ผญา คติสอนใจประจำวันที่ 26 เมษายน 2568:: อ่านผญา 
กุญชรช้างพลายสารเกิดอยู่ป่า ยังได้มาอยู่บ้านเมืองกว้างกล่อมขุน แปลว่า ช้างสาร เป็นสัตว์ป่า ยังได้เข้ามาอยู่ในเมือง รับใช้ผู้คน หมายถึง สัตว์ป่ายังนำมาฝึกสอนได้ คนเราไม่พึงเป็นคนหัวรั้นว่ายากสอนยาก

สารานุกรมอาหารแห่งอีสาน  

ลาบเทา...สารานุกรมอาหารแห่งอีสาน --- โดยอีสานจุฬาฯ
ลาบเทา



ชื่อภาษาอังกฤษ   Passion Spirogyra
ชื่อภาษาไทย      ง้วนนที รสทิพย์
ชื่อพื้นเมืองอีสาน   ลาบเทา



เมื่อต้นเดือนได้มีโอกาสกลับไปที่ จ.สกลนคร  นั่งคุยกับ “อาว”  อยู่กระเทิบหน้าบ้าน  คุยกันเรื่อง “บึ้ง”
หลานสาวเรียนอยู่ ปวช.  ถามว่า อีหยังคือ “บึ้ง”  พะนะ  เพิ่นบ่ฮู้จัก   นี่ขนาดเกิดอยู่สกลนคร  บ้านนอกชนบทแท้ๆ
สักพัก พ่อเอิ้นกินข้าว “ มาแมะหล่า กินข้าวกับลาบเทา “  เพิ่นตอบว่า
“ บ่กินดอกอีพ่อ  เอาเงินมา  ข่อย สิไปซื้อมาม่า มาต้มกิน”
กินข้าวอิ่มแล้ว เดินเวินไปเวินมา   ขะน้อยเลยถามว่า  “ฮู้จัก พันท้ายนรสิงห์บ่ “
“ แม่นไผหละ พันท้ายนรสิงห์ “ พะนะ
ขะน้อยนั่งอึ้ง  นึกไม่ถึง เจตคติของคนอีสาน ที่สืบสานวัฒนธรรม  โดนลบเลือนโดย คลื่นวัฒนธรรมต่างถิ่น
สิ้นวัฒนธรรมการกิน  วัฒนธรรมการครองตน  วัฒนธรรมทางความคิดอันพอเพียง เรียบง่าย วัฒนธรรมศิลปะ ต่างๆ
นับมื้อถดถอย  “ขี้เดียดวัฒนธรรมตนเอง”   มองเห็นอีซาเนีย อยู่ร่ำไร
มันเป็นตาขี้เดียดหม่อได๋  ลาบเทา     มาลองศึกษาให้แจ้งในกมล เบิ่ง



ลาบเทาเป็นอาหารพื้นเมืองที่ กลั่นกรองออกมาจากภูมิปัญญา คนอีสานแต่กาลโพ้น
เทา ก็คือ สาหร่ายน้ำจืด
สาหร่ายเป็นสิ่งมีชีวิตมีคู่กับโลกเฮามานานมาก  “ในสมัยพุทธกาลเรียกเทาว่า “กระบิดิน”
เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญมากของมนุษยชาติ และเป็นแหล่งอาหารคุณภาพสูงของผู้คนทั้งหลาย
จึงนำมาบริโภคกันในหลายรูปแบบ
ประเทศที่มีการบริโภคสาหร่ายอย่างแพร่หลายคือ จีน และญี่ปุ่น ส่วนประเทศอื่นก็มีการบริโภคกันบ้าง
แม้แต่ไทอีสาน และ ไทภาคเหนือของเฮา แต่สาหร่ายที่นิยมจะเป็นชนิดที่แตกต่างกันไปตามที่มีอยู่ในท้องถิ่น


เทาคือ
Spirogyra สไปโรไจรา เป็นสาหร่ายที่ชอบขึ้นในน้ำจืดที่สะอาดทั้งน้ำนิ่ง และน้ำไหลเอื่อยๆ มีสีเขียวเป็นเส้นกลมยาวขนาดเล็กพันกันเป็นเกลียวนิ่มลื่นมือพบได้ในแหล่งน้ำภาคเหนือและอิสานเรียกสาหร่ายชนิดนี้ว่า เทา หรือผักไกนิยมนำมาบริโภคในรูปผักจิ้มน้ำพริก ทำลาบ และมีรายงานว่าเป็นสาหร่ายที่นิยมบริโภคในประเทศพะม่า เวียตนามและอินเดียด้วย  
เห็นบ่ คนวัฒนธรรมอื่นเขากะกิน เทาคือกัน  มันต้องมีดีหละเขาจั่งกินกัน



