ซอพื้นเมืองอีสาน ทำจากวัสดุพื้นบ้านที่หาได้ง่าย โดยสมัยก่อน ตัวเต้าหรือกล่องเสียง ทำจาก กะลามะพร้าว กระบอกไม้ไผ่ แก่นไม้เจาะเป็นโพรง เป็นต้น และใช้หนังสัตว์ เช่น หนังกบ หนังงู หนังวัว เป็นต้น หุ้มหน้าเต้าซอ แต่สมัยปัจจุบัน มีการนำกระป๋อง เช่นกระป๋องนม กระป๋องเครื่องดื่ม กระป๋องสี เป็นต้นมาทำเป็นตัวเต้าซอ ก็มี ซึ่งชื่อของซอพื้นเมืองอีสาน มักจะเรียกชื่อตามวัสดุที่ใช้ทำเต้าซอ เช่น ซอไม้ไผ่ ซอกะโป๋(ซอกะลา) ซอกระป๋อง เป็นต้น
สายซอ สมัยก่อน ทำจากเชือก ป่าน หรือปอ เป็นต้น ต่อมา ใช้สายเบรครถจักรยาน ก็มี สมัยปัจจุบัน ใช้สายกีตาร์ เพราะหาได้ง่าย ซึ่งสายซอพื้นเมืองอีสาน มีเพียงสองสาย คือสายเอก และสายทุ้ม
ส่วนคันชัก หรือไม้สีซอ ทำจากไม้เหลาให้เรียว หรือซีกไม้ไผ่เหลาให้เรียว สมัยก่อนนิยมใช้หางม้า เชือก ป่าน หรือปอ ผูกมัดเป็นสายสำหรับสี สมัยปัจจุบัน ใช้เส้นเอ็นแทนก็มี ซึ่งคันชักของซอพื้นเมืองอีสาน จะอยู่อิสระต่างหากจากตัวซอ ไม่สอดอยู่ระหว่างสายเอกและสายทุ้ม เหมือนซออู้และซอด้วง

|