อดีตกาลดนมาแล้ว มีเด็กชายคนหนึ่ง กำพร้าพ่อแม่ อาศัยอยู่กับตายาย ในหมู่บ้านแห่งหนึ่งแถบริมน้ำโขง เพราะไม่มีพ่อแม่ ตายายจึงเรียกเขาว่า เจ้ากำพร้า
สองตายาย เป็นคนธรรมะธัมโม ใจบุญสุนทาน เข้าวัดฟังธรรม และมักจะพาหลานกำพร้าไปวัดด้วยเสมอ
อยู่มาวันหนึ่ง พวกเด็ก ๆ รุ่นเดียวกันชวนเจ้ากำพร้าไปสาปลา (วิดน้ำเพื่อจับปลา) ที่ห้วยใกล้บ้าน เจ้ากำพร้าจึงไปกับพวกเขาด้วย เมื่อทำคูกั้นเสร็จแล้ว ก็เริ่มวิดน้ำไปเรื่อย ๆ พอใกล้จะแห้งได้ที่ คูก็รั่ว พวกเด็กเขาก็เลยให้เจ้ากำพร้าไปนั่งขวางไว้และนำดินมาปิดอัดถมจนน้ำหยุดรั่ว ซึ่งดินนั้น ก็ถมเจ้ากำพร้าไว้จนมิดคอ เห็นแต่หัวโผล่ขึ้นมา เมื่อวิดน้ำจนแห้งและจับปลากันเสร็จแล้ว คนอื่นๆ ก็พากันแบ่งปลากัน โดยไม่ได้แบ่งให้เจ้ากำพร้า และพากันกลับบ้าน ทิ้งเจ้ากำพร้าให้ติดอยู่ในคูดินนั้น
เจ้ากำพร้า นึกแค้นใจ ทั้งน้อยใจในความอับวาสนาของตนเอง แล้วน้ำตาของเด็กน้อยก็ไหลออกมา พลางพยายามค่อยๆ ตะเกียกตะกายจนพ้นจากดินที่ถมอยู่
ขณะที่น้ำกำลังไหลลงคืนสู่ที่เดิม สายตาของเจ้ากำพร้าก็เหลือบเห็น ปลาหลดน้อยตัวหนึ่งดิ้นกระแด่ว ๆ อยู่ในโคลน จึงรีบวิ่งไปประคองเอาสองมือกอบจับเอาปลาหลดน้อยตัวนั้น นำมาใส่ในกะโป๋(กะลามะพร้าว)ที่ใช้สาปลา แล้วพาปลาหลดน้อยตัวนั้นกลับเรือนและให้อาหารเลี้ยงดูอย่างดี
ปลาหลดน้อยนั้น โตวันโตคืน เจ้ากำพร้าจึงนำไปเลี้ยงไว้ในโอ่งแทน เมื่อปลาหลดโตขึ้นมาก ไม่สามารถจะอยู่ในโอ่งได้ เจ้ากำพร้าจึงนำปลาหลดไปปล่อยในแม่น้ำโขง นำอาหารไปให้ และพูดคุยกับปลาหลดนั้นทุกวัน ด้วยความรัก
ปลาหลดนั้นโตขึ้นมากพอที่เจ้ากำพร้าจะสามารถขี่เล่นในน้ำได้ ทั้งสองเล่นน้ำด้วยกัน สนิทสนมกัน รักกันมาก อยู่มาวันหนึ่ง ปลาหลด ได้พูดกับเจ้ากำพร้าว่า ในใต้น้ำโขงนี้ มีถ้ำมหาสมบัติอยู่ ข้าฯจะพากำพร้าไปเที่ยวถ้ำนั้น และนำแก้วแหวนเงินทองมา เจ้ากำพร้าถามว่า แล้วจะไปได้อย่างไร ปลาหลดบอกว่าจะให้ขี่หลังมุดลงไป พร้อมกำชับว่า ไม่ว่าจะเจอเหตุการณ์อะไรก็ตาม อย่าดิ้น ให้ขี่หลังหลับตาอยู่นิ่งๆ เจ้ากำพร้าก็ทำได้ตามนั้น
เมื่อลงไปถึงถ้ำ เจ้ากำพร้าพบเห็นแก้วแหวนเงินทองมากมาย เจ้ากำพร้าเอ่ยปากขอจากเจ้าของ ที่มองไม่เห็น แล้วถือติดมือมาแค่นิดเดียว ด้วยไม่มีใจอยากได้มากมาย เพราะมันเป็นของใครก็ไม่รู้
เจ้ากำพร้ากล่าวขอบคุณปลาหลด ที่พาไปถ้ำมหาสมบัติ และน้ำสิ่งของที่ถือติดมือมา ไปให้ตายายพร้อมกับเล่าเรื่องราวให้ฟัง ตายายทราบเรื่องก็ชมว่าดีแล้ว ที่ไม่มีใจละโมบเอาของเขามาเยอะ ๆ
ตั้งแต่นั้นมา ครอบครัวตายายและเจ้ากำพร้าก็มีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น
เด็กคนหนึ่งเพื่อนบ้านของเจ้ากำพร้า สงสัย จึงไปรบเร้าถามเอาความจริงจากเจ้ากำพร้า เมื่อทราบเรื่องแล้ว ก็รบเร้าต่อ ให้เจ้ากำพร้าไปขอร้องให้ปลาหลด พาตนไปถ้ำมหาสมบัตินั้น เจ้ากำพร้าทนต่อการรบเร้าไม่ได้ จึงทำตามนั้น
ปลาหลด เห็นแก่ความเป็นสหายกับเจ้ากำพร้า จึงยอมพาไป แล้วพูดกับเด็กคนนั้นว่า ไม่ว่าจะเจอเหตุการณ์อะไรก็ตาม อย่าดิ้น ให้ขี่หลังหลับตาอยู่นิ่งๆ เด็กคนนั้นรับปากว่าสบายมาก บังเอิญว่าวันนั้น เกิดพายุ ฝาตกหนัก เด็กคนนั้นได้ยินเสียงอื้ออึง สงสัยว่าเกิดอะไรขึ้น ทั้งไม่ไว้ใจปลาหลด สงสัยว่าพาไปผิดที่หรือเปล่า จึงลืมตาขึ้น และดิ้นอย่างแรงด้วยความกลัว ปลาหลด เห็นว่าเด็กคนนี้ ไม่รักษาคำพูด ไม่อยู่นิ่งๆ จึงสลัดเขาออกจากหลัง
เด็กคนนั้น เพราะตนเองไม่มีบุญ มีความแต่ความโลภ และไม่รักษาคำพูดสัญญาที่ให้ไว้กับปลาหลด จึงถูกกระแสน้ำโขงพัดพาไป และขาดใจตายในที่สุด
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า "ความอิจฉาริษยา และละโมบ เป็นสิ่งที่ไม่ดี"
|