มิตรไมตรีเลิศล้ำ วัฒนธรรมอลังการ สืบสานตำนานทรงคุณค่า อีสานจุฬาฯร่วมใจอนุรักษ์

กระดานสนทนา ชมรมศิลปวัฒนธรรมอีสาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โสเหล่ เฮฮา กับสภาไนบักขามคั่ว

ตั้งกระทู้ใหม่
847) ชาติพันธุ์และชนเผ่าต่างๆใน 19 จังหวัดอีสาน
 คห.ที่50) ญวน แกว
ชนชาวญวน / เวียตนาม / อานัม / แกว
ภาษาเวียดนาม (เป็นภาษา Austroasiatic ภาษาหนึ่ง)






  
               ชาวญวน หรือ ที่ชาวอีสานเรียกว่า "แกว"ชนชาติหนึ่งอยู่ทางทิศใต้ของประเทศจีน และทางทิศตะวันออกของประเทศลาวและ เขมรคนกลุ่มนี้ มีอุปนิสัยขยันขัน แข็งในการทำมาหากิน จนมีฐานะความเป็นอยู่ที่มั่นคงเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งในอดีตได้มีการติดต่อค้าขายกับ ชาวลาวในประเทศลาว และภาคอี สานมานานแล้วและหลังสงคราม โลกครั้งที่สอง เมืองญวนดิ้นรนที่จะเป็นอิสระจากฝรั่งเศส ญวนในภาคเหนือบริเวณเมืองเดียนเบียนฟูได้หนีภัย การเมืองเข้ามาอยู่ในภาคอีสานจำนวนมาก ส่วนหนึ่งเข้ามาอยู่ในจังหวัดนครพนม สกลนคร เลย  อุบลราชธานี หนองคาย สุรินทร์ บุรีรัมย์  อุดรธานี ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ชัยภูมิ กาฬสินธุ์ ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๘๙-๒๔๙๒

ชาวญวนมักประกอบอาชีพค้าขาย และทำให้อาหารญวนบางชนิดเป็นที่นิยม เช่น ข้าวเฝอ เป็นต้น บ้านชาวญวนส่วนใหญ่จะตั้งอยู่บนบริเวณโคกดิน ลักษณะเหมือนเป็นเกาะเล็กๆ ชาวไทยเชื้อสายเวียดนามเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ ที่ยังคงพูดภาษาเวียดนาม ในการสื่อสารระหว่างกลุ่ม ซึ่งอาศัยอยู่ตามอำเภอใหญ่ๆ ของจังหวัดสกลนครนั้นได้อพยพมาอยู่ที่ประเทศไทยเป็นกลุ่ม ๓ ระยะ คือ    
      
๑. หลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ ชาวญวนอพยพมาอยู่ในประเทศไทย ตามเส้นทาง ดังต่อไปนี้  
๑.๑ ทางสะหวันนะเขต สปป.ลาว ข้ามแม่น้ำโขงมาอยู่ฝั่งไทยที่จังหวัด มุกดาหาร อุบลราชธานี สกลนคร หนองคาย อุดรธานี นครพนม
๑.๒ ทางเวียงจันทน์ สปป.ลาว  ข้ามแม่น้ำโขงมาอยู่ที่ฝั่งไทยที่จังหวัดหนองคาย  สกลนคร
๑.๓ ทางท่าแขก สปป.ลาว  ข้ามแม่น้ำโขงมาอยู่ฝั่งไทยที่จังหวัด นครพนม  สกลนคร

๒. สงครามเวียดนามเหนือ-ใต้  เป็นกลุ่มชาวญวนอพยพ ประมาณ ๒,๐๐๐-๓,๐๐๐ คน ส่วนใหญ่จะไปอาศัยอยู่ที่ อ.ลาดบัวขาว จ.นครราชสีมา ถิ่นที่อยู่เดิมชาวญวนอพยพ ที่เดินทางมาที่ประเทศไทยนั้นส่วนใหญ่จะมาจากเวียดนามตอนกลาง และข้ามแม่น้ำโขงมายังฝั่งไทย ทางสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว  คือ จังหวัดสะหวันนะเขต จังหวัดเวียงจันทร์ และ ท่าแขก ชาวญวนอพยพจะอยู่กระจายกันในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ตามหัวเมืองยังคงรักษาเอกลักษณ์ ภาษา และวัฒนธรรมของตนเอง

ความเป็นมาของชาวเวียดนามในประเทศไทย



แบ่งชาวเวียดนามที่อพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทยออกเป็น ๔ ระยะ  คือ

(๑)  ชาวเวียดนามที่อพยพเข้ามาในสมัยอยุธยา ธนบุรี และต้นรัตนโกสินทร์ ในสมัยอยุธยา ปรากฏว่ามีหมู่บ้านญวนอยู่ในกรุงศรีอยุธยา สมัยพระนารายณ์มหาราช (๒๑๙๙-๒๒๓๑)   จำนวนคนญวนที่อพยพเข้ามาในประเทศไทยในสมัยอยุธยา จนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ และจนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมีประมาณ ๕,๐๐๐-๘,๐๐๐ คน โดยตั้งรกรากตามสถานที่ต่างๆ คือ อยุธยา  จันทรบุรี  พาหุรัด(ย้ายไปสามเสน) บางโพ จันทรบุรี สามเสน กาญจนบุรี  โดยที่ชาวญวนที่นับถือคริสต์ศาสนาจะอาศัยอยู่ที่จังหวัดจันทรบุรี ส่วนพวกที่นับถือพุทธศาสนาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่กาญจนบุรี

(๒) ชาวเวียดนามที่อพยพเข้ามาในสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ ซึ่งฝรั่งเศสยึดครองเวียดนามได้ทั้งหมด ชาวคนเวียดนามจำนวนมากจึงอพยพเข้ามาอยู่ประเทศลาว ประเทศเขมร และประ เทศไทย   ในประเทศไทยชาวเวียดนามอพยพเข้ามาอยู่ในเขตจังหวัดอุบลราชธานี นครพนม สกลนคร อุทัยธานี หนองคาย สุรินทร์ ศรีษะเกษ บุรีรัมย์ และปราจีนบุรี   สำหรับชาวเวียดนามที่มาอาศัยอยู่ในจังหวัดสกลนคร นั้นส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่ที่บ้านท่าแร่ อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร

(๓) ชาวเวียดนามที่อพยพเข้ามาอยู่หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒  เป็นการสู้รบระหว่างฝรั่งเศสกับเวียดมินห์  ชาวเวียดนามจึงอพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยเพิ่มขึ้นมากกว่า ๔๘,๐๐๐ คน ซึ่ง ขจัด บุรุษพิพัฒน์ (๒๕๒๑) กล่าวว่า ภายหลังจอมพล ป. พิบูลสงคราม เข้ามาบริหารประเทศ ในปี พ.ศ. ๒๔๙๒  รัฐบาลได้มีมาตรการควบคุมชาวเวียดนามอพยพ อาศัยอยู่ในเขตพื้นที่ ๑๕ จังหวัด ประกอบด้วย เชียงราย  น่าน อุตรดิตถ์  เลย  อุบลราชธานี หนองคาย นครพนม บุรีรัมย์  อุดรธานี ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด สกลนคร ชัยภูมิ กาฬสินธุ์ ซึ่งชาวเวียดนามอพยพจะอาศัยอยู่นอกเขต ๑๕  จังหวัดนี้ไม่ได้
พ.ศ. ๒๔๙๓ ให้ชาวเวียดนามอพยพมาอาศัยอยู่ในพื้นที่ ๘ จังหวัด โดยบังคับให้เดินทางไปยังจังหวัดควบคุมใหม่ ภายใน ๑ เดือน คือ หนองคาย  สกลนคร  นครพนม  อุบลราชธานี  ปราจีนบุรี ศรีสะเกษ ขอนแก่น อุดรธานี  พ.ศ.๒๔๙๖ รัฐบาลไทยได้จัดส่งหัวหน้าชาวเวียดมนามในจังหวัดหนองคาย สกลนคร และนครพนม  ไปไว้ที่จังหวัดพัทลุง และจังหวัดสุราษฎร์ธานี  พ.ศ. ๒๕๐๓  อนุญาตให้ชาวเวียดนามอพยพอาศัยอยู่ได้ในพื้นที่กำหนดเขต ๘ จังหวัด คือหนองคาย  อุดรธานี  สกลนคร  นครพนม  อุบลราชธานี  ปราจีนบุรี  สุราษฎร์ธานี  พัทลุง

(๔) ชาวเวียดนามอพยพที่เข้ามาอยู่ในช่วงสงคราม เวียดนามเหนือ-ใต้ เป็นกลุ่มชาวเวียดนามอพยพ ประมาณ ๒,๐๐๐-๓,๐๐๐ คน ส่วนใหญ่จะไปอาศัยอยู่ที่ จ.นครราชสีมา ในปี พ.ศ.๒๕๐๓ ชาวเวียดนามอพยพที่เดินทางเข้ามาที่ จ.สกลนคร นั้น มีชาวเวียดนามบางส่วน ได้กลับประเทศเวียดนามแล้วแต่ยังคงเหลือตกค้างอยู่   เนื่องจากเกิดสงครามเวียดนามเหนือเวียดนามใต้   โดยในขั้นต้นชาวเวียดนามอพยพอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของศูนย์ประสานงาน กอ.รมน. และสำนักงานกิจการญวนอพยพ กำหนดให้ชาวเวียดนามอพยพเหล่านี้อยู่ในเขตควบคุม ๘  จังหวัด  คนเวียดนามได้รับการดูแล การจัดทำทะเบียนประวัติ การศึกษา การปลูกฝังให้มีความรู้ความเป็นคนไทย สามารถผสมผสานกลมกลืนเข้าสู่สังคมไทยจนในที่สุดก็มีชาวเวียดนามจำนวนมากได้รับการพิจารณาจากรัฐบาลไทยให้ได้สัญชาติไทย โดยเรียกว่า “คนไทยเชื้อสายเวียดนาม” อยู่อาศัยมานานจนได้รับเชื้อชาติไทย ปัจจุบันบุคคลเหล่านี้ประกอบอาชีพข้าราชการ นักธุรกิจ นักการเมืองท้องถิ่น มีบทบาทต่อการปกครอง และเศรษฐกิจของจังหวัด



ในปี พ.ศ. ๒๕๔๕ คนเวียดนาม อพยพที่ได้รับสัญชาติไทยแล้ว ที่อาศัยอยู่ในเมืองสกลนคร ทั้งสิ้น ๑,๘๕๑ คน จากการที่ชาวไทยเชื้อสายเวียดนามได้อาศัยอยู่อย่างกลมกลืนกับชาวไทยในจังหวัดสกลนคร และ จังหวัดใกล้เคียง มานาน ๖๐ ปี แต่ยังคงรักษาเอกลักษณ์ของตนเอง ทั้งทางด้านภาษา สังคม วัฒนธรรม

ในอดีต ชาวเวียดนาม เข้ามาอาศัยในประเทศไทยมีสถานะเป็น“ญวนอพยพ” อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันชาวเวียดนามเหล่านี้ได้รับการปฏิบัติที่ถูกต้องจากรัฐไทย และกลายมาเป็นสะพานทางวัฒนธรรมที่เชื่อมความสัมพันธ์ไทย-เวียดนาม ไม่ว่าจะในด้านภาษาโดยการเป็นครูสอนภาษาเวียดนามให้แก่นักเรียน นักศึกษา ข้าราชการไทย และ นักเรียน นักศึกษา ข้าราชการเวียดนามที่เดินทางมาเรียนภาษาในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดในภาคอีสาน

นอกจากนี้ ชาวเวียดนามที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยยังมีบทบาทในการเป็นผู้ประสานงาน เป็นล่ามให้แก่หน่วยงานราชการและเอกชนไทยและเวียดนาม เป็นผู้ร่วมก่อตั้งหมู่บ้านมิตรภาพไทย-เวียดนามที่บ้านนาจอก จังหวัดนครพนม และบ้านโห่จี๋มิงห์ ที่บ้านหนองโอน จังหวัดอุดรธานี อีกทั้ง มีบทบาทในการเผยแพร่วัฒนธรรมด้านการแต่งกาย การเผยแพร่อาหารเวียดนาม เป็นต้น



การบูชาบรรพบุรุษ
ภายในบ้านของคนเวียดนาม และภายในวัดทุกแห่งจะพบแท่นบูชาบรรพบุรุษการบูชาบรรพบุรุษยังคงมีความสำคัญทางสังคมและศีลธรรมอย่างสูงในสังคมเวียดนาม ในวันครบรอบวันตาย และวันเทศกาลตามประเพณีต่างๆ  ญาติของผู้ตายจะมาชุมนุมกันโดยลูกชายคนโตของผู้ตายจะเป็นผู้นำในการเซ่นไว้ด้วยอาหารและธูป จากนั้นคนในครอบครัวทั้งหมดจะไปที่สุสานของผู้ตาย พิธีจบลงด้วยสมาชิกในครอบครัว คุกเข่าลงหน้าแท่นบูชา  ความล้มเหลวในการบูชาบรรพบุรุษของลูกหลานจะถูกมองว่าเป็นการกระทำที่แสดงถึงความอกตัญญูต่อบิดามารดา เพราะทำให้บรรพบุรุษต้องเร่ร่อนอยู่ในนรก

การบูชาในระดับหมู่บ้าน
ในทางปฏิบัติแล้วหมู่บ้านเวียดนามทุกแห่งจะมีจั่ว (chua-ที่วัด) และดิงห์ (dinh - ศาลาประชาคม) ชาวบ้านจะบูชาพระพุทธเจ้าจั่ว ซึ่งดูแลรักษาโดยภิกษุจำพรรษาอยู่ที่นั้น ทุกวันที่ ๑ และ ๑๕   ค่ำชาวบ้านจะไปที่จั่ว โดยนำดอกไม้ธูปเทียนและผลไม้ไปถวายพระพุทธ และประกอบพิธีที่วัดในตอนเย็นของวันที่ ๑๔ และ ๓๐ ของเดือนเพื่อแสดงความเสียใจในสิ่งที่ไม่ดีที่ได้กระทำลงไป และปฏิญาณว่าจะประพฤติในสิ่งที่ดีการปฏิบัติธรรมของชาวพุทธในระดับหมู่บ้านจะไม่เหมือนกับของเซน   เป็นการผสมผสานระหว่างเซนกับอมิตาภะ เป็นที่เชื่อกันว่าอมิตาภะจะได้สภาวะแห่งพุทธภายใต้เงื่อนไขพิเศษที่ท่านได้ต้อนรับคนทุกคนที่เรียกชื่อท่านอย่างจริงใจเวลาตาย และจะนำพวกเขาไปยังสวรรค์

ศาสนาพุทธ : ได้รับการเผยแพร่เข้ามาจากอินเดียและจีน กว่าพันปีแล้ว ผู้เชียวชาญในสาสนาพุทธชาวเวียดนามคนหนึ่งถูกส่งตัวไปยังราชสำนักญี่ปุ่นเพื่อสอนบทเพลงทางสาสนาซึ่งปรากฏลัทธิ ๒ลัทธิ คือ อาอาม (A -HAM, Agaham ) และเทียน (Thien) ต่างแข่งขันกันอย่างสันติภาพในหมู่ผู้เลื่อมใสศรัทธา ลัทธิเทียนเป็นลัทธิหนึ่งในศาสนาพุทธนิกายมหายาน เนื่องจากกฎเกณฑ์น้อยทำให้เป็นที่นับถือกันมาก

ลัทธิขงจื้อ: ลัทธิขงจื้อมีอายุยืนยาวมากกว่าระบบความเชื่ออื่นใด ทั้งในโลกตะวันออก และตะวันตก ลัทธินี้มีพื้นฐานมาจากคำสอนของขงจื้อซึ่งเกิดในราวปีที่ ๕๕๐ ก่อนคริสตกาล และอยู่ในยุคที่จีนมีความวุ่นวายทางการเมือง ขงจื้อได้ชื่อว่าเป็นผู้ชี้นำทางจริยธรรมและศีลธรรมมากกว่าที่จะเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ ลัทธิขงจื้อเข้ามาสู่ชาวเวียดนามโดยผ่านชาวจีนกว่า ๒,๐๐๐ ปี มาแล้ว

ลัทธิเต๋า : เต๋า เต็ก เก็ง (Tao Te Ching) คัมภีร์แห่งมรรคและอำนาจของเต๋าเริ่มต้น ในหมู่บ้านที่มีศาสนาพุทธและขงจื้อ วิญญาณนิยม และความเชื่ออื่นๆ อยู่รวมกัน ในหมู่บ้านเหล่านี้จะมีการสร้างสถานที่สำหรับบูชาที่เรียกกันว่า เดี่ยน (dien) หรือ ติ๋งห์(tinh) ในระดับชาวบ้านเต๋าเป็นเรื่องของความเชื่อในอำนาจเหนือธรรมชาติเวทมนตร์คาถาและการรักษาโรคภัยไข้เจ็บด้วยอาคม
  
ศาสนาคริสต์ : ชาวเวียตนาม ส่วนหนึ่งนับถือศาสนาคริสต์ โรมันคาทอลิค และประเทศเวียดนาม เป็นดินแดนที่เต็มไปด้วยศาสนา ปรัชญาและความเชื่อ แบบวิญญาณนิยมเปลี่ยนไป คาทอลิคมิช ชันนารีตะวันตก พวกแรกได้เข้ามาในตังเกี๋ยทางภาคเหนือของเวียดนาม ในปี ๑๕๓๓ และเข้าสู่ภาคกลางของเวียดนามในปี ๑๕๙๖ การเผยแพร่ครั้งแรกเกิดขึ้นที่ในฮอย อัน (Hoi An) ดานัง และฮานอยโดยคณะมิชชันนารีเยซูอิตชาวโปรตุเกส การเผยแพร่ศาสนาก่อให้เกิดความขัดแย้ง อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แม้กระนั้นคาทอลิค ช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวง ๒ ด้านอย่างแรกคือ
- การประดิษฐ์ภาษาเขียนแบบโรมัน
- สองคือการนำเอาวิธีการทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ของตรรกะ
แบบตะวันตกเข้ามาการเปลี่ยนแปลงนี้ก่อให้เกิดความวิตกกังวลขึ้นในหมู่ขุนนางและชนชั้นปกครองผู้มองว่าศาสนาใหม่เป็นสิ่งคุกคามระเบียบสังคมแต่ดั้งเดิมและพิธีกรรมต่างๆโดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อความเชื่อเรื่องสวรรค์ และการบูชาบรรพบุรุษ



ลักษณะเด่นของชาวเวียดนาม คือ เป็นกลุ่มคนที่มีความขยันขันแข็งและมีความอดทนเป็นพิเศษ แม้คนจีนก็ยังยอมรับว่าคนญวน มีความขยันขันแข็งในการประกอบอาชีพมากว่าตน ในเรื่องน้ำอดน้ำทนของคนญวนไม่มีชาติใดในเอเชีย ที่เหนือกว่าคนญวน การที่คนญวนสามารถทนทำสงครามต่อสู้กับสหรัฐอริเมริกาเป็นเวลานานนับ ๑๐ ปี ทั้งๆ ที่ประเทศของตนประสบกับความเสียหายอย่างยับเยิน จากการโจมตีที่ทิ้งระเบิดของสหรัฐ ก็เป็นเครื่องพิสูจน์ อย่างดีถึงความอดทนของคนญวน

เมื่อคนญวนอพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทย ก็ตั้งหน้าทำมาหากิน ประกอบกับการที่รัฐบาลไทยในระยะนั้น ได้ให้อุปการะช่วยเหลือ ทำการจัดสรรแบ่งที่ดินให้ทำกิน และให้ยืมทุนในการประกอบอาชีพรวมทั้งปล่อยให้ทำมาหากินโดยอิสรเสรี ไม่มีการกีดกั้นหรือหวงห้ามแต่อย่างใดจึงเป็นผลให้คนญวนสามารถสร้างฐานะความเป็นอยู่ ให้เป็นปึกแผ่นขึ้นเรื่อย ๆ ในที่สุดคนญวนก็สามารถสร้างฐานะทางเศรษฐกิจของตนให้เหนือกว่าคนไทยในชุมชน


