ผญา คติสอนใจประจำวันที่ 8 พฤษภาคม 2568:: อ่านผญา 
คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มสัปทน อย่าได้ลืมคนจนผู้แห่นำตีนซ้าง แปลว่า หากได้เป็นใหญ่ นั่งช้าง กางสัปทน อย่าได้ลืมคนจน ผู้เดินตามหลังช้าง หมายถึง ได้เป็นใหญ่แล้ว อย่าหลงอำนาจ อย่าลืมทวยราษฎร์บริวาร

สารานุกรมอาหารแห่งอีสาน  

หอยฟด...สารานุกรมอาหารแห่งอีสาน --- โดยอีสานจุฬาฯ
หอยฟด





ชื่ออาหาร           หอยฟด  
ชื่อภาษาไทย       พระสังข์ลุยทุ่ง
ชื่อภาษาอังกฤษ   Magic Shell

ภาคอีสานเป็นพื้นที่ห่างไกลทะเล อาหารการกินจึงต้องอาศัย ระบบนิเวศของท้องถิ่น เป็นปัจจัย
จึงไม่อาจมีหอยสด หอยทะเล ที่สะอาดปราศจากเชื้อ บริสุทธิ์ผุดผ่องยองใย
มาประกอบอาหารเป็นอาหารอีสานได้
อย่างใดก็ตาม ตามท้องไร่ท้องนา ที่บริสุทธิ์ผุดฝาด ก็มี”หอยขี้กะต่าย”
ที่สามารถนำมาทำเป็นอาหารอีสานเลิศรสได้
“หอยขี้กระต่าย” คือ หอยชนิดใด  หลายท่านคงถาม เพราะเคยเห็นแต่หอย”เชอรี่”
หอยขี้กระต่าย คือหอยนาพื้นเมือง ใกล้เคียงกับหอยโข่ง  แต่เล็กกว่า มีลายที่เปลือก
หอยนาจำพวกนี้ วางไข่ในดิน  ตามคันนา ในพื้นที่นา ฤดูหนาวจะจำศีล เช่นเดียวกับหอยโข่ง
หอยขี้กระต่ายเป็นหอยดั้งเดิม ที่มีในระบบนิเวศน์ของท้องถิ่น  

“หอยขี้กระต่าย” ไม่ใช่หอยเชอรี่ เด้อพี่น้อง คนละอย่างกัน


  ภาพหอยขี้กระต่าย

หอยเชอรี่ คือหอยต่างถิ่น ที่ถูกนำเข้ามาในระบบนิเวศน์เมืองไทย  
วางไข่เหนือพื้นน้ำ แพร่พันธุ์เร็วกินไข่หอยพื้นเมือง ชนิดอื่น  
กัดกินต้นข้าว ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศรุนแรง
ทำให้หอยขี้กระต่าย หอยโข่ง หอยปัง สัตว์พื้นเมืองเดิม สูญหายไปทีละนิด
ต้องโทษความรู้พื้นฐานเรื่องระบบนิเวศน์  ความมักง่าย และความมีเสรีภาพเกินขอบเขต
ในการนำสัตว์ต่างถิ่นเข้ามาเลี้ยงในประเทศ โดยไม่มีขบวนการตรวจสอบควบคุม
นี่ยังไม่นับรวม ปลาซ็อกเกอร์ ปลาจระเข้ และอื่นๆ อีกมากมาย น่าเป็นห่วง

ความเป็นมา

ในปกติชีวิตวิถีชาวนาในภาคอีสานแล้ว ช่วงเข้าพรรษา จะเริ่มดำนา
หรือบางทีก็ ดำนาเสร็จแล้วชาวนาจะตระเวนเลาะตรวจตรา นาข้าวตนเอง  
ตรวจคันนา  ดูต้นข้าว อย่างเอาใจใส่ทุกวัน พบเห็น หอยขี้กระต่าย หอยโข่ง
ซึ่งมีดาษดื่น จึงเก็บเอามาทำอาหารกินสำราญใจ
ตามนิสัยจริตของชาวอีสานนั้น “ อาหารคือปรุงให้พุ่งตรงต่อรสชาติ”  เรียบง่าย สบายๆ
จึงเกิดเมนูอาหารที่ จะนำเสนอในวันนี้   เมนู  “หอยฟด”



“ฟด” เป็นภาษาอีสาน แปลว่า “เดือดพล่าน” หากใช้เป็นคำนาม จะแปลว่า พุ่มไม้ กิ่งไม้
หอยฟด คือ “หอยที่ถูกต้มจนเดือดนั้นเอง” หรือบางท่านอาจเรียก “หอยถูกหลอก” (ต้ม)ก็ได้



ส่วนประกอบอาหาร
1. หอยพื้นเมือง  หอยขี้กระต่าย หอยโข่ง  
2.หัวซิงไค
3.พริกสด
4.มะนาว บักเว่อ หรือ บักขามอ่อน ก็ได้
5.ปลาแดกนัว
6.เกลือ , น้ำปลา ,
7. ผักบั่ว หัวหอม ผักหอมป้อม
8.น้ำตาล , ผงนัว ตามใจชอบ

