ผญา คติสอนใจประจำวันที่ 26 เมษายน 2568:: อ่านผญา 
เป็นญิงก็ให้เป็นญิงแท้อย่าเป็นญิงมักง่าย ยิงกะยิงแท้แท้แนแล้วจั่งยิง แปลว่า เป็นหญิง(หรือยิง) ก็ให้เป็นหญิงจริงๆ อย่าเป็นหญิงมักง่าย ยิง ก็ให้ยิงจริงๆ เล็งแล้ว ค่อยยิง หมายถึง จะเป็นอะไร ขอให้เป็นให้สมบูรณ์ เป็นให้ดีที่สุด

สารานุกรมอาหารแห่งอีสาน  

ก้อยกะปอม...สารานุกรมอาหารแห่งอีสาน --- โดยอีสานจุฬาฯ
ก้อยกะปอม




ชื่อพื้นบ้าน ก้อยกะปอม
ชื่อภาษาอังกฤษ  Koy  Lizards Ka
ชื่อภาษไทย   กิเลนทรงเครื่อง

ช่วง มี.ค. – เม.ย. นี้ เมนูนี้เป็นที่ ระทึกใจสำหรับชาวอีสาน เนื่องจากเป็นอาหารตามฤดูกาล
ปีหนึ่งกิน ก้อยกะปอมแค่ห้วงนี้เท่านั้น อาจเป็นที่รบกวนใจสำหรับผู้รักสัตว์ แต่อาหารอีสาน
เมนูนี้ เป็นวัฒนธรรมการกินของท้องถิ่น ซึ่งมีความผสมผสมสาน อย่างลงตัว
ชี้ให้เห็น บทบาทหน้าที่สำคัญของระบบนิเวศน์ และความเข้าใจธรรมชาติของผู้คนชนบท
ก้อยกะปอม หรือ “กิเลนทรงเครื่อง” เป็นอาหารท้องทุ่ง ที่ปรุงจริตโดยธรรมชาติสิ่งแวดล้อม
คาดว่ามีกินมานาน นับตั้งแต่มนุษย์อีสาน รู้จักใช้ไฟในการปรุงอาหาร ยุคก่อนประวัติศาสตร์
จนรุ่งเรืองในยุค กวาดต้อน โยกย้ายผู้คน สู่ดินแดนอันแห้งแล้ง รกร้าง ป่าเต็งรัง ป่าโคก โสกหิน



ปัจจุบันอาหารชนิดนี้หากินยากยิ่ง เพราะทรัพยากรป่าโคก และระบบนิเวศน์แห่งอีสาน ถูกทำลายลง
จนขาดสมดุล ความหลากหลายทางชีวภาพลดลง ความมั่นคงมั่งคั่งทางอาหารลดน้อยตามลำดับ

กะปอมก่า ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Calotes versicolor
เป็นสัตว์บก – สัตว์เลื้อยคลาน แห่งระบบนิเวศน์  มีหน้าที่ผดุงควบคุมจำนวนแมลงศัตรูพืช
และเป็นอาหารของสัตว์ชนิดอื่นตามห่วงโซ่อาหาร บ่งบอกถึงสภาพระบบนิเวศน์ที่สมบูรณ์
พบเห็นทั่วไป ตามป่าโคก ป่าเต็งรัง ท้องไร่ ท้องนา  เป็นสัตว์ประจำแผ่นดินถิ่นอีสาน



กระปอมแดง (Red headed lizard ) คือกิ้งก่าอีกสายพันธุ์ ที่ตัวเล็กกว่า กะปอมก่า ขยายพันธุ์ได้ทุกฤดู
ชอบป่าเสื่อมโทรม สวนผัก ไร่นาทั่วไป ไม่ชอบป่าทึบมากนัก  พบเห็นได้ทั่วภูมิภาค

การกินก้อยกะปอม นิยมกินในช่วงเดือน มี.ค.- เม.ย. เท่านั้น นอกจากนั้นจะเมินเฉย ไม่ล่าไม่กิน
เพื่อปล่อยให้มันทำหน้าที่ตามระบบนิเวศน์  พิจารณาแล้ว ไม่ใช่การล้างผลาญ
แต่เป็นการดำรงอยู่อย่างเข้าใจ ในธรรมชาติของ บรรพบุรุษ ผู้กินกิเลนทรงเครื่อง


การหาวัตถุดิบ
1.การคล้องกะปอม
- อุปกรณ์ มีเพียง “ไม้แส่” ขนาดยาวเหมาะมือ และ “เชือกบ่วง” ติดปลายไม้  เดินลัดเลาะตามทุ่ง
อาศัยสายตาเสาะหา กะปอมผู้มักอวดโฉมตอนเช้า – สาย ความจริงแล้ว กะปอมเป็นสัตว์เลือดเย็น
ต้องอาศัยพลังงานความร้อนจากดวงอาทิตย์ ในการเติมพลังให้ร่างกาย ว่องไว รวดเร็ว
เช้าๆ จึงออกมาอาบแดด เพื่อเติมพลังและ เกี้ยวพาตัวเมีย ในการอวดสีสัน วิธีนี้นุ่มนวล