คนญวนประกอบอาชีพเกือบทุกประเภท นับแต่ด้านการเกษตร การช่างฝีมือต่าง ๆ เช่น ช่างไม้ ชางเหล็ก ช่างกลึง ช่างนาฬิกา ช่างไฟฟ้าวิทยุ ช่างเย็บเสื้อผ้า ช่างเครื่องยนต์ ต่อตัวถังรถยนต์ อาชีพค้าขายทุกชนิด การประมง การแพทย์ ถ่ายรูป การค้าขายในตลาดสด เป็นต้น ด้วยความขยันหมั่นเพียร และการมีน้ำอดน้ำทน สามารถประกอบอาชีพได้ทุกชนิดโดยไม่มีการรังเกียจ ผลจึงปรากฏว่า ชุมชนใดที่มีกลุ่มชาวญวนอยู่ อิทธิพลทางเศรษฐกิจจะตกอยู่ในมือของคนกลุ่มนี้เป็นส่วนใหญ่

ด้านสังคม
ในท้องถิ่นที่มีคนญวนอาศัยอยู่ คนญวนจะรวมตัวกันอย่างเหนียวแน่น คบค้าสมาคมเฉพาะคนญวนด้วยกัน สรุปแล้วในด้านสังคมส่วนมากคนญวน แสดงออกโดย

(๑) ใช้เวลาว่างเล่นกีฬาทุกชนิด กีฬาที่นิยมเล่นได้แก่ฟุตบอล บาสเกตบอล วอลเล่ย์บอล เป็นต้น จุดประสงค์ของการเล่นกีฬา ก็เพื่อปลูกฝังความสามัคคี ในหมู่คนญวน

(๒) จัดงานแสดงออกซึ่งพลังแห่งความสามัคคี ในวันสำคัญของตน เช่น วันเกิดโฮจิมินห์ วันชาติเวียดนาม เป็นต้น เพื่อปลูกจิตสำนึกให้รักชาติ รักและบูชาโฮจิมินห์

ฉะนั้นสังคมโดยสรุปแล้ว ชาวญวนต้องการมีอิสรเสรีที่จะเดินทางไปไหนมาไหนได้ โดยไม่ต้องอยู่ภายใต้ระเบียบข้อบังคับที่ทางการกำหนดไว้ สำหรับคนญวนอพยพ และชาวญวนส่วนมากไม่ต้องการเดินทางกลับเวียดนาม ถึงจะรักภักดีต่อประเทศเวียดนามก็ตาม สาเหตุเพราะ
ในระยะหลัง ได้มีญวนรุ่นใหม่เกิดขึ้น ญวนกลุ่มใหม่นี้ไม่เห็นประเทศเวียดนามมาก่อน ความ รู้สึกผูกพันในประเทศบ้านเกิดเมืองนอนของบิดามารดา ก็ย่อมไม่แน่นแฟ้นเหมือนญวนรุ่นเก่า และชาวญวนยังเคยชินต่อระบบเศรษฐกิจแบบเสรี มีความเป็นอยู่อย่างสุขสบาย เมื่อเทียบกับชีวิตความเป็นอยู่ของคนญวนในเวียดนาม จึงไม่ปรารถนาที่จะกลับเวียดนามและพยายามทุกวิถีทางเพื่อให้ได้มาซึ่งสัญชาติไทย



เด็กญวนที่เกิดในเมืองไทย ทางราชการได้ผ่อนปรนให้เข้าเรียนในระดับต้นๆ ในท้องถิ่นที่ญวนอาศัยอยู่ แต่การศึกษาในระดับสูง ๆ นั้น มีปัญหาเพราะต้องใช้หลักฐานหลายอย่างที่คนญวนอพยพไม่มี เช่น สำเนาทะเบียนบ้าน เป็นต้น เมื่อเป็นเช่นนี้จึงทำให้เด็กญวน ที่ต้องการเรียนต่อ ต้องหาทางให้ได้มาซึ่งสัญชาติไทย และอีกทางที่ทำได้ก็คือการให้คนไทยรับเป็นบุตรบุญธรรมด้วยวิธีการ ทำให้มีลูกหลานญวน ได้มีโอกาสเข้าศึกษาต่อระดับมหาวิทยาลัย



ภาษา
คำในภาษาเวียดนามกว่า ๘๐% ของภาษามาจากภาษาจีน และยังรวมไปถึงอิทธิพลทางวรรณคดีจีน และยังมีร่องรอยของภาษาฝรั่งเศสด้วย คำที่เข้ามาในพจนานุกรมเป็นครั้งแรกในสมัยจักรวรรดินิยมช่วงศตวรรษที่ ๑๘ ถึง ๒๐

ส่วนภาษาอังกฤษนั้นมาจากชาวอเมริกันในช่วงสงครามเวียดนาม และจากการเป็นพี่น้องร่วมลัทธิคอมมิวนิสต์กับสหภาพโซเวียต เวียดนามก็ได้รับอิทธิพลทางภาษาจากรัสเซีย ความจริงแล้วความหมาย และคำศัพท์เฉพาะทางวิชาการต่าง ๆ ของแนวคิดและเทคโนโลยีสมัยศตวรรษ ที่ ๒๐ มักใช้คำภาษา ฝรั่งเศส อังกฤษ และรัสเซีย และภาษาที่เข้ามาล่าสุดคือภาษาญี่ปุ่น

สำเนียงที่แตกต่างกันในเวียดนามนั้น เผยให้เห็นถึงเอกลักษณ์ที่เหนียวแน่นของภูมิภาค ตัวอักษรบางตัวของพยัญชนะ ออกเสียงต่างกัน ศัพท์ของชาวเหนือและชาวใต้ประกอบด้วยคำที่แตกต่างกัน รากของภาษามาจากการผสมของวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกัน คือการผสมของ เขมร ไท และเมือง แม้แต่การวางรูปประโยคก็ยังเหมือนกัน

ภาษาเขียนของเวียดนาม
อิทธิพลของจีนในช่วงศตวรรษแรกๆ ของประวัติศาสตร์เวียดนามทำให้มีการใช้ตัวอักษรที่เรียกกัน ว่าจื๋อ โย (chu nho) อย่างกว้างขวางจนแทนที่ภาษาเขียนโบราณที่มีต้นกำเนิดจากภาษาอินเดีย หลังจากได้อิสรภาพ บรรดานักปราชญ์ต่างตระหนักถึงความจำเป็นและประโยชย์ของการพัฒนาภาษาเขียนที่เป็นของเวียดนามขึ้นมา ผู้ที่ทำได้สำเร็จ คือ เหวียน เทวียน (Nguyen Thuyen) ทุกวันนี้เวียดนามมีตัวอักษรแบบโรมัน   อันเป็นผลงานของ อเล็กซองเดร เดอโรดส์ (Alexandre de Rhodes) มิชชันนารีเยซูอิตชาวฝรั่งเศส    ผู้ซึ่งได้พัฒนาตัวอักษรที่เรียกกันว่า กว๊อก หงือ (quoc ngu)
 คห.ที่51) เยอ
ชนชาวเยอ
ในตระกูล "ออสโตรอาเซียติค" ในสาขามอญเขมร








              ชนชาวเยอ
เป็นชาวพื้นเมืองกลุ่มหนึ่งที่อยู่ในกลุ่มภาษามอญ-เขมร  เรียกตนเองว่า กวย มีความหมายว่า คน เยอจัดอยู่ในกลุ่มของชนชาวกูย มีภาษาพูดเดียวกันมีบางคำเท่านั้นที่แตกต่างกัน ชาวเยอทั่วไปจะสูงประมาณ ๑๖๕ ซม. ผิวดำแดง การตั้งหมู่บ้านส่วนใหญ่ จะตั้งในเขตใกล้ลำน้ำ หรือลำห้วย ชาวเยอในแต่ละหมู่บ้านมีความสัมพันธ์ในลักษณะเครือญาติ ปกติชาวเยอ มีอาชีพทำนา แต่บางส่วนมีความชำนาญด้านการช่าง ตำนานชาวเยอในจังหวัดศรีสะเกษ  เริ่มต้นที่พญากตะศิลา เป็นหัวหน้านำคนเผ่าเยอ อพยพมาโดยทางเรือ มาตั้งเมืองคงโคก หรือเมืองคงในปัจจุบัน ซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำมูล ปัจจุบันนี้ชนกลุ่มนี้อาศัยอยู่ใน อ.เมืองศรีสะเกษ อ.ไพรบึง อ.ราษีไศล และ อ.ศรีรัตนะ

การแต่งกาย
การแต่งกายของชาวเยอ มีเอกลักษณ์ของตนเอง ทั้งชายและหญิงจะใช้เสื้อผ้าไหมเหยียบ แขนยาวย้อมสีดำ ซึ่งเป็นผ้าไหมเส้นเล็กทอลวดลายขิดดอกเล็ก ๆ แทรกไว้ตลอดผืน เมื่อตัดเย็บแล้วนำมาย้อมดำด้วยผลมะเกลือดิบที่ดำแล้วนำมาย้อมอีกหลายครั้ง ตากให้แห้งแล้วคลุกหมักไว้ในโคลน เสื้อผ้าไหมเหยียบย้อมดำนี้เป็นผ้าเนื้อแน่นและอ่อนนุ่ม  มีความคงทนเป็นพิเศษ ใช้สวมใส่ในทุกโอกาส ไม่ว่าทำนาทำไร่ ไปตลาด หรือไปเที่ยวงานรื่นเริง ถ้าทำนาหรือทำงานอื่น ๆ จะสวมเสื้อไหมเหยียบย้อมดำ คู่กับผ้าซิ่นหมี่ มีผ้าสไบสีดำพาดไหล่ ใช้เช็ดหน้าเช็ดมือได้ ส่วนผู้ชายถ้าทำไร่ทำนาก็จะสวมเสื้อไหม เหยียบย้อมดำแขนยาวในลักษณะเสื้อเชิ้ต ถ้าเป็นงานบุญ หรือโอกาสพิเศษ จะนุ่งโสร่งไหม มีผ้าขาวม้าไหม หรือฝ้ายสีสดใส เป็นลวดลายตารางมัดคาดเอว ในบางโอกาสชายนุ่งโสร่งหรือผ้าสีต่างๆ เป็นโจงกระเบนมีผ้าขาวม้าคาดเอวหรือคล้องไหล่ เครื่องประดับมีสร้อยคอ หญิง เสื้อแขนกระบอก คอกลมหรือคอตั้งสีสันต่างๆ นุ่งผ้าถุงโจงกระเบนมีเสื้ออยู่ด้านในสีสันต่างๆ แต่ไม่มีลวดลาย มีตุ้มหูเป็นเครื่องประดับ

ศาสนา
เยอ นับถือศาสนาพุทธ มีความเชื่อในเรื่อภูต ผี ประเพณีคล้ายชาวกูย, ลงแขก รำผีฟ้า ผีแถน การละเล่นพื้นเมือง โหวด, ว่าวสะบู แข่งเรือ ศิลปวัฒนธรรม/ภูมิปัญญาช่างทำบ้าน ผ้าไหมมัดหมี่

ภาษาเยอ  
ภาษาเยอ(Nyeu)เป็นภาษาที่อยู่ใน ตระกูลภาษาออสโตรเอเชียติก ภาษากลุ่มมอญ-เขมร สาขามอญ-เขมรตะวันออก สาขาย่อยกะตู มีผู้พูดในประเทศไทย 200 คน ในจังหวัดศรีสะเกษ นักภาษาศาสตร์จัดภาษาเยอกับภาษากูยให้เป็นภาษาเดียวกัน เนื่องจากมีการใช้คำศัพท์พื้นฐานร่วมกันมาก มีความแตกต่างกันในเรื่องเสียงของพยัญชนะ และเสียงสระ

ภาษาเป็นภาษาเดียวกับภาษาส่วย แต่สำเนียงแตกต่าง และเพี้ยนกันไปตามสภาพแวดล้อม บางท่านสรุปว่าภาษาเยอคือ ภาษาส่วยที่ใกล้ชิดกับภาษาลาว ภาษากูยคือภาษาเยอที่ใกล้ชิดกับภาษาเขมร

ภาษาเยอเป็นภาษาที่มีความอ่อนไหวมาก จากอิทธิพลของภาษาลาว และภาษาเขมรมาก ในหมู่บ้านของชาวเยอ จะพูดภาษาเยอ ภาษาเขมร และภาษาลาว ทำให้มีโอกาสที่จะทำให้ภาษาเยอเป็นภาษาตายได้ในอนาคต

ภาษาเยอพูดกันใน บ้านกุง บ้านขาม ในกิ่งอำเภอศิลาลาด บ้านกลาง หรือบ้านเชือก บ้านจิก บ้านหลุบโมก บ้านดอนเรือ บ้านบากเรือ บ้านร่องโศก บ้านใหญ่ บ้านกลาง บ้านโนน บ้านหว้าน ในอำเภอราศีไศล บ้านขมิ้น บ้านโพนค้อ ในอำเภอเมืองศรีสะเกษ บ้านปราสาทเยอ และบ้านโพนปลัด ในอำเภอไพรบึง


อาหารชาวเยอ  คล้ายกับกูย ในอดีตไม่นิยมกินเนื้อวัว เนื้อควาย



การตั้งถิ่นฐานชาวเยอ จ.ศรีสะเกษ
    

เยอ เป็นชื่อกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มหนึ่ง ในแง่ของภาษา ภาษาเยอจัดอยู่ในภาษากลุ่มมอญ- เขมร จุดเด่นของชาวเยอก็คือ มีความเหนียวแน่นในการรักษาขนบธรรมเนียมประเพณ วัฒนธรรม และภาษาของกลุ่มชนไว้เป็นอย่างดี  ในหมู่บ้านของชาวเยอแทบทุกหมู่บ้าน จะพูดภาษาเยอ  ชาวลาวหรือคนหมู่บ้านอื่นที่มาตั้งหลักแหล่งในหมู่บ้าน จะเปลี่ยนจากภาษาพูดเดิมของตน มาพูดภาษาเยอ เเละปฏิบัติตามธรรมเนียมเยอด้วย (จากการสัมภาษณ์ ประเสริฐ คำหล้า ผู้นำชาวเยอ เมื่อปี 2542)  การตั้งหมู่บ้านของชาวเยอส่วนใหญ่ จะอยู่ในเขตลำน้ำหรือลำห้วย เช่น บ้านเมืองคง บ้านท่าโพธิ์ บ้านใหญ่ บ้านกลาง บ้านโนน บ้านฮ่องโสก บ้านหลุบโมก บ้านดอนเรือ บ้านหนองบาก บ้านหว้าน  อำเภอราษีไศล ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำมูล  บ้านโนนแกด บ้านขมิ้น อำเภอเมืองศรีสะเกษ   บ้านโพธิ์ศรี ตำบลโนนเพ็ก อำเภอพยุห์  ตั้งอยู่ที่ราบลุ่มห้วยแอด บ้านปราสาทเยอ บ้านโพนปลัด บ้านเขวา ตำบลปราสาทเยอ  ตั้งที่ราบลุ่มห้วยทา บ้านกุง บ้านวังไฮ บ้านขาม บ้านกลาง บ้านจิก ตั้งอยู่บริเวณที่ราบลุ่มลำน้ำเสียว เป็นต้น  ที่น่าสนใจคือชาวเยอในแต่ละหมู่บ้านมีความสัมพันธ์ในลักษณะเครือญาติ  ปกติชาวเยอมีอาชีพทำนา แต่บางส่วนมีความชำนาญในด้านช่าง

ประวัติความเป็นมา - ตำนานของชาวเยอในศรีสะเกษจะเริ่มต้นที่ พญากตะศิลา เป็นหัวหน้านำคนเผ่าเยอ อพยพมาโดยทางเรือ  มาตั้งเมืองคงโคกหรือเมืองคง ซึ่งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำมูลในปัจจุบันนี้  เมืองคงอุดมสมบูรณ์ด้วยสัตว์น้ำ  และเป็นเส้นทางคมนาคมในการติดต่อค้าขาย  มูลเหตุของการตั้งชื่อเมืองอาจมาจาก การที่พื้นที่เหล่านี้อาจมีป่ามะม่วงมาก่อนแล้ว  หรือมีการปลูกไม้ผล เช่น ขนุน มะม่วง มะนาว มะพร้าวฯลฯ  ผลไม้ที่ปลูกง่ายและให้ผลเร็ว คือมะม่วง มะม่วงภาษาเยอเรียกว่า      เยาะค็อง หรือ เยาะก็อง ต้นมะม่วงมีอยู่จำนวนมาก จึงเรียกเมืองตัวเองว่าเมืองเยาะค็อง หรือเพี้ยนไปเป็นเมืองคอง – คง ในที่สุด  ปัจจุบันมีรูปปั้นพญากตะศิลาที่เมืองคงโคก บ้านหลุบโมก ต.เมืองคง อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ เป็นที่เคารพของชาวเยอ และมีกาบวงสรวงในวันเพ็ญเดือนสามของทุกปี การอพยพของพญากตะศิลา เป็นคำบอกเล่าที่น่าสนใจ เพราะใช้เรือส่วง (เรือยาวที่ใช้แช่ง ) 2 ลำ เรือลำที่ 1 ชื่อ คำผาย เรือลำที่ 2 ชื่อ คำม่วน แต่ลำบรรจุคนได้ 40-50 คน พายจากลำน้ำโขงเข้าปากแม่น้ำมูล  รอนแรมทวนกระแสน้ำขึ้นมาเรื่อยๆ   ผ่านเมืองไหนก็บอกกล่าวเจ้าเมืองนั้นว่าจะไปตั้งเมืองใหม่อยู่ เจ้าเมืองนั้นก็ให้ไปเลือกอยู่ตามที่เห็นเหมาะสม  ถึงบ้านท่า ต.ส้มป่อย  ก็พาไพร่พลแวะพักแรม  รุ่งขึ้นวันใหม่ก็นำพวกออกสำรวจหาพื้นที่ตั้งเมือง  มาเห็นเมืองร้างเป็นเนินดินสูงมีคูน้ำล้อมรอบ  ที่บึงคงโคกทุกวันนี้  เห็นว่ามีสภาพภูมิประเทศเหมาะสม จึงนำไพร่พลตั้งบ้านเรือน  ปัจจุบันที่เมืองคงโคกมีศาล และรูปปั้นของพญากตะศิลา เป็นที่เคารพสักการะบนบานของชาวบ้านเป็นประจำ ต่อมาเมื่อจำนวนพลเมืองเพิ่ม มากขึ้น จึงขยายกันมาอยู่ริมฝั่งแม่น้ำมูลที่บ้านกลาง  บ้านใหญ่ และบ้านท่าโพธิ์  รวมเรียกว่าเมืองคง   เวลาผ่านไปมีคนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ  จึงอพยพไปตั้งหมู่บ้านใหม่ในที่ต่างๆเช่นทิศเหนือที่บ้านหว้าน  ทิศใต้ข้ามลำน้ำมูลที่บ้านค้อเยอ  บ้านขมิ้น  บ้านโนนแกด  อ.เมืองศรีสะเกษ  บางส่วนเลยไปที่บ้านโพนปลัด อ.พยุห์ บ้านปราสาทเยอ บ้านประอาง อ.ไพรบึง ทางทิศตะวันตกไปที่บ้านกุง บ้านเชือก บ้านจิก บ้านขาม  และบางส่วนเลยทุ่งกุลาร้องไห้ไปที่บ้านอีเม้ง บ้านหัวหมู อ.พยัคฆภูมิพิสัย จ.มหาสารคาม (คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ, 2544 : หน้า 35-36)



