|
หน้าบ้าน
|
อีสานจุฬาฯ
|
มูนมังอีสาน
|
ม่วนซื่นโฮแซว
|
ปลาร้านอกไห
|
กระดานข่าว
|
แมลงแห่งอีสาน
|
อาหารแห่งอีสาน
|
สมุดเยี่ยม
|
ประวัติชมรม
ตราชมรม
วัตถุประสงค์ชมรม
วิสัยทัศน์ชมรม
ทำเนียบประธานชมรม
โครงสร้างการบริหาร
คณะกรรมการชมรม
กิจกรรมชมรม
ปฏิทินกิจกรรม
ข่าวสารจากชมรมฯ
Hot Short News
คลังภาพกิจกรรมชมรม
แผนที่ชมรมฯ
ชมรมอีสาน เพื่อนบ้าน
ฮีตสิบสองคองสิบสี่
เรือนสามน้ำสี่
ผญาอีสาน
ดนตรีอีสาน
ฟ้อนรำพื้นบ้านอีสาน
นิทาน
การละเล่น
คำทวย
กลอนอีสาน-ผญา
ประเพณีอีสาน
ฟังเพลงโปงลาง
ดูวีดีโอม่วนๆ
ฟังลายเแคนเฒ่าเก่า
ร้องคาราโอเกะ
ขอเพลงคาราโอเกะ
ภาษาอีสาน
จังหวัดในอีสาน
ของแซบอีสาน
วิถีอีสาน
นิทานพื้นบ้าน
นิทานก้อม
ห้องอักษรไทน้อย
ห้องอักษรธรรมอีสาน
โสเหล่สภาไนบักขามคั่ว
ห้องโสกันฉันพี่น้อง
ห้องลายเพลงพื้นบ้านอีสาน
ห้องอักษรไทน้อย
ห้องอักษรธรรมอีสาน
ผญา คติสอนใจประจำวันที่ 28 เมษายน 2568
::
อ่านผญา
กาบ่มักท่าน้ำสมุทรหลวงกะบ่ว่า กาบ่มักท่าน้ำกะตามถ่อนช่างกา
แปลว่า
กาไม่ชอบท่าน้ำมหาสมุทรก็ช่าง จะไม่ชอบท่าน้ำใดๆ เลย ก็ช่างกา
หมายถึง
ต่างคน ย่อมต่างจิตต่างใจ ไม่ควรบังคับข่มเหง
ค้นหาสาธุการ กระดานสนทนาชมรมอีสานจุฬาฯ
พบทั้งหมด 1 หัวข้อ
หน้า:
1
โพสต์โดย
7)
อีกไม่กี่วันงานพาแลงจุฬาฯก็จะมาถึงแล้ว
มาย เมืองอุบล
คห.ที่15)
[
ไปที่ความเห็นนี้ ในกระทู้นี้
]
ศิษย์ใหม่ไร้วรยุทธ์
ภูมิลำเนา : อุบลราชธานี
เข้าร่วม : 08 เม.ย. 2551
รวมโพสต์ : 1
ให้สาธุการ : 0
รับสาธุการ : 2540
รวม: 2540 สาธุการ
คุณกระบี่โลหิต:
พี่เก่าหลายคนก็ได้เล่าเรื่องราว บรรยากาศเก่าๆของชมรมอีสาน ที่พวกพี่ๆเขาเคยสัมผัสมา..... พี่เองขอเล่าแบบเล่านิทานก็แล้วกันนะ อ่านเพื่อความสนุกสนาน ถ้ามีโอกาสอีก ก็จะหยิบเรื่องราวต่างๆมาเล่าให้ฟังเรื่อยๆนะ
แรกเริ่มเข้าชมรม
ปี 2537 เป็นครั้งแรกที่พี่ได้เข้ามาในกรุงเทพฯ เป็นครั้งแรกที่จะต้องเดินทางไกลจากบ้านเกิดเมืองนอน เพื่อเข้ามาเรียนมาศึกษา แต่ก่อนพี่ไม่เคยคิดเลยว่าจะได้เข้ามาเรียนในบางกอก แต่พอพี่สอบโครงการจุฬาฯ-ชนบทได้ พี่ก็ต้องเดินทางเข้ากรุงครั้งแรก เพื่อเข้ามาสอบสัมภาษณ์ และพี่ก็ได้เข้าเรียนที่คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ จริงๆ พี่มาจากอำเภอวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม เป็นเด็กบ้านนอกจริงๆ คงไม่ต้องให้บรรยายว่าความรู้สึกตื่นเต้นนั้น มันมากแค่ไหน แต่สังคมกรุงเทพฯในสมัยนั้น มันก็ยังไม่เจริญเท่าทุกวันนี้หรอกนะ คนที่มาจากบ้านนอก ใส่เกิบคีบอย่างพี่ ก็เลยพอที่จะปรับตัวอยู่กับเพื่อนๆได้
เข้าชมรมครั้งแรกของพี่นั้น เป็นการชักชวนของเพื่อนๆจุฬาฯ-ชนบทด้วยกัน ที่เขารู้จักกับพี่ๆที่ชมรมก่อน คือ อี้ด ไม่ใช่อี้ด วงฟรายนะ และก็อุ๋ย ที่มาจากอุดร เข้าชมรมพร้อมๆกัน ก็จะมี พี่เล็ก (กระบี่พิฆาต) พี่โจ้(ทวนทระนง) แล้วก็พี่เข้ม ที่มาจากสารคามด้วยกัน และก็เพื่อนๆที่มาจากจังหวัดอื่นอีกมาก พอเข้าชมรมใหม่ๆ พี่ๆเขาก็จะหาอะไรให้ทำ และที่สำคัญคือการให้ฝึกหัดดนตรี ที่จริงแล้ว พี่ๆที่เข้าชมรมพร้อมกัน ไม่มีใครมีพื้นฐานทางดนตรีมาก่อน ก็มีเฉพาะพี่โจ้ ที่เล่นกีตาร์เป็น แต่ดนตรีอีสานไม่มีใครเป็น และก็ไม่ค่อยเคยได้ฟังด้วยนะ อาจจะเป็นเพราะไม่สนใจ หรือว่าไม่ค่อยมีให้ฟังก็มิทราบ แต่ทุกคนที่เล่นดนตรีรุ่นของพี่ ก็มาเริ่มต้นกันที่ชมรมนี่แหละ
ชมรมอีสานคือบ้าน
