ไหซอง เป็นเครื่องดนตรีประเภทคุมจังหวะ ให้เสียงทุ้มต่ำ แตกต่างกันขึ้นอยู่กับความโตของไหที่ใช้ และความตึงหย่อนของหนังยางที่ขึงพาดอยู่ปากไห
ไหซอง โดยทั่วไป นิยมใช้บรรจุปลาร้า เกลือ และหมักสาโท ยังไม่ทราบชัดเจนว่า ใครเป็นผู้นำไหซอง มาทำเป็นเครื่องดนตรีคนแรก
ไหซอง ทำเป็นเครื่องดนตรี ได้โดย ใช้สายยาง หรือสายหนังสะติ๊ก (สมัยก่อน ใช้ยางในรถจักรยาน หรือยางในล้อรถ ต่อมาใช้ยางหนังสะติ๊ก) ขึงให้ตึงพาดผ่านปากไห และมัดยึดปลายสองด้านไว้กับคอไห ปรับความตึงของหนังยางให้พอเหมาะ
เวลาจะเล่น ใช้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้เกี่ยวดึงสายหนังยางขึ้นมาแล้วปล่อย เสียงที่ได้จากการดึงปล่อยหนังยาง จะดังทุ้มต่ำ คล้ายเสียงเบส
สมัยก่อนนั้น ยังไม่มีเบส จึงใช้ไหซองแทนเสียงเบส โดยจำนวนไหที่นิยมใช้ ประมาณ ๔-๕ลูก ปรับระดับคีย์เสียงให้เหมาะสมกับเสียงดนตรีหลัก โดยปรับความตึงของหนังยาง วางเรียงไหบนขาตั้งไห จากใหญ่ไปหาเล็ก และผู้บรรเลงไหซอง ก็เป็นผู้ชายเหมือนเครื่องดนตรีอื่นๆ
วงโปงลางในยุคปัจจุบัน ส่วนใหญ่ ใช้เบส คุมจังหวะ จึงไม่มีการดีดไหซองจริงๆ ซึ่งไหซองในปัจจุบัน เป็นเพียงโชว์ลีลาการดีดประกอบท่าฟ้อนรำแบบอ่อนช้อยแพรวพราว ดังนั้น จึงนิยมใช้ผู้หญิงเป็นผู้ดีดไห เรียกว่า นางดีดไห หรือนางไห และนางไหนี่เอง ถือเป็นจุดดึงดูดความสนใจของผู้ชมได้มาก

|