สะไนเครื่องดนตรีของชาวเยอ      


        สะไน      เป็นภาษาเขมรแปลว่า  “เขาสัตว์”  ถ้าเป็นเขาควายก็จะเรียก  “สะไนกะไบ”  สะไนที่เป็นเครื่องเป่าของชาวเยอก็ทำจากเขาสัตว์โดยทำจากเขาควายเหมือนกัน  เรียกเป็นภาษาเยอว่า  “ซั้ง”  หรือ “ซั้งไน”    การที่ชาวเยอนิยมนำเขาควายมาทำสะไนง์เนื่องจากเขาควายมีรูลึกตั้งแต่โคนเขาจนถึงปลายเขาทำให้เจาะรูจากปลายเขาได้ง่าย  ส่วนเขาวัวนั้นรูจากโคนเขาถึงปลายเขาไม่ลึกพอจึงไม่นิยม   ตามหลักความเชื่อของชาวเยอที่อาศัยอยู่ในพื้นที่อำเภอราษีไศล  สะไน  เป็นเครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบพิธีกรรม   หรือกิจกรรมที่สำคัญเท่านั้น   เช่น  พิธีกรรมบวงสรวงศาลพญากะตะศิลา   การแข่งขันเรือ     และเป็นการเป่าเพื่อบูชาสังข์ (หอยสังข์)   ยังไม่นิยมนำมาเป่าเล่นเพื่อผ่อนคลายหรือความบันเทิงใดๆ  ตามที่ครูเฒ่าเผ่าเยอได้เล่าติดต่อกันมาว่า  สะไนเป็นของศักดิ์สิทธิ์และมีความสำคัญมาก  

สะไนเป็นเครื่องเป่าที่สืบชื้อสายมาจากสังข์  (ในภาษาเยอเรียก ซั้ง  “ปรงซั้ง”  แปลว่า “เป่าสังข์”)  ลิ้นของสะไนทำจากไม้ไผ่ใช้ยางไม้ติดเข้ากับตัวเขา   ระหว่างปากลำโพงกับปลายเขา     การเคารพบูชาสะไนจะเหมือนกับการเคารพบูชาสังข์  เพราะในอดีตชาวเยอเชื่อกันว่า  การเป่าสะไนเป็นการเป่าบูชาสังข์  และเมื่อเป่าสะไนแล้ว  เงือก  นาค  ภูตผีปีศาจ  จะไม่มาทำร้ายคน  พร้อมกันนี้จะทำให้ผีเจ้าป่าเจ้าเขาช่วยดูแลคุ้มครองรักษาชาวบ้านให้อยู่ดีกินดี  มีความปลอดภัย  

ในสมัยก่อนเมื่อชาวเยอมีการเดินทางไกลต้องผ่านป่าเขา    ถ้าหากเดินทางไปไม่ถึงที่หมายจำเป็นต้องนอนค้างแรมกลางป่าเขาจะต้องเอาสะไนง์ไปด้วย  ถ้ายามค่ำคืนก็จะเอาสะไนง์ออกมาเป่าเพื่อเป็นการบอกกล่าวเจ้าที่เจ้าทางผีป่าผีเขาให้ช่วยดูแลรักษา  ถ้าเป่าสะไนแล้วสัตว์ป่าก็จะไม่กล้ามาทำร้าย  ในสังคมวัฒนธรรมที่มีความใกล้เคียงกันเช่น  ส่วยและเขมร  จะใช้สะไน  เป็นเครื่องเป่าให้สัญญาณเวลาออกไปคล้องช้าง  โดยเสียงสะไนที่เป่าแต่ละครั้งหรือแต่ละเสียง  จะมีความหมายเป็นที่รู้จักกันในหมู่คณะ  

ลักษณะดังกล่าวจึงเหมือนกับเครื่องดนตรีอย่างหนึ่งของชนเผ่า  “กะตู”  ในเขตพื้นที่แขวงสาละวัน    ประเทศลาว  เรียก  “ตะโล”  เป็นเครื่องดนตรีที่ทำจากไม้ไผ่แต่ตัดตรงกลางกระบอกไม้ไผ่เพื่อทำลิ้นเวลาเป่าจะดูดเข้าหรือเป่าออกก็ได้  ใช้เวลาออกจับช้างเพื่อบอกสัญญาณให้เพื่อนรู้ว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นโดยการเป่าแต่ละครั้งหรือแต่ละแบบก็จะมีความหมายแตกต่างกันไปเช่น  เป่าหนึ่งครั้งหมายถึง  กำลังเดินหน้า   เป่าสองครั้งหมายถึงเรียกมากินข้าว  เป่าติดต่อกันหลายๆครั้งโดยไม่หยุดหมายถึงกำลังได้รับบาดเจ็บ   เป็นต้น

        การใช้สะไนของชาวส่วย  เขมร  และการใช้ตะโล ของชาวกะตู  อาจกล่าวได้ว่าเป็นรหัสลับ   คนที่จะรู้ความหมายของรหัสนี้ได้ก็ต้องเป็นคนในกลุ่มเดียวกันเท่านั้น   แต่ในสังคมวัฒนธรรมเยอไม่มีความเกี่ยวข้องกับช้างโดยตรงเหมือนชาวส่วยกับชาวเขมร   การใช้สะไนง์ของชาวเยอจึงเป็นเครื่องเป่าที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อในเรื่องของการกำเนิด  “สังข์”  การเป่าสะไนจึงเป็นการเป่าเพื่อบูชาสังข์เนื่องจากสะไนเป็นเครื่องเป่าที่มีความศักดิ์สิทธิ์เท่ากับสังข์และใช้ลิ้นแบบเดียวกับสังข์  ชาวเยอยังมีความเชื่อเกี่ยวกับเครื่องเป่าว่า  ในโลกนี้มีเครื่องเป่าอยู่สามแบบตามความเชื่อของชาวเยอคือ  หอยสังข์   มีพระนารายณ์เป็นผู้สร้างถือว่าเป็นเครื่องเป่าที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุด   รองลงมาคือสังข์นัย  (สะไน)  เป็นเครื่องเป่าของกลุ่มคนเยอมีความศักดิ์สิทธิ์รองลงมาจากหอยสังข์ เนื่องเป็นเครื่องเป่าที่ทำจากเขาควายแต่ใช้ลิ้นสังข์  สุดท้ายคือแตรสังข์  (แตรเขาสัตว์)   เป็นเครื่องเป่าที่ทำจากเขาควายเหมือนกันแต่ไม่ได้ใช้ลิ้นสังข์คือเป่าจากปลายเขามักจะใช้เป็นสัญญาณในการสื่อสารในการเดินเรือสินค้า  ที่มีน้ำไหลเชี่ยวและสายน้ำมีความคดโค้งจะมีการเป่าแตรสังข์เพื่อไม่ให้เรือชนกัน ชาวเยอมีนิทานพื้นบ้านเกี่ยวกับการกำเนิดสังข์และการกำเนิดสะไนคือเรื่อง  นิทานเรื่องพระเจ้าสร้างโลกกับความเป็นมาของสังข์และสะไน  




ความเชื่อเกี่ยวกับสะไน

    สะไน  เป็นเครื่องดนตรีที่ศักดิ์สิทธิ์ตามหลักความเชื่อของชาวเยอที่อาศัยอยู่เขตพื้นที่อำเภอ
ราษีไศล   เนื่องจากมีความเชื่อว่าสะไนมีความเกี่ยวข้องและเกี่ยวโยงกับ  สังข์  ที่เป็นเครื่องเป่าอันศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาฮินดู  แม้กระทั่งในสังคมไทยก็นับถือว่า  สังข์  เป็นของศักดิ์สิทธิ์  เช่น ในพระราชพิธีที่สำคัญจะมีการเป่าสังข์ก่อน เพื่อเป็นการบอกกล่าวสิ่งศักดิ์สิทธิ์และเหล่าทวยเทวดาทั้งหลาย  ถ้าเป็นงานมงคลระดับชาวบ้านประชาชนทั่วไปก็มีการนำสังข์มาประกอบพิธีเช่น  การตั้งศาลพระภูมิ  การรดน้ำสังข์คู่แต่งงาน เป็นต้น  เมื่อชาวเยอมีความเชื่อว่าสะไนกับสังข์มีความเกี่ยวข้องกัน  จึงมีการเป่าสะไนเพื่อเป็นการบูชาสังข์   นอกจากนี้แล้วยังมีการนำสะไนมาเป่าเพื่อบูชาพระแม่ธรณีและพระแม่คงคาในประเพณีการแข่งเรือ    (ส่วงเรือ)   หรือเมื่อมีการเดินทางไกลก็จะมีการเป่าสะไนก่อนออกเดินทางเพื่อให้เกิดโชคเดินทางปลอดภัยและได้รับความสำเร็จในการประกอบการต่างๆ  โดยเฉพาะถ้าเดินทางกลางป่าก็จะนำสะไนติดตัวไปด้วย  เพราะชาวเยอเชื่อว่าสัตว์ป่าทั้งหลายถ้าได้ยินเสียงสะไนแล้วจะไม่เข้ามาทำร้าย  และถ้าเป่าสะไนจะเป็นการบอกกล่าวให้ทวยเทวดาอารักข์ทั้งหลายมาปกป้องดูแลไม่ให้เกิดอันตรายใด    ในสมัยโบราณมีเรื่องจากผู้เฒ่าเผ่าเยอว่า  บรรบุรุพของคนเยอถ้าจำเป็นต้องออกรบทำศึกสงครามกับเมืองไหนจะต้องมีการเป่าสะไนก่อนเพื่อเป็นการเอาฤกษ์เอาชัย     โดยเชื่อว่าเสียงของสะไนจะทำให้ได้รับชัยชนะกลับมาหรือถ้าหากแพ้ก็จะสามารถหนีเอาตัวรอดกลับมาได้


ชาวเยอโบราณมีคำสอนเกี่ยวกับการเป่าสะไนและมีฤดูกาลสำหรับการเป่าสะไนไว้ว่า   ถ้า
จะเป่าสะไนต้องเป่าตั้งแต่เดือน  8  ค้อย (เดือนกรกฎาคมจะเข้าสิงหาคม)  จนถึงเดือนอ้ายค้อย  (เดือนธันวาคมจะเข้าเดือนมกราคม) ถ้านอกจากระยะเวลาดังกล่าวห้ามเป่าสะไน     เพราะมันจะทำให้  “ฝนตก   ฟ้าผ่ากลางวัน”  หรือเกิดสิ่งไม่ดีต่างๆขึ้นในหมู่บ้าน แต่ถ้าเป่าในช่วงระยะเวลาดังกล่าวซึ่งเป็นช่วงฤดูฝนจะเป็นการเป่าเพื่อบูชาหอยและยังเป็นการป้องกันไม่ให้ฟ้าผ่าด้ย   ความเชื่อดังกล่าวมักจะพบเห็นในสังคมวัฒนธรรมอีสานทั่วๆไป  เพราะสิ่งศักดิ์สิทธิ์หากนำมาทำเล่นเพื่อความสนุกสนานโดยไม่รู้จักกาลเทศะย่อมเป็นสิ่งไม่ดี  จึงมีกฎข้อห้ามต่างๆไว้  

ฉะนั้นการเป่าสะไนง์จึงต้องเป่าเฉพาะโอกาสที่สำคัญหรือในยามที่จำเป็นเท่านั้น  จึงแสดงให้เห็นว่าสะไนคือเครื่องเป่าที่ศักดิ์สิทธิ์ไม่ใช่ของเล่นที่จะนำมาเป่าเพื่อความบันเทิงหรือเพื่อความสนุกสนาน  การเป่าในช่วงระยะเวลาตั้งแต่เดือนแปดถึงเดือนอ้ายนั้นมีการให้เหตุผลตามความเชื่อว่า  เป็นการเป่าเพื่อบูชาหอย (สังข์)    เนื่องจากเป็นช่วงระยะเวลาที่หอยกำลังผสมพันธุ์ถ้าเป่าในช่วงนี้จะทำให้หอยมีการเจริญพันธุ์และขยายพันธุ์ดี   และอีกอย่างการเป่าสะไนง์จะทำให้ฝนตกหากเป่าในช่วงนี้ก็จะเป็นผลดีต่อพืชพันธุ์น้ำท่าอุดมสมบูรณ์แต่ถ้าเป่านอกฤดูกาลจะทำให้เกิดความเสียหายแก่ผลผลิตทางการเกษตรโดยเฉพาะข้าวที่จะเก็บเกี่ยวในช่วงเดือนอ้ายถึงเดือนสาม  และช่วงนี้เป็นช่วงที่หอยจำศีลด้วยจึงห้ามเป่าสะไน   เสียงของสะไนยังเป็นเสียงที่ศักดิ์สิทธิ์ปราบผีได้  หากที่ใดมีคำล่ำลือเกี่ยวกับความดุร้ายหรือความเฮี้ยนของผีสางนางไม้ถ้าได้เป่าสะไนบริเวณนั้นจะทำให้ผียอมสยบไม่กล้าอาระวาทหลอกใครอีก


        การเป่าสะไนถือได้ว่าเป็นการสร้างเสียงเพื่อสนองต่อความต้องการของมนุษย์  โดยเสียงที่สร้างขึ้นไม่ได้มีความหมายตามหลักการของทฤษฎีทางดนตรีแต่อย่างใด(ไม่มีระบบโน้ตที่แน่นอน)   แต่เป็นเสียงที่สร้างขึ้นตามลักษณะการพูดเป็นทำนองเพลงสนุกๆ เช่น  เอาคักคักเอาคนคักคัก  เป็นต้น      เสียงการเป่าสะไนเป็นเสียงที่มีความดังเกินตัว (เสียงดังขนาดเล็ก)      มนุษย์เมื่อได้พบเจอสิ่งใดที่ดูแล้วหน้าเกรงขาม   ย่อมยกย่องให้สิ่งนั้นเป็นสัญลักษณ์แทนความรู้สึกว่าดี  ปลอดภัย   อุดมสมบูรณ์ แต่สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีปรากฏการณ์ที่สำคัญยืนยันว่ามันจะนำมาซึ่งความสงบ  ความยินดีของตนจริง  เรียกว่า ภูมิปัญญา   เสียงสะไนจึงเป็นเสียงที่ศักดิ์สิทธิ์  ฟังแล้วดูหน้าเกรงขาม  เป็นเครื่องดนตรีชิ้นเล็กๆแต่เสียงนั้นใหญ่เกินตัวมาก

     ปัจจุบันการเป่าสะไนยังคงมีอยู่ที่ศาลพญากตะศิลาเมืองคงโคก บ้านหลุบโมก ต.เมืองคง อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ (ข้อมูลจากโครงการจัดตั้งศูนย์วัฒนธรรมมหาวิทยาลัยราชภัฎศรีสะเกษ และ นายกิตติ วรรณวงษ์ บ้านร่องอโศก หมู่ 15 ต.เมืองคง อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ)


....................................................................................................................

อ้างอิงจาก
http://www.mapculture.org/mambo/index.php?option=com_content&task=view&id=52&Itemid=56


http://www.mapculture.org/mambo/index.php?option=com_content&task=view&id=979&Itemid=56

และ http://th.wikipedia.org/
 คห.ที่52) ไทลาว ลาวไท
ไท-ลาว Laotian  
ตระกูลภาษาไท-กะได (Tai-Kadai Langauge Family)



          
กลุ่มไทย-ลาว เป็นไทยกลุ่มหนึ่ง ที่มีโครงสร้างทางวัฒนธรรม เหมือนกับไทย เช่น ภาษา ศาสนา ความเชื่อจารีตประเพณี ฯลฯ แต่มีวัฒนธรรมย่อย แตกต่างกันไปเฉพาะกลุ่มชนท้องถิ่น ในอดีตกลุ่มไทยลาว ตั้งภูมิลำเนาอยู่ทั่วไปในภาคอีสาน โดยเฉพาะตอนบนบริเวณที่ราบหุบเขา ริมแม่น้ำโขง คนลาวในประเทศลาว และไทยลาว ในภาคอีสานของไทย มีความสัมพันธ์กันมาช้านาน

กลุ่มไทยลาว หรือทั่วไปเรียกว่า “ชาวอีสาน” ที่เป็นกลุ่มที่ใหญ่ที่สุดมีประชากรมากที่สุดในอีสาน

ซึ่งชาวภาคกลาง มักจะเรียกชนกลุ่มนี้ว่า “ลาว”  เพราะว่ามีภาษาพูดเป็นภาษาเดียวกับคนลาวในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว แต่ความจริงแล้วเป็นภาษาไทยสาขาหนึ่ง ซึ่งมีวัฒนธรรมเหนือกว่ากลุ่มอื่นๆ เป็นกลุ่มที่สืบทอดวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขงแต่โบราณ (ร่วมกับไทยเวียง หรือ ชาวเวียงจันทน์) มีตัวอักษรของตนเองใช้มา แต่สมัยอยุธยาเป็นอย่างน้อย และอาจจะร่วมสมัยสุโขทัย ตัวอักษรที่ใช้มี ๒ แบบ คือ อักษรไทยน้อย และอักษรไทยธรรม

อักษรไทยน้อย เป็นอักษรสุโขทัย สาขาหนึ่งส่วนอักษรตัวธรรมเป็นอักษรที่ได้ต้นแบบอักษรมอญโบราณคล้ายอักษรตัวเมืองของภาคเหนือมีวรรณกรรมท้องถิ่นของตนเอง เช่น เรื่องสินไซ (สังข์ศิลป์ชัย)จำปาสี่ต้น ท้าวก่ำกาดำ  นางผมหอม  ไก่แก้ว ลิ้นทอง กำพร้าผีน้อย ขูลูนางอั้ว ท้าวผาแดงนางไอ่ ฯลฯ อาจจะกล่าวได้ว่ากลุ่มไทยลาว เป็นกลุ่มผู้นำทางด้านวัฒนธรรมภาคอีสาน ฉะนั้นภูมิปัญญาสังคม เช่น ฮีต คอง ตำนาน อักษรศาสตร์ จารีตประเพณี กลุ่มไทยลาวจะเป็นกลุ่มที่สืบทอดและถ่ายทอดให้ชนกลุ่มไทยกลุ่มอื่นๆ อีกด้วย


ประวัติศาสตร์กลุ่มชาติพันธุ์ชนเผ่าไทยอีสาน กลุ่มชาติพันธุ์ไทยลาวหรือชาวอีสาน ที่มีการตั้งหลักปักฐานอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หากตีความแล้วหมายถึงคนเชื้อชาติไทย ที่อยู่ในภาคอีสานของประเทศไทย (อีสานเป็นภาษาบาลี แปลว่า ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ) เป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทย แต่ในภาคอีสานมีกลุ่มชาติพันธุ์หลายเชื้อชาติ เช่น เชื้อชาติลาว เขมร ไทย จีน เวียดนาม อินเดีย หรือเชื้อชาติอื่นๆ ที่อพยพเข้ามาอยู่แต่โบราณกาล หรืออพยพเข้ามาอยู่ใหม่หลังสงคราม กลุ่มชาติพันธุ์ลาว เป็นกลุ่มที่มีประชากรมากที่สุด และถือว่าเป็นกลุ่มที่ใหญ่สุดในอีสาน  

ราชสำนักส่วนกลางในสมัยก่อนการปฏิรูปการปกครอง ๒๔๓๕  เรียกหัวเมืองแถบนี้ว่า หัวเมืองลาวกาวตะวันออก จนกระทั่ง ปี พ.ศ.๒๔๗๖ เป็นต้นมา บริเวณที่เคยเป็นมณฑลต่างๆในอีสานได้ถูกสถาปนาเป็นภาคอีสานมาจนปัจจุบัน


ความเป็นมา

เรื่องถิ่นเดิมของชาติพันธุ์ลาวมีแนวคิด ๒ อย่าง ซึ่งก็มีเหตุผลสนับสนุนพอ ๆ กัน
๑. ถิ่นเดิมของลาวอยู่ที่อีสานนี่เอง ไม่ได้อพยพมาจากไหน ถ้าเหมาว่าคนบ้านเชียง คือ ลาว ก็แสดงว่าลาวมาตั้งหลักแหล่งที่บ้านเชียงมากกว่า ๕, ๖๐๐ ปีมาแล้ว เพราะอายุหม้อบ้านเชียงที่พิสูจน์โดยวิธีคาร์บอน ๑๔ บอกว่าหม้อบ้านเชียงอายุเก่าแก่ถึง ๕,๖๐๐ ปี กว่าคนบ้านเชียงจะเริ่มตีหม้อใช้ในครัวเรือน ก็ต้องสร้างบ้านเรือนอยู่อาศัยก่อนหน้านั้นแล้ว  