ตอนเริ่มเข้าเรียน เด็กจุฬาฯ-ชนบท ก็จะได้พักที่หอ อาจจะเป็นเพราะเขาเห็นใจที่มาจากบ้านนอก ก็เลยให้พักอยู่ที่หอ พี่เองก็เช่นกัน ได้พักอยู่ที่หอซีมะโด่งเช่นกัน พักอยู่หอ 2 ไม่รู้ว่าตอนนี้ชื่อหออะไรนะ อยู่หอ 2 ตั้งแต่ปีหนึ่งถึงปีห้า เริ่มอยู่ตั้งแต่ ชั้น 4 ไปจนถึงชั้นสูงสุด (แสดงว่าไม่เคยตกชั้นก็ว่าได้) นานพอสมควร แต่ทำไมพี่ไม่เรียกหอคือบ้าน ทำไมถึงเรียกชมรมอีสานคือบ้าน ก็เพราะว่าชีวิตส่วนใหญ่ของพี่ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่เรียนในกรุงเทพ พี่จะคลุกคลีอยู่กับชมรมอีสานเป็นส่วนมาก บางครั้งอาจจะมากพอๆกับที่ใช้ชีวิตที่คณะเภสัชฯด้วยซ้ำ เริ่มตั้งแต่เข้าชมรมใหม่ๆ และเป็นช่วงที่เข้าเรียนใหม่ด้วยเช่นกัน จากคนที่ไม่เคยอยู่ห่างบ้านไม่เคยอยู่ไกลบ้าน โรคคิดถึงบ้านก็เข้ามารุมเร้า แต่พอได้ขึ้นชมรม ได้เจอพี่ๆ เจอเพื่อนๆ ได้พูดอีสานได้ฟังดนตรีอีสาน มันก็เลยทำให้เราสบายใจ ดังนั้นถ้ามีเวลาว่างพี่ก็จะขึ้นชมรมตลอด หรือบางครั้งไม่ว่างก็ขึ้นไปเหมือนกัน(โดดเรียน..อย่าทำตามนะ ไม่ดี) ตอนนั้น พี่ๆที่ชมรมก็จะมี พี่บัติ(มังกรเดียวดาย)เป็นประธานชมรม พี่ๆรุ่นพี่บัติก็จะมี พี่วิช พี่ทรงศักดิ์ พี่ผู้หญิงก็จะมี พี่แดง พี่หมู พี่สุ (สุโกวเนี้ย ที่กล่าวถึงในบันทึกวังน้ำมอก) และอีกหลายๆท่าน พี่ๆปี 2 ตอนนั้นก็จะมี พี่นุ..จอมยุทธดาวอังคาร (แนบหรือแหนบก็เรียก) พี่ยูไลฝ่ามือพิฆาต พี่เฒ่ามือโปงลาง พี่ชาญ(คนนี้คนละคนกับพี่ชาญ แดนพนมนะ) ส่วนพี่ที่จะได้เจอประจำก็จะมีพี่เทป(สิบสามกระบี่เดียวดาย) และพี่ปี 4 คนที่ขึ้นชมรมบ่อยๆก็คือพี่ชาญ (คนนี้แหละคือชาญ แดนพนม หรือโหวดเสน่หานั่นเอง) ในบ้านชมรมอีสานมิได้มีแค่นี้นะ ยังมีเพื่อนๆพี่ๆที่มิได้เอ่ยนามอีกเยอะ ทั้งที่เป็นคนอีสานและไม่ใช่คนอีสานก็เยอะนะ ในความรู้สึกของพี่ตอนนั้น ชมรมอีสานมันดูอบอุ่น และเป็นที่พักพิงเวลาเราเหงา เวลาเราคิดถึงบ้านได้ พี่จึงเปรียบชมรมอีสานเป็นเหมือนบ้านในกรุงเทพฯของพี่ และพอขึ้น ปี 2 ปี 3 ปี 4 ปี 5 พี่ก็ยังมีความสุขและสนุกสนาน กับการทำกิจกรรมต่างๆในชมรมตลอดมา
ฉายากระบี่โลหิต
กับเรื่องฉายานี่ ก็เหมือนอย่างที่พี่สิบสามกระบี่เดียวดาย เล่าให้ฟังนะ ว่า มาจากที่พวกพี่ๆในสมัยนั้น ชอบอ่านนิยายจีนกำลังภายใน และพี่เองก็เช่นกัน ก็ได้รับอิทธิพล การอ่านนิยายจีนมาด้วยเช่นกัน อ่านกันมาก อ่านทั้งวัน อ่านทั้งคืน ที่อ่านมากๆ ก็จะเป็นเรื่อง มังกรหยก ทั้ง 3 ภาค ตอนนี้จำไม่ได้แล้วว่ามีทั้งหมดกี่เล่ม และมีบางช่วงที่ไปเช่า vdo มาดู ภาคเดียว สามสิบกว่าม้วน ดูทั้งวันทั้งคืน จนตาเปียก แต่นิยายชุดที่อ่านแล้วชอบมากที่สุด ก็จะเป็นนิยายของ โกวเล้ง โดยเฉพาะชุด ฤทธิ์มีดสั้น เรื่องแรกที่ได้อ่าน คือ เรื่องจอมดาบหิมะแดง อ่านแล้วชอบ ก็เลยหาเรื่อง ฤทธิ์มีดสั้น ที่เป็นสมัยของลี้คิมฮวง อ่านแล้วก็มันดี ส่วนเรื่อง เหยี่ยวเดือนเก้า ที่เป็นตอนหนึ่งของชุดนี่ หาอ่านไม่ได้ ไม่มีใครมี ก็เลยไปอาศัยยืนอ่านที่ศูนย์หนังสือจุฬา ซึ่งตอนนั้นมีอยู่ที่เดียว ที่ศาลาพระเกี้ยว ยืนอ่านจนจบเรื่องเลยนะ แต่ไม่ใช่อ่านวันเดียวจบ อ่านหลายวัน บางวันยืนอ่าน 2-3 ชั่วโมงก็มี การยืนอ่านหนังสือที่ศูนย์หนังสือนี่ ก็ได้รับอิทธิพลมาจากพี่เทปนะ เป็นวิธีที่ประหยัด ที่จะทำให้เราได้อ่านหนังสือใหม่ๆ ที่ราคาแพง โดยไม่ต้องซื้อ ใครอยากอ่านก็อ่านได้ ถ้าทนยืนได้ไม่ปวดขา เพราะเขาไม่มีที่ให้นั่ง แต่แอร์ก็เย็นนะ ถึงทนยืนอ่านได้เป็น 2-3 ชั่วโมง ไม่เหมือนร้านหนังสือบางร้านที่พอเราไปยืนอ่านนานหน่อย ก็มักจะมีพนักงาน มาเดินวนเวียนหรือไม่ก็มาปัดฝุ่นบ้าง ถูพื้นบ้าง ให้เรารู้ว่าเขาไล่เรา แต่ที่ศูนย์หนังสือจุฬาฯนี่ไม่มีนะ
มาเข้าเรื่องกระบี่โลหิตกันเถอะ ที่จริงในนิยายที่อ่านก็ไม่มีกล่าวถึง กระบี่โลหิตเลยนะ แต่อย่างที่บอก ชอบเรื่อง จอมดาบหิมะแดง โป๊วอั้งเสาะ ใช้ดาบสีดำ ซึ่งเมื่อดาบออกจากฝักก็มักจะได้เห็นโลหิต โลหิตสีแดง ก็ยึดเอา โป๊วอั้งเสาะนี่แหละมาเป็นฉายา ดังที่พี่วิชเคยกล่าวไว้ว่า ?เสื้อผ้าดำสนิท ฝักดาบดำสนิท ด้ามดาบดำสนิท มือที่ซีดขาวของโป๊วอั้งเสาะกุมอยู่ที่ด้ามดาบอย่างแน่นสนิท แต่ มือของดลนั้นกลับดำสนิท เช่นดั่งดาบที่ดำสนิทของโป๊วอั้งเสาะ? .... แต่อย่างที่ว่า สำนักกระบี่อีสานจุฬา ชื่อก็บอกว่าเป็นสำนักกระบี่ จะให้พี่ใช้ดาบหรือมีดสั้นก็กระไรอยู่ ก็เลยหันมาใช้กระบี่อย่างคนอื่นๆ แต่ ครั้นจะใช้กระบี่หิมะแดง เลียนแบบ ดาบหิมะแดง ของโป๊วอั้งเสาะ ก็คงมิเหมาะเป็นแน่ แต่หิมะแดงนั้น หิมะจริงๆมิได้แดง หิมะก็ยังคงมีสีขาว แต่โลหิตสีแดงต่างหากที่ทำให้หิมะมีสีแดง ก็เลยได้ฉายา กระบี่โลหิต อนึ่ง ในนิยายกำลังภายใน มีการกล่าวถึงมารโลหิต และนิสัยของพี่เองก็เหมือนมารบ้างบางครั้งนะ บางครั้งมืด บางครั้งสว่าง ก็เลยได้ฉายาว่า ?