ผญา คติสอนใจประจำวันที่ 26 เมษายน 2568:: อ่านผญา 
บาดยามเป็นสาวจ้อยควายตมบ่อยากขี่ บาดว่าได้ลูกน้อยบายขี้ก่อนงาย แปลว่า ตอนเป็นสาวแรกรุ่น ควายเปื้อนขี้โคลน ไม่อยากขี่ พอมีลูกแล้ว จับขี้ลูกก่อนกินข้าว ก็ทำได้ หมายถึง ไม่ควรเป็นคนเย่อหยิ่ง

ดนตรีพื้นบ้านอีสาน  

แคน...ความรู้ทั่วไปเรื่องแคน (ดนตรีพื้นบ้านอีสาน---อีสานจุฬาฯ)
ดนตรีพื้นบ้านอีสาน...แคน

  หน้าก่อน หน้าถัดไป
ความรู้ทั่วไปเรื่องแคน


นักวิชาการด้านมานุษยดุริยางควิทยา จำแนกเครื่องดนตรีจำพวกแคนไว้ในกลุ่มเครื่องลม (Aerophone) ชนิดที่มีเสียงลิ้นอิสระ เสียงแคนเกิดจากการเป่า และการดูดกระแสลม ผ่านลิ้นโลหะที่ฝังอยู่ ในรูบากข้างลำท่อ ลิ้นแคนลิ้นเดิมให้เสียงระดับเดิมทั้งขาเป่า และขาดูดกระแสลมผ่าน จึงเรียกว่าเป็นลิ้นแบบอิสระ ดังกล่าวแล้ว

การเป่าแคนใช้มือทั้งสองข้าง ใช้นิ้วทั้งสิบนิ้ว ผู้เป่าควบคุมระดับเสียงของลูกแคนได้ ด้วยการขยับปลายนิ้วมือทั้งสองข้างปิดเปิดรูนับ ซึ่งเจาะไว้ที่ส่วนเหนือเต้าของลูกแคนทุกลูก ลูกใดถูกปิดรู ลูกนั้นจะส่งเสียง นั่นคือ ใช้นิ้วบังคับระดับเสียง ใช้ลมบังคับเสียงและจังหวะ ตามอารมณ์ลายเพลง เสียงแคนที่ออกมานั้น มีทั้งทำนองเพลง เสียงประสาน เสียงสอดแทรก แสดงถึงอารมณ์ และความรู้สึกต่าง ๆ อย่างพร้อมมูลทีเดียว .....เป็นเครื่องดนตรีที่ไม่สามารถใช้ อุปกรณ์อีเลกทรอนิกส์ เลียนเสียงได้เหมือน เพราะอุปกรณ์อีเลกทรอนิกส์ ให้อารมณ์เพลงไม่ได้ ยิ่งถ้าได้หมอแคนที่มีความสามารถ มีความเชี่ยวชาญมากๆ มาเป่าแคน ยิ่งจะเพิ่มความไพเราะ ซาบซึ้งจับใจมากยิ่งขึ้น ฟังแล้ว เกิดความรู้สึกที่เรียกว่า “ออนซอน” ยากที่จะหาเครื่องดนตรีอื่นๆ มาเทียบได้

นักดนตรีชาวไทยเรียกแคน 1 เครื่องว่า   “แคน 1 เต้า” ....ในขณะที่นักดนตรีชาวลาว เรียกว่า “แคน 1 ดวง” แคนเต้าหนึ่ง ประกอบด้วยลูกแคนหลายลูก ลูกแคนต่างลูก ให้เสียงต่างระดับกัน ระบบเสียงของแคน จึงขึ้นอยู่กับระดับเสียงต่างๆ ของลูกแคนที่รวมอยู่ในแคนแต่ละเต้า

แคนทำจากไม้เฮี้ยน้อย ซึ่งช่างแคนไทยเรียกว่าไม้กู่แคน เกิดเสียงได้เพราะ มีลิ้นโลหะติดอยู่ที่รอยเจาะ ข้างลำท่อลูกแคนลูกละลิ้น ลูกแคนแต่ละลูกมีระดับเสียงต่างกัน เพราะมีระยะห่างระว่างลิ้นกับรูแพวไม่เท่ากัน... รูแพวคือรูเสียงเจาะไว้ 2 รู เหนือและล่างลูกแคน ลูกแคนของแคน 1 เต้า จะถูกจัดเป็น 2 แพ สอดเรียงไว้ในเต้าแคน ผนึกส่วนที่ฝังลิ้นไว้ในเต้าแคน ด้วยขี้สูด มัดปลายแพลูกแคนที่โผล่ออกนอกเต้าทั้งด้านบนและด้านล่าง ด้วยตอกเครือหญ้านาง หรือตอกหวาย

การจำแนกประเภทของแคน จำแนกตามจำนวนลูกแคนที่ประกอบรวมกันอยู่ในเต้า มี 5 ประเภท คือ

แคนหก มีลูกแคน 6 ลูก (3 คู่)

แคนเจ็ด มีลูกแคน 7 คู่ (14 ลูก )

แคนแปด มีลูกแคน 8 คู่ (16 ลูก)

แคนเก้า มีลูกแคน 9 คู่ (18 ลูก)

แคนสิบ มีลูกแคน 10 ลูก (5 คู่)

แคนหก มีระดับเสียงอยู่ในมาตราเพนตะโทนิค (มี 5 โน้ต)    นอกนั้น มีระบบเสียงเป็นมาตราไดอะโทนิค (มี 7 โน้ต)

การเรียกบันไดเสียงของแคนแต่ละเต้า เรียกเป็นตัวเลขบอกจำนวนนิ้วโป้ง โดยยึดเอาลูกแคนเสียง “ลาต่ำ” (motive) เป็นเสียงหลัก ระยะห่างระหว่างลิ้นแคนกับรูแพว ที่เจาะไว้ส่วนล่างของลูกแคนนี้ วัดได้กี่นิ้วโป้ง ก็จะใช้เลขจำนวนนั้น เป็นชื่อเรียกบันไดเสียงของแคนทั้งเต้า เช่น ถ้าลูกเสียง “ลาต่ำ” ของแคนเต้าหนึ่ง วัดระยะห่างระหว่างลิ้นแคนกับรูแพวล่างได้ 7 นิ้วโป้ง ก็เรียกบันไดเสียงของแคนเต้านั้นว่าเป็น “แคนเจ็ดโป้” (โป้ เป็นภาษาอีสาน แปลว่านิ้วโป้ง) เทียบได้กับประมาณบันไดเอไมเนอร์หรือซีเมเจอร์ ของสเกลดนตรีสากล

 

  หน้าก่อน หน้าถัดไป
 
Creative Commons License

ชมรมอีสานจุฬาฯ... ดนตรีพื้นบ้านอีสาน