ผญา คติสอนใจประจำวันที่ 26 เมษายน 2568:: อ่านผญา 
ยามยังน้อย ให้หมั่นฮู้เฮียนคุณ บุญเฮามีสิยศสูงเพียงฟ้า แปลว่า ตอนยังเป็นเด็ก ให้ขยันร่ำเรียนคุณวิชา บุญส่งเสริม ยศจะสูงเพียงฟ้า หมายถึง ให้หมั่นเพียรศึกษาตั้งแต่เป็นเด็ก ให้รู้คุณคน

ดนตรีพื้นบ้านอีสาน  

แคน...ลายแคน (ดนตรีพื้นบ้านอีสาน---อีสานจุฬาฯ)
ดนตรีพื้นบ้านอีสาน...แคน

  หน้าก่อน หน้าถัดไป
ลายเฒ่าเก่า


ลายเฒ่าเก่า หมายถึงลายแคนที่มีมาแต่โบราณ ย่อมาจาก “ลายแคนของผู้เฒ่าสมัยเก่า” เป็นการบรรเลงแบบเดี่ยวแคน ไม่ประกอบฟ้อนหรือลำ ท่วงทำนองของลายเฒ่าเก่า จะเป็นแบบไปเรื่อยๆ เหมือนลำล่อง ไม่ใช่ลายบรรเลงแบบปัจจุบันที่ต้องตีกลองให้จังหวะ ไม่ใช่ลายเพลงประกอบการฟ้อนแห่ หรือประกอบขบวนแห่ต่างๆ แบ่งออกเป็น 2 สำเนียง หรือ2 ทางเพลง คือ ลายทางยาว กับ ลายทางสั้น


ลายทางยาว

ลายทางยาว เป็นลายที่ออกสำเนียงทางไมเนอร์ ให้อารมณ์แบบสุนทรี กินใจ แบ่งออกเป็น 3 ลายใหญ่ๆ คือ ลายใหญ่ ลายน้อย และลายเซ


ลายใหญ่

ลายใหญ่ มีท่วงนองที่อยู่ในบันไดเสียงทุ้มต่ำ ภาษาไทย-ลาว เรียกเสียงทุ้มต่ำว่า เสียงใหญ่... เสียง ลา เป็นเสียงทุ้มต่ำที่สุดในแคนแต่ละเต้า เมื่อลายใหญ่มีเสียง ลา เป็นศูนย์กลางของทำนอง จึงมีชื่อเรียกว่า ลายใหญ่....

ลายใหญ่ มีเสียงลาต่ำ (เสียง A เมื่ออยู่บันไดเนเจอรัล) เป็นเสียงศูนย์กลางของทำนอง

เสียงฟา เป็นเสียงส้มของลายใหญ่ ... “ส้ม” หมายถึง เปรี้ยว เสียงส้ม หมายถึง เสียงที่ไม่เข้าพวกกับเสียงอื่นเมื่อบรรเลงทำนอง หากนำเสียงนี้มาใช้ร่วมทำนอง จะฟังดูแปร่งๆ หู เปรี้ยวหู ก็เลยเรียกว่าเสียงส้ม

เสียงฟา เมื่อนำมาใช้ในคีย์ลายใหญ่ จะไม่เข้าพวกเขา.... หากจะให้เข้าพวกจริงๆ ต้องเป็นเสียงฟาชาร์ป (F#) ซึ่งแคนไม่มีเสียงฟาชาร์ป

การบรรเลงลายใหญ่ ต้องใช้เสียงลา และ เสียง มี เป็นเสียงประสานยืน หรือเสียงเสบ ตลอดทั้งลาย...

คำว่า “ลายใหญ่” นี้ เป็นทั้งชื่อลาย ที่มีชื่อว่า ลายใหญ่ ก็มี เป็นทั้งชื่อของสเกลเสียง ก็มี ลายเฒ่าเก่า ที่ใช้สเกลเสียง ลายใหญ่ เช่น

ลายลมพัดไผ่

ลายใหญ่

ลายลมพัดข้าว เป็นต้น

ลายใหญ่ ที่เป็นลายแคนเฒ่าเก่า จะบรรเลงเดี่ยวไปเรื่อยๆ ตามแต่ลีลาและปฏิภาณของหมอแคน นอกจากนั้น ลายใหญ่นี้ มักใช้เป่าประกอบ ลำทางยาว หรือลำล่อง (คนเสียงต่ำ ลำใส่ลายใหญ่ คนเสียงสูงลำใส่ลายน้อย)

 


 

ลายน้อย

ลายน้อย มีท่วงทำนองอยู่ในสเกลแหลมสูง ภาษาไทย-ลาว เรียกเสียงแหลมว่า เสียงน้อย... เสียง เร ซึ่งเป็นเสียงศูนย์กลางของทำนองลายน้อย แหลมกว่าเสียงลา ของทำนองลายใหญ่ จึงได้ชื่อว่า ลายน้อย เพราะมีเสียงแหลมกว่าลายใหญ่

ลายน้อย มีเสียงเรต่ำ (เสียง D เมื่ออยู่บันไดเนเจอรัล) เป็นเสียงศูนย์กลางของทำนอง

การบรรเลงลายน้อย ต้องใช้เสียงลา และ เสียง เร เป็นเสียงประสานยืน หรือเสียงเสบ ตลอดทั้งลาย

คำว่า “ลายน้อย” นี้ เป็นทั้งชื่อลาย ที่มีชื่อว่า ลายน้อย ก็มี เป็นทั้งชื่อของสเกลเสียง ก็มี ลายเฒ่าเก่า ที่ใช้สเกลเสียง ลายน้อย เช่น

ลายล่องโขง

ลายน้อย

ลายว่าวติดลม

ลายสาวหยิกแม่ เป็นต้น

ลายน้อย ที่เป็นลายแคนเฒ่าเก่า จะบรรเลงเดี่ยวไปเรื่อยๆ ตามแต่ลีลาและปฏิภาณของหมอแคน นอกจากนั้น ลายน้อยนี้ มักใช้เป่าประกอบ ลำทางยาว หรือลำล่อง (คนเสียงต่ำ ลำใส่ลายใหญ่ คนเสียงสูงลำใส่ลายน้อย)

 


 

ลายเซ

ลายเฒ่าเก่า ที่ใช้สเกลลายเซ หมอแคนไม่นิยม หมอลำก็ไม่ค่อยมีใครมีคีย์เสียงพอดีลายเซ ลายเซ มีเสียงมีต่ำ (เสียง E เมื่ออยู่บันไดเนเจอรัล) เป็นเสียงศูนย์กลางของทำนอง

เนื่องจากลายเซ มีเสียงไม่ครบช่วงทบโน้ตดี เมื่อเป่า มักจะเซออกนอกมาตรา ฟังดูแล้วแปร่งหู จึงเรียกว่าลายเซ ลายเฒ่าเก่าที่เป็นลายเซ จึงหาฟังไม่ค่อยได้

 


 

  หน้าก่อน หน้าถัดไป
 
Creative Commons License

ชมรมอีสานจุฬาฯ... ดนตรีพื้นบ้านอีสาน