๒. ถิ่นเดิมของลาวอยู่ที่อีสาน และมีมาจากที่อื่นด้วย แนวคิดนี้เชื่อว่าคนอีสานน่าจะมีอยู่แล้วในดินแดนที่เรียกว่า“อีสาน” โดยประมาณ ๑,๐๐๐ – ๗,๐๐๐ ปีที่ผ่านมา นักมานุษยวิทยา และนักประวัติศาสตร์ได้สันนิษฐานว่า ได้มีการอพยพของพวกละว้า หรือข่า ลงมาอยู่ในแดนสุวรรณภูมิ นับเป็นคนพวกแรกที่เข้ามา พอเข้ามาอยู่สุวรรณภูมิ ก็แบ่งเป็นอาณาจักรใหญ่ ๆ ๓ อาณาจักร คือ

อาณาจักรทวารวดี ซึ่งมีนครปฐมเป็นราชธานี มีอาณาเขตถึงเมืองละโว้(ลพบุรี)

อาณาจักรที่สองคือ โยนก เมืองหลวงได้แก่เมืองเงินยาง หรือเชียงแสน มีเขตแดนขึ้นไปถึงเมืองชะเลียงและเมืองเขิน

อาณาจักรที่สามคือ ศรีโคตรบูรณ์ ได้แก่บรรดาชาวข่าที่มาสร้างอาณาจักรในลุ่มน้ำโขง มีเมืองหลวงอยู่ที่เมืองโคตรบูรณ์ ซึ่งอยู่ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงจาก

แนวคิดที่ ๒ จะเห็นว่าในคำรวมที่นักมานุษยวิทยา และนักประวัติศาสตร์เรียกว่า “คนอีสาน” นั้นน่าจะมีคนหลายกลุ่มหลายชาติพันธุ์ปะปนกันอยู่และในหลายกลุ่มนั้นน่าจะมีกลุ่มชาติพันธุ์“ลาว”อยู่ด้วย ซึ่งสอดคล้องกับหลักฐานจากงานเขียนของนักวิชาการบางคนที่กล่าวว่า หลังจากพวกละว้า หรือพวกข่าหมดอำนาจลง ดินแดนอีสานก็ถูกครอบครองโดยขอมและอ้ายลาว ต่อมาขอมก็เสื่อมอำนาจลง ดินแดนส่วนนี้จึงถูกครอบ ครองโดยอ้ายลาวมาจนถึงปัจจุบัน


ถ้าเป็นอย่างนี้จริงจึงกล้าสรุปได้ว่า “อ้ายลาว” ก็คือกลุ่มชาติพันธุ์ลาวนั่นเอง อ้ายลาวเป็นสาขาหนึ่งของมองโกลเดิม อยู่ทางตอนบนของแม่น้ำแยงซีเกียง และแม่น้ำเหลือง ก่อนที่จะอพยพเข้าครอบครองอีสานนั้นได้รวมตัวกันตั้งเมืองสำคัญขึ้น ๓ เมือง คือ นครลุง นครเงี้ยว และนครปา ต่อมากลุ่มอ้ายลาวเกิดสู้รบกับจีน สาเหตุเพราะจีนมาแย่งดินแดน อ้ายลาวสู้จีนไม่ได้จึงอพยพลงใต้ถอยร่นลงมาเรื่อย ๆ จนกระทั่งมาตั้งอาณาจักรอยู่บริเวณยูนานในปัจจุบัน มีเมืองแถนเป็นศูนย์กลางสำคัญ แต่ก็ยังถูกรุกรานแย่งชิงจากจีนไม่หยุดหย่อน อ้ายลาวจึงอพยพลงมาตั้งอาณาจักรใหม่อีก คือ อาณาจักรหนองแส มีขุนบรมวีรบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ของอ้ายลาว เป็นผู้ปกครองขุนบรมขึ้นครองราชย์ พ.ศ.๑๒๗๒ได้รวบรวมผู้คนเป็นปึกแผ่น และส่งลูกหลานไปครองเมืองต่าง ๆ ในบริเวณนั้นลูกหลานที่ส่งไปครองเมืองมี ๗ คน คือ
๑. ขุนลอ ครองเมืองชวา คือ หลวงพระบาง
๒. ขุนยีผาลาน ครองเมืองหอแตหรือสิบสองพันนา
๓. ขุนสามจูสง ครองเมืองปะกันหรือหัวพันทั้งห้าทั้งหก
๔. ขุนไขสง ครองเมืองสุวรรณโดมคำ
๖. ขุนงัวอิน ครองเมืองอโยธยา (สุโขทัย)
๖. ขุนลกกลม ครองเมืองมอญ คือ หงสาวดี
๗. ขุนเจ็ดเจือง ครองเมืองเชียงขวางหรือเมืองพวนพี่น้องอ้ายลาว

ทั้ง ๗ ปกครองบ้านเมืองแบบเมืองพี่เมืองน้อง มีอะไรก็ช่วยเหลือเจือจุนกัน โดยยึดมั่นในคำสาบานที่คำสัตย์ปฏิญาณร่วมกันว่า“ไผรบราแย่งแผ่นดินกันขอให้ฟ้าผ่ามันตาย” สำหรับกลุ่มอ้ายลาวนี้น่าจะเกี่ยวโยงเป็นกลุ่มเดียวกับคนชาติพันธุ์ลาวในอีสาน น่าจะเป็นกลุ่มลาวเชียง และลาวเวียง คือ กลุ่มจากอาณาล้านนา (ลาวเชียง) และกลุ่มจากอาณาจักร ล้านช้าง (ลาวเวียง)

ในพุทธศตวรรษที่ ๑๗-๑๘ เริ่มตั้งแต่สร้างเมืองชวาหรือเมืองหลวงพระบาง มีกษัตริย์ปกครองติดต่อกันมาถึง ๒๒ องค์ กษัตริย์องค์หนึ่ง คือ พระเจ้าเงี้ยว ได้กำเนิดลูกชายคือพระเจ้าฟ้างุ้ม หรือ พระเจ้าฟ้าลุ้ม เกิดมามีฟันเต็มปาก เสนาอำมาตย์ในราชสำนักเห็นเป็นอาเพศ จึงทูลให้พระบิดานำไป “ล่องโขง” คือ ลอยแพไปตามลำน้ำโขง มีพระเขมรรูปหนึ่งพบเข้า เกิดเมตตาเอาพระเจ้าฟ้างุ้มไปชุบเลี้ยงจนเติบใหญ่ แล้วถวายตัวในราชสำนักเขมร พระเจ้าฟ้างุ้มได้รับการศึกษาอบรมอย่างองค์ชายเขมร และทรงเป็นราชบุตรเขยของกษัตริย์เขมรด้วย เมื่อพระเจ้าฟ้าเงี้ยวสิ้นพระชนม์ เจ้าฟ้าคำเสียวผู้เป็นน้องชาย ขึ้นครองราชย์แทน พระเจ้าฟ้างุ้มจึงยกทัพจากเขมรทวงราชสมบัติของบิดาคืน สามารถโจมตีเมืองหลวงพระบางได้ เจ้าฟ้าคำเลียวเสียทีแก่หลานสู้ไม่ได้ น้อยใจจึงกินยาพิษตาย เจ้าฟ้าลุ้มจึงขึ้นครองเมืองหลวงพระบาง เมื่อ พ.ศ.๑๘๙๖ ทรงพระนามว่า “พระยาฟ้างุ้มแหล่งหล้าธรณี”

พระเจ้าฟ้างุ้มเป็นกษัตริย์ที่มีพระปรีชาสามารถมาก เป็นนักรบผู้กล้าหาญชาญฉลาด ในช่วงนั้นอาณาจักรสุโขทัยมีพระมหาธรรมราชาลิไทเป็นกษัตริย์ พระเจ้าฟ้างุ้มได้ขยายอำนาจแผ่ไปถึงญวน ลงมาถึงส่วนหนึ่งของเขมรตอนล่าง และเข้ามาสู่ดินแดนอีสาน ได้อพยพผู้คนจากเวียงจันทน์มาอยู่บริเวณเมืองหนองหาน และหนองหานน้อยประมาณ ๑๐,๐๐๐ คน พระเจ้าฟ้างุ้มครองราชย์และแผ่แสนยานุภาพเรื่อยมาจนถึงสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง) แห่งกรุงศรีอยุธยา

พระเจ้าฟ้างุ้ม คิดแผ่แสนยานุภาพเข้าครอบครองกรุงศรีอยุธยา ทำให้พระเจ้าอู่ทองต้องเจรจาหย่าศึก โดยอ้างความเป็นญาติร่วมวงศ์ขุนบรมเดียวกันว่า“เฮาหากแมนอ้ายน้องกันมาแต่ขุนบรมพุ้น หากเจ้าเป็นลูกหลานขุนบรมจริง เฮาอย่ามารบราฆ่าฟันกันเลย ดินแดนส่วนที่อยู่เลยดงสามเส้า (ดงพญาไฟ) ไปจดภูพระยาฝอ และแดนเมืองนครไทย ให้เป็นของเจ้า ส่วนที่อยู่เลยดงพญาไฟลงมาให้เป็นของข้อย แล้วจัดส่งลูกสาวไปจัดที่อยู่ที่นอนให้” (ทองสืบ ศุภมารค: อ้างในสมเด็จพระสังฆราชลาว ๒๕๒๘:๔๓) พระเจ้าอู่ทอง ยังได้ส่งช้างพลาย ๕๑ เชือก ช้างพัง ๕๐ เชือก เงินสองหมื่น นอแรดแสนนอ กับเครื่องบรรณาการอื่นๆ อีกอย่างละ ๑๐๐ ให้แก่พระเจ้าฟ้างุ้ม จากหลักฐานนี้ จึงมีอำนาจครอบครองดินแดนอีสาน ยกเว้นเมืองนครราชสีมา ที่ยังคงเป็นอิสระอยู่ เพราะในหนังสือ “King of Laos” ระบุว่าในปี ค.ศ.๑๓๘๕ อาณาเขตกรุงล้านช้างทางทิศตะวันตกติดต่อกับโคราช (นครราชสีมา) ดินแดนอีสานส่วนใหญ่ตกอยู่ในอำนาจของพระเจ้าฟ้างุ้มเรื่อยมา

จนถึงสมัยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช (ลาวเขียนไชยเสฏฐามหาราช) ขึ้นครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.๒๐๙๑-๒๑๑๔ ได้ย้ายเมืองหลวงจากหลวงพระบางมาอยู่เวียงจันทน์ พระองค์ได้ทำสัญญาพันธมิตร กับสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ แห่งกรุงศรีอยุธยา และทั้งสองได้สร้างพระธาตุศรีสองรัก ที่อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย เป็นเขตแดนระหว่างสองอาณาจักร กษัตริย์องค์นี้ได้สร้างวัดองค์ดื้อ และศาสนสถานต่างๆ ในเขตเมืองหนองคาย และบูรณะพระธาตุพนมด้วย

จึงอาจกล่าวได้ว่า พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช สนใจดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขงมากกว่าสมัยก่อนๆ ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๒๕๐ ได้เกิดการแก่งแย่งอำนาจขึ้นในลาว ทำให้ลาวถูกแบ่งออกเป็น ๒ อาณาจักร มีหลวงพระบาง และเวียงจันทน์ เป็นศูนย์กลาง



ในปี พ.ศ.๒๒๕๖ อาณาเขตเวียงจันทน์ทางใต้ได้ถูกแบ่งแยกโดยเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูร (เจ้าหน่อกษัตริย์) มีเมืองนครจำปาศักดิ์เป็นเมืองหลวง ผู้ครองนครจำปาศักดิ์ได้ส่งจารย์แก้ว (เจ้าแก้วมงคล) มาเป็นเจ้าเมืองท่ง หรือเมืองทุ่ง ในเขตอำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด นับว่านครจำปาศักดิ์ได้ขยายอำนาจเข้ามาสู่ลุ่มแม่น้ำมูล – ชี ตอนกลาง เวลาต่อมาลูกหลานเจ้าเมืองท่ง หรือเมืองสุวรรณภูมิได้สร้างเมืองต่าง ๆ ในดินแดนอีสานมากกว่า ๑๕ เมือง (อภิศักดิ์ โสมอินทร์. ๒๕๔๐ :๗๑) เช่น สุวรรณภูมิ ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ มหาสารคาม ชนบทขอนแก่น ฯลฯ ต่อมาเกิดความไม่ลงรอยแตกแยกกัน ระหว่างกลุ่มขุนนาง และกษัตริย์ลาวผู้คนได้อพยพหนีภัยการเมือง จากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงเข้าสู่อีสานเหนือ กลุ่มสำคัญได้แก่

กลุ่มเจ้าผ้าขาว โสมพะมิตร กลุ่มนี้อพยพผู้คนมาตั้งอยู่ริมน้ำปาว คือ บ้านแก่งสำเริง (สำโรง) เจ้าโสมพะมิตรได้เข้าเฝ้ารัชกาลที่ ๑ ที่กรุงเทพ ฯ เพื่อถวายความจงรักภักดี และเนื่องจากมีกำลังคนถึง ๔,๐๐๐ คน รัชกาลที่ ๑ จึงโปรดเกล้าให้ยกบ้านแก่งสำเริง เป็นเมืองกาฬสินธุ์ ขึ้นตรงต่อกรุงเทพ และเจ้าโสมพะมิตรได้รับบรรดาศักดิ์เป็น “พระยาไชยสุนทร” เจ้าเมืองกาฬสินธุ์

กลุ่มพระวอพระตา พระวอพระตาเป็นเสนาบดีลาว เกิดขัดใจกษัตริย์เวียงจันทน์ อพยพผู้คนข้ามโขงมาอยู่ที่หนองบัวลุ่มภูซึ่งเป็นเมืองอยู่ก่อนแล้ว ตั้งชื่อเมืองว่า “นครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน” แต่ได้ถูกกองทัพลาวตามตีจนพระตาตายในที่รบ ส่วนพระวอได้พาบริวารไพร่พลหนีลงไปตามลำแม่น้ำโขงจนถึงดอนมดแดง และต่อมาลูกหลานของพระวอได้ขอตั้งเป็นเมืองอุบลราชธานี และเมืองยโสธร

กลุ่มท้าวแล ท้าวแล และสมัครพรรคพวกได้อพยพหนีภัยการเมือง จากเวียงจันทน์ มาอยู่ในท้องที่เมืองนครราชสีมา ต่อมาได้ย้ายไปทางตอนเหนือแล้วขอตั้งเป็นเมืองชัยภูมิ ท้าวแลได้รับโปรดเกล้าให้เป็นเจ้าเมือง มีบรรดาศักดิ์ว่า “พระภักดีชุมพล” ต่อมาได้เลื่อนเป็น“พระยาภักดีชุมพล”



การตั้งบ้านเมืองในดินแดนอีสานตั้งแต่พุทธศตวรรษ ๒๔-๒๕ หรือตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย จนถึงสมัยรัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีเมืองต่างๆ เกิดขึ้นมากกว่า ๑๐๐ เมือง มีแบบแผนการปกครองตามแบบหลวงพระบาง เวียงจันทน์ และจำปาศักดิ์ คือมีตำแหน่งอาชญาสี่คือ เจ้าเมือง อุปฮาด ราชวงศ์ ราชบุตร ส่วนเมืองในเขตอีสานใต้ คือนครราชสีมา และหัวเมืองเขมรป่าดง ได้ใช้แบบแผนการปกครองแบบกรุงเทพฯ คือมีเจ้าเมือง ปลัดเมือง ยกกระบัตรเมือง และผู้ช่วยราชการเมืองจากหลักฐานของลาวสามารถหาได้กลุ่มชาติพันธุ์ลาว ได้ตั้งถิ่นฐานอยู่ในอีสานมานานแล้ว จึงสรุปได้ว่า คนในท้องถิ่นอีสาน หรือบริเวณนี้เป็นเชื้อสายลาว ซึ่งมีประวัติความเป็นมายาวนาน สืบทอดสายธารทางประวัติศาสตร์อย่างต่อเนื่องจากอดีตจนถึงปัจจุบัน



ประวัติความเป็นมาของกลุ่มชาติพันธุ์ลาว  

ตามหลักฐานทางตำนานและพงศาวดาร ลาวเป็นกลุ่มชนที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในเขตลุ่มแม่น้ำโขง ตั้งแต่เมืองสิงห์ ทางตอนใต้ของแคว้นสิบสองปันนา มายังแคว้นสิบสองจุไทย ในเขตลุ่มแม่น้ำดำ ทางตะวันออกและคลุมลงมาทางใต้ในเขตหัวพัน ลงมาจนถึงบริเวณแคว้นตวัน-นินห์ ของญวน

มีลาวกลุ่มหนึ่งได้ขยายมาทางลุ่มแม่น้ำโขง ทางด้านตะวันตกและด้านใต้ ได้แสดงทัศนะว่าในสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑   (ขุนหลวงพะงั่ว) ตรงกับรัชกาลของพระยาสามแสนไทย เป็นช่วงเวลาที่คนลาวเริ่มเข้ามาตั้งหลักแหล่งบ้านเมืองในอีสาน การเข้ามาอยู่ในดินแดนไทยของคนลาว มีการเข้ามาอยู่ ๒ ลักษณะคือ

๑. การอพยพเข้ามาลี้ภัย ตั้งเป็นบ้านเป็นเมือง ส่วนใหญ่จะกระจัดกระจายกันอยู่ตามท้องถิ่นต่างๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
๒.การถูกกวาดต้อนเข้ามา ส่วนใหญ่จะถูกนำมาอยู่ในเขตจังหวัดในภาคกลาง



ศาสนาและความเชื่อ
ชาวไทยลาว   ยึดมั่นในจารีตประเพณี ดำเนินชีวิตตาม “ฮีตสิบสอง” (คือกิจกรรมประเพณีในรอบ ๑๒ เดือน ) นับถือศาสนาพุทธแบบชาวบ้าน คือ พุทธศาสนาที่ปรับเข้ากับจารีตของชาวบ้านมุ่งที่จะสั่งสอนให้เป็นพลเมืองดี มากกว่าที่จะสอนให้ละโลกีย์ไปสู่นิพพาน ตามปรัชญาพุทธศาสนา นอกจากนี้ยังนับถือผีบรรพบุรุษ ผีฟ้า ผีแถน รวมทั้งผีไร่นา ฯลฯ โดยเฉพาะผีบรรพบุรุษยังมีอิทธิพลต่อสังคมมาก นั่นคือผีปู่ตา ทุกชุมชนในชนบทจะมีศาลเจ้าปู่ตา(ตูบปู่ตา)ประจำหมู่บ้าน และมีตำแหน่งเฒ่าจ้ำ หรือหมอจ้ำ เป็นผู้ที่ติดต่อกับวิญญาณ เฒ่าจ้ำจะเป็นผู้ที่ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือมากผู้หนึ่ง



ชาวไทยลาวนับถือพุทธศาสนานิกายเถรวาท และศาสนาพราหมณ์ซึ่งปรากฏในพิธีกรรมต่าง ๆ ในหมู่บ้านไทย-ลาวจะมีวัดเป็นศูนย์กลางในการประกอบพิธีกรรมวัดยังเป็นโรงเรียนสอนหนังสือให้เด็กๆ ซึ่งเด็กชายจะมีความใกล้ชิดกับวัด เพราะใช้เป็นสถานที่เรียน บวชเณร และอุปสมบทตามลำดับ นอกจากนั้นชาวไทย-ลาวยังมีความเชื่อเรื่องผีและวิญญาณ เช่นผีในต้นไม้ แม่น้ำ ในบ้าน ในไร่นา ผีประจำหมู่บ้าน และผีบรรพบุรุษ จะมีพิธีเซ่นไหว้ผีเป็นประจำ ในฤดูเก็บเกี่ยวหรือเพาะปลูกข้าว เวลาเกิดเจ็บไข้ได้ป่วย ชาวไทย-ลาวเชื่อว่ามีสาเหตุจากผีและขวัญออกจากร่าง ดังนั้นจึงมีผู้ประกอบพิธีรักษาโรค และเรียกขวัญ เช่น พระ สงฆ์ นอกจากนั้น ยังเชื่อเรื่องผีปอบ ซึ่งเป็นคนที่ถูกวิญญาณ ชั่วร้ายเข้าสิง และสามารถทำร้ายผู้อื่นได้

