ผญา คติสอนใจประจำวันที่ 26 เมษายน 2568:: อ่านผญา 
อย่าได้เสียแฮงได้เป็นคนนำเพิ่น คนให้คนฮอดก้นเหนียวตุ้ยจั่งแม่นคน แปลว่า อย่าได้เสียแรงที่เป็นคนเหมือนคนอื่น คนขอให้คนถึงก้น จนเหนียวหนืด จึงชื่อว่าคน หมายถึง เป็นอะไร เป็นให้เหมาะสม ทำอะไร ทำให้เหมาะสมกับกาลเทศะ


  ค้นหาสาธุการ กระดานสนทนาชมรมอีสานจุฬาฯ  

หน้า: 1  
  โพสต์โดย   1186) ฮู้บ่ปีนี้เมืองยศ(ยโสธร)อายุครบ 240 ปี  
  คำหล่า เมืองยศ    คห.ที่0) ฮู้บ่ปีนี้เมืองยศ(ยโสธร)อายุครบ 240 ปี      [ไปที่ความเห็นนี้ ในกระทู้นี้]  
  ศิษย์ใหม่ไร้วรยุทธ์

ภูมิลำเนา : ยโสธร
เข้าร่วม : 28 ส.ค. 2554
รวมโพสต์ : 2
ให้สาธุการ : 0
รับสาธุการ : 2340
รวม: 2340 สาธุการ

 
จังหวัดยโสธรหรือ "เมืองยศสุนทร"จากประวัติความเป็นมาเมื่อครั้งพระปทุมสุรราชพร้อมด้วยเจ้าฝ่ายหน้า เจ้าทิศพรหม พร้อมทั้งเจ้าก่ำตลอดจนญาติวงศาได้พากันอพยบจาก เวียงดอนกลอง เพื่อมาสร้างบ้านอยู่ที่ดอนมดแดงริมฝั่งแม่น้ำมูล ซึ่งห่างจากตัวเมืองอุบราชธานีในปัจจุบัน ไปทางทิศตะวันออกประมาณ 400 เส้น เมื่อได้มาอยู่ที่นี่แล้วก็มีความร่มเย็นมีความสุข แต่หลังจากนั้นพระปทุมสุรราชคำผงได้ถูกเกณฑ์ให้ไปในราชการสงคราม เพื่อปราบปรามเมืองเขมรและได้รับชัยชนะพร้อมทั้งได้ขยายอาณาเขต และได้เป็นข้าหลวงเดิมในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชตั้งแต่นั้นมา

     หลังจากนั้นเมื่อประมาณปีพ.ศ. 2319 - 2320 ได้เกิดเหตุน้ำท่วมครั้งใหญ่ที่ดอนมดแดงทำให้ไม่มีที่จะอยู่อาศัย พระปทุมสุรราชจึงได้พาท้าวเพี้ยพรหมจักรตลอดจนบ่าวไพร่ออกไปตรวจดูสถานที่พอที่จะหนีน้ำพอได้อยู่อาศัยอยู่ชั่วคราว  จากนั้นท้าวเพี้ยพรหมจักรและบ่าวไพร่ก็ได้มองเห็นที่ริมมูลน้อยและห้วยแจละแมเป็นที่เนินสูงพอที่จะได้อาศัยหลบน้ำได้ จึงได้รายงานให้พระปทุมสุรราชคำผงทราบแล้วได้พากันอพยบไปอยู่ที่ตำบลแจระแมเป็นการชั่วคราวก่อน  เมื่อน้ำได้ลดลงแล้วจะได้หาชัยภูมิใหม่ที่พอจะได้ตั้งเมืองอยู่ต่อไป เพราะพระเจ้าตาได้สั่งเอาไว้ว่าให้หาที่ตั้งเมืองที่ดงใหญ่ริมแม่น้ำมูล ซึ่งเป็นชัยภูมิที่ดีมีความอุดมสมบูรณ์ในการที่จะทำมาหากินไม่อดอยาก หลังจากนั้นจึงได้พากันไปตรวจภูมิประเทศดูจนไปพบดงอู่ผึ่งซึ่งอยู่ห่างจากบ้านแจระแมไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ไม่ไกลนักและเป็นพื้นที่ดีพอที่จะทำการตั้งเมืองได้เหมือนกับที่พระเจ้าตาสั่งไว้  ดังนั้นจึงได้อพยบไพร่พลพร้อมทั้งญาติวงศาขนเอาทรัพย์สิน ช้างม้า มาอยู่ที่ดอนอู่ผึ้งพร้อมทั้งได้สร้างให้เป็นเมือง เมื่อปีพ.ศ.2321 แล้วได้ทำใบบอกไปยังกรุงธนบุรีให้ทราบ พร้อมทั้งตั้งเมืองว่า"อุบล"(คือจังหวัดอุบลราชธานีในปัจจุบัน)

