ผญา คติสอนใจประจำวันที่ 26 เมษายน 2568:: อ่านผญา 
ตกกะเทินว่าได้ฮ่ำเฮียนแล้ว ให้เฮียนเหมิดสู่ซ่อง เฮียนให้เพิ่นได้ย่อง เหมิดถ้วนคู่สู่แนว แปลว่า ในเมื่อได้ชื่อว่ามาร่ำเรียนแล้ว เรียนให้หมดให้ละเอียด หมายถึง ศึกษาเล่าเรียนให้รู้ถ่องแท้ช่ำชองในวิชาการที่ตนเรียน

ดนตรีพื้นบ้านอีสาน  

แคน...ลายแคน (ดนตรีพื้นบ้านอีสาน---อีสานจุฬาฯ)
ดนตรีพื้นบ้านอีสาน...แคน

  หน้าก่อน หน้าถัดไป
ลายเฒ่าเก่า


ลายเฒ่าเก่า หมายถึงลายแคนที่มีมาแต่โบราณ ย่อมาจาก “ลายแคนของผู้เฒ่าสมัยเก่า” เป็นการบรรเลงแบบเดี่ยวแคน ไม่ประกอบฟ้อนหรือลำ ท่วงทำนองของลายเฒ่าเก่า จะเป็นแบบไปเรื่อยๆ เหมือนลำล่อง ไม่ใช่ลายบรรเลงแบบปัจจุบันที่ต้องตีกลองให้จังหวะ ไม่ใช่ลายเพลงประกอบการฟ้อนแห่ หรือประกอบขบวนแห่ต่างๆ แบ่งออกเป็น 2 สำเนียง หรือ2 ทางเพลง คือ ลายทางยาว กับ ลายทางสั้น

 

ลายทางสั้น

ลายทางสั้น เป็นลายที่ออกสำเนียงทางเมเจอร์ ให้ความรู้สึกเริงร่า กระฉับกระเฉง คำว่าทางสั้น ในภาษาทางดนตรี หมายถึงมีจังหวะเร็วและตกสม่ำเสมอ แทบจะไม่มีช่วงที่จะลากเสียงยาวได้เลย

ลายทางสั้น แยกย่อยออกไปตามสเกลเสียงได้ 3 ลายคือ... ลายสุดสะแนน ลายโป้ซ้าย และลายสร้อย

 

ลายสุดสะแนน

ลายสุดสะแนน เป็นลายที่เวลาบรรเลงแล้ว ทุกครั้งที่จบลายเพลง ต้องลงที่เสียงซอล อันเป็นหลักของทำนองเสมอ และลูกแคนเสียงซอลนี้ มีชื่อว่า สะแนน เมื่อเพลงจบ หรือสิ้นสุดลงที่ลูกสะแนน จึงเรียกลายนี้ว่า ลายสุดสะแนน ซึ่งสื่อความหมายว่า สิ้นสุดเพลงที่ลูกสะแนน....

ส่วนอีกความหมายหนึ่งของลายสุดสะแนน คือ ลายนี้เป็นลายที่ไพเราะมากๆ เป็นที่สุดของที่สุดของลายแคนทั้งหลาย ถือว่าเป็นลายชั้นครูของแคน เพราะเล่นได้ยากกว่าลายอื่นใดทั้งหลาย หมายถึงบรรเลงให้ได้ระดับชั้นครูนั้น ยาก... ใครเล่นได้ ก็ถือว่าสุดยอดทางการเป่าแคนเลยทีเดียว ดังนั้น บรรดาลายทั้งหลาย ยากสุดๆ ก็ลายนี้ ไพเราะสุดๆ ก็ลายนี้ จึงเรียกลายนี้ว่า “สุดสะแนน” ..... อันหมายถึง สิ้นสุดของเส้นสายแนน … สาว(ชัก)ดึงสายแนนมาเรื่อยๆ ในที่สุดก็พบจุดสิ้นสุด... จุดสิ้นสุด คือจุดหมายปลายทาง เมื่อพบจุดสิ้นสุดอันเป็นเป้าหมายสุดท้ายแล้ว ถือว่า สิ้นสุดสายแนน.... การฝึกแคนก็เช่นกัน เมื่อฝึกไปเรื่อยๆ จนฝึกได้ลายที่ยากที่สุด อันเป็นลายชั้นครูของแคนแล้ว การฝึกแคนนั้น ก็ถือว่าสุดสายแนน เช่นกัน... สายแนนก็คือสะแนน ... สุดสายแนน ก็คือสุดสะแนน