การตั้งถิ่นฐาน
กลุ่มไทยลาว  ตั้งภูมิลำเนากระจัดกระจายอยู่ทั่วไปโดยเฉพาะตอนบนของภาคนับตั้งแต่หนอง คาย หนองบัวลำภู อุดรธานี สกลนคร นครพนม กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ขอนแก่น ชัยภูมิ ร้อยเอ็ด ยโสธร อุบลราชธานี เลย มุกดาหาร อำนาจเจริญ และบางอำเภอ ของ จ.ศรีสะเกษ สุรินทร์ (อ.รัตนบุรี) นครราชสีมา ( อ.บัวใหญ่  อ.สูงเนิน อ.ปักธงชัย ) บุรีรัมย์ (อ.พุทไธสง)  
นิยมตั้งหมู่บ้านเป็นกลุ่ม บนที่ดอนเรียกตามภาษาท้องถิ่นว่า "โนน" โดยยึดทำเลการทำนาเป็นสำคัญ นั่นคือ บริเวณรอบหมู่บ้าน จะมีที่ราบลุ่มกว้างใหญ่ มีหนองน้ำ หรือลำน้ำเล็ก ๆ ที่มีน้ำสำหรับบริโภคในฤดูแล้ง ไม่ห่างไกลหมู่บ้านจะมีป่าละเมาะสาธารณ-ประโยชน์ ซึ่งใช้พื้นที่ปล่อยวัว ควายในฤดูทำนา และเป็นแหล่งเก็บพืชผักป่าอีกด้วย



หากมีวัดจะตั้งอยู่ตอนท้ายหมู่บ้านเป็นส่วนใหญ่ เพราะความเชื่อที่ว่า วัดควรแยกจากหมู่บ้าน คือ วิสุงคามสีมา (แปลว่า เขตนอกชุมชน ) แต่โดยปฏิบัติแล้วพระภิกษุกับชาวบ้านจะมีกิจกรรมร่วมกันอย่างใกล้ชิดทั้ง ๑๒ เดือน พระภิกษุชาวอีสานนอกจากจะเป็นผู้นำทางวิญญาณแล้วยังทำหน้าที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ ศาลปู่ตา หรือ เรียกตามภาษาว่า “ ตูบปู่ตา ” ซึ่งมักจะตั้งอยู่ทางเข้าหมู่บ้านซึ่งเป็นดอนที่ยื่นออกมา บางแห่งมีพื้นที่กว้างใหญ่เรียกว่า “ ดอนปู่ตา ”


การสร้างบ้านเรือน  
หมู่บ้านชาวไทยลาว จะตั้งอยู่ติดแม่น้ำ แวดล้อมด้วยสวนมะพร้าว และนาข้าว ตัวบ้านสร้างจากไม้ไผ่ ยกพื้นสูง มีบันไดอยู่ด้านหน้า บนเรือนจะกั้นเป็นห้องนอน และพื้นที่ทำงาน ใต้ถุนบ้านใช้เป็นที่เก็บเครื่องมือทำนาทำไร และใช้เลี้ยงสัตว์ ส่วนยุ้งข้าวจะปลูกอยู่ห่างจาก ตัวเรือนออกไป



ชาวอีสานสร้างเรือนเพื่ออยู่อาศัยจึงไม่ประณีตบรรจงมากนัก นั่นคือผู้มีฐานะขนาดปานกลางจะสร้างบ้านเรือนที่มีขนาด ๒ ห้องนอน คือ ห้องส้วม (ห้องลูกสาว และห้องหอ ) และห้องเปิง (ห้องหัวหน้าครอบครัวและไว้หิ้งผี ที่เรียกว่า “ห้องฮักษา” ) มีส่วนที่เป็นนอนของลูกสาวกับเครือญาติ มีชานโล่ง (ไม่มีหลังคา) ติดต่อกับครัวซึ่งส่วนใหญ่จะมีขนาดเล็ก บ้านใต้ถุนสูงเพื่อทำกิจกรรม เช่น ทอผ้า เก็บเครื่องมือทำนา และให้วัวควายนอนส่วนหนึ่ง


วัฒนธรรมอาหาร   ชาวอีสานรับประทานข้าวเหนียว อาหารหลักของชาวบ้าน คือ เครื่องจิ้ม (เช่น แจ่วบอง ป่น) กับผัก ส่วนอาหารพิเศษอื่นๆได้แก่ ลาบ ก้อย เนื้อย่าง ส้มตำ ฯลฯ

การละเล่น เครื่องดนตรี    ได้แก่ หมอลำ การขับเซิ้ง ฟ้อน ส่วนเครื่องดนตรีสำคัญได้แก่ แคน ซึง หรือ พิณ ฉิ่ง ฉาบ ( เครื่องดนตรีอื่นๆที่เห็นในปัจจุบันเพิ่มเติมมาใหม่ )



พิธีกินดอง (แต่งงาน)   
หนุ่มสาวในภาคอีสานโดยเฉพาะกลุ่มไทย-ลาว ค่อนข้างจะอิสระในการเลือกคู่ครอง นั่นคือ ประเพณีพื้นบ้านไม่ค่อยจะเคร่งครัดในความสัมพันธ์ระหว่างหนุ่มสาว
แต่กระนั้นก็ตามหนุ่มสาวภาคอีสาน จะเกรงกลัวผีบรรพบุรุษที่เรียกว่า“ผิดผี”คือไม่กล้าที่จะประพฤติล่วงเกินประเพณีที่เรียกว่า“ฮีตบ้านคองเมือง”  ประเพณีอีสานโดยทั่วไปจะเปิดโอกาสให้หนุ่มสาวได้คุ้นเคย หรือร่วมกิจกรรมสาธารณะ ด้วยกันเสมอ พ่อแม่ญาติพี่น้องฝ่ายสาวก็ไม่ได้ปกป้องแต่อย่างใด เช่น

การลงข่วง ( หนุ่มๆจะมาช่วยสาวๆ ปั่นฝ้ายและเกี้ยวพาราสีกันได้) หรืองานบุญประเพณีทั่วไป  หนุ่มสาวต่างหมู่บ้านจะมีโอกาสพบปะและสังสรรค์กันอย่างใกล้ชิด ซึ่งเป็นโอกาสเลือกคู่ครองที่พึงใจไปด้วยในงานบุญประเพณีนั้นๆ ครั้นเมื่อหนุ่มสาวแน่ใจว่าพบบุคคลที่พึงพอใจแล้ว หนุ่มสาวจะมาเยี่ยมเยือนกันที่บ้านสืบต่อไป

พิธีกินดอง  เป็นการเลี้ยงในพิธีแต่งงานที่จัดเป็นพิธีใหญ่ นั่นคือฝ่ายชายและฝ่ายหญิงจะเป็นผู้ที่อยู่ในครอบครัวมีฐานะ มีหน้าตาของหมู่บ้าน ฝ่ายสาวจะรู้ตนเองว่าพ่อแม่เป็นคนที่ชาวบ้านนับถือ ครั้นเมื่อสมัครรักใคร่กับหนุ่มใดๆ มักจะไม่ยินยอมให้ฝ่ายชายมาซูน (สัมผัส/ แตะต้อง) เพราะถือว่าเป็นการไม่รักษาหน้าพ่อแม่ญาติพี่น้อง ฉะนั้นฝ่ายสาวจะยินยอมให้ฝ่ายชายมาสู่ขอตามประเพณี หรือบางกรณีชายหนุ่มอาจจะส่งเฒ่าแก่มาขอเลยทีเดียวก็ได้ การสู่ขอสาวเพื่อแต่งงานนี้เรียกว่า“โอม”(หรือโอมสาว )

พิธีโอม (การสู่ขอ)  การสู่ขอนั้นฝ่ายชายจะส่งแม่สื่อไปทาบทาม ถามความสมัครใจจากฝ่ายสาวก่อน ฝ่ายพ่อแม่จะเรียกบุตรสาวมาถามความสมัครใจ หากฝ่ายหญิงสมัครใจก็จะทำพิธีโอม ซึ่งในการนี้แม่สื่อจะปรึกษากับฝ่ายสาวเรื่องการกำหนดวันทำพิธีโอมด้วย   ถึงวันกำหนดทำพิธีโอมกันนั้น เจ้าโคตรฝ่ายชาย  ( เจ้าโคตรคือ บุคคลที่เป็นผู้ใหญ่หรืออาวุโสของตระกูล ) จะเป็นเฒ่าแก่จัดพานหมาก 4 คำ หรือเรียกว่า “ ขันหมาก ” กับเงิน ๓ บาท ไปบ้านเจ้าสาว

เมื่อถึงเรือนฝ่ายสาว บิดามาดารญาติพี่น้องจะจัดการต้อนรับเจ้าโคตรฝ่ายชายที่เป็นเฒ่าแก่มาสู่ขอ (หรือมาโอม) ตามสมควร เมื่อทั้งสองฝ่ายได้นั่งตามสมควรแล้วเฒ่าแก่ฝ่ายชายจะยกพานหมาก ๔ คำ ( มีผ้าขาวปิดไว้ ) ให้บิดามาดารฝ่ายหญิงกิน และรับเงิน ๓ บาท ที่อยู่ในพานนั้นด้วย เงินนี้เรียกว่า “เงินไขปากคอ” การรับเงินแสดงว่าฝ่ายสาวตกลงใจแล้ว หากไม่ตกลงฝ่ายสาวจะส่งเงินคืน ๓ บาทคืน  ครั้นเมื่อพิธีโอมเสร็จแล้ว ทั้งสองฝ่ายจะปรึกษาค่าสินสอดกันเรียกว่า “ คาดค่าดอง ”



การประกอบอาชีพ
คนไทย-ลาว ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก นอกจากนั้นยังมีการจับปลาเป็นอาหาร และชาวลาวยังทำอุตสาหกรรมในครัวเรือน เช่น ปั้นหม้อ สานตะกร้า ทอผ้า เป็นต้น ผู้หญิงลาวจะมีหน้าที่ทอผ้า เลี้ยงสัตว์ ตำข้าว เตรียมอาหาร ทำครัว เพาะปลูกเก็บเกี่ยว ส่วนผู้ชายจะทำงานหว่านไถนา ชาวลาวมีการนับถือญาติทั้งสองฝ่าย เมื่อชายหญิงแต่งงานแล้วจะอาศัยอยู่บ้านฝ่ายหญิงระยะหนึ่ง หลังจากนั้นจะย้ายออกไปตั้งเรือนใหม่ ลูกสาวมักได้รับมรดกจากพ่อแม่ และมักจะอาศัยอยู่กับพ่อแม่ของตนหลังจากแต่งงาน



การแต่งกายของชนชาติไท-ลาว

ผู้ชาย เมื่ออยู่กับบ้านจะนุ่งกางเกงขาก๊วยสั้น สวมเสื้อม่อฮ่อม แขนสั้น คาดผ้าขาวม้าตาตาราง เมื่อออกไปนอกบ้านเพื่อร่วมงานบุญ จะนุ่งโสร่ง สวมเสื้อคอกลมแขนสั้น มีผ้าขาวม้าคล้องคอ

ส่วนผู้หญิงจะนุ่งซิ่น นิยมนุ่งซิ่นผ้าฝ้ายมาแต่เดิม และพัฒนาผ้าฝ้ายเป็นการทอผ้ามัดหมี่ลวดลายต่างๆ ผ้าซิ่น ไม่มีเชิงทั้งที่เป็นผ้าเข็น(ทอ) และผ้ามัดหมี่ฝ้าย หรือไหม
เสื้อ แบบเสื้อของชนเผ่าไทยลาว แม้จะเป็นเสื้อย้อมสีน้ำเงินแก่ แบบเสื้อคล้ายกับชนเผ่าอื่น ๆ แต่เนื่องจากเป็นชนเผ่าที่กระจายอยู่ในที่ต่าง ๆ และรับเอาวัฒนธรรมจากภาคกลางได้รวดเร็วจึงทำให้เผ่าไทยลาว มีแบบเสื้อแตกต่างไปจากชนเผ่าอื่น ๆ เช่น เสื้อแขนกระบอก คือ ทอจากผ้าแพรตกแต่งให้มีจีบมีระบาย แขนกระบอกผ้าฝ้ายย้อมคราม หรือมัดหมี่ กลุ่มที่แต่งกายแบบดั้งเดิมจริง ๆ นิยมแต่งด้วยผ้าย้อมครามทั้งเสื้อและผ้าซิ่น

การพัฒนาการของการทอผ้ามัดหมี่ ทำให้ไทยลาว ในปัจจุบันสามารถทอผ้าลายหมี่คั่นหลายสี เช่น สีเหลือง สีแดง และนิยมสีฉูดฉาด นอกจากนี้ชาวเผ่าไทยลาวยังนิยมทอผ้าห่ม ผ้าจ่องลวดลายสวยงาม ซึ่งสามารถปรับแต่งมาเป็นผ้าสไบโชว์ลวดลายของผ้าประกอบเสื้อผ้าได้เป็นอย่างดี



เครื่องประดับของชาวเผ่าไทยลาว นิยมเครื่องเงินเช่นเดียวกับกลุ่มอื่น นอกจากเครื่องเงิน ยังนิยมสวมสร้อยที่เป็นรัตนชาติ สอดชายเสื้อในซิ่นหมี่ไหม คาดด้วยเข็มขัดเงิน จุดเด่นอีกประการหนึ่งของชนเผ่าไทยลาว คือ การนิยมผ้าขาวม้าทั้งชายและหญิง ผ้าขาวม้าที่งดงามคือผ้าไส้ปลาไหล มีสีเขียว-แดง-เหลือง ตามแนวยาว สามารถคัดแปลงเป็นผ้าคล้องคอ ผ้าสไบของสตรีในการเสริมแต่งกายให้งดงามขึ้น
 คห.ที่53)
อ่านจน ตาปลิ้น หลายๆๆ  แต่ก็ด้วยความอยากรู้ ขอบคุณครับที่เอามาลงให้อ่าน
 คห.ที่54)


ผ้ากั้ง
 คห.ที่55)
คนไทยเชื้อสายเวียดนาม  หรือชาวเวียดนามอพยพ  คนเวียดนามเค้าจะเรียกพวกนี้ว่าเหวียตเกี่ยวครับ
 คห.ที่56)


สิมวัดโพธิ์ชัยศรี  หรือวัดหลวงพ่อนาค  หนึ่งในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของชาวอุดรครับ  อยู่ที่อำเภอบ้านผือ
 คห.ที่57)
มีเบิดความฮู้
 คห.ที่58) ...นาฎเนรมิต...
....โอ้ยน้อโตหนังสือน้อยหลาย...ผู่อ่านกะสานตาสั่นเหลียวบ่เห็น...หน่าสิติดจอคอมอยู่แล้ว...


....ได้ความฮู่หลายๆๆครับ.....ขอบคุณเดิ้อคับที่เอามาแบ่งปั่น....
 คห.ที่59) ภูไท ผู้ไท ผู้ไทย


ชนเผ่าภูไท หรือ ผู้ไท Phutai




ถิ่นฐานดั้งเดิมของชาวภูไทเดิมอยู่ในแคว้นสิบสองจุไทยและแค้นสิบสองปันนา(ดินแดนส่วนเหนือของลาวและเวียดนามซึ่งติดต่อกับส่วนใต้ของประเทศจีน) ราชอาณาจักไทยได้สูญเสียดินแดนแค้วนสิบสองจุไทยให้ฝรั่งเศสเมื่อ ร.ศ.๑๐๗ (พ.ศ.๒๔๓๑) ภูไท มีถิ่นฐานอยู่ในเขตจังหวัดนครพนม กาฬสินธุ์ มุกดาหาร สกลนคร และบางส่วนกระจายอยู่ในเขตจังหวัดหนองคาย อำนาจเจริญ อุบลราชธานี อุดรธานี ร้อยเอ็ด และยโสธร  เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่รักษาวัฒนธรรมของ ตนไว้ได้อย่างดี

การแต่งกาย
ผู้ชายนิยมนุ่งกางเกงขาก๊วย สีดำหรือนุ่งโสร่งตาหมากรุก เสื้อใช้ผ้าสีครามหรือดำชนิดเดียวกับกางเกง สวมเสื้อคอกลมแคบชิดคอหรือคอจีน ตัวเสื้อผ่าอกตลอด ชายเสื้อผ่าข้าง จะเป็นแขนยาวหรือแขนสั้นก็ได้ มีผ้าคาดเอว และโพกศีรษะ ผู้ชายโบราณมักนิยมสักแขนขา ลายด้วย หมึกสีดำ แดง ถือเป็นเครื่องรางและแสดงออกถึงความเป็นชายชาตรี

ผู้หญิง นิยมนุ่งผ้าซิ่นที่ทำจากผ้า ซึ่งลักษณะเด่นของซิ่นภูไท คือ การทอและลวดลายเช่น ทอเป็นลายนาคเล็กๆ นอกจากนี้มีลายอื่น ๆ เช่น  หมี่ปลา  หมี่กระจัง  หมี่ข้อ หมี่ขอ  ทำเป็นหมี่คั่นหรือหมี่ลวด ต่อด้วยหัวซิ่นและตีนซิ่นทั้งขิดและจก   นอกจากนี้ยังพบผ้ามัดหมี่ฝ้ายสีขาวสลับดำย้อมใบครามหรือมะเกลือสีดำ  เย็บต่อด้วยหัวซิ่นตีนซิ่น

สตรีชาวภูไทมักสวมเสื้อแขนกระบอก คอตั้งแบบเสื้อคอจีน ติดกระดุมกะลา  กระดุมเงิน  หรือเหรียญสตางค์ เช่น เหรียญสตางค์ห้า สตางค์สิบ  มาติดเรียงเป็นแถว  ตัวเสื้อนิยมใช้ผ้าย้อมครามเข้มหรือสีดำ บางท้องที่นิยมตกแต่งสาบเสื้อด้วยผ้าลวดลายต่างๆตกแต่งไว้อย่างสวยงาม นิยมสวมเครื่องประดับที่ทำด้วยเงินหรือทอง หญิงภูไททุกคนไม่ว่าสาวหรือแก่ไว้ผมยาวเกล้ามวยสูง มีปิ่นหรือลูกประคำประดับที่มวยผม สำหรับชาวภูไทในจังหวัดกาฬสินู อุดรธานี ร้อยเอ็ด และมุกดาหาร นิยมใช้ผ้ามนหรือแพรมน(แพรฟอย)ทำเป็นผ้าสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ ม้วนผูกมวยผม  
เครื่องประดับของชาวภูไท สวมสร้อยคอ สร้อยข้อมือ ข้อเท้า (ก้องแขน-ก้องขา) ด้วยโลหะเงิน ทองหรือนาก


ผ้าซิ่นจกทั้งผืนของชาวภูไทในแขวงสะหวันเขด สปป.ลาว

เครื่องนุ่งห่ม ชาวภูไทเป็นเผ่าที่ทำเครื่องนุ่งห่ม โดยเฉพาะผ้าห่มจนเหลือใช้(แม้กระทั่งในปัจจุบัน ชาวภูไทก็ยังทำผ้าห่มไว้มากแขกมาเยี่ยมมาพักมีให้ห่มอย่างพอเพียง) ส่วนเสื้อผ้าก็พอมีใช้ไม่ฟุ่มเฟือย แต่ไม่ขัดสน ด้วยฝีมือความสามารถของตนเอง ซึ่งบางอย่างสวยงามมีศิลปะ ในอดีตนั้นวัสดุในการผลิตผ้าหามาเองโดยการปลูกบ้าง เอาจากที่มีอยู่ตามธรรมชาติบ้าง โดยผ่านกระบวน การต่างๆ จนเป็นเครื่องนุ่งห่มล้วนหามาเอง ทำขึ้นเองทั้งสิ้น เช่น ฝ้าย เริ่มตั้งแต่การปลูก จนถึงขั้นทอเป็นผ้า ล้วนแต่ทำเอง  ในปัจจุบันนี้มีโรงงานที่ทันสมัยที่ผลิตวัสดุที่จะทำเครื่องนุ่งห่มแล้ว ราคาไม่แพง สี ลวดลาย แบบ มีให้เลือกมากมาย

