ผญา คติสอนใจประจำวันที่ 22 พฤษภาคม 2567:: อ่านผญา 
ผักหมเหี้ยนกลางทางเจ้าอย่าฟ้าวเหยียบย่ำ บาดห่าถอดยอดขึ้นยังสิได้ก่ายเกย แปลว่า ผักขมด้วนตามทาง อย่าเพิ่งเดินเหยียบย่ำ เผื่อออกยอดขึ้นมา จะได้เก็บกินได้ หมายถึง คนล้ม อย่าซ้ำเติม คนพลาดพลั้ง อย่าเหยียดหยาม

บทบรรณาธิการ  

บทบรรณาธิการ
เลือกปี



          บทบรรณาธิการประจำเดือน มีนาคม 2551 ปักษ์หลัง  


รองศาสตราจารย์แจ่มใส สุวรรณศักดิ์ศรี อาจารย์ที่ปรึกษาชมรมศิลปวัฒนธรรมอีสาน จุฬาฯ เป็นผู้ได้รับรางวัลยกย่องเชิดชูเกียรติด้านกิจการนิสิต ประเภททั่วไป ระดับดีมาก ประจำปี พ.ศ. ๒๕๕๐ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

จะมีพิธีมอบรางวัลในวัน ศุกร์ ที่ 28 มีนาคม นี้ ที่หอประชุมใหญ่ จุฬาฯ เวลา 12.30 น. เป็นต้นไป

ชมรมศิลปวัฒนธรรมอีสานจุฬาฯ อีสานจุฬาดอทคอม ขอแสดงความยินดีที่อาจารย์ได้รับรางวัลนี้ ด้วยความภูมิใจอย่างยิ่ง



รองศาสตราจารย์แจ่มใส  สุวรรณศักดิ์ศรี


ประสบการณ์การทำงานด้านกิจการนิสิต ๑๒ ปี

อาจารย์ที่ปรึกษาชมรมศิลปวัฒนธรรมอีสาน สโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๓๘ - ปัจจุบัน

ผลงานด้านกิจกรรมนิสิต
     ในฐานะอาจารย์ที่ปรึกษาชมรมศิลปวัฒนธรรมอีสาน รองศาสตราจารย์แจ่มใส  สุวรรณศักดิ์ศรี ส่งเสริมให้นิสิตในชมรมจัดกิจกรรมที่สร้างสรรค์เพื่อการพัฒนานิสิตให้มีคุณลักษณะของบัณฑิตที่พึงประสงค์  ดังนี้

กิจกรรมด้านวิชาการ
  • ส่งเสริมและจัดการให้นิสิตในชมรมศิลปวัฒนธรรมอีสาน ทำโครงการเชิงวิชาการที่เกี่ยวกับศิลปะและวัฒนธรรม โดยให้ทำโครงการศึกษาต่าง ๆ พร้อมทั้งจัดทำรายงานและเผยแพร่ในรูปแบบนิทรรศการและการเสวนา เช่น “วิถีกระบือ” “วัฒนธรรมปลาแดก” โครงการเสวนาทางความคิด เรื่อง “อีสาน: บางสิ่งที่เปลี่ยนไป ฤๅใจจะเปลี่ยนแปลง”

กิจกรรมด้านพัฒนาสังคมและบำเพ็ญประโยชน์
  • ส่งเสริมให้นิสิตในชมรมศิลปวัฒนธรรมอีสานซึ่งมาจากหลายคณะได้ใช้ทักษะในศาสตร์ที่ตนเรียนมาจัดกิจกรรมที่เป็นประโยชน์แก่ชาวบ้าน ในช่วงการออกค่ายกลางปี เช่น การตรวจหาไข่พยาธิให้นักเรียนและชาวบ้าน การให้คำปรึกษาด้านการเลี้ยงสัตว์และให้บริการฉีดวัคซีน การสอนหนังสือเด็ก การจัดสอนกวดวิชาและการจัดการสอบสำหรับนักเรียนมัธยมปลาย

  • ส่งเสริมให้นิสิตเผยแพร่เพื่อปลูกฝังทัศนคติและความรักในศิลปวัฒนธรรมอีสาน เช่น โครงการนำเยาวชนมาเข้าค่ายเพื่อสอนและแลกเปลี่ยนความรู้ความสามารถด้านดนตรีและนาฏศิลป์กับนิสิต (พ.ศ. ๒๕๔๐-๒๕๔๙) โครงการให้ความช่วยเหลือในการสอนดนตรีและนาฏศิลป์อีสานแก่นักเรียนจนสามารถตั้งวงดนตรีโปงลางระดับเยาวชนที่ส่งเข้าประกวดแข่งขันจนได้รับรางวัล (พ.ศ. ๒๕๔๗)

กิจกรรมด้านศิลปวัฒนธรรม
  • การแสดงดนตรีและการฟ้อนรำอีสาน การจัดนิทรรศการความรู้แก่ประชาชนในภาคอื่นๆปีละครั้ง

  • โครงการเทิดพระเกียรติ ๑๐๐ ปี สมเด็จย่า ร่วมรักษาและเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น ในต่างแดน

กิจกรรมด้านนิสิตสัมพันธ์
  • ส่งเสริมให้นิสิตเข้าร่วมกิจกรรมชมรมศิลปวัฒนธรรมอีสานกับนิสิต นักศึกษา ต่างมหาวิทยาลัยในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล จำนวน ๑๑ สถาบัน

