ผญา คติสอนใจประจำวันที่ 26 เมษายน 2568:: อ่านผญา 
เบเบฮ้องงัวเฮาอย่าฟ้าวว่า ลางเทื่อเสือโคร่งเขี้ยวสิกินเจ้ามอดชีวัง แปลว่า ได้ยินเสียง เบเบ อย่าเพิ่งเข้าใจว่าเป็นวัวของตน บางทีเป็นเสือโคร่ง จะกัดตนตายได้ หมายถึง ควรทำกิจใดๆ ด้วยความรอบคอบระมัดระวัง อย่าได้ผลีผลาม


  ค้นหาสาธุการ กระดานสนทนาชมรมอีสานจุฬาฯ  

หน้า: 1  
  โพสต์โดย   3) โคราชทำไมไม่เหมือนอีสาน  
  ท็อป    คห.ที่17)       [ไปที่ความเห็นนี้ ในกระทู้นี้]  
  ศิษย์ใหม่ไร้วรยุทธ์

ภูมิลำเนา : นครราชสีมา
เข้าร่วม : 11 ธ.ค. 2550
รวมโพสต์ : 1
ให้สาธุการ : 0
รับสาธุการ : 3280
รวม: 3280 สาธุการ

 
คุณนักวิชาการนอกคอก:
ทราบครับ เนื่องจากนครราชสีมา เป็นจังหวัดใหญ่ คนภายในจังหวัดไม่จำเป็นต้องเป็นชาติพันธ์เดียวกัน ที่ผมมีความรู้จากการค้นคว้าทราบว่ามีอยู่ 2 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ ไทยโคราช และ ไทยลาว(ชาวอีสาน) ซึ่งกลุ่มใหญ่สุดคือไทยโคราช รองลงมาได้แก่ไทยลาว รายละเอียดดังนี้


ประชากร ภาษา ของจังหวัดนครราชสีมา
ประชากรมีอยู่สองกลุ่มใหญ่ด้วยกันคือไทยโคราช และไทยอีสาน ชนกลุ่มน้อยได้แก่ มอญ กุย (ข่าหรือส่วย) ชาวบน ไทยยวน หรือไทยโยนก ญวนและแขก ภาษาที่ใช้กลุ่มใหญ่แบ่งเป็นสองกลุ่มคือ ภาษาไทยโคราช และภาษาไทยอีสาน(ภาษาอีสาน)นอกจากนั้นก็มีภาษาไทยยวน ภาษามอญ ภาษาเขมร ภาษาส่วย ภาษาชาวบน

ไทยโคราชและภาษาไทยโคราช

ไทยโคราชเป็นคนไทยแท้ทั้งเชื้อชาติและภาษา แต่สำเนียงพูดแปร่งไปบ้าง เดิมถิ่นนี้คนพื้นเมืองเป็นชาวละว้า ชาวไทยอพยพเข้ามาสมัยกรุงศรีอยุธยา พระเจ้าอู่ทองให้ขุนหลวงพะงั่ว ยกทัพมารวมดินแดนนี้ เข้ากับอาณาจักรอยุธยา แล้วให้ตั้งด่านอยู่ประจำ ส่งช่างชายอยุธยามาก่อสร้างบ้านเรือน และวัดวาอารามเป็นจำนวนมาก กลุ่มไทยโคราชเป็นกลุ่มที่แสดงออกถึงเอกลักษณ์ของเมืองนครราชสีมา เพราะมีสำเนียงพูดแตกต่างจากกลุ่มอื่น อาศัยอยู่ทุกอำเภอในจังหวัดนครราชสีมา ยกเว้นบางอำเภอที่มีชาวไทยลาวมากกว่า เช่น สูงเนิน บัวใหญ่ ปักธงชัย เป็นต้น นอกจากนั้นพบชาวไทยโคราชอาศัยอยู่ในบางส่วนของจังหวัด สระบุรี ลพบุรี เพชรบูรณ์ ปราจีนบุรี บุรีรัมย์ ชัยภูมิ ด้วย