มารโลหิต? แต่สำนักกระบี่อีสานจุฬา ของเรา เป็นสำนักฝ่ายธรรมะ มารโลหิตก็เลยอยู่ไม่ได้ ก็คงเหลือแต่ ?กระบี่โลหิต? นี่แหละ แต่กระบี่โลหิตเล่มนี้ ยังไม่เคยได้ดื่มโลหิต เลยสักครั้ง คงได้ดื่ม แต่สาโท นั่นแหละ
ขึ้นเวทีครั้งแรก
ทำไมพี่ถึงเล่าเรื่องการขึ้นเวทีครั้งแรก ก่อนการกล่าวถึงการฝึกเล่นดนตรี ก็เพราะว่าพี่ได้ขึ้นเล่นดนตรีครั้งแรกก่อนการฝึกเล่นดนตรีเสียอีก เรื่องมีอยู่ว่า จำไม่ได้แล้วว่าเป็นงานอะไร ตอนเข้าชมรมใหม่ๆ เริ่มรู้จักกับรุ่นพี่ที่เป็นนักดนตรีแล้ว และตอนนั้นวงของชมรมมีคิวแสดงที่ศาลาพระเกี้ยว ตอนนั้นพี่ๆที่ชมรมก็เริ่มจะให้ทำความรู้จักกับเครื่องดนตรีแล้ว แต่เล่นยังไม่เป็นสักอย่างหรอก แต่พอพี่ๆชวนไปแสดงก็ไปด้วย ตอนแรกก็คิดว่าจะไปดูพี่ๆเขาเล่นเฉยๆ แต่พอไปแล้ว พี่ๆไปกันน้อย พี่ชาญ ก็เลยเอาชุดให้ใส่และก็ได้ขึ้นเล่นบนเวทีจริงๆ เครื่องดนตรีที่ได้เล่นตอนนั้น คือ ฉาบ ส่วนเพื่อนรุ่นเดียวกันที่ไปด้วยคือ พี่เล็ก(กระบี่พิฆาต) ได้ตำแหน่ง ฉิ่ง เล่นกันมันส์มาก และฉาบเล็กนี่แหละ ก็เป็นเครื่องดนตรีชนิดแรก ที่พี่ได้รับการถ่ายทอดวิทยายุทธ์ จากพี่ชาญ และพี่ทรง และเป็นเครื่องดนตรีที่พี่เล่นได้ถนัดที่สุด
ฝึกวิทยายุทธ์
สมัยนั้นการฝึกซ้อมดนตรีของชมรมอีสานก็เหมือนกับที่พี่คนอื่นเล่าให้ฟังนั่นแหละ ไม่ค่อยมีแบบแผน อาศัยการท่องจำอาศัยความคุ้นเคย อาศัยทายาท ของรุ่นพี่แต่ละคน เริ่มแรกนั้น พี่สนใจที่จะเป่าโหวด เพราะเสียงมันเพราะ และดูว่าน่าจะเล่นได้ง่าย เพราะเป่าอย่างเดียวไม่มีอะไรซับซ้อน แต่เอาเข้าจริงๆเป่าง่ายก็จริง แต่จะเป่าให้ไพเราะและเข้ากับวงได้มันก็ยากอยู่ แล้วก็ได้พี่ชาญ (โหวดเสน่หา)และพี่นุ เป็นผู้ถ่ายทอดให้ แต่มีเครื่องดนตรีอีกอย่างหนึ่งที่เล่นไม่ยาก แต่ไม่ค่อยมีใครเล่นได้ มีแต่พี่ชาญที่เล่น แล้วเวลาแสดงถ้าพี่ชาญเล่นแล้ว ก็จะไม่ได้เป่าโหวดซึ่งพี่ชาญถนัดกว่า เครื่องดนตรีนั้นคือ เบส การเล่นเบสในสมัยพี่เล่นไม่ยากเพราะเราเล่นให้จังหวะเฉยๆใช้โน๊ตไม่กี่ตัวเท่านั้น ก็เล่นได้ ส่วนลูกเล่นต่างๆเล่นไม่ได้ พี่ชาญก็ได้ถ่ายทอดตำแหน่งมือเบสให้ ซึ่งก็เป็นจุดเริ่มต้นของการเป็นนักดนตรีถาวรในวงไปเลย ด้วยเหตุที่ได้ไปเล่นดนตรีกับวงบ่อยๆ ทำให้เริ่มจำลายเพลงต่างๆได้มากขึ้น การฝึกเครื่องดนตรีอย่างอื่นไปพร้อมกันก็ง่ายขึ้น โหวดที่ฝึกเป่าก็เริ่มเป่าได้มากขึ้น บางครั้งที่ไปแสดงดนตรีถ้าพี่ชาญเหนื่อยจากการเป่าโหวด พี่ชาญก็จะมาช่วยเล่นเบส พี่ก็ได้สำแดงฝีมือเป่าโหวดด้วยเหมือนกัน
การฝึกซ้อมดนตรีของพี่นอกจากจะมีโหวดและเบสแล้ว ก็ฝึกหัดอย่างอื่นไปด้วย เพราะไม่ว่าจะเป็นโหวดหรือเบส มันเล่นเดี่ยวๆไม่ได้ แต่เวลาขึ้นไปชมรม เวลาคนไม่เยอะเราก็เล่นไม่ได้ ก็เลยหัดเล่นอย่างอื่น ก็มีพี่บัติ ที่เป็นคนถ่ายทอดให้ เริ่มตั้งแต่ตีกลอง โปงลาง มาพิณ และก็แคนตามลำดับ เล่นแทบทุกอย่างที่มีในชมรม แต่เล่นไม่เก่ง เอาพอเล่นได้ไว้เป็นตัวสำรองเวลานักดนตรีตัวจริงไม่อยู่ โน้ตเพลงก็อ่านไม่เป็นสักตัว
ที่ชมรมเรา นอกจากจะมีการฝึกดนตรีอีสานแล้ว ดนตรีสากลเราก็มีนะ ตอนนั้นที่ชมรม มีกีตาร์โปร่งเก่าๆ อยู่ตัวหนึ่ง และก็หนังสือเพลงเพื่อชีวิต พี่ก็หัดเล่นเหมือนกัน เวลาว่างๆ หรืออยู่เหงาๆคนเดียว ก็จะหยิบกีตาร์มาเล่นและร้องเพลงไปด้วย เล่นเป็นไม่กี่คอร์ตหรอกแต่อาศัยเพลงที่มีแต่คอร์ตง่ายๆ ก็คือเพลงเพื่อชีวิต ชมรมเราก็มีนักกีตาร์หลายคน เริ่มตั้งแต่พี่เทป พี่บัติ ก็เริ่มหัดเล่นกีตาร์ที่ชมรมนี่แหละ ส่วนเพื่อนรุ่นเดียวกันกับพี่ ก็มีพี่โจ้ ที่เชี่ยวชาญกีตาร์มากที่สุด และก็พี่เข้ม ส่วนพี่เล็ก ก็หัดเล่นพอๆกันกับพี่นี่แหละ ส่วนรุ่นต่อมาก็ จะมีพี่คอย พี่กล้า และก็มี เปิ้ลนะที่เล่นกีตาร์ได้ดี