อีกความหมายหนึ่ง คือ สะแนน แปลว่า สนั่น หรือ ก้องสนั่น ในบรรดาลายทั้งหลาย ลายสุดสะแนน เป็นลายที่ให้เสียงก้องกังวาน ที่สุด (ลองฟังลายเพลงเทียบกันดู) สามารถสะกดหรือสยบคนฟังได้ ด้วยเสียงอันก้องสนั่นนั้น ลายนี้ เสียงสนั่นที่สุด คนจึงเรียกว่า ลายสุดสะแนน (ลายสุดสนั่น)

ลายสุดสะแนน มีเสียงซอล (เสียง G เมื่ออยู่บันไดเนเจอรัล) เป็นเสียงศูนย์กลางของทำนอง

เสียงฟา เป็นเสียงส้มของลายสุดสะแนน ... “ส้ม” หมายถึง เปรี้ยว เสียงส้ม หมายถึง เสียงที่ไม่เข้าพวกกับเสียงอื่นเมื่อบรรเลงทำนอง หากนำเสียงนี้มาใช้ร่วมทำนอง จะฟังดูแปร่งๆ หู เปรี้ยวหู ก็เลยเรียกว่าเสียงส้ม

การบรรเลงลายสุดสะแนน ต้องใช้เสียงซอล เป็นเสียงประสานยืน หรือเสียงเสบ ตลอดทั้งลาย ดังนั้น ผู้เป่า มักบิขี้สูดก้อนเล็กๆ ออกมาอุดรูเสียงซอลสูง (ลูกที่8 แพซ้ายมือ) ไว้ ส่วนเสียงซอลของลูกที่6 แพซ้ายมือ จะใช้นิ้วนาง ปิดรูนับไว้ เพื่อให้ทั้งสองลูกนั้นเกิดเสียงประสานตลอดการบรรเลงลาย

ลายสุดสะแนน นอกจากจะใช้เสียงประสานยืนคือซอลแล้ว ขณะบรรเลง ยังมีการจับคู่ประสานคอร์ดเสียงอื่นๆ ด้วย เช่น เสียงลากับเสียงมี, เสียงโดกับเสียงซอล ดังนั้น เสียงแคนของลายสุดสะแนน จึงออกมาลักษณะคอร์ดประสานจังหวะแบบกระชับ... กล่อมประสานกันไพเราะเพราะพริ้งมาก

ลายสุดสะแนน ที่เป็นลายแคนเฒ่าเก่า จะบรรเลงเดี่ยวไปเรื่อยๆ ตามแต่ลีลาและปฏิภาณของหมอแคน แต่ว่าลายสุดสะแนนนี้ มักใช้เป่าประกอบ หมอลำกลอน (ซึ่งเป็นลำทางสั้นทำนองหนึ่ง)...

ลายสุดสะแนน ออกลายน้อย คือ เมื่อเป่าลายสุดสะแนนอยู่ แล้วจะออกคีย์อื่นเพื่อเปลี่ยนคีย์นั้น... จากลายสุดสะแนน ก็จะเปลี่ยนเป็นลายน้อย (แบบลำซิ่ง)

 


 

ลายโป้ซ้าย

ลายโป้ซ้าย คือทำนองลายสุดสะแนน แต่ต่างสเกลเสียงกัน ชื่อลายโป้ซ้าย ตั้งขึ้นตามอากัปกิริยาของผู้เป่าแคน ที่ต้องใช้นิ้วโป้ซ้าย ปิดรูนับของลูกแคนเสียง โด (ลูกที่1 แพซ้าย) ไว้ตลอดเวลาที่บรรเลงลายโป้ซ้าย

ลายโป้ซ้ายมีเสียงโด (เสียง C เมื่ออยู่บันไดเนเจอรัล) เป็นเสียงศูนย์กลางของทำนอง

การบรรเลงลายโป้ซ้าย ต้องใช้เสียงซอลสูง (ลูกที่8 แพซ้ายมือ) และเสียงโดสูง (ลูกที่1 แพซ้ายมือ) เป็นเสียงประสานยืน หรือเสียงเสบ ตลอดทั้งลาย โดยลูกที่ 8 แพซ้าย มักปิดรูนับด้วยขี้สูดก้อนเล็กๆ แต่ลูกที่1 แพขวา ปิดรูนับด้วยนิ้วหัวแม่มือซ้ายไว้ เพื่อให้ทั้งสองลูกนั้นเกิดเสียงประสานตลอดการบรรเลงลาย

