื้นลายกระดอง เป็นร่องเล็ก ๆ ถี่ๆ
ส่วนใหญ่ มีสีที่ขอบกระดอง และ ขอบคอ เป็นสีทองแดง หรือ สีเหลี่ยมๆ
บ้างก็มี สี สิ่วๆ ( เขียวอมม่วง) ที่สวยงามที่สุด คือมีขอบสีเหลืองทองคำ



ภาพแสดง ลักษณะทางกายภาพของ แมงเลี้ยงน้อง



แมงเลี้ยงน้อง
หรือ ด้วงดินขอบทองแดง
เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง
ที่ได้ประกาศอยู่ในบัญชีท้ายกฎกระทรวง
ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2537) ออกตามความ
ในพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535
และประกาศในราชกิจจานุเบกษาฉบับกฤษฎีกาเล่ม 111
ตอนที่ 31ก ลงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2537



การดำรงชีวิต

ชอบอาศัยอยู่ตามพื้นดิน ตามป่าโคก ที่มีเศษซากพืชทับถม
และมีความชื้นค่อนข้างมาก กินกิ้งกือและตะขาบเป็นอาหาร
จึงจัดว่าเป็นตัวห้ำ(predator) อีกชนิดหนึ่งในระบบนิเวศ ฯ
สำหรับในประเทศไทยนั้นมีรายงาน
ว่าพบที่ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อีสานบ้านเฮา




ความเกี่ยวพันกับ วิถีชาวอีสาน

  เมื่อถึงฤดูลงนา หรือ ฤดูทำนา ชาวนาอีสานส่วนมาก
มักจะขนย้ายสิ่งของเครื่องใช้ลงไป " นอนนา"
พ่อและแม่มักจะมีงานยุ่ง จนไม่มีเวลาดูแลลูกน้อย เพราะฉะนั้น หน้าที่ในการ
ดูแลน้องๆ จึงตกเป็นของ ผู้เกิดก่อน หรือ พี่ผู้โตกว่า ดูแลป้อนข้าวป้อนน้ำ
เอาลงนอนอู่ แกว่งไกวสายเปล "ทั้งอุ้มทั้งพาย"

แมงเลี้ยงน้อง เป็นแมลงที่มี กระดองแข็งสวยงาม
เมื่อมันตายลง จะทิ่งกระดองแข็งพร้อมสีสรร ไว้ยลโลก
ตามความเชื่อของคนอีสานแล้ว หากนำกระดองของแมลงชนิดนี้ มาร้อยเชือก
แล้วทำเป็นสายสร้อย คล้องคอ" น้องเล็ก "  จะทำให้ เลี้ยงง่าย ไม่โยเย
ไม่ค่อยเจ็บไข้ได้ป่วย




ผู้เป็นพี่ ( เอื้อย , อ้าย ) มักจะอุ้มกระเตงน้อง ( เจ๊ะ )
เดินดุ่มๆ เลี้ยงวัวควาย ตามหัวไร่ปลายนา ต่างสอดส่ายสายตาตาม พุ่มไม้
เนินทรายหัวดอน มองหา " แมงเลี้ยงน้อง" ,มองหากระดองฮ้าง
ถ้าพบตัวเป็น จะไม่ฆ่า เพื่อเอากระดอง เพราะถือว่า จะลดทอนอายุน้อง
จะมองหาเฉพาะซาก หรือ ตัวแมงที่ตายแล้ว ทิ้งเพียงกระดองสีสวยไว้ข้างพุ่มไม้
ยิ่งถ้าพบ กระดองเหลืองทองคำแล้ว ถือว่าเป็นโชค รีบนำมาล้างน้ำแล้วร้อยเชือก
คล้องคอรับขวัญน้อง ให้ " อยู่ดีมีแฮง"




ของขวัญล้ำค่า หาใช่ เพชรนิลจินดา แต่เป็นเพียงเปลือกของแมลงตัวจ้อย
ผู้คลานคลำ ตามป่านาดอน ซุกซ่อนตามขี้ขอนดอก แต่เป็นความผูกพัน และห่วงใย
ของสถาบันครอบครัว "คือสายสร้อยแมงเลี้ยงน้อง"  

แมลงชนิดนี้นับวันจะสูญหาย เนื่องจากป่าไม้ ส่วนใหญ่ถูกทำลาย
และผืนดินขาดความสมดุลย์ชีวภาพ หลงเหลือเพียงให้เห็นตาม
วนอุทยาน หรือ อุทยานแห่งชาติบางแห่งเท่านั้น   จึงไม่แปลกที่ ลูกหลานชาวอีสาน
ไม่รู้จักแมลงชนิดนี้  เมื่อ 20 ปีก่อน พบได้ตาม ป่าหัวดอน หัวนา ทั่วไป
เพราะดินดี มีความหลากหลายทางชีวภาพ
ปัจจุบันประกาศให้เป็น สัตว์สงวนแล้วครับ


ขอบคุณทุกภาพ จากอินเตอร์เน็ต ครับขะน้อย

 
 
สาธุการบทความนี้ : 774 ครั้ง
ให้สาธุการบทความนี้
 
 
  06 พ.ค. 2554 เวลา 17:42:01  
        offline  ติดต่อหลังเวที  ติดต่อโดยเมล์ ตอบอ้างอิง  
 
  ปราร้านอกไห   ตอบเต็มรูปแบบ || Quick Reply  
  หน้า: 1 2 3 4 5

   

Creative Commons License
สารานุกรม แมงไม้ ใน อีสาน --- ปลาร้านอกไห (ปลาร้านอกไห --- อีสานจุฬาฯ)