พอกล่าวถึงการหัดเล่นกีตาร์ พี่ก็ขอเล่าถึงเรื่องเพลงค่ายต่อเลยก็แล้วกัน อย่างที่พี่มังกรเดียวดายได้เล่าถึงการทำค่ายกลางปีของชมรมเรานั่นแหละว่า มีการออกค่ายกันทุกปี เรื่องออกค่ายนี่ออกกันปีละหลายๆครั้งด้วยนะเพราะกลุ่มคนที่ชอบกิจกรรมออกค่าย ก็จะออกกันทุกปี ไม่ใช่เฉพาะค่ายของชมรมเรานะ ค่ายของหน่วยจุฬาฯ-ชนบท ค่ายของคณะ ค่ายของจังหวัดแต่ละจังหวัดด้วยนะ ซึ่งก่อนที่จะมีการออกค่ายก็จะมีการเตรียมเพลงค่าย ก็จะรวบรวมเพลงและใส่คอร์ตกีตาร์ด้วย เพลงไหนที่คอร์ตมันยาก ก็แปลงคีย์ ให้เล่นคอร์ตง่ายขึ้น ก็จะทำให้คนที่หัดเล่นกีตาร์ใหม่ๆสามารถเล่นได้ เพลงค่ายมักจะพิมพ์ใหม่กันทุกปีแต่ส่วนใหญ่ก็จะมีเพลงเดิมๆที่เป็นเพลงอมตะ แต่ก็จะเพิ่มเพลงใหม่ๆที่กำลังดังเข้าไปด้วย เวลาออกค่าย หลังประชุมค่ายเสร็จตอนเย็นก็จะร้องเพลงค่ายกัน รุ่นพี่ก็จะพารุ่นน้องร้องเพลงที่น้องไม่เคยร้อง พอจบค่ายก็จะร้องเป็นไปตามๆกัน ส่วนคนไหนที่ชอบก็จะมาร้องกันต่อที่ชมรม ฉะนั้นเวลาเข้าไปในชมรมอีสาน จะไม่ได้ยินเฉพาะการซ้อมดนตรีอีสานนะ บางทีก็ตั้งวงกันร้องเพลงค่ายด้วย ร้องเพลงเพื่อชีวิต รวมถึงเพลงสตริงด้วยนะ เรื่องการร้องเพลงเล่นกีต้าร์นี่ เคยเล่นกันถึงขนาดจะไปเล่นเปิดหมวกที่สวนลุมเลยนะ ตอนนั้นมีพี่ชัช ที่จบศิลปกรรม เข้ามาร่วมเล่นกีต้าร์ที่หอบ่อยๆ นักกีต้าร์ก็จะเป็นพี่ชัช พี่โจ้ ส่วนคนอื่นๆก็ร้อง แต่พอไปถึงที่สวนลุมจริงๆ ไม่กล้าเล่น เปิดหมวก เพราะพากันอาย ได้แต่ไปนั่งเล่นกันเฉยๆ
สรุปเรื่องการฝึกซ้อมดนตรีนี่ พี่ก็ไม่เคยเล่นดนตรีมาก่อน อาศัยการฟังบ่อยๆการเล่นบ่อย ซึ่งกว่าจะเล่นได้แต่ละอย่าง ไม่ใช่ใช้เวลาน้อยๆ ... แต่เราไม่ได้เล่นดนตรีเป็นอาชีพ ก็เลยไม่ ซีเรียสอะไร แต่เล่นไปเล่นมาก็เล่นได้นะ จึงอยากฝากถึงน้องๆที่ฝึกเล่นดนตรีอย่าใจร้อน พอเล่นไม่ได้แล้วก็เบื่อ เลิกเล่น พี่เองก็ฝึกเล่นตั้งแต่ปีหนึ่งถึงปีห้าโน่น ถึงพอเล่นได้บ้าง แต่อย่างว่านะ เราไม่ได้เล่นดนตรีเป็นอาชีพ พี่เก่าชมรมเราที่ใช้การเป่าแคนไปประกอบอาชีพ ก็มีแต่พี่เล็ก (กระบี่พิฆาต)คนเดียว ที่พอจบไปทำงานก็ตั้งวงดนตรีของโรงพยาบาล ไปเล่นให้ความรู้เกี่ยวกับโรคภัยไข้เจ็บแก่ชาวบ้าน (เรื่องนี้เป็นอย่างไร คอยอ่านจากพี่เล็กก็แล้วกัน)
บรรยากาศการบริหารชมรม
สำหรับบรรยากาศของชมรมในสมัยนั้น ก็เหมือนกับที่พี่สิบสามกระบี่เดียวดาย และท่านมังกรเดียวดายเล่านั่นแหละ ทั้งบรรยากาศการซ้อมดนตรี การซ้อมรำ การทำอาหารการกินบนชมรม สำหรับบรรยากาศการบริหารชมรมนั้น หลังจากอยู่ปีหนึ่งที่เข้าชมรม รุ่นพี่ก็จะเริ่มมองหาทายาท ที่จะมารับช่วงชมรมต่อ สิ่งที่ดึงดูดน้องๆให้ขึ้นบนชมรม มากที่สุดคือ เรื่องดนตรีและนาฏศิลป์ ตอนที่อยู่ปีหนึ่งนั้น พี่บัติเป็นประธานชมรม พี่ๆเขาทำอะไร ก็ทำกับเขานั่นแหละ แต่พอขึ้นปี สอง นี่สิเริ่มมีน้องเข้ามาในชมรม พี่ปี 2 ก็จะเป็นผู้หากิจกรรมต่างๆให้น้องทำ สมัยนั้นคณะกรรมการชมรมส่วนใหญ่จะเป็นพี่ปี 2 แทบเกือบทั้งหมด มีประธานชมรมคนเดียวที่ เป็นปี 3 ส่วนพี่ปี 3-4-5-6 ก็จะดูอยู่ห่างๆ เวลามีกิจกรรมก็จะมาร่วมเป็นครั้งคราว ก็มีแต่ที่เป็นนักดนตรีที่อยู่ด้วยกันตลอด ตอนอยู่ปี 2 นี่แหละที่ได้รับตำแหน่งเป็นรองประธานชมรม ตอนนั้นพี่ นุ (พี่แนบหรือแหนบ คนเดียวกัน) เป็นประธานชมรม พอตอนเป็นคณะกรรมการชมรมนี่ รูปแบบการทำกิจกรรมเราก็จะเปลี่ยนไป จากที่ทำกิจกรรมต่างๆที่รุ่นพี่คิด เป็นว่าเราต้องเป็นคนคิดกิจกรรมต่างๆให้น้องทำ นอกจากกิจกรรมที่เราจะต้องทำกันภายในชมรม ภายในมหาวิทยาลัยเราแล้ว ก็ต้องมีการติดต่อประสานงานกับหน่วยงานภายนอก ติดต่อกับชมรมอีสาน ของมหาวิทยาลัยอื่นด้วย ทั้งธรรมศาสตร์ มหิดล เกษตร มศว. ลาดกระบังและอื่นๆอีก มันก็ทำให้เราได้รู้จักเพื่อนในหลายๆสถาบันด้วย