ผ้าห่ม(จ่อง)  ผ้าห่มผืนเล็ก ๆ  เป็นวัฒนธรรมของกลุ่มพื้นเมืองอีสาน ใช้สำหรับห่มแทนเสื้อกันหนาว ใช้คลุมไหล่ เช่นเดียวกับกลุ่มไท–ลาว ที่นิยมใช้ผ้าขาวม้าพาดไหล่ ผ้าห่มของกลุ่มชนต่างๆ ในเวลาต่อ มาทำให้มีขนาดเล็กลง ทำเป็นผ้าสไบ และเป็นส่วนประดับแทนประโยชน์ใช้สอย เดิมคือห่มกันหนาว หรือปกติปิดร่างกายส่วนบนโดยการห่มทับเสื้อ นอกจากนี้ยังมีผ้าแพรวา ซึ่งมีแหล่งใหญ่ที่บ้านโพน อ.คำม่วง จ.กาฬสินธุ์ นับเป็นผ้าจ่องที่สวยงามหาชมได้ยากในปัจจุบันนอกจากผ้าจ่องแล้ว ชาวภูไทยังมีลายผ้า ซึ่งใช้เป็นผ้ากั้นห้อง หรือใช้ห่มแทนเสื้อกันหนาว หรือต่อกลางสองผื่นเป็นผ้าห่มขนาดใหญ่พอสมควร

  


วัสดุที่ใช้ในการทำเครื่องนุ่งห่ม วัสดุที่ใช้ทอผ้าก็มีฝ้ายเป็นหลัก และไหม สีย้อมผ้าก็เป็นที่ได้จากธรรมชาติ และสีที่ชาวภูไทชอบใช้มากที่สุด คือ สีดำที่ได้จากต้นคราม การใช้ผ้าของชาวภูไทในอดีตนั้นผ้าบางชนิดก็มีกาลเทศะในการใช้ เช่น “ผ้าจ่อง” เป็นผ้าที่ทออย่างดี สีย้อมด้วยครั่ง จะใช้คลุมหีบศพ (ผู้มั่งมี) ผ้าสี่เหาก็ใช้คลุมหีบศพได้เช่นกัน เสื้อผ้าที่ตัดเย็บใหม่ๆ เรียกว่า“ส้งเอาบุญ” หรือ “ชุดเอาบุญ” จะไม่ใส่เล่นจะเก็บไว้ในหีบอย่างดีพอมีงานบุญจะเอาออกมาใช้  โสร่งไหมเป็นผ้าชั้นดีหายาก จะมีเฉพาะผู้ที่มีภรรยาหรือแม่ที่เลี้ยงไหม หรือผู้ที่มีฐานะดีสามารถนุ่งไปจีบสาวได้ เวลานั่งใกล้สาวจะถลกโสร่งขึ้นเลยเข่าอวดขาลาย หากเมื่อสมัย ๖๐ ปีก่อน บ่าวใดมีขาลายผู้สาวจะรักมาก ส่วนผ้าขาวม้าเป็นผ้าอเนกประสงค์



ความเชื่อเกี่ยวกับเครื่องนุ่งห่ม  จะเห็นแต่ผ้าคลุมหีบศพ เมื่อหามศพลงเรือนผ้าคลุมหีบจะปลดออกไว้ใช้ต่อไป ก่อนจะนำมาใช้จะมีพิธีโยนผ้าก่อน ในปัจจุบันการโยนผ้าก็ยังปฏิบัติกันอยู่ และนอกจากนี้ประเพณีของชาวภูไทเกี่ยวกับเครื่องนุ่งห่ม ๔ อย่างนี้ คือ ผ้าห่ม ที่นอน หมอน ผ้าขาวม้า หญิงสาวชาวผู้ไทยต้องจัดสร้างขึ้นมาไว้มากๆ เมื่อหนุ่มมาขอแล้วฝ่ายสาวต้องเร่ง ส้างเคิ้ง คือ สร้างเครื่องนุ่งห่มนั่นเอง ในปัจจุบันนี้ก็ยังยึดถือประเพณีนี้อยู่ เพียงแต่ว่าหญิงสาวทุกวันนี้ต้องเรียนหนังสือ หรือไปทำงานต่างถิ่นไม่มีเวลาทำ เมื่อใกล้จะแต่งงาน อาจจะให้ญาติๆ ช่วยทำ หรือซื้อสำเร็จรูป



ลักษณะทางสังคม

ชาวภูไทเป็นกลุ่มชนที่มีความขยัน อดออม และมีวัฒนธรรมในเรื่องการถัก–ทอ เด่นชัด จึงปรากฏเสื้อผ้าชนิดต่างๆ ทั้งผ้าฝ้าย ไหม ในกลุ่มชาวภูไท เช่น ผ้าแพรวา ในปัจจุบัน เป็นผ้าที่ผลิตยากใช้เวลานาน มีความสวยงาม  จึงนับว่าชนกลุ่มนี้มีวัฒนธรรมเรื่องเสื้อผ้าเด่นชัดมาก โดยเฉพาะการทอผ้าซิ่นหมี่ ตีนต่อ เป็นตีนต่อขนาดกว้าง ๔-๕ นิ้ว (มือ) เรียกว่า “ตีนเต๊าะ” เป็นที่นิยมในกลุ่มภูไททอเป็นหมี่สาด หมี่หม้อย้อมคราม จนเป็นสีครามแก่เกือบเป็นสีดำ ชาวบ้านมักเรียก “ผ้าดำ” หรือ “ซิ่นดำ”


วิถีชีวิตของชาวภูไท
ความสัมพันธ์ของบุคคลในครอบครัวภูไท ก็เหมือนกับครอบครัวไทยทั่วๆไป คือ ในครอบครัวก็จะมีพ่อเป็นใหญ่ที่สุด  รองลงมาคือ แม่  พี่คนโต และรองลงไปตามลำดับ ในอดีตเมื่อ ๔๐ ปีก่อน สังคมภูไทได้ให้ความสำคัญต่อผู้เป็นสามีมาก ในปัจจุบันก็ยังให้ความนับถืออยู่ เพียงแต่ลดพฤติกรรมบางอย่างลงไป เช่น การสมมาสามีในวันพระ บางคนไม่ได้ทำเลยโดยเฉพาะภรรยารุ่นใหม่ แต่จะสมมาสามีตอน “ออกคำ” (ออกจากการอยู่ไฟใหม่ๆ) เหมือนในอดีตเพราะสามีเป็นผู้ลำบากทุกข์ยาก อดตาหลับขับตานอน ตักน้ำหาฟืนดูแลภรรยาที่อยู่คำ (การอยู่คำภาษาลาวจึงเรียกว่า“อยู่กรรม”)
การกินข้าว แต่ก่อนต้องพร้อมกัน เมื่อทุกคนนั่งวงล้อมนาข้าวแล้ว ให้สามีเริ่มก่อนเดี๋ยวนี้ลดลง เพราะต่างมีธุระลูกก็รีบไปโรงเรียน สามีก็ติดธุระก็อนุญาตลูกเมียกินก่อน นานๆ เข้าก็เลยถือเป็นเรื่องธรรม ดาไป แต่ก็มีแบบเดิมให้เห็นอยู่ไม่มากการเปลี่ยนแปลงนี้เริ่มมีมาประมาณ  ๓๐  ปีมาแล้ว  



การสืบสายตระกูล
ชาวภูไทส่วนใหญ่ผู้ชายจะเป็นหลักในการสืบสายตระกูล ในการสืบมรดกนั้นในอดีตมักจะให้ผู้ชาย เพราะถือว่าลูกผู้หญิงต้องไปสร้างกับสามี ลูกชายคนที่จะได้มรดกมาก แบ่งดังนี้
๑.พี่จะได้มากกว่าน้อง คือ “ อ้ายเอาสอง น้องเอาหนึ่ง ” เพราะมรดกต่างๆ  เช่น ที่นา ถือว่าพี่เป็นคนช่วยพ่อทำมากกว่าน้อง  นอกจากนี้พี่ยังเป็นคนเลี้ยงน้องด้วย
๒. ผู้ที่รับภาระเลี้ยงดูพ่อแม่มาก ย่อมได้มากกว่า ไม่ว่าจะเป็นพี่หรือเป็นน้อง ถ้าเป็นผู้ดูแลพ่อแม่จนพ่อแม่ตาย มรดกส่วนที่ยักไว้ของพ่อแม่ย่อมเป็นของผู้ที่เลี้ยงดูนั้น (พ่อแม่มักอยู่กับลูกชายมากกว่าอยู่กับลูกสาวทั้งในอดีตและปัจจุบัน) มีการให้มรดกแก่ลูกสาวอีกวิธีหนึ่ง คือ การ“กาวลำชาย” (กล่าวเอาว่าเป็นลูกชาย ) คือ ในกรณีที่ลูกสาวแต่งงานออกเรือนไปอยู่กับสามี แล้วเกิดตกทุกข์ได้ยาก ผู้เป็นพ่อก็เอามา “กาวลำชาย” ให้รับมรดกได้ “การกาวลำชาย” นั้นจะกล่าวตอนที่หญิงสาวแต่งงาน โดยแจกไม้ขีดไฟให้ “ เท้าอ้ายเท้าน้อง” (ผู้เฒ่าผู้แก่ฝ่ายพ่อ) และบรรดาเขยทั้งหลาย แล้วประกาศให้ทราบว่า “นาง... ต่อไปนี้จะกล่าวถือว่าเสมือนเป็นลูกชาย...ให้ญาติพี่น้องรับทราบไว้”เมื่อกล่าวแล้ว นาง...ก็มีสิทธิรับมรดกจากพ่อ และบางคนเมื่อถูกกล่าวลำชายแล้วหันมาใช้นามสกุลของพ่อก็มี ในปัจจุบันนี้การสืบสายตระกูลสืบมรดก ลูกทุกคนมีสิทธิได้รับแบ่งเท่าเทียมกันแต่จะยักไว้ “พูดพ่อแม่” (ส่วนของพ่อแม่ ) ไว้ให้ผู้ที่เลี้ยงพ่อแม่จนตาย

ขนาดครอบครัว ในอดีตยังไม่มีการวางแผนครอบครัว ทำให้ครอบครัวมีขนาดใหญ่ บางครอบ ครัวมีลูกตั้ง ๑๐-๑๒  คน ใครมีลูกมากยิ่งดีจะได้ “กินแฮง” (กินแรง) ลูกคือจะมีผู้มาเลี้ยงดู เวลามีการแต่งงานจะมีการให้พรคู่บ่าวสาวว่า “...เฮ่อได้ลุเต๋มบ้านเฮ๋อได้หลานเต๋มเมิง...” (ให้ได้ลูกเต็มบ้าน ให้ได้หลานเต็มเมือง) แต่ในปัจจุบันเมื่อมีการรณรงค์การคุมกำเนิด บางครอบครัวก็มีลูก ๒ คน หรือ มีแค่คนเดียว

ครอบครัวเดี่ยว  ครอบครัวขยาย  ในสมัยก่อน ๓๐  ปีมาแล้ว ผู้ที่แต่งงานแล้วจะอยู่กับพ่อแม่ หรือพ่อตาแม่ยายเสียก่อน  ชั่วระยะ ๒-๓ ปี แล้วจึงค่อยแยกครอบครัวออก  แต่ปัจจุบันเปลี่ยนแปลง คือ พอแต่งงานอยู่กับพ่อแม่ชั่วระยะเดี๋ยวเดียวก็ออกไปนั้น จะแยกกล่าวดังนี้
ลูกชาย ในสมัยก่อนเมื่อลูกชายแต่งงานแล้วต้องอาศัยอยู่กับพ่อก่อน เพราะต้องพึ่งพ่อแทบทุกอย่างเงินทองก็ต้องอาศัยพ่อแม่ เวลาที่จะออกเรือนแยกไปไม่แน่นอน หากน้องชายแต่งงานเร็วพี่ชายก็จะแยกเรือนออกไปเร็ว เดี๋ยวนี้เปลี่ยนไปลูกชายก็เลยหาเงินเอาเอง สร้างฐานะได้ไว จึงแยกครอบครัวได้ไว

ลูกเขย  ไม่มีใครอยากจะ “ชูพ่อเฒ่า ” เลย เพราะทุกข์ยากทั้งกายและใจ สำรวมทุกอิริยาบถ ต้อง“คะลำ ”หลายอย่าง ทำงานสารพัด จนมีคำพูดว่า “เล็กอยู่เฮินว้าเขย”(เหล็กอยู่เรือนเรียกว่า พร้า ข้าอยู่เรือนเรียกว่า เขย) เสมือนว่าเขย คือขี้ข้าคนหนึ่งในเรือน ความทุกข์ยากของเขยชูพรรณนาไว้เป็นผญาอีสาน ดังนี้        


“ เป็นเขยนี้ทุกข์ยากหัวใจ  เฮ็ดแนวใดย่านแต่เพิ่นว่า ( ทำอะไรกลัวแต่ท่านว่า )
สานกะต่ากะด้งกะเบียน  อยู่ในเฮือนมุมุบมุม้าย  ( อยู่ในเรือนแบบเจียมตัว ก้มหน้าอยู่ )
บ่ว่าฮ้ายมันแม่นอีหลี                              ( ไม่ได้ใส่ความ เพราะมันเป็นความจริง )
แต่หัวทีเกินอุกเกินอั่ง                             ( ในหัวคิดมีแต่ความกลัดกลุ้ม )
นั่งบ่อนใดย่านแต่ผิดแม่เฒ่า                      ( นั่งตรงไหนกลัวแต่ผิดแม่ยาย )
ชาวมือกะบ่ติง                                    (๒๐ วันก็ไม่ไหวติง ( อยู่อย่างเจียมตัว ))
เถิงบาดยามกินข้าวสองสามคำกะพัดอิ่ม           ( ยามกินข้าว ๒-๓  คำก็อิ่ม )
ชิมอันนั้นอันนี้หนี้จ้อยบ่อยู่คน                      ( ชิมถ้วยนั้นถ้วยนี้หนีไปไม่อยู่นาน )
ฝูงหมู่คนกินข้าวนำกันก็เหลียวเบิ่ง                ( ฝูงหมู่คนกินข้าวด้วยกันก็เหลียวดู )
ส่งบาดยุ้มบาดแย้มแนมเจ้าว่าจังใด (ส่งยิ้มเป็นนัยๆว่าเจ้าเขยเป็นอย่างไร ละอายหรือเปล่า)”
ในปัจจุบันนี้เขยชูประเภทที่ออกเรือนได้  จะออกเรือนเร็วกว่าอดีต เพราะหาเงินหาทองเพื่อสร้างฐานะได้เร็วกว่าอดีต ถึงแม้จะมีการชูพ่อเฒ่า  พ่อเฒ่าก็หัวสมัยใหม่พยายามทำให้ลูกเขยอยู่อย่างสบายใจเป็นกันเอง  สำหรับฮีตสำคัญก็ยังปฏิบัติอยู่ เช่น ห้ามกระทำบางอย่างบนบ้านพ่อตา  เช่น   ลับพร้า  ขัดฟักพร้า ดีด สี ตี เป่า ร้อง รำ  ทำเพลง  จับมือถือแขนน้องสาวภรรยายังห้ามทุกกาลเทศะ
บทบาทของสมาชิกครอบครัว  บทบาทของสมาชิกครอบครัวนั้นจะแยกกล่าวแต่ละบุคคลดังนี้

๑. ผู้ที่เป็นสามี

บทบาทต่อครอบครัว  มีบทบาทในการเป็นผู้นำครอบครัว ต้องเป็นคนขยันทำมาหากิน “เฮ่อตืนติ๊กลุกเช้า ” (ให้ตื่นดึก ลุกเช้า) “ตึนมื้อเช้าเฮ้อได้ ๙ ทางหยาม” ( ตื่นเช้าให้ได้ ๙ ทางไปหาอยู่หากิน หาเงินหาทอง)ไม่เป็นคนละเลย ไม่นิ่งดูดาย “มีเฮ่อก้มหน้าอยู่ด๋ายหงายตาอยู่เบา ” (ไม่ให้ก้มหน้าอยู่ดาย หงายตาอยู่เปล่า)ไปนั่นมานี่ให้รู้จักมองหาสิ่งที่จะเป็นประโยชน์แล้วนำมาใช้ คือ“ไป๋ด๋งอย่าได้มาเปา ไปเลาอย่าได้มาด๋าย  เฮ่อฮักไม้ต๋ายมาแก้งก้นหม้อ” (ไปดงอย่ามาเปล่า  ไปเหล่าอย่ามาดาย ให้หักไม้ตายมาชำระก้นหม้อ คือ เอามาเป็นฟืน ) ให้เป็นคนมีความเพียร ประกอบสิ่งใดก็ทำให้สำเร็จ คือ “ค๋ำน้ำมิเฮ่อเอ็ดก้นฟู จกฮูมิเฮ่อเอ็ดมือสั้น”(ดำน้ำอย่าให้ก้นฟู ล้วงรูอย่าทำมือสั้น) เหล่านี้ล้วนเป็นคำสั่งสอนของผู้เฒ่าผู้แก่ตั้งแต่โบราณนานมา ทุกวันนี้ก็ยังใช้อยู่ โดยเฉพาะจะสอนเน้นในตอนผู้จะเป็นเจ้าบ่าวตอนเข้าพิธีแต่งงาน นอกจากนี้ยังต้องดูแลให้ความคุ้มครองแก่ภรรยาและบุตร คือ ปฏิบัติตนเป็นสามีที่ดีภรรยา เป็นพ่อที่ดีแก่บุตร ตามหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนา  ให้สมกับเป็นช้างเท้าหลัง

บทบาทต่อบุพการี  ต้องให้ความเคารพ ให้การดูแลเอาใจใส่ให้การเลี้ยงดูพ่อแม่ของตนเองสมเองกับเป็นลูกที่ดี  พ่อแม่ของภรรยา คือ พ่อตาและแม่ยาย ยิ่งให้ความยำเกรงเป็นพิเศษในอดีตถึงขั้นเอาผีเรือนมาว่าเลย ถ้าเขยทำไม่ดีไม่งามจะผิดผีเรือน ต้อง“เม๋อ”(ปรับไหม) สิ่งที่เขยทำแล้วผิดนั้นเป็นการกระทำที่บ้านพ่อตา เช่น ห้ามลับพร้า ใส่หมวก ขัดมีดขัดฝักพร้า ร้องรำทำพลง  ดีดสีตีเป่า  เดินเตะเตี่ยวลอยชาย (นุ่งผ้าขาวม้าไม่เหน็บชาย) ใส่รองเท้าย่ำบนบ้าน จับมือถือแขนน้องสาวภรรยา  ละลาบละล้วงกระด้างกระเดื่องต่อฝ่ายพ่อตา มีคำสอนอยู่ว่า “เซ้อพ้อแม้ลุงต๋า โต๋ท้อก้อย น้อยท้อทู  เฮ่อเคารพย๋ำแหยง” (เชื้อสายทางพ่อตาตัวเท่านิ้วก้อย  น้อยเท่าไม้ตะเกียบ ให้เคารพยำเกรง) ในปัจจุบันนี้ที่กล่าวมาทั้งหมดก็ยังถืออยู่ เพียงแต่ไม่ค่อยจะอ้างผี (ข้อห้ามเหล่านี้ที่จริงก็เป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมทั้งนั้น )

บทบาทของภรรยาต่อครอบครัว ถึงแม้ภรรยาจะเป็นผู้ “อยู่กับเหย้า เฝ้ากับเฮิน” (อยู่กับเหย้า เฝ้ากับเรือน) แต่รับภาระหนัก เช่น เลี้ยงลูก หุงหาอาหาร ตักน้ำตำข้าว “น้ำมิเฮ่อฮาดแอง  แกงมิเฮ่อฮาดหม้อ”(น้ำไม่ให้ขาดแอ่ง แกงมิให้ขาดหม้อ) ซักเสื้อผ้าเก็บกวาดเหย้าเรือน จัดหาเครื่องนุ่งห่มตั้งแต่ อิ้วฝ้าย ปั่นฝ้าย ทอผ้า ตัดเย็บ (ด้วยมือ) จนสำเร็จเป็นเครื่องนุ่งห่มได้ ยังไปช่วยงานสามีนอกบ้านด้วย เช่น งานไร่งานสวน ทั้งยังต้องปรนนิบัติพ่อปู่แม่ย่าอีก ในปัจจุบันนี้ก็ยังเหมือนเดิม แต่มีเปลี่ยนแปลงไปบ้าง คือ ภรรยาบางคนก็ออกไปทำงานนอกบ้านเทียบเท่าสามี โดยฝากการเลี้ยงดูลูกให้กับปู่ ย่า ตา ยาย  สาเหตุการเปลี่ยน แปลงก็เนื่องมาจากสภาวะเศรษฐกิจรัดตัวถ้าปล่อยแต่สามีหาเลี้ยงครอบครัวก็คงจะลำบาก

