ผญา คติสอนใจประจำวันที่ 26 เมษายน 2568:: อ่านผญา 
คันว่าฟันขวานค้างอย่าวางใจเถิงเลื่อย มันสิหลงบาดโย้ขวานสิเสี้ยวใส่มือ แปลว่า หากกำลังใช้ขวานอยู่ อย่ามัวคิดถึงแต่เลื่อย ขวานอาจจะฟันมือเอาได้ หมายถึง ควรมีใจจดจ่ออยู่กับงานที่ทำ พอใจในของที่ตนมีอยู่

สารานุกรมแมลงแห่งอีสาน  

มิ้ม...สารานุกรมแมลงแห่งอีสาน --- โดยอีสานจุฬาฯ
มิ้ม




ชื่อภาษาอีสาน  มิ้ม
ชื่อภาษากลาง ผึ้งมิ้ม
ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Apis florea Fabricius
ชื่อสามัญ  The Dwarf Honey Bee
อันดับ: Hymenoptera
สกุล:Apis

ถิ่นที่อยู่ แถบเอเชียใต้ เอเชียตะวันตก เอเชียตะวันออก
ละเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ
มิ้ม เป็นผึ้งที่มีขนาดเล็กที่สุด รวงผึ้งมีขนาดเล็ก
มีประชากรประมาณ 6,000 - 10,000 ตัว/รัง
เป็นรวงชั้นเดียวมีรูปร่างเกือบเป็นวงกลม บางครั้งก็เป็นรูปไข่ไก่
มีขนาดตั้งแต่ 10 ซม. ถึง 30 ซม.
รวงผึ้งจะทำติดอยู่กับกิ่งไม้ ในพุ่มไม้เตี้ย ๆ เช่น ในกอไผ่
พุ่มไม้หนาม  ต้นไม้ครึ้มขนาดกลาง มักจะปกปิดรังของมันอยู่ในซุ้มไม้
และกิ่งไม้เพื่อพรางตาป้องกันศัตรู ทำรังไม่สูงนัก
อีกสายพันธุ์หนึ่งของมิ้ม คือ A. andreniformis เรียกว่า มิ้มน้อย
บางท้องถิ่นเรียกว่า “ผึ้งม่าน”
พวกนี้มีสีดำสลับขาวและตัวเล็กกว่ามิ้มปกติ  ถือว่าพบได้ยากแล้วในปัจจุบัน

เนื่องจากมิ้ม เป็นผึ้งขนาดเล็กและบินหาอาหารได้ไม่ไกล
ทำให้มีน้ำผึ้งน้อย และมีการอพยพทิ้งรังบ่อย  ๆ  อาหารของเขาคือ
น้ำหวานเกสรดอกไม้ ดอกหญ้า ในนิเวศ
-ขนาดของผึ้งมิ้ม ขนาดลำตัวยาว 7 มิลลิเมตร ส่วนอกกว้าง 2.60 มิลลิเมตร
ความยาวของลิ้น 3.40 มิลลิเมตร
โดยปกติ ไม่มีเหล็กใน แต่จะมี “มิ้มทหาร” จำนวนหนึ่ง ที่มีเหล็กใน  
ซึ่งผึ้งมิ้มอาศัยแลกเปลี่ยนตัวอ่อนกับผึ้งป่า
นำมาเลี้ยงไว้ในรัง ทำหน้าที่ปกป้องรังเท่านั้น  เรื่องนี้ ยังเป็นปริศนา
ว่ามิ้มทำได้อย่างไร หรือด้วยวิธีการใด
บางรังไม่มีมิ้มทหาร เพราะแลกเปลี่ยน หารังผึ้งป่าผูกมิตรไม่ได้  
จึงถูกมนุษย์ตัดรังเอาน้ำผึ้งได้ง่ายกว่าชนิดอื่น



ลักษณะนิสัย
- ไม่ดุร้าย ชอบร่มไม้เย็นๆ สงบ ๆ ไม่มีเสียงรบกวน ชอบอยู่ใกล้แหล่งน้ำ
- หากินในช่วงสาย ถึงบ่าย
- ชอบระบบนิเวศที่สมดุล อากาศดี พื้นบริเวณไม่มีสารพิษ
- อพยพบ่อยบ่อย เพื่อตามหาแหล่งน้ำและอาหารตามฤดู



อายุของมิ้ม
ตัวนางพญา มีอายุ  3  ปี
ผึ้งงาน   3 เดือน
ผึ้งเพศผู้  4 สัปดาห์ (จะมีเฉพาะต้นฤดูฝน)
ถ้าอ่านแล้วไปเทียบกับตำราผึ้งฝรั่ง อย่าตกใจเด้อ ผึ้งไทยนั้น อายุยืนกว่าผึ้งฝรั่ง  
แต่จะว่าไป เจอมนุษย์เข้าไปก็ อายุสั้นทุกรัง  