ตอนเป็นกรรมการชมรมนี่นอกจากพี่จะรับบทบาทของการเป็นนักดนตรี ฝึกซ้อมดนตรี สอนดนตรีแก่น้องๆ และสร้างกิจกรรมในชมรมแล้ว เรายังได้ฝึกอะไรหลายๆอย่าง ที่พี่คิดว่าเราได้นำไปใช้จริงๆตอนที่เราไปทำงาน เช่นในเรื่องของการติดต่อประสานงาน กับที่ต่างๆ อีกอย่างก็คือการที่เราทำแผนงาน โครงการต่างๆ เรื่องการทำแผนงาน โครงการ เวลาเราเรียนจบออกไปทำงาน เราก็ได้ทำเหมือนกับตอนที่เราทำกิจกรรมนี่แหละ เพราะก่อนที่จะเป็นกิจกรรมแต่ละอย่างออกมา เราก็ต้องมีแผนงานประจำปี มีการเขียนโครงการเพื่อของบประมาณจากกองกิจการนิสิต เวลาทำกิจกรรมเสร็จก็ต้องมีการสรุปผลโครงการเพื่อขอเบิกเงิน ตอนไปทำงานจริงขั้นตอนต่างๆก็คล้ายๆกันนี่แหละ ใครเขียนโครงการเก่งก็มีงบประมาณมาทำงานเยอะ ที่ชมรมเรานี่ก็เป็นแหล่งฝึกงานการทำโครงการที่ดีที่หนึ่งเลยนะ
พอพี่ขึ้นปี 3 (ปี 2539 ) พี่ถูกเลือกให้เป็นประธานชมรม ก็หนักใจนะ เพราะที่คณะที่พี่เรียน วิชาเรียนตอนปี 3 นี่ค่อนข้างจะเรียนกันหนัก แต่ก็อย่างว่านะ พี่ประธานคนก่อน ก็คือพี่นุ ก็เรียนคณะเดียวกัน พี่เขายังทำได้เลย พี่ก็เลยต้องทำต่อ แต่ตอนนั้นรุ่นน้องที่เข้ามาเป็นกรรมการชมรม คือรุ่นของพี่ญัติ รุ่นนี้เขาเป็นปึกแผ่นกันมาก ส่วนเพื่อนร่วมรุ่นเดียวกันก็ช่วยกันทำงานมิได้ขาด ไม่ว่าจะเป็น พี่เล็ก พี่โจ้ พี่เข้ม พี่ผู้หญิงก็จะมีพี่อิงอร พี่พอน พี่นพ พี่แจ๋ว และอีกหลายๆคน ไม่เคยทอดทิ้งกันนะ ช่วยดูแลตลอดเวลา ช่วงที่เป็นประธานนี่ ก็มีพี่บัตินะที่เป็นที่ปรึกษา ทำอะไรพวกพี่ก็คุยกันตลอด และก็พี่บัตินี่เองที่เป็นปรมาจารย์สอนดนตรีแก่น้องๆ ส่วนเรื่องการฟ้อนรำ พี่ๆผู้หญิงเขาจะเป็นผู้ถ่ายทอด นอกจากชมรมเราจะมีการเล่นดนตรีและนาฏศิลป์แล้วเรายังมีการเล่านิทานก้อม นิทานแลง นิทานเป็นตาขี้เดียดเวลากินข้าว รวมไปถึงนิทานเสียวสวาท ก็มี นอกจากนั้นก็มีการสอย การต่อเพลง การต่อเพลงนี่ สมัยนั้นเราชอบร้องเพลงกันสดๆ คือไปไหนมาไหน มองเห็นอะไร หรือใครคิดอะไรได้ก็จะนำมาร้องเป็นเพลงต่อกันไปเรื่อยๆ เป็นที่สนุกสนาน แต่น่าเสียดายที่พวกพี่ไม่ได้บันทึกไว้ ถ้าตอนนั้นพากันอัดเทปไว้ ตอนนี้พวกพี่คงมีเพลงออกเทปได้เป็น 10 อัลบั้มเป็นแน่แล้ว (พูดเล่นนะ เพลงที่แต่งมีแต่เพลงมั่วๆ และก็ดำน้ำ ถ้าออกเทปจริงคงต้องได้ ล็อกคอแจก เป็นแน่)
ปรับเปลี่ยนเครื่องดนตรี
ตอนพี่เป็นประธานชมรมนี่แหละ ที่พี่เริ่มที่จะศึกษาเกี่ยวกับศิลปะวัฒนธรรมอีสานเราอย่างจริงๆจังๆ โดยเฉพาะเรื่องดนตรี จึงร่วมกันคิด โดยเฉพาะกับพี่บัติ ว่าทำอย่างไร เราจึงจะพัฒนาวงดนตรีของเราให้ดีขึ้นได้ เพราะตอนนั้น ถ้าวงเราเล่นกันเองฟังกันเองในชมรมเรา ระดับฝีมือก็พอใช้ได้อยู่หรอก เสียงเครื่องดนตรีก็ไพเราะดีอยู่หรอก แต่ถ้าไปฟังวงของจันทร์เกษม หรือดูเทปการแสดงของวิทยาลัยนาฏศิลป์ หรือของวงมะพร้าวห้าวสาวดอกคูน แล้วทำไมเสียงดนตรีของเรามันแปลกๆ ไม่สดใสกังวานเหมือนของเขา จะแหลมก็ไม่แหลม จะทุ้มก็ไม่ทุ้ม และช่วงนั้นก็ได้มีความคิดร่วมกันว่าจะสั่งซื้อเครื่องดนตรีใหม่เพิ่ม เพราะสมาชิกนักดนตรีเราก็มากขึ้น เครื่องดนตรีมีน้อย หรือบางชิ้นก็เก่า เริ่มจะเสียงไม่ดี เสียงเพี้ยนไปบ้าง จึงพากันเสาะแสวงหาแหล่งผลิตเครื่องดนตรีอีสานที่ดีๆกัน โปงลางที่เรามีอยู่ตอนนั้น ก็จะเป็นที่มีมานานแล้ว ถามพี่เทป พี่จิงเคอ พี่ชาติ ที่เป็นมือโปงลางในขณะนั้น ก็ไม่รู้ว่าซื้อมาจากไหน(มารู้ตอนหลังว่า มาจากจังหวัดร้อยเอ็ด) แต่ที่ไหนผลิตบ้างก็ไม่รู้ ก็เคยอ่านแต่ในหนังสือว่า ผู้ที่คิดค้นและผลิตโปงลางต้นตำรับก็คือ อาจารย์เปลื้อง ฉายรัศมี ที่เป็นศิลปินแห่งชาติ ซึ่งบ้านแกอยู่ที่จังหวัดกาฬสินธุ์ และเป็นอาจารย์พิเศษที่วิทยาลัยนาฏศิลป์กาฬสินธุ์ ก็เลยพากันเดินทางไปกาฬสินธุ์กันเลย ช่วงนั้นพวกเราเดินทางกันบ่อยมาก ที่ไปด้วยกันทุกครั้งกับพี่ก็จะมีพี่บัติ บางครั้งก็จะมีพี่โจ้ พี่เล็ก หรือพี่ผู้หญิงก็จะมีพี่อิงอร พี่มล ไปด้วยบ้าง ส่วนใหญ่ก็นั่งรถ บขส. สีแดง ช่วงนั้นรถแอร์ยังมีไม่มาก แต่บางครั้งก็นั่งรถแอร์นะ เพื่อความสะดวกสบาย ตอนที่ไปกาฬสินธุ์ครั้งแรกนั้น ก็ไม่มีใครเคยไปเลยนะบ้านอาจารย์เปลื้อง รู้แต่ว่าเราต้องไปเริ่มต้นถาม ที่วิทยาลัยนาฏศิลป์กาฬสินธุ์ ....