วิธีประกอบอาหาร “หอยฟด”
1.งมหอย เดินตามไร่นา บริเวณน้ำตื้นๆ ใส ๆ หากสภาพระบบนิเวศน์ ยังมีพลัง
   ปราศจากสารพิษผุดผ่อง จะพบเห็นหอยพื้นเมืองนี้  หากฉีดยาฆ่าหญ้า
    ใส่ปุ๋ยเคมีหนักหน่วง เคมีบันเทิงศิลป์  จะพบแต่หอยเชอรี่ หรืออาจไม่พบหอยชนิดใดเลย

2.เมื่อได้หอยให้ขังไว้ก่อน 1 วัน
3.นำหอยที่เตรียมไว้ มาล้างน้ำสะอาด หลายๆ รอบ




4.ต้มน้ำใส่หม้อ เหยาะเกลือใส่เล็กน้อย ใส่หัวซิงไคลงไป แก้คาว
5.เมื่อน้ำเดือด ใส่ มะขามอ่อนลงไปนัก 2-3 ฝัก
6.นำหอยที่ล้างสะอาดลงไปต้มให้สุก ประมาณ 30 นาที



7.ตำพริกสด พริกจี่ เพื่อทำน้ำจิ้ม ปรุงใส่น้ำปลาร้า หรือน้ำปลา
   หั่นผักหอมต่างๆ ลงไปในน้ำจิ้ม
8 บีบมะนาวใส่น้ำจิ้ม ปรุงรสเปรี้ยวหวานเค็มมันตามใจ
9.เมื่อน้ำต้ม”บก” หรือแห้ง หอยสุกแล้ว ตักออกมาพร้อมบริการ



10. ฟังเสียง”พระตีกลองเพล” ซะก่อน หากยังไม่ตีกลองเพล ให้จัดแบ่ง “ลงวัด” ด้วย
      หากเลย “เพลงาย”  เที่ยงหรือบ่ายแล้ว จัดการหาไม้จิ้มตามภูมิประเทศ
     ชิมความอร่อยเยี่ยมของ”หอยพื้นเมือง” สายพันธุ์ท้องนาได้เลย



วิตกวิจารณ์วิพากษ์
ต้มหอย หรือ หอยฟด  เป็นอาหารพื้นเมืองง่ายๆ แต่ได้รสชาติ  เนื้อหอยผุดผ่อง
หอมชวนชิม จิ้มแกล้มช่างน่าอัศจรรย์  นับเป็นอาหารบริสุทธิ์รสชาติ แห่งท้องทุ่ง
กินเป็นของแกล้ม ชวนคุยกลางวนสนทนาพาเพลิน ก็เข้าท่า กินเป็นกับข้าวก็เข้ากัน
ถือว่าเป็น “รสชาติแห่งสามัญชน”    ดังเวทย์มนต์ชนบท



เมนูอาหารนี้เป็น อาหารแห่งนิเวศน์บริการ เนื่องจากต้องอาศัยสภาพแวดล้อมระบบนิเวศน์ที่สมบูรณ์
หอยพื้นเมืองหากินตามดิน แลกเปลี่ยนแร่ธาตุตามไร่นา จึงอ่อนไหวต่อสารเคมี ที่ใช้ในการเกษตร
อีกทั้งยังต้องเจอกับ หอยต่างถิ่นที่รุกรานความเป็นอยู่  จึงลดจำนวนลงตามลำดับ

ลุงเนิด ( ผู้ประกอบอาหารในภาพประกอบ) ผู้ชำนาญการวิถีชีวิตท้องทุ่งบอกว่า
นาของแก ไม่ใช้สารเคมี ปุ๋ยก็ใช้ปุ๋ยคอกในการปรุงดิน  ระลึกถึงธรรมชาติเสมอ
จึงมีกุ้ง หอย ปูปลา สัตว์นาๆ ชนิด ได้อาศัยอยู่ร่วมกัน เกื้อหนุนกัน  นาไม่ใช่มีแต่ข้าว
ชาวนาไม่ใช่ผู้แต่เพียงปลูกข้าวไว้ขาย  ทุกสิ่งอย่างในนาจึงเก็บเกี่ยวเก็บกินได้โดยปลอดภัย



  นาลุงเนิด ไม่ใช้ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าหญ้า ยาฆ่าแมลง  ใช้ปุ๋ยขี้วัวขี้ควายปรุงดิน





เมื่อได้ชมชิม”หอยฟด” ความแซบนัวหัวม่วนได้ปรุงจิตใจ และความคิดอันสอดคล้องกับธรรมชาติ
อาหารวิถีที่เรียบง่าย กลายเป็นรสชาติที่แสนวิเศษ  เจือจางด้วยจิตวิญญาณแห่งท้องถิ่น
อาหารเมนูนี้ จึงหากินได้ยาก หากยังคิดว่าเราแค่ฐานะ “ผู้บริโภค ผู้โขกสับแผ่นดิน”




ว่าแล้วก็ เทเหล้าขาว แกล้ม หอยฟด “เหล้าขาวมีขายนับร้อยปี แต่ไม่มีส่งฝาชิงสร้อยคอทองคำ”
จิ้มชิมหอยล้ำค่า เจตน์แห่งทุ่ง พุ่งตรงต่อรสชาติ   ไม่ขาดความสำราญ




** ขอขอบคุณ สหายพี่ภูเพียง เชียงขวาง และลุงเนิด ผู้ถ่ายทอดวิถี และวิธีคิดที่งดงาม***


 
Creative Commons License

ชมรมอีสานจุฬาฯ... สารานุกรมอาหารแห่งอีสาน