ประโยชน์ของ เทา นอกเหนือจากเป็นอาหาร คือ

ใช้เป็นปุ๋ยชีวภาพ จากการวิจัยของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย
พบว่าสาหร่ายสีเขียวในนาข้าวบางชนิดสามารถตรึงไนโตรเจนในอากาศให้เป็นสารประกอบไนโตรเจน เช่น แอมโมเนียม
ทำให้ข้าวเจริญเติบโต ส่วนใหญ่เป็นพันธุ์ Anabaena sp. และ Nostoc sp.  
(เอาหละหว่าหนทางรอด สำรับเกษตรอินทรีย์ชาวนาไทย ลดการใช้ปุ๋ยเคมีได้ เพราะนำเทา มาปล่อยตามทุ่งนา
ธรรมชาติบำบัด ลดต้นทุน ทิ้งห่างเวียดนาม ชนิดไง่ง่อง)
สังเกต นาข้าวไผงามดินดี มักจะมีเทาขึ้นตามไฮ่นา  รับรองข้าวงาม ซ้างเหยียบตอเฟียงบ่ล้ม  คนโบราณว่า

ใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง สาหร่ายประกอบด้วยสารเคมีบางชนิดที่ช่วยในการรักษาผิวหนัง ชนเผ่า Kanembu ได้ใช้สาหร่ายเกลียวทองรักษาโรคผิวหนังบางชนิด การศึกษาในประเทศญี่ปุ่นพบว่า
เครื่องสำอางที่ผสมสาหร่ายและสารสกัดจากสาหร่ายช่วยให้ผิวพรรณดีขึ้นและลดริ้วรอย ส่วนในประเทศไทย
ก็ได้มีบริษัทหลายแห่งที่ใช้สาหร่ายเป็นเครื่องสำอางในรูปครีมบำรุงผิว
(เห็นบ่ ดาราละครผู้หล่อๆ สวย ๆ เพิ่นกะเอาเทาไปทาหน้า ให้ ผุดผ่อง แล้วก็มาตบหน้ากันให้ซุมเฮาเบิ่ง  )

ใช้ในอุตสาหกรรมยา นักวิทยาศาสตร์และนายแพทย์หลายท่านได้ทดลองใช้สาหร่าย
ในการป้องกันและรักษาโรคต่าง ๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคกระเพาะ อีกทั้งยังช่วยลดความเครียด
และความไม่สมดุลในร่างกาย ในประเทศฝรั่งเศส ได้ทดลองใช้ ธาตุแมกนีเซียมในคลอโรฟิลล์ ในสาหร่าย
ในการรักษาบาดแผล มีคุณสมบัติในการฆ่าเชื้อป้องกันการเกิดของแบคทีเรียและช่วยสร้างเซลล์ขึ้นมาใหม่ด้วย
คลอโรฟิลล์ในสาหร่ายมีโครงสร้างเหมือนสารสีแดงในเลือด (hemo-globin)
นักวิทยาศาสตร์จึงแนะนำให้ใช้คลอโรฟิลล์รักษาโรคโลหิตจาง
สาหร่ายบางชนิดสารปฏิชีวนะซึ่งเป็นประโยชน์ต่อวงการแพทย์
ซ้วดแล้วบาดนี้...เทามีประโยชน์กว่า มาม่า หลายพันเท่า