ลงรถที่สถานี บขส.กาฬสินธุ์ ก็ไม่รู้ว่าจะไปไหนต่อ ก็เลยจ้างรถสามล้อเครื่อง สกายแลป ให้ไปส่งที่วิทยาลัยนาฎศิลป์ ไปถามยามที่เฝ้าประตูว่าจะมาหาอาจารย์เปลื้อง ฉายรัศมี เขาบอกว่าอาจารย์ไม่ได้อยู่ที่นี่ ถ้าจะไปหาแกก็ต้องไปที่บ้านแก รู้สึกว่าจะอยู่แถวทางบายพาส ออกไปสกลฯนี่แหละ จำไม่ค่อยได้ แต่ถ้าให้ไปตอนนี้ก็ไปถูกแล้ว ก็เลยต้องพากันนั่งรถสามล้อสกายแลปไปต่อจนถึงบ้านอาจารย์โน่นแหละ
ที่บ้านอาจารย์เปลื้องนี่แหละ พี่ถึงได้เข้าใจที่เขาว่า ?อ่านตำราหมื่นเล่ม ก็ไม่เท่าเดินทางหนึ่งลี้? เพราะว่าที่นี่ แม้วันที่เราเดินทางไปครั้งแรกนั้น เราจะได้อยู่สนทนากับท่านไม่นาน แต่การที่ได้สัมผัส ตัวจริงเสียงจริง ของปรมาจารย์ทางดนตรี นั้น ทำให้เราได้ความรู้เพิ่มขึ้นมากมายจริงๆ ได้รู้ว่าการทำโปงลางจริงๆนั้น เขาทำกันอย่างไร ใช้ไม้อะไรทำถึงจะได้เสียงดีๆ และก็ได้รู้ว่า คีย์ดนตรีที่ทางวงนาฏศิลป์กาฬสินธุ์ หรือบางวงเล่นนั้น เป็นคนละคีย์กับที่วงของชมรมเราเคยใช้ เป็นคีย์ของแคน 8 โป้ แต่จำไม่ได้แล้วว่าเทียบกับคีย์สากลแล้วตรงกับคีย์อะไร รู้สึกว่าจะเป็น คีย์ A แต่เดิมวงเราเล่นจะเป็นคีย์ A minor ( อันนี้ต้องถามพี่บัติดูอีกทีนะ) สนทนากับอาจารย์เปลื้องไป ก็เลยคิดอยากจะเปลี่ยนคีย์ ของเราให้เหมือนเขาบ้าง เวลาน้องๆมาเปิดเทปฝึกเล่นดนตรีจะได้ฝึกได้ง่ายขึ้น และคีย์ของแคน 8 โป้นี่ เราจะเล่นทั้งลายใหญ่ ลายน้อย และเสียงมันจะกลางๆดี เวลาผู้ชายร้องเพลง เราก็เล่นลายน้อย เวลาเล่นลายธรรมดา หรือผู้หญิงร้องก็เล่นลายใหญ่ ก็เลยตกลงกันว่าจะเปลี่ยน แต่ถ้าจะเปลี่ยนคีย์ใหม่ เราก็ต้องเปลี่ยนแปลงเครื่องดนตรีของเราทั้งหมดเลยนะ ต้องเอาโปงลางอันเดิมที่เรามีอยู่ไปให้อาจารย์กลึงเปลี่ยนคีย์ให้ใหม่ ส่วนพิณไฟฟ้าเราไม่ต้องเปลี่ยนใหม่ เพราะพิณมันตั้งไปคีย์ไหนก็ได้ และมันมีสองคออยู่แล้ว ก็ตั้งคอหนึ่งให้เป็นคีย์ลายน้อย คอหนึ่งก็เป็นลายใหญ่ พอมาถึงตรงนี้พี่ก็พึ่งจะถึงบางอ้อ ว่าแต่ก่อนพิณเรามันก็มี 2 คอ แต่ทำไมที่ชมรมเราถึงเล่นคอเดียว แล้วคอหนึ่งมีไว้ทำเท่เฉยๆหรือ ตอนนี้ก็เลยเข้าใจ โหวดก็ต้องเปลี่ยนใหม่ แคนก็ต้องเปลี่ยนใหม่หมดให้คีย์ตรงกัน เมื่อมาคิดดูก็ต้องใช้งบประมาณมากพอสมควรเหมือนกัน แต่ปีนั้นเราได้ทำโครงการรองรับเรื่องเงินไว้แล้ว ก็เลยตัดสินใจเปลี่ยนเลย โดยเอาโปงลางผืนเก่าไปให้อาจารย์เปลื้อง ทำคีย์ให้ใหม่ และสั่งซื้อโปงลางเพิ่มอีก 1 ผืน เป็นโปงลางไม้มะหาดทองอย่างดี ส่วนผืนเก่าของเรานั้นก็เป็นโปงลางไม้พยุงอย่างดีเหมือนกัน แต่สมัยนี้ไม้พยุงเป็นไม้หวงห้าม ห้ามตัดแล้ว ซื้อแคนใหม่ เป็นแคนแปดโป้ โหวดก็ซื้อใหม่ ซึ่งถูกใจพี่ชาญมากเพราะเป่าดีกว่าเดิม เบสก็ซื้อใหม่นะเพราะอันเดิมเสียงไม่ค่อยดีแล้ว กลองก็สั่งทำใหม่ แต่พิณไฟฟ้าตอนนั้นยังไม่ซื้อใหม่ เพราะเงินไม่พอ ซื้อแต่พิณโปร่งเพิ่มอีกอัน มาไว้ฝึกเล่น รวมราคาแล้วก็มากพอสมควร หลังจากนั้นเราก็ได้เครื่องดนตรีชุดใหม่ที่มีคีย์เหมือนดังปัจจุบัน
ประสบการณ์เรื่อง แคน
พอพูดถึงเรื่องการปรับเปลี่ยนเครื่องดนตรี พี่ก็มีประสบการณ์เรื่องแคน มาเล่าให้ฟัง เรื่องแคนนี่ แต่ก่อนที่เราจะเปลี่ยนคีย์ดนตรีนั้น วงของชมรมเราใช้แคนอยู่สองแบบ เรียกกันง่ายๆว่า แคนน้อย กับแคนใหญ่ เวลาเล่นวง แคนน้อยให้เป่าลายใหญ่ ส่วนแคนใหญ่ให้เป่าลายน้อย เวลาหัดแคนก็แบ่งกันฝึก ใครจะหัดเป่าลายน้อยก็ฝึกแต่ลายน้อยไปก่อน ใครฝึกลายใหญ่ก็เป่าลายใหญ่ไปก่อน พอเริ่มใช้นิ้วถนัดก็ค่อยมาฝึกทั้งลายน้อยลายใหญ่ พอเปลี่ยนคีย์มาเป็นแคนแปดโป้นี่ใช้แคนเต้าเดียวเป่าทั้งลายน้อย ลายใหญ่ สำหรับเรื่องแคนนั้น