ยินดีต้อนรับสู่ชมรมศิลปวัฒนธรรมอีสาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย <-----> มิตรไมตรีเลิศล้ำ วัฒนธรรมอลังการ สร้างตำนานทรางคุณค่า อีสานจุฬาฯร่วมใจอนุรักษ์ <----> ไผว่าเมืองอีสานฮ้าง สิจูงแขนพาไปเบิ่ง ศิลปวัฒนธรรมยังโจ้โก้ สิไปฮ้างบ่อนจังได๋

ฮีตสิบสอง

เดือนเจ็ด - บุญซำฮะ

       บุญซำฮะนิยมทำกันในเดือนเจ็ด จัดทำขึ้นเพื่อชำระล้างสิ่งที่เป็นเสนียดจัญไรต่าง ๆ ออกจากหมู่บ้าน ตำบล เชื่อว่าจะทำให้ประชาชนหายจากเหตุเภทภัยต่าง ๆ และอยู่เย็นเป็นสุข

       มูลเหตุที่จะมีการทำบุญซำฮะ มีเรื่องเล่าว่า ครั้งพุทธกาลที่เมืองไพสาลีเกิดทุพภิกขภัย เพราะฝนแล้ง ผู้คนอดอยากล้มตายมากมาย ชาวเมืองจึงอาราธนาพระพุทธเจ้าให้เสด็จไประงับเหตุเภทภัย พระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรด โดยให้พระอานนท์เรียนคาถาแล้วไปสวดมนต์ในเมือง พร้อมนำบาตรน้ำมนต์ของพระองค์ไปประพรมจนทั่วเมืองทำให้ฝนตก ผู้คนอยู่เย็นเป็นสุข จึงทำให้เกิดประเพณีทำบุญซำฮะตั้งแต่นั้นมา

        พิธีทำบุญซำฮะ ชาวบ้านจัดทำปะรำขึ้นในบริเวณหมู่บ้านแห่งใดแห่งหนึ่ง มีต้นกล้วยผูกเสาปะรำสี่มุม จัดอาสนะสงฆ์ เตรียมเครื่องบูชาพระรัตนตรัย ด้ายสายสินจน์ น้ำพระพุทธมนต์ ฝ้ายผูกแขน เครื่องไทยทาน กรวดทราย หลัดไม้ไผ่แปดหลัก ตอนเย็นนิมนต์พระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์ ตอนเช้าถวายภัตตาหาร ทำพิธีอยู่สามคืน เข้าวันสุดท้ายถวายสังฆทาน เสร็จพระสงฆ์ประพรมน้ำพระพุทธมนต์ แล้วคนเฒ่าคนแก่ผูกแขนให้ชาวบ้าน หว่านกรวดทรายทั่วละแวกบ้าน เอาหลักแปดหลักไปตอกไว้ในทิศทั้งแปดของหมู่บ้าน วงด้ายสายสิญจน์รอบหมู่บ้าน และชาวบ้านนำสิ่งปฏิกูลต่าง ๆ เช่น ขยะมูลฝอย ภาชนะชำรุด และสิ่งที่จะทำให้เกิดสกปรก ฯลฯ ไปทิ้งนอกหมู่บ้าน หรือทำการเผาหรือฝัง ให้บริเวณบ้านสะอาดเรียบร้อย เป็นเสร็จพิธี

 

 
 
 

| หน้าแรก | คลองสิบสี่ |

Copyright © 2001 by The Northeastern Arts & Culture Club
Chulalongkorn University, All rights reserved.
E-mail : isanclub@chula.com