ภาษาไทยโคราชเป็นภาษาถิ่นดั้งเดิมของนครราชสีมา ภาษาไทยโคราชมีลักษณะเหมือนกับภาษาในภาคกลางของประเทศ แต่สำเนียงจะเหน่อ ห้วนสั้น เกิ่นเสียง มีคำไทยลาวปะปนอยู่บ้างเล็กน้อย มักจะใช้เสียงเอกแทนเสียงโท เช่น คำว่า ม่า แทนคำว่า ม้า ใช้คำว่า เสื่อ แทนคำว่า เสื้อ ชาวไทโคราชมีวัฒนธรรมเชื่อมโยงระหว่างไทภาคกลางกับชาวไทภาคกลางในภาคอีสาน สำเนียงภาษาไทยโคราชในแต่ละอำเภอ ยังมีความแตกต่างกัน ปัจจุบันคนพูดภาษาไทยโคราชเป็นคนรุ่นเก่า หรือที่อยู่ตามชนบท คนที่อยู่ในเขตเมืองเมื่อพูดกับคนโคราชด้วยกันมักใช้ภาษาไทยกลาง แต่ปรับเสียงวรรณยุกต์ให้เป็นสำเนียงโคราช

ลาวเวียง (เวียงจันทน์) หรือไทยอีสานและภาษาอีสาน ไทยอีสานอพยพเข้ามาอยู่บริเวณเมืองนครราชสีมาหลายรุ่น ส่วนใหญ่อพยพเข้ามาครั้งทำสงครามปราบปรามเมืองเวียงจันทน์สมัยกรุงธนบุรี ต่อมาได้มีการอพยพเข้ามาทำมาหากินโดยสมัครใจเพิ่มขึ้น

ภาษาอีสานเป็นภาษาถิ่นที่มีผู้ใช้พูดรองลงมาจากภาษาไทยโคราช มีผู้พูดภาษาอีสานในเขตอำเภอแก้งสนามนาง บ้านเหลื่อมกิ่งอำเภอบัวลาย กิ่งอำเภอสีดา กิ่งอำเภอเมืองยาง กิ่งอำเภอลำทะเมนชัย และบางส่วนของอำเภอบัวใหญ่ อำเภอปะทาย อำเภอชุมพวง อำเภอห้วยแถลง อำเภอสีคิ้ว อำเภอสูงเนิน อำเภอปากช่อง อำเภอวังน้ำเขียว อำเภอครบุรี ปักธงชัย และอำเภอเสิงสาง

มอญและภาษามอญ ชาวมอญอพยพเข้ามาอยู่บริเวณเมืองนครราชสีมา ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2318 ในสมัยกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระราชทานครัวมอญที่อพยพเข้ามาสวามิภักดิ์ มีพระมหาโยธา (เจ่ง) เป็นหัวหน้า แบ่งให้พระยานครราชสีมานำขึ้นมาอยู่ที่เมืองนครราชสีมา ตั้งครัวมอญที่ลำพระเพลิง เขตอำเภอปักธงชัยที่บ้านพลับพลาอำเภอโชคชัย พระยาศรีราชรามัญผู้เป็นหัวหน้าพาญาติพี่น้องมาอยู่ในเมืองเป็นสายกองส่วยทอง ตั้งบ้านเรือนเรียกว่าบ้านมอญ เมื่อเกิดกบฎเจ้าอนุวงศ์ เมื่อปี พ.ศ. 2336 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าพระยามหาโยธา (ทอเรีย) คุมกองมอญมาสมทบมาร่วมรบกับกำลังฝ่ายไทย เมื่อเสร็จศึกแล้วพวกมอญเห็นเมืองปักธงชัยอุดมสมบูรณ์จึงมาตั้งถิ่นฐาน ปัจจุบันชาวมอญในนครราชสีมายังรักษาวัฒนธรรมประเพณีมอญไว้ เช่น ภาษา การไหว้ผี การเล่นสะบ้า ในเขตบ้านท่าโพธิ บ้านสำราญเพลิง ตำบลนกออก อำเภอปักธงชัย ประกอบอาชีพทำนา ทำสวน ทำเครื่องปั้นดินเผา