วงจรชีวิต
ชีวิตน้อย  ๆ ของมิ้มนั้น น่ารัก ไม่ก่อมลพิษ มีวงจรชีวิต อยู่ 4  ขั้นคือ
ระยะไข่  ระยะหนอน  ระยะตัวอ่อน  และ ตัวเต็มวัย  รายละเอียดตามภาพฉายด้านล่าง


ประโยชน์ของมิ้ม
ช่วยในการผสมเกสร ให้พืชพันธุ์ขยายพันธุ์  ระบบนิเวศสมดุล  โลกใบนี้ขาดแมลงจำพวกนี้ไม่ได้
ไม่งั้นจะ ฉิบหายภายในปีเดียวเชียวแหละ  เขามีความสำคัญมาก โดยที่เราไม่ค่อยใส่ใจนัก
ว่าโลกสร้างผึ้งมาไว้ทำไม ?  สายใยแห่งธรรมชาตินั้นลึกซึ้งเกินปัญญามนุษย์
เขาช่วยให้เรา มีอาหาร  มีผลไม้  มีดอกไม้ มีพืชพันธ์ มีความอุดม
ในยุโรปนั้น บางประเทศขาดแคลนผึ้งไว้ผสมเกสร แอฟเปิล อง่น ลูกพีช พลัม ทานตะวัน
แอลมอ่น  ฯลฯ  ทำให้เดือดร้อนหนัก ผึ้งสูญพันธุ์  ต้องนำเข้าผึ้งไปเลี้ยงทดแทนธรรมชาติ
ใครตีรังผึ้งในธรรมชาติ หล่ะก็  ผิดกฏหมาย  พุ้นเด้อ





ในความเกี่ยวพันธ์กับวิถีชีวิตคนอีสาน    
เผิ่งมิ้ม หรือ ผึ้งมิ้ม เป็นแมลงถิ่น เป็นส่วนหนึ่งของทรัพยากรธรรมชาติ
เป็นระบบนิเวศ น้องนา ป่าโคก
สุภาพบุรษ เลี้ยงวัวเลี้ยงควาย ตามเดิ่นดอน  มักพบเห็น
และ อูดมิ้ม โดยใช้ควันยาสูบ หรือควันไม้
ไล่มิ้ม แล้วตัดเอารังมาชิมน้ำหวาน ตุ้ยคำข้าวเหนียว  
หรือก็เอาไปดองสุราเป็นยาชูกำลัง
ว่ากันว่า มีคาถาถาษี ในการกันเผิ่ง กันมิ้มตอด ขณะเอารังแมลงชนิดนี้ว่า
โอม ! สะ หัม ดำมิ้ม หิม สะ ฮี  บินหวี่ ๆ  บน โบ้น...!  ขะโย้ม..
อย่างใดก็ตาม การเอามิ้ม ล่ามิ้ม บ่มีการนำมาขายค้า เอาแค่กิน
รังไหนยังไม่มี “หัวน้ำ”  พวกเขามักจะปล่อยไว้ ไม่ระราน
ไม่ได้ล่าตั้งจิตตั้งใจ ขนาดนั้น
ถือแค่ว่า หยิบฉวยมาใช้ประโยชน์ตามกะเยิม
เป็นบรรณาธิการจากธรรมชาติมากกว่า



กล่าวสรุป
   ผึ้งมิ้ม  เป็นผึ้งที่จำเป็นต้องอนุรักษ์  เพราะมีเหลืออยู่เพียงเล็กน้อยในประเทศไทย  
เนื่องจากเป็นผึ้งที่ไม่ดุร้ายถูกล่าตีหรือเผารังเพื่อนำน้ำผึ้งมากินได้ง่ายๆ  
ถูกนักล่าผึ้งมิ้มทำลายเพื่อนำน้ำผึ้งมาขาย ซ้ำป่าท้องถิ่นก็ถูกทำลาย
พื้นที่การเกษตรต่างๆ ก็ เปื้อนปนสารพิษ กลายเป็นผึ้งที่ใกล้สูญพันธุ์ไปในที่สุด
  แมลงจำพวกผึ้ง จำเป็นมากต่อระบบนิเวศของโลก มีคุณประโยชน์มหาศาลต่อมวลมนุษย์
หากชอบตีผึ้ง ชอบน้ำหวานผึ้ง ปัจจุบันก็สามารถเพาะเลี้ยง เป็นอุตสาหกรรมครัวเรือนได้แล้ว
ไม่จำเป็นต้องไปกอบโกย รังแก จากธรรมชาติที่เหลือน้อย กระทั่งสาบสูญหายไปในท้องถิ่น

ขอขอบคุณทุกท่านที่อ่าน ขะรับ จาก ปิ่นลม พรหมจรรย์ ผู้เรียบเรียง


 
Creative Commons License

ชมรมอีสานจุฬาฯ... สารานุกรมแมลงแห่งอีสาน