ลายโป้ซ้าย นอกจากจะใช้เสียงประสานยืนคือซอลสูงและโดสูงแล้ว ขณะบรรเลง ยังมีการจับคู่ประสานคอร์ดเสียงอื่นๆ ด้วย เช่น

ถ้าโน้ตลงเสียงโด จะจับคู่กับเสียงซอล, เสียงเร จับคู่กับเสียงลากลาง(ลูกที่4แพขวา), เสียงฟา คู่กับเสียงฟา, เสียงซอลคู่กับเสียงซอล, เสียงลา จับคู่กับเสียงเร

*** การใช้เสียงซอล ประสานคู่กับเสียงฟา และเสียงลา จะฟังดูแข็งกระด้าง... ดังนั้น หมอแคนบางคน จะไม่ใช้เสียงซอลสูง (ลูกที่8 แพซ้าย) เป็นเสียงประสานยืน หรือเสียงเสพลายโป้ซ้าย

ลายโป้ซ้าย ที่เป็นลายแคนเฒ่าเก่า จะบรรเลงเดี่ยวไปเรื่อยๆ ตามแต่ลีลาและปฏิภาณของหมอแคน แต่ว่าลายโป้ซ้ายนี้ มักใช้เป่าประกอบ หมอลำกลอน (ซึ่งเป็นลำทางสั้นทำนองหนึ่ง) แต่บางครั้ง จำเป็นต้องใช้ลายโป้ซ้าย เพราะเสียงของหมอลำ ถูกกับคีย์ลายโป้ซ้าย

โป้ซ้าย ออกลายเซ คือ เมื่อเป่าลายโป้ซ้ายอยู่ แล้วจะออกคีย์อื่น เพื่อเปลี่ยนคีย์นั้น จากลายโป้ซ้าย ก็จะเปลี่ยนเป็นลายเซ

 


 

ลายสร้อย

ลายสร้อย มีทำนองคล้ายลายโป้ซ้ายและลายสุดสะแนน แต่ต่างสเกลเสียงกัน ชื่อลายสร้อย น่าจะมาจากภาษาไทยลาว ซึ่ง สร้อย แปลว่า ฉีกออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย เพราะลายสร้อย คือลายที่ฉีกหรือแตกออกมาจากลายสุดสะแนนและลายโป้ซ้าย แต่เดินทำนองเหมือนทั้งสองดังกล่าวได้ไม่ครบถ้วน อันเนื่องมาจากข้อจำกัดเรื่องช่วงทบเสียงไม่ครบ 2 ช่วงทบดี... จึงถือว่าเป็นเพียง สร้อย หรือส่วนย่อยของลายทั้งสองเท่านั้น

ลายสร้อยมีเสียงเร (เสียง D เมื่ออยู่บันไดเนเจอรัล) เป็นเสียงศูนย์กลางของทำนอง

การบรรเลงลายสร้อย ต้องใช้เสียงเรสูง (ลูกที่6 แพขวามือ) และเสียงลาสูง (ลูกที่8 แพขวามือ) เป็นเสียงประสานยืน หรือเสียงเสบ ตลอดทั้งลาย โดยลูกที่ 8 แพขวา มักปิดรูนับด้วยขี้สูดก้อนเล็กๆ ส่วนลูกที่6 แพขวา ปิดรูนับด้วยนิ้วนางขวาไว้ เพื่อให้ทั้งสองลูกนั้นเกิดเสียงประสานตลอดการบรรเลงลาย

ลายสร้อย นอกจากจะใช้เสียงประสานยืนคือลาสูงและเรสูงแล้ว ขณะบรรเลง ยังมีการจับคู่ประสานคอร์ดเสียงอื่นๆ ด้วย เช่น

ถ้าโน้ตลงเสียงลาต่ำ จะจับคู่กับเสียงเร และลากลาง, เสียงที จับคู่กับเสียงมี และทีสูง, เสียงเร จับคู่กับเสียงลากลาง, เสียงมี จับคู่กับเสียงที และมีสูง, ส่วนเสียงซอล และเสียงลากลาง มักใช้เป็นเสียงเดี่ยว

ลายสร้อย กับลายน้อย เวลาเป่าลายเฒ่าเก่า หมอแคนนิยมเล่นสลับเปลี่ยนคีย์กัน เพื่อให้อารมณ์เพลงที่จับใจมากขึ้น

 


 

  หน้าก่อน หน้าถัดไป
 
Creative Commons License

ชมรมอีสานจุฬาฯ... ดนตรีพื้นบ้านอีสาน