ภาษามอญ จะใช้พูดในชาวไทยมอญที่อายุเกิน 60 ปีขึ้นไป คนรุ่นหลังจากนี้จะพูดภาษาไทยโคราชทั้งสิ้น



กุย (ข่าหรือละว้าหรือส่วย) และภาษาส่วย

เป็นชนพื้นเมืองของหัวเมืองเขมรป่าดง และเมืองนครราชสีมา พูดภาษาตระกูลมอญ-เขมร ได้อยู่ในพื้นที่นี้ก่อนที่คนไทยจะเข้ามามีอิทธิพลเหนือดินแดนบริเวณลุ่มแม่น้ำมูลตอนบน เมื่อปี พ.ศ. 2362 เจ้าเมืองนครราชสีมา (ทองอินทร์) ตีข่าได้ แล้วนำมายังเมืองนครราชสีมา

ภาษาส่วย เป็นภาษาของชาวส่วยที่อพยพมาจากจังหวัดสุรินทร์ ศรีษะเกษ บุรีรัมย์ มาตั้งหลักแหล่งอยู่ที่ ตำบลห้วยแถลง อำเภอห้วยแถลง ปัจจุบันมีเฉพาะผู้ที่อายุเกิน 40 ปีขึ้นไป ที่ยังคงใช้ภาษาส่วยในกลุ่มของตนเอง นอกจากนั้นจะใช้ภาษาไทยโคราชเป็นพื้น

ชาวบนญัฮกุร หรือเนียะกุลและภาษาชาวบน เป็นชนกลุ่มน้อยที่อาศัยอยู่ตามไหล่เขา หรือเนินเขาเตี้ย ๆ บริเวณด้านในของที่ราบสูงโคราช ชาวบนอาจสืบเชื้อสายมาจากคนในสมัยทวาราวดี อยู่ในบางหมู่บ้านของอำเภอปักธงชัย อำเภอครบุรี และอำเภอหนองบุนนาก

ภาษาชาวบน เป็นภาษาตระกูลมอญเขมร ปัจจุบันชาวบนพูดภาษาชาวบนเฉพาะผู้ที่อายุเกิน 60 ปีขึ้นไป นอกจากนั้นใช้ภาษาไทยโคราช


ไทยยวนหรือไทยโยนกและภาษาไทยยวน

เป็นเผ่าไทยในภาคเหนือของไทย ได้อพยพเข้ามาอยู่ที่อำเภอสีคิ้วสองทางด้วยกันคือ พวกแรกอพยพจากทางเหนือมาอยู่ที่อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี ต่อมาเจ้าเมืองสระบุรี ต้องการตั้งกองเลี้ยงโคนมที่เมืองนครจันทึก จึงได้แบ่งครอบครัวชาวไทยยวนจากอำเภอเสาไห้ ไปอยู่ที่อำเภอสีคิ้ว อีกพวกหนึ่งอพยพมาจากเวียงจันทน์ ชาวไทยยวนยังรักษาประเพณี และวัฒนธรรมแบบโยนกไว้ได้ดีมาก

ภาษาไทยยวน ใช้พูดในหมู่ไทยยวนด้วยกันเองซึ่งมีอยู่ประมาณ 5,000 คน ในเขตอำเภอสีคิ้ว ในท้องที่ตำบลลาดบัวขาว ตำบลสีคิ้ว และตำบลบ้านหัน

 
 
สาธุการบทความนี้ : 326 ครั้ง
จากสมาชิก : 0 ครั้ง
จากขาจร : 326 ครั้ง
 
 
  07 ม.ค. 2551 เวลา 17:29:17  
   ขึ้นบน ลงล่าง  
 
         

  หน้า: 1

   

Creative Commons License
โคราชทำไมไม่เหมือนอีสาน --- เว็บบอร์ดอีสานจุฬาฯ