     ต่อมาเมื่อปีพ.ศ. 2334 ทางเมืองนครจำปาศักดิ์ได้เกิดเหตุก่อการกระบถของอ้ายเชียงแก้วเขาโอง เพื่อจะตั้งตนขึ้นเป็นใหญ่มีสมัครพักพวกเป็นจำนวนมากได้พากันยกกำลังเข้าทำการยึดนครจำปาศักดิ์ ประกอบกับเวลานั้นพระเจ้าองค์หลวงไชยกุมาร ได้แก่ชราและป่วยอยู่ ครั้นได้ทราบข่าวกระบถก็เลยเสียใจและได้เสียชีวิตลง  ส่วนอ้ายเชียงแก้วเขาโองก็ได้ยึดเอาเมืองนครจำปาศักดิ์ได้และเข้าครองเมืองพร้อมทั้งได้ทำการจับกุมเจ้านายในเชื้อพระวงค์ฆ่าและเอาไปเป็นภรรยา  ต่อมาความได้ทราบถึงพระปทุมสุรราชคำผงเจ้าเมืองอุบล จึงได้ทำใบบอกไปยังเจ้าฝ่ายหน้าผู้น้องให้ร่วมกันยกทัพไปปราบอ้ายเชียงแก้วเขาโอง เพราะที่ผ่านมาพระเจ้าองค์หลวงได้อุปการะและช่วยเหลือซึ่งมีพระคุณมาแต่ก่อน ต่อมาทั้งสองพี่น้องได้ยกทัพไปถึงนครจำปาศักดิ์ได้ทำการรบต่อสู้กับอ้ายเชียงแสนเขาโอง ก่อนที่กองทัพจากเมืองนครราชสีมาจะยกมาถึง พระประทุมสุรราชคำผงได้ยกทัพเข้าตีเมืองนครจำปาศักดิ์ได้สำเร็จแล้วให้เจ้าฝ่ายหน้าติดตามจับตัวอ้ายเชียงแก้วเขาโองจนได้ตัวมาแล้วทำการประหารชีวิตอ้ายเชียงแก้วเขาโอง
     จากนั้นก็ได้ทำใบบอกเพื่อกราบทูลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และเมื่อพระองค์ได้ทราบถึงเหตุการณ์ในการปราบอ้ายเชียงแก้วเขาโอง ก็มีความพอใจเป็นอย่างมากพร้อมทั้งเห็นว่าเจ้าฝ่ายหน้าเป็นผู้มีฝีมือสามารถป้องกันเมืองไว้ได้ จึงได้แต่งตั้งเจ้าฝ่ายหน้าเป็น"เจ้าพระยาวิชัยราชขัติยวงศา"ย้ายจากบ้านสิงห์ท่าไปครองเมืองนครจำปาศักดิ์ พร้อมทั้งให้เจ้าเชษฐ  เจ้าหนู ที่เป็นลูกของพระเจ้าไชยกุมารให้ไปเป็นผู้ช่วยราชการที่นครจำปาศักดิ์ต่อไป  ส่วนทางด้านที่บ้านสิงห์ท่านั้นได้มอบหมายให้ท้าวคำม่วงผู้น้อง อยู่ดูแลรักษาบ้านสิงห์ท่าแทน และเจ้าพระยาวิชัยราชขัติยวงศาได้นำเอาท้าวคำสิงห์หรือเจ้าคำสิงห์ที่เป็นลูกชายไปอยู่ด้วยพร้อมทั้งได้แต่งตั้งให้เป็นเจ้าราชวงศ์เมืองโขงรักษาราชการฝ่ายใต้ สืบต่อมา
     หลังจากนั้นเมื่อ วันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ.2354 เจ้าพระยาวิชัยขัติยวงศา ซึ่งเป็นเจ้านครจำปาศักดิ์ ได้เสียชีวิตลง พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ได้ทรงแต่งตั้งเจ้าหนูซึ่งเป็นหลานของพระเจ้าไชยกุมาร ให้ขึ้นเป็นเจ้าครองเมืองนครจำปาศักดิ์แทน  แต่เจ้าราชวงศ์สิงห์ แห่งเมืองโขง ไม่พอใจที่จะอยู่ในความปกครองของเจ้านู ซึ่งเป็นเจ้านครจำปาศักดิ์คนใหม่ จึงได้ขอกลับมาอยู่ที่บ้านสิงห์ท่า ซึ่งเป็นบ้านเดิมของเจ้าพระยาวิชัยราชขัติยาวงศา พร้อมทั้งได้นำเอาอัฐิเจ้าพระยาวิชัยราชขัติยาวงศา กลับมาบ้านสิงห์ท่าด้วยพร้อมทั้งได้ก่อเจดีย์บรรจุไว้ที่วัดมหาธาตุ ที่อยู่ใกล้กับพระธาตุพระอานนท์