  • ส่งเสริมให้นิสิตจัดทำเว็บไซต์ของชมรมเพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมอีสาน และแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันระหว่างสมาชิกต่างสถาบัน และบุคลทั่วไป ตลอดจนใช้เป็นสื่อกลางในการติดต่อสื่อสารระหว่างนิสิตในชมรมฯกับพี่เก่า ซึ่งนับย้อนไปได้ถึง ๒๐ รุ่น เริ่มพัฒนาในพ.ศ. ๒๕๔๓ และเสร็จสมบูรณ์ใน พ.ศ. ๒๕๔๙

  • โครงการ “๓๐ ปี ชมรมศิลปวัฒนธรรมอีสาน จุฬาฯ” (พ.ศ. ๒๕๕๐)

ผลงานการพัฒนานิสิตรูปแบบใหม่
     รองศาสตราจารย์แจ่มใส มีผลงานการพัฒนานิสิตรูปแบบใหม่ อันเป็นประโยชน์ต่องานกิจการนิสิตในวงกว้าง โดยท่านได้มีการดำเนินการในหลายส่วนดังต่อไปนี้
  • การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการออกค่ายของชมรมศิลปวัฒนธรรมอีสาน จากเดิมที่มีการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างและแสดงดนตรี ให้เป็นค่ายที่มีการศึกษาและสืบสานวัฒนธรรม ภูมิปัญญาพื้นบ้านอีสานและมีค่ายเพื่อการเผยแพร่และแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรม ของอีสานกับศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านของภาคอื่นๆ

  • สร้างความเข้าใจให้นิสิตในชมรมฯเห็นว่า ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านอีสานเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของทุกคนในชาติ ชมรมไม่ใช่เป็นที่รวมกลุ่มของนิสิตที่เป็นคนอีสาน แต่เป็นของนิสิตทุกคนที่สนใจเรียนรู้ ทำให้มีนิสิตที่มาจากภาคอื่นๆสมัครเข้าเป็นสมาชิกด้วย

  • สนับสนุนให้มีการร่วมมือทำกิจกรรมกับชมรมอื่นๆ เช่นการออกค่ายเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมร่วมกับชมรมทักษิณ (พ.ศ. ๒๕๔๓) ณ จังหวัดสุพรรณบุรี

  • สนับสนุนให้มีการสร้างเครือข่ายอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมอีสาน ระดับนักเรียนมัธยมของโรงเรียนจากอำเภอต่างๆในจังหวัดเดียวกัน ทั้งนี้เพื่อเป็นการสืบสานมรดกวัฒนธรรมตั้งแต่ต้นทาง

  • พัฒนาการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมอีสานโดยจัดกิจกรรมในรูปแบบที่เน้นการให้ความรู้ความเข้าใจแก่ผู้ชมให้มากขึ้น เช่น จัดนิทรรศการเผยแพร่ความรู้ จัดประกวดร้องเพลงลูกทุ่งในหอพัก ริเริ่มการจัดแข่งขันนางไหระหว่างชมรมศิลปวัฒนธรรมอีสานต่างมหาวิทยาลัย ๑๑ สถาบัน สนับสนุนและกระตุ้นให้นิสิตสร้างผลงานเพลง และประดิษฐ์ท่ารำ/การแสดงที่เป็นนวัตกรรมในชื่อของศิลปวัฒนธรรมอีสาน จุฬาฯ

     รองศาสตราจารย์แจ่มใส  สุวรรณศักดิ์ศรี เป็นผู้ที่อุทิศตนให้กับงานพัฒนานิสิตของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอย่างแท้จริง โดยไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย ในการปฏิบัติหน้าที่ท่านได้ระวังมิให้เกิดความเสื่อมเสียแก่มหาวิทยาลัย เมื่อทำงานก็คิดเพียงว่าจะทำเพื่อให้นิสิตรู้จักคิดอะไรใหม่ ๆ ที่สร้างสรรค์ ให้นิสิตเห็นคุณค่าของตัวเอง และเห็นคุณค่าของผู้อื่น ให้นิสิตมีความสุข ความพอใจ ความภูมิใจในสิ่งที่ทำ ภายใต้กรอบความถูกต้อง ให้นิสิตเห็นคุณค่า รักและหวงแหนมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ ให้นิสิตรู้จักการให้ และทำประโยชน์ให้ผู้อื่นและสังคมส่วนรวม จากผลการอบรมดูแลและให้คำแนะนำนิสิตอย่างต่อเนื่อง ทำให้ชมรมศิลปวัฒนธรรมอีสานเป็นชมรมที่เข้มแข็ง มีประสิทธิภาพมีการพัฒนาและมีผลงานดีเด่นจนได้รับรางวัลต่างๆจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทุกปีตลอด 12 ปี คือ นักกิจกรรมดีเด่น 5 คน โครงการดีเด่น 10 โครงการ และ ชมรมดีเด่น 10 ครั้ง


     จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยพิจารณาแล้วเห็นสมควรให้รองศาสตราจารย์แจ่มใส สุวรรณศักดิ์ศรี เป็นผู้ได้รับรางวัลยกย่องเชิดชูเกียรติด้านกิจการนิสิต ประเภททั่วไป ระดับดีมาก ประจำปี พ.ศ. ๒๕๕๐ เพื่อเป็นเกียรติสืบไป


เชิญร่วมแสดงความยินดี ที่กระทู้นี้



         บทบรรณาธิการโดย : อีสานจุฬาฯ

 
Creative Commons License

ชมรมอีสานจุฬาฯ... บทบรรณาธิการ