พวกพี่ก็ได้พากันเดินทางไปตามหาแหล่งผลิตที่เป็นต้นตำรับจริงๆ ที่จริงแล้วแหล่งผลิตที่เป็นต้นตำรับจริงๆก็มีเยอะนะ แต่ที่เป็นที่รู้จักกันมาก และที่ชมรมเราเคยใช้ ก็จะเป็นที่ตำบลสีแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งเป็นแหล่งทำแคนที่มีชื่อเสียง แคนที่ใช้ตามคณะหมอลำ หรือหมอลำซิ่งคณะต่างๆก็มักจะมาจากที่นี่ มี 2-3 หมู่บ้านที่ทำกันมาก ก็มีบ้านสีแก้ว บ้านเหล่าขาม ตำบลเดียวกัน บ้านเหล่าขามนี่แหละที่เป็นบ้านของ ดอกเตอร์ทางแคนคนแรกของโลก นั่นก็คือดอกเตอร์ทุย ตอนนี้ท่านเสียชีวิตไปแล้ว ซึ่งท่านเป็นผู้ที่มีความรู้ความชำนาญเรื่องการทำแคนมาก จนได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์สาขาการทำแคน เล่าถึงเรื่องเดินทางไปสั่งซื้อแคนที่บ้านสีแก้วนี่ ตอนที่ไปสั่งทำแคน พวกพี่ไปกันหลายคน ก็มีพี่บัติ พี่นุ พี่เล็ก พี่โจ้ ไปลงรถที่ บขส.ร้อยเอ็ด แล้วก็ต้องต่อรถสองแถวออกจากร้อยเอ็ดไปอีกประมาณ 10 กว่ากิโลเมตร ก็จะถึงปากทางเข้าบ้านสีแก้ว และก็ต้องเดินเท้าตากแดดเข้าไปอีกหลายกิโล ที่บ้านสีแก้วนี่ก็มีช่างทำแคนอยู่หลายท่านด้วยกัน แต่ที่ชมรมเราไปหาก็คือ พ่อใหญ่หัดสา (ตอนนี้ท่านเสียชีวิตไปแล้ว เช่นกัน) พ่อใหญ่หัดสาเป็นช่างทำแคนระดับฝีมือดี แต่ก็มิได้เป็นยอดฝีมืออันดับหนึ่งนะ แต่ราคาแคนของท่านไม่แพงมากนัก ตอนนั้นราคา เต้าละ 1,000 บาท แต่ถ้าเป็นแคนหมอลำซิ่ง เขาจะไปสั่งทำที่บ้านของพ่อใหญ่จารย์เคน ที่บ้านอยู่ตรงข้ามกัน (คนนี้ท่านยังมีชีวิตอยู่ และเป็นช่างทำแคนฝีมือดี) แต่ราคาแคนของพ่อใหญ่จารย์เคนก็จะแพงขึ้นไปอีก พี่ไปให้แกทำให้เมื่อ 3 ?4 ปีที่แล้วนี่ราคาแกก็ เต้าละ 2,500 บาทแล้ว ที่บ้านของพ่อใหญ่หัดสานี่ พวกพี่ๆก็ได้ความรู้เรื่องการทำแคนมากเลยนะ ที่เราเห็นว่าการเป่าแคนมันยากแล้ว การผลิตแคนก็ยิ่งต้องใช้ฝีมือ ความปราณีตทุกขั้นตอนจริงๆถึงจะได้แคนที่มีเสียงดีและเป่าแล้วลิ้นไม่นองง่าย
จริงๆแล้ว ราคาของแคนที่มีขายตามท้องตลาดทุกวันนี้ ทั่วไปก็ราคา 200-500 บาท/เต้า อันนี้เป็นแคนที่วางขายตามท้องตลาดนะ ส่วนใหญ่จะใช้เป่าเล่นๆหรือไว้ประดับ แต่ถ้าเป็นแคนที่ใช้เป่าตามวงหมอลำหรือหมอลำซิ่ง ราคาก็ตกประมาณ 2,000-4,000 บาท/เต้า แต่ราคานี้เป็นราคารับประกันด้วยนะ (รับประกันตลอดอายุการใช้งาน) ถ้าเป่าแล้วลิ้นนองหรือเสียงเพี้ยน ทางช่างทำแคนก็จะซ่อมให้ฟรี เอาไปเคลมได้ เพราะช่างเขาจะรู้ดีว่าแคนเต้าไหนที่เขาเป็นคนทำ แต่ถ้าอันไหนที่ซื้อมาจากที่อื่น เอาไปให้เขาซ่อม ก็จะคิดค่าบริการด้วยนะ หรือถ้าต้องเปลี่ยน อะไหล่ เช่น ลิ้นแคน หรือลูกแคน ก็ต้องเพิ่มเงินเช่นกัน ที่บ้านสีแก้วนี่ ช่างแคนส่วนใหญ่จะทำแคนลิ้นเงิน พวกพี่ก็เลยสั่งแคนลิ้นเงินของพ่อใหญ่หัดสา สั่งหลายเต้านะ สั่งแล้วก็ใช่ว่าจะได้เลย ต้องใช้เวลาทำอยู่หลายเดือน เวลาทำจริงๆก็ไม่หลายเดือนหรอกนะ แต่จะต้องให้เวลาช่างแคน เพื่อเป่าดูทุกวันก่อน ให้ลิ้นมันอยู่ตัวก่อน ค่อยเดินทางกลับไปเอาใหม่ ตอนที่กลับไปเอาแคนนี่ก็มีเรื่องตื่นเต้นเกิดขึ้นด้วย
? กลุ่มชายฉกรรจ์ 4-5 คน สะพายอาวุธไม่ทราบชนิด เพราะมันอยู่ในถุงผ้าบ้าง ห่อด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์บ้าง ยาวประมาณ 1 เมตร คนละชิ้นสองชิ้น เดินขึ้นรถทัวร์ที่สารคาม ลงรถที่หมอชิต แล้วพวกมันยังสะพายอาวุธพิสดาร เหล่านั้นขึ้นรถเมล์อีก ผู้คนต่างหวาดกลัวว่า กลุ่มชายเหล่านี้ พวกมันจะขนอาวุธไปทำอะไรมากมาย พอรถเมล์จอดที่มาบุญครอง พวกมันก็เดินลงรถอย่างเฉยชาต่อสายตาคนมอง จนยามมาขอตรวจ ผู้คนจึงได้รู้ว่า สิ่งที่พวกมันสะพายในถุงผ้านั้น มิใช่อาวุธร้ายแรงแต่อย่างใด เพราะมันคือ ?แคน? ที่พวกมันไปรับมาจากร้อยเอ็ดนั่นเอง?
(ประสบการณ์เรื่องแคน รายระเอียดเกี่ยวกับแคน การทำแคนนี่ ถ้ามีเวลาพี่บัติ อาจรวบรวมมาเล่าให้น้องๆฟังอีกทีนะ)
วงโปงลางจุฬาฯ ? เครื่องดนตรีอีสาน ผสมผสานอุปกรณ์อิเลกทรอนิกส์ ?
