พิณ เป็นเครื่องดนตรีประเภทสายดีดที่มีมานาน นานจนไม่อาจทราบได้ว่า ใครเป็นผู้ประดิษฐ์คิดค้นเป็นคนแรก เครื่องดนตรีที่มีหลักการเช่นเดียวกันนี้ พบในหลายๆ ประเทศ แต่ชื่อเรียก ย่อมแตกต่างกันไปตามเชื้อชาติภาษา และรูปร่างปลีกย่อยอาจแตกต่างกันไปเช่นกัน
พิณ ที่จะกล่าวถึงในที่นี้ เฉพาะพิณของชาวอีสาน ซึ่งแม้แต่ชาวอีสานเอง ก็เรียกชื่อเครื่องดนตรีชนิดนี้แตกต่างกันออกไป เช่น แถบอุบล เรียกว่า ซุง ชัยภูมิเรียกว่า เต่ง หรือ อีเต่ง หนองคาย เรียกว่า ขจับปี่ เป็นต้น แต่ชื่อสามัญที่คนทั่วไปใช้เรียก คือ พิณ นั่นเอง
พิณสมัยก่อน มีเฉพาะพิณโปร่ง นิยมทำจากไม้ขนุน เนื่องจาก ให้เสียงกังวานใสดี เกิดกำทอนดี ไม้ขนุน เนื้อไม่แข็งมาก ใช้มีด ใช้สิ่วเจาะทำพิณได้ไม่ยาก จริงๆ แล้ว ไม้ชนิดอื่นๆ เช่น ไม้มะหาด ไม้ยูง ก็ให้เสียงกังวานใสดีเช่นกัน แต่เนื้อไม้ค่อนข้างแข็งมาก และค่อนข้างหายาก จึงไม่นิยมนำมาทำพิณ ไม้ชนิดอื่นๆ เช่น ไม้มะเหลื่อม ไม้ฉำฉา เป็นต้น ก็ทำพิณได้เช่นกัน แต่เสียงอาจจะไม่แน่นดี ซึ่งหากจะเอาแค่ดีดแล้วมีเสียงดัง จะใช้ไม้อะไรก็ได้ที่ขึงสายแล้วตัวพิณไม่หัก นอกจากนั้น ช่างทำพิณบางคน อาจทำเต้าพิณจากกะลา น้ำเต้า บั้งไม้ไผ่ กระดองเต่า ใช้หนังสัตว์ เช่นหนังงู เป็นต้น ทำเป็นแผ่นประกบปิดเต้าพิณ
พิณสมัยปัจจุบัน มีทั้งพิณโปร่ง พิณไฟฟ้า และพิณโปร่งไฟฟ้า
สายพิณ สมัยโบราณ เข้าใจว่า คงใช้เชือกหรือหนัง จากนั้น เมื่อมีรถจักรยานแล้ว ก็หันมาใช้สายเบรกรถจักรยานแทน แต่ปัจจุบัน เนื่องจากมีผู้ผลิตสายกีตาร์จำหน่าย จึงหันมาใช้สายกีตาร์โปร่งสำหรับพิณโปร่ง สายกีตาร์ไฟฟ้าสำหรับพิณไฟฟ้า
พิณ มีเสียงกังวานสดใส สามารถบรรเลงเพลงได้ทั้งจังหวะอ่อนหวาน เศร้ารันทด และสนุกสนานครื้นเครง เข้าถึงอารมณ์แบบพื้นบ้าน พิณจึงเป็นเครื่องดนตรีชิ้นเอกอีกชิ้นหนึ่งของคนอีสาน
|