2. การยิงกะปอม
- อุปกรณ์ คือหนังสติ๊ก  “หมากกันถุน “ อันนี้ รุนแรง สักหน่อย แต่ต้องอาศัยความแม่นยำ เรียกว่า ฝีมือ
3. การปีนกะปอม
- เมื่อแดดแรงกล้า กะปอมมักว่องไว หนีขึ้นต้นไม้รวดเร็ว อาศัยฝีมือไม่ได้ ต้องอาศัย “ฝีเท้า” ในการป่ายปีน
ไล่ให้กะปอมให้จนมุมบนยอดไม้ จนกระโดดหนีลงมาด้านล่าง ให้ได้วิ่งไล่กวด จับทันก็ทัน ไม่ทันก็อด พะนะ


ส่วนประกอบของ ก้อยกะปอม
1.กะปอมก่า หรือ กะปอมแดง
2.บักม่วงป่า (มะม่วงป่า ) หรือมะม่วงสอ ก็ได้
3.เกลือสินเธาว์หนองคาย ,สารคาม หรือ เกลือขี้ทา  ร้อยเอ็ด
4.ข้าวคั่ว น้ำปลาแดก
5.บักบั่ว ผักหอม  หัวซิงไค ตามแต่หาได้


6.พริกแห้ง พริกป่น พริดสด เก็บเอาตาม”โพน” เพราะพริกโพน
  ปลอดสารเคมี มีรสชาติ เผ็ดแซบถึงใจ
7.ผักกินกับ เช่นผักกะโดน ผักติ้ว ผักสะเม็ก  ผักตูมกา
วิธีการปรุง กิเลนทรงเครื่อง
1. คัว..ถอดเกล็ด “ไส่ขี้”  โดยการลนไฟ ขอดเกล็ด แปะขี้ ล้างให้สะอาด แล้วนำไปปิ้งไฟให้สุก



2. ฟักกะปอมที่ปิ้งสุกแล้ว  คือการ”สับ” ให้”มุ่นเอ้เล้”  เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยพอประมาณ






3. หั่นผักหอม หั่นพริกสด  “ซอย” มะม่วงป่า เป็นริ้ว เตรียมไว้  นำลงไปคลุก หรือตำก็ได้




4. นำพริกป่น พริกสดหั่น  ข้าวคั่ว หัวสิงไคหั่น ลงไป “คะลน” คลุกเคล้าให้สามัคคีกัน


5. เติมน้ำปลาแดกลงปรุงรส (หากมีผงนัวก็ใส่ลงไป)  อยากได้รสเปรี้ยวก็ ฝานมะม่วงลงคลุกเคล้า



6. ตักใส่จาน พร้อมจัดผักกินกับ มาให้ครบเครื่อง เป็นอันเอวัง


วิตกวิจารณ์ เรื่องรสชาติ
เนื้อกะปอมที่ถูกปิ้ง ย่างไฟจนสุก กลิ่นหอม มีโปรตีนและพลังงาน ปลอดสารพิษ
มะม่วงป่า มีวิตามินซีสูง รสชาติเปรี้ยวกระตุ้นน้ำลาย  ปลอดสารเคมียาฆ่าแมลง
พริกสดปลูกตามโพน ไร่นา มีกรด  ascorbic ช่วยขยายหลอดเลือด ในกระเพาะและลำไส้
ให้ดูดดื่มสารอาหารเต็มที่  อีกทั้งยังมี สาร Oleoresin ช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียในกระเพาะ
นอกจากนั้น พริกที่ปลูกตาม”โพน” ยังมีสาร Capsaicin  ที่ทำให้เกิดรสเผ็ด มีคุณสมบัติ
ในการลดการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ส่วนต่างๆของร่างกาย




ผักหอมพื้นเมืองต่างๆ  ช่วยเพิ่มความอภิรมย์ ในการรับประทาน แก้อาการวิงเวียน สดชื่น
น้ำปลาร้า มีเกลือแร่สูง ทดแทนการเสียเหงื่อจากอากาศร้อน ๆ มีฤทธิ์ถอนพิษจากพืชมอมประสาท
รสชาติเมื่อกินกับข้าวเหนียวแล้ว ช่างวิเศษหาที่ใดเปรียบปาน
กินแล้วรู้สึกกระปรี้กระเปร่า “มีแฮง” ตามภาษาพื้นบ้าน เมื่อพิจารณาองค์ประกอบโดยรวม
ก้อยกะปอมจึงเป็นอาหารวิเศษ เต็มไปด้วยประโยชน์ ที่แผ่นดินประทานมาให้มนุษย์โดยแท้
จนมีคำกล่าวของชาวอีสานว่า “ยังไม่เคยกินก้อยกะปอม อย่าฟ้าวตาย”
เพราะเสียดายเกิดมาเป็นมนุษย์ทั้งที ต้องลิ้มลองเสพรสชาติอันเป็นทิพย์ ของเมนูนี้




สุดท้ายขอฝากไว้ ขอเพียงพี่น้องรักษา ป่าโคก และพันธุ์ไม้ท้องถิ่นประดับไว้ในแผ่นดินตน
รับรอง” กิเลนทรงเครื่อง” มีให้พี่น้องได้กินแซบๆ ทุกปี  หากมีการส่งเสริมปลูกป่าโคก
เพิ่มพื้นที่ป่าให้ชุมชน ส่งเสริมเมนูนี้เป็น สินค้าส่งออก รับรองสร้างรายได้ให้ประเทศแน่นอน


**ขอบคุณภาพประกอบ จาก ส.ภูเพียง  ฯ ผู้ถ่ายทอดวิถีความเป็นอยู่..ขอบคุณอย่างสูงครับ


 
Creative Commons License

ชมรมอีสานจุฬาฯ... สารานุกรมอาหารแห่งอีสาน