ในการแสดงดนตรีนั้น นอกจากเราจะมีนักดนตรีที่มีฝีมือแล้ว มีเครื่องดนตรีที่ดีแล้ว อีกอย่างที่สำคัญที่จะทำให้การแสดงของเราน่าชมน่าฟัง ก็คงหนีไม่พ้น อุปกรณ์อิเลกทรอนิกส์ ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องเสียง ไมโครโฟน รวมไปถึงแอมป์เบส แอมป์พิณ สิ่งเหล่านี้จะขาดเสียไม่ได้ ดังนั้นที่ชมรมเรานอกจากจะมีการหัดเครื่องดนตรีแล้ว การเรียนรู้เกี่ยวกับเครื่องเสียง ก็เป็นสิ่งจำเป็น ก่อนที่จะไปเล่นดนตรีแต่ละครั้งเราก็จะต้องมีแผนกไปทำความรู้จักกับคนคอนโทรลเครื่องเสียงทุกครั้งไป บางครั้ง แม้นการเล่นของเราจะซ้อมมาดี แต่คนคอนโทรลเครื่องเสียงไม่ดี อาจทำให้เหมือนวงของเราเล่นดนตรีไม่เป็นไปเลย ดังนั้นก่อนที่จะเล่น เราก็ต้องไปตกลงกับมือคอนโทรลก่อนว่าจะต้องปรับเสียงดนตรีอย่างไรให้ลงตัว เพราะบางคนเขาฟังไม่ออกว่าเสียงที่ออกมา เป็นเครี่องดนตรีชิ้นไหน จะให้ชิ้นไหนเด่น ไม่ใช่ว่าปรับเสียงเท่ากันหมด และจะต้องซ้อมเวทีจริงก่อน บางครั้งแม้นักดนตรีจะยังไปไม่ครบ แต่จะต้องมีคนไปทดสอบเครื่องดนตรีกับเวทีก่อนทุกครั้ง บางครั้งถึงขนาดที่ไปขอเขาปรับมิกเซอร์เองด้วยซ้ำ ถ้างานไหนที่ไปเล่น มีเครื่องเสียงดีๆ มีไมโครโฟนเสียงดีๆ นักดนตรีเราก็จะเล่นได้ดี จนบางครั้งไม่ยอมหยุดเล่น เพราะอารมณ์ค้าง รวมถึงเราจะต้องดูแลวัสดุ อุปกรณ์ ของเราให้ดีอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็น แอมป์ สายแจ๊กต่างๆ รวมถึงเครื่องดนตรีเราด้วย
เรื่องอุปกรณ์ อิเลกทรอนิกส์ นี่มีอยู่ช่วงหนึ่งที่เราได้เครื่องดนตรีใหม่แล้ว ก็เลยคิดต่อว่าจะหาซื้อไมค์มาเพิ่ม ไว้ร้องเพลงในชมรม และอยากจะได้เครื่องช่วยเสียงพิณ เหมือนกับเครื่องช่วยเสียงกีตาร์ เพื่อให้เสียงพิณของเราสดใสมากขึ้น สามารถปรับเสียงต่างๆกันได้ ก็พากันหาข้อมูล จนไปอ่านเจอในหนังสือว่า แหล่งขายเครื่องดนตรีที่ใหญ่ที่สุดในขณะนั้น ก็ต้องเป็น เวิ้งนครเกษม ตอนแรกก็ไม่มีใครเคยไป ไปเดินหากันตั้งนาน กว่าจะเจอ ไปเดินถามหลายร้านหลายรอบด้วย กว่าจะได้เครื่องช่วยเสียงพิณมา รวมระยะทางการเดินคงหลายสิบกิโล (ไม่ใช่เดินวันเดียวนะ) ที่เวิ้งนครเกษมนี่เองพี่ถึงได้รู้ว่า ไม่ใช่มีแต่แคนอย่างเดียวที่ ราคาแปรผันแตกต่างกันมาก ตั้งแต่ร้อยกว่า ไปจนถึง สี่พัน ที่นี่ กีตาร์ก็เหมือนกัน มีราคาตั้งแต่ ไม่ถึงพัน ไปจนถึงหลายแสนบาทต่อตัว ช่วงหลังๆนี่ จึงเริ่มคิดได้ว่าในกรุงเทพฯนี่มีอีกหลายๆที่ที่เราไม่เคยไป หลายๆที่ที่เราไม่เคยเห็น ถ้ามีเวลาว่างช่วงไหนพี่ก็จะไปเดินตามที่ต่างๆเดินดูเฉยๆบางวันไปเดินกันเป็นวัน ที่ชอบไปเดินดูมากๆ ถ้าเป็นเครื่องดนตรี ก็จะไปที่เวิ้งนครเกษม ถ้าเป็นพวกเครื่องเสียงก็จะไปแถวบ้านหม้อ ถ้าเป็นสาวๆก็จะไปเดินแถวมาบุญครอง แถวสยาม สมัยนี้ก็น่าไปเดินนะแถวสยามนี่
มี Hard ware แล้วก็ต้องมี Soft ware
หัวข้อนี้ไม่ใช่ว่าจะพูดเรื่องชมรมคอมพิวเตอร์นะ พูดเรื่องชมรมเราต่อนี่แหละ หลังจากที่ร่วมกันคิดร่วมกันหาเครื่องดนตรีและอุปกรณ์ประกอบอย่างครบครัน ในระดับหนึ่งแล้ว พวกพี่ๆนำโดยพี่บัติ ก็คิดว่าเราน่าจะมีการรวบรวมเอาเพลงเอาลายต่างๆไว้ เป็นลายลักษณ์อักษร พี่บัติ แกก็เลยหัดเขียนโน๊ตเพลงขึ้น รวบรวมลายเพลงต่างๆไว้เป็นเล่ม บ้างก็คิดแต่งลายใหม่ๆขึ้นบ้าง นอกจากนั้นก็รวบรวมเอาเพลงที่พี่หลายๆคนแต่งไว้ มาใช้เวลาเราแสดง เราก็จะมีเพลงเฉพาะของชมรมเราบ้าง ไม่ต้องร้องแต่เพลงตามคนอื่น ซึ่งพี่นักแต่งเพลงทั้งหลาย เช่น มังกรเดียวดาย สิบสามกระบี่เดียวดาย หมื่นกระบี่เดียวดาย ป.เมืองน้ำดำ ชาญแดนพนม เป็นต้น ก็เคยออกอัลบั้ม ชุด ล๊อกคอแจก มาแล้ว ไม่รู้ว่าจะนำมารีมิกซ์กันใหม่ เมื่อไหร่ ต้องคอยติดตาม
สิ่งที่จะฝากถึงน้องๆ
ที่พี่เล่ามาก็เป็นประสบการณ์ครั้งหนึ่งที่พี่คิดว่ามาถึงตอนนี้ ก็คงไม่มีโอกาสกลับไปสัมผัสบรรยากาศแบบเก่าๆอีก แต่ก็เก็บเอาความประทับใจนั้นไว้ ความผูกพันต่างๆที่เคยเกิดขึ้น ก็คงยังเหมือนเดิม อยากฝากถึงน้องๆที่กำลังเรียนอยู่ กำลังทำกิจกรรมอยู่ ให้พยายามเก็บเกี่ยวประสบการณ์ทุกๆด้าน ให้ได้มากที่สุด เรียนก็เรียนให้มันสุดๆ เวลาทำกิจกรรมก็ตั้งใจทำ ให้ผสมผสานกัน ไม่ใช่เรียนอย่างเดียว หรือทำแต่กิจกรรมมากจน เหนื่อยที่จะไปเรียน เอาให้มันพอดี ความสัมพันธ์อันดีระหว่างเพื่อน ระหว่างพี่น้อง จงเก็บรักษาต่อไป มีอะไรที่สงสัย คับข้องใจ ก็อย่าเก็บไว้คนเดียว พี่เองก็จะคอยเฝ้าดูกิจกรรมของชมรมศิลปวัฒนธรรมอีสาน จุฬาฯ เรา ผ่านทางโกลเบิ้ลเนตเวอร์ก นี่แหละ มีอะไรก็ติดต่อกันทางเน็ท นี่แหละ นะ
สาธุการบทความนี้ : 222 ครั้ง
จากสมาชิก : 0 ครั้ง
จากขาจร : 222 ครั้ง
13 ธ.ค. 2554 เวลา 03:56:34
ขึ้นบน
ลงล่าง
หน้า:
1
ชมรมศิลปวัฒนธรรมอีสาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ใต้อัฒจันทร์สนามกีฬาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปทุมวัน กรุงเทพฯ :
ติดต่อชมรม
เนื้อหาใน
เว็บบอร์ด
และ
ปลาร้านอกไห
ในเว็บไซต์
www.isan.clubs.chula.ac.th
ใช้
สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกัน 3.0 ประเทศไทย
ห้ามนำเนื้อหาไปใช้เพื่อการค้า การนำไปเผยแพร่ต่อ ต้องอ้างอิงถึงที่มา
<
อ่านเงื่อนไข
>
อีกไม่กี่วันงานพาแลงจุฬาฯก็จะมาถึงแล้ว --- เว็บบอร์ดอีสานจุฬาฯ