     เมื่อเจ้าราชวงศ์สิงห์กลับมาอยู่บ้านสิงห์ท่าบ้านเดิมแล้วก็ได้พัฒนาเอาใจใส่ปรับปรุงบ้านสิงห์ท่าให้ใหญ่โตและรุ่งเรืองขึ้นเป็นลำดับจน พ.ศ. 2357 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้ทรงโปรดเกล้าฯให้ยกบ้านสิงห์ท่าเป็นเมืองโดยมีชื่อว่า"เมืองยศสุนทร"(เมืองยโสธรในปัจจุบัน  ขึ้นกับจังหวัดอุบลราชธานี) พร้อมทั้งได้แต่งตั้งเจ้าราชวงศ์สิงห์เป็นเจ้าครองเมือง และมีชื่อว่า"พระสุนทรราชวงศา"(สิงห์) และได้พระราชทานเครื่องยศ คือ พานหมากเงินถมทองปากจำหลักกลีบบัว เครื่องในทองคำ คนโททองคำ กระโถนเงินถม ลูกประคำทองคำ 1 สาย กระบี่บั้งทองคำ สัปทนปัศตู เสื้อทรงประพาส หมวกตุ้มปี่ ปืนชนวน ทองแดง ต้นเหลี่ยมเงิน เสื้อเขมขาบ ดอกริ้ว เสื้อแพรจีนเจา แพรสีติดขลิบ ส่ายไทยปักทอง ผ้าปูมเขมร ผ้าลายเกี้ยว แพรขาวลาย หงอนไก่ แพรขาวโล่ ซึ่งเป็นเครื่องยศตำแหน่งเจ้าเมืองประเทศราช ซึ่งได้ครองเมืองยศสุนทรตั้งแต่นั้นมารวม 28 ปี จึงถึงแก่กรรมเมื่อปีพุทธศักราช 2381
     หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2494  ทางกระทรวงมหาดไทย ได้ริเริ่มขอตั้งเมืองยโสธร ขึ้นเป็นจังหวัดยโสธร และก็ได้มีประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 70  ลงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2515  ให้เป็นจังหวัดยโสธร  โดยได้รับการสถาปนาเป็นจังหวัดยโสธร เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2515 ปัจจุบันยโสธรได้ตั้งเป็นจังหวัดมาได้ 39 ปี ซึ่งมีผู้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดคนแรกคือ นายชัยทัต  สุนทรพิธ และจนถึงขณะนี้มี นายพงษ์ศักดิ์ นาคประดา เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร รวม 20 คน  