บทบาทต่อชุมชน   ในอดีตภรรยาไม่ค่อยจะมีบทบาทต่อชุมชน เพราะได้รับการอบรมสั่งสอนให้รู้หน้าที่แม่บ้าน ให้อยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือน แต่ในปัจจุบันได้เปลี่ยนไปตามภาวะเศรษฐกิจและสังคม ถ้าขลุกแต่ในบ้านก็จะไม่ทันสมัย หูไม่กว้าง ตาไม่ไกล บางครั้งก็เสียผลประโยชน์ต่อครอบครัวด้วย เช่น การเป็นกลุ่มสมาชิกกลุ่มแม่บ้านต่างๆ การเข้าร่วมพัฒนาหมู่บ้าน การเข้ารับการอบรมความรู้ด้านต่างๆ เป็นต้น
บทบาทต่อบุพการี ให้ความอุปการะญาติพี่น้องทั้งฝ่ายตนและฝ่ายสามีเหมือนครอบครัวทั่วไป

บทบาทต่อบุตร ภรรยาจะเป็นผู้ที่ใกล้ชิดกับลูกมากกว่าสามี เพราะเป็นผู้เลี้ยงดูอย่างใกล้ชิด ดังนั้นการอบรมสั่งสอนลูกจะเป็นหน้าที่ของภรรยามากกว่า การอบรมเลี้ยงดู ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันก็มีการเปลี่ยนแปลงไม่มากนัก ผู้ที่รับภาระหนักที่สุดก็คือ แม่ การหาพี่เลี้ยงยังไม่มี ถ้าจำเป็นทั้งพ่อทั้งแม่มีภาระหนัก เช่น ต้องออกดำนาก็ให้ปู่ย่าตายาย หรือน้องสาว หรือลูกหลานที่โตพอที่จะดูแลเด็กได้แล้วเป็นผู้เลี้ยงดูชั่วคราว อาหารการกินสำหรับลูกนั้น แยกเป็นระยะดังนี้ (ไม่กล่าวถึงนมแม่ ซึ่งเป็นอาหารหลักออยู่แล้ว)
- ทารกอายุ ๑  สัปดาห์  ถึง  ๘  เดือน  ให้กินข้าวหมก  ข้าวหมกนี้มาจากข้าวเหนียวแม่จะเอามาเคี้ยวจนละเอียดแล้วคายใส่ใบตองไม้เป้า  (เป็นใบเรียบยาวกว้างหาได้ง่ายใกล้บ้าน) ๑ มื้ออาจเคี้ยว  ๕- ๖ คำใหญ่  แล้วห่อแบบห่อหมก  เอาไม้ปิ้งหนีบแล้วไปย่างไฟจนสุก  กลิ่นรถหอมหวานอร่อยมาก
- อายุประมาณ ๙ เดือน ถึง ๑ ปีครึ่งให้กินข้าวย่ำ ย่ำ(เสียงนาสิก) เป็นภาษาอีสาน คือเคี้ยว การป้อนข้าวย่ำคือการที่แม่ หรือพ่อเอาข้าวมาย่ำ พร้อมกับคือเนื้อปลา ไก่ เป็นต้น ให้ละเอียดเข้ากันแล้วคายออกให้ลูกกิน ดังนั้นเมื่อลูกไม่อยู่ในโอวาทพ่อแม่มักจะดุด่าลูกว่า “เสแฮงกูย่ำข้าวป้อนเห้าปากกู๋แซบแต๊ะ ยังได้คายเฮ่อกิ๋น...” (เสียแรงกูเคียวข้าวป้อน เข้าปากกูแสนที่จะอร่อย ก็ยังคายให้กิน)
- อายุประมาณ  ๒  ปี  ก็ให้อดนม อายุ ๓  ปี  ก็กินเองได้อย่างพ่อแม่เพียงแต่ลดรสเผ็ด
ในอดีตบทบาทในการอบรมลูกหลานนี้  ไม่มีรูปแบบที่แน่นอน  คือ จะอบรมสั่งสอนตามสถานการณ์  บางครั้งก็เอาสิ่งที่เกิดขึ้นจริงมาสั่งมาสอน  ยกเอาบุคคลอื่นมาอ้าง หรือ เอานิทาน  หรือคำสุภาษิตโบราณขึ้นมาสั่งสอน  ที่อบรมสั่งสอนที่ใช้บ่อยที่สุดคือ  ที่ พาข้าว เพราะตอนนั้นลูกๆ จะพร้อมกัน

ด้านศีลธรรมจรรยา  

ไม่ว่าลูกหญิงลูกชายจะได้รับการอบรมเหมือนกัน คือ ให้มีสัมมาคารวะทุกอริยาบทให้สำรวม เช่น การยืน ต้องดูกาลเทศะ ใกล้ผู้ใหญ่ห้ามยืนใกล้ (มิเห้อยืนโท่มเก้า โท้มโห) ไม่ให้ยืนท่วมเกล้าท่วมหัว พูดกับผู้ใหญ่ถ้าผู้ใหญ่นั่ง ต้องนั่งพูดด้วย สำหรับหญิงจะเน้นพิเศษอีก คือ“อย่ายื๋นเค่อปอง”อย่ายืนใกล้ช่องกระดาน (พื้นเรือน) คงจะกลัวผู้ชายแอบเข้าไปส่องที่ใต้ถุน ไม่ให้ยืนกลางแดด (เช้า หรือ บ่าย) มีคำสอนว่า“ขี้ค้านอย่าเอ็ดนาฮิมทาง นุ้งซีนบ๋างอย่ายื๋นก๋างแดด”(ขี้คร้านอย่าทำนาริมทางนุ่งซิ่นบางอย่ายืนกลางแดด)เพราะถ้าแสงแดดเข้าทางหน้าหรือทางหลังคนผู้ทางตรงข้ามจะมองเห็นเงาขาในผ้าถุง

การเดิน ไม่ให้เดินท้าวหนัก “อย่าย้างสะลื๋งตึ๋งตั๋ง” (อย่าเดินแบบม้าดีดกะโหลก ) เดินผ่านหน้าผู้ใหญ่ต้องก้มตัวลง ถ้าอยู่ใกล้ให้เดินเข่าหรือคลาน “ย้างก๋ายหน้าก๋ายต๋าผู้ใหญ่ พอก้มเห้อก้ม พอคา” การนั่ง ชายให้นั่งขัดสมาธิ หญิงให้ “นั่งตะมอ”(นั่งพับเพียบ ) ถ้านั่งกินข้าว (กับพื้น ) เป็นเด็กไม่ว่าหญิงหรือชายให้นั่งพับเพียบหมด นอน  หญิงห้ามนอนในที่เปิดเผย ถ้านอนที่เปิดเผยให้ระมัดระวังให้นอนตะแคง ผ้าถุงเหน็บหว่างขา ห้ามนอนหงาย ห้ามนอนใกล้ “ป่อง”( ช่องกระดานพื้นเรือนหรือช่องข้างฝา)กลัวจะถูกชาย“จก”(ล้วง) ผู้ชายไม่ค่อยมีการห้ามเรื่องการนอน แต่ไม่ว่าหญิงหรือชายจะมีสถานที่ห้ามนอน คือ ใต้ขื่อบ้าน เพราะขื่อบ้านเป็นสิ่งที่วางศพ แม้แต่พาข้าวก็ห้ามวางใต้ขื่อ และอีกอย่าง ห้ามนอนเอามือทับหน้าอก เพราะผีจะอำ (ผีทับ)


การพูด

ชาวภูไทเมื่อ ๔๐ ปี ก่อนมักใช้สรรพนามบุรุษที่หนึ่งว่า กู บุรุษที่สองใช้คำว่า มึง ลูกพูดกับพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ก็ใช้คำนี้ ส่วนคำว่า ข้อย และ เจ้า เป็นคำพูดที่สุภาพมาก จะใช้อยู่ระหว่างบ่าวสาว คู่ผัวเมีย ลูกเขยกับพ่อตาแม่ยาย ลูกสะใภ้กับพ่อปู่แม่ย่า ปัจจุบันเปลี่ยนไปเพราะการศึกษาเจริญขึ้น คำว่า กู มึง ที่เด็กใช้กับพ่อแม่ไม่ได้ยินอีกแล้ว
วัฒนธรรมการกิน แหล่งที่มาของอาหารการกิน  ชาวภูไทเป็นคนที่พิถีพิถันในเรื่องการเลือกทำเลที่จะตั้งหมู่บ้านจะต้องเป็นที่ราบใกล้ภูเขาหรือแหล่งน้ำ ในอดีตแหล่งอาหารก็ใกล้บ้านนั่นเอง พวกสัตว์บกสัตว์น้ำ เก้ง หมูป่า กระรอก กระแต มีให้เห็นอยู่ทุกวัน หาได้ง่าย และมีกินบ่อย พืชผักต่างๆ ก็มีมาก ทั้งพืชบ้าน พืชสวน พืชป่า  ดังมีผญาคำสอนบทหนึ่งว่า “อย่าไป๋เก็บดอกหว่านบ้านเพิ๋นมาบ๋าน  เฮ่อเจ้ายื๋นงอยชานเก็บดอกกะเจ๋วฮิมโฮ้” (อย่าไปเก็บดอกหว่านบ้านอื่นมาบ้าน ให้เจ้ายืนที่ชานเก็บดอกกระเจียวริมรั้ว) ชี้ให้เห็นว่าสมัยก่อนดอกกระเจียวก็เก็บเอาที่ริมรั้วติดกับชานบ้าน แสดงว่าอุดมสมบูรณ์มากจริงๆ

อาหารจำพวกเนื้อสมัยอดีตไม่ค่อยได้กิน หมู เป็ด ไก่ วัว ควาย มีมากมาย แต่ไม่มีใครฆ่ากิน อาจจะเป็นเพราะเคร่งศีลธรรมก็ได้นานๆ ที เช่น มีงานบุญ บุญกฐิน บุญพระเวส ฆ่าทีหนึ่ง ผู้ที่ฆ่าขายก็หายากเต็มที  ฆ่าแล้วก็ไม่ค่อยมีผู้ซื้อ สมัย ๔๐ ปีมาแล้วเนื้อวัวควายราคาถูกมาก ซื้อ ๑๐ บาทได้เนื้อ ๑ หาบ หมูโตเต็มที่ตัวละ ๒๐๐ บาท ไก่ตัวใหญ่ตัวละ ๕ บาท ในสมัยปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไปมากผู้คนมากขึ้นของกินก็หายากระบบการซื้อขายเข้ามา ผู้คนจึงหาซื้อกันที่ตลาดเป็นส่วนมาก

อุปนิสัยในการกิน ชาวภูไทมีอุปนิสัยในการกินแบบเรียบง่าย และในการกินอาหารก็เหมือนอีสานทั่วๆ ไป คือ กินข้าวเหนียว นั่งกินกับพื้น ไม่มีช้อนกลาง ช้อน ๒-๓ คัน เปลี่ยนกันซด บางครอบครัวก็กินในห้องครัว บางครอบครัวก็กินที่ระเบียงหน้าบ้าน ในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้าง บางครอบครัวที่มีฐานะดีหน่อยก็มีโต๊ะอาหาร ( บางทีกินข้าวเจ้า) คือ พยายามปรับตัวเหมือนกับคนภาคกลาง

ความเชื่อเกี่ยวกับอาหาร   ชาวภูไทมีความเชื่อเกี่ยวกับอาหารที่จะต้อง “คะลำ” เพราะมีความเชื่อว่าอาหารบางชนิดกินเข้าไปแล้วจะทำให้ผิดต่อโรค โดยเฉพาะ “แม่อยู่คำ” (ผู้หญิงที่กำลังอยู่ไฟ) จะกินแต่ข้าวจี่ หน่อข่า ผักต่างๆ ปูจี่ กบ เขียด ยังพอกินได้ แต่ในปัจจุบันนี้ได้รับการอบรมด้านโภชนาการ ความเชื่อก็เปลี่ยนไปบ้างแล้ว แต่กระต่ายและเก้ง ในปัจจุบันก็ยังกินไม่ได้ ซึ่งถ้ากินเข้าไปแล้วจะ“ผิดกรรม”

ที่อยู่อาศัย   สภาพบ้านเรือนของชาวผู้ไทยในอดีตสมัย ๔๐ ปี มาแล้วเป็นเรือนทรงมนิลา คือ มีหลังคาทรงเหลี่ยมยอดแหลมดั้งสูง ใต้ชานสูงประมาณ ๒ เมตร มีฝาล้อมรอบ มีประตูหน้าบ้านเข้า ๒ ประตู มีหน้าต่างแห่งเดียวเล็กๆ พอเอาศีรษะลอดเข้าออกได้ ภาษาผู้ไทยเรียกว่า“ประตูบอง” ถ้าเป็นบ้านของผู้มีฐานะหน่อยหน้าต่างจะสูงเท่าประตูตรงหน้าต่างจะมี“เสาปากช้าง”หรือ“เสาคาช้าง”ค้ำทอดบ้านตรงหน้าต่าง ภาษาภูไทเรียก“หอนทอด” จะตีติดเคร่า เสาคางช้าง หรือ ปากช้างจะปาดเป็นบ่าค้ำทอดไว้จะเป็นเสาใหญ่กว่าเสาบ้านทุกต้น เป็นเสาโชว์พิเศษสลักเสาลวดลาย ปลายเสาจะปาดเป็นรูปกลีบบัว หรือ กาบพรหมศร ชาวภูไทในอดีตอาจจะเห็นเป็นรูปคล้ายปากช้าง หรือคางช้าง ก็เลยเรียกเสาคางช้าง หรือเสาปากช้าง  มีระเบียงยื่นออกมาด้านหน้า ภาษาภูไทเรียกว่า “เก๋ย” หลังคาระเบียงถ้าต่อจากหลังคาเรือนใหญ่ลาดลงมาเรียกว่า “หลังคากะเทิบ” ถ้าหลังยกเป็นหน้าจั่วยอดแหลมเหมือนเรือนใหญ่จะเรียก“หลังคาโหลอย”(หลังคาหัวลอย) เรียกทั้งตัวบ้านว่า“เฮินโหลอย”(เรือนหัวลอย) ระหว่างหลังคาเรือนใหญ่และหลังคาหัวลอยจะมีรางน้ำซึ่งเจาะต้นไม้ทั้งลำแบบหลัง คากะเทิบจะเป็นบ้านของผู้ที่มีฐานะไม่คอยดี บ้านหลังคาหัวลอย หรือเรือนหัวลอยจะเป็นบ้านของผู้ที่มีฐานะดี นอกจากนั้นก็ดูที่ฝาและหลังคา ถ้าฝาและหลังคาเป็นกระดานแสดงว่ามีฐานะดี  ถ้าหลังคามุงด้วยหญ้า ฝาเป็นฝาขัดแตะแสดงว่าฐานะไม่ดี
“เฮินซู”(เรือนสู่) เป็นบ้านอีกรูปทรงหนึ่งซึ่งสร้างแบบง่ายๆ“เสาไม้เมาะ แตะไม้ลื่ม” (เสาไม้มอก ตอกไม้ลิ่ม-มอก คือ กระพี้ , ไม้ลื่ม คือ ไม้ไผ่ที่ยังไม่แก่)  เสาทำด้วยต้นไม้เนื้อแข็งที่ต้นยังเล็กอยู่ขนาดพอดีเป็นเสาโดยไม่ต้องถากเพียงแต่ปอกเปลือก (เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๑๐ ซม. ) ตัดหัวท้ายยาวตามขนาดที่ต้องการ การเข้าไม้ประกอบเป็นตัวบ้านไม่ใช้ตะปู (เพราะในอดีตไม่มีตะปู) จะใช้“เคออู้ย”(เครืออู้ย–เถาวัลย์ชนิดหนึ่งเหนียวมาก) และ“เตาะไม้ลื่ม” คือเอาไม้ไผ่ที่ยังไม่แก่อายุประมาณ ๑๐-๑๒ เดือน มาจักเป็นตอกมัด ตอกไม้ลื่มจะเหนียวไม่เปราะเหมือนตอกไม้แก่ (ไม้แก่ ภูไทว่า ไม้กล้า) ตัวไม้ทำโครงบ้านก็เหมือนบ้านโบราณดั้งเดิมทั่วไป คือ หลังคามุงหญ้าคา ฝาเป็น“ฝาพะล่าน”ไม่มีเกย ไม่มีชาย ไม่มีเรือนครัว เฮินซู เป็นบ้านที่เขยมาสร้างไว้ก่อนแต่งงาน สร้างให้เฉพาะลูกเขยที่จะมา“ซูพ่อเฒ่า”(สู่พ่อตา) คือ ลูกเขยที่แต่งงานแล้วขออาศัยอยู่กับพ่อตาชั่วคราว เมื่อพอเลี้ยงตัวได้แล้ว หรือบางทีอยู่ ๒-๓ ปีก็ขยับขยายไปสร้างบ้านใหม่ในที่อื่น บางทีพ่อตากลัวลูกสาวลำบาก ลูกเขยสร้างบ้านใหม่ก็ให้สร้างบริเวณที่ดินพ่อตาเลย กล่าวถึงการสร้างเฮินซูนั้น เมื่อหาวัสดุพร้อมแล้ว ก็จะวานเพื่อนบ้านมาช่วยกันคนละไม้คนละมือให้เสร็จภายในวันเดียว ปัจจุบันไม่มีการตั้งเฮินซูแล้ว ประการแรกเพราะเขยก็จะอยู่ร่วมบ้านเดียวกับพ่อตา โดยยกห้องใดห้องหนึ่งให้ ประการที่สองไม่ค่อยมีการซูพ่อเฒ่า ในปัจจุบันนี้บ้านรูปทรงดังกล่าวนี้หายากแล้ว เพราะผู้ที่สร้างบ้านใหม่ก็จะสร้างตามสมัยนิยมกันหมด

ประโยชน์ใช้สอยบ้าน    บ้านชาวภูไทเมื่อสมัย ๔๐  ปีมาแล้วแบ่งประโยชน์ใช้สอย  ดังนี้
ห้องใน  เรียกว่า“โก๋ง”ภายใน“โก๋ง”จะกั้นเป็นห้องนอนอีก มี ๑ ประตู ภูไทเรียกว่า“โก๋ง โส้ม” สำหรับเป็นที่นอนของลูกสาว บางบ้านภายใน“โก๋งโส้ม”อาจจะกั้นห้องหรือเอาตู้ กั้นให้เป็นที่นอนของพ่อแม่ด้วย ข้างโก๋งโส้มอาจจะทางซ้ายหรือขวาเรียกว่า“ฮอง”เป็นที่นอนของพ่อแม่หรือลูกชาย

ห้องนอกหรือเกย  ภาษาผู้ไทยว่า “ เก๋ย ” ไม่มีฝา มีแต่หลังคาเป็นที่นั่งเล่น เป็นที่รับแขก เป็นที่รับประทานอาหาร หรือกั้นเป็นห้องให้ลูกเขยอยู่

“ เฮินไฟ ”(เรือนครัว) จะตั้งต่อจากเกยออกไป  บางหลังคาเรือนอาจจะตั้งแยกออกไป มีเพียงกระดาน ๑-๒ แผ่นพาดเชื่อมกับเกย เนื้อที่ภายใน “ เฮินไฟ ” นั้นมีเตาไฟ มีลักษณะเป็นกระบะยกพื้นสูง สูงขึ้นจากพื้นเรือนครัวประมาณ ๕-๑๐ ซม. กว้าง ๑x๑ เมตร ขอบกระบะสูงประมาณ ๑ คืบ ใส่ดินให้เต็มเพื่อป้องกันไฟไหม้พื้น ที่ก่อไฟนั้นอยู่กลางล้อมด้วยก้อนเส้า ๓ ก้อน เป็นที่วางหม้อหรือบางทีใช้ “เคง”(เคียง) คือ ที่วางหม้อเวลาต้มแกง เป็นที่วางที่เป็นเหล็กมี ๓ ขา ด้านบนขาจะเชื่อมติดกับแผ่นเหล็กบาง งอเป็นรูปวงกลมเป็นที่สำหรับรับก้นหม้อ รอบตามฝาเรือนครัวจะวางสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ เช่น กระติบข้าว ตะกร้า ไหปลาร้า ไหเกลือ เป็นต้น เหนือเตาไฟจะมีห้างสูงระดับหน้าผาก มีไว้สำหรับห้อยเนื้อที่จะทำเนื้อแห้ง ห้อยข้อง ตะกร้าที่เพิ่งสานใหม่ๆ เพื่อป้องกันแมลงกินไม้ เช่น มอด มิให้มากินข้อง ตะกร้า ฯลฯ เหล่านี้