ภาพจากอินเตอร์เน็ต

บรรพบุรุษชาวอีสานช่าง มองการไกล และมีวิสัยทัศน์  ในการนำเอาพืชที่มีประโยชน์อันนี้มาทำอาหาร
แต่พอตกมาถึง รุ่นหลานเหลน โหล่น  กลับรังเกียจเดียดฉันท์   แปลเจตนาผิด หนูจะฟัง LAP  หนูอยากอยู่ใน TOWN
นี่ไงครับ LAP TOWN ( ลาบเทาว์)  คนญี่ปุ่น คนจีน เขาไม่ทิ้งเจตจำนงแห่ง บรรพบุรุษ  ในทางกลับกัน
เขารักในวัฒนธรรมของเขา พัฒนาต่อยอด จากการกินสาหร่ายธรรมดาๆ  เป็น  นวัตกรรมใหม่  
ศึกษาและวิจัยต่อยอดจาก บรรพบุรุษ จนกระทั่งสร้าง สินค้าส่งออก  มากรอกปากลูกหลานเฮา  
สังเกตจากร้านค้าในบ้านผม  มีแต่ ขนมสาหร่าย  สาหร่ายอัดแท่ง ยี่ห้อญี่ปุ่น ยี่ห้อเกาหลี  ยี่ห้อจีน
วางขายวัฒนธรรมการกินของเขา
สำหรับคนจบ นักธรรมเอก อย่างกระผม จึงมีความคิดว่า ใยเฮาบ่พัฒนาศึกษาวิจัย  ต่อยอดความคิด
จากวัฒนธรรมการกินของ คนอีสานเฮาบ้าง  จะมัวอายใคร อนุมานว่ากำพืดตนว่า “ต่ำต้อย” เมื่อไหร่จะพัฒนาก้าวทันเพิ่น
นี่คือตัวอย่าง แนวทางการคิด ของขะน้อย  ส่งออกไปขายฮอด ยอดเขาหิมาลัยพู้น





แห่งเว้าแห่ง”สูน” พี่น้องเอ้ย   กลับมาเข้าเรื่องประเทืองความแซบ กันดีกว่าเนาะ
ส่วนประกอบ  ก็มี เทา   ปลาป่น   ข้าวคั่ว  พริกป่น น้ำปลาแดก  ผักหอมบั่ว   ผักหอมเป  ผักแพรว
                     ถั่วฝักยาว   มะเขือ    ของกินกับ ก็คือ ผักต่าง  ผักหูเสือ  และอย่าลืม  บักแข้งขม


ภาพจากอินเตอร์เน็ต

วิธีทำ   1 ไปหา ทาวเอาเทา    ตามห้วยหนองคลองบึง ไฮ่นา ควรเลือกแหล่งน้ำที่สะอาด เชื่อใจได้
               เทาจะเกิดก็ต่อเมื่อ มีอุณหภูมิและช่วงเวลาที่เหมาะสม ปีหนึ่ง มักจะเกิดแค่ 2 ครั้ง  
              คือ ช่วงข้าวเขียว (กลางฤดูฝน ) และ ในฤดูหนาว


         2 นำเทามาล้างน้ำหลายๆครั้ง จนได้เนื้อเทาที่สะอาด สีเขียวมรกต


         3  ต้มน้ำฮ้อนๆ มาลวกเทา  แล้วเทน้ำทิ้ง    ลวกใหม่อีกครั้ง  ทำประมาณ 3 ครั้ง  ฆ่าแม่พยาธิ

         4  นำปลาป่นมากวนลงไปให้เข้ากัน  แล้ว เทเครื่องปรุง เช่น ข้าวคั่ว  พริกป่น  ลงปรุงรส  ด้วยน้ำปลาแดก


น้ำปลาแดกต้ม



           ข้อควรระวังในขณะ เทข้าวคั่วกับพริกป่นลงปรุง  อาจเกิดอาการ “แฮดดัง”  จนต้องจาม
           หากจะ จาม ต้องหันหน้า ออกจากกาละมังลาบเทา   ขณะจามแทนที่จะ เปล่งเสียง ฮัดเช้ย !
ให้อุทานจามคำว่า  “ ฮี้.....ส๊วด! “ แทน  มันเป็นคาถา
5 เอาผักหอมต่างๆ  (หั่นแล้ว) ลงกวนให้เข้ากัน เป็นอันเสร็จ   ยกลงมาปันกัน ซูด
            คันบ่แซบกะ ขุ  ผงนัว ลงจั๊กหน่อย  อย่าลืมแบ่งแม่ใหญ่ต้อย  ผู้เลาป้อยผัวเป็น



ส่วนอันนี้ สำหรับเพิ่มรสชาติ สำหรับ วัยรุ่น  กินกับ ลาบเทา


ภาพจาก อินเตอร์เน็ต



 
Creative Commons License

ชมรมอีสานจุฬาฯ... สารานุกรมอาหารแห่งอีสาน