     นายพงษ์ศักดิ์ นาคประดา ผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร กล่าวว่า จากความที่ประชาชนอยู่อย่างมีความสุขมาสมัยแล้วสมัยเล่าก็เพราะจังหวัดยโสธรที่มีบรรพบุรุษที่พากันก่อร่างสร้างเมืองมาอย่างเข้มแข็งและสวยงามมาโดยตลอดจนเป็นจังหวัดยโสธรตราบเท่าทุกวันนี้ ดังนั้นประชาชนในจังหวัดยโสธรจึงได้ระลึกถึงพระคุณเจ้าเมืองในอดีตจึงได้หาวิธีการที่จะดำเนินการก่อสร้างอนุสาวรีย์"พระสุนทรราชวงศา(สิงห์) เจ้าเมืองคนแรกของยโสธรเพื่อให้ประชาชนชาวจังหวัดยโสธรได้สักการะบูชาเพื่อเป็นศิริมงคลต่อตนเองและครอบครัวตลอดจนระลึกถึงพระบารมีของท่านเมื่อครั้งอดีตที่ผ่านมา ดังนั้นประชาชนชาวจังหวัดยโสธรทุกหมู่เหล่าจึงได้ร่วมกันบริจาคทุนทรัพย์ตามจิตศัทธาในการดำเนินการก่อสร้างรูปจำลองเจ้าเมืองพระสุนทรราชวงศา(สิงห์)ซึ่งได้ทำรูปจำลองขาด 3.90 เมตร ที่เป็นอนุสาวรีย์และเพื่อที่จะให้ประชาชนนำไปบูชาอีกจำนวน 2 ขนาดคือขนาดความสูง 15 นิ้วและ 9 นิ้ว พร้อมเหรียญ
     นายพงษ์ศักดิ์ ยังกล่าวอีกว่า สำหรับพิธีอัญเชิญรูปจำลองพระสุนทรราชวงศา(สิงห์)เพื่อไปประดิษฐ์ฐานที่บริเวณสวนสาธารณะบุ่งน้อยบุ่งใหญ่ เขตเทศบาลเมืองยโสธรอยู่ทางทิศตะวันตกของวัดสิงห์ท่าทางด้านลำน้ำชี ซึ่งในวันที่ 17 สิงหาคม 2554 ชาวจังหวัดยโสธรฒ๊พิธีอัญเชิญพระสุนทรราชวงศา(สิงห์)เข้าเมือง  โดยตั้งขบวนแห่ที่ถนนยโสธร-สุวรรณภูมิ บริเวณสะพานข้ามแม่น้ำชีที่เป็นรอยต่อจังหวัดยโสธรกับจังหวัดร้อยเอ็ดขบวนเคลื่อนมาตามถนนแจ้งสนิทจนมาถึงฐานที่ตั้งอนุสาวรีย์ที่บุ่งน้อยบุ่งใหญ่จากนั้นก็อันเชิญขึ้นฐานซึ่งพิธีขึ้นฐานนั้นจะมีการรำถวายโดยใช้นางรำจากโรงเรียนยโสธรพิทยาคมจำนวน 100 คน หลังจากนั้นวันที่ 19 สิงหาคม 2554 จะทำพิธีอันเชิญขบวนแห่รูปจำลองพระสุนทรราชวงศา(สิงห์) ขนาด 15 และ 9 นิ้ว จากศาลากลางจังหวัดยโสธรขบวนแห่อัญเชิญไปตามถนนภายในเขตเทศบาลเมืองยโสธรจนไปถึงสวนสาธารณะบุ่งน้อยบุ่งใหญ่ที่ตั้งอนุสาวรีย์พระสุนทรราชวงศา(สิงห์)เจ้าเมืองยโสธร จากนั้นก็จะทำพิธีทางสงฆ์ตลอดเวลาจนเวลา 21.00 น.พรามณ์ก็จะประกอบพิธีบวงสรวงอนุสาวรีย์พระสุนทรราชวงศา(สิงห์)จากนั้นพระสงฆ์สวดคาถาพุทธาภิเสกพร้อมทั้งนั่งปรกแผ่เมตตาจิตตลอดทั้งคืน
     ต่อจากนี้ไปประชาชนชาวจังหวัดยโสธรก็จะได้สักการบูชาอนุสาวรีย์พระสุนทรราชวงศา(สิงห์)เจ้าเมืองคนแรกของจังหวัดยโสธรเพื่อความร่มเย็นเป็นสุขเหมือนเมื่อครั้งอดีตกาลที่ผ่านมา

 
 
สาธุการบทความนี้ : 234 ครั้ง
จากสมาชิก : 1 ครั้ง
จากขาจร : 233 ครั้ง
 
 
  28 ส.ค. 2554 เวลา 18:48:50  
   ขึ้นบน ลงล่าง  
 
         

  หน้า: 1

   

Creative Commons License
ฮู้บ่ปีนี้เมืองยศ(ยโสธร)อายุครบ 240 ปี --- เว็บบอร์ดอีสานจุฬาฯ