ผญา คติสอนใจประจำวันที่ 25 เมษายน 2568:: อ่านผญา 
ทุกข์เพิ่นว่าบ่อดี มีจั่งว่าพี่น้อง ลุงป้าเอิ้นว่าหลาน แปลว่า เมื่อยากจน ไม่มีใครว่าดี พอร่ำรวย ใครๆ ก็อยากรู้จัก ไม่ใช่ญาติก็อยากเป็นญาติ หมายถึง ควรช่วยเหลือเกื้อกูลกันอยู่เสมอ ไม่ใช่ช่วยเหลือเพียงเพื่อหวังผลประโยชน์ตอบแทน

ดนตรีพื้นบ้านอีสาน  

โปงลาง...ความรู้ทั่วไปเรื่องโปงลาง (ดนตรีพื้นบ้านอีสาน---อีสานจุฬาฯ)
ดนตรีพื้นบ้านอีสาน...โปงลาง

  หน้าก่อน หน้าถัดไป
ความรู้ทั่วไปเรื่องโปงลาง

 

โปงลาง เป็นชื่อเรียกเครื่องดนตรีพื้นเมืองอีสานชนิดหนึ่ง ซึ่งพัฒนามาจากเกราะลอหรือขอลอ โดยสมัยก่อน ทุกหมู่บ้าน จะมีเกราะลอ ไว้ตีสำหรับเรียกชาวบ้านมาประชุมกัน เสียงเกราะลอจะดังกังวานไกล ให้ได้ยินกันทั้งหมู่บ้าน

จากการสัมภาษณ์อาจารย์เปลื้อง ฉายรัศมี ผู้พัฒนาเกราะลอในอดีต จนเป็นโปงลางแบบปัจจุบัน ทราบว่า ท้าวพรหมโคตร ซึ่งอพยพมาจากประเทศลาว ได้นำเกราะลอหลายๆ ตัว มาขึงมัดรวมกันเป็นแถว ใช้ตีสำหรับไล่นกกาที่มากินข้าวในนา โดยในสมัยแรกนั้น ไม่มีการเรียงตัวโน้ตใดๆ ตีให้เกิดเสียงดังเฉยๆ นอกจากนั้น บางครั้งเกิดความเบื่อหน่าย ก็ตีเล่นเป็นจังหวะเพลง จนต่อมาเกิดแนวคิดในการเรียงโน้ตเข้าไป แต่ยังไม่ได้เป็นโปงลางแบบปัจจุบัน

ต่อมา ท้าวพรหมโคตรได้ถ่ายทอดการทำและการตีเกราะลอให้นายปาน นายปานถ่ายทอดให้นายขาน ผู้เป็นน้อง นายขาน ได้ถ่ายทอดให้อาจารย์เปลื้อง ฉายรัศมี ซึ่งต่อมา อาจารย์เปลื้อง ได้คิดค้นพัฒนาต่อ จนเป็นโปงลางแบบที่เห็นในปัจจุบัน อย่างสมบูรณ์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๒ และตั้งชื่อเครื่องดนตรีชนิดนี้ว่า โปงลาง ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

โปงลาง มีชื่อเรียกอื่นๆ อีก เช่น หมากกลิ้งกล่อม, หมากเตอะเติ่น, หมากเติดเติ่ง, หมากเกราะลอ, แต่ชื่อเรียกที่คนรู้จักโดยทั่วไป คือ โปงลาง ซึ่งอาจารย์เปลื้อง ฉายรัศมี เป็นผู้ตั้งชื่อนี้

โปงลาง เป็นเครื่องดนตรีสำหรับตีหรือเคาะ คล้ายระนาดของดนตรีไทย แต่การวางขึง สำหรับตีแตกต่างกัน และระนาดมีกล่องเสียง แต่โปงลางไม่มีกล่องเสียง โปงลางแบบมาตรฐาน ประกอบด้วยลูกโปงลาง ๑๓ ลูก มีโน้ต ๖ โน้ต คือ โด เร มี ฟา ซอล ลา โดยเรียงโน้ตจากเสียงต่ำ-สูง ได้ครบสองช่วงทบเสียง ดังนี้ คือ “มี ซอล ลา โด เร มี ฟา ซอล ลา โด เร มี ซอล ” สามารถเล่นลายแคนได้ทั้ง ลายใหญ่ ลายน้อย ลายสุดสะแนน และลายโป้ซ้าย

โปงลาง นิยมทำจากไม้มะหาด โดยไม้มะหาดชนิดที่ให้เสียงกังวานใสดี คือไม้มะหาดทอง และไม้อื่นๆ ที่ทำโปงลางได้ เช่น ไม้พะยูง ไม้มะเหลื่อม และไม้ไผ่

 

  หน้าก่อน หน้าถัดไป
 
Creative Commons License

ชมรมอีสานจุฬาฯ... ดนตรีพื้นบ้านอีสาน