
ชื่อท้องถิ่น แมงน้อย (อีสาน) , ขี้ตัง (เหนือ ) , อุงน้อย (ใต้)
ชื่อวิทยาศาตร์ Lisotrigona furva ( L. furva Engel)
วงศ์ Apidae
แมงน้อย เป็นผึ้งตระกูลชันโรง เป็นสายพันธุ์ที่เล็กที่สุด หายากยิ่ง พบได้เฉพาะในประเทศไทย
กล่าวกันว่า สายพันธุ์ Lisotrigona มีอยู่แค่ 2 ชนิดคือ L. cacciae และ L. furva
มีลักษณะคล้ายกันแตกต่างเพียง ขนาดเพศผู้เท่านั้น
คนอีสานเรียกแมลงชนิดว่า แมงน้อย เนื่องจากมีขนาดเล็ก เพียง 2 มม. – 3 มม.
มีสีดำ เรียบมัน ถือว่ามีขนาดเล็กที่สุดในสายพันธุ์ผึ้งชันโรง

ขนาดน้อยปานใด เบิ่งเทียบกับเล็บมือโลด
ลักษณะนิสัย
ชอบดอกไม้ป่า ดอกหญ้า และดอกของไม้ยืนต้น อาหารของเขาคือ
น้ำหวานและเกสรของพืช พืชบางชนิดมีดอกเล็ก แมลงขนาดใหญ่
เข้าไม่ถึง จำต้องอาศัยแมลงจำพวกนี้ช่วยในการผผสมพันธุ์
แมงน้อย ไม่มีเหล็กใน ไม่ทำร้ายมนุษย์ รักสงบ ชอบ ตอมหู ตอมตา ตอมเหงื่อ
ถึงขนาดฝรั่งมาเดินป่า ถูกแมงน้อยตอมตา ตอมหู บันทึกภาพลงเวปไซต์
แต่พี่ไทยไม่ค่อยจะรู้จัก ไม่ใส่ใจไฝ่รู้
ส่วนทำไมแมงน้อยชอบตอมบริเวณตากับหู
ผมได้บรรยายไว้แล้วในเรื่อง แมงขี้นาก

การทำรัง
แมงน้อย ชอบทำรังตามโพรงไม้ หลืบไม้ รอยแตกของต้นไม้เนื้ออ่อน
ทางเข้ารังมีขนาดเล็ก ถ้าไม่สังเกตจะไม่เห็น
แม้รอยแยกธรรมดาแมงน้อยก็สามรถทำรังได้ ขอให้เย็นและสงบ
หากในต้นไม้มีโพรงข้างในใหญ่ รังของแมงน้อยก็จะมีขนาดใหญ่ตามด้วย
รังที่เก็บอาหารและน้ำหวาน มีลักษณะเป็นกระเปาะ “เอ๊าะเจ๊าะ “
ตะมุตะมิ คล้ายโถขนาดเล็กๆ ไม่ได้เป็นทรง 6 เหลี่ยม
สารเหนียวในรัง ชาวอีสานมักเอาไปทำอุดเครื่องดนตรี เช่นแคน
ใช้ประโยชน์เช่นเดียวกับ ขี้สูด เรียกว่า ขี้สูดแมงน้อย
บ้างก็เอาไปเสกคาถาทำเป็น “นวด” หรือ ขี้ผึ้งสีปาก
เอาไว้ทาเวลาไปจีบ “แม่ฮ้างน้อย” เพิ่มเสน่ห์ พะนะ
อันนี้ต้องถาม คูบาต้องแล่ง ได้ผลดีบ่

ประโยชน์ของแมงน้อย
แมงน้อย ชมเก็บเกสรดอกไม้ มากกว่าการสะสมน้ำหวาน เกิดเป็นขี้สูดแมงน้อย
หรือที่เรียกว่า “ชัน (propolis)
แต่ให้คุณค่าทางโภชนาการสูง กล่าวกันว่า มีสารต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันโรคมะเร็ง
- มีสรรพคุณทางยา มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ สมานแผล และช่วยบำรุงสมอง
องค์ประกอบส่วนใหญ่ของชันเป็นสารในกลุ่มฟลาโวนอยด์ (flavonoids)
ซึ่งปัจจุบันนิยม เอามาผสม ใน ยาสีฟัน สบู่ เครื่องสำอาง
ในทางระบบนิเวศ เนื่องจากการผสมเกสรของแมงน้อย
ไม่มีความเฉพาะเจาะจงกับชนิดของดอกไม้
ผสมเกสรพืชได้หลากหลายชนิดมากกว่าผึ้ง
อีกทั้งมีระยะทางในการบินไปหาอาหารไม่ไกลจากรังมากนัก
จึงเกิดประสิทธิภาพต่อบริเวณอย่างสูง
พืชหลากหลายชนิด อาศัยแมลงเหล่านี้
หากท่านปลูก ผลไม้ ปลูกผักพืชผล แมงน้อยคือ ฮีโร่มัยซิน

ความเกี่ยวพันในชีวิตอีสาน
ตามทุ่งนา ป่าโคก เดิ่นดิน หัวไร่ปลายนา หรือแม้แต่เถียงนา
มักจะมีแมงน้อยอาศัยอยู่ บางครั้งก็เห็นมันทำรังในเสาเถียงนา
เดินป่าหาเห็ด นั่งเลี้ยงวัวเลี้ยงควาย มันก็มาตอมหูกระซิบ
บางครั้ง ชาวอีสานก็เจาะแมงน้อยตามโพรงไม้เอาน้ำหวาน
และเอารังมันมาทำประโยชน์ ในชีวิตประจำวัน
เอามาประกอบเครื่องดนตรี ยาคุ ยากาละมัง
เอามาทำเป็นยาสมุนไพรทั่วไป
เขาเป็นแมลงประจำถิ่น มีประโยชน์ทั้งทางตรงทางอ้อม
มีคุณต่อระบบนิเวศ ต่อสรรพสัตว์
ปัจจุบัน ป่าไม้ ป่าท้องถิ่น ป่าโคก ถูกทำลายหลายแล้ว
ระบบนิเวศเสื่อมโทรม การเกษตรเคมีบันเทิงศิลป์
ส่งผลให้แมงน้อยกลายเป็นแมลงหายากมาก
นักวิทยาศาสตร์ด้านแมลงบันทึกไว้ แมงน้อย
มีเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น ซึ่งในอนาคตไม่ไกล
อาจจะมีแค่ยุงเท่านั้นที่อนุชนของเรารู้จัก และใช้ชีวิตร่วม
|