ชาน (ซาน) เป็นพื้นที่ต่อกับเกยหรือเรือนครัว สำหรับวางตุ่มน้ำดื่ม น้ำอาบ น้ำใช้ ริมชานมัก จะวางรางผัก ไม่มีหลังคาไม่มีฝา พื้นชานจะต่ำกว่าเกยหรือเรือนครัว มีบันไดเรียกว่า“ขั้นบันได๋ซาน ”


การใช้บริเวณบ้าน อดีตเมื่อ ๔๐ ปีมาแล้วการใช้บริเวณบ้านของชาวภูไท พอกล่าวได้ดังนี้

๑. ใต้ถุนบ้านจะเป็นที่ผูกควาย  คือ ทำเป็นคอกควาย  โดยตีไม้ล้อมรอบ มีประตูซัด เอาเสาบ้านเป็นเสาคอกและมีเสาเสริมอีกเพื่อให้แข็งแรง บางคนที่ไม่ชอบผูกวัวควายไว้ใต้ถุนบ้าน ก็ออกผูกนอกใต้ถุนข้างๆ บ้าน เรียกว่า “ แลงควาย ” (แหล่งควาย) หรือ “แลงโง ” ( แหล่งวัว )
๒. ด้านหลังบ้าน หรือด้านข้างจะสร้าง “เล้าข้าว” (ยุ้งข้าว) ใต้ยุ้งข้าวจะทำเล้าไก่หรือเล้าหมู
๓. หน้าบ้านปล่อยโล่งไว้นั่งผิงแดดเรียกกว่า“ลานหน้าบ้าน”มีปลูกไม้ยืนต้นบ้างพอเป็นร่ม
ความเชื่อเกี่ยวกับบ้าน    ในอดีตชาวผู้ไทยยังคงมีความเชื่อเกี่ยวกับบ้าน ดังนี้

๑. เกี่ยวกับไม้ที่จะนำมาสร้างบ้านนั้น  จะห้ามเอาไม้ดังต่อไปนี้มาสร้างบ้าน เช่น ไม้ฟ้าผ่า ผู้ไทยเชื่อว่าไม้ที่ถูกฟ้าผ่านั้นเพราะ “ มันเข็ด มันขวง” (มัน อัปรีย์ จัญไร) ไม้แยงเงา (ไม้ส่องเงา )คือ ต้นไม้ ที่อยู่ริมห้วย ลำต้นเอนเข้าหาลำห้วย ( อาจจะเป็นเพราะโค่นยาก ปล้ำยาก อันตราย) ไม้ที่ชื่อไม่เป็นมงคล เช่น ไม้กระบก คำว่า “บก” คือ บกพร่องหรือขาด นำมาสร้างบ้านจะทำให้สร้างไม่ขึ้น ขาดเขินอยู่เป็นประจำ
๒.  เกี่ยวกับการใช้บ้าน ห้ามวางพาข้าวหรือนอนใต้ขื่อ (ยังหาคำอธิบายไม่ได้)  ศพจะวางไว้ใต้ขื่อ อันนี้คิดว่าตรงใต้ขื่อมันจะตรงกับคานของบ้านพอดี ซึ่งจะรับน้ำหนักของหีบศพได้ดีกว่าบริเวณอื่น ส่วนประกอบ เช่น บันได จำนวนขั้นบันไดจะเป็นจำนวนคี่ เช่น ๕ ขั้น ๗ ขั้น ๙ ขั้น เป็นต้น

ยารักษาโรค  ในอดีตการแพทย์ยังไม่เจริญ ชาวภูไทเมื่อเจ็บป่วยก็ทำการรักษาเยียวยาตามความเชื่อ หรือ ทางด้านสมุนไพร  การรักษาด้วยสมุนไพรนี้ อาศัยความรู้ และประสบการณ์ของบรรพบุรุษสืบทอดต่อๆ กันมา บางคนมีความรู้มากในด้านสมุนไพรรักษาโรค จนรักษาโรคด้วยสมุนไพรได้ เรียกว่า“หมอฮะไม้” (หมอรากไม้) และยังมีหมอเฉพาะโรค เช่น หมอกระดู หมอหมากไม้ (รักษาด้วยหมากไม้)

วัสดุและแหล่งที่มา วัสดุก็เป็นพืชต่างๆ และบางอย่างก็ได้จากสัตว์ ซึ่งหาได้จากป่า และภูเขาใกล้บ้าน การใช้ตัวยาสมุนไพรที่ได้จากพืชมีการใช้ไม่เหมือนกัน บางชนิดใช้รากบางชนิดใช้ลำต้น บางชนิดใช้ทั้งราก ลำต้น ใบ ดอก ผล และวิธีใช้ก็มีทั้งต้ม แช่น้ำ ฝน อาบ ดื่ม  ทา แล้วแต่โรค และแล้วแต่สมุนไพร

ความเชื่อเรื่องยารักษาโรค หมอรักษาโรคในอดีตนั้นยังมีความเชื่อในเรื่องของการรักษาหรือฮีต คลองอยู่ ถ้าผิดฮีตแล้วจะรักษาไม่หาย แต่หมอจะพูดว่า“ผิดครู ผิดคาย” คำว่า “คาย หรือค่ายกครู” ซึ่งจะขอแยกกล่าวกระบวนการดังนี้

๑.  การไปหาหมอต้องมีดอกไม้เทียนคู่ คือ ดอกไม้ ๑ คู่ เทียน ๑ คู่ ไปหาอย่างกิจจะลักษณะจนถึงบ้าน  ยกเว้นจำเป็นจริงๆ พบกันที่กลางบ้านก็พากันที่กลางบ้านเลยก็ได้  แต่ต้องมีดอกไม้เทียนคู่ดังกล่าว
๒. ฝ่ายผู้ป่วยต้องแต่งคาย จำนวนเงินใส่ในคายตามที่หมอบอก เงินใส่คายนี้จะเกิดที่ครูบอกไม่ได้ เช่น ๖ สลึง  ๑๒ บาท เป็นต้น ส่วนค่าป่วยการของหมอนั้นแล้วแต่ฝ่ายผู้ป่วยจะให้  ค่าป่วยการภูไทเรียกว่า “ ค้าเซิงติ๋น”  (ค่าเชิงตีน ) และหมอรากไม้ทุกคนมักจะมีมนต์ในการรักษาด้วย
๓.  รื้อคาย   จะรื้ออยู่ ๓ กรณี  คือ คนไข้หาย  คนไข้ไม่หาย  คนไข้ตายก็รื้อได้
๔. เครื่องยาบางอย่างมีข้อ “คะลำ” อยู่ตั้งแต่การไปหาการใช้ เช่น น้ำมันงา ห้ามหญิงแตะต้อง การคั้นน้ำมันงาต้องให้ผู้ชายหา เมื่อนำไปใช้ก็ต้องเก็บไว้ให้ดีไม่ให้ผู้หญิงไปถูกต้อง ไม่เช่นนั้นมันจะไม่ขลังในปัจจุบันนี้ ผู้ที่เป็นหมอรากไม้หายาก เนื่องจากการสาธารณสุขไปถึงชนบท ผู้ป่วยจะไปโรงพยาบาล จะมีก็เพียงผู้ที่รู้เกี่ยวกับสมุนไพรรากไม้บางอย่าง และหาต้มดื่มเป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพเท่านั้น


หมอเป่า หมอทรง หมอธรรม ในกลุ่มชาวภูไทตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ยังไม่ปรากฏมีผู้มีอาชีพแพทย์แผนโบราณโดยเฉพาะ  มีเพียงผู้มีความรู้เรื่องสมุนไพร รากไม้  รากยา  พอช่วยเยียวยาผู้เจ็บไข้ได้ป่วยแล้วได้ค่าตอบแทนเล็กๆ น้อยๆ พอเป็นสินน้ำใจ  ถ้าทางฝ่ายคนไข้ไม่มีเงินก็รักษาฟรีเอาพี่เอาน้องไว้

ในอดีตยังมีหมออีกประเภทหนึ่งที่รักษาคนไข้ด้วยการใช้คาถาเป่า ( เรียกว่า หมอเป่า ) คนป่วยเป็นไข้  ตกต้นไม้  ควายชน  แข้งหักขาบวมช้ำ  หมอก็ใช้คาถาเป่าได้ ชาวบ้านในอดีตมักจะไปหามหมอมาเป่า  ในเรื่องเจ็บไข้ได้ป่วยในสมัยอดีตมักจะโยนให้ผี  ที่ถูกใส่ความบ่อยที่สุด คือ ผีปอบ  และผีป่า

ผีปอบ คือ คนที่เรียนคาถาประเภทเดรัจฉานวิชา และ“คะลำ”ถือปฏิบัติตามที่ครูบอกไม่ได้ เมื่อเป็นปอบแล้ว จะมีวิญญาณลึกลับอยู่ในตัวคนนั้น และเป็นวิญญาณร้ายที่ออกหากินคน ผู้ที่ถูกกินจะป่วยลงเมื่อหาหมอเป่าคนป่วยก็จะเพ้อออกมาว่าเป็นผู้นั้นมาเข้า การที่คนป่วยเพ้อออกมา ภูไทเรียกว่า “เอาะป้ะ” (ออกปาก) หมอเป่าก็จะใช้คาถาเป่า คุมจนปอบยอมออกจากร่าง เมื่อปอบออกจากร่าง แล้วคนไข้ลุกขึ้นนั่งเดินได้ ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้นป่วยนอนซมอยู่ไปไหนมาไหนไม่ได้

ผีป่า   เป็นผีที่สิงสถิตอยู่ในป่า  ต้นไม้ใหญ่  ถ้าคนไปทำผิด เช่น ไปตัดไม้ หรือไปกวนบ่อน้ำในแหล่งน้ำซับกลางป่า หรือของป่าบางอย่าง ผีป่าก็จะเข้าทับร่างทำให้เป็นไข้ได้ป่วย หรือบางทีเห็นหญิงสาวสวยผีป่ารัก ก็เข้ามาทับร่างได้เหมือนกัน อาการป่วยก็เหมือนผีปอบ  แต่พอเป่าคนไข้เพ้อไปทางป่าว่าอยู่ที่นั่นต้นไม้นั่น  หนองน้ำนี่ “พวกสูไปรื้อบ้านกู” (ตัดต้นไม้) เป็นต้น หมอก็จะคุมจนออกเช่นกัน



หมอทรง   เป็นหมอที่ทำพิธีอัญเชิญวิญญาณต่างๆ ตามที่ผู้มาหาบอก  เพื่อให้เข้าร่างหมอทรงแล้วจะได้บอกกล่าวเรื่องราวระหว่างวิญญาณกับผู้มาหาหมอ  
หมอธรรม   เป็นหมอที่นั่งทรงทางในเพื่อดูดวงชะตา หรือสิ่งที่มากระทำต่อคนใดคนหนึ่งที่มาหาหมอ หรือไล่เลขไล่ยาม ผู้ไทยเรียกว่า “นั่งธรรม”   หมอธรรมจะเป็นสื่อระหว่างวิญญาณกับคน คล้ายหมอทรง แต่ไม่มีพิธีสลับซับซ้อนเท่าหมอทรง

การเหยา  เป็นพิธีกรรมในการรักษาคนป่วยของคนภูไท เพราะเชื่อว่าคนที่เจ็บไข้ได้ป่วยก็เนื่องมาจากถูกผีกระทำ อาจจะเป็น ผีดง  ผีป่า  ผีแถน ผีปอบ ผีเป้า ผีบรรพบุรุษหรือถูกคุณไสย   ผู้ที่เก่งกล้าในการขจัดปัดเป่าความเจ็บความไข้ออกไปได้ คือ หมอเหยา และหมอเป่า โดยหมอเป่าจะใช้คาถาเป่าขับไล่ผี แต่หมอเหยาใช้ไม้นวม คือ พูดจาหว่านล้อมด้วยถ้อยคำอ่อนหวานและเป็นทำนองเหยา (คล้ายลำ)
ภาษา ภาษาที่ใช้เป็นภาษาภูไท และยังคงรักษาไว้ได้ด้วยดีตลอดมา ภาษาภูไทเป็นภาษาที่พูดแปร่งไปจากภาษาลาวและภาษาไทยภาคกลาง ซึ่งไม่สามารถอธิบายเป็นภาษาเขียนได้ เพราะหลายคำเสียงไม่ตรงกับวรรณยุกต์ใด จะยกตัวอย่างคำบางคำที่พอจะอธิบายเป็นภาษาเขียนได้พอใกล้เคียง ดังนี้

๑. คำที่มีสระ เ-ีย , เ-ือ , -ัว จะเป็นสระ เ-, เ-อ, โอ เช่น เมีย - เม ,  เขียน - เขน , เขียด - เคด เสื่อ - เสอ , เลือด - เลิด , เมือง - เมิง , ผัว - โผ , ด่วน - โดน , - โสน
๒. สระ ไ, ใ,  -ัย   บางคำจะเป็นสระ เ-อ  เช่น  ใต้ – เต้อ ( เสียงแปร่งอยู่ระหว่างวรรรณยุกต์เอกและโท คือ .่......) ใส่ – เชอ  ให้ ( สิ่งของ ) – เห้อ ( เสียงแปร่ง )   ใหม่ – เมอ
๓. พยัญชนะ ข จะเป็นตัว ห เช่น เขียง-เหง ขาย- หาย ของเขา- หองเหา,เขา (สัตว์ )- เหา
๔. พยัญชนะ ร จะเป็น ฮ  เช่น เรือ – เฮือ เรือน – เฮือน  รอย – ฮอย ร้อง – ฮ้อง  รีบ – ฮีบ
๕. คำที่สะกดด้วย ก. ไก่ จะไม่มีเสียงตัวสะกด และสระจะเป็นสระเสียงสั้น  เช่น แตก-แต้ะ แบก – แบ้ะ  ผูก – พุ  สาก – ซะ ปาก – ป้ะ
๖. บางคำที่มีเสียงสระ –ึ จะเป็นเสียงสระ เ-อ เช่น ลึก - เล็ก ผึ้ง- เผิ่ง (เสียงแปร่ง = .่...๋...้.)
๗.บางคำมีคำเรียกเฉพาะที่ไม่มีเค้าทางภาษาไทยเลย เช่นสิ่งของหาย- เฮ้  / หายเจ็บหายไข้ - ดี๋เจ็บดี๋ไข้ ( แปร่ง ) / ท้ายทอย - กะด้น ( แปร่ง ) / หัวเข่า - โหโค้ย / ผิดไข้ - มึไข้ ( แปร่ง )/ ตาตุ่ม -  ป๋อมเพอะ /ไปไหน - ไป๋ซิเลอ  / ผู้ใด - ใคร - เพอ / อยากกินข้าว - เยอะกิ๋นข้าว ( แปร่ง ) ฯลฯ

ผักผลไม้บางชนิดที่เรียกต่างกันมาก เป็นไปได้ว่าช่วงที่คนไทยรวมอยู่ด้วยกัน ไม่มีมะละกอฟักทอง ส้มโอ ต้นไม้ ๓ ชนิดนี้ คนไทยอาจรับเข้ามาภายหลังที่แยกตัวออกไปตามที่ต่างๆ แล้วส่วนคู่เปรียบ เทียบคำในภาษาภูไทกับภาษาไทยอีสานก็พบว่าเหมือนกันร้อยละ ๓๗.๖๗ คล้ายกันร้อยละ  ๕๒.๑๔  หากรวมเข้าด้วยกันเท่ากับร้อยละ  ๘๙.๘๑  ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ภาษาภูไท กับภาษาไทยอีสานก็เป็นภาษาตระกูลเดียวกัน และเป็นกลุ่มที่ใกล้กันมาก  มีแตกต่างกันเพียงร้อยละ ๑๒.๘๖  จึงเป็นไปได้มากกว่าคน ๒ กลุ่มนี้อยู่บริเวณเดียวกันมาก่อน ดังที่กล่าวไว้ในพงศาวดารเมืองแถง มาแยกกันเมื่อคนลาวอพยพ มาตั้งรกรากในบริเวณลุ่มแม่น้ำโขง จากหลวงพระบางลงมาทางเวียงจันทน์และแอ่งสกลนคร  ส่วนกลุ่มภูไทก็ยังอยู่บริเวณสิบสองจุไท และยังขึ้นกับลาวตลอดมาด้วยภาษาจึงใกล้เคียงกันมาก

คู่เปรียบเทียบคำในภาษาภูไท กับภาษาไทดำ
มีคำเปรียบเทียบกันน้อยจากทั้งหมด ๘๙ คำ พบว่าเหมือนกันร้อยละ ๓๔.๘๓ คล้ายกันร้อยละ ๔๔.๙๔ รวมร้อยละ ๗๙.๗๗ ต่างกันร้อยละ ๒๐.๒๓๒ จึงอาจสรุปได้ว่าภาษาของคน ๒ กลุ่มนี้ตระกูลเดียวกัน และคงอยู่บริเวณเดียวกันมาก่อนด้วย  แต่ได้แยกกันมา ๒๐๐ ปีขึ้นไป โดยกลุ่มภูไทบ้านหนองโอใหญ่นี้ แยกจากเมืองแถงไปอยู่เมืองวัง เมืองคำอ้อ แล้วจึงอพยพมาอยู่ที่ อ.หนองสูง จ.มุกดาหาร ส่วนผู้ไทยดำกลุ่มที่ให้ข้อมูล แยกจากเมืองแถงไปอยู่เชียงขวาง จากเชียงขวางไปอยู่บ้านอีไล ในแขวงเวียงจันทน์ และในที่สุดก็อพยพมาอยู่ที่ศูนย์ผู้อพยพ จ.หนองคาย ในปีพ.ศ. ๒๕๑๘  ระยะเวลาไม่น้อยกว่า ๒ ศตวรรษ ที่ ๒ กลุ่มนี้ไม่ได้ติดต่อกัน และต่างฝ่ายก็รักษาภาษาของกลุ่มที่อยู่ใกล้เคียง เช่น รองเท้า ภูไทเรียก เกิ้บ แต่ไทดำเรียก ฮาย ซึ่งน่าจะเป็นภาษาญวน ญวนเรียกรองเท้าว่า ไย่  บางคำอาจจะคิดขึ้นภายหลังจากแยกย้ายออกไปจากเมืองแถงแล้ว เช่น กระดุม  ภาษาภูไทเรียกว่า มะติง แต่ภาษาไทดำเรียก มะห่อ แต่อย่างไรก็ตามคำหลักๆ ของสองภาษานี้คล้ายกันมาก

การทำมาหากิน ชาวภูไท ขยันทำงานหลายอาชีพ  เช่น  ทำไร่ ทำนา  ทำสวน ค้าวัว-ควายนำกองเกวียนไปขายต่างถิ่นที่เรียกว่า นายฮ้อย  ชาวภูไทวาริชภูมิมีความรู้ในการปลูกหวายไว้รับประทาน
ด้านวัฒนธรรมและวิถีชีวิต นอกจากเอกลักษณ์ทางด้านการแต่งกายแล้ว ชาวภูไทมีการสร้างทำนองตนตรี  ที่เรียกกันว่า ลาย มีแบบบ้านภูไท แต่ปัจจุบันมักปลูกบ้านอาศัยแบบไทย และในการแสดงฟ้อนภูไท ผู้ฟ้อนจะสวมเล็บยาว ปลายมีพู่สีแดง ฟ้อนเพื่อถวายองค์พระธาตุ และฟ้อนในพิธีต้อนรับแขกบ้านเมือง งานประเพณีของชาวผู้ไทยส่วนใหญ่แล้วจะคล้ายๆ กัน ในส่วนของชาวผู้ไทวาริชภูมิ  คือ พิธีบวงสรวงเจ้าปู่มเหสักข์ ในวันที่ ๖ เมษายน  ทุกปี
ตอบกระทู้


Creative Commons License