กลุ่มชาติพันธุ์ลาวครั่ง (LAO KHRANG) ตระกูลภาษาไท-กะได (Tai-Kadai Language Family)
นักภาษาศาสตร์จัดภาษาลาวครั่งอยู่ในตระกูลภาษาไท-กะได กลุ่มตะวันตกเฉียงใต้ จากการสำรวจข้อมูลของสถาบันวิจัยภาษาและ วัฒนธรรมฯมหาวิทยาลัยมหิดลในโครงการแผนที่ภาษาพบว่ามีผู้ที่ใช้ภาษาลาวครั่งในภาคเหนือคิดเป็น0.5เปอร์เซ็นต์ ผู้ที่ใช้ภาษา ลาวครั่ง ในภาคกลาง คิดเป็น 0.3 เปอร์เซ็นต์
ในปี พ.ศ. 2371 รัตนโกสินทร์ตอนต้นซึ่งตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งที่ปราบศึกเจ้าอนุวงศ์ ได้มี กลุ่มคนลาวที่ถูกกวาดต้อนให้มาอยู่ตามหัวเมืองน้อยใหญ่ ชาวลาวครั่งก็เป็นกลุ่มคนลาวที่ถูกกวาดต้อนมาในครั้งนั้น
ที่มาของชื่อเรียก ของกลุ่มชาติพันธุ์นี้ ชนัญ (2532: 12) กล่าวถึงที่มาของชื่อเรียกกลุ่มชาติพันธุ์นี้ว่า ในบรรดากลุ่มเชลยที่ถูกกวาดต้อนมานั้น ได้มีกลุ่มคนลาวที่มาจากแถบ ภูคัง ซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยเดิมปะปนมาด้วย เนื่องจากได้อพยพมาจากถิ่นดังกล่าว จึงทำให้คนทั่วไป เรียก คนลาวกลุ่มนี้ว่า ลาวภูคัง ต่อมามีการเรียกชื่อผิดเพี้ยนกันไปจากเดิมมากมายหลายชื่อ เช่น ลาวขี้ครั่ง ลาวครั่ง
บางครั่งเรียก ลาวเต่าเหลืองเพราะนิสัยของลาวพวกนี้ชอบอยู่เป็นอิสระตามป่าเขาเหมือนกับเต่าภูเขาชนิดหนึ่งที่มีกระดองสีเหลือง ซึ่งมีความอดทนต่อสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศ
ในบางครั้งมีการเรียกชื่อ ลาวครั่ง ตามชื่อตำบลหรือท้องถิ่น ที่อยู่ เช่น พวกที่อยู่ใน อ. ด่านซ้าย จ. เลย ถูกเรียกว่า ลาวด่าน
กลุ่มที่อยู่ใน อ. บรรพตพิสัย จ. นครสวรรค์ เรียกว่า ลาวโนนปอแดง และ ลาวหนองเหมือด
หรือบางคนก็นำคำลงท้ายประโยคที่ชาวลาวครั่งมักจะใช้กันคือคำว่าก๊ะล่ะมาเรียกเป็นชื่อกลุ่มโดยจะเรียกว่าลาวก๊ะล่ะ บ้างก็เรียกกัน เล่นๆว่าลาวล่อก๊อ สิริวัฒน์ (2529:47) อ้างคำบอกเล่าของนักวิชาการท้องถิ่นที่ได้กล่าวถึงความเป็นมาของชาวลาวครั่งไว้ว่า ชาวลาว ครั่งนี้เดิมเคยอยู่ที่ภูฆัง ซึ่งอาจจะมีรูปร่างคล้ายระฆังก็เป็นได้อยู่ทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือของหลวงพระบาง จากนั้นชาวลาวกลุ่มนี้ ีจึงได้อพยพเข้าสู่ประเทศไทย
ชาวลาวครั่งมีการเคลื่อนย้ายบ้านเรือนกันอยู่หลายครั้งจนกระทั่งเข้าสู่ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีการ ปรับเปลี่ยนการปกครองเป็นแบบเทศาภิบาล ได้มีชาวลาวครั่งตั้งหลักแหล่งถาวรในเขตอำเภอจรเข้สามพัน มีชุมชนชาวลาวครั่งอยู่ 3 ชุมชนใหญ่ๆ คือ บ้านสระพังลาน บ้านใหม่คลองตัน และบ้านหนองตาสาม มีชาวลาวครั่ง กลุ่มหนึ่งภายใต้การนำของนาย กองแดงได้พาญาติพี่น้องมาจากทุ่งสัมพะบด อ.หันคา
และลาวครั่งในท้องที่ อ.วัดสิงห์ จ.ชัยนาท มาตั้งบ้านเรือนที่บ้านหนองโคก อ.สระกระโจม จ. สุพรรณบุรี (คนึงนุช, 2537 : 38)
นอกจากนี้กลุ่มชาวลาวครั่งยังได้อพยพเคลื่อนย้ายครอบครัวไปยังพื้นที่ใกล้เคียง เช่น กลุ่มลาวจากบ้านเก่าคำเวียง (ขามเรียง, คำเดือน) ในเขต อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี และลาวครั่งในอ.สองพี่น้องก็อพยพ โยกย้ายไปบุกเบิกที่ทำกินใหม่
ในเขตพื้นที่บ้านทุ่งตาเปรี้ยว อ.พรหมพิราม และ อ.วังทอง จ.พิษณุโลก
บ้านเกาะน้อยตะวันออก อ. ศรีสัชนาลัย จ. สุโขทัย
บ้านโค้งวิไล อ. คลองขลุง จ. กำแพงเพชร
อ. บรรณพตพิสัย จ. นครสวรรค์ อ.วัดสิงห์ จ. ชัยนาท
อ. บ้านไร่ อ. ทัพทัน จ.อุทัยธานี บ้านลำไม้เสา
บ้านโกแย้ บ้านหนองปลาไหล บ้านโกสูง บ้านทุ่งมะกรูดี บ้านทุ่งไม้หลง บ้านลำเหย บ้านเสืออีด่าง บ้านรวงมุก อ. กำแพงแสน
และบ้านโพรงมะเดื่อ อ. เมือง จ. นครปฐม
อ้างอิงจาก http://www3.sac.or.th/ethnic/Content/Information/laokhrang.html |