ความเป็นมาของการจัดงาน

      วัฒนธรรม คือวิถีชีวิตของคนในสังคม เป็นแบบแผนการปฏิบัติและการแสดงออกซึ่งความคิด ความ รู้สึกในสถานการณ์ต่างๆ ที่สมาชิกในสังคมเดียวกันเข้าใจซาบซึ้ง ยอมรับและปฏิบัติร่วมกัน เป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงความเป็นชาติ ความเป็นตัวตนของกลุ่มชนต่างๆ ศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทยได้ก่อคุณูปการต่อชาติบ้านเมืองมาโดยตลอด การหาทางออกเพื่อแก้ไขปัญญาวิกฤติแต่ละครั้ง แสดงถึงพลังของภูมิปัญญาไทย ที่ได้สั่งสมแทรกตัวอยู่ในวิถีชีวิตวัฒนธรรมของชุมชนและสังคม ปรากฏให้เห็นเป็นรูปธรรม ในรูปของศิลปะที่ทรงคุณค่า แต่ในปัจจุบันผู้คนในสังคม กลับให้ความสำคัญต่อสิ่งเหล่านี้ลดน้อยลง อันเนื่องมาจากถูกเบี่ยงเบนทั้งวิธีคิดและวิถีการปฏิบัติ จากปรัชญาตะวันตก โดยเฉพาะปรัชญาทุนนิยมสมัยใหม่ ส่งผลให้ศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทย ถูกทำลายและสูญหายไปตามกาลเวลา จนส่งผลต่อวิกฤติทางปัญญาของคนไทยทั้งชาติ แต่ในขณะเดียวกัน ก็ใช่ว่าจะไม่มีใครเห็นความสำคัญของสิ่งเหล่านี้เสียเลย ดังเช่น นิสิตของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกลุ่มหนึ่ง ที่ให้ความสำคัญกับศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นของตนเอง และรวมตัวกันในการทำกิจกรรมร่วมกัน ในรูปแบบของชมรมที่มีชื่อว่า “ชมรมศิลปวัฒนธรรมอีสาน” ที่มีวัตถุประสงค์ในการธำรงรักษา ส่งเสริมและเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมอีสานทุกแขนง ตลอดจนเพื่อกระตุ้นเตือนให้นิสิตอีสานและบุคคลทั่วไป ได้ตระหนักถึงคุณค่าของศิลปวัฒนธรรมของตนเอง ที่มีผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของตนเองและสังคมโดยส่วนรวม เสริมสร้างความสัมพันธ์ และฝึกให้รู้จักการทำงานร่วมกัน

      นับตั้งแต่ก่อตั้งชมรมเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน นับเป็นเวลา 30 ปีแล้วที่ชมรมฯ ได้ดำเนินกิจกรรมต่างๆ ตามปณิธานที่ตั้งไว้ ไม่ว่าจะเป็นการจัดกิจกรรมในเชิงเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรม อาทิเช่น การจัดโครงการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน ณ จังหวัดต่างๆ โครงการอีสานจุฬาฯพาแลง โครงการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมสู่ต่างแดน เป็นต้น รวมทั้งการจัดโครงการเชิงการสืบสาน อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม อาทิเช่น โครงการศึกษา สืบสานศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ให้นิสิตได้เข้าไปเรียนรู้วิถีชีวิตความเป็นอยู่ ภาษา ศิลปะการแสดงดนตรี และนาฏศิลป์พื้นบ้านอีสาน แต่เหนือสิ่งอื่นใดเป้าหมายที่แท้จริงของการทำกิจกรรมต่างๆที่กล่าวมาคือการกระตุ้นให้นิสิต ได้ตระหนักคุณค่าของศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น รักความเป็นอยู่แบบพอเพียงของชาวชนบทอีสาน สำนึกรักษ์บ้านเกิด ประยุกต์ความรู้ที่ได้ในตำราเรียนผสมผสานจากประสบการณ์จากการทำกิจกรรม นำไปพัฒนาท้องถิ่นและประเทศชาติต่อไป

      ชมรมศิลปวัฒนธรรมอีสาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ยืนหยัดในการทำหน้าที่สืบสาน อนุรักษ์ ส่งเสริม และเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมอีสาน ตลอดจนกระตุ้นเตือนให้นิสิตอีสาน ได้ตระหนักคุณค่าของศิลปะ วัฒนธรรมของตนเอง มาอย่างยาวนาน และในโอกาสครบรอบ 30 ปีของการก่อตั้งชมรม ประกอบกับเป็นปีมหามงคล ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 80 พรรษา  ชมรมจึงได้จัดโครงการ “ไอดินถิ่นอีสาน อลังการวัฒนธรรม” ขึ้น ด้วยเหตุผลที่ต้องการร่วมเฉลิมฉลองในปีมหามงคลนี้ และนำเสนอผลงานทางด้านศิลปวัฒนธรรมต่างๆ ที่เป็นเอกลักษณ์ของชมรม ซึ่งได้รับการประดิษฐ์คิดค้นขึ้นมาใหม่ จากประสบการณ์ที่ได้สั่งสมและสืบทอดมาตลอดในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา

      นับเป็นนิมิตหมายที่ดีที่ทั้งนิสิตเก่าชมรม และนิสิตปัจจุบันมารวมตัวกันดำเนินกิจกรรมนี้ โดยต่างมีจุดประสงค์ร่วมกัน ในการที่จะธำรงไว้ซึ่งศิลปวัฒนธรรมที่ดีงาม และเป็นการกลับมาพบปะสังสรรค์ ในบรรยากาศของกลิ่นไอวัฒนธรรมอีสาน เพื่อเป็นการตอกย้ำให้ตระหนักถึงความสำคัญ ของศิลปวัฒนธรรมของตนเอง และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกัน